ผมไปขอความรู้มาช่วงวันที่ 17-24/7/06 เห็นว่าน่าสนใจ
เลยเอามาฝากครับ
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หากนักลงทุนคนหนึ่งๆ มีความคิดจะล้างพอร์ตเพราะสถานการณ์ต่างๆ ไม่สู้ดี ก็คงน่าจะได้ล้างพอร์ตได้หลายครั้งหลายครา เช่น
ปี 2544 เกิดเหตุการณ์ 911 เมื่อ 11 ก.ย. ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก panic อย่างหนัก เพราะเป็นครั้งที่สหรัฐเกิดความเสียหายขึ้นกับประเทศตนเองมากกว่าที่เคยเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เสียอีก และเป็นสงครามที่มองไม่เห็นฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย
ปี 2546 สหรัฐบุกอิรัก อาจจะทำให้หลายคนกังวลว่าจะเป็นชนวนเกิดสงครามโลกหรือไม่ อิรักจะนำอาวุธร้ายแรง เช่น อาวุธเคมี ชีวภาพ มาตอบโต้ทำให้เกิดสงครามยืดเยื้อหรือไม่ ประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ จะออกมาช่วยเหลืออิรักหรือไม่ และเมื่อสงครามจบลง ก็มีโรคซาส์ระบาดในหลายประเทศ และเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้หลายคนอาจจะคิดว่านี่คือโรคร้ายแรงที่จะระบาดไปทั่วโลกและทำให้เศรษฐกิจโลกจะต้องชะงักงันไปอีกหลายปี
ปี 2547 เกิดไข้หวัดนกช่วงต้นปี มีการกังวลว่าจะพัฒนากลายพันธุ์จนระบาดจากคนไปคน และอาจจะทำให้ประชากรโลกตายพอๆ กับไข้หวัดใหญ่ที่เคยระบาดในปี 1920 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งประชากรที่ตายจากไข้หวัดใหญ่นี้มากกว่าทหารทั้งหมดที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก
ปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้
ปี 2548 เกิดเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดิน และรถเมล์ในลอนดอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนทำให้ชาวโลกเห็นว่าการก่อการร้ายไม่ได้มีข้อจำกัดแล้วสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก นอกจากนี้ ช่วงต้นปี มี e-mail หลายฉบับมากที่เป็น forward mail ว่าจะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงกับประเทศไทย บางคนล้างพอร์ตเพราะ e-mail นี้ก็มีครับ
เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล ประชาชนนับแสนร่วมชุมนุม จนหลายคนกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเหมือน 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬหรือไม่
แต่เราจะเห็นได้ว่า หากเราล้างพอร์ตตอนที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราเกิดความหวาดกลัว หลังจากล้างพอร์ตไม่นานนัก ตลาดหุ้นมักจะเริ่มฟื้นตัว ทำให้ราคาหุ้นที่เราขายล้างพอร์ตมักจะเป็นราคาที่ใกล้ๆ จุดต่ำสุดอยู่เสมอครับ ดังนั้น จังหวะที่น่าจะดีกว่าหากคิดจะล้างพอร์ต ก็คือ ราคาหุ้นขึ้นสูงมากจนเรารู้สึกว่าไม่มีหุ้นตัวไหนน่าถืออีกต่อไปแล้ว หรือประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางลบอย่างมากในปัจจัยพื้นฐานระยะยาว ทั้งในด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง
ปัจจุบัน ผลตอบแทนของการฝากธนาคารสูงสุดน่าจะอยู่ประมาณ 5% หากให้ดอกเบี้ยขึ้นอีก 1% ก็จะได้ผลตอบแทนของการฝากธนาคารคือ 6%
เนื่องจากส่วนกลับของ p/e คือ e/p หรือ earning yield ก็คือ กำไร / มูลค่าหุ้น ซึ่งก็คือตัวบอกว่าหุ้นตัวนั้นทำกำไรได้กี่ % ต่อปีต่อเงินลงทุนในหุ้นตัวนั้น เช่น หุ้น p/e 20 เท่า ก็จะมี e/p 1/20 หรือ 5% ก็คือหุ้นตัวนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับเงินลงทุนของเราได้ 5%
ดังนั้น ปัจจุบันหุ้นที่มีคุณภาพดีใช้ได้หลายตัวในตลาดยังมี p/e ต่ำกว่า15 เท่า ซึ่ง p/e 15 เท่าหมายความว่าจะมี e/p 6.6% ดังนั้น หุ้นที่ p/e ต่ำกว่า 15 เท่ายังมีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนเกิน 6.6% ซึ่งยังสูงกว่าการฝากธนาคารครับ นอกจากนี้หากหุ้นตัวนั้นๆ ยังมีแนวโน้มการเติบโต ซึ่งก็หมายความว่า earning yield จะต้องเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต ในขณะที่การฝากธนาคารก็อาจจะมีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่ลดลงได้ครับ
แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่มีหุ้นถูกมากๆ จนน่าซื้อ แต่ก็มีหุ้นหลายตัวที่ยังมีคุณภาพดี และยังไม่แพงเกินนัก และยังน่าจะถือลงทุนต่อไปได้ครับ และก็ยังมีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ค่อนข้างน้อยครับ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นและราคาหุ้นส่วนใหญ่ของบ้านเรา แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่น่าลงทุนนัก แต่ก็มีส่วนน้อยที่น่าลงทุนอยู่ครับ และตลาดบ้านเราก็ยังห่างไกลกับคำว่า ฟองสบู่ อยู่ครับ