ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมขอนำเอารายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในไตรมาส 3 ปี 2564 มาเขียนถึงในบางส่วนที่ผมสนใจ เช่น การว่างงาน หนี้ครัวเรือนและความยากจน เป็นต้น

ประเด็นหลักที่คาดหวังกันคือภาวะเศรษฐกิจและสังคมในไตรมาส 3 ปี 2021 ที่ผ่านไปนั้นน่าจะเป็นจุดต่ำสุดสำหรับคนไทย กล่าวคือต่อไปข้างหน้าการเปิดประเทศนั้นน่าจะทำให้สภาวการณ์พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ความคาดหวังดังกล่าวนั้นอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้เพราะปัจจุบันการระบาดของ COVID-19 กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทวีปยุโรปและแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันประเทศจีนก็ยังคงมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แปลว่าการคาดหวังของไทยที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตนั้นจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก

อีกปัจจัยสำคัญที่จะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อที่สหรัฐอเมริกาในปี 2022 และ 2023

ล่าสุด Bank of America พันธมิตรของภัทรฯ ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปีหน้าและ 4 ครั้งในปี 2022 ทำให้ภัทรฯ คาดการณ์ว่า ธปท.ก็อาจต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้น 1 ครั้งในปีหน้าและปรับขึ้น 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นย่อมเป็นการเพิ่มภาระให้กับลูกหนี้และกดดันราคาหุ้น

ภาวะด้านแรงงานไตรมาส 3 ปี 2021
สภาพัฒน์ฯ สรุปว่าตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19
- ผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรลดลงถึง 1.3%
- ชั่วโมงทำงานหลักของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จาก 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 870,000 คน เท่ากับ 2.25% ของแรงงานทั้งหมด
- ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงาน 3.63% (ส่วนใหญ่จบสาขาทั่วไป เช่น บริหารธุรกิจ การตลาด) แรงงานอายุ 15-19 ปีว่างงาน 9.74% อายุ 20-24 ปีว่างงาน 8.35%
- ผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง 780,000 คน เป็นกลุ่มที่กำลังมีปัญหาในการดำรงชีพ

หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2021
ต้องขอย้ำว่าหนี้ครัวเรือนนั้นเป็นตัวเลขไตรมาส 2 ไม่ใช่ไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะคาดการณ์ได้ว่าภาวะหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 น่าจะตกต่ำลงไปอีกในไตรมาส 3 เพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด
- ไตรมาส 2 ปี 2021 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% แต่สัดส่วนต่อจีดีพีลดลงเป็น 89.3% ของจีดีพี จาก 90.6% ของจีดีพไตรมาส 1 ของปี 2021 ทั้งนี้เพราะจีดีพีไทยขยายตัวมากกว่าปริมาณหนี้

แต่ส่วนหนี่งอาจเป็นผลมาจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นและอีกส่วนหนึ่งคือจีดีพีที่ได้มาจากการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนว่าภาวะหนี้ครัวเรือนได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- สภาพัฒน์ฯ เตือนว่าต้องระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 3.51% นอกจากนั้นลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิตนั้น 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
- การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่ามีมูลหนี้นอกระบบรวม 85,000 ล้านบาทเทียบกับปี 2562 ที่มีเพียง 56,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 51.8%)

ภาวะด้านสุขภาพและคดีความในไตรมาส 3 ปี 2021
ในส่วนนี้มีข่าวดีอยู่ 2 เรื่องคือ
1. อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 24.6% และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 31.3% ซึ่งผมคำนวณโดยสรุปจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางจราจรในปี 2021 นั้น เฉลี่ยประมาณ 18 คนต่อวัน ลดลงจากปี 2020 ที่ 20 คนต่อวันและลดลงอีกปี 2019 ที่ 24 คนต่อวัน (แต่ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตเพราะ COVID-19 วันละประมาณ 50 คน)
2. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 46.1% โดยลดลงเกือบทุกโรค ยกเว้นโรคปอดอักเสบ

สำหรับข่าวไม่ดีนั้นมีดังนี้
1. โรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 16.5% จากภาวะอากาศในช่วงฤดูฝนและการติดเชื้อ COVID-19
2. คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น 10.3% โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 10.5% และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 17.3%

ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในปี 2020
ตรงนี้สภาพัฒน์ฯ มีข่าวดีมาบอกว่าความยากจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากดังที่มีการคาดการณ์เอาไว้ กล่าวคือจำนวนคนยากจนในปี 2563 (2020) มีทั้งหมด 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 500,000 คนจากปีก่อนหน้าและค่าสัมประสิทธิความไม่เสมอภาคจีนี (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภคในปี 2563 อยู่ที่ 0.35 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.348 ในปี 2562
(ตรงนี้ผมต้องขอถามว่าทำไมไม่นำเสนอ Gini สำหรับรายได้ของประชาชนด้วยเพื่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำในทางสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนที่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในปี 2020 ที่ผ่านมาและความเหลื่อมล้ำในเชิงของรายได้น่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกในปี 2021 นี้)
ความเหลื่อมล้ำในด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่ไม่เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุหลักเกิดจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่สภาพัฒน์ฯ แจ้งว่าครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน โดยเฉลี่ยประชาชนที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือได้รับเงินจากภาครัฐเฉลี่ย 13,473 บาทต่อคนในปี 2020 หรือ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งผมคำนวณจากข้อมูลที่แจ้งพบว่างบประมาณที่ใช้ไปในภารกิจนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เส้นแบ่งความยากจนนั้นกำหนดรายได้ในปี 2020 เอาไว้ที่ 2,762 บาทต่อเดือน กล่าวคือเงินช่วยเหลือที่ประมาณ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือนนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 40.7% ของเส้นแบ่งความยากจน

สภาพัฒน์ฯ จึงประเมินว่าหากไม่ได้มีมาตรการเยียวยาดังกล่าวจำนวนคนจนในปี 2020 จะเพิ่มจาก 4.8 ล้านคนเป็น 11.02 ล้านคน หมายความว่ามาตรการของรัฐลดจำนวนคนจนลงไป 6.22 ล้านคนในปี 2020
คำถามที่ตามมาคือจะต้องใช้งบประมาณในปีนี้อีกเท่าไหร่เพื่อไม่ให้จำนวนคนจนในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2020?
โพสต์โพสต์