Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Kao
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1257
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เขียนโดยคุณ Invisible Hand แห่ง Greenbull ครับ

มีเรื่องหนึ่งที่ผมคิดจะเขียนมานานแล้วยังหาเวลาและโอกาสเขียนไม่ได้เสียที เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับเพื่อนท่านหนึ่งที่ลงทุนกับหุ้นตัวหนึ่งมานานแล้วแต่ผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร เหตุผลหนึ่งที่ผมยกขึ้นมาก็คือเพราะหุ้นตัวนั้นไม่ใช่ wealth หรือ ความมั่งคั่งหลักของเจ้าของ วันนี้มีเวลาอยู่พอสมควรจะอยากจะเขียนเล่าประสบการณ์สำหรับเพื่อนๆ โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่เป็นนักลงทุนมือใหม่นะครับ

เพื่อนๆ หลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาว่าเราได้เลือกหุ้นบางตัวเพื่อการลงทุน ซึ่งเราได้มองธุรกิจแล้วว่าน่าสนใจ รวมไปถึงมีอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่ดี และ valuation ก็ไม่แพง แต่เมื่อลงทุนไประยะหนึ่งแล้วก็พบว่าผลตอบแทนในการลงทุนไม่เป็นไปอย่างที่คาด ทั้งๆ ที่หุ้นตัวนั้นๆ หลายๆ ครั้งอยู่ในธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หุ้นที่เราลงทุนนั้นกลับให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน เหตุผลหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปก็คือ แรงจูงใจ ครับ เนื่องจากกิจการนั้นไม่ใช่ ความมั่งคั่ง หรือ wealth หลักของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหาร

หุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์ที่มูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารหลักถือครองอยู่นั้น แม้ว่าอาจจะมีมูลค่าจำนวนมากในสายตานักลงทุนอย่างเรา เช่น หลายร้อยล้าน หรือบางครั้งเป็นหลายพันล้านบาท แต่กิจการนั้นๆ กลับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นมีกิจการจำนวนมากและหลายกิจการไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กิจการบางส่วนถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลต่างๆ ในตอนนั้น ในขณะที่กิจการส่วนใหญ่ซึ่งเป็น wealth หลักของผู้ถือหุ้นยังอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่กิจการบางส่วนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ผู้ถือหุ้นอย่างผมหรือเพื่อนๆ หลายคนกลับพบว่าผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉพาะเงินปันผล หรือผลลัพธ์ที่เกิดจากการคาดหวังต่างๆ เช่น การเติบโตของกำไรมีไม่มากเท่าที่คิดไว้ และรู้สึกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ให้ความสำคัญกับบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้บริหารที่อาจจะเป็นคนในตระกูล หรือผู้บริหารมืออาชีพที่จ้างเข้ามานั้นไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตหรือพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของบริษัทได้ และเมื่อไม่สามารถผลักดันได้ แรงกดดันหรือแรงกระตุ้นจากเจ้าของบริษัทก็ไม่มีมากเท่าที่ควร เพราะเจ้าของถือว่ากิจการดังกล่าวนี้ไม่ใช่สินทรัพย์หลักของกลุ่ม จึงไม่อยากให้ความสนใจมากนัก

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายๆ กรณีอาจจะพบถึงขั้นว่า มีรายการระหว่างกันระหว่างบริษัทที่จดทะเบียนกับบริษัทในกลุ่มที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบางครั้งหากผู้บริหารกลุ่มนั้นๆ มีธรรมาภิบาล ราคาที่เกิดการซื้อขายหรือดำเนินธุรกิจระหว่างกันก็เป็นราคายุติธรรม แต่หลายๆ ครั้งที่ผู้บริหารขาดธรรมาภิบาล อาจจะเกิดการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมขึ้น หรือบางครั้งอาจจะเกิดกรณีที่ไม่สามารถจัดอยู่ในรายการ ไม่โปร่งใส แต่เป็นการนำโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่มีกำไรงดงาม ให้กับธุรกิจในกลุ่มที่อยู่นอกตลาดฯ แทนที่จะให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นได้รับโอกาสนี้ไป หรือบางครั้งอาจจะให้บริษัทที่จดทะเบียนไปลงทุนในกิจการที่ดูแล้วมีความเสี่ยง แต่เมื่อธุรกิจใหม่ๆ นั้นตั้งตัวได้หรือเริ่มมีกำไร กลับให้บริษัทจดทะเบียนนั้นลดสัดส่วนการถือหุ้นลง หรือทิ้งสิทธิการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจไป บางครั้งในกรณีที่บริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ของผู้ถือหุ้นใหญ่เกิดขาดสภาพคล่องทางการเงินกระทันหัน บริษัทที่เราลงทุนอาจจะมีหน้าที่เป็นนายธนาคารจำเป็น และต้องปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือต้องเป็นนักลงทุนจำเป็นที่ต้องไปซื้อสินทรัพย์บางอย่างจากบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ชนิดที่ค้านสายตาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ ซึ่งผมเองคงไม่สามารถยกตัวอย่างบริษัทจากเหตุการณ์จริงได้ แต่เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนที่ลงทุนมาระยะหนึ่งคงได้พบเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเองมาไม่มากก็น้อยครับ

บริษัทที่ไม่ใช่ wealth หลักของเจ้าของนั้นเท่าที่ผมเห็นมักจะมีกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์และเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นไม่ดีเท่าที่ควร บางครั้งคำแนะนำต่างๆ ที่อาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เช่น การแตกพาร์ การจ่ายปันผลในสัดส่วนที่สูงขึ้น การมาร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น งาน Opportunity day อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเหตุผลจากเจ้าของกลุ่มนี้ก็ไม่ได้สนใจว่าราคาหุ้นจะต้องสอดคล้องกับพื้นฐานของบริษัทหรือไม่ เพราะการที่หุ้นตัวดังกล่าวจะขึ้นหรือลงก็ไม่มีผลต่อความมั่งคั่งของเจ้าของมากนัก รวมไปถึงการตัดสินใจด้านการเงินต่างๆ เช่น การเพิ่มทุน การปันผล มักจะค้านสายตาของผู้ถือหุ้นอยู่เป็นประจำ การเพิ่มทุนอาจจะมากโดยไม่จำเป็นเพราะเจ้าของถือว่าเป็นเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับเงินในกระเป๋าของเขา หรือเงินปันผลอาจจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเจ้าของอาจจะมีเงินมากมายอยู่แล้วจนไม่รู้จะนำเงินไปทำอะไร

ยกตัวอย่างที่ไม่เลยร้ายเกินไปนัก คือเป็นบริษัทที่พอใช้บริษัทหนึ่งแต่ขอไม่เอ่ยชื่อบริษัทนะครับ เช่น อาจจะมีบริษัทในบางอุตสาหกรรม ที่ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นนำบริษัทจดทะเบียนเพียงแห่งเดียว ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีธุรกิจจำนวนมาก เช่น โรงเรียนนานาชาติ ประกันชีวิต ธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งผมลองคำนวณแบบหยาบๆ แล้วพบว่ามูลค่า mkt cap ของบริษัทนี้ที่อยู่ในตลาดหุ้นน่าจะต่ำกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่นอกตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ก็สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องและมีปันผลที่พอใช้ได้ และไม่มีรายการระหว่างกันที่ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่สบายใจ แต่ในแง่การเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่สูงนักและในเรื่องการให้ข้อมูลและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นก็ไม่มากเท่าที่ควร

ความน่าจะเป็นที่บริษัทที่ไม่ใช่ wealth ของผู้ถือหุ้นใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจะเกิดขึ้นสูงกว่าในกรณีที่ผู้บริการทั้งหมดเป็นบุคคลในครอบครัวของผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นๆ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่มีแนวโน้มที่จะแต่งตั้งลูกหลานที่มีความสามารถสูงไปบริหารกิจการใหญ่ๆ ที่เป็น wealth หลักมากกว่าที่จะแต่งตั้งไปบริหารบริษัทเล็กๆ ในกรณีของบางบริษัทที่แม้จะไม่ใช่ wealth หลักของผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะมีผลตอบแทนที่ดีได้หากมีการแต่งตั้งผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพและมีการควบคุม ให้นโยบายที่เหมาะสม รวมไปถึงการให้แรงจูงใจต่างๆ กับผู้บริหาร เช่น ให้สิทธิในการถือหุ้นบางส่วน ออก ESOP ให้ เป็นต้น อันนี้เนื่องจากเป็นตัวอย่างที่ดี ผมจึงยกชื่อบริษัทได้ เช่น HMPRO ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือ LH ในกรณีของ HMPRO นับว่าไม่ใช่ wealth หลักของ LH หรือคุณอนันต์ อัศวโภคิน แต่ก็มีการวางนโยบายโดยบอร์ดที่เหมาะสมรวมไปถึงการให้แรงจูงใจกับทีมบริหาร ดังนั้น HMPRO ก็นับว่าเป็นบริษัทที่ไม่ใช่ wealth หลักของเจ้าของแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีครับ

ดังนั้น การที่เราลงทุนในบริษัทที่ไม่ใช่ wealth หลักของผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น บางครั้งอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่หลายๆ ครั้งก็ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากความคาดหวังต่างกัน เพราะเราอาจจะลงทุนหุ้นตัวนี้เป็นสัดส่วนที่สูงของเงินลงทุนของเรา ความคาดหวังของเรากับหุ้นตัวนั้นๆ จึงสูง แต่ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่มองว่าบริษัทนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความมั่งคั่ง จึงไม่คาดหวังกับบริษัทมากนัก อาจจะคาดหวังผู้บริหารเพียงว่าบริหารอย่างไรก็ได้ไม่ให้ขาดทุนหรือไม่เป็นภาระทางการเงินกับผู้ถือหุ้นใหญ่ หรืออย่าไปทำอะไรให้ผู้ถือหุ้นใหญ่เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอันน่าจะเพียงพอ ดังนั้นเมื่อความคาดหวังต่างกัน ก็ยากที่บริษัทนั้นๆ จะมีผลงานในระยะยาวที่เป็นพอใจของผู้ถือหุ้นได้

หุ้นประเภทที่ผมพูดถึงนี้ มีทั้งที่มีการบริหารกิจการที่โปร่งใสใช้ได้ และไม่ค่อยโปร่งใส สำหรับตัวที่มีแนวโน้มการบริหารกิจการไปในทางไม่ดี คือ ไม่โปร่งใส มักจะมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ valuation ไม่แพง เช่น p/bv ต่ำ p/e ต่ำ แต่หากไปดูย้อนหลังจะพบว่าหุ้นเหล่านี้จะมี p/bv p/e ต่ำอย่างนี้มานานอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้บางครั้งเลยเป็น กับดัก สำหรับ Value investor มือใหม่ ทำให้อาจจะต้องเสียเวลาและเสียเงินลงทุนไปกับหุ้นประเภทดังกล่าวได้ครับ

ผมจึงอยากให้ข้อคิดที่เพื่อนๆ หลายคนอาจจะมองข้ามไปนะครับว่าก่อนลงทุน เราควรจะลองดูว่าบริษัทที่เราจะลงทุนนั้นเป็น wealth หลักของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่ เพราะหากผมลองดูหุ้นหลายๆ ตัวที่ list อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็พบว่ามีหุ้นจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มูลค่ากิจการเป็นเพียงความมั่งคั่งส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น ดังนั้นเราควรจะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่เราสนใจเค้ามีธุรกิจอะไรอยู่บ้างนอกตลาดหลักทรัพย์บ้างครับ คงไม่สามารถเหมารวมได้ว่าบริษัทที่ไม่ใช่ wealth หลักของเจ้าของจะต้องให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่เราคาดหวังนะครับเพียงแต่ว่าเมื่อเราสนใจหุ้นที่มีลักษณะเหล่านี้ คงจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง แรงจูงใจ ของผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญครับ
แก้ไขล่าสุดโดย Kao เมื่อ พฤหัสฯ. พ.ค. 31, 2007 12:47 am, แก้ไขไปแล้ว 1 ครั้ง.
"Price is what you pay. Value is what you get."
ภาพประจำตัวสมาชิก
por_jai
Verified User
โพสต์: 14338
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 2

โพสต์

8) พี่มือล่องหน ตัวอย่างชั้นดีของคนรุ่นใหม่
    ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ ของแกคนนึง..
    ขอบคุณพี่ขาว ที่นำมาให้อ่านครับ
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
Raphin Phraiwal
Verified User
โพสต์: 1342
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ ทั้งผู้เขียนและผู้นำมาให่อ่านครับ
รักในหลวงครับ
tanate@man
Verified User
โพสต์: 209
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 4

โพสต์

[quote="por_jai"]8) .
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำครึ่งแก้ว
Verified User
โพสต์: 1098
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณครับ คุณ IH  มีประโยชน์มากครับ
" ชีวิตไม่เคยขาดความหวาน "
javoel
Verified User
โพสต์: 383
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ

ผมรู้สึกว่าหุ้ที่ผมถือตัวหนึ่ง จะเข้าข่ายบทความนี้อยู่ครับ
เพราะ มี pe ที่ต่ำ, ผู้บริหารก็ถือหุ้นค่อนข้างน้อย

เสียวเหมือนกันครับ
phobenius
Verified User
โพสต์: 1976
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 7

โพสต์

น่าสนใจมากเลยครับ
หัวข้อนี้เอาไปทำวิจัยได้เลยนะครับ
แต่ติดตรงที่ว่าข้อมูลที่จะตีราคาบริษัทนอกตลาดยังไงดีหว่า
August
Verified User
โพสต์: 510
ผู้ติดตาม: 0

Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณสำหรับการสร้างสรรค์บทความดีๆ     เป็นประโยชน์มากๆครับ
earthcu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 348
ผู้ติดตาม: 0

Re: Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 9

โพสต์

เข้ามาขุดบทความนี้เพื่ออ่านอีกครั้งครับ
ขอขอบคุณพี่ Kao และ พี่ Invisible Hand ครับสำหรับความรู้ที่มอบให้ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
thaloengsak
Verified User
โพสต์: 2716
ผู้ติดตาม: 1

Re: Wealth หลักของเจ้าของ ??? (โดยคุณ Invisible hand)

โพสต์ที่ 10

โพสต์

จริงๆอย่างนี้เขาบอกไว้ พอศึกษาได้สักพักผมก็เจอกับตัวเอง
โพสต์โพสต์