ดอยพลังงาน จริงหรือไม่

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์

ดอยพลังงาน จริงหรือไม่

1. จริง
13
54%
2. ไม่จริง
11
46%
 
โหวตทั้งหมด: 24

แผ่วเบา
Verified User
โพสต์: 391
ผู้ติดตาม: 0

ดอยพลังงาน จริงหรือไม่

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมอ่านบทความนี้แล้ว  ผมเชื่อตามที่ดร.นิเวศน์และบัฟเฟตต์คาดการณ์นะครับ  และถ้าเป็นตามนี้จริง  มุมมองต่อหุ้นกลุ่มพลังงานจะเปลี่ยนไปเยอะเลยครับ

พวกหุ้นพลังงานทั้งหลายที่โดนกระหน่ำราคาลดล้างสต็อค  จะน่าสนใจขึ้นมาทันที

แต่ผมก็ไม่มั่นใจนัก จึงอยากจะทราบความเห็นเพื่อนๆครับ
Peak Energies ดอยพลังงาน
โลกในมุมมองของ Value Investor


ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  29 มิถุนายน  2551

               พฤติกรรมของกำลังการผลิตของน้ำมันปิโตรเลียมที่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรกและจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดหลังจากที่แหล่งน้ำมันถูกดูดออกไปใช้ประมาณครึ่งบ่อ  หลังจากนั้นกำลังการผลิตจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ  จนหมดบ่อ    ซึ่งเราเรียกกำลังการผลิตที่จุดสูงสุดนี้ว่า  Peak Oil นั้น   ในความเป็นจริง  ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม   แต่รวมไปถึงพลังงานประเภทอื่นทั้งหมดที่เป็นพลังงานประเภทใช้แล้วหมดไปไม่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้เช่นเดียวกับน้ำมัน     ลองมาไล่ดูว่ามีพลังงานอะไรบ้าง

               แก๊สธรรมชาติ  นี่คือพลังงานที่กำลังมาแรงหลังจากที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   ผมยังจำได้ว่าในสมัยก่อนเขาต้องจุดไฟเผาทิ้งเวลาที่ขุดเจอน้ำมันแล้วมีแก๊สธรรมชาติผสมมาด้วย    ในปัจจุบันดูเหมือนว่าแก๊สธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำมัน   การใช้แก๊สธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ    ว่าที่จริงในเมืองไทยเรานั้น  ในการผลิตไฟฟ้าดูเหมือนว่าเราจะใช้แต่แก๊สธรรมชาติเป็นหลัก   เพราะนี่คือสิ่งที่เราค้นพบในบ้านเรา   ในระดับโลกเอง   แก๊สธรรมชาติก็มีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ  ปริมาณการใช้ประมาณ 60% ของน้ำมัน   อย่างไรก็ตาม   แก๊สธรรมชาติเองนั้นก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีกำลังการผลิตใกล้  Peak หรือยอดดอยเหมือนกัน   นั่นคือ  บางคนบอกว่าภายใน 3-4 ปีนี้   อย่างมากไม่เกิน 13-14 ปี  กำลังการผลิตถึงจุดสุดยอดแน่นอน   หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ  ลดลง    เรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้   เพราะอย่างแหล่งแก๊สของไทยเองก็ดูเหมือนว่าจะมีเวลาหมดภายในเวลา 10 หรือ 20 ปีเหมือนกัน

               ถ่านหิน   นี่คือแหล่งพลังงานที่ใหญ่มากหรืออาจจะเรียกว่าใหญ่ที่สุด   แต่นี่ก็เช่นเดียวกัน  มี  Peak Coal  หรือดอยถ่านหินเช่นกัน   เพราะถ่านหินนั้น   ในช่วงที่พบหรือเริ่มผลิตแรก ๆ   เราสามารถที่จะขุดได้ง่าย   แทบจะเรียกว่าตักได้เลยจากพื้น   และถ่านหินที่เริ่มมีการขุดชุดแรก ๆ  มักจะเป็นถ่านหินคุณภาพดีที่ให้พลังงานสูงและมีเศษเหลือที่ไม่พึงประสงค์น้อยพูดง่าย ๆ  เป็นถ่านหินคุณภาพดี   หลังจากนั้น  พอถึงจุดสุดยอด   ถ่านหินที่ขุดง่าย ๆ  ก็จะหมดไป   จะต้องขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ  และถ่านหินที่ได้มีคุณภาพแย่ลงเรื่อย ๆ    และนี่คือปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิด  Peak Coal  ในทำนองเดียวกับ  Peak Oil   สรุปว่า   กำลังการผลิตถ่านหินนั้นก็ใกล้ถึงจุดสุดยอด   แม้ว่าจะดูว่าสำรองของถ่านหินนั้นมีมหาศาล  แต่กำลังการผลิตใกล้ถึงจุดสูงสุด   คาดการณ์กันว่าประมาณ  13  ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับแก๊สธรรมชาติ

               พลังงานนิวเคลียร์สำหรับหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นทางออกหลังจากน้ำมันหมดโลก   เพราะนอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดแล้ว   มันยังไม่ก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย    แต่นี่ก็เช่นกัน   มันจะเกิดจุดที่กำลังการผลิตถึงจุดสูงสุดคือเกิด Peak เหมือนกัน   เพราะแร่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เหมาะสมนั้นก็กำลังใกล้หมดและราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ   การค้นพบก็น้อยลงเรื่อย ๆ   และคาดว่าจะเกิด  Peak  ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า

               พลังงานอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มมีการใช้มากขึ้นก็คือ  ทรายน้ำมันและหินน้ำมันซึ่งมีมากในแคนาดา   การใช้ก็คือ   นำมันมาสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันดิบออกมา    แต่การสกัดน้ำมันจากทรายและหินน้ำมันนั้นใช้พลังงานมหาศาลและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก   ดังนั้น   นี่ก็คงจะทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

               นอกจากพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป   ทางออกที่จะใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นใหม่ได้เองก็มีปัญหาในด้านของกำลังการผลิตเช่นกัน   ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

               พลังน้ำ    นี่คือพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนต่าง ๆ    นับถึงวันนี้อาจจะพูดได้ว่าเขื่อนใหญ่ ๆ  ทั้งหลายในโลกนี้   ถูกสร้างหมดไปแล้วโดยเขื่อนสุดท้ายน่าจะเป็นเขื่อนไตรผาที่เมืองจีน   แต่เขื่อนนั้นรวมกันทั้งหมดสามารถให้พลังงานคิดเป็นเพียงประมาณ 2- 3% ของการใช้พลังงานของโลกเท่านั้น

               พลังงานที่กำลังร้อนแรงมากหลังจากราคาน้ำมันขึ้นไปสูงก็คือพลังงานชีวภาพ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  เอธทานอล  ที่เราเอามาผสมเป็นแก๊สโซฮอล   หลายคนคิดว่านี่คือทางออกโดยเฉพาะในประเทศของเราที่สามารถปลูกพืชผลได้มากพอที่จะทำเอธทานอลใช้แทนน้ำมันได้   แต่ถ้ามองกันในภาพใหญ่ระดับโลกแล้ว   การเอาพืชมาทำเป็นพลังงานนั้น    ในทางทฤษฎี   อย่างน้อยก็ในขณะนี้   เป็นสิ่งที่ยังไม่มีเหตุผล   เพราะการปลูกพืชนั้นเราต้องใช้พลังงานเช่น   ต้องเอารถมาไถหว่าน   ต้องใส่ปุ๋ยซึ่งมาจากน้ำมัน   ต้องรดน้ำ  ต้องเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้เครื่องจักร   ต้องนำผลิตผลไปส่งที่โรงงาน   และในโรงงานก็ต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิต   เสร็จแล้วก็ต้องนำเอาเอธทานอลที่ได้ไปส่งที่ปั๊ม    คิดแล้ว   พลังงานที่ใช้ไปในการผลิตเอธทานอลหนึ่งลิตรนั้น   เผลอ ๆ จะมากกว่าพลังงานที่ได้จากเอธทานอลหนึ่งลิตรด้วยซ้ำ   เพราะฉะนั้น   ในระยะยาวแล้ว   พลังงานจากพืชจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาพลังงานหมดโลก

         พลังงานที่ดูเหมือนว่าจะมีมากอย่างไม่จำกัดและมีต้นทุนในการผลิตต่ำมากก็คือ  พลังงานแสงแดด   พลังงานลม  พลังงานจากคลื่นในทะเล   และที่น่าสนใจมากก็คือ  พลังความร้อนจากใต้ดินลึกลงไปในโลก    ปัญหาของพลังงานเหล่านี้ก็คือ   การลงทุนสร้างแผงเซลแสงอาทิตย์    การสร้างกังหันลม   การสร้างอุปกรณ์ทั้งหลายที่จะมาจับพลังงานเหล่านี้มาใช้นั้น  ต้องลงทุนและ  "ใช้พลังงาน"  มหาศาล  เช่นต้องใช้เหล็กซึ่งเหล็กเองต้องใช้พลังงานมาถลุงและอื่น  ๆ   อีกมาก    เหนืออื่นใดก็คือ   นับถึงวันนี้   พลังงานในกลุ่มนี้ยังมีการใช้น้อยมากรวมกันแล้วเพียงไม่เกิน  1%  ของการใช้พลังงานทั้งโลก   ดังนั้น  การหวังพึ่งพิงพลังงานจากแหล่งเหล่านี้จึงยังหวังไม่ได้

         ข้อสรุป ณ.วันนี้ก็คือ  พลังงานของโลกทุกแหล่งน่าจะ  Peak  หรือมีกำลังการผลิตสูงสุดในช่วงประมาณปี 2020 ถึง 2025 หรืออีกประมาณ 12-17  ปี ข้างหน้า  ยกเว้นว่าจะมีพลังงานอะไรใหม่ขึ้นมาในโลก  ซึ่งการ Peak  นี้ก็อาจจะนำไปสู่การขัดแย้งเพื่อแย่งแหล่งพลังงานกัน   หนทางแก้ก็คือ   การลดการบริโภคพลังงานลง   และการลดการบริโภคที่ดีที่สุดก็คือ   ราคาของพลังงานก็ควรจะต้องเพิ่มขึ้น   ทั้งหมดนี้   ยังเป็นเรื่องของการคาดเดาและไม่ได้เป็นการบอกใบ้ว่า  ราคาของพลังงานทุกชนิดจะต้องเพิ่มขึ้นหรือหุ้นพลังงานทุกตัวน่าจะดี    พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเอธทานอล   ผมยังจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน  คนบอกว่า  ถ้าราคาน้ำมันถึง 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล  การผลิตเอธทานอลจะคุ้มค่าเพราะต้นทุนของเอธทานอลอยู่ตรงนี้   แต่พอน้ำมันขึ้นไปเป็น 100  เป็น 130 เหรียญ  การผลิตเอธทานอลก็ยังไม่เห็นได้กำไรเป็นเรื่องเป็นราว  เหตุผลก็คือ   เมื่อราคาน้ำมันเพิ่ม  วัตถุดิบและค่าใช้จ่ายต่าง  ๆ   ในการผลิตเอธทานอลก็ขึ้นตาม   อย่าลืมว่า   การผลิตเอธทานอลนั้นก็ต้องใช้น้ำมันและพลังงานไม่น้อย
noooon010
Verified User
โพสต์: 2712
ผู้ติดตาม: 0

ดอยพลังงาน จริงหรือไม่

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ผลิตพลังงาน(น้ำมัน)กลุ่ม non - opec และ กลุ่ม opec เองก็คือ น้ำมันที่เค้าผลิต ไม่ได้มีคุณภาพเท่าที่ตลาดหวังไว้ / ไม่สามารถรักษาคุณภาพได้เท่าเดิมครับ

ดูตอนที่ นายกคนเก่าจะนำเข้าน้ำมันคุณภาพต่ำจาก รัสเซียเข้ามาสิครับ

ส่วนคนที่คิดว่า จะมีการลดการใช้รถยนต์ & ลดการใช้น้ำมัน
ก็ต้องมองความจริงที่ว่า เราสามารถทำแบบนั้นได้จริงหรือครับ
มีคนไม่ใช้รถ โดยนั่งรถตู้/รถเมล์ได้ตลอดหรือครับ
(ผมนั่งรถเมลล์ รถตู้ครับ แต่รู้สึกว่าน่าจะยากสำหรับหลายคน)

มีคนจะนั่ง BTS ในขณะที่แบกของและถุงหลายๆใบ หรือแบกพัดลมกลับบ้านด้วย ... จะมีสักกี่คนครับ :?

ส่วนเรื่องน้ำมันที่ผลิตปริมาณมากนั้น ถ้ามองถึงระยะยาว
ปริมาณน้ำมันดิบของโลกเราน่าจะลดลงครับ

และการสำรวจและผลิตน้ำมันในสถาณที่ใหม่ๆจะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องประเมินอีกที

ว่าแต่เมื่อไหร่ USA จะนำน้ำมันมาใช้หนอ

เอาเป็นว่า ผมขอตอบว่า ในไม่ช้าน้ำมันจะลดน้อยลงครับ
และที่เราเห็นกันก็คือเค้าพยายามหาพลังงานใหม่ๆ และพยายามลดการใช้น้ำมัน

ว่าแต่ว่า เราขี่จักรยานไปทำงานกันบ่อยไหมครับ แซวเล่นนะครับ :D
อย่าลืมให้เวลากับครอบครัว และสังคมรอบๆข้างของคุณนะครับ

มีสติ และมีความสุขกับการลงทุนนะครับผม


นักลงทุนที่เก่งที่สุดมิใช่คนที่ซื้อขายไวที่สุด
แต่คือคนที่นำสติกลับมาได้เร็วที่สุด
หลายครั้งส่งคำสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ผลตอบแทนมากกว่าซื้อผ่านnetหากเราขาดสติ
beammy
Verified User
โพสต์: 3345
ผู้ติดตาม: 0

ดอยพลังงาน จริงหรือไม่

โพสต์ที่ 3

โพสต์

สุดท้ายแล้ว พลังงานทางเลือก จะมาเอง ครับ

งั้นผมรอซื้อหุ้นพลังงานทางเลือกดีกว่า  :8)  ...
โพสต์โพสต์