เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ราคาหุ้นของบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 6-7 วันทำการก่อน ตกลงมาอย่างหนัก ไล่มาตั้งแต่หุ้นที่ตกหนักมากที่สุดตั้งแต่วันที่ 10 จนถึงวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 คือหุ้น TOP ซึ่งตกจาก 60.75 บาท ลงมาเหลือเพียง 49.5 บาท หรือลดลง 18.5% ใน 6 วันทำการ

โดยการตกจะหนักในช่วง 2 วันแรก คือวันที่ 10 และ 13 และหนักมากยิ่งกว่าในช่วง 2 วันสุดท้ายคือวันที่ 16 และ 17 มิถุนายน ที่ตกลงมาประมาณ เกือบ 10% ใน 2 วัน หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะขอคืน “Windfall Profit” หรือ “เงินกำไรส่วนเกิน” ที่เกิดจาก “ค่าการกลั่น” ที่สูงขึ้น “เป็น 10 เท่า” ของโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดในประเทศไทย

​หุ้นโรงกลั่นที่ตกลงมาแรงรอง ๆ ลงมาคือ BCP หรือบางจากที่ตกลงมา 16.4% ใน 6 วันและ 10.7% ใน 2 วันสุดท้าย โดยเฉพาะในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ตกลงมา 9.3% ในวันเดียว เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลคงจะจัดการให้ทุกบริษัทจ่ายเงินจำนวนมหาศาลคิดเป็นเงินประมาณถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้าซึ่งอาจจะทำให้กำไรของหลาย ๆ บริษัทในปีนี้ลดลงไปถึง 30-40% จากที่คาดการณ์ไว้



​หุ้น SPRC ตกลงมา ประมาณ 15% ในช่วง 6 วันและ 11% ในช่วง 2 วันหลัง ในขณะที่หุ้น ESSO ตกลงมา 10.8% และ 11.6% ตามลำดับทั้ง ๆ ที่หุ้น 2 ตัวนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งในอดีตที่รัฐไทย “ขอความร่วมมือ” ให้โรงกลั่น “เสียสละ” กำไรให้กับรัฐบาลในช่วงปี 2008 ถ้าจำไม่ผิด โรงกลั่นทั้งสองต่างก็ปฏิเสธ เพราะผู้บริหารคงคิดว่าการจ่ายเงินโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้นจะเป็นการทำผิดต่อผู้ถือหุ้น ผู้บริหารของบริษัทคงยึดหลัก “บรรษัทภิบาลระดับสากล” ที่ว่าการนำเงินของบริษัทไปใช้โดยไม่ได้เกี่ยวกับการทำธุรกิจแบบนั้น ถ้าจะทำก็ต้องของอนุญาตหรือขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในตลาดหุ้นก็คงคิดว่ารอบนี้บริษัทอาจจะทำแบบเดิมไม่ได้ จึงเทขายหุ้นอย่างหนัก
​หุ้น 2 ตัวสุดท้ายคือ IRPC ตกลงมา 13.9 ใน 6 วันและ 8.8% ใน 2 วันหลัง ส่วนหุ้น PTTGC ตกลงมา 10.3 และ 5.4% ตามลำดับ เหตุผลที่ตกน้อยกว่าตัวอื่น ๆ ก็คือ ทั้ง 2 บริษัทนี้มีธุรกิจการกลั่นน้ำมันน้อยกว่าธุรกิจปิโตรเคมี ผลกระทบที่จะต้องจ่ายเงินให้กับรัฐจึงน้อยกว่า

​คำณวนอย่างคร่าว ๆ แล้ว ในช่วง 6 วัน Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นที่หายไปรวมกันของหุ้นโรงกลั่นทั้งหมดลดลงถึงอย่างน้อย 66,000 ล้านบาท และถ้าคิดเฉพาะ 2 วันหลังที่เกิดจากผลกระทบของเรื่องการเรียกเงินจากโรงกลั่นอย่างชัดเจน ก็ทำให้มูลค่าของหุ้นโรงกลั่นโดยรวมลดลงถึงประมาณไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท หรือมากกว่าเม็ดเงินที่รัฐจะได้จากโรงกลั่นใน 3 เดือน 2 เท่า และนี่ก็ดูเหมือนว่านโยบายแทรกแซงกำไรของหุ้นโรงกลั่นนั้นมองในแง่ของตัวเลขทางการเงินรวมของประเทศ “ไม่คุ้มค่า”



​แต่ที่จริงแล้ว การแทรกแซงทางธุรกิจโดยไม่ได้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์รองรับโดยรัฐนั้น มี “ต้นทุน” ที่มากกว่าเรื่องของเงินมาก ต้นทุนที่ว่าก็คือ ชื่อเสียงที่จะเสียหายในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่ประเทศต้องการจะดึงให้มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต เหตุเพราะว่านักลงทุนจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลอาจจะประสบปัญหาบางอย่าง หรืออาจจะคิดว่านักลงทุนกำลัง “เอาเปรียบ” เช่น “ทำกำไรมากเกินไป” และเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของกิจการซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจเสียหาย

ดังนั้น นี่จะเป็น ความเสี่ยงที่เรียกว่า “Regulatory Risk” หรือความเสี่ยงที่เกิดจากการควบคุมธุรกิจของรัฐที่อาจจะทำให้บริษัทเสียหาย ดังนั้น ต่างชาติก็จะพิจารณาว่าแต่ละโครงการจะคุ้มไหมถ้ามาลงทุนในประเทศไทยเทียบกับการลงทุนในที่อื่น

​อาจจะมีการเถียงว่า เราไม่ได้บังคับ แต่ขอ “ความร่วมมือ” ให้ธุรกิจช่วยเหลือรัฐหรือตอบแทนคืนต่อสังคมในยามที่ได้กำไรมากกว่าปกติและประชาชนกำลังยากลำบากกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก แต่นี่ก็ควรจะมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าโรงกลั่นมีกำไรมากกว่าปกติมากจริงหรือไม่ เหตุผลก็เพราะว่าค่าการกลั่นก็เพิ่งปรับตัวสูงขึ้นไม่นานในขณะที่ก่อนหน้านั้นก็ขาดทุนมาอย่างหนักและค่อนข้างนาน การได้กำไรมากขึ้นกว่าปกติในช่วงนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นการชดเชยให้ธุรกิจโรงกลั่นพออยู่ได้ในระยะยาว เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ค่าการกลั่นก็อาจจะลดลงมาได้ในไม่ช้าซึ่งจะทำให้กิจการขาดทุนได้ และถ้าถึงวันนั้น รัฐจะช่วยชดเชยเม็ดเงินคืนให้หรือไม่?



ข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจโรงกลั่นนั้น ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีหรือทำกำไรดีในประวัติศาสตร์ระยะยาวนั้น แทบจะไม่ต้องพูดถึง และนั่นทำให้การขยายตัวของกำลังการกลั่นทั่วโลกตกต่ำมายาวนาน ว่าที่จริง ในอีกซัก 10 ปีข้างหน้า โรงกลั่นก็คงต้องทยอยเลิกด้วยซ้ำ เหตุเพราะการใช้น้ำมันอาจจะน้อยลงไปมากอานิสงค์จากรถไฟฟ้าและพลังงานทดแทนอย่างอื่น และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็อาจจะยิ่งประสบปัญหา เพราะจะไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพและรักษากำลังการผลิตเพื่อให้มีกำลังการกลั่นเพียงพอต่อความต้องการจนกว่าคนจะเลิกใช้น้ำมัน

ในด้านของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองนั้น เราต่างก็บอกว่าทุกฝ่ายจะต้องพยายามทำให้เกิด “Good Corporate Governance” หรือการดูแลและควบคุมบริษัทต้องได้มาตรฐานและโปร่งใส ทุกอย่างควรมีเกณฑ์ที่ดีและตรวจสอบได้ ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกับการรับผิดชอบต่อสังคมและกติกาต่าง ๆ อย่างชอบธรรม รัฐหรือผู้คุมกฎฝ่ายอื่นรวมถึงตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. ก็จะต้องทำและเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ฝ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่ควรที่จะมีใครสามารถใช้อำนาจหรือแม้แต่บารมีที่จะทำให้คนอื่นทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม

คนอาจจะบอกว่า “เราเคยทำมาแล้ว” แต่ผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยและโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยจะต้อง “เคลื่อนไปข้างหน้า” ผมเองไม่ได้คิดที่จะต่อต้านเรื่องการจ่ายเงินของโรงกลั่น เอาแค่อยากเห็นว่า บริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้นก่อนได้ไหม?
pakapong_u
Verified User
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 0

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ทุกวันนี้ ปตท.ก็ถูกแทรกแซง ให้ช่วยตรึงราคาก๊าซ หรือทำภารกิจให้กับรัฐ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่คราวนี้รัฐกำลังลามมาที่โรงกลั่นน้ำมันเหมือนที่ดร.นิเวศน์ว่า
miracle
Verified User
โพสต์: 18364
ผู้ติดตาม: 1

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เหรียญ มี 3 ด้าน คือ หัว ก้อย และ ขอบ
ถ้าหากประชาชน ไม่มีเงินเติมน้ำมันและก๊าซ
โรงกลั่นมีรายได้ไหม ถ้าไม่ส่งออก
ส่งออกก็แข่งกับคนอื่นได้ไหม

ถ้าหาก ให้ประชาชนมีกำลังซื้อ พอไปกันได้ ก็ทำให้ทุกฝ่ายมีรายได้ มันก็ไม่ฟุบ แถมต่างชาติ นั้น ขายก่อนแล้วซื้อที่หลังก็กำไรส่วนต่างและ ค่าเงินบาทด้วย กำไรสองขา

อีกด้าน นักลงตกใจว่า รัฐแทรกแซงภาคเอกชน ดูในอดีต ละกัน ว่า กิจการน้ำมันรากเหง้า เป็นต้นทารัฐแทรกแซงมาโดยตลอดทาง อยู่แล้ว

ดังนั้น มองให้ครบทั้งสามด้าน แต่ระวัง จะเจอเหรียญที่ด้อยค่าโดนการตัดขอบและหลอมใหม่ อันนี้ก็ตัวใครตัวมันละกัน
:)
miracle
Verified User
โพสต์: 18364
ผู้ติดตาม: 1

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ลืมไป น้ำมันแพง ก็เปลี่ยนไปเป็น ก๊าซ
ตอนนี้กิจอู่เปลี่ยนเป็นก๊าซเริ่มดีทันตาเห็น
ไม่เพียงแค่นั้น อู่เปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้าก็ได้อานิสงส์ไปด้วย

ดังนั้น มันไม่มีข้อเสียไปซักทั้งหมดในเรื่องน้ำมันแพง
:)
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
Verified User
โพสต์: 14944
ผู้ติดตาม: 2

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

FM 96.5 | รู้ใช้เข้าใจเงิน | เชือดโรงกลั่น ได้ไม่คุ้มเสีย? | 20 มิ.ย. 65

คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

https://youtu.be/R3zCZv9Cvow?t=990

phpBB [video]
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
ภาพประจำตัวสมาชิก
ส.สลึง
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3750
ผู้ติดตาม: 1

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ไม่เข้าข้างใครครับ
กติกาว่าไงก็ทำตามกติกาก็ดี

ถ้ากติกาไม่ค่อยดี
ก็ไปแก้ไขปรับปรุงก่อน
มันก็แฟร์ทุกฝ่ายดี

ส่วนตัวเชื่อเรื่องการปรับตัว
ตอนเด็กๆ ไปโรงเรียน
ขนมปังก้อนเดียว
เช้าครึ่งก้อน
กลางวันครึ่งก้อน
ก็ผ่านมาแล้ว

เรียนมหาลัย
ไม่มีตังค์กินข้าว
พักเที่ยงหลบเพื่อนไปนอนในห้องน้ำ
ก็ผ่านมาแล้ว

ไปทำงาน
ไม่มีที่พัก หาเพิงนอน
ห่างจากที่ทำงาน 7 กม.
ขี่จักรยานไปกลับทุกวัน
ปลายเดือนต้มมาม่าสามมื้อ
ก็ผ่านมาแล้ว

น้ำมันแพง ข้าวของแพงเหรอ ?

ไม่กลัว
เพราะผมก็จะผ่านมันได้อีกเหมือนกันครับ

ปล.
แต่คนอื่น ผมไม่ทราบนะ
"วิถีรักษ์โลก บ้าน 1 หลัง รถ 1 คัน สาว 1 คน กางเกงใน 1 ตัว" <⁠(⁠ ̄⁠︶⁠ ̄⁠)⁠> ...
sakkaphan
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1123
ผู้ติดตาม: 0

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอโทษนะครับ นี่คือความคิดของนักลงทุน ที่เอาผลประโยชน์ของนายทุนเป็นที่ตั้ง

ยามภาวะวิกฤติ น้ำมันแพง ค่าครองชีพแพง คนที่ตายก่อน คือชนชั้นรากหญ้า

ชนชั้นรากหญ้า ที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ คนเหล่านี้คือเกษตรกร กรรกร แรงงานชั้นล่าง เป็นกำลังผลิตที่สำคัญที่สุดของประเทศ ข้าวปลาอาหารที่คุณกิน ถนนที่คุณขับผ่าน ตึกรามบ้านช่องที่คุณอาศัย อุปกรณ์ทุกอย่างที่คุณใช้ ล้วนมาจากแรงงานพวกเขาเหล่านี้

แต่คนเหล่านี้กลับถูกหลงลืมในภาวะวิกฤติ

เรื่องที่ ดร พูด ไม่ใช่ว่ามันไม่เป็นประเด็น แต่ประเด็นสำคัญที่สุดยามวิกฤติ ผมคิดว่าคือการจัด priority

ผมไม่คิดว่าการแทรกแซงค่ากลั่น จะยืนยาวไปนานหลายปี นี่เป็นมาตรการช่วงวิฤติเท่านั้น

หากเกิดปัญหาจริงๆในอนาคต แล้วถึงคราวที่รัฐจะต้องช่วยอุ้มบ้างมั้ย ก็เป็นได้ แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด

ที่แน่ๆกำไรสะสมก็มี โรงกลั่นจะอยู่ยืนยาวอีกกี่ปีผมไม่รู้

ที่ผมรู้แน่ๆคือ ระหว่างที่ผมพิมอยู่นี้ รากหญ้ากำลังอ่อนแอสุดกำลัง ทยอยล้มตาย

จัดลำดับความสำคัญให้ถูกครับ ช่วงเวลาแบบนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาคิดถึงกำไร หรือบรรยากาศการลงทุน

คุณจะลงทุนได้อย่างไร ประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่คิดถึงฐานผลิตที่สำคัญที่สุดเหล่านี้
ความยากจนในจิตใจ คือความยากจนที่แท้จริง
ภาพประจำตัวสมาชิก
ส.สลึง
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3750
ผู้ติดตาม: 1

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

นายทุนดีๆ ก็มี
นายทุนช่วยเหลือสังคมก็มีเยอะแยะครับ

คนเดือดร้อนเข้าใจได้
แต่ก็มีคนมาเตือนสติ
กติกาเขามีอยู่นะครับ
จะช่วยเหลืออะไร
อย่างน้อยดูกติกาด้วย

ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ทำงาน
ที่เกี่ยวข้องกับกติกา
กติกาก็ส่วนนึง
การช่วยเหลือก็เป็นอีกส่วนนึงไม่น่าเอามารวมกัน

ถ้าได้ช่วย
และไม่ผิดกติกา Win-Win ครับ
สังคมจะน่าอยู่ครับ
"วิถีรักษ์โลก บ้าน 1 หลัง รถ 1 คัน สาว 1 คน กางเกงใน 1 ตัว" <⁠(⁠ ̄⁠︶⁠ ̄⁠)⁠> ...
chavlikit
Verified User
โพสต์: 131
ผู้ติดตาม: 0

Re: เชือดโรงกลั่น: ได้ไม่คุ้มเสีย?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 9

โพสต์

จะบีบให้โรงกลั่นจ่ายมากยังไงก็ได้ถ้าคุณคิดว่าเขาได้กำไรมากเกินไป เพียงแต่ทำให้ถูกกติกา เช่นเข้าสภาออกกฏหมาย windfall tax อะไรก็ว่าไป อภิปรายถกเถียงกันให้พอ ถ้าสสเสียงส่วนใหญ่ vote ผ่านก็จบ ถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยแล้ว ไม่ต้องถามผู้ถือหุ้นบริษัทน้ำมันโรงกลั่นอย่างที่ ดร นิเวศน์ว่าด้วยซ้ำ

สำหรับน้ำมัน ถ้าจะให้ยุติธรรมควรทำแบบเมืองจีนคือมีตารางมาให้เสร็จ ว่าถ้าน้ำมันราคาเท่านี้ๆคุณต้องจ่ายภาษีพิเศษเพิ่มเท่านี้ๆ ยิ่งน้ำมันแพงยิ่งจ่ายมาก บอกล่วงหน้ากันหลายๆปีตั้งแต่ตอนที่น้ำมันยังถูกๆกันไปเลย บริษัทน้ำมันก็จะได้มีเวลาเตรียมแผนธุรกิจ นักลงทุนก็สามารถทำ valuation ได้ ถ้าทำได้แบบเมืองจีนแบบนี้ไม่มีใครโวยหรอกครับ จ่ายเพิ่มจ่ายพิเศษไม่มีใครว่าแต่ขอให้บอกล่วงหน้าให้มีเวลาเตรียมตัวหน่อย ประเด็นมีแค่นี้เอง
โพสต์โพสต์