ไทยต้องใช้วิกฤตอาหารให้เป็นโอกาส/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ไทยต้องใช้วิกฤตอาหารให้เป็นโอกาส/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤตอาหารในครั้งนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสที่ไทยของเราจะได้แสดงตัวเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นครัวของโลก ที่พึ่งพาได้

ตามที่ดิฉันได้เขียนไปในบทความก่อนว่าไทยเป็นหนึ่งในเจ็ดของยักษ์ใหญ่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิของโลก (ส่งออก ลบ นำเข้า) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 55% ของอาหารที่ส่งออกสุทธิในโลกนี้ อันประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา นิวซีแลนด์ ไทย และสหรัฐอเมริกา

สิ่งแรกที่อยากนำเสนอก่อนก็คือ ไม่ควรมีเกษตรกรต้องนำพืชผลทางการเกษตรมาทิ้ง หรือปล่อยให้เน่าเสีย เพียงเพราะพ่อค้าคนกลางให้ราคาที่ไม่คุ้มแม้กระทั่งค่าเก็บเกี่ยวและส่ง

ดิฉันเติบโตมาในภาคเหนือ และได้ยินเรื่องเกษตรกรที่ปลูกกะหล่ำปลีบนพื้นที่สูง ขายกะหล่ำปลีได้กิโลกรัมละ 50 สตางค์ สมัยดิฉันเป็นเด็กๆ สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาท เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ได้ยินข่าวเกษตรกรต้องให้คนอยากได้กะหล่ำปลี เข้าไปเก็บเกี่ยวเอาเอง เพราะค่าแรงในการเก็บ และค่าขนส่งไปตลาด สูงเกินกว่าราคาที่จะขายได้ คือกิโลกรัมละ 2 บาท

40 ปีผ่านไป ราคากะหล่ำปลี ขึ้นจาก 50 สตางค์ เป็น 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือขึ้นเป็น 4 เท่าตัว ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยว ขึ้นราคาจาก 5 บาท เป็น 50 บาท หรือขึ้นเป็น 10 เท่าของเดิม เดิมเกษตรกรขายกะหล่ำปลี 10 กิโลกรัม ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 1 ชาม ตอนนี้ต้องขายกะหล่ำปลี 25 กิโลกรัม จึงจะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 1 ชาม อย่างนี้ยุติธรรมหรือไม่

ฉายภาพมายังผู้บริโภคแบบดิฉัน ถ้าเกษตรกรขายกะหล่ำปลีได้กิโลกรัมละ 2 บาท ทำไมดิฉันต้องซื้อกะหล่ำปลีหัวละ 75 บาทในซุปเปอร์มาร์เก็ต ค่าขนส่ง และส่วนแบ่งของผู้ขายหลายๆทอด ไม่น่าจะสูงขนาดนั้น

และฉายภาพต่อ ดิฉันรับประทาน กะหล่ำปลีดอง ที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า “ซาวเออร์เคร้าท์” (Sauerkraut) ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ทับศัพท์เยอรมัน ซาวเออร์เคร้าท์ ดีกับสุขภาพ เพราะมีแบคทีเรียดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารและทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ซาวเออร์เคร้าท์ถุงหนึ่ง หรือขวดหนึ่ง ใช้กะหล่ำปลีไม่เกินหนึ่งหัว ดิฉันจ่ายเงินสองถึงสามร้อยบาท ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

จะดีกว่าไหมที่จะสอนให้เกษตรกรปลูกกะหล่ำปลีโดยใช้วิธีออแกนิก และมีผู้ไปลงทุนทำการแปรรูปเป็น ซาวเออร์เคร้าท์ โดยสอนและจ้างให้เกษตรกรเหล่านั้น มาเป็นผู้ช่วยผลิต ในกระบวนการที่เป็น GMP บรรจุถุงหรือขวด ส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศผ่านเครือข่ายผู้ส่งออกไทยที่มีอย่างกว้างขวาง (กะหล่ำปลีดองนำเข้า ขายปลีกกันขวดละ 300-600 บาท)

เมื่อดำเนินการไปถึงจุดหนึ่ง เมื่อเกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ มีเงินเก็บ มีทุนรอน ก็ให้สหกรณ์การเกษตรของเกษตรกรเหล่านั้น สามารถซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเป็นของตัวเอง ทำการผลิตเองเพื่อส่งเข้าป้อนตลาดตามช่องทางที่มีผู้แผ้วถางไว้ให้แล้ว

ดิฉันเคยไปเยี่ยมโรงเพาะเห็ด ของเกษตรกรญี่ปุ่น เขามีโรงอบ/ตากแห้ง มีถุงที่พิมพ์ยี่ห้อแล้ว มีเครื่องรีดปากถุง และสามารถผลิต เก็บเกี่ยว แปรรูป บรรจุ และขายให้กับผู้มาซื้อถึงฟาร์ม หรือส่งไปขายที่อื่น ผ่านสหกรณ์การเกษตรในท้องที่ มีรายได้ที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยากเห็นเกษตรกรไทยเป็นแบบนั้นบ้างค่ะ

ญี่ปุ่นผลิตอาหารได้มีคุณภาพมาก แต่ปริมาณของเขาไม่มาก เพราะพื้นที่มีจำกัด จำนวนประชากรก็สูง และยังเป็นสังคมสูงวัย ประชากรในวัยแรงงานจึงไม่เพียงพอ เขาจึงส่งออกบางอย่าง ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่สุทธิแล้ว ยังต้องนำเข้า

ไทยเรามีพืชพรรณผลผลิตที่มีคุณภาพ เรามีพ่อครัวแม่ครัวที่ฝีมือดี เรายังขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ การประสานงาน และการร่วมมือแบบเป็นกลุ่ม มองเพื่อส่วนรวม ยกระดับการผลิตที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้น และเป็นธรรมกับผู้ผลิตวัตถุดิบมากขึ้น เขาต้องได้มูลค่าเพิ่มสูงกว่านี้ จะมองว่าเกษตรกรควรจะได้เพียงค่าแรง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ราคาสินค้าเกษตรต้องประกอบด้วย ต้นทุนการผลิต บวกค่าใช้ทรัพยากร (คือดิน น้ำ อากาศ แสงแดด ธรรมชาติ) ซึ่งต้องให้กับเกษตรกร เพราะในอนาคต รัฐอาจจะเก็บภาษีการใช้ที่ดินเกษตร บวกกับค่าเสียเวลา บวกกับค่าความตั้งใจและการดูแลของเกษตรกร และต้องมีส่วนกำไรหรือ มาร์จิ้น ของเกษตรกรด้วย

ข้อมูลจาก Worldometers ระบุว่า ประชากรของโลก ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2565 มีจำนวนประมาณ 7,950 ล้านคน และประเทศไทยมีประชากร ประมาณ 70,143,346 คน เท่ากับว่าประชากรของไทย มีสัดส่วน 0.88% ของประชากรโลก สำหรับขนาดของเศรษฐกิจของประเทศวัดโดย จีดีพี ในปี 2564 ประมาณว่าประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจรวม 16,179,826 ล้านบาท หรือประมาณ 513,165 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.53% ของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูก 21.31 ล้านเฮกตาร์ ( 1 Hectare เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร) ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในโลกมีรวมกัน 1,556.059 ล้านเฮกตาร์ เท่ากับเรามีสัดส่วนของพื้นที่เพาะปลูก 1.37% ของโลก โดยมูลค่าเพิ่มจากการเกษตร ป่าไม้และประมงในปี 2562 เท่ากับ 38,367.10 ล้านเหรียญ (ราคาปี 2558) คิดเป็นสัดส่วน 8.3% ของจีดีพีไทย

โดยไทยผลิตพืชพื้นฐาน เช่นธัญพืช พืชน้ำตาล ผัก พืชน้ำมัน ผลไม้ พืชหัว และอื่นๆได้รวม 231.758 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 2.477% ของผลผลิตของโลก ซึ่งผลิตได้ 9,356.505 ล้านตัน ที่โดดเด่นคือน้ำตาล ในปี 2561 (ข้อมูลล่าสุดมีเพียงเท่านี้) ไทยเราผลิตน้ำตาลดิบได้ 15.435 ล้านตัน คิดเป็น 8.47% ของโลก โดยโลกผลิตได้ 182.166 ล้านตัน

นอกจากนี้ ไทยเรายังมีผลผลิตสัตว์น้ำ ปีละ 2.507 ล้านตัน คิดเป็น 1.41% ของผลผลิตโลก 177.834 ล้านตัน

ประเทศไทยเรามีความสำคัญต่อโลกมากทีเดียวในการผลิตอาหารเลี้ยงดูประชากรโลก

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราต้องดูแลอาหาร พืชอาหาร สัตว์อาหาร เครื่องปรุงอาหาร อย่างดี เราต้องรักษาการเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพของโลก เป็นครัวที่มีชื่อเสียงของโลก และพัฒนาให้เป็นแผล่งผลิตที่มีคุณภาพให้ได้ ภายในสามปีนี้ แล้วเราจะเป็นมหาอำนาจทางปากท้องค่ะ ใครอยากเป็นมหาอำนาจทางไหน เราไม่ต้องสนใจ อยากมีอาหารอร่อยรับประทาน อยากอิ่มท้องพร้อมอิ่มใจ ต้องมาเมืองไทยหรือซื้ออาหารและวัตถุดิบในการทำอาหารจากไทยเท่านั้น
โพสต์โพสต์