การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมได้เขียนถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาโดยมีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจไทยเดินตามเศรษฐกิจประเทศคู่แข่งไม่ทัน กำลังจะตกอันดับไปเรื่อยๆ
“The difficulty lies not so much in developing new ideas as in escaping from old ones.” (John Maynard Keynes)

แม้ว่าจะพยายามเขียนกฎหมายให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีพร้อมกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้มีการปฏิบัติตามแล้ว แต่เห็นผลไม่มากนักตามที่ผมได้เขียนถึงในตอนที่แล้ว

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดการพัฒนาประเทศ แต่จะต้องตั้งหลักให้ถูกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นจะทำโดยกรอบความคิดแบบไหนจึงจะถูกต้อง

ที่ผ่านมาแนวคิดที่ถูกนำเสนอมากที่สุดคือการกล่าวว่าจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยดูจากเครื่องยนต์ 4 เครื่องคือ

การบริโภค (C) การลงทุน (I) การกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล (G-T) การใช้จ่ายของรัฐและนโยบายภาษีและการส่งออก (X-M โดย X คือการส่งออกที่ต้องลบด้วยการนำเข้าเพื่อให้ได้การส่งออกสุทธิ)

โดยจะกล่าวกันว่าเมื่อเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องจุดติดก็จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้เพราะจีดีพี (หรือรายได้ของประชาชน) จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสมการดังนี้ Y=C+I+G-T+X-M

แนวคิดนี้เป็นทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคของ John Maynard Keynes ที่แต่งหนังสือชื่อว่า The General Theory of Employment, Interest and Money เมื่อปี 1936

แต่จะสังเกตว่า Keynes ไม่ได้บอกเลยว่าทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวจะแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว (เพราะต้องการตอบโจทย์เฉพาะเรื่องของ Employment, Interest และ Money)

กล่าวคือทฤษฎีเครื่องยนต์ 4 เครื่องนั้นเป็นทฤษฎีเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นของเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากปัญหาการพัฒนาที่เชื่องช้าของไทยที่ต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

ทฤษฎีของ Keynes นั้นกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในบางกรณีคือ เมื่ออุปสงค์ต่ำกว่าอุปทาน (aggregate demand falls short of aggregate supply)

ตรงนี้ต้องขอย้ำว่าเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้นเพราะ เศรษฐศาสตร์คือการตอบสนองกรณีที่อุปสงค์มีมากเกินกว่าอุปทานอยู่เสมอ (demand always exceed supply)

กล่าวคือศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตอบสนองความต้องการที่ไม่มีข้อจำกัดของมนุษย์ ตรงนี้บางคนอาจไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ามนุษย์ควรจำกัดความต้องการของตัวเอง

แต่ในโลกที่เราอยู่ร่วมกันในวันนี้ (และในอนาคตอีกยาวไกล) ผมจะกล้าเชื่อว่าน้อยคนในโลกนี้จะยอมลดเงินเดือน หรือปฏิเสธการขึ้นเงินเดือน หรือจะปฏิเสธการได้รับสมบัติจากพ่อ-แม่

หรือมีประเทศใดในโลกนี้ที่จะประกาศว่า ต่อไปนี้จะไม่ต้องการให้จีดีพี (ผลผลิต) ของประเทศเพิ่มขึ้นอีก กล่าวคือโลกนี้จะยังเป็นโลกที่มีความขาดแคลน (scarcity) ต่อไปอีกนานแสนนาน

กลับมาที่ทฤษฎีของ Keynes ที่ต้องการแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปสงค์ในระยะสั้น ตรงนี้สามารถอธิบายในขั้นพื้นฐานดังนี้

รายได้นั้นสามารถนำเอาไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคก็ได้หรือไม่ใช้จ่าย คือออมเอาไว้ก็ได้ กล่าวคือ

Y = C+S (Y คือรายได้ และ S คือการออม)

Keynes บอกว่าไม่จำเป็นเลยที่รายได้กับการใช้จ่าย (E = expenditure) จะต้องเท่ากัน โดยรายจ่ายนั้นมี 2 ชนิดคือ

E = C+I (C = การใช้จ่ายเพื่อบริโภค และ I = ใช้จ่ายเพื่อการลงทุน)

กล่าวคือความต้องการออมกับความต้องการลงทุนไม่จำเป็นต้องเท่ากันในทุกกรณี ประเด็นสำคัญคือเมื่อไม่เท่ากันแล้ว ระบบเศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไร?

ในกรณีที่ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจและตัดสินใจลดการลงทุนลง I จะต่ำกว่า S แปลว่า Y จะสูงกว่า E ในกรณีดังกล่าวสินค้าจะขายไม่หมด ทำให้บริษัทต่างๆ ลดการผลิตและลดการจ้างงาน เมื่อรายได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้ขายของไม่ได้

ระบบเศรษฐกิจจะปรับตัวกับสภาววะดังกล่าวอย่างไร? ตรงนี้เป็นจุดสำคัญเป็นที่มาของทฤษฎีของ Keynes กล่าวคือนักเศรษฐศาสตร์ยุคดั้งเดิมบอกว่าก็ต้องรอให้กลไกตลาดปรับตัว

กล่าวคือ ค่าจ้างก็จะต้องปรับลดลงและราคาสินค้าก็จะต้องปรับลดลง เพื่อให้อุปสงค์เพิ่มและต้นทุนการผลิตลดลง แต่ Keynes บอกว่าในระยะสั้นราคาจะปรับตัวลงยาก โดยเฉพาะเงินเดือนจะลดลงไม่ได้

ดังนั้น เมื่อมีการว่างงานจำนวนมาก ผู้บริโภคจะยิ่งขวัญเสียและบริโภคลดลง (พยายามเพิ่มสัดส่วนการออมจากรายได้) ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะตกใจที่ขายของไม่ได้และพยายามลดการผลิตและการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้นไปอีก

ในกรณีดังกล่าวจึงจะควรมีการกระตุ้นกำลังซื้อจากนอกระบบ แต่การกระตุ้นโดยนโยบายเพิ่มปริมาณการเงิน (ลดดอกเบี้ย) ก็จะไม่เป็นผลเพราะคนที่ยังเขาดความมั่นใจก็จะเก็บเงินสดเพิ่มขึ้น ไม่ยอมเพิ่มการใช้จ่าย

คือสภาวะ liquidity trap (ตรงนี้นักเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่าแนวคิดของ Keynes มีความลึกซึ้งโดยกล่าวถึง speculative demand for money ซึ่งผมขอไม่กล่าวถึงเพราะจะทำให้บทความนี้ยาวเกินไป) แปลว่านโยบายการเงินก็จะไม่มีประสิทธิผล

ดังนั้นมีอยู่แนวทางเดียวที่จะเติมอุปสงค์จากนอกระบบ (autonomous spending) คือการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐโดยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการผลิตและการลงทุน นำไปสู่การจ้างงาน

การกระตุ้นดังกล่าวในช่วงแรกจะทำให้สินค้าขายดี-ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเสมือนกับการลดเงินเดือนจริง เพราะค่าจ้างจะยังไม่ปรับตัวขึ้น (โดยช่วงดังกล่าวมี money illusion หรือผู้ใช้แรงงานยังไม่ทันรู้ตัวว่าเงินเดือนถูกลด) จึงจะมีการเร่งจ้างงานมากขึ้น ทำให้ปัญหาการว่างงานหมดไป

ขอย้ำอีกทีว่ากรอบแนวคิดของ Keynes นั้นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นจะต้องแก้ปัญหาที่อุปทาน (supply) ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ
โพสต์โพสต์