โควิด-19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท
- ในช่วง 2563-2564 รายได้หายไป 1.8 ล้านล้านบาท
- ในปี 2565 ก็ยังจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท รวมเป็น 2.6 ล้านล้านบาท
- ในเชิงของจำนวนผู้ว่างงานหรือเสมือนว่างงาน (มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) มีจำนวน 3 ล้านคน
- คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคนหรือเกือบ 10% ของจำนวนผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานและสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ถึง 3 เท่า
- การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทคิดเป็น 7% ของจีดีพีสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่
- การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในเศรษฐกิจจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไม่กู้ เพราะการกู้และใส่เงินเข้าในตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจเพิ่มฐานภาษีและทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้ลดลงในอนาคต
- การกู้เงินโดยภาครัฐเพื่อใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จริงๆ แล้วทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลังและมองว่าหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพีเป็นอะไรที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ลำบากรองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐได้ ดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปีไม่ถึง 1.6% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นดอกเบี้ยสูงถึง 4-6%
ดังนั้น หากทุ่มเทการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานเมื่อปีที่แล้วอย่างเต็มที่ก็น่าที่จะช่วยพยุงธุรกิจและการจ้างงานได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถเผชิญวิกฤติปัจจุบันคือการระบาดระลอก 2 และระลอก 3ได้ดีกว่าที่กำลังต้องทนทุกข์อยู่ในขณะนี้
ในส่วนนี้ผมคิดว่าผมสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเพราะผมกับกลุ่ม CARE ได้เคยนำเสนอตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้วให้ภาครัฐและธปท.รีบเร่งใช้ทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินอย่างเพียงพอและทันท่วงทีเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจให้อยู่รอดและสามารถจ้างงานต่อไปเพื่อก้าวข้ามความถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19
มา ณ วันนี้ผู้ประกอบการอ่อนแอลงอย่างมากและครัวเรือนก็เผชิญกับภาวะที่ธปท.บอกว่าตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาทในเดือนพฤษภาคม 2564 ลดลงเทียบกับปีก่อน (ที่ยังเผชิญกับการระบาดรอบแรก) 1.6% ในขณะที่ (คนรวย) ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวเป็นปกติคือ 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกัน “หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่หายไป”
ผมเห็นว่าการที่รัฐบาลจะใส่เงินเข้าไปในระบบให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ+การจ้างงานในสภาวการณ์ปัจจุบันนั้นย่อมจะทำได้ยากกว่าเมื่อปีที่แล้วอย่างมาก เพราะขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและวัคซีนตลอดจนชุดตรวจยังขาดแคลน ย่อมทำให้ต้องมีมาตรการ Lockdown ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น กล่าวคือภาคสาธารณสุขต้องการให้อยู่แต่ในบ้าน แต่การทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจนั้นจะ work from home แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้
ดังนั้นการ “ใช้เงิน” อย่างไรให้มีประสิทธิผลสูงสุดในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายโดยธปท.แนะนำอย่างถูกต้องในหลักการว่าจะให้ใช้เงินมากตั้งแต่แรก (Front Load) และให้มี “ตัวคูณ” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจสูง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้น่าจะหมายถึงการให้ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากได้รับเงินเพื่อนำออกไปใช้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมากด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นธปท.ก็ยังเสนอแนะให้ใช้เงินเพื่อช่วยธุรกิจพยุงการจ้างงาน (job retention) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อการบริโภค โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่น (แต่รัฐบาลก็ได้ส่งเสริมให้ผู้ติด COVID-19 กลับถิ่นเช่นกัน?) และให้ส่งเสริมการเพิ่มหรือปรับทักษะ (upskill-reskill) ของแรงงาน
ซึ่งก็กลับมาที่ประเด็นเดิมว่ามาตรการที่ควรทำดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ที่น่าจะได้ผลดีกว่าเพิ่งจะมาเริ่มทำในปีนี้ที่ภาคสาธารณสุขต้องการให้เราอยู่กับที่เพื่อหยุดการแพร่โรค
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปกับการเร่งฉีดวัคซีนคือต้องมี ATK ราคาถูกแจกจ่ายให้กับประชาชนและภาคธุรกิจอย่างเพียงพอที่จะคัดกรองให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อสามารถทำมาหากินอย่างมั่นใจ เพื่อพยุงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปให้ได้ในช่วงคับขันใน 3-4 เดือนข้างหน้าครับ.