วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,515 จุด เทียบกับดัชนีเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2556 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ 1,562 จุด ก็แสดงว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ปรับขึ้นเลย ถือว่าเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป”
ในวันเดียวกัน ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเป็น 30,808 จุด แตะจุดสูงสุดในรอบ 33 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี คือในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 หรือ 2012 ที่ 8,870 จุด ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นไป 247% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ12% นับว่าเป็น “ทศวรรษทอง” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่นที่อยู่ที่ประมาณ 0-1% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ก็สูงถึง 18% และน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในโลกตลาดหนึ่ง
อะไรทำให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาดีเยี่ยมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปีก่อนหน้านั้น? คำตอบของผมเป็นเรื่องของ “การเมือง” ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงตลาดหุ้นไทยที่เราเองกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในวันที่ 1 ตุลาคม 1979 หรือประมาณ 44 ปี ที่แล้ว เศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างแรง ญี่ปุ่นกำลัง “ครองโลก” ในด้านของเทคโนโลยีการผลิตและกลยุทธการบริหารธุรกิจที่โดดเด่น เช่น เรื่องของการบริหารสินค้าคงคลังแบบ “Just in Time” ของโตโยตา เป็นต้น “ถนนทุกสาย” ในเวลานั้นต่างก็มุ่งสู่ญี่ปุ่น คนอเมริกันต่างก็กลัวว่าญี่ปุ่นกำลังจะ “แซงหน้า”อเมริกาที่กำลัง “ถดถอย” อานิสงค์จากสงครามเวียตนามและภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นบูมอย่างหนักเช่นเดียวกับทรัพย์สินสำคัญอย่างที่ดินที่มีราคาขึ้นสูง แค่โตเกียวเมืองเดียวก็อาจจะมีมูลค่ามากกว่ารัฐที่ใหญ่ที่สุดอย่างแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น ภายใน 10 ปี ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้นจาก 6,569 จุด เป็น 38,916 จุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 1989 และก็เป็นจุดสูงสุดที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ผ่าน ผลตอบแทนในช่วง 10 ปีคือ 492% หรือคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ 17.6% เป็นทศวรรษ “เพชร” ที่หาได้ยากมากในตลาดหุ้นระดับโลก
หลังจากนั้น ดัชนีก็เริ่ม “ดิ่งเหว” สังคมญี่ปุ่นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ หายไป สินค้าที่ถูกผลิตอย่าง “สมบูรณ์แบบ” ที่คนญี่ปุ่นทำได้ดีมากถูกแทนที่ด้วยสินค้าใหม่ ๆ ที่ถูกออกแบบให้ผู้บริโภคนิยมในราคาที่ต่ำลง สินค้ายุคใหม่ที่เกิดจากการ “ปฎิวัติดิจิทัล” และความคิดสร้างสรรค์ของ “เด็ก” เข้ามาแทนที่สินค้าอุตสาหกรรมและบริการแบบเดิม โดยที่สังคมและคนญี่ปุ่นที่ค่อนข้าง “อนุรักษ์นิยม” ไม่สามารถจะตามทัน
ดัชนีนิกเกอิในช่วง 10 ปีหลังจากนั้นคือในวันที่ 1 ตุลาคม 1999 ลดลงมาเหลือ 18,934 จุดหรือลดลงมาถึง 51.3% ตลาดหุ้นแทบจะเป็น “นรก” ของนักลงทุน แต่นั่นก็ยังไม่พอ เพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่มีวี่แววที่จะฟื้น เวลาผ่านไปอีก 10 ปี ดัชนีในวันที่ 1 ตุลาคม 2009 ลดลงมาอีกเหลือเพียง 10,546 จุด หรือตกลงไปอีก 44.3% รวมแล้วภายในเวลา 20 ปี ดัชนีนิกเกอิลดลงจาก 38,916 เหลือ 10,546 หรือลดลง 72.9% เงิน 100 เยน “ลงทุนระยะยาว” ในตลาดหุ้นโตเกียวเป็นเวลา 20 ปี เหลือเฉลี่ยเพียง 27 เยน หุ้นญี่ปุ่น “ตายแล้ว” เช่นเดียวกับเศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นที่ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือจะไปทางไหน และก็เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นที่แก่ตัวลงมากและดู “ไม่มีอนาคต”
แต่แล้ว ในปี 2012 ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ “หนุ่มที่สุด” ที่เคยเป็นในปี 2006-2007 และลาออกไปเพราะโรคกระเพาะก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งที่เกิด “แลนด์สไลด์” และเขามาพร้อมกับการ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น เขาประกาศนโยบาย “ธนู 3 ดอก” ที่จะกระตุ้นและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามานานมาก
ดอกแรกก็คือ นโยบายทางการเงินจะต้องผ่อนคลายและอัตราเงินเฟ้อจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ 2% ต่อปี มีการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบมหาศาล เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปถึง 70% ในเวลาเพียงปีเดียว
ธนูดอกที่สองคือนโยบายการคลัง มีการอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างสาธารณูปโภค เงินช่วยเหลือ SME และให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุน เพื่อที่จะทำให้ GDP โตขึ้นเป็น 2% ต่อปี พูดง่าย ๆ เขาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเรื่องของเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาล เขาคิดว่าถ้าเศรษฐกิจไม่โต ความมั่นคงทางการคลังก็ไม่มี
ธนูดอกที่สาม ก็คือ กลยุทธ์การเติบโตและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นการเปิดเสรีทางการค้าและการทำสนธิสัญญาทางการค้าขนาดใหญ่ เช่น TPP ซึ่งอาจจะจำเป็นที่จะต้องเปิดตลาดทางด้านสินค้าเกษตรที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น นอกจากนั้น เขาก็พยายามให้ผู้หญิงเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “สิ่งใหม่” ในสังคมของญี่ปุ่น
และทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวถึงนั้นทำให้คนเรียกแนวทางเศรษฐกิจนี้ว่าเป็น “อาเบะโนมิกซ์” และในทางส่วนตัวเขาเองก็พยายามทำตัวให้ทันสมัยเป็นแนว “คนรุ่นใหม่” ที่มี “เสื้อผ้าหน้าผม” ที่คนระดับนายกจะไม่ทำกันในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรีอาเบะได้รับการเลือกตั้งอีกหลายครั้งประมาณ 4 สมัย และเป็นนายกที่อยู่นานน่าจะที่สุดในยุคหลังสงครามโลก และลาออกในปี 2020 เพราะโรคกระเพาะกลับมาคุกคามอีกครั้ง จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วในระหว่างการช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรค
ช่วงตั้งแต่อาเบะเป็นนายกในปี 2012 จนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะดูดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนหน้านั้นแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะแก่ตัวไปอีกมากก็ตาม ผมเองไม่รู้ว่ามาจากนโยบายของ “รัฐบาล” เป็นหลักหรือไม่ แต่ก็หาเหตุผลอื่นไม่ได้
กลับมาที่ประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก “รัฐบาลที่มาจากทหาร” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 จนถึงปี 2534 นั้น นายกชาติชายได้ประกาศ “แนวทางใหม่” ของประเทศ จากการที่เคยสู้รบกับเพื่อนบ้านมาเป็น “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” คือค้าขายกับเพื่อนบ้าน และเปลี่ยนนโยบายประเทศมาเป็นแบบ “ทุนนิยมเสรี” เต็มที่ ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและเป็น “มิตรกับนักธุรกิจ” ว่าที่จริงคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองนั้นต่างก็มาจากนักธุรกิจหรือเป็นคนที่มีนักธุรกิจสนับสนุนในการเลือกตั้งจำนวนมาก
ช่วงระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลชาติชายนั้น ประเทศไทยยึดหลักการเป็นตลาดทุนนิยมเสรีมาก มีการเปิด “เสรีทางการเงิน” อนุญาตให้เงินต่างประเทศไหลเข้าออกแบบเสรีซึ่งรวมถึงการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วย ผลก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรง ช่วงหนึ่งเคยปรับจากประมาณ 320 จุด เป็น กว่า 1,100 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 250% ในเวลาเพียง 2.5 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 65% และนี่ก็น่าจะเป็นผลจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่ “Pro Business” หรือสนับสนุนธุรกิจเอกชนและเปิดตลาดเสรีมากขึ้น
ช่วงเวลาขณะนี้ที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและกำลังเปลี่ยนรัฐบาลที่มีนโยบายแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะไม่ตอบสนองในทางที่ดีอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรืออย่างในกรณีของช่วงนายกชาติชายเมื่อ 35 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นี่เพียงเพิ่งจะเริ่มต้นไม่กี่วัน อนาคตอีก 2-3 เดือนเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จหรืออีก 1-2 ปี ข้างหน้า เราก็จะรู้ว่านโยบายหรือการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรและจะตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหน
ในระหว่างนี้ผมคิดว่าผู้ที่จะรับผิดชอบประเทศต่อไปก็ควรจะดูสัญญาณจากดัชนีตลาดหุ้นว่า สิ่งที่จะทำนั้นจะมีผลบวกหรือเป็นลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวแค่ไหน อย่าคิดว่าตลาดหุ้นนั้น เป็นเสียงของคนส่วนน้อย เพราะนี่เป็นเสียงของคนที่เป็นหรืออยู่ในศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สามารถทำนายได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ถ้าหุ้นขึ้นก็มักจะแปลว่านโยบายหรือสถานการณ์ไปถูกทาง ถ้าหุ้นลงก็เป็นตรงกันข้าม
ทศวรรษที่หายไป VS ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1
ทศวรรษที่หายไป VS ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
- IndyVI
- Verified User
- โพสต์: 14944
- ผู้ติดตาม: 2
Re: ทศวรรษที่หายไป VS ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 2
FM 96.5 | รู้ใช้เข้าใจเงิน | | 22 พ.ค. 66
คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://www.youtube.com/watch?v=hCZAB9PA2J0&t=1675s
คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://www.youtube.com/watch?v=hCZAB9PA2J0&t=1675s
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
# Howard Mark #