คนที่คิดถึงความก้าวหน้าและชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตนั้น ต่างก็จะต้องมี “ความฝัน” ก่อน และหลังจากนั้นก็จะต้องตามด้วยกลยุทธ์และการปฏิบัติตนที่จะทำให้ความฝันนั้น “เป็นจริง” ยิ่งความฝันนั้นแรงกล้าและการปฏิบัติเต็มไปด้วย “ศรัทธา” คือเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและทำอย่างต่อเนื่องไม่ท้อถอย โอกาสสำเร็จก็จะมากขึ้น
“ความฝัน” ที่กล่าวถึงนั้น ไม่ใช่เรื่องของการนอนหลับแล้วฝันไปแม้ว่านั่นจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของการคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่ตนเองอยากเห็นอยากเป็นแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้จากสถานะที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งบางทีเราก็เรียกว่าเป็น “จินตนาการ” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อยู่ในยีนของมนุษย์ มาช้านานและก็ทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้ามากกว่าสัตว์อื่นมาก ลองมาดู “ความแรงกล้า” ของความฝันในสังคมมนุษย์กัน
“เมื่อมีชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์ จะฝัน ต่างจิตใจกัน ต่างก็เลือกฝัน กันไป ฝันเป็นเศรษฐี ฝันมีคนจ้อง เอาใจ ฝันกันจนเหนื่อยไป ชอบฝันเกินกายของตน จิตของมนุษย์ สุดจะสรร ชอบเอาความฝันมาลิขิต ชีวิตคน ฝันกลางฤดูฝน ฝนบ้า ฟ้าบ่น พาจิตคน ฝันร้าย.. นรก สวรรค์ ฝันไม่ศักดิ์สิทธิ์ ดังหมาย ฝันเพียงภาพ ลวงใจ เขตฝันเกินกาย ของคน”
นั่นคือเนื้อร้องของเพลงดัง “ฝันกลางฤดูฝน” ประพันธ์โดย มนัส ปิติสานต์ ขับร้องโดย ดาวใจ ไพจิตร ในปี 2517 ซึ่งผมเองคิดว่าบรรยายเรื่องของความฝันของคนได้ดี แต่ความฝันที่ “เปลี่ยนโลก” ได้จริงนั้น น่าจะเป็นสุนทรพจน์ “I Have a Dream” ของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวในปี 1963 ต่อหน้าผู้ประท้วงกว่า 250,000 คน ที่หน้าอนุสาวรีย์ลินคอนประธานาธิบดีผู้ประกาศเลิกทาสของอเมริกาเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านั้น
เนื้อหาหลักของสุนทรพจน์ 17 นาทีที่เปลี่ยนสหรัฐอเมริกาและน่าจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อโลกก็คือ “ผมมีความฝันว่า วันหนึ่ง บนเนินเขาของรัฐจอร์เจียและที่อื่น ๆ ทุกแห่งหนของประเทศ ลูก ๆ ของอดีตทาสและลูก ๆ ของอดีตนายทาส จะสามารถที่จะนั่งด้วยกันบนโต๊ะฉันท์พี่น้อง” ในช่วงเวลาที่สหรัฐยังไม่ได้รับรองสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่คนนิโกรแม้ว่าอเมริกาจะเลิกทาสมาร้อยปีแล้ว
นับจากวันนั้น กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมแก่คนผิวสีก็ “พัดแรง” มาก กฎหมายต่าง ๆ ถูกตราขึ้นจนถึงวันนี้ก็ต้องบอกว่าสมบูรณ์แล้วแม้ว่าคนอเมริกันบางส่วนก็ยังไม่ยอมรับความคิดนี้และก็คงเป็นเหตุผลให้ ดร.คิง ถูกลอบฆ่าในปี 1968 คุณูปการของดร.คิงทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1964 และในปี 1983 ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกนได้ประกาศยกย่องดร.คิงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งและต่อมากำหนดให้มีวันหยุดราชการที่เรียกว่า “วันมาร์ตินลูเทอร์คิง” ในวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ของทุกปี เคียงข้างวันของประธานาธิบดีวอชิงตันผู้ก่อตั้งประเทศที่เรียกว่า “วันประธานาธิบดี” ในวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐก็ก้าวหน้าขึ้นมากในด้านของความเสมอภาคจนคนผิวสีคนแรกคือ บารัก โอบามา สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ในปี 2008
ผมเขียนเสียยืดยาวเกี่ยวกับ “ความฝัน” เพื่อที่จะบอกว่ามันคือ “พลังขับดัน” ที่อาจจะยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ว่าในด้านของบุคคลคนหนึ่งหรือในระดับรัฐหรือประเทศ หรือแม้แต่ในระดับโลก และทุกคนก็ “มีสิทธิ์ที่จะฝัน” ไม่ว่าเขาจะตัวเล็กหรือ “ไร้ค่า” แค่ไหนในสายตาของคนอื่นหรือในสังคม
กลยุทธ์และการปฏิบัติให้ฝันเป็นจริงนั้น คือสิ่งสำคัญและก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละคนหรือแต่ละประเทศ ความฝันที่ไม่ได้รับการปฏิบัตินั้น ก็คงเป็นแค่ “ฝันกลางฤดูฝน” ที่ไม่เกิดอะไรขึ้น และที่ใกล้เคียงกันก็คือการเลือกใช้กลยุทธ์การปฏิบัติที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะกับความสามารถหรือบุคลิกของตนเอง เพราะนั่นมักจะทำให้เราเหนื่อยและไม่คุ้มค่า บางทีก็อาจจะทำให้ท้อและเลิกฝันไปเลย
ด้วยจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เริ่มต้นจากศูนย์และเวลาที่ผ่านมาถึง 70 ปีแล้ว ผมคิดว่าผมก็มีความฝันที่ยิ่งใหญ่พอตัว แม้จะไม่รู้ว่าโอกาสความเป็นไปได้นั้นต่ำมาก นั่นทำให้ผมต้อง “สู้” ทุกอย่าง ทำงานหนักและมีวินัยสูง เรียกว่าเป็น “นักสู้” ในทุกสนามของชีวิตที่ “สังคมพาไป” แต่ความฝันก็ไม่เคยเป็นจริงแม้แต่ครึ่งเดียว จนแทบจะ “ยอมแพ้” ขอใช้ชีวิตอีกครึ่งหนึ่งที่เหลืออย่างสงบตามอัตภาพ
แต่แล้ว “โชคชะตา” ทำให้ต้องเลือก และผมก็เลือกที่จะเป็น “นักลงทุน” แบบ “เน้นคุณค่า” หรือ “Value Investing” และก็พบความจริงว่านั่นคือสิ่งที่เราควรจะเป็น เราเหมาะสมที่จะเป็นเพราะเรามี “ความสามารถเพียงพอ” และ “ความได้เปรียบที่ยั่งยืน” ถ้าเรา “เริ่มก่อน” และเริ่มในเวลาที่เหมาะสมซึ่งก็คือเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์เกิดวิกฤติที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาแบบถล่มทลายในปี 2540 ถึง 2543 ในวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”
หลังจากการเปลี่ยนแนวทางเป็น “นักเลือก” เพราะความจำเป็นที่จะต้องเอาตัวรอดและไม่ใช่เปลี่ยนเพราะ “ฝันที่จะรวย” ชีวิตก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากและเร็ว “เหนือจินตนาการ” เช่นเดียวกับชื่อเสียงและการยอมรับของสังคม และตั้งแต่นั้นมาผมก็กลายเป็น “นักเลือก” ทุกอย่างที่จะทำก็พยายามเลือกก่อนที่จะทำ ลดความเป็น “นักสู้” ลงไปมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะอายุที่มากขึ้นและความฝันที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุ
สิ่งที่จะทำในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตนั้น ผมเลือกที่จะ “ส่งต่อ” ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาให้แก่คนรุ่นหลังที่ยังมีความฝันและมีพลังที่จะสู้เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง และด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งสำหรับผมแล้ว ก็คือ “การลงทุน” ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่าเขาคงทำไม่ได้เพราะไม่มีหัวหรือความรู้เพียงพอ ไม่มีความสามารถพอและมีแต่ความเสียเปรียบที่ยั่งยืน แต่นี่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด
เพราะการลงทุนในความหมายที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทอง ผมเองเมื่อมองย้อนหลังก็พบความจริงว่าตนเองเป็น “นักลงทุน” อย่างยิ่งยวดมาตั้งแต่เด็กทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ไม่มีเงินเลย แต่อุตส่าห์เรียนจนจบปริญญาเอก เพราะการเรียนหรือการศึกษาวิชาความรู้ทั้งหลายนั้น มักจะเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนดีมากและอาศัยเงินน้อยกว่า “แรงงาน” มาก ถ้าจะว่าไป แนวคิดเรื่องของการลงทุนนั้น ใช้ได้กับชีวิตอย่างกว้างขวาง สิ่งที่ได้คืนอาจจะไม่ใช่เงินแต่เป็นความสุขที่มีค่าเท่า ๆ กับหรือมากกว่าเงินเสียอีก เช่นลงทุนในเรื่องของความสัมพันธ์ ความรัก สุขภาพและอื่น ๆ เป็นต้น
เรื่องของชีวิต ความฝัน และการลงทุนที่กล่าวทั้งหมดนั้น ผมจึงขอ “ส่งผ่านไป” ให้กับทุกคนที่อยากจะรู้ว่าประสบการณ์ของคนที่ผ่านมาหลายสิบปีแล้วคนหนึ่ง เป็น อย่างไร และอาจจะมีส่วนช่วยให้ชีวิตตนดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น หรือมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย ผมก็มีความสุขแล้ว ทั้งหมดนั้นอยู่ในหนังสือที่เพิ่งวางแผงใน 2-3 วันนี้เรื่อง “เด็กวัดดอน” ที่จะเล่าเรื่อง “ชีวิต ความฝันและการลงทุน” ของผม
ชีวิต ความฝัน และการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1