5 ลักษณะ บริษัทที่ขาดทุน อยากให้คุณพิจารณาก่อนจะมองข้าม / Pocket investor

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pocket investor
Thai VI Partner
โพสต์: 158
ผู้ติดตาม: 0

5 ลักษณะ บริษัทที่ขาดทุน อยากให้คุณพิจารณาก่อนจะมองข้าม / Pocket investor

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สวัสดีทุกท่านครับ พบกับ Content เทคนิคและความรู้ในการพัฒนาการลงทุน เช่นเคยทุกปลายเดือน ในช่วงเดือนที่ประกาศงบแบบนี้ก็จะมาเล่าเรื่องงบการเงินครับ แต่วันนี้จะไม่ได้มาเล่าบริษัทที่กำไร แต่จะมาเล่าบริษัทที่ขาดทุน!
.
วันนี้ผลประกอบการประจำปีของบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มทยอยออกมากันเกือบครบแล้ว เราได้เห็นหลายๆบริษัทที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่หลายๆบริษัทยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตจนยังขาดทุนอยู่ และหลายๆท่านอาจจะกำลังคิดว่าบริษัทที่ขาดทุนจะน่าสนใจยังไง มองข้ามๆไปก็ได้ แต่จริงแล้วการขาดทุนมันอาจจะมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ก็ได้ครับ
.
โดย การขาดทุนของบริษัทมันอาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี มองได้หลายแง่มุม บางครั้งอาจจะเป็น "การขาดทุนแบบตั้งใจ" ที่จริงๆบริษัทสามารถควบคุมได้ แต่ที่ปล่อยให้ขาดทุนเพราะมีวัตถุประสงค์บางอย่าง หรือบางครั้งมันอาจจะไม่ได้เป็นการขาดทุนจากการดำเนินงาน หรือมันอาจจะเป็นขาดทุนแบบที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้แลย ได้แต่ยอมรับชะตากรรม...
.
ซึ่งถ้าคุณเพียงแค่ลองพิจารณาลักษณะการขาดทุนแบบต่างๆ ไม่ได้มองเพียงแค่เห็นการขาดทุนแบบผ่านๆ คุณก็อาจจะเจอโอกาสการลงทุนที่ดีมากๆก็เป็นได้
.
วันนี้ผมก็เลยลองแบ่งลักษณะการขาดทุนของบริษัทออกเป็น 5 แบบ ซึ่งเป็นการแบ่งตามใจผมเอง ไม่ได้อิงตามทฤษฎีหรือเกณฑ์อะไรเลยครับ แต่เชื่อว่าน่าจะพอทำให้ทุกท่านได้เห็นเหตุปัจจัยของการขาดทุนได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่ซ่อนอยู่ในนั้น จะเป็นอย่างไร ลองมาดูกันเลย!
.
1. ขาดทุนจากการอยู่ในช่วงลงทุนสูง เพื่อเร่งสร้างการเติบโต
"การจะไปดวงจันทร์อย่างรวดเร็วได้นั้น ต้องอาศัยเชื้อเพลิงมหาศาล..."
.
ในยุคสมัยนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้เห็นบริษัทที่อยู่ในช่วงการเติบโต จะมีผลขาดทุนสุทธิ โดย เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเทคโนโลยี ที่เป็นบริษัท Start-up ยุคใหม่ที่สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดได้
.
สิ่งที่หลายๆบริษัทกำลังทำ คือ การเร่งสร้างการเติบโต โดย การทุ่มงบประมาณที่ใช้ในการขายและการทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อให้ลูกค้าได้เกิดการใช้งาน Capture Market สร้าง Network effect ให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด รวมถึงการลงทุนใน R&D เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆให้แตกต่างจากคู่แข่งขัน จนไม่มีใครตามทัน
.
การลงทุนเหล่านี้ มักเรียกสั้นๆว่า "Burn Cash" ที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในงบกำไรขาดทุน และทำให้เป็นการขาดทุนแบบตั้งใจในช่วงเติบโต บนพื้นฐานแนวคิดว่าในระยะยาวแล้ว Customer life time value จะมากกว่า Customer acquisition cost หรือพูดง่ายๆว่าช่วงนี้ ลงทุนให้ได้ฐานลูกค้ามากที่สุดก่อน พอลูกค้าติดแล้วค่อยไปเก็บกำไรภายหลังก็ไม่สาย ยังคุ้มค่า
.
ส่วนตัวมองว่า การจะลงทุนกับบริษัทที่ดูเหมือนจะมีโอกาสเติบโตได้รวดเร็ว จากการไป Disrupt ธุรกิจยุคเก่า ถ้าคุณเลือกผู้ชนะได้ถูกต้อง ที่บริษัทสามารถทำกำไรในระยะยาวได้ ในราคาที่เหมาะสม ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีมาก
.
คำถามสำคัญ คือ เมื่อถืงเวลาที่เค้าจะเก็บเกี่ยวกำไร โดย ลดการลงทุนต่างๆลง และเพิ่มราคา ในวันนั้นเค้าจะมี Value เพียงพอที่ทำให้ลูกค้ายังยอมจ่ายหรือไม่? สิ่งที่ลงทุนไปทั้งหมดทำให้เกิด Switching cost มากเพียงพอที่ลูกค้าจะไม่ไปใช้ของคู่แข่งหรือเปล่า?
.
หรือบางครั้งจริงๆแล้ว Business model ที่เค้าทำมันอาจจะขาดทุนไปตลอด! ไม่ได้มี Value เพียงพอที่สามารถให้ลูกค้ายอมจ่ายก็เป็นได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุน VI ยุคใหม่ เราคงต้องให้ความสำคัญกับการมอง "Value Proposition" ที่กิจการสร้างได้ว่ามันไปตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีแค่ไหน ก่อนจะตัดสินใจลงทุนครับ
.
2. ขาดทุนจากมาตรฐานบัญชีที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงาน
"มันเป็นเพียงเรื่องราวบนหน้ากระดาษ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานจริง"
.
หลายๆครั้งเวลาอ่านรายงานผลประกอบการหรือฟัง Oppday เรามักจะพบเจอว่า บางบริษัทที่ขาดทุน เค้าจะแยกส่วนที่เป็นผลการดำเนินงานจริง กับผลกระทบที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงาน ที่เรียกว่าการทำ Normalized Profit
.
การขาดทุนเหล่านี้ส่วนมาก มักจะเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่ต้องตั้งขึ้นตามมาตรฐานบัญชีต่างๆที่มากระทบ เช่น การขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุน / การตั้ง Stock Loss / ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน / ขาดทุนจากการปรับมาตรฐานเรื่องค่าเช่า เป็นต้น
.
คำถามสำหรับเรื่องนี้ คือ "มันเป็นขาดทุนที่ไม่เกิดจากการดำเนินงานจริงๆหรือเปล่า หรือมันเป็นการขาดทุนที่เหมาะสมแล้ว แค่มันเป็นเรื่องที่บริษัทควบคุมไม่ได้เอง" เช่น การที่ราคาน้ำมันลงต่ำมากในปีก่อน จนต้องตั้ง Stock loss จริงอยู่ที่การทำนายราคาน้ำมันน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การขาดทุนนี้มันอาจจะสะท้อนถึงความเสี่ยงในธุรกิจก็ได้ เพราะ ไม่มีใครรู้ว่าราคามันจะดีกลับมาได้เร็วหรือมันจะลงไปอีกนาน
.
แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วมันเป็นเพียงขาดทุนที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานจริงๆ และเกิดแค่ครั้งเดียว ถ้าคุณเห็นก่อนตลาด มันก็อาจจะเจอโอกาสการลงทุนที่ดีก็ได้ครับ
.
3. ขาดทุนจากธุรกิจเป็นขาลง หรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
"โลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้นทุกวัน แล้วคุณปรับเปลี่ยนตัวเองตามกระแสของโลกทันหรือเปล่า?"
.
โลกในยุค Digital ที่สิ่งต่างๆล้วนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เกิดการ Disruption ในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ธุรกิจที่เคยเป็นดาวเด่น กลับการเป็นธุรกิจตะวันตกดิน รวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ
.
มีบริษัทมากมายที่มีผลประกอบขาดทุน จากการที่ตลาดเป็นขาลง ลูกค้าต่างหันไปใช้สินค้าหรือบริการประเภทอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการได้ดีมากกว่า หรือในหลายๆบริษัทไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอ จนไม่สามารถสร้างกำไรได้
.
เราจึงได้เห็นบริษัทในอุตสาหกรรมเก่า ประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะถึงขั้นปิดกิจการ...นักลงทุน จึง(อาจจะ)ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทเหล่านี้
.
แต่การดูเพียงภาพรวม แล้วบอกว่าบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมน่าจะไปไม่รอดมันอาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป มันอาจจะมีบางบริษัที่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงธุรกิจใหม่และขี่กระแสของ Megatrends ที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรและสร้างการเติบโตได้ก็ได้

"เวลาพูดถึง disruption แล้วบอกว่าสิ่งนี้จะมาสิ่งนี้จะไป แค่นี้ไม่พอ สิ่งที่เราควรดูเพิ่ม คือ management quality ว่ามีความสามารถในการปรับตัวแค่ไหน"
-พี่ไลท์ ประชา ดํารงค์สุทธิพงศ์
.
ส่วนหนึ่งคงจะเกิดจากการมี วิสัยทัศน์ของท่านผู้บริหารและความสามารถในการปรับตัวขององค์กรที่ดี ซึ่งหากคุณหาบริษัทนั้นเจอ มันอาจจะเป็นโอกาสการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมหาศาลก็เป็นได้ครับ
.
4. ขาดทุนจากการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดในอดีต
"เรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างอนาคตให้ดีขึ้นได้"
.
การตัดสินใจในโลกธุรกิจ ล้วนมีความเสี่ยง (เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น) และต่อให้ท่านผู้บริหารเก่งมากๆ แต่ในบางครั้งมันก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ถาวรต่างๆ เช่น
.
- การลงทุนขยายโรงงานใหม่ แต่ Demand ไม่ได้มาตามนัด
- การซื้อสิทธิแฟรนไชส์ชื่อดังระดับโลกเข้ามาในประเทศ แต่กลับไม่ปัง
- การตัดสินใจทำ M&A ที่มีมูลค่าสูงเกินไป แต่กลับไม่สามารถทำ Synergy ได้ดีเท่าที่คาด เป็นต้น
.
ความผิดพลาดเหล่านี้ เป็นการตัดสินใจในอดีต ที่กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว และต้นทุนที่เกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นไปหมดแล้วในอดีต ที่เรียกว่า ต้นทุนจม (Sunk cost) อย่างไรก็ตามการบัญชีคงไม่ได้อนุญาตให้หลงลืมมันไป แต่มันยังคงทิ้งร่องรอยความผิดพลาดนี้อยู่ในงบการเงิน ในรูปแบบของ ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย หรือการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์
.
คำถามสำคัญ คือ ในวันนี้บริษัทสามารถจัดการต้นทุนนี้ได้ดีแค่ไหน? ในอนาคตจะสามารถสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์เหล่านี้ได้ดีขึ้นหรือไม่? มีแผนปรับโครงสร้างสินทรัพย์หรือเปล่า?และบริษัทเรียนรู้อะไรบ้างจากความผิดพลาด ที่จะเป็นแนวทางในการตัดสินใจในอนาคตที่ดีขึ้น
.
สำหรับผู้บริหารที่ดี แม้ว่าอาจจะเกิดต้นทุนจมไปแล้ว แต่เค้าคงจะต้องปรับตัว และไม่ปล่อยให้บริษัทจมลงไปเหมือนเรือไททานิค ซึ่งถ้าสามารถจัดการกับสินทรัพย์เหล่านี้ได้ดี และทำให้บริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บางครั้งคุณอาจจะเจอโอกาสการลงทุนที่ดีก็ได้ครับ
.
5. ขาดทุนจากปัญหา “ชั่วคราว”
"อดทนเวลาที่ฝนพรํา อย่างน้อยก็ทําให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง"
.
ไม่ว่าใครๆก็ต้องพบเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากกันทั้งนั้น บริษัทเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งมากๆ หรือบริษัทที่ไม่เก่งมาก ล้วนย่อมมีการพบเจอกับปัญหา ทั้งจากภายในบริษัทเอง หรือสถานการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น COVID-19 เป็นต้น ซึ่งอาจจะกระทบกับผลประกอบการจนถึงขั้นขาดทุน
.
สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณา คือ ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องชั่วคราวหรือกินระยะเวลายาวนาน ... ซึ่งในหลายๆครั้งเราอาจจะพบว่าจริงๆแล้ว บางครั้งมันอาจจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ที่เกิดเพียง 1-2 ปี และบริษัทสามารถจัดการได้ในอนาคต
.
เดี๋ยวมันก็ผ่านไป...
.
ถ้าคุณพบเจอบริษัทที่ดีมากๆ ในช่วงที่เค้ากำลังพบกับปัญหาชั่วคราว และเค้ามีแนวโน้มว่าจะกลับมาดีได้อย่างเก่าหลังปัญหาต่างๆคลี่คลายลงแล้ว และราคาหุ้นในตอนนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากๆ มันก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆก็ได้ เพียงแค่คุณต้องมองให้ยาวกว่าคนอื่นๆครับ
.
จบแล้วครับกับ 5 ลักษณะ บริษัทที่ขาดทุน จริงๆน่าจะมีแบบอื่นอีก ใครคิดออก Comment มาบอกกันได้นะครับ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าคุณลองพิจารณาดู ไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนในลักษณะไหน มันก็มีโอกาสการลงทุนซ่อนอยู่แน่นอนครับ มันคงมีไม่มากนัก แต่สำหรับผู้ที่หาเจอ...
.
อย่าลืมกระซิบมาบอกผมนะครับ 555 (พูดเล่นๆ)
Writer: Pocket investor
โพสต์โพสต์