พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากผ่านฉลุย ใช้ช่องลิดรอน สิทธิ์ผู้ฝาก-ส่งสัญญาณแบงก์ล้มได้ [20 ธ.ค. 50 - 04:11]
copy จาก ไทยรัฐ หน้า เศรษฐกิจ มาฝากค่ะ
พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากผ่านฉลุย ใช้ช่องลิดรอน สิทธิ์ผู้ฝาก-ส่งสัญญาณแบงก์ล้มได้ [20 ธ.ค. 50 - 04:11]
ที่รัฐสภา วานนี้ (19 ธ.ค.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากด้วยมติ 129 ต่อ 4 เสียง ในวาระ 2-3 รวด โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ ให้ยกเลิกการคุ้มครองเงินฝากจากปัจจุบันที่รัฐบาลคุ้มครอง หรือจ่ายคืนเงินฝากให้เต็มจำนวนทั้ง 100% เป็นให้รัฐบาลคุ้มครองเงินฝากเพียงบางส่วน ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยให้มีผลหลังร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน
สำหรับสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 70 ที่ กำหนดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝาก โดยให้ปีที่ 1 หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือในช่วงตั้งแต่เดือน ก.ค.2551-มิ.ย.2552 รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก หรือจ่ายคืนเงินให้ประชาชนผู้ฝากเงิน ในกรณีสถาบันการเงินล้ม หรือเกิดปัญหาเต็มจำนวนตามวงเงินที่ฝากในแต่ละบัญชี ส่วนปีที่ 2 ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2552 ให้ลดลงมาคุ้มครองเพียง 100 ล้านบาท ต่อบัญชี ในปีที่ 3 หรือตั้งแต่เดือน ก.ค. 2553 ลดลงมาคุ้มครองเหลือ 50 ล้านบาทต่อบัญชี ในปีที่ 4 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. 2554 คุ้มครองเพียง 10 ล้านบาทต่อบัญชี และปีที่ 5 หรือประมาณเดือน ก.ค. 2555 เป็นต้นไป รัฐบาลจะให้การคุ้มครองเงินฝากเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ปีแรกของการบังคับ ใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้เวลาหลังปีที่ 5 เห็นควรให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเงินฝาก ก็ให้ตราเป็นร่าง พ.ร.บ. มาขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ยังกำหนดเงินทุนประเดิมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และ กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุน แต่ ต้องเรียกเก็บไม่เกิน 1% ต่อปีของยอดเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินในอัตรา 0.4% หากสถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนหรือส่งไม่ครบตามกำหนดระยะเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราไม่เกิน 2% ต่อเดือน ของจำนวนเงินนำส่ง และยังกำหนดให้สถาบันการเงิน ให้ผู้ฝากเงินที่ต้องการรับความคุ้มครองกรณีสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องยื่นขอรับ เงินใน 40 วัน จึงจะได้รับเงินคุ้มครองด้วย
ทั้งนี้ บรรยากาศในการพิจารณา พ.ร.บ.มีการ อภิปรายจากสมาชิก สนช.เพียงเล็กน้อย โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่า การกำหนดการคุ้มครอง เงินฝาก ไม่ควรตัดคำว่าสถาบันการเงิน โดยรัฐ ออก เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความได้ว่า สถาบันใดคุ้มครองหรือไม่ และควรแก้ไขให้การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาในกรณีภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงมีนัยสำคัญ ก็ไม่ควรแก้ไขลดวงเงินคุ้มครองให้เหลือน้อยกว่าที่ พ.ร.บ.กำหนดไว้ เนื่องจากอาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของ ประชาชนผู้ฝากเงินได้ เพราะสิทธิ์ของพระราชกฤษฎีกาไม่ ควรมาลดสิทธิ์การคุ้มครองของ พ.ร.บ. ดังนั้น การขอ แก้ไขของรัฐบาลที่จะทำในอนาคตไม่ควรลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝากน้อยกว่าที่ พ.ร.บ.กำหนด ควรให้แก้ไขได้เฉพาะกรณีเพิ่มวงเงินคุ้มครองเท่านั้น
ด้านนายอัมมาร์ สยามวาลา สนช. กล่าวว่า การคุ้มครองดังกล่าวหากในกรณีที่มีสถาบันการเงินเกิดปัญหาปิดตัวพร้อมกัน 1 หรือ 2 ธนาคารพร้อมกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจอาจไม่ดี รัฐบาลอาจจะมีปัญหาก็ควรจะเปิดให้แก้ไขพระราชกฤษฎีการลดหรือเพิ่มได้ เพราะจะได้ช่วยให้การเมืองมีความคล่องตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเห็นควรให้เพิ่มอย่างเดียวก็ไม่ติดใจแต่อยากให้เผื่อไว้
ขณะที่นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมาย และคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เวลาการบังคับใช้กฎหมายยืดหยุ่นพอสมควร น่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ฝากเงินมากมายนัก เพราะกว่าจะถึงเดือน ก.ค.ปี 2555 ที่รัฐจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ก็มีเวลาปรับตัวพอสมควร หรือ หากรัฐบาลเห็นว่า ยังไม่เหมาะสมที่จะลดเหลือ 1 ล้านบาท ก็อาจขอแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาได้ เพราะการกำหนดวงเงินต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพในแต่ละช่วงให้เหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่าการผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อดี 2 ด้านคือ ช่วยให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดและพัฒนาความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น จากเดิมที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลย เพราะ พ.ร.บ.นี้ สถาบันการเงินใดไม่เข้มแข็ง ประชาชนก็ไม่เลือกฝาก และ พ.ร.บ.นี้ยังช่วยให้ ประชาชนมีการพัฒนาระบบการเงินการหาผลตอบ แทนมากขึ้นเพิ่มเติมจากการฝากเงินอย่างเดียว.