เปิดหู เปิดตา เปิดใจ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นอกจากเราต้องจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายต่างๆในชีวิต พร้อมกับสร้างทัศนคติและความฮึกเหิมว่า “ทำได้” และต้องทำให้ดีที่สุด ในยุคหลังโควิด-19 แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน คือการเปิดรับข้อมูลและความคิดค่ะ

การเปิดรับข้อมูล เข้ามาได้สองทางคือจากการได้ยินทางหู และจากการอ่านหรือดู ผ่านทางตา ซึ่งปรากฏว่าคนสมัยนี้อาจจะได้ยิน แต่ไม่ได้ “รับฟัง” ค่ะ คือรู้ว่ามีคนพูด รู้ว่าเขาพูดอะไร แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังให้ได้สาระหรือสารที่ผู้สื่อส่งออกมา จึงเกิดเหตุการณ์ ไม่ฟังจนจบ หรือฟังครึ่งหนึ่ง คิดเอาเองอีกครึ่งหนึ่ง หรือ “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด” คือฟังความไม่ชัดเจน แล้วนำไปพูดต่อ หรือไปทำผิดจากที่ผู้สื่อสื่อออกมา

“ได้ยิน” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “hear” ก็คือรู้ว่ามีเสียง ได้ยินเสียงนั้นผ่านหูไป รู้ว่าเป็นเสียงอะไร หรือเสียงใคร คือไม่ได้ตั้งใจก็ได้ยินได้ เช่นเผอิญผ่านไป ได้ยินเขาคุยกัน อาจจะจับใจความได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือคนพูดตั้งใจพูด แต่คนฟังเพียงแต่ “ได้ยิน” ไม่ได้ “รับฟัง”

“รับฟัง” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Listen” หมายถึง การตั้งใจฟังเสียงที่ได้ยินนั้น ให้ได้ความหมาย ความไพเราะ ได้สาระและความบันเทิง หรือความในใจ ความตั้งใจ ที่สื่อออกมาผ่านการพูด การสนทนา หรือการอภิปรายนั้น

จึงเห็นได้ว่า หากเราสื่อสารถึงกัน แต่ผู้รับ“ได้ยิน”อย่างเดียว เราอาจจะไม่สามารถดำเนินการต่างๆให้บรรลุเป้าหมายได้ เพราะผู้ฟังก็จะฟังพอเป็นพิธี แต่พอถึงเวลาปฏิบัติก็จะไปเลือกทำตามที่ตนเองคิดว่าจะทำอยู่ดี

แต่หากเรา “รับฟัง” เราจะได้รับรู้ถึงความตั้งใจและเป้าหมาย ความต้องการของสารที่ผู้สื่อ ต้องการสื่อออกมา และยังอาจจับได้ถึง อารมณ์และแรงจูงใจของผู้พูด ทำให้โอกาสเกิดความเข้าใจผิดลดน้อยลงค่ะ และการรับฟังนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองและสันติภาพ ความปรารถนาดีที่เหมือนกัน หากถูกสื่อออกมาในลักษณะแตกต่างกัน และผู้รับไม่พร้อมที่จะรับ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้อยู่บ่อยๆ

สำหรับการ “เปิดตา” สมัยนี้คนนิยมเปิดตาเพื่อ“ดู” มากกว่า“อ่าน” ไม่ใช่ว่าการดู เป็นเรื่องไม่ดีนะคะ แต่การดูไม่เสริมสร้างจินตนาการเท่ากับ “การอ่าน” ค่ะ ท่านสามารถพิสูจน์ได้ จากการนำเด็กคนหนึ่งที่อ่านมากๆ และดูทีวี ดูวิดีโอ ดูคลิปภาพยนตร์ ตามปกติ กับ เด็กอีกคนหนึ่งที่อ่านน้อย แต่ดูทีวี ดูภาพยนตร์มากๆ มาเปรียบเทียบกัน คนที่อ่านมาก จะมีจินตนาการมากกว่า คนที่อ่านน้อยค่ะ

การ “เปิดตา” เป็นการเรียนรู้ รู้เรื่องราว รู้ข้อมูล รู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น และ การรับรู้พวกนี้ จะช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นด้วย ซึ่งปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ตามการวิจัยของ World Economic Forum ค่ะ

การเลือกอ่าน เลือกดู หรือเลือกฟัง ความเห็นหรือความคิดที่คล้ายของตนเอง เป็นโรคระบาดในทศวรรษนี้ และเป็นยาพิษสำหรับสันติภาพของโลกด้วยค่ะ เพราะการที่มีคนคิดเห็นต่างกัน แยกกันไปเกาะกลุ่มอยู่คนละขั้ว ยิ่งทำให้ไม่มีกระจายอยู่กลางๆ เป็นผู้ที่จะคอยไกล่เกลี่ยสองกลุ่มที่เห็นต่างกัน และการมีอินเตอร์เน็ต มีเสิร์ชเอ็นจิ้นที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีโซเชียลมีเดียที่คนสามารถแสดงออกให้คนอื่นๆรับรู้ได้อย่างเปิดเผย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ยิ่งทำให้การจับกลุ่มแบ่งขั้วกันทำได้ง่ายขึ้น


การรับฟัง(เปิดหู) และการอ่าน การดู(เปิดตา) ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม ในโลกอนาคตข้างหน้า ใครที่ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่สนใจศึกษาเทคโนโลยีใหม่ จะอยู่อย่างลำบากมากขึ้นค่ะ

อย่างไรก็ดี การเรียนรู้จะไม่ประสบผล หากเรามีตะแกรงคอยกรองสิ่งที่ไม่ต้องตา ต้องหู ต้องใจ ออกไป ด้วยการเลือกพูดคุย เลือกอ่าน หรือเลือกดู เฉพาะกับคนหรือสื่อที่มีความเห็น มีหลักการ หรือแนวคิดเหมือนเรา

คนฉลาดต้องฟังให้มากที่สุด อ่านให้มาก และดูให้มาก และนำมาคิด ที่สำคัญคือ ต้องเปิดใจรับข้อมูล ความเห็น หรือแนวคิดที่แตกต่าง เก่งคนเดียวไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าคนเก่งหลายๆคน ร่วมกันทำในสิ่งดีๆยากๆหลายๆสิ่ง ความเก่ง ความเชี่ยวชาญของแต่ละคน จะผนึกกันเกิดพลังให้สามารถทำสิ่งยากๆ ทำในสิ่งที่แปลกใหม่ได้ และทำได้รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทำได้เร็วและดีกว่านำความสามารถของแต่ละคนมารวมกันธรรมดา เพราะระหว่างการทำงานร่วมกัน นอกจากจะมีการมองมาจากต่างมุมกันแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์และการถกกัน จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ และยังช่วยลดความเสี่ยง ลดโอกาสล้มเหลวเมื่อนำไปปฏิบัติอีกด้วย เพราะทุกคนจะช่วยกันถาม ช่วยกันคิด จนสามารถปิดช่องโหว่ที่อาจมี หรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นการเพิ่มความรอบคอบ อีกชั้นหนึ่ง

การ “เปิดใจ” จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเปิดหู และเปิดตา และอาจจะสำคัญที่สุดด้วย เพราะ “ใจ” จะเป็นตัวกรองข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่จะรับเข้าไป หรือที่จะแบ่งปันออกมา

วันนี้จึงขอฝากให้ “เปิดหู เปิดตา เปิดใจ” เพื่อทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และเรียนรู้วิทยาการและทักษะใหม่ๆ เพื่อความสำเร็จ และอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของเราค่ะ
โพสต์โพสต์