การฟื้นตัวที่ไม่ง่ายของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การฟื้นตัวที่ไม่ง่ายของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อการระบาดของ COVID-19 ชะลอตัวลงบ้างและมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีหน้า

แต่ผมเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะมีปัจจัยที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่หลายประการดังนี้

1.การท่องเที่ยว ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากถึง 12% ของจีดีพีในปี 2019 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใประเทศมากถึง 40 ล้านคน แต่ในปีหน้า (2022) นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยเพียง 10 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของฝ่ายต่างๆ เพราะการฉีดวัคซีนทั่วโลกนั้นจะยังทำได้ไม่ทั่วถึงและมีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลจีนคงจะยังไม่อนุญาตให้ชาวจีนออกมาท่องเที่ยวอย่างเสรีจนกว่าความเสี่ยงของ COVID-19 จะลดลงอย่างมากและกว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาอีกก็น่าจะต้องรอถึงปี 2023

2.หนี้ครัวเรือน เมื่อ 10 ปีที่แล้วหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ของจีดีพี แต่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีต่อมา (เท่ากับ 80% ของจีดีพีในปี 2016) ทำให้ภาครัฐพยายามควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีต่อมา แต่เมื่อต้องเผชิญกับ COVID-19 ที่ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 90.5% ของจีดีพีในไตรมาส 1 ของปี 2021 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะได้มีมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้

การที่ครัวเรือนมีหนี้สินสูงมากและในขณะเดียวกันงานที่ให้เงินเดือนสูงมีน้อย แปลว่าหนี้ครัวเรือนที่ระดับสูงดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ดังนั้นการขยายตัวของกำลังซื้อในประเทศใน 1-2 ปีข้างหน้าจึงน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3.SME อ่อนแอ ข้อมูลของ ธปท.ระบุว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วคือไตรมาส 1 ปี 2016 ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ SME ไทย (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือประกันภัย) มูลค่าทั้งหมด 3.93 ล้านล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อปกติ 3.66 ล้านล้านบาท ทำให้มีสินเชื่อ special mention loan (ที่ลูกหนี้เริ่มจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้) เท่ากับ 99,920 ล้านบาท (หรือ 2.54% ของสินเชื่อทั้งหมด) และยังมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อีก 171,880 ล้านบาท (หรือ 4.38% ของสินเชื่อทั้งหมด) ต่อมาในไตรมาส 1 ของปี 2019 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง SME เริ่มมีปัญหามากขึ้น ทำให้สัดส่วนของ SML เท่ากับ 3.67% ของสินเชื่อทั้งหมด แต่สัดส่วนของ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 5.55% ของสินเชื่อทั้งหมด

ต่อมาในปี 2020 หลังจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ข้อมูลล่าสุดคือไตรมาส 1 ปี 2021 พบว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ทั้งหมดเท่ากับ 3.17 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนที่เป็น SML (ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการจ้ายดอกเบี้ย) มากถึง 12.73% ของสินเชื่อทั้งหมด

ส่วน NPL นั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 7.64% ของสินเชื่อทั้งหมด แปลว่ากว่า 20% หรือ 1 ใน 5 ของ SME ไทยกำลังประสบปัญหากับการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจทำได้ยากลำบากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ กล่าวคือ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นานเกือบ 2 ปีย่อมจะอยู่ในสถานะที่ฟื้นตัวได้ยากมาก

4.แรงสนับสนุนจากภาครัฐ หลายฝ่ายคงจะกำลังตั้งความหวังเอาไว้กับมาตรการของภาครัฐที่นอกจากจะเพิ่มการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ก็คงจะต้องสรรหามาตรการอื่นๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างภาคธุรกิจ เช่น ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้ประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ของจีดีพีมาเป็น 70% ของจีดีพี แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการหรือนโยบายที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างธุรกิจออกมา โดย ณ วันที่เขียนบทความนี้มีข่าวการเพิ่มเงินเยียวยาและการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่ารัฐบาลนั้นได้มีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมอาศัยข้อมูลของ ธปท. เกี่ยวกับการขาดดุลเงินสดประจำปีของรัฐบาลที่คิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีมาเปรียบเทียบดูเช่นในช่วงปี 2001-2005 นั้น รัฐบาลขาดดุลเงินสดเฉลี่ยประมาณ 1.4% ต่อปี ในขณะที่จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 5.4% ต่อปี แปลว่าหากรัฐบาลไม่ยอมขาดดุล จีดีพีก็คงจะขยายตัวประมาณ 4% ต่อปีและต่อมาในช่วงปี 2011-2015 เมื่อจีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 3.0% ต่อปี รัฐก็ได้เพิ่มการขาดดุลเงินสดเฉลี่ยเท่ากับ 2.1% ต่อปี แปลว่ารัฐบาลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการค้ำจุนเศรษฐกิจ

สำหรับช่วงปี 2016-2020 นั้น จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.6% ต่อปี ในขณะที่รัฐบาลขาดดุลเฉลี่ยมากถึง 3.1% ต่อปี ทั้งนี้เพราะในปี 2020 ที่รัฐบาลมีมาตรการปิดเศรษฐกิจเพื่อยุติการระบาดของ COVID-19 นั้น จีดีพีติดลบ 6.1% ในขณะที่รับบาลขาดดุลเงินสดเท่ากับ 6.1% ของจีดีพี

ซึ่งแปลความได้ว่า หากรัฐบาลไม่ได้สร้างหนี้และใส่เงินเข้าไปในระบบมากถึง 6.1% ของจีดีพี เราก็อาจจะได้เห็นจีดีพีติดลบเกินกว่า 10% แต่ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลอาจจะมองว่าได้เพิ่มเงินสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากแล้ว ดังนั้น จึงอาจไม่ต้องการเพิ่มมาตรการกระตุ้นอีกมากนัก โดยจะยอมขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยประมาณ 2.5-3.0% ของจีดีพีต่อปีใน 2-3 ปีข้างหน้า

หากจะถามว่าจะมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจากส่วนอื่นๆ ได้ไหม ก็คงจะต้องตอบว่าแรงกระตุ้นที่ยังดูดีอยู่คือการส่งอออกสินค้า นอกจากนั้นก็ยังอาจหวังพึ่งนักการเมืองนำเงินออมออกมาใช้ได้หากการยุบสภาเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ.
โพสต์โพสต์