ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปอยู่ก่อนหน้าแล้ว

เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ตัวอย่างเช่น

1.ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม 2019 (ก่อน COVID ระบาด) หลังจากนั้นปรับตัวลงอย่างมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและร้อนแรงมากในปี 2021 ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปถึง 72 เหรียญต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2021 โดยปรับตัวขึ้นไป 20%

2.แต่ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนระเบิดออกมา ก็ได้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปอีกจาก 72 เหรียญเป็น 100 เหรียญ

กล่าวคือเพิ่มขึ้นไปอีกเดือบ 40% รวมกันแล้วราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 65% ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ในขณะที่ก่อนหน้านี้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อ (การปรับขึ้นของราคาสินค้าโดยรวม) อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 1.5% ต่อปี

มองไปข้างหน้าบางคนอาจเข้าใจว่าเดี๋ยวราคาน้ำมันน่าจะปรับลดลงกลับไปที่ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรลได้ โดยเข้าใจว่าเมื่อสงครามสงบลง ประเทศตะวันตกก็จะยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซียภายในกลางปีหน้า

แต่ผมเชื่อว่าการโจมตียูเครนโดยรัสเซียครั้งนี้ทำให้ประเทศตะวันตกปรับเปลี่ยนนโยบายกับรัสเซียอย่างหน้ามือเป็นหลังมือจากนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือและความพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (cooperation) มาเป็นนโยบายกักกันรัสเซียไม่ให้ล้ำเส้น (containment) และเป็นนโยบายระยะยาวไปอีกเป็นสิบปี

การปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานของสหภาพยุโรป เป็นปัจจัยหลักของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับรัสเซีย (ไม่ใช่การห้ามนำเข้าพลังงานรัสเซียของสหรัฐเพราะสหรัฐนำเข้าพลังงานจากรัสเซียน้อยมาก)

ซึ่งยุทธศาสตร์ RE Power EU ที่ประกาศออกมาตอนต้นเดือนมีนาคมนั้น สาระสำคัญข้อหนึ่งคือ การกำจัดความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียภายในปี 2030 หรือก่อนหน้า ปัจจุบันสหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมูลค่าวันละ 420 ล้านเหรียญสหรัฐ (14,000 ล้านบาท)

แปลว่าในช่วงอีก 8 ปีข้างหน้า ยุโรปจะต้องหันมาแย่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้เชื่อได้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติน่าจะอยู่ที่ระดับสูงต่อไปได้อีกนาน

นอกจากนั้นสหภาพยุโรปก็ยังซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นมูลค่าวันละ 400 ล้านเหรียญ (ประมาณ 13,400 ล้านบาท) ซึ่งก็คงจะต้องแย่งซื้อจากแหล่งอื่นๆ อีกเช่นกันเพื่อลดทอนการพึ่งพารัสเซียลงอย่างมีนัยสำคัญ

บางคนอาจมองว่าแม้ยุโรปจะลดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย แต่ประเทศอื่นๆ ก็น่าจะเป็นลูกค้ารัสเซียได้เมื่อยกเลิกการคว่ำบาตรไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันเรากำลังเห็นการถอนตัวของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกจากรัสเซีย เช่น Shell, Exxon และ BP

นอกจากนั้นธนาคารขนาดใหญ่ของโลกก็กำลังถอนตัวจากรัสเซียเช่นกัน การถอนตัวที่ว่านี้จะต้องใช้เวลาทำกระบวนการขายสินทรัพย์นานเป็น 1-2 ปีหรือมากกว่านั้น และรัสเซียก็ขู่ว่าอาจจะยึดทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวได้อีกด้วย

ประเด็นคือเมื่อตัดสินใจถอนตัวแล้ว รัสเซียจะขาดแคลนเทคโนโลยีและขาดแคลนเงินทุน (รัสเซียกำลังจะต้อง “เบี้ยวหนี้” ในเร็ววันนี้) แปลว่าอุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซียน่าจะไม่สามารถพัฒนาไปได้มากในอนาคต (โดยอาจดูตัวอย่างได้จากประสบการณ์ของประเทศเวเนซูเอลาและประเทศอิหร่าน)

บางคนอาจมองว่ารัสเซียน่าจะหันไปพึ่งประเทศจีนได้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากเพราะเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่ารัสเซีย 10 เท่า (จีดีพีจีนประมาณ 15 ล้านล้านเหรียญ จีดีพีรัสเซียประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญ)

แต่จีนเองก็คงจะต้องวางตัวให้ดีเพราะยังต้องการพึ่งพาตลาดและเทคโนโลยีของตะวันตก ทั้งนี้จีดีพีของสหรัฐเท่ากับ 21 ล้านล้านเหรียญและจีดีพียุโรปอยู่ที่ 15 ล้านล้านเหรียญ รวมกันเป็น 36 ล้านล้านเหรียญ เป็นตลาดที่ใหญ่กว่ารัสเซียจนไม่สามารถเปรียบเทียบได้ แม้แต่อินเดียก็มีจีดีพีมูลค่าเพียง 2.6 ล้านล้านเหรียญ

แต่สาเหตุที่จะทำให้ราคาพลังงานสูงอย่างต่อเนื่องนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยคือการที่ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานั้นบริษัทน้ำมันลงทุนในการแสวงหาและพัฒนาขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบน้อยมาก

ถามว่าเมื่อราคาพลังงานปรับขึ้นไปแล้ว การลงทุนดังกล่าวจะเร่งตัวขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่แน่ใจเพราะดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น (ต้นทุนทางการเงินแพง) และความกังวลและรังเกียจพลังงานแบบ fossil fuel ก็ยังมีอยู่เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและข้อผูกพันภายใต้ข้อตกลง Cop 26 ข้อสรุปคือราคาพลังงานน่าจะยังอยู่ที่ระดับสูงต่อไปได้นานอีกหลายปี

เรื่องของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ปรากฎว่าวัตถุดิบที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ราคาปรับสูงขึ้นยิ่งกว่าพลังงาน แต่ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากคือราคาปุ๋ยซึ่งข้อมูลเท่าที่ผมค้นพบนั้นมีดังนี้

•ราคายูเรียเมื่อเดือนธันวาคม 2019 อยู่ที่ 217 เหรียญต่อตัน แต่เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2022 ขึ้นมาอยู่ที่ 807 เหรียญต่อตันหรือปรับเพิ่มขึ้น 271% เทียบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น “เพียง” 72% ในช่วงเดียวกัน

•ดัชนีราคาปุ๋ยโดยรวมอยู่ที่ 72.6 ในเดือนธันวาคม 2019 ปรับขึ้นมาเป็น 196.9ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หรือเพิ่มขึ้น 171.1% ในช่วงเวลาดังกล่าว

วัตถุดิบสำคัญชนิดหนึ่งในการผลิตปุ๋ยคือโปแตชซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นที่สอง (รองจากแคนาดาที่ 30%) เท่ากับ 19% ตามด้วยเบลารุสที่ 16% ทั้งนี้แคนาดาเองก็น่าจะเริ่มกักตุนการส่งออกโปแตชเพราะความต้องการปุ๋ยในประเทศกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนั้นรัสเซียก็ยังเป็นผู้ส่งออกยูเรียรายใหญ่ของโลก (สัดส่วนประมาณ 14%) โดยไทยเราต้องพึ่งพาการนำเข้ายูเรียจากรัสเซียเป็นหลัก

ความต้องการใช้ปุ๋ยของโลกกำลังจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปเพื่อเพาะปลูกพืชสำคัญต่างๆ เช่น ข้าวโพดตอนปลายเดือนเมษายน เป็นต้นไป ตามด้วยการปลูกข้าวในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

สำหรับข้าวสาลีนั้นจะต้องปลูกตอนไตรมาส 4 และณ ขณะนี้กำลังต้องเก็บเกี่ยว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยรัสเซียส่งออกข้าวสาลีเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ในขณะที่ยูเครนส่งออกประมาณ 12% ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดของโลก

ราคาสินค้าเกษตรจึงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่จะปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของราคาปุ๋ย ดังนั้นเกษตรกรจึงน่าจะมีกำไรต่อหน่วยที่ลดลงครับ.
โพสต์โพสต์