#อยู่ให้รอดแล้วจึงเติบโต (ตอนที่ 1)
.
สองด้านของเหรียญในโลกแห่งการลงทุน
คือด้านของ “การทำกำไร” และ “การควบคุมความเสี่ยง”
.
โดยทั่วไปนักลงทุนจะนึกถึงด้านของการทำกำไรก่อนเสมอ
ส่วนการควบคุมความเสี่ยงนั้น มักจะมาทีหลัง หรือบางทีก็ลืมไปเลย
.
ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้น ต้องคิดถึงการอยู่รอดก่อนการเติบโต
เพราะถ้าไม่รอดก็ไม่มีโอกาสโต
เช่นเดียวกับการลงทุน ที่เราควรให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยง
“มากกว่าและก่อน” ที่จะคิดถึงเรื่องการทำกำไร
.
โดยเฉพาะในตลาดหุ้นช่วงนี้ ที่มีการเก็งกำไรสูงมากจนน่ากังวล
นักลงทุนพร้อมที่จะคว้าทุกโอกาสที่คิดว่าจะทำกำไรได้
เพราะกลัวว่าถ้าช้าจะขึ้นรถไม่ทันคนอื่น
.
ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด
เพราะถึงแม้ตลาดจะอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงสูงมาก
ผมก็คงไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะพังลง “เมื่อไหร่”
สิ่งที่บอกได้ก็เพียงแค่ว่า ตอนนี้มันเป็นฟองสบู่ไปแล้ว
แต่ก็ไม่รู้หรอกครับว่า ฟองสบู่ลูกนี้มันจะโตไปได้อีกแค่ไหน
.
ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก
เพราะหลายครั้ง “สิ่งเลวร้ายก็ไม่เกิดขึ้นในเวลาที่มันควรจะเกิด”
ทำให้หลายคนที่อาจจะรู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ไม่อยากเสียโอกาส
เพราะเห็นอยู่ว่าหุ้นมันขึ้นไปเรื่อยๆ คนรอบข้างก็กำไรกันถ้วนหน้า
.
วิธีหนึ่งที่จะเห็นความเสี่ยงได้ชัดขึ้น และใช้ประโยชน์ได้จริง
คือ การคิดแบบ “ความน่าจะเป็น”
กล่าวคือ มีโอกาสจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง มากน้อยแค่ไหน
หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไร
และถ้าสิ่งนี้/สิ่งนั้นเกิดขึ้น ควรเตรียมการหรือตอบสนองอย่างไร
คิดไว้ล่วงหน้าเสมอสำหรับทุกสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น
.
แต่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมในอดีต) มักคิดในลักษณะที่ว่า
มีความเสี่ยงอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้น และฉันควรทำอะไรตอนนี้
เช่น ถ้าคิดว่าตลาดน่าจะยังขึ้นต่อได้ ก็ต้องซื้อ
แต่ถ้าคิดว่าตลาดกำลังจะแย่ ก็ต้องรีบขาย
.
เอ๊ะ! แล้วนี่ต่างกันตรงไหน
.
มันแตกต่างกันมากในแง่ของการปฏิบัติ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
.
คนที่คิดแบบแรก จะมองว่าไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นแน่
จึงไม่พยายาม “ทำนาย” อนาคต, ไม่เลือกข้าง
แต่จะวิเคราะห์ว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
แล้วเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ
นี่คือแนวคิดของการบริหารความเสี่ยงนั่นเอง
คนที่เคยเรียนหรือทำงานด้านนี้น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก
ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ เขาจะอยู่รอดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
และเมื่ออยู่รอดได้นานพอ เขาก็จะเติบโตไปอย่างที่ควรจะเป็น
.
แต่สำหรับคนที่คิดแบบที่สอง เขาจะใช้วิธีการที่ต่างกันออกไป
กล่าวคือเขาจะต้องพยายาม “รู้ให้ได้” ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น
โดยการหาข้อมูลให้มากขึ้น วิเคราะห์ให้หนักขึ้น
และแน่นอน ที่ขาดไม่ได้คือ การติดตามผู้เชี่ยวชาญ
หรือสุดท้ายหากรู้ไม่ได้ เขาก็ต้องพยายาม “สร้างความเชื่อ”
เพื่อให้มีเหตุผลที่จะลงมือทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ
ผลลัพธ์คือ เขาอาจจะทายถูกและทำกำไรได้มากจนร่ำรวย
แต่ก็อาจจะทายผิดจนขาดทุนหนักและเลิกลงทุนไปเลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ
บางครั้งเขาก็ทายถูก บางครั้งก็ผิด เอาแน่นอนไม่ได้
แต่ด้วยธรรมชาติของคน บวกกับกลไกของตลาด
เวลาขาดทุนเขามักจะเสียเงินมากกว่าที่ได้มาอยู่เสมอ
.
ในตอนที่สอง ผมจะมาแชร์ไอเดียครับว่า
เราจะควบคุมหรือบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างไร
.
ติดตามบทความอื่นๆ ได้ในเพจหมอวิ ตามลิ้งค์
https://www.facebook.com/Dr.Vichian
.
คู่มือวีไอ อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ซ้ำ
คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนนี้ครับ
โดยเป็นเนื้อหาเดิม แต่ใช้กระดาษคุณภาพดีขึ้น/หนากว่าเดิม
และมีการปรับราคาขายเล็กน้อยตามต้นทุนที่สูงขึ้น
สนใจสั่งจองได้ที่เพจหมอวิ ตามลิ้งค์
https://www.facebook.com/Dr.Vichian
(เปิดรับจองถึงวันที่ 15 มิย. 64)