เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนตอนที่ 2 ของเรื่องผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ต้องขอเขียนเกี่ยวกับการปรับท่าที และการปรับการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐก่อน เพราะผมมีความเห็นว่า FED น่าจะประเมินความรุนแรงของเงินเฟ้อต่ำเกินไป
เมื่อผลการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนมีข้อสรุปว่าธนาคารกลางสหรัฐดำเนินการที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ท่าทีที่แสดงออกนั้นมองได้ว่ามีความขึงขังและจริงจังอย่างมากในการต้องการปรามเงินเฟ้อให้ราบคาบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศจะรีบลดขนาดของงบดุล (ขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่ 9 ล้านล้านเหรียญ) โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมและการปรับการคาดการณ์ของเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่แสดงท่าทีว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก 6 ครั้งในปีนี้หลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 7 ครั้งซึ่งตลาดคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้าว่าธนาคารกลางสหรัฐคงจะส่งสัญญาณว่าต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 5-6 ครั้งในปีนี้
แต่ผมขอมองต่างมุมว่า การคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐนั้นยังประเมินว่าเงินเฟ้อครั้งนี้จะควบคุมได้โดยง่าย หากพิจารณาจากตารางการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐโดยรวม ดังที่ผมได้นำมาสรุป (ตารางประกอบ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำเอาการคาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2022 ไปเปรียบเทียบกับการคาดการณ์เดิมในเดือนธันวาคม 2021
บรรทัดแรกและบรรทัดที่สองคือ คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อเดือนธันวาคม 2021 เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2022 ปรับลดลงอย่างมากสำหรับปี 2022 นี้คือจาก 4.0% มาเป็น 2.8% ในปีต่อๆ ไป (2023, 2024 และในระยะยาว) นั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
ซึ่งแปลได้ว่าการขยายตัวของจีดีพีจะปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรงแต่ไม่ยืดเยื้อ จึงทำให้ตั้งคำถามได้ว่าหากเป็นเช่นนั้นทำไมอัตราการว่างงานในปี 2022 จึงจะอยู่ที่ระดับเท่าเดิมคือ 3.5% ทั้งในการคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2021 และเดือนมีนาคม 2022 กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงน้อยลงการว่างงานก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยใช่หรือไม่
ต่อมาเมื่อดูการคาดการณ์เงินเฟ้อก็จะเห็นได้ว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2022 จากที่เดิมคาดการณ์เอาไว้ที่ 2.6% ในเดือนธันวาคม (2021) มาเป็น 4.3% ในเดือนมีนาคม กล่าวคือเงินเฟ้อในปี 2022 จะเพิ่มขึ้นถึง 1.7% ทั้งนี้เพราะตัวเลขเงินเฟ้อ PCE (personal consumption expenditure) ล่าสุดนั้นสูงถึง 6.1% ในเดือนมกราคม 2022
ซึ่งหากประเมินเร็วๆ ว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6% ในครึ่งแรกของปีนี้ (เพราะเศรษฐกิจยังมีความร้อนแรงมากและราคาน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนราคาปุ๋ยจะยังสูงต่อเนื่องไปอีกยาวนาน) ก็ต้องแปลว่าเงินเฟ้อในครึ่งหลังของปีจะต้องอยู่ที่ระดับเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น (6+3=9÷2+4.5%)
คำถามคือ ทำไมการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 3-4 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 1% ตอนกลางปีจะกระชากให้เงินเฟ้อปรับลดลงได้อย่างมากและอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของปีนี้
ซึ่งคำตอบน่าจะเป็นว่า มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวลงเอง ราคาพลังงานควรต้องปรับตัวลดลงเองบ้าง และปัญหาห่วงโซ่อุปทานน่าจะต้องคลี่คลายไปอย่างมาก แต่ ณ ขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยจะเห็นพัฒนาการดังกล่าวเพราะราคาน้ำมันก็ยังสูงมาก
จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกที่สำคัญของโลกก็เป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลกและกำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ที่ควบคุมได้ยาก จึงยังต้อง Lock-down ทำให้กระบวนการผลิตต้องชะงักงัน
นอกจากนั้น ผมก็ยังเป็นห่วงเรื่องการปรับขึ้นของราคาปุ๋ยทั่วโลก ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันเสียอีกและภาคการเกษตรทั่วโลกกำลังต้องเริ่มใช้ปุ๋ยอย่างมากตั้งแต่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3
ดังนั้นเมื่อปุ๋ยขาดแคลนและราคาที่สูงมากก็น่าจะทำให้เกษตรใช้ปุ๋ยน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลงอันจะทำให้มีความเสี่ยงว่าราคาอาหารจะปรับตัวขึ้นอย่างมากหากฤดูเก็บเกี่ยวในครึ่งหลังของปีนี้พบว่าผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือมีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจไม่สามารถลดลงได้เลยในครึ่งหลังของปีนี้เพราะการปรับขึ้นแบบยกแผงของสินค้าเกษตรและราคาอาหาร
หากธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2022 ผิดพลาดอีกครั้งคือสมมุติว่าในปี 2022 เงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับ 6% (ไม่ใช่ 4.3%) ก็แปลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.9% ในปลายปีนี้นั้นเป็นระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปอย่างมากเพราะดอกเบี้ย “จริง” จะเท่ากับ -4% (6-1.9=4.1%)
แปลว่าดอกเบี้ยนโยบายคงจะต้องปรับขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องในปี 2023 กล่าวคืออาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 8-10 ครั้งในปี 2023 (ไม่ใช่ 4 ครั้ง) เพื่อทำให้นโยบายการเงินตึงตัวเพียงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้า
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้นไปอีกในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ผมมีข้อสังเกตุว่าธนาคารสหรัฐอาจไม่ต้องการ “ชน” กับเงินเฟ้อรุนแรงเกินไปในปีที่จะต้องมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (บวกกับเลือกตั้งประมาณ 1/3 ของวุฒิสภาและผู้ว่าการมลรัฐ) ทั่วประเทศของสหรัฐหรือที่เรียกว่า mid-term election เพราะไม่ต้องการจะถูกกล่าวหาว่าอิงการเมือง
นอกจากนั้นการที่รัฐบาลสหรัฐและสหภาพยุโรปจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือยูเครนและลดทอนผลกระทบของราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น ก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐไม่ต้องการจะปรับดอกเบี้ยขึ้นมากจนมมองได้ว่าไม่สนับสนุนและสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลัง
ข้อสรุปของผมคือปีนี้จึงน่าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนอย่างมากทั้งปีไม่เหมือนกับที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์เอาไว้ตอนต้นปีว่า เมื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วในต้นปีนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไปครับ.
การคาดการณ์เงินเฟ้อและนโยบายการเงินของสหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1