สัปดาห์ที่แล้วคุณสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ได้เขียนบทความเสนอแนะให้รีบทำ “bubble and seal” เพื่อเป็นทางรอดให้ไม่ต้องปิดโรงงาน
ผมได้เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าว่าในปีนี้จะแตกต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ (Demand) เป็นหลัก ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมานั้นจำได้ว่าการซื้อสินค้าและบริการในประเทศและในต่างประเทศจะถูกกระทบอย่างรุนแรง แต่ในส่วนของภาคการผลิตในประเทศนั้นไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะมีการระบาดไม่รุนแรงและแทบจะไม่มีรายงานว่ามีอุตสาหกรรมสาขาใดเลยที่ได้รับผลกระทบในเชิงของการที่พนักงานของบริษัทติดเชื้อจนทำให้การผลิตต้องชะลอตัวลงหรือมีคำสั่งให้ยุติการผลิต
แต่ในปีนี้เราได้เห็นผลกระทบของการระบาดที่กว้างขวางกว่าปีที่แล้วมาก ตั้งแต่ต้นปีที่ส่งผลให้การผลิตอาหารทะเลได้รับผลกระทบ และต่อมาก็มีข่าวว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ตามมาด้วยการประกาศปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และโรงงานประกอบรถยนต์ นอกจากนั้นหากติดตามดูข่าวรายวันก็จะสังเกตได้ว่าคลัสเตอร์ที่พบใหม่ในแต่ละวันเป็นสิบแห่งนั้น ส่วนใหญ่จะพบคลัสเตอร์ที่เป็นโรงงานเพื่อผลิตสินค้าประเภทต่างๆ
สภาวการณ์เช่นนี้เป็นสัญญาณอันตรายต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างมาก เพราะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนั้นย่อมจะ work from home ไม่ได้และหากได้รับผลกระทบซ้ำซากจากการระบาดของ COVID-19 ก็จะทำให้จีดีพีของประเทศไทยถดถอยลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการระบาดรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าโดยไม่ มีการดำเนินมาตรการล่วงหน้าเพื่อพยายาม “ปิด” ความเสี่ยงกล่าว
ขนาดของปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ใหญ่เพียงใด? เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคุณสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เสนอแนะให้รีบทำ “bubble and seal” เพื่อเป็นทางรอดให้ไม่ต้องปิดโรงงาน และผู้บริหารภาคอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยองก็ออกมาวิงวอนให้เร่งการจัดสรรวัคซีน ตลอดจนการนำมาตรการ bubble and seal มาใช้
ผมจะไม่ขออธิบายถึงในรายละเอียด แต่จะเน้นย้ำว่าเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างบริเวณที่ปลอดโรค (safe zone) ให้กับโรงงานไทยโดยอาศัยการจัดทีมคนงานจำนวนไม่มากหลายๆ ทีม หมั่นสุ่มตรวจ ATK ให้กับทีมทั้งหมดเป็นประจำ ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งและภาครัฐน่าจะรีบเร่งช่วยให้กระบวนการและมาตรการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีและอย่างกว้างขวางที่สุด
โดยเฉพาะการจัดสรร ATK และ PCR Test ให้กับภาคอุตสาหกรรมในจำนวนที่เพียงพอในราคาถูกเพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวนั้นนอกจากจะช่วยปกป้องภาคการผลิตแล้วก็ยังจะลดการระบาดของ COVID-19 ได้โดยจะเป็นการประหยัดงบประมาณของภาครัฐในที่สุด เพราะจะได้ลดงบประมาณที่จะต้องจ่ายเพื่อการเยียวยา (หลังจากเกิดการระบาดอย่างหนักจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง) เป็นหลายแสนล้านบาทดังที่ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว
หากจะถามว่าภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีความสำคัญกับเศรษฐกิจโดยรวมมากเพียงใดนั้น ผมได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดที่มีความสำคัญในเชิงของผลผลิตโดยรวมและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสำคัญๆ ดังปรากฏในตารางข้างล่าง
จะเห็นได้ว่า 6 จังหวัดที่กล่าวถึงนั้น ณ วันนี้เป็นจังหวัด “ สีแดงเข้ม” ทุกจังหวัดและผลผลิตรวมกันมีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศไทย แต่มีประชากรรวมกันประมาณ 20% ของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเขตเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศและผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55% ของผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศ
จะสังเกตได้อีกด้วยว่าจังหวัดระยองนั้นเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุดที่เกือบ 8 แสนล้านบาท มากกว่ากรุงเทพฯ แม้จะมีประชากรเพียงหนึ่งในเก้าของประชากรของกรุงเทพฯ และเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำคือการผลิตพลังงานและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นหลักอีกด้วย ดังนั้นหากการผลิตได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องที่รุนแรงได้
ในจังหวัดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อผลผลิตโดยรวมของจังหวัดที่สูงมาก เช่นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80.26% สำหรับจังหวัดระยองและ 78.39% สำหรับจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น ในขณะที่ยอดรวมของประเทศนั้นภาคอุตสาหกรรมมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนเพียง 31.12% ของจีดีพี สำหรับกรุงเทพฯ นั้นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าภาคอุตสาหกรรมคือภาคบริการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 ไปแล้ว รวมทั้งการค้าปลีก-ค้าส่ง
การมีมาตรการที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยรวมและการจำกัดการระบาดของ COVID-19 ไม่ให้ส่งกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีความสำคัญในเชิงอุตสาหกรรม จึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดชะตากรรมของจีดีพีไทยในปี 2021 นี้ครับ.
การรักษาฐานการผลิตจากภัยอันตรายของ COVID-19/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1