ถือได้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการที่รัสเซียพยายามใช้กำลังเข้ายึดครองยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว และดูเหมือนว่ากำลังเพลี่ยงพล้ำ เมื่อกองทัพยูเครนสามารถโจมตีกองกำลังของรัสเซียและยึดคืนพื้นที่มาได้กว่า 3 พันตารางกิโลเมตรในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งชัยชนะในสนามรบของทหารยูเครนในช่วงที่ผ่านมานั้น นอกจากเป็นเพราะความมุ่งมั่นของทหารยูเครนในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแล้ว
อีกส่วนหนึ่งคือการให้การสนับสนุนอย่างจริงจังของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครนมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากถึง 15,100 ล้านเหรียญตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน โดยอาวุธที่สำคัญที่ช่วยพลิกสถานการณ์ในสนามรบให้ยูเครนได้เปรียบคือ ระบบยิงจรวดภาคพื้นดินที่เรียกว่า MI4Z HIMARS และจรวดติดเครื่องบิน SGM-88 HARM
นอกจากนั้นในเชิงของความพยายามของประธานาธิบดีปูตินที่จะแสวงหาแนวร่วมและแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากประเทศมหาอำนาจสำคัญคือจีนและอินเดียก็ดูเสมือนว่าจะไม่ได้เป็นผลสำเร็จมากนัก
ทั้งนี้จากการติดตามประเมินผลการพบปะกันแบบตัวต่อตัวของประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีนาเรนดา โมดิ ที่การประชุมสุดยอด Shanghai Cooperation Organization ที่ประเทศ Uzbekistan เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ผลจากการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้น นักวิเคราะห์กล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีปูตินยอมรับว่าประธานาธิบดีสีจิ้งผิงได้ตั้งคำถามและแสดงความเป็นห่วง (expressed “questions and concerns”) เกี่ยวกับภารกิจทางทหารพิเศษ (special military operation) ของรัสเซียที่ยูเครน
ทั้งนี้ แม้จีนจะยังซื้อน้ำมันจากรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานว่าจีนได้ซื้อหรือขายสินค้าเพิ่มเติมจากรัสเซียหรือพยายามช่วยเหลือรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน แต่ในขณะเดียวกันจีนก็ไม่ได้ประณามการรุกรานของรัสเซียแต่อย่างใด ข้อสรุปของนักวิเคราะห์คือแม้ว่าจีนกับรัสเซียเคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ไม่มีข้อจำกัด (“no limit”)
แต่ดูเสมือนว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มีข้อจำกัดอยู่ระดับหนึ่ง เพราะจีนเองก็คงไม่ต้องการเสี่ยงกับการที่จะถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตร (secondary sanctions) หากให้การสนับสนุนรัสเซียมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
สำหรับผลการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีปูตินกับนายกรัฐมนตรีโมดินั้น ก็มีรายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรีโมดิกล่าวกับประธานาธิบดีปูตินว่า “ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่จะทำสงคราม” (today’s era is not an era of war) โดยประธานาธิบดีปูตินตอบว่า เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อยุติเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด (we will do our best to stop this as soon as possible)
ซึ่งตีความได้ว่า ผู้นำอินเดียแสดงท่าทีดังกล่าวเพื่อให้ฝ่ายตะวันตกเห็นว่าอินเดียไม่ได้สนับสนุนการทำสงคราม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังซื้อน้ำมันจากรัสเซียและไม่ได้กล่าวถึงหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติไม่ให้ประเทศใหญ่รุกรานอธิปไตยของประเทศอื่นๆ
สถานการณ์ยูเครนนั้นแม้ว่ายูเครนจะได้เปรียบมากขึ้นและสหรัฐก็เพิ่งอนุมัติอาวุธเพิ่มให้อีกมูลค่า 600 ล้านเหรียญเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมก็ยังมีความเสี่ยงว่าประธานาธิบดีปูตินจะทำอะไรที่รุนแรงยิ่งขึ้นในสนามรบ เพื่อพลิกสถานการณ์ไม่ให้รัสเซียเสียเปรียบหรือไม่
ดังนั้น ประธานาธิบดีไบเดนจึงได้ออกมาเตือนประธานาธิบดีปูตินผ่านรายการ CBS 60 minutes เมื่อวันที่ 19 กันยายนว่าอย่าคิดใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธนิวเคลียร์ โดยบอกว่าหากทำจะต้องมีการตอบโต้ (consequential response) โดยย้ำ 3 ครั้งว่า “Don’t, Don’t, Don’t”
นอกจากเรื่องยูเครนแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สูงคือไต้หวัน ซึ่งในรายการโทรทัศน์ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเมื่อถูกถามว่าสหรัฐจะใช้กำลังทหารเพื่อปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกรานหรือไม่ ประธานาธิบดีไบเดนก็ตอบอย่างชัดเจนว่า “Yes if in fact there was an unprecedented attack” (หากมีการโจมตีจริง)
ผู้สัมภาษณ์ก็ได้ถามเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า สหรัฐจะส่งทหารไปช่วยปกป้องไต้หวัน แตกต่างจากกรณีของยูเครนใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ “Yes”
แต่ก็ตั้งเงื่อนไขว่าไต้หวันจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองเกี่ยวกับความเป็นอธิปไตยโดยที่สหรัฐไม่ได้ไปสนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวออกไปจากจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่นอนว่าจีนแสดงความไม่พอใจอย่างมากและกล่าวว่าสหรัฐกำลังละเมิดข้อตกลงที่เคยทำเอาไว้กับจีนที่จะไม่สนับสนุนการแบ่งแยกตัวของไต้หวัน
ดังนั้น จีนจึงจะยืนยันที่จะรักษาสิทธิที่จะเลือกใช้มาตรการทุกประเภทหากจำเป็น (reserve the choice to take all necessary measures)
นโยบายเกี่ยวกับไต้หวันที่ทั้งสองมหาอำนาจใช้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1979 คือ Strategy Ambiguity หรือ ยุทธศาสตร์ที่อาศัยความคลุมเครือ คือจีนยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่เคยบอกอย่างชัดเจนว่าจะผนวกไต้หวันเข้ามาโดยใช้กำลังทางทหารหรือไม่
ในขณะที่สหรัฐก็รับว่ามีจีนเดียวแต่ให้การสนับสนุนไต้หวัน (รวมทั้งการขายอาวุธให้) แต่ก็ไม่เคยบอกชัดเจนว่าจะใช้กำลังทางทหารปกป้องความเป็นอิสระของไต้หวัน (เพราะจีนก็ไม่เคยบอกว่าจะใช้กำลังทางทหารมายึดครองไต้หวัน) กล่าวคือปล่อยให้สถานะของไต้หวันคลุมเครือโดยตั้งใจ
แต่มาถึงปี 2022 สถานการณ์เปลี่ยนไปมากคือ
1.ในปี 1980 จีดีพีของสหรัฐสูงกว่าจีดีพีของจีน 14 เท่า แต่ปี 2021 จีดีพีของสหรัฐสูงกว่าจีดีพีของจีน 30%
2.ณ วันนี้กองทัพเรือของจีนใหญ่กว่ากองทัพเรือของสหรัฐ
3.ตอนที่จีนซ้อมรบเพื่อแสดงความไม่พอใจหลังจากที่นาย Pelosi ประธานสภาสหรัฐเดินทางไปเยือนไต้หวันนั้น เป็นการซ้อมรบแบบล้อมเกาะไต้หวัน ซึ่งแม่ทัพเรือของสหรัฐให้สัมภาษณ์ว่า “China is capable of Blockading Taiwan”
ทั้งนี้ไต้หวันต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของการใช้พลังงานทั้งหมดและต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของความต้องการอาหารทั้งหมด แต่มีกำลังการผลิต semiconductor คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งหมดของโลก
แปลว่าหากไต้หวันเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกับยูเครน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงกว่ากรณียูเครนอย่างมากเพราะยูเครนนั้นส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-20% ของการส่งออกสินค้าเกษตรดังกล่าว
และหากสหรัฐมีความพร้อมที่จะส่งทหารเข้าไปปกป้องคุ้มครองไต้หวัน ความเสี่ยงต่อความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียและต่อเศรษฐกิจโลกก็น่าจะสูงมากอย่างยิ่งครับ.
ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์:ยูเครนกับไต้หวัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1