ตลาดหุ้นไทยในปี 2565 เป็นปีที่ค่อนข้างลำบากสำหรับนักลงทุน ตลาดเริ่มต้นปีค่อนข้างดี อานิสงค์จากกลุ่มหุ้นอุตสาหกรรมเปิดเมือง จากการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงน้อยกว่าที่คาด แต่ไม่นานนัก เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น เกิดเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังทรงๆอยู่ได้จนถึงกลางปี หลังจากนั้นดัชนีทรุดลงอย่างรุนแรง เพราะ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่วแน่ รุนแรง เพื่อลดเงินเฟ้อ จากผลของราคาน้ำมันที่ขึ้นไปถึง 120 US$ ต่อบาร์เรล ครึ่งปีหลังดัชนีค่อยๆกระเตื้องขึ้นและไซด์เวย์จนสิ้นปี.. ระหว่างปีดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำจุดสูงสุดที่ 1718.55 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และทำจุดต่ำสุดที่ 1517.51 ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ปิดตลาดสิ้นปี 2565 ที่ 1668.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.67 % ในขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวมปันผลปิดที่ 11,714.11 จุด เพิ่มขึ้น 348.23 จุด หรือตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวม 3.06 %
แม้ตลาดหุ้นโดยรวมให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่นั่นเพราะถูกบิดเบือนด้วยหุ้นขนาดใหญ่อย่าง Delta ที่ส่งผลต่อตลาดถึง 2.5 % หากดูสัดส่วนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก มีเพียง 1/3 เท่านั้น ที่เหลือคือขาดทุน หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีในปีทีผ่านคือ หุ้นกลุ่มเปิดเมือง ที่กระจายไปในกลุ่มต่างๆ เช่น สนามบิน ค้าปลีก โรงพยาบาล นอกจากนั้นเป็นกลุ่ม ธนาคาร อาหาร คอมโมพลังงานบางตัว ส่วนหุ้นกลุ่มที่ให้ตอบแทนลบหนักคือกลุ่มที่ได้รับผลดีชั่วคราวจากวิกฤติโควิด เช่น กลุ่มถุงมือยาง กลุ่มไอที และกลุ่มไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาแก้สที่ปรับตัวสูงขึ้น อนึ่งหุ้นขนาดใหญ่สุดอย่าง AOT ให้ผลตอบแทน 23% มีมูลค่าตลาดสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดซะอีก หุ้น PTT ที่เคยมีมูลค่าตลาดสูงสุด ตกไปอันดับ 3 ให้ผลตอบแทนติดลบอีก 12.5% กระทบจากวัฏจักรปิโตรเคมี การแทรกแซงจากภาครัฐ การขายจากองทุนที่ไม่ลงทุนในกิจการที่ทำธุรกิจกับรัฐเผด็จการพม่า..
ในภาพรวมทั้งตลาดหุ้นมีบริษัทจดทะเบียน ณ.สิ้นปี 65 จำนวน 779 บริษัท แบ่งเป็นตลาด Set 588 บริษัท และตลาด Mai 191 บริษัท มีจำนวนบริษัทเข้า IPO 40 บริษัท ตลาดไทยยังมีมูลค่าการระดมทุนค่อนข้างสูงในเอเชีย หุ้นขนาดใหญ่ที่เข้าซื้อขายปีนี้คือ TLI ITC BTG มีหุ้นเพิกถอนประมาณ 6 บริษัท Market cap ทั้ง 2 ตลาด ประมาณ 20.98 ล้านๆ PE 18 เท่า ปันผล 2.5% ที่น่าสนใจคือนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทย 196,886 ล้านบาท ตรงข้ามกับนักลงทุนสถาบันที่ขายหุ้น 1.5 แสนล้าน มูลค่าการซื้อขายต่อวันทั้งตลาด 76,773 ล้าน สัดส่วนการซื้อขายครึ่งหนึ่งเปลี่ยนเป็นนักลงทุนต่างประเทศ สัดส่วนรายย่อยลดลงเหลือแค่ 36%
ส่วนตลาดหุ้นต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ดัชนี S&P 500 (หุ้นใหญ่ 500 ตัวแรกของอเมริกา) ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 19.44 % หลังจากสร้างผลตอบแทนที่ดีมาตลอด 13 ปีติดต่อกัน ส่วนที่แย่ที่สุดเป็นดัชนีหุ้นเทคโนโลยี Nasdaqให้ผลตอบแทนติดลบถึง 33 % เนื่องจากผลของสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ทำให้ความน่าสนใจของหุ้นลดลง อีกสาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะราคาหุ้นเหล่านี้ ได้ขึ้นติดต่อกันมาหลายปี จนราคาเกินพื้นฐาน การขึ้นดอกเบี้ย จุดชนวนให้ราคาปรับลงมาสู่พื้นฐานที่ควรจะเป็น
ตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่คือบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ ดัชนี Hang Seng ซึ่งประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ 76 บริษัท ยังปรับตัวลงต่อเนื่องจากปีก่อนอีก 14.41% หลักๆจากประเด็นความตึงเครียดความสัมพันธ์จีนและอเมริกา บวกกับนโยบาย Zero Covid อย่างเข้มงวดของจีน ที่กระทบต่อทุกๆธุรกิจ จนก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคม ทำให้จีนต้องประกาศยกเลิกนโยบายนี้ในช่วงตอนสิ้นปี
ตลาดเวียดนามให้ผลตอบแทนติดลบถึง 32.78% มากลำดับต้นๆของโลก แตกต่างกับปีก่อนหน้าราวฟ้ากับดิน ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในโลก สาเหตุจากหลายๆปัจจัย เช่นการปราบปรามธุรกิจในแวดวงธุรกิจ การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การระดมทุนที่ส่งผลทางลบ และที่เหมือนกันทั่วโลกคือการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่ส่งผลต่อทุกธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากหลายธนาคารในประเทศเวียดนาม สูงถึง 9-10 % ซึ่งแน่นอนว่าไม่เอื้อต่อธุรกิจและลดแรงจูงใจการลงทุนในตลาดหุ้น
พอร์ตการลงทุนส่วนตัวปีที่ผ่านมายังเป็นที่น่าพอใจ ถึงแม้ผลตอบแทนจะติดลบเป็นตัวเลขสองหลักต้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ ดูผลตอบแทนรวมของตลาด แม้ขาดทุน ก็ดีกว่าที่คาดไว้มาก ส่วนการลงทุนตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนพอๆกับตลาดหรือต่ำกว่าเล็กน้อย กำไรมาจากหุ้นกลุ่มธนาคาร รับเหมา ขาดทุนกับหุ้นที่เคยได้รับผลดีชั่วคราวจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และถูกฉุดจากตลาดต่างประเทศทั้งฮ่องกงและเวียดนาม อเมริกา ที่ให้ตอบแทนที่แย่มาก ถึงแม้ส่วนใหญ่ทำได้ดีกว่าดัชนีตลาด รวมถึงมีกำไรจากค่าเงินมาช่วยเล็กน้อย ประเทศที่น่าผิดหวังสุดคือฟิลิปปินส์ เผชิญการขาดทุนมากกว่า 80% จากหุ้นตัวเดียว ส่งผลต่อพอร์ตรวมติดลบถึง 3 % กว่าๆ ทั้งพอร์ตมีการลงทุนกระจายไป 6 ประเทศ ถือหุ้นรวม 90 บริษัท ปีที่ผ่านมามีการปรับพอร์ตเล็กน้อย โดยเพิ่มน้ำหนักในตลาดเวียดนามช่วงแพนิค และลดน้ำหนักตลาดฮ่องกง โดยการไม่นำปันผลที่ได้ไปซื้อหุ้นเพิ่ม ทำให้สัดส่วนพอร์ตลดลงเหลือ 32% พอร์ตเวียดนามเพิ่มเป็น 17% สัดส่วนหุ้นไทย : นอก ใกล้เคียงปีก่อนที่ 44: 56 ทั้งที่พอร์ตต่างประเทศขาดทุนมาก สาเหตุเป็นเพราะโอนเงินไปช้อนซื้อเพิ่มตลาดเวียดนามนั่นเอง
Tech Meltdown การหลอมละลายของหุ้นเทค ปี 65 ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่สร้างผลขาดทุนให้กับนักลงทุนมากที่สุดคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอเมริกา กลุ่มหุ้นเทคที่เป็นบริษัทกลาง เล็ก เป็น start up เป็นบริษัทนวัตกรรม ที่จะมาดัสรัปชั่นธุรกิจดั้งเดิม เป็นกลุ่มที่ราคาตกหนักที่สุด การตกลงมากกว่า 80% เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่าง FAANG เดิม ราคาก็ลดลงมาก หลักสุดถึง 70% น้อยสุดยังเกือบ 30% แล้วเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจไม่มีประโยชน์สำหรับความเสียหายที่เกิดไปแล้ว แต่อย่างน้อยจะได้เป็นบทเรียนสำหรับครั้งๆต่อไป ประเด็นแรก 1. Margin of Safety ยังสำคัญเสมอ นักลงทุนคนใดที่ละเลยข้อนี้ จะได้บทเรียน 2.อันตรายของการลากเส้น เรามักคิดว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น จะเกิดต่อไปในอนาคต ทั้งที่จริง เป็นเรื่องชั่วคราว 3.สัญชาตญาณฝูงชน มักจบลงไม่สวยเสมอ เมื่อใดที่กลุ่มคนเริ่มพูด เริ่มทำสิ่งเดียวกัน ให้ระวัง 4.อันตรายของ “กาว” หรือคิด คาดคะเนไปในแง่บวกอย่างสุดโต่ง การใส่ข้อมูลจากอคติเชิงบวก ไม่เหลือพื้นที่ให้กับความผิดพลาด 5. Focus มักพูดกันว่า ถ้าไม่มุ่งเน้น เมื่อไหร่จะรวย จะเป็นอย่างนั้นจริง คุณต้องเก่งและมีโชคด้วย แต่หากเราไม่เก่งหรือโชคร้ายล่ะ ? 6.ขอบข่ายความรู้ คนเราไม่ได้รู้ ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เรามีข้อจำกัด นั่นคือสาเหตุที่เราไม่ได้เข้าใจทุกบริษัท จงลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ เชี่ยวชาญ เราจะมีแต้มต่อ......ทั้งหมด ทั้งมวลข้างต้น เขียนไว้เพื่อเตือนตัวเอง เพราะผมคือหนึ่งในผู้ประสบภัยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ถึงกับตาย แค่สาหัส...
Tech War
กระแสโลกที่เป็นหนึ่งเดียว หรือโลกาภิวัตน์ รวมถึงการค้าเสรีที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายสิบปี เริ่มที่จะถูกตั้งคำถามว่ามันดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนหรือยัง เมื่อกระแสการเมืองแบบชาตินิยม เริ่มหวนกลับมาได้รับความนิยม นักการเมืองที่ใช้แนวคิดนี้ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ ในขณะที่แนวคิดเสรีนิยมเริ่มแผ่วลงไป เมื่อมันเกิดขึ้นกับประเทศใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา มันก็ส่งผลต่อทั้งโลก เริ่มจากสมัยประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ และถูกสานต่อโดย โจ ไบเดน ผลลัพธ์ของแนวคิดชาตินิยมคือความขัดแย้ง เริ่มจากสงครามการค้า สงคราม(กีดกัน) เทคโนโลยี และจบด้วยสงครามที่ใช้อาวุธจริง คู่ขัดแย้งของอเมริกาและตะวันตกครั้งนี้คือ จีน และ รัสเซีย นักลงทุน ต้องตระหนักรู้ว่ากระแสการค้าเสรีรอบนี้ถึงจุดเปลี่ยนแล้ว นี่เป็นการเริ่มต้นของโลกที่ขัดแย้ง เมื่อเราลงทุนในบริษัท โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นคู่กรณี ปัจจัย Geopolitical เป็นปัจจัยที่เราจะละเลยไม่ได้..
หรรษา IPO ช่วงเวลาที่หุ้น IPO คึกคัก คนที่มีความสุขที่สุดคือผู้ขายหุ้นเดิม เพราะขายหุ้นได้ราคาแพง สูญส่วนแบ่งกำไรแค่เล็กน้อย แต่ได้เงินเข้าบริษัทเยอะ ราคาหุ้นแพงๆ ยังทำให้ตีมูลค่าหุ้นที่ถือเดิมเพิ่มมหาศาล กลายเป็นเศรษฐีหุ้นเมืองไทยคนใหม่ เงินที่ IPO ที่ได้ ยังสามารถสร้างการเติบโตในอนาคตได้อีก ส่วนบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โบรกเกอร์ขายหุ้น ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ค่าธรรมเนียม ยิ่งขายหุ้นได้แพง % ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมก็เพิ่มตาม.. ส่วนเจ้าภาพ ตลาดหลักทรัพย์ ได้หน้าตา ตัวเลขระดมทุนที่สูง เป็น KPI ของหน่วยงาน แต่มีใครสักคนสงสัยไหม...ว่าเรื่องราวดีๆอย่างนี้ เกิดขึ้นได้ ด้วยรายจ่ายของใคร?.. หากมิใช่ผู้ซื้อหุ้น.. มันคงจะดี หากราคาขายหุ้น เป็นราคาที่สมเหตุสมผล พบกับครึ่งหนึ่ง ระหว่างทุกภาคส่วน คนขายก็ได้ราคาดีระดับหนึ่ง นักลงทุนคนซื้อ IPO ก็พอมีช่องทางทำกำไรได้บ้างจากการซื้อ สถาณการณ์ IPO ปี 65 ที่ผ่านมา เป็นตลาดที่เอื้อให้กับคนขายอย่างมาก คนที่ซวยที่สุดคงเป็นคนซื้อ ซื้อหวังกำไร ผลที่ได้คือขาดทุน เพราะตั้งราคาขายแพงเกินไป หากถามอีกว่า แพงแล้ว ทำไมนักลงทุนยังซื้อ เพราะทุกคนก็อยากได้กำไร เผื่อได้กำไรดีๆเหมือน IPO บางตัวที่ขึ้นได้อีกมาก อีกเหตผลคือแทบไม่เคยมีงานวิจัยของโบรกเกอร์รายใด แนะนำให้ไม่ซื้อหุ้น IPO มีแต่เชียร์ให้ซื้อ ราคายังต่ำกว่าพื้นฐานอีกมาก แต่ที่เลวร้ายที่สุด ด้วยความตั้งใจหรือเปล่า ไม่แน่ใจ บริษัทที่มีกำไรเป็นวัฏจักรขึ้นๆลงๆ หรือมีกำไรสูงเป็นประวัติศาสตร์จากเหตุผลชั่วคราว ฉวยโอกาสนี้ (ที่นานๆจะมาครั้ง) รีบเข็นบริษัทเข้าตลาดหุ้น เพราะกำไรในช่วงพีค ย่อมขายหุ้นได้ราคาพีคด้วย แล้วใครเป็นคนซวยครับ... มีหุ้นกี่ตัวที่เข้ามาแบบตีหัวแบบนี้ (จำหุ้นถุงมือได้ไหม) สร้างความย่อยยับให้กับคนซื้อ นักลงทุนรายย่อย มาแล้วเท่าไหร่ โบรกเกอร์คนนำเข้ามา รู้หรือเปล่า ว่าบริษัทมีกำไรแค่ชั่วคราว ทำไมยังนำมาขายให้นักลงทุน? (จบ CFA จบ ดร.มาคุณไม่รู้ ? ) ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทมีแผนเข้าตลาดหุ้น แต่กิจการประสบกับกำไรลดลง บริษัทจะเลื่อนการขายหุ้น IPO ออกไปทันที เพราะหากขายไป จะได้ราคาต่ำ ดังนั้นแล้ว จากเหตุและผลเหล่านี้ ราคา IPO โดยส่วนใหญ่น่าจะทำให้นักลงทุนขาดทุน มากกว่ากำไร ใช่หรือไม่ ? หุ้นตัวเดียวกัน แต่มันมีทั้งคราบน้ำตาของคนที่ขาดทุน และความหรรษาของคนบางคน..
Transection fee
อีกประเด็นที่น่าติดตาม สำหรับแวดวงตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมา คือการที่รัฐบาลประกาศจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขายหุ้น หลังจากยกเว้นมานาน 30 กว่าปี โดยจะจัดเก็บที่อัตรา 0.11% ของมูลค่าการขายขาเดียว และจะเริ่มจัดเก็บจริงประมาณไตรมาส 2 ปี 2566 วัตถุประสงค์เพื่อหารายได้เพิ่มให้รัฐและลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมให้กับอาชีพอื่นๆที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หากเริ่มการจัดเก็บจริง ผลที่คาดเดาได้คือปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยจะลดลงค่อนข้างแน่ โดยเฉพาะการเก็งกำไร การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติแบบ High-frequency trading รวมถึงการซื้อขายของ Proprietary Trading ผลกระทบที่หลายคนกังวลคือต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องการซื้อขายหุ้นลดลง จะทำให้การระดมทุนในตลาดหุ้นระยะยาว ลดลงหรือไม่ ต้องยอมรับว่า ระยะหลังตลาดหุ้นไทยมีวอลุ่มการซื้อขายค่อนข้างสูง สูงที่สุดในตลาดอาเซียน สูงกว่าสิงคโปร์ การซื้อขายที่คึกคักทำให้ตลาดหุ้นไทยมีประสิทธิภาพ สามารถระดมทุนได้ง่าย ต้นทุนการะดมเงินทุนต่ำ เพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทในประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ไม่สามารถตีเป็นตัวเลขแน่นอนได้ ผลประโยชน์จากเม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้ประมาณ หมื่นล้านต้นๆ จะคุ้มค่าหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน... แม้ส่วนตัวผมจะเห็นด้วยกับการเก็บภาษีนี้ ด้วยเหตุผลคือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องเสียภาษี ทั้งทางตรง ทางอ้อม การเสียภาษีทำให้ประชาชนใส่ใจ ตรวจสอบภาษีที่จ่ายไป ว่าคุ้มค่า รั่วไหลแค่ไหน เมื่อนักการเมืองแจกเงินประชาชน เราจะไม่รู้สึกว่าได้เงินฟรี เพราะแท้จริงนั่นคือเงิน “ภาษีของเรา” ดังที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ และการเสียภาษี จ้าวมือปั่นหุ้นคงไม่ชอบแน่ๆ เพราะจะไปเพิ่มต้นทุนการปั่นหุ้นเพิ่มขึ้นมาก..
การเพิ่มภาษี เป็นสิ่งที่นักการเมืองพึงหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพระส่งผลต่อคะแนนเสียง อย่างน้อยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็ทำในสิ่งที่รัฐมนตรีการคลังหลายคนไม่อยากทำ แต่หากผลลัพธ์ที่ได้ ไม่คุ้มกับเสีย หวังว่ารัฐมนตรีคลังสมัยต่อไปจะพิจารณาทบทวนอีกครั้ง อย่าให้เหมือนกับการยกเลิก LTF ของรัฐมนตรีคลังคนก่อน คุณอุตตม สาวนายน ที่ส่งผลให้เม็ดเงินที่ประชาชนซื้อกองทุนลดลงมากอย่างถาวรจนถึงวันนี้..
วิชาปั้นน้ำให้เป็นตัวที่ตลาดหลักทรัพย์
เป็นวิชาที่ไม่เคยมีการสั่งสอนที่ไหน ในมหาวิทยาลัย แต่พบเจอได้บ่อยในตลาดหุ้น หรือแม้แต่ในชีวิตจริง ความหมายการปั้นน้ำให้เป็นตัวคือ
ในตลาดหุ้นหมายถึงการทำให้เงิน “ปลอม” เปลี่ยนเป็นเงิน “จริง” วิธีการเปลี่ยนเงินปลอมเป็นเงินจริงในอดีต ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน ส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการ “ปั่นหุ้น” ใช้การผลักดันราคา หุ้นพื้นฐานแย่ ๆให้มีราคา “ดีๆ” แล้วเปลี่ยนราคาดีๆนั้นให้เป็นเงินจริงๆ กระบวนการนี้เป็นศิลปะ ใครทำได้แนบเนียนกว่ากันเป็นผู้ชนะ ได้เงิน ไม่โดนจับ แต่เมื่อโลกพัฒนาขึ้น กลต.รู้เท่าทันขึ้น กระบวนท่าเหล่านี้เริ่มซับซ้อน มันเป็นเช่นนี้..แต่งเรื่องหรือสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้
ปล้นกลางวันแสกๆ แทนที่จะเปลี่ยนเงินปลอมเป็นเงินจริง ผ่านการขายให้รายย่อยแบบดั้งเดิม ซึ่งยุ่งยาก ใช้เวลา สู้เปลี่ยนผ่าน “โบรกเกอร์” ตรงๆมิดีกว่าหรือ อย่างกรณีหุ้น More ใช้วงเงินเครดิตจากบัญชีประเภท Cash จากหลายๆบัญชี ที่เปิดกระจายไปหลายๆโบรก นัดหมายกันซื้อ-ขายหุ้นกัน ภายในครั้งเดียว คนขายมีหลายคน แต่คนซื้อนี่ซิ เป็นแค่บุคคลคนเดียว และจงใจไม่ชำระเงิน โบรกก็ต้องออกเงิน จ่ายไปก่อน คนที่ขายก็ได้รับเงินไป แต่คนซื้อกับคนขาย จะมาทำรายการราวกับนัดหมายกันได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่คนเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน เตี้ยมกันมาก่อน โชคดีที่กระบวนการนี้นอกจากไม่แนบเนียน ยังโจ่งครึ่ม ท้าทายกฎหมาย มีคนเสียประโยชน์เยอะ เรื่องราวเลยกลายเป็นคดีครึกโครม ดังที่รับรู้กัน..
Remote Control วางแผนจากแดนไกล การปั่นหุ้น หากกระทำผ่านกลุ่มคนในประเทศ ก็ไม่ยากที่จะถูกติดตาม สอบสวนจาก กลต. ถึงแม้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมี “จ้าวมือปั่นหุ้น” ถูกตัดสินให้จำคุกก็ตาม อาจเป็นเพราะว่า ตลาดหุ้นไทย ไม่เคยมีคนปั่นหุ้นเลยก็เป็นได้ ..... แต่หากนักปั่นหุ้น อยู่ในต่างประเทศล่ะ อาจเป็นคนประเทศนั้นเองที่ปั่น หรือคนไทยที่ไปเปิดบริษัทนอมินี ทำหน้าที่ปั่นหุ้น.. กลต.ไทยมีปัญญาที่จะตามไปติดตาม สืบสวนสอบสวนหรือ? ขนาดในประเทศยังทำยาก นี่กระมังเราเลยมีกรณีหุ้นแบบ Delta หุ้นยักษ์ใหญ่ xxx aaa บางตัวที่เล่าลือกันว่า เจ้าของคนไทย ใช้วิธีควบคุมราคาหุ้นจากบัญชีนอมินีที่ไปเปิดไว้ offshore
สุดยอดของวิชาปั้นน้ำเป็นตัว ที่จะเปลี่ยนเงินปลอม ให้เป็นเงินจริง อย่างไร้รอยต่อ แนบเนียน จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน ในยุคนี้ เค้าใช้วิธีแบบนี้… ต้องมีบริษัทแกนก่อน จะเอาเข้าตลาดผ่านการ IPO หรือจะไปแบคดอร์บริษัทเน่าๆในตลาดมาก็ได้ จัดการแต่งหน้าทาปากให้ดูดี ปั่นราคาขึ้นไป อย่าทำคนเดียว ให้กระจายไปให้พันธมิตรด้วย ยิ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งดี มีความน่าเชื่อถือ หลังจากปั่นขึ้นไปแล้ว หากจะเปลี่ยนเงินปลอมให้เป็นเงินจริงแบบหุ้นปั่นเดิมๆ จะไม่แนบเนียน คนรู้ทันแล้ว อย่ากระนั้นเลย เอาเงินปลอม ไปแลกกับกิจการจริงก่อน แล้วเอากิจการจริงนั้นไปขายอีกทอด ก็ฟอกเงินปลอมเป็นเงินจริงได้แล้ว วิธีการคือหลังจากปั่นราคาหุ้นขึ้นไปแล้ว ให้หาเรื่องเพิ่มทุน เพื่อเอาเงินจริงเข้าบริษัท อัดเรื่องราวเข้าไป ใช้ศัพท์ที่ดูเท่ๆ เข้าสมัย มันก็ต้องมีนักลงทุนหลงเชื่อ ยอมจ่ายเงินเพิ่มทุนเข้ามา ได้เงินแล้ว เอาไปซื้อกิจการจริงๆ ในหรือนอกตลาดก็ได้ หลังจากนั้นหากจะเปลี่ยนหุ้นบริษัทที่ซื้อมา เป็นเงินจริง เพียงแค่ขาย ก็ทำได้อย่างง่ายดาย แนบเนียน... อีกวิธี หากไม่เพิ่มทุน ไม่มีเงินเข้าจริงๆ ก็ใช้วิธีเอาหุ้นลวงๆนั้น ไป swap กับหุ้นที่ทำธุรกิจจริงๆ เหมือนเดิมคือต้องสร้างสตอรี่ให้เจ้าของเดิมเชื่อ เค้ายอมแลกหุ้นในราคาแสนแพง แลกได้แล้ว ก็นำหุ้นนั้นมาขายเป็นเงินจริง เห็นไหม ช่างง่ายดาย..
ข้อดีอีกข้อ ของการเอาเงินเพิ่มทุนไปไล่ซื้อกิจการหรือ swap หุ้น คือทำให้เกิดส่วนแบ่งกำไรจริง กำไรที่ได้จากกิจการใหม่ ทำให้กิจการลวงๆที่เป็นแกน เริ่มดูเรียลขึ้น ยิ่งไล่ซื้อ กำไรยิ่งเพิ่ม กลายเป็นหุ้นเติบโต การเทรดที่พีอีสูง ก็ดูสมเหตุสมผลขึ้น ทั้งที่จริงก็กิจการเดิมๆ ที่อยู่ในตลาดนั่นละ บางบริษัทปั้นกำไรบริษัทที่ไปซื้อให้เกินจริงใ เพราะกำไรบางรายการ สามารถ “จัดการได้” ผ่านดุลพินิจผู้บริหาร (ก็คนปั่นนั่นเอง) เมื่อกำไรมา ทุกอย่างก็แนบเนียนขึ้น...
การไล่ conner หุ้น อย่าทำคนเดียว ตรวจสอบได้ง่าย ต้องมีพันธมิตร (ที่วางแผนกันไว้แล้ว) ให้ต่างกันต่างเก็บหุ้นไว้ อย่าขายถึงแม้แพงแค่ไหน ยิ่งสามารถควบคุมให้ราคาแพงได้ยาวนานเท่าไหร่ ราคาหุ้นปลอมๆนั้น คนก็เริ่มเชื่อว่าเป็นราคาจริง ถึงตรงนั้น เราจะไปเอาหุ้นไปแลก หรือไปกู้ที่ไหน ก็มีความน่าเชื่อถือ ได้ดอกเบี้ยต่ำ เอาไปไล่เทคบริษัทอื่นได้สบาย การมีพันธมิตรช่วยก่อการ ทำให้ไม่ต้องควักเงินมากมายด้วย เพราะช่วยกันซื้อแค่คนละไม่เกิน 24.99% หลบเลี่ยงไม่ต้องทำ tender offer ตามเกณฑ์ กลต. ที่ตลกร้าย คือต่อให้พี่น้อง ท้องเดียวกัน ซื้อหุ้นจนสัดส่วนแต่ละคน 24.99% รวมกันเกิน 50 % ก็ไม่ถือเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ต้องทำ tender offer นะ..
เมื่อเงินผู้ถือหุ้นคือเงินของเรา อีกวิธีของการเปลี่ยนเงินลวง เป็นเงินจริง อย่างลึกล้ำ โดยไม่ต้องไล่ราคาหุ้นให้ กลต.ตามไล่จับ (ยกเว้นตอนจะเพิ่มทุน) เริ่มแรกโดยเอาเงินก้อนเล็กของตัวเอง ไปไล่ซื้อหุ้นเน่าๆ ที่มีผู้ถือหุ้นกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทยอยซื้อ สัดส่วนไม่ให้เกิน 25% ไม่ต้องทำ tender offer แต่สามารถควบคุมการบริหารงานได้ เอาตัวเองเข้าไปบริหาร ตั้งเงินเดือนสูงๆ งบซื้อรถ-กิน-เที่ยว ใช้งบบริษัททั้งหมด พอเงินหมด กิจการจริงขาดทุน ก็สร้างเรื่อง แต่งสตอรี่ บีบน้ำตา เพิ่มทุน คิดเสียว่าผู้ถือหุ้นก็คือตู้กดเงิน ATM ... ยังไม่พอ เอาเงินเพิ่มทุนไปไล่ซื้อกิจการอีกบริษัท (ไม่ต้องใช้เงินตัวเองเหมือนครั้งแรก) ทำแบบเดียวกับบริษัทแรก ซื้อไม่เกิน 25% ควบคุมการบริหารได้ แต่งตั้งตัวเอง กินเงินเดือนสูงๆ ใช้งบบริษัทอีก ยังไม่พอ ทำอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ 4 -5 บริษัท แค่กินเงินเดือนก็อิ่มแปล้ ยังเหลือเงินพอเอาไปเที่ยวต่างประเทศทุกเดือน อยู่เมืองนอก อยู่โรงแรม มากกว่าอยู่ออฟฟิศ งานบริหารบริษัท จ้างคนอื่นทำ ตัวเองกินหรูใช้หรูจากเงินผู้ถือหุ้น เจออย่างนี้คือกรรมของนักลงทุน..
การซื้อหุ้นคืนแบบดาร์ค อีกหนึ่งวิธีของการเปลี่ยนเงินผู้ถือหุ้นเป็นเงิน “ของเรา” เป็นการเอาเงินผู้ถือหุ้นออกจากบริษัท ได้อย่างถูกกฎหมาย ไร้รอยต่อ เนียบเนียน เป็นอีกหนึ่งวิชามารที่เริ่มเป็นที่นิยม วิธีคือหลังจากปั่นราคาหุ้นขึ้นไปแล้ว ถึงเวลาปล่อยหุ้น ดันไม่มีคนมารับของ ก็ง่ายๆ ประกาศ "ซื้อหุ้นคืน" ด้วยเหตุผลข้างๆคูๆ คนที่ขายหุ้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนสั่งนั่นละ รู้กัน ทำอย่างนี้ แล้วใครจะจับได้...
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าหุ้นที่เราถือเป็นกิจการปั้นน้ำเป็นตัว ง่ายๆให้ดูดี Market cap สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ธุรกิจแทบไม่มีกำไรอะไรเลย หรือธุรกิจที่พอมีกำไร แต่ Market cap สูงอย่างน่าฉงน..หุ้น
เข้าข่ายนี้หรือไม่ บางบริษัทเจ้าของเดิมใส่เงินลงทุนแค่หลักร้อย ปั่นเป็นหลักหมื่น หลักพันเป็นแสนล้าน จนเจ้าของ จาก Nobody กลายเป็นเศรษฐีหุ้นเมืองไทยอันดับต้นๆ จากผลของราคาหุ้นมายา..D----/SA---/J----/G---/J--/D----/P--/B--/SI----/ST--- /BB--/J--H
ทั้งหมดทั้งปวงข้างต้น คิดเสียว่า ผมจินตนาการไป เขียนให้ฟังสนุกๆ..และภาวนา อย่าให้ประเทศนี้เป็นดังที่คุณ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พูดเร็วๆนี้ว่า “ ประเทศนี้ก็แปลก คนดีต้องระวังตัว คนชั่วเดินแบบสง่าผ่าเผย”
แม้ปีที่ผ่านมา จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ขาดทุน(ของผมและหลายคน) แต่ไม่ได้เป็นปีที่ล้มเหลวเสียทีเดียว นักลงทุนคงได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือการก้าวเดินต่อไป ในเส้นทาง อย่าลืมว่านี่แค่หนึ่งก้าวของชีวิตเท่านั้น อย่าจมอยู่กับปัญหา มันผ่านล่วงไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ...สำหรับนักลงทุน การขาดทุนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเก่ง ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม และที่แน่นอนที่สุด เราไม่ได้ขาดทุนคนเดียว ยังมีคนที่ขาดทุนมากกว่าเราอีกมาก มีคนที่แทบไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว เรายังดีกว่าอีกหลายคนอย่างมากมาย และอยากฝากแนวคิดที่น่าสนใจ ของนักเสี่ยงโชคของประเทศนี้ให้เราตระหนักคิด...
“ แม้คุณจะล้มเหลว ผิดหวังมาสักกี่ครั้ง ชีวิตก็ยังมีงวดหน้าเสมอ "
(กระทู้นี้โพสต์ได้ แต่ผมขออนุญาติไม่ตอบครับ และต่อไปกระทู้ปีใหม่จะโพสต์ในห้องนี้แทนห้องคลังคุณค่าครับ)