subprime crisis monitor

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

subprime crisis monitor

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤติ Subprime บานปลาย เหตุจากความคลุมเครือ

Posted on Friday, August 17, 2007
นายสมภพ มานะรังสรรค์ นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Brief ว่า สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือหรือเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน (Subprime Mortgage Loan) ได้ส่งผลลุกลามกับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกมากกว่าที่หลายคนคาด เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายในเบื้องต้นเป็นวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่ลงทุนไปทั่วโลก และเมื่อเกิดการขาดทุนในบริษัทแม่ ทำให้จำเป็นต้องมีการสั่งปิดกองทุน และมีการขายสินทรัพย์ออกมา

นอกจากนี้ แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษออกมาเพิ่มเติม และได้พยายามบรรเท่าสถานการณ์ที่เลวร้ายด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่นายสมภพมองว่าเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ และทำได้เพียงแค่การผ่อนหนักเป็นเบา เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่การที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถหาเงินมาผ่อนชำระเงินกู้ แต่เป็นเพราะมีการกู้เงินจากแหล่งเงินอื่นมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ Subprime และข้อมูลข่าวสารที่ออกมาก็ยังขาดความชัดเจนว่า สินเชื่อ Subprime จะสร้างความเสียหายในวงกว้างมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ นายสมภพมองว่า ความคลุมเครือที่รอความชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Subprime มีด้วยกัน 4 ประเด็นคือ
1. ปัญหา Subprime จะลุกลามไปยังอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ของสหรัฐฯหรือไม่ เพราะหลายปีมาแล้วที่ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯทำให้เกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่หากมีการปรับฐานลงมาก็จะกระทบกับความมั่งคั่งของชาวสหรัฐฯ ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และความมั่งคั่งที่ลดลงจะทำให้เงินในกระเป๋าของชาวสหรัฐฯที่จะนำไปลงทุนในด้านต่าง ๆ ลดลงด้วย

2. ปัญหา Subprime ยังอาจลุกลามต่อเนื่องไปถึงการลดทอนการบริโภคลง สังเกตได้จากยอดขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Wall Mart ที่มีแนวโน้มลดลง

3. ปัญหา Junk Bond ที่นักเก็งกำไรทั้งหลายนิยมเข้าไปลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า Bond ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และเมื่อเกิดปัญหากับ Junk Bond ที่เกี่ยวข้องกับ Subprime ก็อาจทำให้มีการเทขาย Junk Bond ต่อเนื่องตามมา

4. ปัญหา Junk Bond อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกองทุนส่วนบุคคล Private Equity Fund ที่ไปกู้เงินมาลงทุนที่อาจต้องเจริญรอยตามกองทุนเพื่อเก็งกำไร (Hedge Fund) ที่ถูกปิดไป

ด้านนางนภาภรณ์ คุรุพสุธาชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Trading Hour ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดล่วงหน้าทั่วโลกจากสินเชื่อ Subprime ในขณะนี้ เป็นเพราะ Hedge Fund ซึ่งมีการลงทุนที่หลากหลายจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ออกมาเพื่อลดความเสี่ยง และรวมถึงการขายสัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าด้วย ผลที่เกิดตามมาคือตราสารหนี้อื่น ๆ ราคาตกลง และทำให้นักลงทุนยิ่งตกใจกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน AFET ของไทยจะลงทุนควบคู่ไปกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของญี่ปุ่น TOCOM ที่ช่วงนี้เงินเยนแข็งค่า ขณะที่ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง แต่จะต้องลงทุนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เมื่อมีการแปลงเป็นเงินบาทแล้วทำให้สินค้าใน AFET มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลในเชิงจิตวิทยา เพราะเหมือนกับว่าเงินในกระเป๋าลดลงไปพร้อมกับความมั่นใจ และเกิดความไม่แน่ใจว่าทิศทางการลงทุนจะไปในทางไหน อย่างไรก็ตามนางนภาภรณ์มองว่า ในสัปดาห์หน้าหากทางสหรัฐฯสามารถควบคุมความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปได้ ก็น่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น ซึ่งถ้านักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนไทยไม่ตกใจจนเกินไป ก็จะสามารถหาประโยชน์ได้ในช่วงสั้น ๆ เพราะสามารถทำกำไรในช่วงขาลงได้ สำหรับในระยะยาว พื้นฐานของสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ในตลาดโลกที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาทำให้เชื่อได้ว่า การลงทุนในตลาดล่วงหน้ายังคงน่าสนใจอยู่

นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) บลจ. ยูโอบี กล่าวว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาปัญหา Subprime ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคการลงทุนในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ อัตราส่วนต่างของผลตอบแทนจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (Credit Spread)ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากการลงทุนในตลาดหุ้น และนำไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้แทน

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ลงทุนในตราสาร CDO (Collateralized Debt Obligation) ที่ออกโดยสหรัฐฯน้อยมาก หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2-1% ของสินทรัพย์ที่นำไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ CDO ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากตลาด Subprime ของสหรัฐฯ จึงไม่มีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์เลย อีกทั้งตราสารที่ธนาคารพาณิชย์ได้เข้าไปลงทุน เป็นตราสาร CDO ที่มีคุณภาพดี แต่ในขณะที่Hedge Funds ของ Bearstearns อาจลงทุนใน CDO ที่มีความเสี่ยงสูง จึงเกิดปัญหาขึ้น

นายกรวุฒิมองว่า หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) มีนโยบายการลงทุนที่ถูกต้อง การเกิดปัญหาในตลาด Subprime ก็จะไม่มีผลกระทบต่อกองทุนนั้น ๆ ซึ่งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ของไทยไม่ได้ลงทุนใน CDO เพราะเป็นไปตามข้อบังคับของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองทุน FIF ของไทยจึงลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศเท่านั้น สำหรับ FIF ของบลจ. ยูโอบีนั้น ไม่มีนักลงทุนมาไถ่ถอนหน่วยลงทุนเลย และยังมีนักลงทุนบางรายไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนตราสารหนี้เพื่อนำมาลงทุนใน FIF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียเพิ่มเติมอีกด้วย

นายกรวุฒิกล่าวด้วยว่า แม้ว่าปัญหาในตลาด Subprime ที่เกิดขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศ แต่เพื่อความไม่ประมาท นักลงทุนก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากตลาด Subprime อยู่ในขณะนี้ แต่หากปัญหาดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว เชื่อว่าสภาวะการลงทุนในเอเชียจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Tra ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปทรุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนหุ้นเอเชียต่ำสุดในรอบ 6 ปี

Posted on Friday, August 17, 2007
ตลาดหุ้นยุโรป ตกต่ำสุด 4 ปี เอเชียต่ำสุด 6 ปี

ตลอดทั้งวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดหุ้นทุกแห่งของยุโรป ตัดสินใจกระหน่ำเทขายหุ้นตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสำคัญ เช่น SMSI ในตลาดหุ้นสเปน ทรุดลง 3.66% ดัชนีหุ้น OMX ที่สวีเดน ร่วงลง 3.66% ดัชนีหุ้น SSMI ของสวิสเซอร์แลนด์ หายไปถึง 2.76% ดัชนีหุ้น ATX ที่ออสเตรีย ทรุดลง 5.13% ดัชนีหุ้น BEL ของเบลเยียม ทรุดหนักถึง 3.06% เช่นเดียวกันกับดัชนีหุ้นสำคัญอย่าง ฟุ๊ตซี่ 100 DAX และ CAC 40 ที่ร่วงอย่างหนักตั้งแต่ 2 4%

นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นสำคัญในตลาดหุ้นทุกแห่งในเอเชีย ล้วนอยู่ในภาวะกดดันอย่างหนักจากแรงเทขายที่ไม่สิ้นสุดตลอดทั้งวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยที่ทรุดลงมากที่สุดในเอเชียอยู่ที่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ดัชนีหุ้นคอสปี้ หายไปมากถึง 6.93% ดัชนีหุ้น PSE ที่ฟิลิปปินส์ ทรุดถึง 6% ดัชนีหุ้นจาการ์ตาคอมโพสิท ที่อินโดนีเซีย ร่วงหนัก 5.94% ดัชนีหุ้นนิกเคอิ ทรุดลงเฉียด 2% ฮั่งเส็งทรุดลง 3.29% ด้านดัชนีหุ้นเวียดนาม ลดลงมาแตะที่ระดับ 900 จุด จากมากกว่า 1 พันจุดในเดือนกรกาคม

บรรยากาศการลงทุนที่หดหู่ตลอดทั้งวานนี้ ซึ่งกดดันให้ดัชนีหุ้นสำคัญในทุกตลาดยุโรปทรุดลงอย่างหนักใน 1 วันทำการ เกิดขึ้นในรอบ 4 ปี และเอเชีย เกิดขึ้นอีกครั้งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เหตุการณ์การก่อการร้ายที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 หรือในปี 2544 ทั้งนี้ ดัชนี MSCIในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ทรุดลงมากถึง 20% จากระดับสถิติสูงสุดในเดือนกรกฎาคม หรือราวกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา

ดาวโจนส์ ร่วง 6 วันติด แต่มีสัญญาณฟื้นตัว

นักลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เปิดฉากกระหน่ำเทขายหุ้นตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด กดดัชนีหุ้นสำคัญทั้ง 3 แห่งในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ทรุดลงต่ำสุดระหว่างวันเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยเฉพาะดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ร่วงลงถึง 343 จุด ตามด้วยดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ทรุดลงมากถึง 36 จุด เช่นเดียวกันกับดัชนีหุ้นนาสแด็ค ส่งผลให้ระดับดัชนีทั้ง 3 แห่งที่จุดต่ำสุดของวัน ทรุดลงมากถึง 10% จากระดับดัชนีหุ้น ที่เคยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นในช่วงชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย ดัชนีหุ้นทั้ง 3 กลับตีตื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดติดลบเพียง 15 จุด

สาเหตุสำคัญ ที่สร้างแรงกระหน่ำเทขายอย่างหนักในช่วงแรกของการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา คือ ผลพวงจากการปรับลดอันดับการลงทุน และบทวิเคราะห์ของเมอร์ลิน ลินช์ ที่มีต่ออนาคตของสถาบันการเงินด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ที่มีชื่อว่า คันทรี่ไวด์ ไฟแนนเชียล คอร์ปอเรชั่น อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าว ชี้แจงในช่วงตอนท้ายว่า สามารถหาสภาพคล่องเข้ามาเสริมการดำเนินกิจการของบริษัท และอาจตัดสินใจโอนย้ายธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทสับไพรม์ ไปยังธนาคารในเครือ

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคาร และสถาบันการเงินในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ยังขึ้นยกแผงจากข่าวของสถาบันการเงินชื่อดัง แบร์สเติร์น ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ออกตราสารหนี้ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ ที่อาจมีความเป็นไปได้ว่า อาจสามารถหาเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของแบร์สเติร์น พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1998 หรือในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยบวกช่วงปลายการซื้อขาย

ขุนคลังสหรัฐฯยอมรับวิกฤติสภาพคล่องชะลอเศรษฐกิจสหรัฐ

นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวยอมรับชัดเจนว่า วิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐ จากผลพวงของวิกฤตตราสารหนี้ระดมทุนเพื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทสับไพรม์ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง แต่ยังย้ำชัดเจนว่า จะไม่เปิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุค 1930 หรือยุคที่เรียกว่า เดอะ เกรท ดีเพรสชั่น นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังมั่นใจว่า ปัจจัย หรือโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังแข็งแกร่งมากพอ ที่จะรองรับได้

ในขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่องอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา และรวมกับก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี ในวงเงินรวม 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรืออีก 5.78 แสนล้านบาท โดยผ่านวิธีการซื้อคืนพันธบัตรอายุ 14 วัน ถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งล่าสุดเมื่อคืนนี้ เฟดซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าวเมื่อเวลา 9.30 น. ตามเวลาในสหรัฐ ในวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท หรือราว 4.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เฟดได้อัดฉีดเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.7 แสนล้านบาท ผ่านวิธีการเดียวกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อต้องการที่จะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ไม่ให้พุ่งสูงเกินกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดในปัจจุบันที่ระดับ 5.25% ทั้งนี้ ยังคงมีมุมมอง และแรงกดดันที่แตกต่างกันจากวงการตลาดทุนว่า เฟด ควรจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นก่อนการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 18 เดือนหน้าหรือไม่

ผู้นำสูงสุดฝรั่งเศส ร้องกลุ่ม G7 ดูแลวิกฤตสภาพคล่อง

นายนิโคลาร์ ซาโคซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทำจดหมายส่งถึงนางแองเกล่า แมเคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและรักษาการประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) โดยระบุเนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่งว่า ผู้นำสูงสุดของฝรั่งเศสตระหนักถึงความไม่แข็งแกร่งของระบบทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากวิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่ม G7 ทั้งหมด เสนอวาระการประชุมครั้งสำคัญที่เกี่ยวกับความโปร่งใสในระบบการเงิน ความระมัดระวังในปัจจัยเสี่ยงในตลาดเงิน ตลาดทุนของโลก รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลในตลาดทุน นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุดของฝรั่งเศสยังเสนอให้ที่ประชุมกลุ่ม G7 เข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเข้าตรวจสอบบทบาทและหน้าที่ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนชั้นนำของโลก เกี่ยวกับการทำหน้าที่ที่เหมาะสมกับวิกฤติที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นายนิโคลาร์ ซาโคซี่ ยังเสนอให้มีการเข้าไปตรวจสอบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสาเหตุเริ่มต้นของวิกฤติสภาพคล่องในตลาดเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก โดยวาระการประชุมดังกล่าว เพื่อการประชุมของกลุ่ม G7 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ


ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้ (16 ส.ค. 50)
ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ อยู่ที่ 322,000 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า
ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจ (ส.ค.) โดยเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 0.0 จากระดับ 9.2 ในเดือนก่อนหน้า

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯที่จะประกาศออกมาวันนี้ (17 ส.ค. 50)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้น (ส.ค.) โดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน

คณะวิจัยรัฐบาลจีนคาดยอดเกินดุลการค้าปีนี้เพิ่มขึ้นแตะ 2.75 แสนล้านดอลลาร์
คณะวิจัยของรัฐบาลจีนกล่าวว่า ยอดเกินดุลการค้าของจีนในปี 2550 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าสถิติในปี 2549 ที่ระดับ 1.77 แสนล้านดอลลาร์ ศูนย์สารสนเทศแห่งชาติจีน ในสังกัดของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกของจีนในปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% ขณะที่ยอดนำเข้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.5% การอ่อนค่าลงของเงินหยวนจนถึงขณะนี้ได้ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อการควบคุมการขยายตัวของยอดเกินดุลการค้า และนโยบายด้านการเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับลดภาษีส่งออกเพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกของจีนอย่างต่อเนื่อง

สนง.สถิติจีนเผยอัตราการลงทุนในสินทรัพย์คงที่เขตเมือง 7 เดือนแรกโต 26.6%
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า อัตราการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในเขตเมืองของจีนช่วงเดือนม.ค.-ก.ค. 2550 ขยายตัวขึ้น 26.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 5.67 ล้านล้านหยวน ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผยอัตราการลงทุนในสินทรัพย์คงที่เดือนม.ค.-ก.ค. เพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี อุตสาหกรรมธุรกิจพลังงานและความร้อนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 12.6% ส่วนอัตราการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองโลหะและแปรรูปขยายตัว 9.2% ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมโลหะปลอดเหล็กเพิ่มขึ้น 34.8%

มาเลเซียคาดเงินริงกิตอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ
ธนาคารเพื่อการลงทุนเคนันกาของมาเลเซีย คาดการณ์ว่า ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียจะอ่อนตัวลงอีกในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากปัญหาการปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้าที่ขาดความน่าเชื่อถือในสหรัฐที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายเงินริงกิตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดความสับสนวุ่นวายในตลาดทั่วโลก แต่เคนันกาก็ยังคาดการณ์ว่าค่าเงินริงกิตจะอยู่ที่ระดับ 3.40-3.45 ริงกิตต่อดอลลาร์ไปจนถึงสิ้นปี ธนาคารเคนันกากล่าวว่า สิ่งเดียวที่ยังคงสดใสท่ามกลางการอ่อนตัวลงของค่าเงินริงกิตคือ การส่งออกภาคการผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นหลังจากที่ต้องเผชิญกับค่าเงินริงกิตที่แข็งค่ามาโดยตลอด

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชี้รับมือตลาดหุ้นดิ่ง-วิกฤติสินเชื่อสหรัฐได้
นายจอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังออสเตรเลีย ได้ออกมายืนยันว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากตลาดสินเชื่อสหรัฐและตลาดหุ้นออสเตรเลียที่ดิ่งลงอย่างหนักได้ ด้านนายปีเตอร์ คอสเตลโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลีย กล่าวว่า ขณะที่มีปัญหาเกิดขึ้นในตลาดการเงินอันเนื่องมาจากปัญหาตลาดปล่อยกู้เพื่อการจำนองแก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐ แต่ธนาคารพาณิชย์ในออสเตรเลียก็ยังสามารถดำเนินการได้ ภาคธุรกิจการธนาคารยังมีสภาพคล่องอยู่มากและเราก็พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mor ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 3

โพสต์

แบร์สเติร์นส์ เตรียมลดตำแหน่งงานในธุรกิจ SUBPRIME หลังขาดทุนจาก 2 เฮดจ์ฟันด์อ่วม
Posted on Friday, August 17, 2007

แบร์สเติร์นส์ คอส อิงก์ วาณิชธนกิจใหญ่แห่งวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 2 กองทุนที่เจอผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (SUBPRIME) รายแรก ๆ ของโลก คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ประกาศปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจในระยะต่อไปแล้วว่า พร้อมลดตำแหน่งงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SUBPRIME ประมาณ 240 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ แบร์สเติร์นส์ เริ่มดำเนินงานกองทุน "High-Grade Structured Credit Fund" (เฮดจ์ฟันด์แห่งที่ต้องเข้าไปกอบกู้เมื่อวันศุกร์) ในปี 2547 และทำผลตอบแทนกลับคืนมาได้เดือนละประมาณ 1.0 - 1.5% เป็นเวลาถึง 41 เดือน ทว่านักลงทุนต่างติดอกติดใจต้องการผลตอบแทนสูงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องกล้าบุกกล้ารุกยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเข้าถือตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่อเคหะประเภทมีความเสี่ยงสูงขึ้น ตลอดจนอาศัยเงินกู้ยืมในระดับเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา แบร์สเติร์นส์ จึงก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์อีกกองทุนหนึ่ง (ซึ่งก็คือเฮดจ์ฟันด์แห่งที่ 2 ที่เวลานี้ขาดทุนอย่างมหาศาล) ใช้ชื่อว่า "High-Grade Structured Credit Enhanced Leveraged Fund" ประเดิมด้วยการระดมเงินลงทุน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากลูกค้าบุคคลที่ร่ำรวยของทางวาณิชธนกิจเอง และยังได้กู้เงินมาจากพวกวาณิชธนกิจ และโบรกเกอร์ต่าง ๆ อีกอย่างน้อย 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวแบร์สเติร์นส์เองรวมทั้งผู้บริหารระดับท็อปอีกไม่กี่คน ใส่เงินลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ทั้งแห่งหลังนี้ และแห่งแรกรวมไม่เกิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จังหวะเวลาในการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เมื่อถึงสิ้นปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ในหลายภูมิภาคของสหรัฐได้ทะยานแตะระดับสูงสุด และเริ่มตกลงมา การทรุดตัวนี้ เริ่มเผยให้เห็นถึงมาตรฐานการปล่อยกู้อันหย่อนยานในตลาดซับไพรม์ ไม่ช้าไม่นานผู้กู้ยืมก็เริ่มชำระค่างวดผ่อนบ้านไม่ตรงกำหนด เพียงไม่กี่เดือนหลังจากพวกเขาได้รับเงินกู้มาซื้อบ้าน และกลายเป็นแรงกดดันให้เจ้าหนี้รายใหญ่จำนวนมากต้องขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย

พวกเฮดจ์ฟันด์ของแบร์สเติร์นส์ ก็คล้ายกับกองทุนอื่นๆ จำนวนมาก ได้ไปลงทุนถือครองตราสารหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เรียกว่า collateralized debt obligations หรือ CDOs ซึ่งจะหนุนหลังโดยสินเชื่อประเภทต่าง ๆ และเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ จำนวนมาก ตราสารหนี้ CDOs แต่ละชิ้นจะมีมูลค่าแตกต่างกันไป บางส่วนมีความมั่นคงกว่าเพราะหนุนหลังโดยหลักทรัพย์ซึ่งซื้อขายคล่อง และมีความเสี่ยงน้อย ทว่าก็ย่อมจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือครองน้อยลงเช่นกัน บางส่วนให้ผลตอบแทนมากกว่าทว่าก็หนุนหลังด้วยหลักทรัพย์ซึ่งเสี่ยงต่อการไม่ได้รับชำระคืนและซื้อขายยากกว่า

จากสถิติของสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินสหรัฐ ปีที่แล้ว มีการออก CDOs เฉพาะพวกที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อประเภทสินเชื่อเคหะ เป็นมูลค่าถึง 316,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึงราว 77%

ตอนแรก เฮดจ์ฟันด์ของแบร์สเติร์นส์ ทำท่าเหมือนจะสามารถต่อสู้ลมพายุตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวได้ไหว ทว่าเมื่อถึงเดือนมีนาคมปีนี้ กองทุนกองแรก ก็รายงานการขาดทุนเป็นเดือนแรกนับแต่เริ่มดำเนินงานมา ครั้นถึงเดือนเมษายน กองทุนแรกขาดทุนจนมีมูลค่าลดลงเท่ากับ 5% ส่วนกองทุนหลังลดลงถึง 10%

และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม อาการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ยูบีเอส วาณิชธนกิจใหญ่สัญชาติสวิส ต้องประกาศปิดเฮดจ์ฟันด์ในสังกัดที่ชื่อ Dillon Read Capital Management หลังจากการถือครองตราสารอันพัวพันกับตลาดซับไพรม์ ทำให้เกิดการขาดทุนไป 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยกัน

มันนี่ ชาเนล - วรนนท์ อัศวพิริยานนท์
โทรศัพท์ - 02- 229 - 2000 ต่อ 2616
อีเมล - [email protected]

http://www.moneychannel.co.th/BreakingN ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 4

โพสต์

หุ้นทั่วโลกยังทรุดตัวต่อ จากปัญหา subprime แต่หุ้นไทยปรับตัวน้อยที่สุด คาดแรงขายเหลือน้อยแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Friday, August 17, 2007

ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงดำดิ่งต่อเนื่อง จากปัญหาซับไพร์ม (subprime) ที่บานปลายออกไปสู่กองทุนรวม ที่มีการลงทุนในตราสารทางการเงินที่อ้างอิงสิทธิในสินเชื่อ subprime ต้องปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ตื่นตระหนก
โดยปิดตลาดเมื่อคืน ตลาดหุ้นสหรัฐ ต้นตอของปัญหา ก็ทรุดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์ โจนส์ (DOWN JONES) ปรับตัวลงอีกแต่ไม่มาก แค่ 15.69 จุด มาปิดที่ 12,845.78 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ก็ทรุดตัวลงเช่นกัน อย่างตลาดหุ้นไฟแนนเชียลไทมส์ (FTSE) ดัชนีดิ่งตัว 250 จุด หลุด 6,000 จุด ลงมาเหลือ 5,858.90 จุด

ส่วนตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ ก็ยังร่วงต่อเนื่อง โดยดัชนีนิคเคอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ยังคงทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 8 เดือนอีกครั้ง เมื่อดัชนีทรุดตัวลงไปอีก 886.40 จุด หรือ 5.8% โดยปิดตลาดส่งท้ายสปัดาห์ที่ 15,262.10 จุด

ส่วนดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปิดซื้อขายช่วงเช้า ปรับตัวลงอีก 688.80 จุด หรือ 3.3% ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ปิดซื้อขายภาคเช้า ทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 เดือน เมื่อโดนแรงขายกดดัชนี STRAITSTIME ทรุดตัวอีก 161 จุด หลุด 3,00 จุด ลงมาเหลือ 2,991.11 จุด

สำหรับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน อย่างตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ก็ไม่น้อยหน้า ปิดตลาดภาคเช้าปรับตัวลงอีกกว่า 2% พอ ๆ กับตลาดหุ้นมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะปิดครึ่งวัน ดัชนีอ่อนตัวลง 4.57 จุด หรือ 0.61% มายืนที่ 746.12 จุด จากมูลค่าการซื้อขาย 9,284 ล้านบาท โดยการซื้อขายภาคเช้า มีแรงซื้อหนาแน่นในหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มสถาบันการเงิน และเหล็ก นำโดย CCET-W1 SVI-W2 TSTH-W2 BAY-W1 กับหุ้นบลูชิพกลุ่ม PTT โดยเฉพาะ RRC กับ ATC และ SCC ซึ่งครึ่งวันที่ผ่านมา เป็นตัวเดียวที่ยืนแดนบวก โดยปิดที่ 236 บาท

และการอ่อนตัวของตลาดหุ้นไทยในอัตราต่ำที่เกิดในครึ่งวันนี้ ก็ทำให้นักวิเคราะห์หลายค่าย เริ่มมีมุมมองบวกต่อบรรยากาศการลงทุนมากขึ้น โดยชี้ว่า แรงขายทำกำไรของกองทุนต่างชาติอย่างที่เกิดตลอด 13 วันทำการ จนกดดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ปรับตัวลงกว่า 13% น่าจะเบาบางลงไปแล้ว ทำให้หากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา ตลาดก็น่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ (SIDEWAY) ได้แล้ว จึงทำให้ในช่วงสั้น ๆ อาจได้เห็นการรีบาวด์ตัวของดัชนีบ้าง

อย่างไรก็ตาม การที่วันนี้เป็นวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ จึงมีคำแนะนำให้นักลงทุนที่สามารถลงทุนระยะยาว ชะลอการลงทุน หรือหากจะซื้อ ก็ควรรอราคาอ่อนตัว เพื่อรอการ Short Covering ที่น่าจะเห็นในเดือนกันยายน

มันนี่ ชาเนล - วรนนท์ อัศวพิริยานนท์
โทรศัพท์ - 02- 229 - 2000 ต่อ 2616
อีเมล - [email protected]

http://www.moneychannel.co.th/BreakingN ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 5

โพสต์

Subprime อาจฉุดเศรษฐกิจมาเลเซีย ข่าว 18.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Friday, August 17, 2007
นักวิเคราะห์จากอาเซียม แบงเกอร์ รีเสิร์ช ซูไฮมี อิลเลียส บอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงแล้ว จากปัญหา Subprime ที่เกิดขึ้น และกำลังลุกลามไปทั่วโลก และปัญหาดังกล่าวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียให้ชะลอตัวลงในปีนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่เพียงรายเดียวของมาเลเซีย ที่นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากมาเลเซียจำนวนมาก

ข้อมูลจากทางการมาเลเซียระบุว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมมาเลเซียในเดือนมิถุนายน ชะลอตัวลงเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% จากปีก่อน หลังจากที่ยอดส่งออกได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 1.1%

ทั้งนี้ ทางการมาเลเซียได้คาดการณ์ตัวเลข GDP ในปีนี้ว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ที่มีการขยายตัวอยู่ที่ 5.9%

นายจอห์น ซัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง บอกว่า ขณะนี้รัฐบาลฮ่องกงและสถาบันการเงินกำลังจับตาปัญหาตลาดสินเชื่อปล่อยกู้จำนองแก่ลูกค้าด้อยคุณภาพ (Subprime Loan Mortgage) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารในฮ่องกง เนื่องจากระบบการเงินของฮ่องกงมีศักยภาพพอที่จะรับมือกับความผันผวนได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารในฮ่องกงยังคงดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและเรียบร้อย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงก็ยังทรงตัว

ส่วนการปรับลดลงของตลาดหุ้น ถึง 703 จุด หรือ 3.29% ปิดที่ 20,672 จุดนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้านจากภายนอก ซึ่งรวมถึงสภาวะตลาดโลกและปัญหา Subprime ในสหรัฐฯ ดังนั้นจึงอยากเตือนให้นักลงทุนรับมือกับสภาพตลาด และควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจทวีความรุนแรงด้วย
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 6

โพสต์

"มูดี้ส์" ชี้วิกฤติสินเชื่อรุนแรงเทียบปี 41 หากเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ล้ม

โดย ผู้จัดการออนไลน์
17 สิงหาคม 2550 12:22 น.
 
 มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ฯ ชี้วิกฤติสินเชื่อที่ลุกลามทั่วโลก มีแนวโน้มรุนแรงเหมือนปี 2541 หากนักลงทุนเทขายหุ้น และแห่ขายคืนหน่วยลงทุน เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ก็จะสู่สภาวะล้มละลายสูงกว่า 50% ภายในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับกองทุน LTCM
     
      วันนี้(17 ส.ค.) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า วิกฤตการณ์สินเชื่อที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาจส่งผลให้เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ล้มละลาย ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงจะทำให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤติรุนแรง
     
      นายคริส มาโฮนีย์ รองประธานมูดีส์ฯ กล่าวในที่ประชุมที่จัดขึ้นร่วมกับนักลงทุนในกรุงนิวยอร์ก โดยระบุว่า หากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นและถอนการลงทุนออกจากตลาด กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ที่ไม่มีทางออกก็จะประสบปัญหา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดตกอยู่ในภาวะผันผวนอย่างรุนแรง เหมือนกับกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 เมื่อกองทุน Long TermCapital Management (LTCM) ที่ระดมกู้เงินจำนวนมากจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง แต่ไม่สามารถประคองสถานะตนเองไว้ได้ และล้มละลายในที่สุด
     
      "เฮดจ์ฟันด์ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงอยู่ในขณะนี้อาจจะเข้าขั้นล้มละลายในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า"
นายมาโฮนีย์กล่าว
     
      นายมาโฮนีย์กล่าวว่า เฮดจ์ฟันด์หลายแห่งที่ล้มละลายเมื่อหลายปีที่แล้วนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดการเงิน แต่สภาพคล่องที่ไหลออกจากตลาดมากขึ้นในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั้งระบบ พร้อมกับประเมินว่ามีความเป็นไปได้ถึง 50% ที่การล้มละลายของเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตกาณ์แบบเดียวกับเมื่อครั้งที่กองทุน LTCM ล่มสลาย
http://www.manager.co.th/StockMarket/Vi ... 0000096688
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ธนาคารกลางญี่ปุ่น เตรียมฉีดเงินระลอก 3 เข้าระบบอีก 1.2 ล้านเยน

โดย ผู้จัดการออนไลน์
17 สิงหาคม 2550 11:26 น.

      ธนาคารกลางญี่ปุ่น เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินอีก 1.2 ล้านล้านเยน หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกยังวิตกมาตรการคุมวิกฤติซับไพรม์ยังไม่ได้ผล      
      วันนี้(17 ส.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศวันนี้ว่า จะอัดฉีดเงินฉุกเฉินเข้าสู่ระบบการเงินในประเทศอีก 1.2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 367,500 ล้านบาท เนื่องจากวิตกว่าปัญหาสภาพคล่องอาจจะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่
     
      ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะอัดฉีดเงินเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาดการเงินเป็นวันที่สองติดต่อกันในวันนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกันของบรรดาธนาคารกลางหลัก ๆ ทั่วโลก เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลว่าปัญหาเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ของสหรัฐจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่นได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคาร 400,000 ล้านเยน เพื่อพยายามสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
     
      โดยในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเปิดตลาดวันนี้ร่วงลงไปร้อยละ 0.70 โดยดัชนีนิกเกอิลดลงไป 113.11 จุด ไปอยู่ที่ 16,035.38 จุด ในช่วงเปิดตลาด ซึ่งตลาดหุ้นโตเกียวนี้ได้รับผลกระทบจากตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐที่ผันผวนร่วงต่ำลงก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมาปิดต่ำกว่าวันก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดหุ้นลอนดอนร่วงลงไปกว่าร้อยละ 4
http://www.manager.co.th/StockMarket/Vi ... 0000096642
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 8

โพสต์

โลกเทเงินยกใหม่

โพสต์ทูเดย์ ธนาคารกลางทั่วโลกปล่อยเงินอัดฉีดเข้าอุ้มตลาดอย่างต่อเนื่อง สู้วิกฤตซับไพรม์ระลอกใหม่

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดเงินเข้าพยุงตลาด 2 ครั้งรวด เมื่อวันที่ 16 ส.ค. คิดเป็นมูลค่ารวม 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคลายความกังวลของนักลงทุน ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงถึง 130 จุด คิดเป็น 1.02% มาอยู่ที่ 12,730.51 จุด ในชั่วโมงแรกเมื่อเปิดตลาดของวันที่ 16 ส.ค. ตามเวลาในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดกระแสการคาดการณ์กันทั่วไปว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะประกาศลดดอกเบี้ยลงอีกด้วย ซึ่งอาจจะประกาศเร็วที่สุดในราวเดือน ก.ย.

ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ได้ตัดสินใจอัดฉีดเงินกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งถอนออกไป 2 วันติดต่อกัน โดยในครั้งนี้ได้ประกาศอัดเข้าตลาดอีก 4 แสนล้านเยน หรือราว 1.1 แสนล้านบาท เนื่องจากไร้วี่แววว่าตลาดจะกระเตื้องขึ้น
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ทั่วเอเชียต่างปิดตลาดติดลบกันถ้วนหน้า เริ่มจากดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นดิ่งลงถึง 327.12 จุด ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงติดลบ 703.33 จุด และดัชนีสเตรตไทมส์ของสิงคโปร์ลดลง 121.09 จุด
คาซุฮิโร ทากาฮาชิ นักวิเคราะห์จากไดวา ซีเคียวริตีส์ เอสเอ็มบีซี กล่าวว่า นักลงทุนไม่ได้กังวลถึงวิกฤตสินเชื่อในญี่ปุ่น แต่กำลังกังวลว่าทุนนอกอาจยกขบวนออกจากตลาดมากกว่า

ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียระดมเงินเข้าตลาดเป็นครั้งที่ 2 อีก 3.04 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 9.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับตลาดหุ้นไทย มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหายไปแล้ว 1.01 ล้านล้านบาท เหลือ 5.80 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ดัชนีลดลง 144.50 จุด นับจากจุดสูงสุดรอบนี้ที่ 884.16 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยลงมารอบนี้ ส่งผลให้สัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ลดลงเหลือ 10.78 เท่า และช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสในการซื้อกองทุนหุ้น
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์อ่อนค่าลงอยู่ที่ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว
http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=news&id=185480
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ดัชนีทรุดฉุดตลาดหุ้นพัง1ล้านล้านบาทละลายหาย [ ฉบับที่ 820 ประจำวันที่ 18-8-2007 ถึง 21-8-2007]  
> ฝรั่งเทกระจาดหนีออกนอกทุบค่าบาทน่วม

ซับไพรม์ รอบ 2 กดตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว ดาวโจนส์หลุด 13,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอ่วมถ้วนหน้าทั้ง นิเกอิ-โซลคอมโพสิต ด้านตลาดหุ้นไทยไม่น้อย หน้า วันเดียวร่วงกว่า 30 จุด เผยในรอบกว่าครึ่งเดือนดัชนีรูดกว่า 155 จุด มูลค่าตลาดรวมหายวับกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านรองนายกฯ ปลอบนักลงทุนต้องทำใจ

ขณะที่ก้องเกียรติ เชื่อภายใน 2-3 สัปดาห์ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว หลังปัญหาซับไพร์มสหรัฐฯคลี่คลาย ด้านกูรูหุ้นระบุสัปดาห์นี้มีรีบาวด์สั้นๆ ขยับใกล้ 800 จุดอีกครั้ง จากผลการลงมติที่คาดว่าจะผ่านไปด้วยดี แนะซื้อหุ้นพื้นฐานดี

> ตลาดหุ้นไทยร่วงไม่หยุด

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเช้าวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ทันทีที่เปิดตลาดการซื้อขายปรับลงทันที 17 จุด และปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 741.64 จุด ลดลง 32.28 จุด หรือลดลงร้อยละ 4.17 (ช่วงเวลาก่อน 11.00 น.) หลุดแนวรับที่ 750 จุดลงมา มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น โดยในชั่วโมงแรกกว่า 7,000 ล้านบาท มีแรงขายออกมาในหุ้นทั่วกระดาน โดยเฉพาะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดรวมขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และสื่อสาร เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลปัญหาเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ประกอบกับตื่นตระหนกการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ลดลง 167 จุด เพราะนักลงทุนยังวิตกปัญหาดังกล่าว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดเพิ่มอีกกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งแต่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟดอัดฉีดเงินไปแล้ว 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐซัพไพร์ม

> รอบ2กระหน่ำทั่วโลก

ทั้งนี้ปัญหาวิกฤต ซับไพร์ม ของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในภาวะ Global Sell Off โดยเฉพาะตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียต่างปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า โดยดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่น (NIKEI) ลดลง 538.62 จุด ลดลง หรือร้อยละ 3.27 ดัชนีฮั่งเส็ง (H'SENG) ลดลง 696 จุด หรือ ร้อยละ 3.2 และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ลดลง 122.89 จุด หรือร้อยละ 6.77 ดัชนีเซี่ยงไฮ้ของจีน (SN'HAI) 99.44 จุด หรือ ร้อยละ 2.04 นอกจากนี้ยังกังวลต่อการเทขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มขายทำกำไรต่อไป

ด้านตลาดหุ้นในยุโรปก็ขายออกต่อเนื่องเหมือนกันแต่ไม่รุนแรงมากเพราะมีการเข้าหุ้นในกลุ่มปิโตรเลียม, เภสัชกรรม และเหมืองแร่ ทำให้ดึงดัชนีไว้ไม่ให้ติดลบลึก เท่าไหร่ และในตลาดหุ้นเยอรมัน ที่แฟรงเฟริต เข้าซื้อหุ้นบลูธิพที่ผลประกอบการดี ทำให้ปิดดัชนีเป็นบวกโดยดัชนี FISE100 ปิดที่ 6109.30 ลดลง34.20 คิดเป็น 0.56% ดัชนี DAX ปิดที่ 7445.90 เพิ่มขึ้น 20.83 หรือ 0.28% และดัชนี CAC40 ปิดที่ 5442.72ลดลง 35.94 หรือ0.66%

> ลือบริษัทไฟแนนซ์ดังส่อแววล้ม

ส่วนที่ตลาดหุ้นวอลสตรีทเมื่อคืนวันที่ 15 สค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เปิดตลาดไปจนถึงครึ่งวันทำการดัชนีดาวน์โจน ทรงตัว ได้เห้นตัวเลขบวก2 จุดและลงไปในแดนลบเล็กน้อย ด้วยข่าวดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีดัชนี + 0.1% และอัตราผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมของเดือนที่แล้วก็เพิ่มขึ้นเกินคาดเนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์อ่อนตัวทำให้ดัชนีทรงๆตัวจนกระทั่งปิดที่พอเข้าช่วงท้ายของการซื้อขาย เมอร์ลินลินซ์ ออกมาประกาศลดอันดับความเชื่อถือของบริษัท คันทรีไวด์ ไฟแนนซ์เชี่ยล บริษัทที่ให้กู้และจำนองบ้านและที่อยู่อาศัยของอเมริกา โดยลดอันดับไปอยู่ที่ให้ขาย ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นตกใจพากันขายหุ้นของ คันทรีไวด์ฯ จนหุ้นราคาตก 13% จนปิดตลาดและคันทรีไวด์ฯ ไม่มีโอกาสออกมาแถลงข้อมูล จนทำให้เกิดข่าวลือว่าบริษัทอาจล้มละลาย ทำให้ตลาดหุ้นในวอลสตรีท ปิดตัวลดลงโดย ดัชนี DOW ปิดที่ 12861.47 ลดลง 167.45 หรือคิดเป็น 1.29% ND สตรีท ปิดตัวลดลงโดย ดัชนี ND ปิดที่ 2458.83 ลดลง 40.29 หรือคิดเป็น 1.61% และ S&P ปิดที่ 1406.70 ลดลง 19.84 หรือคิดเป็น 1.39% และเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 ส.ค. ในตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียปรับตัวลดลงตามไปด้วย จากข่าวธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของญี่ปุ่น คือ ธนาคารมิตซูบิชิ ( Mitshubishi UFJ) และธนาคร ซูมิโตโม (SUMITOMO) ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขขาดทุนในหน่วยลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพร์มในสหรัฐฯ แม้มีสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกรรมทั้งหมดของธนาคารก็ยังไม่สามารถหยุดการขายหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินได้ นักลงทุนยังคงขายออกท่ากลางค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเซียปรับตัวลดลงแรง

โดยเฉพาะดัชนีโซลคอมโพสิตในเกาหลีปรับตัวลดลงกว่า 6% เมื่อช่วงเช้า และถึงกับทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีสั่งปิดตลาดชั่วคราว

> หุ้นรูดกว่า155 จุดพัง1.11ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎคมที่ผ่านมาที่ระดับ 895.63 จุด ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคปที่ระดับ 6.82 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 740.33 จุด ณ ช่วงเช้าของวันที่ 16 สิงหาคมที่ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ลดลงไปถึง 155.30 จุด มูลค่าตลาดรวม 5.97 ล้านล้านบาท ทำให้มูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคปหายไปทันที่กว่า 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15%นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าว ยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปแตะที่บริเวณ 34.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งเม็ดเงินที่นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัวออกไปจากตลาดหุ้นในบ้านเรา

ทั้งนี้บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.90 - 34.20 ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า อาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.90 - 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยที่ควรจับตาคือ การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ แรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้นำเข้าและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนสัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของ โบรกฯหวั่นต่างชาติยังไม่หยุดเทขาย

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ และกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น และยังปรับตัวลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจะหยุดลงเมื่อไหร่ จากที่เคยประเมินว่ารอบนี้จะเทขายประมาณ 50,000 ล้านบาท อาจจะมีการขายทำกำไรออกมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งต่างชาติเทขายออกมาแล้ว 33,000 ล้านบาท โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

> ต่างชาติลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี หรือปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ดังนั้น มีการวิเคราะห์ว่าถึงจุดที่มีการปรับฐาน และความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวจากปัญหาซับไพร์ม

> ก้องเกียรติเชื่อ 2-3 สัปดาห์ตลาดหุ้นฟื้นตัว

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) (ASP) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศ หันมาถือครองเงินสดแทน เพื่อประเมินความเสี่ยงอีกครั้ง โดยเชื่อว่าความตื่นตระหนกเกี่ยวกับปัญหาตลาดซับไพร์มจะมีความชัดเจนและตลาดหุ้นน่าจะฟื้นตัวภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมาก เป็นการตอบสนองต่อข่าวร้ายที่เกิดขึ้นและมีความเป็นไปได้ว่าหากตลาดหุ้นปรับตัวลงอรก อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่อนปรนนโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

> เซียนหุ้นชี้กลยุทธ์ อยู่ที่วิจารณญาณ

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล .เคทีบี กล่าวผ่านสยามธูรกิจว่า การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของดัชนีหุ้นใน SET ชัดเจนว่ามีผลมาจากกรณีของซัพไพร์ม ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และเป็นผลกระทบที่ลุกลามไปทั่วโลก ไม่ใช่เกิดเฉพาะในตลาดหุ้น SET เพียงแห่งเดียว ประเด็นนี้แม้แต่ในญี่ปุ่นเองยังมีความวิตกกังวล ยังคงต้องมองหาเงินทุนสำรองฉุกเฉินไว้สำหรับกรณีดังกล่าว

สำหรับภาวะดัชนีของ SET ที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องนั้นมาจากการขายออกของนักลงทุนต่างชาติ ที่ก็ปรากฏอยู่แทบจะทุกตลาดทั่วเอเชีย แต่หากมองลึกลงไปในปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นแล้ว ภาพของตลาดหุ้นเองปจจัยไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ผลกระทบจากซัพไพร์มนั้นเข้ามากระทบ เมื่อปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน ก็ต้องมามองปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นว่าจะมีเวลายาวนานเพียงใด ซึ่งส่วนนนี้ยังตอบยาก

สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้ ก็เป็นไปได้สองกรณี 1.คือการมองภาพของปัจจัยการลงทุนใน SET ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงแปลงกลับเข้าซื้อ แต่นั้นหมายถึงจะต้องยอมแบกรับความเสี่ยง เพราะปัญหาซับไพร์มเวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะยาวนานเพียงใด 2.คือการรอดูภาพปัญหาของซับไพร์มและรอให้นิ่งก่อน จึงค่อยกลับเข้าลงทุน อันนี้คงอยู่ที่วิจารณญาณของนักลงทุนแต่ละคน ว่าจะมองภาพปัญหาซับไพร์มอย่างไร จะมองวิกฤติเป็นอากาสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละราย และขึ้นอยู่กับการยอมที่จะแบกรับความเสี่ยง

> บล.กิมเอ็ง แนะช้อนซื้อ

นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) กล่าว กับสยามธุรกิจ ว่า ภาพรวมของ SET คิดว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นไปทั่วทั้งภูมิภาค กลยุทธ์ในเวลานี้น่าจะเริ่มทะยอยซื้อ โดยเฉพาะใน SET ที่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีอากสเติบโตได้ดี ที่สำคัญมองว่า SETจะดีรับผลกระทบจากซับไพร์มไม่มาก อีกประเด็นหนึ่งคือการมองภาพตลาดหุ้นในเอเชียที่อาจจะมีมุมมองที่ไม่อิงกับภาพของซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอเมริกา เพราะหากมองภาพของซับไพร์มแล้วจะมีผลแต่เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น หากหลายๆ ประเทศมองถึงการไม่อิงอเมริกา ก็จะน่าที่ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะปัจจัยความน่าลงทุนในตลาดเอเชียหลายๆ ตลาดยังบมีความน่าสนใจอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของราคา และอาจจะเป็นช่องให้เกิดการกลับเข้าลงทุนได้อีกครั้ง

ขณะที่คาดการณืตลอดทั้งเดือนสิงหาคม เชื่อว่า น่าจะมีการรีบาวน์ของดัชนี และขยับกลับไปได้ถึง 800 จุด หลังจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเรื่องของซับไพร์ม และหันกลับมามองพื้นฐานที่แท้จริงของตลาหุ้นในภูมิภาค ขณะที่ SET เองดัชนีขยับลงมา ความน่าสนใจของหุ้นบลูชิพในแง่ของราคา ก็จะเป็นตัวดึงดูดได้เป็นอย่างดี คำแนนำในเวลานี้ คิดว่าน่าจะมองพื้นฐานและทะยอยเข้าซื้อ

> เชื่อประชามติส่งผลลุ้นรีบาวด์ระยะสั้น

ด้านนางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยกับ สยามธกุรกิจ ว่า ภาพรวมของ SET เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว แนะนำให้นักลงทุนทะยอยขายทำกำไรมาก่อนหน้าที่จะเกิดผลกระทบจากซับไพร์ม ในช่วงเวลานี้ยังไม่ได้แนะนำให้ซื้อ อยู่ในช่วงที่จะต้องตั้งรับเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากปัญหาซับไพร์มยังสร้างความกังวลต่อเนื่องให้กับนักลงทุน

ส่วนถ้าจะมองภาพของรีบาวน์ คงจะมีในช่วงระยะสั้นๆ อยู่ในกรอบ 750-760 จุด ส่วนสัปดาห์หน้ามองภาพปัจจัยบวกที่เป็นเรื่องในประเทศ ในส่วนของการลงประชามติ ซึ่งหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 50 % และผ่านร่างรธน.ปี 2550 ได้ ก็จะเป็นตัวกระตุ้นทางจิตวิทยาของนักลงทุน คาดการณ์ดัชนีไว้ที่กรอบ 760-770 จุด

แต่หากมีการรับร่างแต่มีผู้มาใช้วิทธิ์น้อยกว่า 50 % การรีบาวน์กลับน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่มาก แต่หากโนโหวต กรอบดัชนีที่ประเมินไว้น่าจะอยู่ที่ 725 จุด คำแนะนำในสัปดาห์หน้า หุ้นใหญ่ๆ มีราคาที่เริ่มปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ให้ปรับกลยุทธ์เข้าลงทุนในระยะสั้นๆ เพื่อทำกำไร สรุปภาพกรอบดัชนีสัปดาห์หน้าน่าจะอยู่ที่ 735 -730 จุด

> โฆษิต ปลอบใจแมงเม่าแนะนำต้องทำใจ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะไม่มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเชิญชวนหรือจูงใจให้กนักลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม และขอแนะนำนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยให้ใจเย็นและรู้จักปรับตัวในการทำความเข้าใจกับความเสี่ยงและความผันผวนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาท นายโฆสิต กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาท หลังจากมีการปรับตัวอ่อนลงในระยะนี้ ว่า รัฐบาลยอมรับว่ายังไม่สามารถหาความพอดีของปัญหาค่าบาทได้ หลังจากที่หลายฝ่ายกังวลปัญหาค่าบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เพราะกังวลว่าอาจมีผลกระทบกับบางธุรกิจ สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายโฆสิต กล่าวว่า เกิดจากความผันผวนที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งอาจผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง

> แบงก์ชาติตีมึตัวเลขแบงค์ไทยเจ๊งซับไพร์มต่อ

ด้านความเคลื่อนไหวจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สยามธุรกิจ ได้พยายามสอบถามถึงมูลค่าความเสียหายเกี่ยวกับการที่ธนาคารพาณิชย์ และกองทุนในประเทศไทย นำเงินตราไปลงทุนในสหรัฐฯ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบและคำชี้แจงใดๆ โดยมูลค่าที่มีการคาดการณ์กันนั้นอาจจะสูงถึง 200,000 ล้านบาท

ล่าสุดผู้บริหาร ธปท.ยังไม่ยอมออกมาเปิดเผยถึง มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงจากกรณีซับไพร์ม ในส่วนของธนาคาระพาณิชย์ ของไทย ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคาร ที่ปรับตัวลดลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายดังกล่าว

> นักลงทุนสวดยับธปท.อมข้อมูลซับไพร์ม

ด้านความเห็นจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ออกมาโจมตีการทำงานของธปท.เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาค่าเงิน และการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกรณีซับไพร์มของธปท.ว่า ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม แต่ทางผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาให้ข่าวเพียงเฉพาะในส่วนของภาพรวมไม่มีการประเมินภาพของซับไพร์มในเชิงตัวเลขที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้น

ส่วนตัวมองว่าธปท.เองยังมีปัญหาในเรื่องของการให้ข้อมลที่จะต้องจำกัด อยู่แต่ในในเฉพาะของบุคคล ซึ่งจะต้องรอให้มีการตัดสินใจตามขั้นตอนของระบบราชการหลายขั้นตอน และไม่ทันต่อสถานการณ์การปรับตัวของค่าเงินและข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจแหล่งข่าวกล่าว

> จวกวิธีการแบบ หอคอยงาช้าง ทำงานห่วย

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้สนช.เองก็เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธปท.เกี่ยวกับข้อมูลและการตัดสินในส่วนของการแก้ปัญหาค่าเงินบาทมาแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้ข้อมูลที่ล่าช้าของธปท.ที่ก็ยังคงทำงานกันแบบหอคอยงาช้าง ที่มัวแต่เงื้อง่าอยู่กับว่าใครจะเป็นคนตอบ

ก่อนหน้านี้สื่อฯ เองเคยคาดการณ์ตัวเลขความเสียหายของธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ว่าอาจจะสูงถึง 200,000 ล้านบาท แต่ไม่มีคำตอบยืนยันกลับมาจากธปท.ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นไรซึ่งหากตัวเลขที่ปรากฏขึ้นมีมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านบาท ผลที่เสียหายจะมากกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ในปี 2540

หลายต่อหลายครั้งที่นักลงทุนพยายามที่จะขอข้อมูลจากธปท.ก็จะได้รับคำตอบเพียงว่า จะต้องให้ผู้บริหารเท่านั้นที่ชี้แจง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะติดประชุมหรือตัดสินใจไม่ได้แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ สยามธุรกิจ ที่พยายามสอบถามข้อมูลต่างๆ ทั้งค่าเงินบาท และการประเมินความเสียหายจากกรณีซับไพร์ม ไปยังผู้บริหารระดับสูงของธปท. ก็จะได้รับคำตอบให้ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนและหลักการของระบบราชการ อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน กว่าที่จะได้รับคำตอบ แต่ในขณะที่ความผันผวนของค่าเงินและดัชนีในตลาดสำคัญๆ ของโลกนั้นปรับตัวกันเป็นวินาที
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... 12DDS45231
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news17/08/07

โพสต์ที่ 10

โพสต์

พิษ ซับไพร์ม ทุบหุ้นทั่วโลก สมาคม บลจ.ปลอบ แมลงเม่าลุยเก็บของดีราคาถูก [17 ส.ค. 50 - 04:09]

พิษ ซับไพร์ม ยังคงสร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดหุ้นเอเชีย และหุ้นทั่วโลกอย่างหนัก วานนี้ (16 ส.ค.) ทั้งนี้ นับแต่เปิดทำการในช่วงเช้า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ร่วงลงอย่างหนัก กระทั่งลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ระดับ 739.66 จุด ลดลง 34.16 จุด หรือลดลงถึง 4.09% ก่อนจะปรับขึ้นมาปิดตลาดที่ระดับ 750.69 จุด ลดลง 23.23 จุด หรือลดลง 3% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 22,966.29 ล้านบาท จากแรงกระหน่ำขายของนักลงทุนต่างชาติ

เช่นเดียวกับตลาดสำคัญๆในย่านเดียวกัน โดยมีดัชนีคัมโพสิตของเกาหลีใต้เป็นตัวนำ หลังจากที่หุ้นบลูชิพอย่างซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี มีผลให้ดัชนีดิ่งร่วงลง 125.91 จุด หรือ 6.93% และร่วงลง 16% นับแต่แตะระดับสูงสุดที่ 2,015.48 จุดเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

นายชู ฮี-เยียป รองผู้จัดการทั่วไป บริษัทโคเรีย อินเวสท์เมนท์ แอนด์ ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า ตลาดหุ้นโลกกำลังร่วงลงเหมือนโดมิโน และตลาดต่างๆมีแนวโน้มที่จะปรับตัวมากเกินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่การเทขายวันเดียวกันนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความตื่นตระหนกในตลาด และความไม่แน่นอนของซับไพร์มที่ยังคงจะอยู่ต่อไปอีกระยะ โดยที่เชื่อว่า ดัชนีหุ้นจะยังไม่มีการทะยานขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นผู้เทขายอย่างหนัก

ด้านตลาดหุ้นเวทเต็ดของไต้หวัน ปิดดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เมื่อหุ้นกลุ่มส่งออกเทคโนโลยีเป็นตัวนำ โดยปิดตลาดที่ 8,201.37 จุด ดิ่งลง 391.67 จุด หรือ 4.56% ขณะที่ตลาดหุ้นนิเคอิ ทรุดลงต่ำกว่าระดับ 16,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยลดลงไปมากถึง 616 จุด หรือ 3.74% ก่อนจะดีดกลับไปปิดที่ระดับ 16,148.49 จุด ลดลง 327.12 จุด หรือลดลง 1.99% ส่วนตลาดหุ้นฮั่งเส็งของฮ่องกง ร่วงลง 703.33 จุด หรือ 3.29% สู่ระดับ 20,672.39 จุด เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลียที่ล้วนแต่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถ้วนหน้า

เงินไปเที่ยว เดี๋ยวก็มา

เทรดเดอร์ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ระบุว่า แม้ดัชนีหุ้นจะยังดิ่งลงอีกครั้ง แต่มาตรการควบคุมเงินทุนก็ช่วยคุ้มกันตลาดหุ้นจีนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากตลาดอื่นๆทั่วโลก และมีแนวโน้มว่า หุ้นจีนจะทะยานขึ้นสู่สถิติสูงสุดอีกครั้งเร็วๆนี้ ตลาดจีนจะไม่ได้รับความเสียหายมากเกินไป และอาจจะดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาได้มากยิ่งขึ้นในช่วงที่ตลาดโลกอ่อนแอ

ส่วนนายวิจิตร สุพินิจ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.ซึ่งเดินทางไปรับประทานอาหารเที่ยง และหารือในปัญหาซับไพร์มที่ส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นไทยกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน วันเดียวกัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขายังมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาวะช่วงสั้นที่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

เมื่อมีการขายหุ้น และเงินไหลออกจนถึงจุดหนึ่ง เงินทุนเหล่านี้ก็จะย้อนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีก เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่ดีเพราะใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งแล้ว

ขณะที่นางภัทรียากล่าวว่า นักลงทุนทั่วโลก ยังคงกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯทำให้ตื่นตระหนกและเทขายหุ้นออกมา ซึ่งก็เป็นทั้งภูมิภาค แต่ตลาดจะยังไม่มีมาตรการอะไรออกมากำกับดูแล แม้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ได้ให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เร่งทำความเข้าใจกับนักลงทุนให้ถูกต้องว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับลดลงนั้น นักลงทุนควรจะจัดการกับพอร์ตการลงทุนของตนอย่างไรบ้าง

สมาคม บลจ.ออกแถลงการณ์

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ออกแถลงการณ์วันเดียวกัน ยืนยันว่า สาเหตุที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างมากในช่วงนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย แต่เกิดจากกองทุนต่างประเทศโดยเฉพาะพวกเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ที่ลงทุนไปทั่วโลก รวมถึงลงทุนในเอเชียและไทย ประสบปัญหาสภาพคล่อง เพราะมีลูกค้าไถ่ถอนกองทุนออกไป ซึ่งมาจากปัญหาสินทรัพย์บางส่วนที่กองทุนเหล่านี้ไปลงทุนในซีดีโอ และซับไพร์มในสหรัฐฯ

เมื่อเฮดจ์ฟันด์จำเป็นต้องหาเงินสดไปคืนผู้ลงทุน ก็ต้องขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ดังนั้น หุ้นในไทยและเอเชียที่เฮดจ์ฟันด์ เหล่านี้ลงทุน ก็เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ขายออกได้ง่าย จึงจำเป็นต้องขายออกเพราะต้องการเงินสด แถลงการณ์ยืนยันว่า กองทุนรวมของไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศ หรือของตัวหุ้นนั้นๆแต่ประการใด เพียงได้รับผลกระทบจากการที่หุ้นถูกต่างชาติขายออกไป ทำให้ราคาปิดของหุ้นลดลง กระทบต่อราคาของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ต่อหน่วยของกองทุน โดยที่คุณค่าที่แท้จริงของหุ้นดีๆเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยน เมื่อคุณค่าหุ้นดีๆไม่ได้เปลี่ยน แต่ราคาตลาดลดลง แปลว่าหุ้นดีๆเหล่านั้นมีราคาถูกลงแล้ว

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ในวิกฤติทุกครั้งย่อมมีโอกาส เมื่อพื้นฐานประเทศยังแข็งแรงดี เหมาะกับการลงทุนระยะยาว ช่วงนี้จึงเป็นอีกจังหวะหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลายกลุ่มจะใช้ โอกาสนี้ในการเลือกสะสมหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูกที่ต่างชาติจำต้องขายออกไป หรือเข้าซื้อกองทุนหุ้นในประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกอื่นสนับสนุนคือ เรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่าผลประชามติรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นเช่นไร

ผู้ที่มีสติพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบจะเห็นโอกาส และสามารถใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้เร็วขึ้นและดีกว่าผู้อื่น

หมอบุญ ขน 100 ล้านลุยหุ้น

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงแรงในรอบนี้ถือเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการเข้าไปลงทุน โดยตนเตรียมเงินที่จะเข้าไปซื้อหุ้นรอบนี้ 100-200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์

รอบนี้ตลาดหุ้นลงเร็วมาก จึงขอเวลาตั้งหลักก่อน เพื่อเตรียมรอเข้าซื้อในช่วง 1-2 วันนี้ โดยจะค่อยๆทยอยซื้อ ผมดูบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หลายค่าย โดยเฉพาะจากต่างประเทศมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุน

นายแพทย์บุญยังกล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ต้องติดตามปัญหาซับไพร์ม ของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศว่ามีทิศทางเป็นเช่นใด เพราะเป็นประเด็นหลักที่กดดันการลงทุน โดยประเมินว่าหากการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และมีการรับร่างรัฐธรรมนูญ ดัชนีหุ้นไทยน่าจะค่อยๆปรับขึ้นจนทะลุ 800 จุดได้

มาร์เก็ตแคปวอด 1 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาซับไพร์มสหรัฐฯที่เป็นตัวถ่วงให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดิ่งลงอย่างรุนแรงนั้นพบว่า เฉพาะตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวันที่ ดัชนีหุ้นยืนอยู่บนจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ระดับ 884 จุดนั้น ปรากฏว่า ข่าวเรื่องซับไพร์มได้กดดันให้ดัชนีหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงล่าสุดในวันที่ 16 ส.ค. รวมเวลาเพียง 13 วันทำการ ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปแล้วถึง 144.50 จุด หรือลดลง 16.34% กดมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) สูญไปกว่า 1 ล้านล้านบาท จากวันที่ 26 ก.ค. มูลค่ามาร์เก็ตแคปที่ 6.81 ล้านล้านบาท ล่าสุดเหลืออยู่ที่ 5.80 ล้านล้านบาท ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิรวมทั้งสิ้น 37,919 ล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่าสถานการณ์ที่กองทุนทั่วโลกจะเทขายหุ้นออกเพื่อคืนเงินให้แก่ผู้ถือหน่วยจะชัด และสงบลงได้ ก็อาจต้องใช้เวลานานถึง 2-3 เดือน ในขณะที่นักวิเคราะห์ของเมอร์ริลลินช์แจ้งว่า คันทรี่ ไฟแนนเชี่ยลคอร์ป ผู้ให้บริการสินเชื่อบ้านรายใหญ่ของสหรัฐฯมีความเสี่ยงต่อการล้มละลายอีก หากการขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้อ้างอิงฯ ทำให้บริษัทไม่สามารถเพิ่มทุนจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ได้

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย นักลงทุนต่างชาติก็จะหวนกลับมาลงทุนในประเทศไทยอีก ซึ่งมีบทเรียนจากอดีตแล้วว่า เวลามีเงินไหลเข้าก็ไหลเข้าอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน เวลาไหลออกก็ไหลออกเร็ว จึงต้องควบคุมให้ดี.
thairath
http://www.thairath.co.th/news.php?sect ... tent=57763
choochart
Verified User
โพสต์: 124
ผู้ติดตาม: 0

ทำไม Subprime ทำให้สภาพคล่องลด

โพสต์ที่ 11

โพสต์

คนกู้ ไม่มีเงินจ่ายค่าผ่อน
แบงค์ก็ต้องลดการปล่อยกู้  ไม่กล้าให้กู้
สภาพคล่องน่าจะเพิ่ม  เพราะไม่กล้าปล่อยกู้

แล้วทำไมสภาพคล่องมันน้อย จน FED ต้องลดดอกเบี้ย
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news18/08/07

โพสต์ที่ 12

โพสต์

รัฐผวาศก.เผาจริง!
ฉลองภพเตือนรับมือวิกฤตซับไพรม์ทำคนไทยลำบาก


โพสต์ทูเดย์ ฉลองภพ เตือน คนไทยรับมือเศรษฐกิจทรุด จากวิกฤตซับไพรม์

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า ต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดจากวิกฤตซับไพรม์ เช่น การบริโภคในประเทศจะหดตัวลงจากการที่ตลาดหุ้นตกต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกก็จะชะลอตัวจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีปัญหา ก็จะทำให้ความต้องการบริโภคลดลง

นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนที่ จะเกิดขึ้นหากตลาดหุ้นดีดกลับ เพราะเมื่อดัชนีหุ้นไทยลดลงมากจนถึงระดับที่ นักลงทุนเห็นว่าราคาหุ้นไทยราคาถูก ก็อาจจะเกิดภาวะเงินไหลบ่ากลับเข้ามาช้อนหุ้น จนเงินไหลเข้ามาท่วมตลาดอีก

ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมที่จะดูแลไม่ให้ผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน โดยต้องเตรียมแผนรองรับไว้ในกรณีที่เงินทุนซึ่งไหลออกไปในขณะนี้ อาจจะกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ นายฉลองภพ กล่าว

ทางด้านนายคริส มาโฮนีย์ รองประธานสถาบันจัดอันดับความน่า เชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ก็ได้เตือนว่า วิกฤตการณ์สินเชื่อที่เกิดขึ้น ทั่วโลกอาจส่งผลให้กองทุนเก็งกำไร หรือเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ล้มละลายในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า

เมื่อวันนั้นมาถึงจะทำให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤตรุนแรงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 เมื่อกองทุน Long TermCapital Management (LTCM) ที่ระดมกู้เงินจำนวนมากจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง แต่ไม่สามารถประคองสถานะตนเองไว้ได้ และล้มละลายในที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังได้อัดฉีดเงินเข้าระบบธนาคารครั้งใหม่อีก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.98 แสนล้านบาท) เป็นการฉีดเงินครั้งที่ 9 นับจากวันที่ 9 ส.ค. อยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.1 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ เฟดยังประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ต่างธนาคารลง 0.5% เหลือ 5.75% พร้อมระบุในแถลงการณ์ว่า ตลาดการเงินสหรัฐกำลังประสบปัญหาผันผวนอย่างหนัก ขณะที่เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อตึงตัวขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐ กิจสหรัฐ อย่างไรก็ดี เฟดยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 5.25% ตามกระแสการคาดการณ์ในตลาด

ด้านตลาดหุ้นทั่วเอเชียปิดตลาดวันที่ 17 ส.ค. ยังคงปรับลดลงอย่างรุนแรง ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลงรุนแรงถึง 874.81 จุด หรือ 5.42% ปิดที่ 15,273.68 จุด ซึ่งถือว่าลดลงในวันเดียวสูงสุดนับจากเดือน เม.ย. 2543 เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฮ่องกงที่ดิ่งลง 285.26 จุด หรือ 1.40% ปิดที่ 20,387.13 จุด

สำหรับบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยก็มีความผันผวนอย่างมาก แต่ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 758.42 จุด เพิ่มขึ้น 7.73 จุด สวนทางตลาดโลก โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 2.3 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 6,834.84 ล้านบาท

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้กำชับอะไรกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นพิเศษ และเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เกินกำลังความสามารถที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะดูแลได้ และวิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ภาพรวมในขณะนี้ยังมีสภาพคล่องเหลือ ผู้ว่าการ ธปท.ยังสามารถควบคุมได้เหมือนเดิม
http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=news&id=185696
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news18/08/07

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ไทยธนาคารดิ้นแก้หนี้"ซับไพรมซีดีโอ" ฟ้องแบงก์ยุโรป-แฉธปท.เตือนไม่ฟัง

"ไทยธนาคาร" ดิ้นแก้ปัญหาซับไพรม รุกฟ้องแบงก์ยุโรปตัวการขาย "ซับไพรมซีดีโอ" 1,800 ล้านบาท ระบุแจงข้อมูลไม่ครบถ้วน คนวงในชี้ฟ้องเพื่อปกป้องตัวเองมากกว่า โอกาสชนะคดียากมาก ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเผยเตือนแล้วแต่ยังลงทุนเพิ่ม บี้ให้รายงานอย่างละเอียด ด้าน เจ.พี. มอร์แกน ฟันธงปัญหาซับไพรมยังไม่นิ่ง รออีก 1 เดือนเพื่อกางตัวเลขความเสียหายทั้งหมด พร้อมมาตรการแก้ไข ด้านตลาดหุ้นจิตวิทยาลบครอบงำยังร่วงต่อ

ตามที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้นำเสนอพอร์ตลงทุนของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง มีพอร์ตลงทุนรวม 1,086.7 พันล้านบาท ในส่วนนี้เป็นพอร์ตลงทุนในต่างประเทศจำนวน 134,820 ล้านบาท โดยธนาคารไทยธนาคารลงทุนมากสุด 50,830 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารไทยธนาคารได้ชี้แจงว่าการลงทุนจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนใน collateralized debt obligation (CDO) 6.4% ของสินทรัพย์รวม (ไตรมาสแรกสินทรัพย์รวม 265,439.62 ล้านบาท) หรือประมาณ 16,988.10 ล้านบาท และใน CDO จำนวน 16,988.10 ล้านบาทนี้ เป็น subprime CDO ประมาณ 1,858 ล้านบาท ซึ่งธนาคารไทยธนาคารระบุว่าจะถือจนครบกำหนดอายุและตราสารตัวนี้สถาบันจัดเครดิตเรตติ้ง (ในขณะนั้น) ให้เครดิตในระดับที่น่าลงทุน

แหล่งข่าวในวงการธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางธนาคารไทยธนาคารได้ฟ้องร้องธนาคารยุโรปแห่งหนึ่งที่เป็นผู้ขายตราสาร subprime CDO ให้ โดยให้เหตุผลว่า ให้ข้อมูล subprime CDO ไม่ชัดเจน และอ้างว่าทางธนาคารยุโรปรายนั้นไม่ได้ข้อมูลที่ควรระมัดระวัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าการตัดสินใจลงทุนของไทยธนาคารก็ต้องลงทุนในตราสารหนี้ที่มีเครดดิตเรตติ้ง BBB+ คือระดับที่น่าลงทุนได้ ถ้าเขาลงในซับไพรมก็ต้องลงในกลุ่มซีเนียร์ และอาจจะไม่คิดว่าตราสารหนี้กลุ่มนี้ที่มีซับไพรมมาแบ็กมีการผิดนัดชำระหนี้เยอะมาก

"คิดว่าการฟ้องแบงก์ที่ขายตราสารหนี้ให้ คงยากที่จะชนะคดี ยิ่งเป็นการฟ้องแบงก์กับแบงก์ยิ่งยาก เท่าที่ทราบแบงก์พาณิชย์แต่ละแห่งคงไม่มีทีมวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดเรตติ้ง CDO ได้เอง ต้องให้สถาบันเครดิตเรตติ้งเป็นคนกำหนดเพราะต้องมีข้อมูลในการวิเคราะห์เยอะมาก ปกติแล้วการที่แบงก์จะตัดสินใจลงทุนต้องมีข้อมูลประกอบและต้องมีการวิเคราะห์มาแล้วอย่างดี และที่สำคัญแบงก์เองก็ต้องเสนอให้บอร์ดพิจารณา ดังนั้นการฟ้องดังกล่าวอาจจะทำเพื่อปกป้องตัวเอง" แหล่งข่าวให้ความเห็น

อนึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าธนาคารไทยธนาคาร จำกัด ได้รับความเสียหายจากการให้สินเชื่อบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด กว่า 1,000 ล้านบาท และมีการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นอาจกระทบทำให้กำไรของธนาคารลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยนายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและติดตามทรัพย์สิน สายจัดการกองทุน กล่าวว่า ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารไทยธนาคารนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้สั่งให้คณะกรรมการธนาคารไทยธนาคารติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด โดยให้คณะกรรมการธนาคารไทยธนาคารดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร และมีขั้นตอนในการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการตัดสินใจลงทุนในตราสารต่างประเทศอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีพบความเสียเกิดจากการตัดสินใจที่ขาดจรรยาบรรณหรือขาดการจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี จะต้องมีผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ธนาคารไทยธนคารจะต้องรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประมาณกลางเดือนกันยายนนี้

ธปท.เตือนไม่ฟัง

แหล่งข่าวจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยเตือนไทยธนาคารให้ระมัดระวังการลงทุนในตราสารต่างประเทศมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยง แต่จากการติดตามฐานะและการบริหารของธนาคารไทยธนาคารอย่างใกล้ชิด พบว่ายังมีการลงทุนในตราสารต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อประเมินความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เห็นว่าอาจกระทบกำไรทำให้ไม่เป็นไปตามที่ประมาณการ จึงออกมาเตือนอีกครั้ง พร้อมให้คณะกรรมการธนาคารไทยธนาคาร
ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบด้วย

"กองทุนได้เตือนกับผู้บริหารธนาคารไทยธนาคารไปแล้ว แต่ล่าสุดพบว่ายังไม่มีการแก้ไข จึงสั่งให้ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงให้ทราบโดยละเอียด หากเกิดความเสียหายจริง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯต้องรับผิดชอบ นั่นคือภาษีของประชาชน" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากข้อเท็จจริงเรื่องการลงทุนในตราสารต่างประเทศ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ระมัดระวัง และไม่สามารถแก้ไขได้ทันสถานการณ์ จนทำให้เกิดความเสียหายจริง ก็ต้องทบทวนหรือประเมินทีมบริหารของธนาคารไทยธนาคาร แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร

สำหรับธนาคารพาณิชย์รายอื่นที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯถือหุ้นอยู่ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ไม่มีธุรกรรมที่เป็นความเสี่ยงจนอาจทำให้เกิดความเสียหาย

ก.ล.ต.ตรวจสอบไทยธนาคาร

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบงบการเงินไตรมาสที่ 2/2550 ของไทยธนาคารเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดูว่าธนาคารได้มีการบันทึกราคาลงทุนตามตลาด (mark to market) ในงบการเงินหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้มีการบันทึกรายการการลงทุนดังกล่าว แสดงว่างบการเงินไตรมาสที่ 2 ของธนาคารไม่ถูกต้อง

"เชื่อว่าทางไทยธนาคารน่าจะมีการบันทึกราคาเรียบร้อยแล้ว เพราะทางแบงก์ชาติก็คอยตรวจสอบดูอีกทางหนึ่ง ทาง ก.ล.ต.ก็จะเป็นการย้ำ
ให้พนักงานเช็กความถูกต้องเท่านั้น" นายธีระชัยกล่าว

ซับไพรมปัญหายังไม่นิ่ง

ทางด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธนาคาร เจ.พี. มอร์แกนเชส และบริษัทหลักทรัพย์ เจ.พี. มอร์แกน (ประเทศไทย) มีความเห็นว่าตัวเลขที่ทาง เจ.พี. มอร์แกนเชส ประเมินเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ (default) ของซับไพรมว่าไม่น่าจะมีจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9% ของพอร์ตซับไพรมทั้งระบบอยู่ประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ประเมินความเสียหายของซับไพรมที่ 50,000-100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ใกล้เคียงกัน และการแก้ปัญหาซับไพรมที่บรรดาธนาคารกลางของประเทศในยุโรปอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 130,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างก็อัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ

สำหรับตลาดหุ้นไทยนายวรภัคกล่าวว่า ถ้าตลาดหุ้นไทยตอนนี้ข้อมูลออกมาว่าฝรั่งซื้อสุทธิจะแปลกใจเพราะช่วงนี้จะอยู่ในช่วงพักร้อนของเขา กองทุนใหญ่ๆ จะปิดพอร์ตไปตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมและจะกลับมาอีกทีหลังวันที่ 20 สิงหาคมไปแล้ว

"แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูเซนติเมนต์ของตลาดว่าเป็นอย่างไร สัปดาห์ที่แล้วแย่มาก ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจน เรามองว่าอย่างช้า 1 เดือนข้อมูลต่างๆ จะชัดเจน ว่าความเสียหายจะเป็นอย่างไร มาตรการแก้ปัญหามีอะไร ตลาดหุ้นยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าความเสียหายจริงๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนของซับไพรมไม่ได้มากมาย แต่ปัญหาอยู่ที่จิตวิทยาความเชื่อมั่น และสภาพคล่องแล้ว เขาต้องรีบสร้างเซนติเมนต์กลับมา" นายวรภัคกล่าว

จิตวิทยาลบ-ตลาดหุ้นร่วงต่อ

สำหรับภาวะตลาดหุ้นที่ผ่านมา (6-14 ส.ค.) ดัชนีปรับตัวแรงตามแรงขายต่างชาติ จากดัชนี 837.73 จุด ค่อยๆ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 814.40 จุด หลังจากนั้นเด้งกลับมายืนอยู่ที่ 831.64 จุด ก่อนจะลงมาอยู่ที่ 804.84 จุด จนล่าสุดดัชนีลงมาอยู่ที่ 793.82 จุด รวมแล้วลดลง 43.91 จุด หรือคิดเป็น 5.24% มาร์เก็ตแคปลดลงจาก 6.301.13 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 6.212.59 ล้านล้านบาท หรือลดลง 1.412% ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิรวม (6-14 ส.ค.) จำนวน 14786.8 ล้านบาท สถาบันซื้อสุทธิ 4,064.16 ล้านบาท

นอกเหนือจากตลาดหุ้นไทยที่ปิดภาคเช้าอยู่ในแดนลบแล้ว ตลาดหุ้นในเอเชียหลายแห่งก็ปรับตัวลดลงในช่วงเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม 2550 โดยเฉพาะตลาดหุ้นออสเตรเลีย เนื่องจากตลาดตอบรับข่าวของบริษัทสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ของออสเตรเลีย "อาร์เอเอ็มเอส โฮม โลนส์ กรุ๊ป" (RAMS Home Loans Group) ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากในตลาดสินเชื่อ ซึ่งอาจส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง

โดยความกังวลที่เกิดขึ้นทำให้หุ้นของ RAMS ลดลงราว 19% และถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการเปิดขายหุ้นไอพีโอมาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว

"ตลาดในออสเตรเลียและทั่วโลกยังคงมีปฏิกิริยาในเชิงลบ เมื่อมีความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อ และสถานการณ์ของ RAMS ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในกลุ่มบริษัทการเงินในออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้ตลาดปรับตัวตามปัจจัยความรู้สึกมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน" เจมี สปิเตอร์ ดีลเลอร์จากชอว์ สต็อก โบรกกิ้ง กล่าว

โดยดัชนีเอสแอนด์พี/เอเอสเอ็กซ์ 200 ปรับตัวลดลง 0.7% เช่นเดียวกับดัชนีเอ็มเอสซีไอ เอเชีย-แปซิฟิก เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยปรับตัวลดลงประมาณ 0.7% ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซียในช่วงเช้าก็ปรับตัวลดลง ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ก็ปรับตัวลงเล็กน้อย
prachacharthttp://www.matichon.co.th/prachachat/pr ... ionid=0201
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news18/08/07

โพสต์ที่ 14

โพสต์

เตรียมปรับตัวรับวิกฤตซับไพรม ตลาดเงินโลกจัดระเบียบใหม่

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน เกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลยของสถาบันการเงินในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ จนนำไปสู่การล้มทั้งขบวนของธุรกิจการเงินในภูมิภาค ลามไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แต่เมื่อเวลาผ่านไปครบ 10 ปี นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และนักการเงินทั่วโลกต่างมั่นใจว่า วิกฤตแบบเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว แต่ข้อสังเกตนี้ไม่ได้ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจโลกจะไม่มีวิกฤตหรือการล้มทั้งขบวนเกิดขึ้นอีก

เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานถึงสถานการณ์ตลาดทุนโลก ภายหลังการอัดฉีด เม็ดเงินหลายแสนดอลลาร์ของธนาคารกลางสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดหลังจากพิษตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยมาตรฐานหรือซับไพรมในสหรัฐเริ่มสั่นคลอนสร้างความหวั่นไหว ให้กับตลาดหุ้นโลกในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ วอลล์สตรีตฯตั้งข้อสังเกตว่า เป็นอาการการขยายตัวของความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นสถานการณ์สร้างระเบียบใหม่ให้กับตลาดการลงทุนในธุรกิจ สินเชื่อด้วย

การอ่อนตัวลงของตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้เขย่าให้ตลาดทั่วโลกสั่นไหว ซึ่งในแง่หนึ่งได้ให้บทเรียนแก่นักลงทุนคิดหาทางหนีทีไล่หากจะเกิดเหตุอันไม่สามารถคาดการณ์ได้ในตลาดและระบบการเงินของโลก ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน

ความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องในตลาดอสังหา ริมทรัพย์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้ นักลงทุนจำนวนมากถอนตัวออกจากธุรกิจสินเชื่อสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่าจะหาใครมาซื้อหุ้นในกิจการเหล่านี้ได้อีก แล้วบริษัทจัดอันดับยังมาตอกย้ำอีกในการลดอันดับความน่าเชื่อรวมทั้งระบุว่า นักลงทุนอาจต้องเจ็บตัวจากการซื้อพันธบัตรขยะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของตลาดสหรัฐยังส่งผลให้เฮดจ์ฟันด์และนักลงทุนทั้งในออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เกาหลี และอีกหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเคยลงทุนในตลาดซับไพรมสหรัฐและตราสารหนี้ที่ใช้สินเชื่อซับไพรมเป็นหลักประกันหรือ CDOs มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ กลับหันไปกับการลงทุนในรูปของเงินสดมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

แล้วยังนำไปสู่การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อรักษาสภาพคล่องและทำให้ดอกเบี้ยนโยบายภายในประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้

ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแก่นักลงทุนมาแล้วเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจ 10 ปีก่อน และในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับปรุงระบบการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้รัดกุมและป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น หลายธนาคารหยุดการลงทุนในตราสารหนี้ CDOs หรือหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่านักลงทุนและผู้ให้กู้จะสามารถติดตามการกู้ยืมเงินของลูกหนี้ได้อย่างใกล้ชิดและมั่นใจว่าลูกหนี้จะมีความสามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ในระยะเวลาที่กำหนด

คริสเตียน สแตรค์ นักวิเคราะห์พันธบัตร จากบริษัทเครดิตไซค์ ระบุว่า ตลาดพัฒนาเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเพื่อยืนยันว่าเราจะสามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ได้ นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างธนาคารไอเคบี ดอยช์ อินดัสสเตรแบงก์ ในเยอรมนีว่า ธนาคารต้องเพิ่มทุนเข้าไปในระบบหลังจากพบว่ามีสัญญาณบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจในตลาดการเงินโลก

นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนอีกมากเริ่มถอนทุนออกจากเฮดจ์ฟันด์ที่ลงทุนในตลาดซับไพรมและในอีกหลายๆ แห่งพร้อมกัน เนื่องจากนักลงทุนเห็นว่าหลักทรัพย์ที่มีอยู่เริ่มไม่ให้ผลตอบแทนที่ คุ้มค่า ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบ นักลงทุนจึงต้องมองหาตลาดอื่นรองรับเพื่อขายสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย

การจัดการสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นนี้ มีลักษณะที่คล้ายกับสิ่งที่คาเธ่ย์ไฟแนนเชียลประสบด้วย โดยเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท แห่งนี้มีราคาหุ้นตกลงไปกว่า 12% ในตลาดหุ้นไต้หวัน เนื่องจากบริษัทนำเงินทุนไปลงทุนในตลาดซับไพรม 0.1% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่

ส่วนธนาคารหลักของสิงคโปร์อีก 3 แห่ง ที่แม้จะมีผลรายงานประจำไตรมาสที่ 2 ว่า รายได้เพิ่มขึ้นเหนือการคาดการณ์แต่ธนาคารเหล่านี้ กลับมีราคาหุ้นลดลงโดยเฉลี่ย 8-10% ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารดีบีเอส ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ CDOs มากที่สุด ด้วยเงินทุนจำนวน 850 ล้านดอลลาร์ และมีสัดส่วนถึง 22% ของสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ ขณะที่ ซิตี้กรุ๊ป ลงทุนในตลาดหุ้นประเภทเงินกู้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ CDOs และสินเชื่อซับไพรมมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ และ ยูโอบี แม้จะไม่ได้ลงทุนโดยตรงในตลาดสินทรัพย์ซับไพรม

แต่ธนาคารทั้ง 3 แห่งในสิงคโปร์ต่างได้รับผลกระทบจากตลาดซับไพรมสหรัฐมากน้อยลดหลั่นกันไป โดยเมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นของธนาคาร เช่น ดีบีเอส นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม หุ้นธนาคารตกลงไป 11% ซิตี้กรุ๊ป มูลค่าหุ้นตก 10% และยูโอบีทรุดลงไปมากกว่า 8%

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารในสิงคโปร์เช่นนี้ สำหรับ เจย์ ม็อคห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอเปส์ ไพรม แอสเซส แมเนจเมนต์ ระบุว่า เป็นสถานการณ์ที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อหุ้นเก็บไว้ เนื่องจากโดยโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารเหล่านี้แล้ว ยังนับว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดีอยู่

หรือในกรณีของธนาคารวูรี่ ในเกาหลีใต้ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่เข้าไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยตามข้อมูลของธนาคารระบุว่า ธนาคารแห่งนี้ลงทุนตราสารหนี้ OCDs 120 ล้านดอลลาร์จากมูลค่าสินทรัพย์ที่มี 490 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในมุมมองของนักวิเคราะห์ระบุว่า มูลค่าการลงทุน ของวูรี่แบงก์นับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ที่ธนาคารมีอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ แต่การลงทุนด้วยเงินทุนมูลค่าดังกล่าว ก็ได้ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารแห่งนี้เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมร่วงลงไปกว่า 9%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ รอย์ รามอส นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซกส์ กลับให้ความเห็นว่า ปัญหาซับไพรมในสหรัฐเป็นเรื่องที่ตลาดเอเชียควรกังวล แต่ไม่ต้องหวาดกลัว เนื่องจากมันเป็นปัญหาในแง่ความน่าเชื่อถือของธุรกิจสหรัฐ ซึ่งไม่ได้สร้างระเบิดเวลาให้กับธุรกิจการเงินหลักของเอเชียเลย

แต่สิ่งที่ปรากฏในเวลานี้ กลับทำให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐได้ส่งผลสะเทือนไม่ทางตรง ก็ทางอ้อมแก่ตลาดในเอเชียด้วยเช่นกัน
prachachart
http://www.matichon.co.th/prachachat/pr ... ionid=0205
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/08/07

โพสต์ที่ 15

โพสต์

แบงก์ชาติลุ้นศก.โลก หลังซับไพรม์ลุกลาม  
โดย มติชน
วัน จันทร์ ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 08:18 น.

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพของสหรัฐ (ซับไพรม์) ต่อประเทศไทย จะเป็นลักษณะของผลกระทบทางอ้อม ที่ยังคงจะต้องติดตามดูว่าปัญหาซับไพรม์จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบเพียงสภาพคล่องและรายได้ของสหรัฐเท่านั้น เพราะฉะนั้น ธปท.จึงรอดูการประเมินผลรอบใหม่ของประเทศต่างๆ อีกครั้งว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิม
นางสุชาดากล่าวว่า ในการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับสมมติฐานไปแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง และการส่งออกไปสหรัฐจะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยไปสหรัฐขยายตัวได้เพียง 0.2% เท่านั้น แต่สาเหตุที่ในช่วงครึ่งแรกของปีสามารถขยายตัวได้ถึง 18% เป็นเพราะการขยายตัวในกลุ่มประเทศอื่นๆ และผู้ส่งออกทำตลาดในประเทศใหม่ๆ เช่น ตลาดผู้ส่งออกน้ำมัน

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธปท.คาดการณ์ไว้แล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง เพราะฉะนั้นการส่งออกของไทยคงน่าชะลอตัวลงตามไปด้วย โดยการส่งออกในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ประมาณ 10-12% แต่ก็ยังต้องรอดูผลจากซับไพรม์ว่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน นางสุชาดากล่าว
http://news.sanook.com/economic/economic_171205.php
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/08/07

โพสต์ที่ 16

โพสต์

เตือนผู้ส่งออกปรับตัวรับ subprime คาดเห็นผลชัดอีก 3-6 เดือน ข่าว 18.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Monday, August 20, 2007
นายเกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่า ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยกู้ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐ (Subprime) เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในช่วงระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า แต่ในช่วงนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่ ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออกจะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร

นายเกริกไกรบอกด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอให้ผู้ประกอบการปรับตัว และหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ทดแทน เช่น อินเดียและตะวันออกกลาง มาตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากเห็นว่าตลาดส่งออกไปยังสหรัฐเริ่มชะลอตัว ซึ่งขณะนี้ขยายตัวเพียง 0.45% เทียบกับต้นปีที่ขยายตัว 2 3% ของยอดการส่งออกทั้งหมด

นายเกริกไกร บอกด้วยว่า การเรียกร้อง ให้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า (FTA) นั้น ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อินเดียและออสเตรเลีย ก็ดำเนินการในลักษณะการตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศเช่นเดียวกัน

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาตร์การเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ปัญหา Subprime ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นสิ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์บานปลาย อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยไปจนถึงปีหน้า
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/08/07

โพสต์ที่ 17

โพสต์

นักวิชาการจาก วาร์ตั้นสกูล ชี้ เหตุวิกฤติสภาพคล่อง เพราะประธานเฟดมือใหม่ บริหารผิดพลาด

ศาตรจารย์เคนเนธ โทมัส อาจารย์ด้านการเงิน และการลงทุน ประจำวาร์ตั้นสกูล มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลวาเนีย ให้สัมภาษณ์กรณีวิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกว่า เป็นข้อผิดพลาดของการบริหารมือใหม่จากประธานธนาคากลางสหรัฐ หรือเฟด นาย เบน เบอร์นันเก้ ที่ไปให้ความสำคัญกับทฤษฎีเป้าหมายเงินเฟ้อ มากกว่าภาวะตลาดทุน นอกจากนี้ ยังเป็นการประเมินความต้องการสภาพคล่องในระบบการเงิน ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากเกินไป

อาจารย์วาร์ตั้นสกูล มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลวาเนีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่เกิดขึ้น คือความแตกต่างในวิธีคิด และวิธีปฏิบัติของประธานเฟดคนปัจจุบัน วัย 53 ปี นาย เบน เบอร์นันเก้ และอดีตประธานเฟดวัย 81 ปี 1 ในผู้ทรงอิทธิพลอย่างยาวนานอย่างนาย อลัน กรีนสแปน โดยในสมัยนายอลัน กรีนสแปน ให้ความสำคัญอันดับแรกสุด กับเสถียรภาพระบบการเงิน สังเกตจากภาวะตลาดทุนทรุดหนักในปี 1987 หรือในปี 2530 อดีตประธานเฟดกรีนสแปน อัดฉีดเงินเข้าระบบทันที

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ตัดสินใจเหนือความคาดหมาย ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกว่า ดิสเค้าท์เรต หรืออัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ที่เฟดคิดกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ลงมากถึง 0.5% จากเดิมที่ระดับ 6.25% มาเหลือเพียง 5.75% ส่งผลดัชนีหุ้นดาวโจนส์ในตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดตลาดพุ่งสูงขึ้นถึง 233 จุด เกือบ 2%
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mor ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/08/07

โพสต์ที่ 18

โพสต์

วิกฤตการณ์ Subprime ลามถึงการซื้อขายล่วงหน้า Commodities

20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 18:15:00

In Step with AFET Futures: ดร.พีรพล ประเสริฐศรี

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : มาถึงนาทีนี้ผมเชื่อว่า ผู้อ่านทุกท่านคงได้บริโภคข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์สินเชื่อในอเมริกา สำหรับลูกค้าที่เครดิตไม่ค่อยดี หรือที่เรียกกันว่า Subprime นะครับ ความเสียหายที่เกิดนี้เกิดจากผู้กู้ที่เครดิตไม่ดีขอกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วนำมาซื้อที่อยู่อาศัย จากนั้นด้วยเหตุผลใดก็ตามเกิดการบิดพลิ้วผิดนัดชำระเงิน (Default)

จนทำเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องในหมู่บรรดาสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้เช่น Countrywide Financial หรือ New Century Financial และต้องทำให้บริษัทอย่าง American Home Mortgage ต้องปิดตัวไปในช่วงต้นเดือนนี้

แต่ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ธนาคารผู้ปล่อยกู้เท่านั้นครับ เพราะที่ในสหรัฐ สถาบันการเงินมักจะใช้วิธีการทางการเงินที่เรียกว่า Securitization  ซึ่งมีวิธีการนำรายได้ที่ปล่อยกู้เงินดังกล่าว หลายๆ รายมารวมกัน จัดแต่งให้สวยเป็น Package เรียกว่า  Asset-Backed Securities (ABS) แล้วนำไปขายให้ผู้ที่สนใจ เช่น สถาบันการเงิน กองทุน หรือนักลงทุน  

มากไปกว่านั้น  ด้วยความชาญฉลาดของนักการเงิน ก็ยังมีการนำ ABS มารวมกัน แล้วใส่รวมกัน (แล้วปนกับเครื่องมือทางการเงินอื่น) ใน Package ใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น ที่เรียกว่า Collateralized debt obligations (CDOs)  

ตลาดของ CDOs ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ว่ากันว่าแค่ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มีการออก CDO มาซื้อขายกันมากกว่า แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท และ CDO ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Subprime ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง (ตัวเลขนี้ยังไม่แน่นอนครับ)

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ เกิดการ Default ในสินเชื่อ Subprime ทำให้เจ้าตัว CDO ที่เกี่ยวข้องกับ Subprime ที่ว่านี้ขาดสภาพคล่อง  เนื่องมาจากการซื้อขาย CDO ทั้งหมดจะเป็นการซื้อขายนอกตลาด หรือที่เรียกกันว่า Over the Counter (OTC) ซึ่งเมื่อไม่มีใครสนใจจะซื้อ CDO นั้น ก็จะขาดสภาพคล่อง  ก็ทำให้เกิดปัญหาต่อไปว่าจะทำการกำหนดราคาหรือการ Pricing ไอ้เจ้า CDO ที่ว่านี้กันอย่างไร  ส่งผลให้เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส BNP Paribas ต้องสั่งระงับการถอนเงินกองทุนของตน 3 กองทุน เพราะว่าไม่รู้จะคำนวณมูลค่าของ CDO ที่กองทุนของตนถืออยู่อย่างไร

วิกฤติ Subprime นี้ได้ส่งผลกระทบไปถึงบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่เช่น Bear Sterns ที่กองทุนเจ๊งไป 2 กองทุน  ส่งผลไปถึง Goldman Sachs ที่ต้องใส่เงินเพิ่ม 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยผลขาดทุนของกองทุน Hedge Fund ตน  

ก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาต่อตลาดสินเชื่อทั่วโลก จนต้องทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก เช่น FED (ธนาคารกลางของสหรัฐ)  ECB (ธนาคารกลางของยุโรป) BOJ (ธนาคารกลางของญี่ปุ่น) ต้องฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคาร โดยการให้ความเชื่อมั่นว่าหากธนาคารไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารอื่นได้ ก็สามารถกู้ผ่านธนาคารกลางได้โดยตรง

วิกฤตการณ์ Subprime นี้มีส่วนทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ทั่วโลกได้ต่างกันปรับตัวลดลงมากันอย่างถ้วนหน้า เช่น Dowjones ปรับตัวลดลงจาก 14,000 มาแตะ 13,000 จุดเมื่อวานนี้ (14 ส.ค. 50) ไม่ต้องพูดถึงดัชนี SET ของเราที่ผสมโรงปรับตัวลงมา จากประมาณ 890 จุดมาอยู่ที่ประมาณ 775-780 จุด ณ ปัจจุบันนี้ (15 ส.ค. 50)

ล่าสุดวิกฤตการณ์ Subprime นี้ได้ลุกลามส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายล่วงหน้า โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.50 นี้  Sentinel Management Group Inc. นายหน้าซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (futures commission merchant; FCM) ชื่อ ที่กำกับดูแลโดย U.S. Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ซึ่งดูแลเงินของลูกค้าอยู่ประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ ได้ขออนุญาต CFTC ให้บริษัทสามารถที่จะยังไม่คืนเงินให้ลูกค้า ในกรณีที่มีลูกค้าขอถอนเงิน เนื่องมาจากไม่ต้องการขายหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ เช่น  Asset-Backed Securities (ABS) เพราะว่าทางบริษัทเห็นว่าจะเป็นการขายที่ราคาถูกเกินไป  ซึ่งทาง CFTC เองต่อมาก็ได้เปิดเผยว่า CFTC ไม่มีหน้าที่ในการอนุมัติคำร้องขอของทางบริษัท

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีดังกล่าว  ตลาดล่วงหน้าในสหรัฐได้แก่ Chicago Board of Trade (CBOT)  Chicago Mercantile Exchange (CME)  New York Board of Trade (NYBOT) และ New York Mercantile Exchange (NYMEX) ร่วมกับ สมาคมนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า (Nation Futures Association; NFA) ในสหรัฐ  กำลังร่วมมือกันในการหาบริษัทอื่นที่จะมาช่วยรับบัญชีลูกค้าจากบริษัท Sentinel ที่ว่านี้

ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปครับว่า ปัญหา Subprime จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมการซื้อขายล่วงหน้า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ และเป็นต้องติดตามอีกครับว่า วิกฤตการณ์ Subprime นี้จะจุดเริ่มต้นของวิกฤติทางการเงินของโลกในรอบนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตครับว่า ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีพอดี หลังจากที่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งของไทยลุกลามระบาดไปทั่วโลก
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/2 ... wsid=89540
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news20/08/07

โพสต์ที่ 19

โพสต์

นักวิชาการชี้ตลาดหุ้นฟื้นช่วงสั้น ปัญหา'ซับไพร์ม'ยังไม่จบ

20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 15:44:00

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
(Update) นักวิชาการชี้ตลาดหุ้นไทยฟื้นช่วงสั้น แนะจับตาปัญหา "ซับไพร์ม" หวั่นลากยาวถึงปีหน้า ฟันธงหลังผ่านประชามติการเมืองไทยถอยหลังกลับไปถึงปี"40 "รัฐบาลผสม-แบ่งขั้วพรรคเทพ,มาร"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาตร์การเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20 จุดในวันนี้ ถือเป็นการฟื้นตัวในช่วงสั้นเท่านั้น แต่ตัวแปรที่สำคัญที่ต้องติดตามคือ ปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ที่คาดว่าจะเป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจสหรัฐ และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์บานปลายอาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยไปจนถึงปีหน้า
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/2 ... wsid=90318
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news21/08/07

โพสต์ที่ 20

โพสต์

ห่วงซับไพรม์ถ่วงดัชนี
โพสต์ทูเดย์ หุ้นไทยวิ่งฉิวกว่า 4% ขึ้นสูสีกับตลาดเอเชีย ต่างชาติกลับลำซื้อ หวั่นดัชนีขึ้นไม่ไหว ข่าวซับไพรม์ป่วนรบกวนตลาดโลก


ตลาดหุ้นไทยร้อนแรงตามคาด โดยวันที่ 20 ส.ค. ราคาหุ้นเปิดกระโดด ดัชนีเปิดทะยาน 3% ที่ระดับ 765.31 จุด และทำปิดสูงสุดของวันที่ 792.02 จุด เพิ่มขึ้น 33.60 จุด หรือ 4.43% มูลค่าซื้อขาย 23,146.67 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปิดกระโดด 6.97% ตามด้วยสิงคโปร์ บวก 6.12%

นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกจากขายติดต่อกันมา 3 สัปดาห์ แม้ภาคเช้ายังขายหนักกว่า 2 พันล้านบาท แต่ภาคบ่ายกลับมาเก็บของสิ้นวันมียอดซื้อสุทธิ 622 ล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,491 ล้านบาท และรายย่อยขายสุทธิ 3,113 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์และหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

นายวิชชุ จันทาทับ ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยมาตรฐานลง0.5% ทำให้นักลงทุนคลายกังวลเรื่องปัญหาซับไพรม์ ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับมายังตลาดหุ้นทั่วโลก

แนวโน้มโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวลงแรงๆ นั้นมีความเป็นไปได้น้อย นอกเหนือจากมีเหตุการณ์ที่กระทบแรงๆ ในต่างประเทศ เพราะปัจจัยในประเทศเองหลังประชาชน รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วถือว่าจบ มีการเลือกตั้งขึ้นแน่ แม้ปัญหาซับไพรม์ยัง ไม่จบ แต่นักลงทุนเริ่มชินกับเหตุการณ์ ดังนั้น เมื่อประเทศใดมีปัญหาคงแก้ที่จุดนั้น

นายวิชชุ กล่าวว่า ขณะนี้มองภาพหุ้นไทยในระยะสั้นเป็น 2 กรณี โดย 1.โอกาสทะลุ 800 จุดได้ มีมากถึงประมาณ 40% จากสัญญาณต่างชาติซื้อแล้ว 2.หากต่างประเทศปรับลงโอกาสที่จะฉุดหุ้นไทยลงได้ แต่ไม่มากแนวรับที่ 760-770 จุด เนื่องจากมองว่าฐานที่ 750 จุดแน่นแล้ว

ช่วงสัปดาห์ก่อนต่างชาติขายหนักน่าจะเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ แต่หากมีกองทุนที่ลงทุนระยะยาวจากสหรัฐ ยอมขายขาดทุนออกไปแล้ว ตามกฎ จะกลับมาซื้อใหม่ต้องรอ 30 วัน ยกเว้นแต่ได้กำไรก็กลับมาซื้อได้ ทำให้มองว่าการซื้อกลับคงค่อยเป็นค่อยไป และดัชนีอาจตั้งหลักอีกสักพัก นายวิชชุ กล่าว

นายอดิเทพ วรรณพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายกองทุนตราสารทุน บลจ.อเบอร์ดีน กล่าวว่า บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น หลังเฟดลดดอกเบี้ยและปัจจัยในประเทศก็ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังจะเป็นไปตามตลาดต่างประเทศ เพราะปัญหาซับไพรม์คงอยู่ ทำให้ดัชนียังคงแกว่งตัว

สำหรับกองทุนหุ้นของ บลจ.อเบอร์ดีน ไม่ได้ปรับพอร์ตมากนัก ยกเว้นแต่หากกองทุนใดมีเงินใหม่เข้ามาซื้อหน่วยลงทุน ก็เข้าไปซื้อหุ้น ยิ่งช่วงที่ผ่านมา หุ้นลงแรงเป็นจังหวะซื้อ โดยปกติแล้วกองทุนหุ้นจะมีเงินสดประมาณ 1-5% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน เพื่อสำรองสำหรับการไถ่ถอนหน่วย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาต่างชาติขายออก 4 หมื่นล้านบาทแล้ว เดาว่าเป็นเงินของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่เข้ามาซื้อหุ้นไทยในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ทำให้ตอนนี้ไม่มีเงินเฮดจ์ฟันด์ขาย ออกมาแล้ว หรือหากยังเหลืออยู่ก็เป็นจำนวนไม่มากแล้ว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตอนนี้ทิศทางตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้นชัดเจนแล้ว แม้ปัญหาซับไพรม์รบกวนการลงทุน ทำให้ดัชนีปรับตัวลงบ้าง แต่คงไม่มากและควรจะถือหุ้นระยะยาว คาดสิ้นปีนี้น่าจะเห็นดัชนีระดับ 800-900 ได้
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=186291
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news22/08/07

โพสต์ที่ 21

โพสต์

วิกฤติซับไพรม์ยังไม่น่าวางใจ ธ.กลางญีปุ่นอัดฉีดเงินรอบ 4 เข้าระบบอีก 2 แสนล.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 สิงหาคม 2550 12:27 น.
 
      ความวิตกกังวลปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ ยังไม่ทำให้ชาติต่างๆ คลายความกังวล ล่าสุด ธนาคารกลางของญี่ปุ่น ประกาศอัดฉีดเงินรอบที่ 4 เข้าสู่งระบบอีก 2 แสนกว่าล้านบาท
     
      วันนี้(21 ส.ค.) ธนาคารชาติญี่ปุ่นจะอัดฉีดเงินอีก 800,000 ล้านเยน (ราว 238,000 ล้านบาท) เข้าระบบการเงินเพื่อสร้างความมั่นใจด้านสภาพคล่อง จากการที่ตลาดโลกกังวลเรื่องการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด
     
      ธนาคารชาติญี่ปุ่นเตรียมอัดฉีดเงินงวดใหม่เข้าตลาดเงินเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน ภายใต้มาตรการร่วมกันของธนาคารชาติสำคัญทั่วโลกที่พยายามบรรเทากระแสตื่นตระหนกเรื่องปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในตลาดสหรัฐ จะส่งผลกระทบในวงกว้าง การเคลื่อนไหวของธนาคารชาติญี่ปุ่นมีจุดประสงค์เพื่อสกัดไม่ให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขยับเพิ่มขึ้น จากการที่ตลาดต้องการทุนใหม่ ๆ มากขึ้น
     
      อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นจะเกิดปัญหาสินเชื่อสะดุดในเร็ว ๆ นี้ และไม่มีแนวโน้มว่าธนาคารในญี่ปุ่น จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากหลักทรัพย์ในสหรัฐที่โยงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในตลาดสหรัฐ
http://www.manager.co.th/StockMarket/Vi ... 0000098239
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news22/08/07

โพสต์ที่ 22

โพสต์

ซับไพรม์พ่นพิษ "เฟิร์สต์ แม็กนัส" ยื่นล้มละลาย!

สำนักข่าวเอพีรายงาน ว่า บริษัท เฟิร์สต์ แม็กนัส ไฟแนนเชียล คอร์ป หนึ่งในบริษัทปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ของสหรัฐ ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลรัฐอริโซนา เป็นเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากที่ได้ยุติการปล่อยสินเชื่อบ้านและรับใบขอกู้ และเลิกจ้างพนักงานกว่า 99% จากทั้งหมด 6,000 คน ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลล้มละลายสหรัฐในเมืองทัคสัน รัฐอริโซนา ระบุว่า บริษัทได้จดทะเบียนทรัพย์สิน 942 ล้านดอลลาร์ และหนี้สิน 813 ล้านดอลลาร์

"หลังจากที่พิจารณาทางเลือกต่างๆอย่างรอบคอบแล้ว บริษัทจึงเลือกที่จะยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลายตามมาตรา 11" นายจี เอส แจ็กกี้ ประธนานและซีอีโอของบริษัทกล่าวในการแถลงข่าว

เจ้าหน้าที่ของบริษัทกล่าวว่า ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องและผิดนัดชำระเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของอุตสาหกรรมการจำนอง แม้บริษัทจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้จำนองซับไพรม์ ซึ่งกำลังเกิดวิกฤติในขณะนี้ก็ตาม"

ทั้งนี้ บริษัท เฟิร์ส แม็กนัส มีวงเงินการปล่อยสินเชื่อกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 นอกจากนั้นยังมีบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง ได้แก่ เกรท เซาท์เวสท์ มอร์ทเกจ และ ชาร์ตเตอร์ ฟันดิ้ง ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น เฟิร์ส แม็กนัส โฮม โลนส์ เมื่อไม่นานมานี้
http://www.posttoday.com/breakingnews.php?id=186642
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news22/08/07

โพสต์ที่ 23

โพสต์

ความกังวลเรื่องปัญหา Sub-prime loan ยังกดดันตลาด

22 สิงหาคม พ.ศ. 2550 10:22:00

แรงขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มนำตลาด โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ธนาคาร ปิโตรเคมี ธุรกิจหลักทรัพย์ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กดดันให้ตลาดหุ้นวันวานลดลงค่อนข้างรุนแรงถึง 3.49% ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณซื้อขายลดลงเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ประเด็นการลงทุน

    กระทรวงพาณิชย์เผยยอดส่งออกเดือนก.ค.50 เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามคาดว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโตได้ 15% สูงกว่าเป้าหมายซึ่งอยู่ที่ 12.5% หากการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีสามารถเติบโตได้เฉลี่ยเดือนละ 10%

    ประธานคณะกรรมาธิการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเผยหลังจากหารือกับประธานธนาคารกลางสหรัฐว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed fund rate) ลงเร็วขึ้นเพื่อบรรเทาความวิตกในตลาด

กลยุทธ์: ระยะสั้น ลดพอร์ตลงบ้าง ช่วงราคาดีดตัวขึ้น

    ทิศทางตลาดวันนี้คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาหุ้นกลุ่มพลังงานจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงมาก และความวิตกเรื่องการลุกลามของปัญหา sub-prime loan ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทย แม้เฟดมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของจีนซึ่งจะทำให้ค่าเงินของจีนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยอยู่บ้าง แนวรับวันนี้อยู่ที่ 755-757 จุด แนวต้านอยู่ที่บริเวณ 775-777 จุด นักลงทุนระยะสั้น ขายทำกำไรบ้างที่บริเวณแนวต้าน นักลงทุนระยะยาว ทยอยซื้อลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคาร ที่บริเวณแนวรับ

ปัจจัยในประเทศ ที่มีผลต่อการลงทุนวันนี้

    กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออกเดือน ก.ค. มีมูลค่าราว 1.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดเกินดุลการค้าราว 211 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออก 7 เดือนแรกของปีนี้โต 16.6% โดยยังคงเป้าหมายส่งออกทั้งปีโต 12.5%

    ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการเห็นชอบ ทำให้ทุกอย่างเริ่มมีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้นทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ  อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 51 ตามกำหนด

ปัจจัยต่างประเทศ ที่มีผลต่อการลงทุนวันนี้

    ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง 30.49 จุด  ปิดที่ 13,090.86 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ลดลงถ่วงดัชนีลงสู่แดนลบ หลังพายุเฮอริเคนดีนได้อ่อนกำลังก่อนเข้าถึงแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ

    ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าเดือน ก.ย. ลดลง 1.65 ดอลลาร์ ปิดที่  69.47 DPB  เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่าพายุเฮอริเคนดีนได้อ่อนกำลังลงในขณะที่พัดเข้าใกล้แหล่งผลิตน้ำมันของเม็กซิโก

ที่มา : บล.ยูโอบีเคย์เฮีบนฯ (ประเทศไทย)
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/2 ... wsid=90633
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 24

โพสต์

Subprime : เจาะวิกฤติ ชี้โอกาส ตลาดหุ้นไทย?
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Monday, January 01, 0001
ในการสัมมนา Subprime : เจาะวิกฤติ ชี้โอกาส ตลาดหุ้นไทย? นักวิเคราะห์ ยอมรับ ปัญหาซับไพร์ม ยังน่าห่วง และอาจนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องทั่วโลก แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ

ต้นตอของปัญหา Subprime

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ปัญหา Subprime เกิดจาก

1. อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำของสหรัฐฯ
2. ราคาบ้านในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
3. ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินของกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund)
4. การที่มี Hedge Fund เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก

Subprime คือการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือเครดิตไม่ดีพอ ต่างจากกลุ่ม Prime ที่มีเครดิตที่ดีกว่า แต่สาเหตุที่สินเชื่อประเภท Subprime ขยายตัวเป็นอย่างมาก เพราะสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้มีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เพื่อผลักภาระความเสี่ยงจากลูกค้าในกลุ่มนี้ออกไป และมีการจัดชั้นตราสารในระดับที่แตกต่างกันกัน โดยมี Hedge Fund เข้ามาลงทุน สินเชื่อที่อยู่อาศัยนี้จะต่างจากในประเทศไทย ที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้จะต้องเป็นผู้รับภาระเองหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ปัญหาก็จะยังไม่ปรากฏออกมา เพราะในช่วง 1-2 ปีแรก สินเชื่อ Subprime จะคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือราคาบ้านเพิ่มขึ้น ผู้กู้ก็จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) ใหม่ได้ แต่ ราคาบ้านในสหรัฐฯลดลง จึงเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตามมา

วิกฤติ Subprime แพร่กระจายทั่วโลก เพราะ Hedge Fund ต้องหาเงินไปคืนลูกค้า

นายไพบูลย์อธิบายว่า ปัญหาของวิกฤต Subprime เกิดขึ้นจากการที่กองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) หันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการ Securitization มาจากสินเชื่อ Subprime ทั้งนี้เพราะเป้าหมายที่สำคัญของ Hedge Fund คือการลงทุนอะไรก็ได้ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในลักษณะของ Absolute Return ต่างจากเป้าหมายการลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในระยะยาว (Long Term Fund) ที่ผลตอบแทนของการลงทุนจะอ้างอิงกับสินทรัพย์อะไรบางอย่างที่ไปลงทุนในลักษณะของ Relative Return เช่น ดัชนีของตลาดหุ้นต่าง ๆ

ดังนั้น Hedge Fund จึงนับเป็นกองทุนที่ทรงอิทธิพลมาก เพราะหากมีประวัติการทำกำไรที่ดี จะมีอำนาจในการต่อรองและสามารถขอสินเชื่อเพื่อไปลงทุนเพิ่มขึ้นได้ แต่หากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่สัญญาไว้ Hedge Fund ผู้ลงทุนก็สามารถขอเงินคืนได้ทันที จึงทำให้ในโลกนี้มี Hedge Fund ที่เกิดใหม่และปิดตัวลงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในสินเชื่อ Subprime ทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เริ่มปรับลดอันดับตราสารที่อ้างอิงกับ Subprime Hedge Fund จำเป็นต้องขายตราสารที่ถืออยู่ในมือออกมา แต่ปัญหาคือไม่มีผู้รับซื้อ และเงินที่ Hedge Fund นำมาใช้ลงทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินที่กู้มา Hedge Fund จึงจำเป็นต้องสร้างสภาพคล่องให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อหาเงินไปคืนลูกค้า จึงขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ออกมา ขณะเดียวกันก็มีธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ๆ หลายแห่ง ที่มีบริษัทย่อยไปลงทุนในตราสารที่เกิดปัญหา ทำให้ธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Inter Bank) ได้รับการกระทบกระเทือนตามไปด้วย ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศต่าง ๆ

ปัญหาจะอยู่อีกนานแค่ไหน

นายไพบูลย์มองว่า ตอนนี้ไม่สามารถมีใครคาดเดาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกได้ ทำให้ทุกฝ่ายวิตกและรอดูว่า การแก้ปัญหาสภาพคล่องจากทางการของประเทศต่าง ๆ จะทำได้ดีเพียงใด สามารถยุติความรุนแรงของ Subprime ลงได้หรือไม่ โดยนักลงทุนต่างชาติหันมาถือตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลแทน อย่างไรก็ตาม หากตลาดเงินของสหรัฐฯเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องกลับมาอีกครั้ง

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานายไพบูลย์เชื่อว่า มาจากแรงซื้อของกองทุน Hedge Fund ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้น่าจะถอนการลงทุนออกไปจากประเทศไทยแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Subprime ต่อตลาดหุ้นไทยจึงเป็นลักษณะของผลกระทบทางอ้อม เพราะสถาบันการเงินไทยไม่ได้ลงทุนโดยตรงในตราสารที่อ้างอิงกับ Subprime มากนัก เงินทุนสำรองในภูมิภาคเอเชียที่มีอยู่เป็นจำนวนมากก็น่าจะเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ยังมองว่า ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียในช่วง ประมาณ 1 เดือนจากนี้ ก็คงจะขาดเงินทุนจากต่างชาติเข้ามา คงมีเพียงปัจจัยภายในภูมิภาคหรือภายในประเทศเท่านั้นที่จะมีผลต่อการลงทุน

ประเภทของตราสารที่อ้างอิงกับ Subprime

นายปริทรรศน์ เหลืองอุทัย กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด เล่าว่า ในสหรัฐฯ เวลาที่ต้องการไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผู้กู้ต้องกรอกข้อมูล จากนั้นจึงจะมีหน่วยงานที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดชั้นของผู้กู้ (Credit Scoring) โดยผู้ที่อยู่ในฐานะที่มีเครดิตต่ำจะได้คะแนนน้อยกว่า 620 คะแนน ซึ่งถือเป็นชั้นที่ต่ำที่สุด

ก่อนปี 2543 ชาวสหรัฐฯนิยมเช่าบ้านมากกว่าซื้อบ้านเป็นของตนเอง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวสหรัฐฯซื้อบ้านในง่ายขึ้น ขอสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ก็เพราะการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการเงินออกมารองรับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และรูปแบบการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญคือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ที่มีการนำสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาทำเป็นตราสารเพื่อจำหน่าย หลัก ๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ Mortgage Backed Securities (MBS) ที่มีการรวบรวมเอาสินเชื่อทั้งคุณภาพดีและไม่ดีเข้าไว้ด้วยกัน แล้วมีการกำหนด Credit เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อเพื่อลงทุน และแบบ Collateralized Debt Obligation (CDO) ที่นำสินเชื่อ Subprime มากรองหลายชั้น จนเหลือเพียงแค่สินเชื่อคุณภาพไม่ดี แต่ก็เป็นที่นิยมของนักลงทุน เพราะให้ผลตอบแทนสูงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม

ผลกระทบ Subprime ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ

ปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยของสหรัฐมีการผิดนัดชำระหนี้อสังหาริมทรัพย์ประมาณ 13.5% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด และมีผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางศาลประมาณ 6 แสนราย และมีการคาดกันว่า การผิดนัดชำระหนี้อาจขึ้นไปสูงถึง 20% ได้ โดยในอดีตที่ผ่านมา การผิดนัดชำระหนี้เคยอยู่ในระดับสูงที่สุดที่ 15% ขณะที่ในปีหน้าตัวเลขของที่อยู่อาศัยที่อาจจะถูกยึดอาจสูงถึง 2 ล้านหลังคาเรือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯทั้งหมด

นายปริทรรศน์ยังกล่าวถึง 10 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องคือ

1. ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีความพยายามในการสร้างราคา ทำให้ความต้องการซื้อบ้าน ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง แต่เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร

2. สินเชื่อ 75-80% ของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นแบบลอยตัว หลังจากที่เป็นแบบคงที่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาแล้ว 2 ปี

3. สังคมของคนสหรัฐฯนิยมการเป็นหนี้ และการขอสินเชื่อ

4. จะมีจำนวนบ้านที่ถูกยึดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินก็อาจขาดทุนและทยอยปิดกิจการตามมา

5. ไม่มีกำลังซื้อเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดปัญหา

6. การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์

7. การให้สินเชื่อที่ไม่ได้พิจารณาจากพื้นฐานเครดิตที่แท้จริง มีการให้ข้อมูลผู้กู้ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

8. กำลังจะมีผู้เกษียณอายุในสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากยุค Baby Boom และ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่มีเงินออมเพียงพอไว้ใช้ในยามเกษียณ

9. มีปริมาณบ้านรอการขายในระบบสูงมาก

10. ระบบเศรษฐกิจที่หากชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อรายได้และการจ้างงานของชาวสหรัฐฯ

ลงทุนอะไรดี

นายปริทรรศน์มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าลงทุน เพราะพื้นฐานดี เศรษฐกิจยังคงขยายตัว เพราะปัญหาการเมืองเริ่มคลี่คลาย นักลงทุนควรรอดูจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน แต่หากจะไปลงทุนในต่างประเทศ ในเอเชียยังนับว่าน่าสนใจอยู่ พร้อมกันนี้ไม่แนะนำให้ลงทุนในสหรัฐฯ เพราะผลกระทบจากวิกฤติ Subprime ยังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ฝุ่นตลบ อีกทั้งยังมีปัญหาเงินดอลลาร์ที่อ่านอ่อนค่า และทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้ ขณะที่การลงทุนในยุโรปก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตกเช่นกัน

Subprime นับเป็นวิกฤติรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางการเงิน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหา Subprime นับเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเงิน เพราะผลกระทบเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ทางการเงินทุกประเภทที่สามารถลงทุนได้ทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตร หุ้นตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทองคำ ปัญหาเกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่ได้เกิดผลกระจายตัวไปในหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชีย ทว่าผลเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในเอเชีย รวมทั้งไทย ที่ทำให้มีการลดลงของดัชนีอย่างมาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปลายทาง เพราะในช่วงที่ผ่านมาหุ้นเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และสภาพคล่องสูง จึงถูกขายออกมาก่อนเมื่อ Hedge Fund ทั้งหลายต้องการเงิน

ผลกระทบต่อหุ้นรายกลุ่มและภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย

สำหรับประเทศไทยเชื่อว่า ปัญหา Subprime จะไม่ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนนักในปีนี้ แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้าอาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่

1. ธุรกิจที่ต้องส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯอเมริกา ที่กำลังมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไทยเคยผูกติดกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯถึง 14% ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น และในเดือนกรกฎาคมการส่งออกไปสหรัฐฯลดลงถึง 13%

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ก็อาจมีปัญหา Subprime แฝงอยู่ได้เช่นกันจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

3. การตื่นตัวของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ นักพัฒนาที่ดินอาจต้องประสบปัญหาด้านแหล่งเงินทุน และสภาพคล่อง ที่นับจากนี้ไปน่าจะขอสินเชื่อได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในโครงการที่ไม่ต้องวางเงินดาวน์ หรือโครงการที่ปล่อยสินเชื่อ 100% ก็น่าจะไม่สะดวกเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจนี้จะสะท้อนออกมาให้เห็นในราคาหุ้นรายกลุ่ม

นายสุกิจยังกล่าวอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหา Subprime เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสินเชื่อของผู้บริโภค ปัญหาเรื่องตลาดรถยนต์ที่ยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มลดลง และทำให้การลงทุนหุ้นกลุ่มยานยนต์เกิดความเสี่ยงจากปัญหาการปลดคนงาน
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Sto ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 25

โพสต์

สถาบันการเงินสหรัฐทยอยปิดฝ่ายสินเชื่อ Subprime ลอยแพพนักงานแล้ว 2.5 หมื่นคน
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, August 23, 2007
24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กับ วิกฤติสินเชื่อสับไพร์ม

เลห์แมน บราเธอร์ โฮลดิ้งส์ อินคอร์ปอชั่น ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในธุรกิจออกตราสารหนี้ระดมทุนเพื่อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ กลายเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สั่งปิดหน่วยธุรกิจสินเชื่อประเภทสับไพร์ม พร้อมกับปลดพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,200 คน เช่นเดียวกันกับ บริษัท แอคเครดิตเทด ปลด 1,600 คน และ เอชเอสบีซี ไฟแนนซ์ อินคอร์ปอเรชั่น ปลดออก 600 คน ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา มีพนักงานวงการเงินตกงาน 25,000 คน จำนวนดังกล่าวกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องตกงานในวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้ว
ธนาคารพาณิชย์ระดับยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ และมีชื่อเสียงทั่วโลกถึง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคาร เจ พี มอร์แกน ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา และธนาคาร วาโชเวีย คอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด แห่งละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท รวมกันทั้ง 4 แห่งเป็นเงินกู้มูลค่าสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจประเภทสินเชื่อ ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจของธนาคารขนาดใหญ่ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายชาร์ล สชูเมอร์ วุฒิสมาชิกสหรัฐ ซึ่งเป็น 1 ในคณะอนุกรรมกรรมาธิการการธนาคารวุฒิสภาสหรัฐ เตือนว่า หน่วยงานสำคัญทั้ง 3 แห่ง ได้แก่กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ และหน่วยงานรัฐบาลกลางอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องเพิ่มมาตรการเข้าช่วยเหลือบรรดาสถาบันการเงิน ที่ปล่อยกู้ให้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติ สามารถชำระคืนหนี้ได้ เมื่อถึงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ซึ่งจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาถึง คาดว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อสับไพร์มมีมากถึง 3.39 แสน ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 11.5 ล้านล้านบาท

นาง ไชล่า แบร์ ประธานสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภาสหรัฐที่มีชื่อว่า เฟดเดอรอล ดีโพสิท อินชัวร์รานซ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ FDIC เปิดเผยว่า สถาบันการเงิน รวมถึงธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ที่ประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่องในขณะนี้ ต้องประสบปัญหาการชำระคืนหนี้ที่ล่าช้าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 17 ปี ของอุตสาหกรรมการธนาคาร และการเงิน โดยหนี้ชำระคืนเกินกว่า 90 วัน มูลค่า 6 หมื่น 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.27 ล้านล้านบาท พุ่งขึ้นถึง 10.6% นับเป็นการเพิ่มขึ้นรายไตรมาสเมื่อปี 2533

ธนาคารกลางกลุ่มประเทศที่ใช้เงินเหรียญยูโร หรืออีซีบี ตัดสินใจเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินยุโรปอีกครั้งเมื่อวานนี้ ด้วยมูลค่ามากถึง 4 หมื่นล้านเหรียญยูโร หรือราว 1.88 ล้านล้านบาท ผ่านวิธีการซื้อคืนพันธบัตรอายุ 3 เดือน เพื่อต้องการให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆในยุโรป มีสภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการในระยะ 3 เดือนข้างหน้าได้คล่องตัวมากขึ้น ในขณะที่ อีซีบี ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากอีซีบี ไม่กระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยระยะสั้น ชี้ ต้องปรับขึ้นต่อไป

สำนักข่าว ยูเอสเอ ทูเดย์ ซึ่งเป็น 1 ในสำนักข่าวชื่อดังในสหรัฐ เปิดผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวน 37 คนในสหรัฐ พบว่า วิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะต้องตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น หรือเฟด ฟันด์ เรต ลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 18 กันยายนที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 11 คน จากทั้งหมดที่สำรวจ 37 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 กลับมองว่าเฟด จะตรึงดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปถึงสิ้นปี

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สหรัฐ อาจตัดสินใจประกาศ ลดมูลค่าการจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจดทะเบียนต่างๆในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สาเหตุจาก วิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นโดยตราสารหนี้สินเชื่อสับไพร์ม วิกฤติดังกล่าว กระทบมูลค่าเงินโบนัสลดลง ตั้งแต่ 5% ถึง 40% เฉลี่ยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และธุรกิจ เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่ผ่านมา แม้แต่โบนัสของผู้จัดการกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) อาจลดลงถึงตั้งแต่ 5% ถึง 10% ในปีนี้
ล่าสุด สถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งมีชื่อว่า คันทรี่ไวด์ ไฟแนเชียล คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ได้รับเม็ดเงินมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.8 หมื่นล้านบาท จากธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในบริษัทดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คันทรี่ไวด์ ไฟแนเชียล คอร์ปอเรชั่น ได้รับเงินกู้เข้ามาปรับโครงสร้างสูงถึง 1.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.9 แสนล้านบาท
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mor ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 26

โพสต์

ธนาคารกลางออสเตรเลียซื้อตราสารแก้ปัญหา Subprime ข่าว 12.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, August 23, 2007
ธนาคารกลางออสเตรเลีย เข้าซื้อตราสารทางการเงินในตลาดเงินวันนี้ รวมมูลค่า 1.88 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 1.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องที่ขาดหายไปกว่า 1.84 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต Subprime สหรัฐฯ

โดยวานนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียได้อัดฉีดเงินจำนวน 2.75 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องตลาดเงินในประเทศ นับเป็นการอัดฉีดเงินมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2544 ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่า หากภาวะการลงทุนในตลาดเงินกลับสู่ระดับปกติจะเกิดสภาพคล่องส่วนเกินราว 700 - 800 ล้านดอลลาร์ในการซื้อขายตราสารทางการเงินแต่ละวัน

ขณะที่นายลิม ยัง รัค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้บอกว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ Subprime ในสหรัฐฯ ไม่มากนัก และยังเชื่อมั่นด้วยว่าเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง รวมถึงการดำเนินมาตรการลดผลกระทบโดยธนาคารกลางทั่วโลกที่ออกมาอย่างรวดเร็วจะช่วยให้สถานการณ์ความผันผวนในตลาดเงินที่เป็นอยู่ที่คลี่คลายลง
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 27

โพสต์

IMF ไม่หวั่น Subprime ชี้เศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ข่าว 13.30 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, August 23, 2007
นายโรดริโก เดอ ราโต้ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีแนวโน้มสดใส แม้ว่าตลาดการเงินกำลังเผชิญความผันผวนอยู่ก็ตาม ซึ่ง IMF ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 5% ทั้งปีนี้และปีหน้า อันเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนของตลาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เป็นปัจจัยชี้นำการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทรุดตัวลงจากผลพวงของวิกฤติตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แก่ลูกค้าด้อยคุณภาพ (Subprime Loan Mortgage) ในประเทศนั้น นายราโต้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯของปีนี้จะขยายตัวที่ระดับปานกลาง หลังจากที่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการที่สดใส อีกทั้งยังมีตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ IMF ไม่ให้ความสนใจต่อผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความผันผวนในตลาดเงิน โดยให้เหตุผลว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ยุโรป และจีนยังคงแข็งแกร่ง
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 28

โพสต์

4 สถาบันการเงินสหรัฐฯ กู้เงิน FED เสริมสภาพคล่อง ข่าว 12.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, August 23, 2007
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ 4 แห่งของสหรัฐฯ กู้เงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายละ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินหลังลดดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) จาก 6.25% เป็น 5.75% โดยสถาบันการเงิน 4 แห่งดังกล่าวประกอบด้วยซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ออฟอเมริกา, เจพีมอร์แกน เชสแอนด์โค และวาโชเวียคอร์ป

นายโทนี่ เครสเซนซี่ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดตราสารหนี้ประจำมิลเลอร์ทาเบคแอนด์โคในนิวยอร์ค บอกว่า การกู้ยืมเงินจากเฟดดังกล่าวเป็นการสานต่อนโยบายเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินของเฟดที่พยายามเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 29

โพสต์

วิกฤตซับไพร์มส่อแววยืด กองทุนรวมแนะรัฐจับตา โดย กระแสหุ้น

กองทุนรวมชี้วิกฤตซับไพร์ม เสียหายกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดมีผลต่อเนื่องถึงกลางปีหน้า แนะรัฐบาลดูแลสภาพคล่องและจับตาอย่างใกล้ชิด หวั่นหากสหรัฐฯแก้ปัญหาไม่ได้ความเสียหายขยายวงกว้างถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายปริทรรศน์ เหลืองอุทัย กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอสซีบี ควอนท์ กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ ซับไพร์ม เจาะวิกฤตชี้โอกาสตลาดหุ้นไทย ว่า ขณะนี้ปัญหาซับไพร์มสร้างความเสียหายประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ถึงจุดวิกฤต โดยมีโอกาสจะขยายตัวต่อและกระทบประชาชนระดับชั้นกลาง ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯถึงกลางปีหน้า และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯซบเซาต่อเนื่อง 1-2 ปี โดยภาระดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อซับไพร์มจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 10 และอาจส่งผลทำให้มีการผิดนัดชำระหนี้สูงถึงร้อยละ 20 ของจำนวนสินเชื่อซับไพร์ม 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสหรัฐฯแก้ปัญหาไม่ได้และความรุนแรงสูงถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้มีการยึดที่อยู่อาศัยสูงถึง 2 ล้านครัวเรือน

ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นยังเป็นทางอ้อม แต่ปัญหาซับไพร์มทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนต่อเนื่อง สภาพคล่องในระบบการเงินโลกตรึงตัว อัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง จึงมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย เพราะสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก ดังนั้น เสนอแนะรัฐบาลดูแลสภาพคล่อง นายปริทรรศน์ กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าว มีผลต่อตลาดเงินทั่วโลก แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ สถานการณ์ก็ยังไม่ปกติ โดยยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาซับไพร์มยังไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เพราะเฟดยังมีเครื่องมือทางการเงิน คือ การลดดอกเบี้ยดิสเคาท์เรตและดอกเบี้ยเฟดฟันเรจ เพื่อแก้ปัญหาซับไพร์ม เมื่อเทียบสินเชื่อซับไพร์มกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แต่ปัญหาหลักคือ กระทบต่อความไม่มั่นใจของนักธุรกิจและนักลงทุน

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น นายไพบูลย์ กล่าวยอมรับว่า ส่งผลในด้านนักลงทุนต่างชาติทำให้เทขายหุ้นออกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะนักลงทุนบางส่วนถูกบังคับขายและนำเงินกลับประเทศ จึงทำให้ทาง บล.ทิสโก้ ปรับเป้าหมายดัชนีปี 2550 ลงจาก 900 จุด เหลือ 800-850 จุดในปลายปีนี้ กำไร บจ.ติดลบร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากซับไพร์มค่อนข้างน้อย พื้นฐานประเทศยังดี ซึ่งเชื่อว่ามีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้น เป้าหมายดัชนีปี 2551 จะยังคงอยู่ที่ 1,000 จุด กำไร บจ.เติบโตร้อยละ 15
http://www.settrade.com/S17_ContentDisp ... okerId=IPO
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 0

news23/08/07

โพสต์ที่ 30

โพสต์

'ซับไพร์ม'ขย่มตลาดหุ้น สมาคมนักวิเคราะห์ลดเป้าดัชนีเหลือ871

23 สิงหาคม พ.ศ. 2550 15:22:00

มรสุม"ซับไพร์ม"ถล่มหุ้นทั่วโลก ลามตลาดหุ้นไทย สมาคมนักวิเคราะห์ปรับเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้เหลือ 871 จุด จากเดิมคาด 880 จุด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้เหลือ 871 จุด จากเดิมที่ 880 จุด หลังตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญปัญหาวิกฤตซับไพร์ม รวมถึงยังกังวลต่อปัจจัยทางการเมือง

"แม้ปัญหาซับไพร์มจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโดยรวม แต่ความรุนแรงต่อจากนี้ไป คาดว่าจะอยู่ในระดับจำกัด โดยคาดการณ์ดัชนีหุ้น ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ 871จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดิมคาด 880 จุด"เอกสารเผยแพร่ของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ ระบุ

สมาคมนักวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่นักวิเคราะห์ตอบมากที่สุด คิดเป็น 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามคือปัจจัยการเมือง รวมถึงผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/2 ... wsid=90944