การคาดการณ์ราคาน้ำมัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การคาดการณ์ราคาน้ำมัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหรือน้ำมัน แต่จะอาศัยการวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปว่า แนวโน้มราคาน้ำมันนั้นน่าจะไม่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ และอาจราคาสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยในระยะยาวคืออีก 10-20 ปีข้างหน้า

ต้องยอมรับว่าในอนาคตนั้นราคาน้ำมันจะสามารถผันผวนได้อย่างมาก ดังที่เราได้ประสบกันมาแล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก่อนอื่นจึงต้องพยายามวิเคราะห์ว่า ทำไมราคาน้ำมันจึงสามารถผันผวนได้อย่างมาก ซึ่งคำตอบหลักคือความยากลำบากของการปรับตัวในส่วนของอุปทาน (supply) เพราะลักษณะพิเศษของอุตสาหกรรมน้ำมัน 4 ประการ คือ

1.ในกรณีที่ราคาน้ำมันเกิดปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสั้น การเร่งสูบเอาน้ำมันออกจากบ่อน้ำมันที่มีอยู่นั้นทำได้ในกรอบที่จำกัด และหากเร่งการสูบออกมามากเกินไป ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพตกต่ำลงและเกิดการสูญเสียมากขึ้น และระบบขนส่งก็อาจจะไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ในทันที อีกทางหนึ่งคือการนำเอาน้ำมันในสต็อกออกมาขายในท้องตลาด แต่ก็จะสามารถทำได้ในปริมาณที่จำกัด

2.การเพิ่มกำลังการผลิตในระยะยาวนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี กล่าวคือจะต้องทำการสำรวจพร้อมกับคาดการณ์ว่าบริเวณใดน่าจะมีแหล่งน้ำมันแล้วจึงทดลองขุดเจาะหลุมใหม่ๆ แต่การขุดเจาะดังกล่าวนั้นกว่าจะพบน้ำมันที่มีปริมาณมากเพียงพอที่จะคุ้มทุนก็จะต้องใช้เวลา 4-5 ปี หรือมากกว่านั้น

จากนั้นก็จะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการขุดเจาะ และลำเลียงเอาน้ำมันดังกล่าวออกมาผลิตและจำหน่าย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นศตวรรษนี้มีเทคโนโลยีใหม่คือ การใช้น้ำ ทราย และเคมี เข้าไปกดดันเอาน้ำมันที่หลงเหลือในซอกหินออกมา โดยการขุดทแยงคือ hydraulic fracturing หรือ fracking เพื่อให้ได้มาซึ่ง shale gas หรือ shale oil ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มการผลิตได้ในเวลาอันสั้น

แต่ในระยะหลังนี้ เทคโนโลยีนี้ถูกตำหนิอย่างกว้างขวางว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงถูกควบคุมโดยรัฐบาลของหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ

3.การขุดเจาะน้ำมันต้องใช้การลงทุนสูงมากในตอนเริ่มต้น แต่เมื่อลงทุนไปแล้วและมีการผลิตน้ำมันออกมาจากหลุม ต้นทุนต่อหน่วยก็จะต่ำมาก ดังนั้น หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงจนไม่คุ้มทุนเมื่อรวมกับต้นทุนในการลงทุนตั้งแต่แรก เจ้าของหลุมก็ยังมีแรงจูงใจให้สูบน้ำมันออกขายต่อไป ทำให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำลงได้อีก เพราะไม่ได้ลดปริมาณการผลิตลงไปมากนัก

ทั้งนี้ การจะตัดสินใจดังกล่าว ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการคาดการณ์ของเจ้าของหลุมว่า ในอนาคตราคาจะตกต่ำลงไปอีกหรือไม่ หากจะตกต่ำลงไปอีก (เช่น เมื่อเกิดการระบาดของโควิดรอบใหม่) ก็อาจมีการเร่งการผลิตเพื่อรีบนำออกมาขายในเดือน ธ.ค. เพราะเชื่อว่าราคาจะต้องลดลงไปอีกในเดือน ม.ค.และ ก.พ.เป็นต้น

4.การผลิตน้ำมันนั้นยังมีศูนย์กลางการผลิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งความเสี่ยงและความผันผวนในด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างสูง (เช่น ตะวันออกกลางและประเทศเวเนซูเอลา)

การที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (Opec plus) รวมตัวกันโดยอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันนั้นอาจเป็นความจริงในส่วนหนึ่ง แต่กลุ่มประเทศดังกล่าวน่าจะหวังผลในเชิงของการสร้างรายได้สูงสุดให้กับตัวเองมากกว่า กล่าวคือพยายามทำให้ราคาน้ำมันโดยรวมสูงขึ้นมากกว่าต่ำลง

ในส่วนของอุปสงค์ (demand) นั้นน่าจะเปลี่ยนแปลงน้อยและปรับตัวยากในระยะสั้น ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในส่วนของอุปทานที่ลดลง ก็จะทำให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างมาก เพราะผู้ซื้อไม่มีทางเลือกอื่นมากนักในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่าน้ำมันและพลังงานที่คล้ายคลึงกันคือ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาตินั้นถือว่าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล คือพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภัยอันตรายต่อสภาพอากาศ ดังที่ได้มีการรับรู้กันแล้วอย่างกว้างขวาง

ที่สำคัญคือการประชุม Cop 26 ที่ผ่านมาได้มีการแสดงเจตจำนงที่จะต้องยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิ (net zero carbon emission) ให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งการจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้องเลิกใช้น้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน โดยต้องลงทุนในการผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ประเด็นหลักคือ “การลงทุน” แปลว่าน่าจะไม่มีแรงจูงใจมากนักในการจะไปลงทุนแสวงหาบ่อน้ำมันบ่อใหม่ หรือการทำ fracking เพราะมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องการพลังงานประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น จึงน่าจะมีการปล่อยให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับค่อนข้างสูงต่อไปเพื่อสะท้อน “ต้นทุนที่แท้จริง” จากการใช้พลังงานประเภทดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจให้จะต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก เพื่อให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ในการประชุม Cop26

จึงอาจสรุปได้ว่าในระยะยาวราคาน้ำมันจะต้องอยู่ที่ระดับค่อนข้างสูงต่อไปอีกหลายสิบปี รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซลด้วย ซึ่งความพยายามที่รัฐบาลจะเอาเงินไปอุดหนุนเพื่อลดราคาลงมา ย่อมจะเสี่ยงต่อการต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในอนาคตครับ.
โพสต์โพสต์