แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2021 (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2021 (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2021 พอจะสรุปได้ว่า ไม่น่าจะสดใสมากในครึ่งแรกของปีหน้า และมีการคาดหวังว่าจะฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญในครึ่งหลังของปี เหตุที่มีการคาดหวังอย่างมากว่าจะฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญในครึ่งหลังของปี เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด แต่การคาดหวังดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความมั่นใจสูงมากนักเพราะโดยปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนจนสำเร็จนั้นจะต้องใช้เวลา 10-15 ปี แต่ครั้งนี้คาดหวังว่าจะทำให้สำเร็จได้ภายในเวลาเพียง 10-15 เดือน ดังนั้น หากวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสามารถป้องกัน COVID-19 ได้เพียง 60-70% ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นผลที่น่าพอใจแล้วเพราะบางโรค เช่น โรคเอดส์ปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด

แต่ประเด็นที่สำคัญคือเศรษฐกิจไทยนั้นปัจจุบันอ่อนแอกว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างมากเห็นได้จากการคาดการณ์ของไอเอมเอฟเทียบกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลง 4.4% และจะกลับมาขยายตัว 5.2% ในปี 2021
  • ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ว่าจะหดตัวลง 5.7% ในปี 2020 และจะขยายตัว 5.0% ในปี 2021
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจีดีพีไทยจะปรับลดลง 7.8% ในปีนี้และขยายตัว 3.5% ในปีหน้า
จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำรุนแรงกว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ และยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ อย่างมากอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดและการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึง 60% ของจีดีพี แต่รัฐบาลก็น่าจะยิ่งหามาตรการกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ให้ตกต่ำและล้าหลังประเทศอื่นๆ ประเทศไทยดูจะพึงพอใจอย่างมากที่ป้องกัน COVID-19 ได้ดี แต่ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้เป็นผลดีกับเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร กลับกลายเป็นว่าประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากมายวันละเป็นหมื่นคนมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศไทยอย่างมาก

ตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษที่มีประชากรเท่ากับประเทศไทย (แต่จีดีพีมากกว่าไทยประมาณ 7 เท่า) ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 23,000 ราย และในช่วงที่ประเทศอังกฤษเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนั้น ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 500 ราย อีกตัวอย่างคือประเทศฝรั่งเศสที่มีประชากร 65 ล้านคน ช่วงที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยราย (500 คนต่อวัน)ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมทำให้เร่งเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกเป็น 40,000 คนต่อวัน จึงได้ริเริ่มมาตรการปิดเศรษฐกิจเป็นบางส่วน (partial lockdown) หากไปดูตัวเลขในประเทศเยอรมันก็จะมีลักษณะและแนวโน้มเหมือนกับอังกฤษและฝรั่งเศส

บางคนอาจโต้ว่าก็เพราะเกิดการระบาดรอบ 2 ที่ทำให้ต้องปิดเศรษฐกิจอีกจึงทำให้ประเทศไทยต้องทำอย่างที่ทำอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนในประเทศไทยคงจะคิดแบบนี้ แต่ประเด็นคือประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังอยู่กับ COVID-19 แต่ประเทศไทยกำลังต้องการอยู่อย่างปราศจาก COVID-19 ซึ่งไม่เหมือนกันและการที่เศรษฐกิจไทยนั้นสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึง 60% ของจีดีพี ทำให้ต้นทุนในการอยู่อย่างปราศจาก COVID-19 นั้นสูงมาก ผมเชื่อว่าประเทศไทยนั้นหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเพียงวันละ 5-10 คนก็คงจะตื่นตระหนกไปทั้งประเทศแล้ว แม้ว่าในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเขาจะมองว่าการติดเชื้อรายใหม่วันละ 400-500 คนเป็นเรื่องเล็กและจะเป็นเรื่องใหญ่ก็ต่อเมื่อมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 20,000-30,000 คน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ตัวเลขการติดเชื้อและการเสียชีวิตจาก COVID-19 ทำให้ผมสรุปได้ว่าในประเทศอื่นๆ นั้นดูเสมือนว่าเขาจะไม่กลัวการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสมากนักตราบใดที่จำนวนยังไม่มากจนทำให้โรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนหมอ พยาบาลและเตียงนอนในการดูแลผู้ป่วยหนักจาก COVID-19 ทั้งนี้เพราะปัจจุบันการแพทย์สามารถลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ลงได้อย่างมากแล้วเห็นได้จากสถิติดังนี้

1.ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2020 ซึ่ง COVID-19 เริ่มระบาดไปที่ยุโรปและอเมริกา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 80,000 คนและในช่วงเดียวกันมีผู้ที่เสียชีวิตเพราะ COVID-19 เฉลี่ยวันละ 7,000 คน แปลว่าอัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ที่พิสูจน์ได้ว่าติดเชื้อ (case fatality rate หรือ CFR) เท่ากับ 8.75%1.ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2020 ซึ่ง COVID-19 เริ่มระบาดไปที่ยุโรปและอเมริกา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 80,000 คนและในช่วงเดียวกันมีผู้ที่เสียชีวิตเพราะ COVID-19 เฉลี่ยวันละ 7,000 คน แปลว่าอัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ที่พิสูจน์ได้ว่าติดเชื้อ (case fatality rate หรือ CFR) เท่ากับ 8.75%

2.ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่เร่งเปิดเศรษฐกิจทั่วโลกเพราะ “คุม” COVID-19 ได้แล้วนั้นปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 260,000 คน (มากกว่าเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมกว่า 3 เท่า) แต่จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 5,000 คนจึงมี CFR เท่ากับ 2.12%

3.ในช่วงล่าสุดคือปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนั้น ปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากไปถึง 500,000 คนต่อวัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในเชิงเปรียบเทียบคือ 6,800 คนต่อวัน หมายความว่า CFR เท่ากับ 1.36%

ผมไม่ได้บอกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตเพราะ COVID-19 กว่า 1 ล้านคนจากต้นปีถึงปัจจุบันเป็นเรื่องเล็กน้อยและการสูญเสียวันละ 6,800 คนก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าโลกพร้อมจะ “อยู่กับ” COVID-19 และจะเปิดเศรษฐกิจเมื่อมีโอกาส แต่จะปิดเศรษฐกิจเมื่อมีการระบาดมากจนการรักษาพยาบาลทำได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันมาถึงจุดนี้แล้วทำให้เกิดการปิดเศรษฐกิจเป็นบางส่วนอันจะทำให้ตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะสะดุดลงหรือชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้และไตรมาส 1 ของปี 2021 ซึ่งประเทศตะวันตกยังอยู่ในฤดูหนาว ตรงนี้น่าจะส่งผลให้ตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนตัวลงตามไปด้วย ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงแรกของปีนี้น่าจะไม่สดใสมากนัก

การมีหรือไม่มีวัคซีนคงจะเป็นปัจจัยสำคัญและยังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่ผมจะเขียนถึงในตอนหน้าครับ
โพสต์โพสต์