ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของรัสเซีย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของรัสเซีย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สงครามที่กำลังทวีความรุนแรงที่ยูเครนนั้น คาดการณ์ได้ว่าประเทศยูเครนจะต้องพ่ายแพ้กองทัพรัสเซียในที่สุด เพราะรัสเซียเป็นมหาอำนาจทางการทหาร และยังเป็นมหาอำนาจในเชิงของอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย

ผมเห็นการวิจารณ์ในประเทศไทยที่มองว่า เป็นสงครามที่เกิดขึ้นเพราะการยุแยงของสหรัฐ และมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย แต่ผมมองว่าคู่กรณีที่สำคัญกว่าสหรัฐคือยุโรป

เพราะสงครามที่เกิดขึ้นนั้นกระทบกับความมั่นคงและสันติสุขในยุโรปโดยตรงมากกว่า นอกจากนั้นรัสเซียก็ยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประเทศหลักในยุโรปมาโดยตลอด จึงได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับรัสเซียและพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

เช่น ยุโรปพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการใช้ก๊าซทั้งหมด และพึ่งพารัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการใช้น้ำมันดิบทั้งหมด

นอกจากนั้นก็ยังมีความผูกพันที่ไม่เป็นทางการแต่มีความสำคัญ เช่น การที่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมนีดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ผูกขาดการผลิตพลังงานและเป็นรัฐวิสาหกิจหลักของรัสเซียอีกด้วย ดังที่ผมได้กล่าวถึงในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

มาสัปดาห์นี้จะเห็นได้ว่ายุโรปกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานครั้งสำคัญดังที่ CNBC ได้ลงข่าวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยพาดหัวข่าวว่า “How the EU plans to cut dependence on Russia gas by two-thirds this year”

สาระสำคัญของข่าวคือ การประกาศใช้แผน RE Power EU ที่มีเป้าหมายหลักคือการลดทอนการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลงไป 2/3 ภายในปลายปีนี้ (ตอนเข้าฤดูหนาว) โดยมาตรการต่างๆ เช่น การเร่งสรรหาก๊าซเพื่อสำรองในยุโรปเพิ่มขึ้นในช่วงข้างหน้าที่อากาศอุ่นขึ้น

โดยการซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ทั้งส่งผ่านท่อก๊าซและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากประเทศอื่นๆ เช่น Azerbaijan, Egypt, Israel, Norway, Qatar และ Turkey ตลอดจนสหรัฐ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ซึ่งย่อมจะส่งผลราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ระดับสูงต่อไปได้อีกหลายเดือนหรือหลายปี จนกว่ายุโรปจะสามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเป้าหมายว่าจะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2030

ทั้งนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น BP, Exxon และ Shell ก็ได้ประกาศยุติการลงทุนในรัสเซีย และในบางกรณีจะถอนทุนออกจากรัสเซียทั้งหมด ทั้งๆ ที่บริษัทเหล่านี้ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี จึงจะเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวง

แต่กระแสต่อต้านรัสเซียมีความรุนแรงมากและรัฐบาลสหรัฐและยุโรปก็ได้กดดันบริษัทดังกล่าวให้ถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย ณ ขณะนี้ยังมีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสและอิตาลีที่ยังสงวนท่าทีอยู่ แต่ก็คงจะต้องทำธุรกิจกับรัสเซียอย่างระมัดระวังและคงไม่กล้าเพิ่มการลงทุนในรัสเซียในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้หลักของรัสเซียคือการขายพลังงาน โดยสรุปคือการส่งออกพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-60% ของการส่งออกทั้งหมด โดยที่การส่งออกทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจีดีพีของประเทศรัสเซีย

ดังนั้น การส่งออกพลังงานจึงทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี นอกจากนั้นรัฐบาลรัสเซียยังพึ่งพารายได้จากกำไรและการเก็บภาษีจากพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลรัสเซียอีกด้วย

จีดีพีของรัสเซียในปี 2021 นั้นประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประชากร 140 ล้านคน กล่าวคือรายได้ต่อคน (per capita GDP) ประมาณ 10,200 เหรียญเทียบกับคนไทยที่ 7,200 เหรียญต่อคน จีดีพีของรัสเซียต่ำกว่าจีดีพีของเกาหลีใต้ (1.6 ล้านล้านเหรียญ)

และผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรวมทั้งการคว่ำบาตรธนาคารกลางของรัสเซียทำให้ค่าเงินรูเบิลลดลงจากประมาณ 77 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็น 137.5 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ (เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2022)

ก็ทำให้สรุปได้ว่าจีดีพีของรัสเซียในปีนี้หากคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก็จะลดลงไปเหลือเพียง 0.84 ล้านล้านเหรียญ ทำให้รายได้ต่อคนของชาวรัสเซียในปีนี้จะลดต่ำลงกว่ารายได้ต่อคนของประชาชนไทย โดยรายได้ที่ว่านี้คืออำนาจในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

แต่รัสเซียกำลังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศ ดังนั้นแม้จะมีเงินก็อาจจะยังไม่สามารถนำเข้าสินค้าบางประเภทที่ต้องใช้ในการผลิตได้ กล่าวคือยังไม่ได้คำนวณผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร ที่น่าจะทำให้ผลผลิตจริงของเศรษฐกิจ (จีดีพี) รัสเซียลดลงไปได้ประมาณ 10% หรือมากกว่านั้นในปีนี้ (รุนแรงเท่าๆ กับตอนที่ไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540-2541)

พร้อมๆ ไปกับความเป็นไปได้สูงที่เงินเฟ้อในรัสเซียจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปีนี้ กล่าวคือเงินเฟ้อน่าจะปรับขึ้นเป็น 15-16% ในปีนี้เมื่อเทียบกับ 8.4% ในปีที่ผ่านมา

ผมจึงสรุปว่าแม้ว่ารัสเซียจะชนะสงครามในยูเครน แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงมากอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศใดๆ ทั้งในเชิงของผลกระทบในระยะสั้นและความมืดมนของอนาคตทางเศรษฐกิจครับ.
โพสต์โพสต์