Peter Lynch - One Up On Wall Street

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
Joraka
Verified User
โพสต์: 61
ผู้ติดตาม: 0

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 1

โพสต์

บทที่ 01 ล้างมือในอ่างทองคำ

ปีเตอร์ ลินช์ เกษียณอายุก่อนวัย หรือ เซียนหุ้นอำลาวงการ ฯลฯ นี่คือข้อความพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่วางจำหน่ายทั่วสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคม 2533

คำถามแรกที่เราซึ่งเป็นคนไทยจะต้องถามคือ นายปีเตอร์ ลินช์ เป็นใคร มีความสำคัญมากเพียงใด หนังสือพิมพ์ถึงได้เอาขึ้นไปพาดหัวหน้า 1 พร้อมๆ กันเกือบทุกฉบับ อ๋อแน่ล่ะ เขาย่อมมีความสำคัญมากพอดูทีเดียวสำหรับอเมริกันชนที่นิยมเล่นหุ้น เพราะทุกวันนี้คนอเมริกัน 1 ใน 250 คนจะต้องเอาเงินไปฝากแกไว้เพื่อลงทุนเล่นหุ้น และกองทุนของนายปีเตอร์ ลินช์นี้เป็นกองทุนเล่นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

กองทุน มาเกลเลน ของบริษัท ฟิเดลล์อินเวสต์เมนท์ จำกัด ที่นายปีเตอร์ ลินช์ ดำรงตำแหน่งประธานอยู่นี้มียอดเงินสูงถึง 13,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 338,000 ล้านบาท จัดว่าเป็นกองทุนเล่นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีหุ้นอยู่ในมือ (ที่เรียกว่า พอร์ตโฟลิโอ) ถึง 1,500 ตัว ตั้งมาแค่ 13 ปีแต่ทำกำไรให้แก่ผู้ลงทุนถึง 2,510% ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณนำเงินไปร่วมกองทุนนายปีเตอร์ ลินช์ 10,000 เหรียญ หรือประมาณ 260,000 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้หรือวันนี้ถ้าคุณถอนเงินออกมาคุณจะไดรับเงินถึง 190,000 เหรียญ หรือประมาณร่วม 5 ล้านบาท เพราะเหตุนี้เองหนังสือพิมพ์ถึงได้ประโคมข่าวการอำลาวงการหุ้นของนายลินช์อย่างครึกโครม

คำถามต่อมากก็คือ แล้วทำไมนายนายลินช์จึงต้องเกษียณอายุ หรือ ทำไมนายลินช์จึงต้องอำลาวงการหุ้น ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ก็จะเดาว่า อ๋อนายลินช์คงมีวัยล่อเข้าไป 58 หรือ 59 แล้วละมั้ง ซึ่งถ้าเป็นวัยขนาดนี้ถ้าเกษียณอายุไปแล้วก็ไม่น่าจะแปลกใจอะไร เพราะขนาด พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผบ.ทบ. และ ผบ.สูงสุด ยังเกษียณอายุด้วยวัยแค่ 55 ปีเท่านั้น แต่นายปีเตอร์ ลินช์ เกษียณอายุงานตัวเองด้วยวัยแค่ 46 ปีเท่านั้น เป็นธรรมดาที่นักลงทุนฝากเงินไว้กับกองทุนมาเกลเลนจะต้องเสียดาย เพราะในเมื่อตัวทำเงินทำทอง ล้างมือในอ่างทองคำ ไปแล้ว บรรดานักลงทุนทั้งหลายที่ไว้เนื้อเชื่อใจในฝีมือของ ปีเตอร์ ลินช์ คนนี้ก็เริ่มทยอยถอนเงินออกกันเป็นทิวแถว เพราะถ้าเรือปราศจากหางเสือเช่นนี้ก็ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงไปล่องด้วย สู้กระโจนขึ้นฝั่งปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

เหตุผลที่นายปีเตอร์ ลินช์ เกษียณอายุก่อนวัยอันสมควรนั้นแกให้เหตุผลว่า ผมตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้ นี่เป็นสัจธรรมที่แกต้องตอบคำถามลูกค้าที่ถามไถ่กันมามากมาย แต่ลึกๆ นั้นนายลินช์เผยออกมาในตอนหลังว่า แกเป็นคนมีปมด้อย พ่อของแกเสียชีวิตเมื่ออายุ 46 ปีเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นนายลินช์ยังเป็นเด็กชายตัวน้อยๆ วัย 10 ขวบแค่นั้นเอง พ่อนายลินช์เป็นคนขยันเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ แต่เมื่อมองไม่เห็นความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้แกจึงลาออกไปเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท บอห์นแฮนคอก จำกัด เมื่อตอนที่นายลินช์อายุได้ 7 ขวบ พ่อของแกก็เริ่มป่วยหนัก เทียวเข้าเทียวออกกับโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ หลังจากนั้นได้ 3 ปีพ่อของแกก็เสียชิวิตด้วยโรคมะเร็งในสมอง

เมื่อสิ้นผู้นำในครอบครัว แม่ของนายลินช์ก็ต้องทำหน้าที่เป็นช้างเท้าหน้าออกหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป และเด็กชายลินช์เองก็ไม่ได้งอมืองอเท้าออกไปเป็นแคดดีหารายได้เสริมครอบครัวไปด้วย พร้อมกันนี้ก็ส่งเสริมการเรียนของตัวเองด้วยเช่นกัน

นายปีเตอร์ ลินช์ บอกว่า ผมทำงานวันละ 10 กว่าชั่วโมงมาถึง 13 ปีเต็ม วิ่งไปซักถามและหาข้อมูลนับพันบริษัทเพื่อมาประกอบการตัดสินใจซื้อหุ้นให้แก่ผู้มาร่วมลงทุนจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว ตอนนี้ก็แต่งงานมา 22 ปี มีลูก 3 คนเป็นสามใบเถา คือลูกสาวล้วนๆ วัย 15, 11 และ 7 ปี และขณะนี้ฐานะทางครอบครัวก็มั่นคง ชื่อเสียงจัดว่าดังพอสมควร แล้วจะให้ผมต้องการอะไรอีกล่ะ

ตอนทำงานผมต้องทำงานถึง 6 วันต่ออาทิตย์ ตื่นตีห้าทุกวัน ถึงที่ทำงาน 06.45 น. และออกจากที่ทำงาน 6 โมงเย็น กลับถึงบ้าน 1 ทุ่มทุกวัน แถมวันอาทิตย์ยังต้องไปทำงานเพิ่มอีก 4 ชั่วโมงก่อนไปโบสถ์ พวกคุณจะใช้งานผมหนักแบบนี้อีกหรือ เพราะฉะนั้นผมจึงขอเกษียณอายุทำงานด้วยวัยแค่ 46 ปีเท่ากับตอนที่คุณพ่อผมเสียชีวิตตอนนั้น

ความจริงแล้ว นายปีเตอร์ ลินช์ เล่าให้ฟังว่า ผมตั้งใจจะอำลาวงการหุ้นตั้งแต่ปี 1987 แต่ในปีนั้นเกิดวิกฤตการณ์ ตลาดหุ้นถึงคราววิปโยคร่วงไปตั้ง 1,000 จุด ผมจึงจากไปตอนนั้นไม่ได้ เพราะคนจะดูว่าผมเป็นผู้แพ้ ผมต้องกอบกู้สถานการณ์อยู่ 2 ปีเต็ม และบัดนี้มันเป็นจังหวะที่งาม สมควรแก่เวลาเพราะลูกค้าทุกคนร่ำรวยกันถ้วนหน้า ผมจึงขอล้างมือในอ่างทองคำเสียที

ผลงานและเคล็ดลับของนักเล่นหุ้นระดับ เซียนเหนือเซียน นี้ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงตลอดเวลา และยังคงเป็นตำนานที่ย่าน วอลสตรีท จะต้องจดจำไปอีกนานทีเดียว เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายหรือนิทานที่มาผูกเรื่องให้นักเล่นหุ้นน้ำลายหก กรุงเทพธุรกิจ ได้ติดตามเอามาถ่ายทอดให้บรรดานักลงทุนในเมืองไทยรู้ถึงเคล็ด กลวิธี วิธีการ ฯลฯ ที่จะสร้างกำไรให้แก่ตัวเองในการตัดสินใจเป็นนักลงทุน และเมื่อท่านอ่านจบเล่มแล้ว อะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนกับบรรยากาศการเล่นหุ้นในเมืองไทย ก็ขอให้จำกลเม็ดนั้นเอามาประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเรา เชื่อว่าจะช่วยได้มากทีเดียว

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนก็ได้ความรู้คือ แค่รู้จักว่านายปีเตอร์ ลินช์คือใคร หรือรู้ว่านายลินช์ขณะนี้เลิกเล่นหุ้นไปแล้ว ถ้าท่านได้ความรู้แค่นี้ ขอโทษ อนาคตการเป็นนักเล่นหุ้นยังอยู่อีกไกล เพราะในบทนี้นายปีเตอร์ ลินช์ สอนไว้ว่า การตัดสินใจเกษียณอายุตัวเองในจังหวะที่สวย รู้จักประมาณตนและสถานการณ์รอบด้านนั้นคือคุณสมบัติข้อแรกของการเป็นนักเล่นหุ้นที่รู้ว่าเมื่อใดควรบุก เมื่อใดควรถอยนั่นเอง
บุคคลทั่วไป
ผู้ติดตาม: 0

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 2

โพสต์

วรรคทอง คือ รู้จักประมาณตนและสถาณการณ์รอบด้าน นั้นคือคุณสมบัติข้อ
แรกของการเป็นนักเล่นหุ้นที่รู้ว่า เมือใดควรบุก เมื่อใดควรถอยนั่นเอง
Joraka
Verified User
โพสต์: 61
ผู้ติดตาม: 0

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 3

โพสต์

บทที่ 02 ก่อนจะเป็นนักเล่นหุ้น

นายปีเตอร์ ลินช์ แกบอกว่าสัจธรรมที่พบในวงการหุ้นก็คือ นักเล่นหุ้นไม่มีใครเป็นเซียน และไม่มีใครมีพรสวรรค์ในการเล่นหุ้น เพราะการเสี่ยงแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้พรสวรรค์อะไรเลย แม้กระทั่งตำแหน่ง เซียนหุ้นบรรลือโลก ที่ยกย่องแก แกก็บอกว่า ผมรับไม่ได้

นายลินช์บอกว่า วันที่ผมโผล่ออกมาลืมตาดูโลก ขอโทษครับ ตลาดหุ้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับผมทันที เพราะหุ้นวันนั้นตกรูด ดัชนีดาวโจนส์ร่วงไป 10 กว่าจุด เพราะตำแหน่ง เซียน ที่เขายกย่องผมนี้แหละ ทำให้ผมสงสัยว่า ตลาดหุ้น ดวงคงจะสมพงศ์กับผมกระมัง ผงเลยไปค้นดัชนีดาวโจนส์วันที่ผมเกิดดูก็พบว่ามันร่วงตามที่ผมบอกนั่นแหละ รู้สึกว่าตลาดหุ้นช่างไม่แยแสเลยนะที่ เซียนหุ้นจุติมาในวันนั้น ลินช์มักจะเหน็บแนมแบบนี้เป็นประจำถ้าหากว่าใครมายกย่องแกว่าเป็นเซียน

อีกอย่างหนึ่งที่แสดงว่า ตลาดหุ้น จะไม่สมพงศ์กับชีวิตแกก็คือ คราวใดที่แกจะรับตำแหน่งเด่นๆ หรือจะมีอนาคตอะไรดีๆ พับผ่าซิ ตลาดหุ้นเป็นต้องร่วงทุกทีซิน่า ยกตัวอย่างหนึ่งที่นายลินช์บอกว่าไม่มีวันลืมได้เลยก็คือ ผมเซ็นสัญญาจะเขียนหนังสือให้กับหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ใช้ชื่อเรื่องว่า ONE UP ON WALL STREET ซึ่งผมถือว่าจะเป็นก้าวสำคัญในชีวิตเลยละ พับผ่าซิ ตลาดหุ้นเริ่มร่วงถดถอยไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันเซ็นสัญญา จนให้หลังสองเดือนราคาหุ้นนิวยอร์คตกลงไปพันกว่าจุด นี่ถ้าผมขายลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ไปทำเป็นหนัง รับรองเชื่อได้เลยว่าราคาหุ้นจะต้องร่วงไปเหมือนกับจะมีสงครามโลกครั้งที่ 3 แน่ นายลินช์กล่าวประชดตัวเอง

คนอเมริกันทั่วไปมีความหวาดหวั่นมากเรื่องหุ้นตกในช่วงปี 1950 1960 และ 1970 แต่ที่นายลินช์เปิดสถิติดูปรากฏว่าดัชนีราคาเฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัวทุกครั้ง และดูจะบูมมากกว่าปี 1980 ด้วยซ้ำไป และนายลินช์เล่าว่า ไม่ว่าหุ้นในตลาดราคาจะดีสักเพียงใดลุงๆ น้าๆ มักจะเตือนว่าถอยไปให้ห่าง อย่าเข้าไปยุ่งเด็ดขาด เพราะมันอาจหมดเนื้อหมดตัวได้ในพริบตา แต่ชีวิตคนเราถ้าจะดังในทางนี้แล้วก็หนีไม่พ้น นายลินช์ได้เล่าประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องหุ้น เข้าไปข้องแวะกับชีวิตแกได้อย่างไรว่า ผมไปสมัครเป็นแคดดีที่แบรเบิร์น สปอร์ตคลับในบอสตัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1955 พอเข้าทำงานแรกเท่านั้น ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ก็ร่วงจาก 467 ไปที่ 460 จุดพอดี เห็นไหมล่ะอะไรพอเริ่มจะดีหน่อย หุ้นก็ร่วงเสียแล้ว แต่ตอนนั้นผมไม่แคร์เพราะผมยังไม่ได้เล่นหุ้น ผมเป็นแคดดีที่นี่รายได้ดีทีเดียว แค่บ่ายวันเดียวผมมีเงินเท่ากับเด็กส่งหนังสือพิมพ์ที่ต้องทำงานตลอดสัปดาห์ และนักเล่นกอ์ฟที่ผมบริการนั้นเป็นระดับผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฟิเดลิตี และเขานี่แหละที่จ้างให้ผมทำงานจนมีเชื่อเสียงโด่งดังมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นายลินช์เล่าต่อไปว่า ทุกครั้งที่ผมออกรอบกับแก ไม่ใช่ผมออกรอบเล่นกอล์ฟกับแกนะครับ คือแกออกรอบกับเพื่อนแล้วผมแบกถุงกอล์ฟให้แก เวลาแกตีชอตสวยๆ ปากแกก็มักจะพร่ำว่า แหมลูกนี้สวยเหมือนกับหุ้นตัวที่แกเล่นเลยพับผ่าซี แกพูดกรอกหูอยู่ทุกวี่ทุกวัน ในขณะที่ญาติก็เตือนว่าไปแตะต้องนะ ซึ่งมันตรงกันข้ามกันเลย ตอนนั้นยอมรับว่ามึนไปหมดไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี เพราะคนเล่นกอล์ฟร่วมก๊วนที่พูดคุยเรื่องหุ้นให้ฟังนั้นมักจะเล่าให้ฟังว่าเล่นหุ้นได้ทุกวัน แถมทิปหนักด้วย แต่ผมก็ต้องฟังหูไว้หูล่ะครับ

นายลินช์เล่าต่อไปว่า ผมต้องหาเงินเรียนเองมาตั้งแต่เด็กจนจบไฮสคูล แล้วเข้าเรียนต่อที่บอสตันยูนิซิตี้ และที่นี่ผมก็เรียนฟรีเพราะเขามีทุนให้สำหรับแคดดีที่เรียนดีด้วย แต่คุณเชื่อไหมครับว่าผมไม่ได้เรียนเกี่ยวกับตัวเลขหรือวิทยาศาสตร์เลย ในขณะที่ผู้ที่หวังจะเอาดีทางด้านการลงทุนต่างกระวีกระวาดตั้งหน้าตั้งตาเรียน ส่วนผมโน่นแน่ะ ไปเรียนด้านศิลป์เป็นส่วนใหญ่ พยายามหลีกเลี่ยงทางด้านธุรกิจให้มากที่สุด ผมชอบปรัชญาและจิตวิทยา รวมทั้งประวัติศาสตร์มากที่สุด

แต่คนเราคู่แล้วมักไม่แคล้วกัน ฉันใดก็ฉันนั้นวิถีชีวิตที่นายลินช์ซึ่งเป็นคนไม่ชอบตัวเลข ไม่ชอบหุ้น แต่พรหมลิขิตให้แกต้องกลายเป็นนักเล่นหุ้นตัวฉกาจไปในที่สุด ซึ่งนายลินช์บอกว่า มันก็ดีไปอย่างที่ผมไม่เรียนเกี่ยวกับตัวเลขตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเรียนจิตวิทยาและปรัชญานั้นเป็นการเตรียมสมองให้เป็นผู้เล่นหุ้นที่ดีนั่นเอง

ทฤษฎีข้อหนึ่งที่นายลินช์พบจากประสบการณ์การเล่นหุ้นก็คือ การเล่นหุ้นนั้นเป็นศิลป์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ใครก็ตามที่ถูกจับมาเรียนบวก ลบ คูณ หารนั้นอาจะมองหุ้นเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่อาจมองเจาะทะลุปรุโปร่งเข้าไปด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งการเล่นหุ้นนั้นจะต้องอาศัยหลายๆ อย่างมาประกอบกันทั้งจิตวิทยา ปรัชญา และตรรกวิทยามาประกอบการตัดสินใจ ตัวเลขเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น

ตอนนี้มาถึงคุณหละ คุณคิดอย่างไรก่อนที่จะเป็นนักเล่นหุ้น อ๋อ คำถามหญ้าปากคอกแบบนี้ใครๆ ก็ตอบได้ เล่นหุ้นก็ต้องการเงินซิยะ จะถามหาพระแสงของ้าวอะไรกัน โอเคครับ ใครๆ ก็คงจะตอบแบบนี้แน่ร้อยทั้งร้อย แต่อยากจะถามต่อไปว่าคุณคิดดีแล้วหรือที่จะกระโดดลงไปในยุทธจักรแห่งความตื่นเต้น มีได้มีเสีย สุขและทุกข์เคล้าน้ำตา และคุณพร้อมแล้วหรือที่จะเป็นเศรษฐีใหม่ หรือไม่ก็หมดตัวเอาง่ายๆ เหมือนกัน

คำถามที่คุณต้องถามตัวเองให้แน่ใจ และต้องตอบให้ได้ด้วยความมั่นใจ คือ
1. คุณมีความจำเป็นในการลงทุนซื้อหุ้นหรือเปล่า
2. คุณมีทางอื่นที่มีผลตอบแทนพอๆ กับการเล่นหุ้นหรือไม่
3. คุณคิดว่าหุ้นเสี่ยงกว่าพันธบัตรหรือไม่
4. คุณควรจะเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว
5. คุณมีความรู้สึกอย่างไรถ้าเกิดหุ้นตกแบบฮวบฮาบ
หากคุณตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ คุณก็ไม่น่าจะเป็นนักเล่นหุ้น เพราะหากเกิดสถานการณ์ผันแปรในตลาดคุณก็อาจจะกลายเป็นคนสิ้นหวังเอาง่ายๆ กลายคนไร้เหตุผลในยามที่สถานการณ์ย่ำแย่ เป็นคนสิ้นหวัง ยอมขายขาดทุนหมดเนื้อหมดตัว เป็นที่รังเกียจของสังคมและญาติโกโหติกา

การเป็นนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นที่ดีจะต้องมีความพร้อม คือต้องตอบปัญหาทั้ง 5 ข้อข้างต้นด้วยความมั่นใจ จากนั้นคุณก็จะต้องเป็นคนที่ขยันหาข้อมูล หาความรู้ สืบเสาะข่าวจากแหล่งต่างๆ ไม่หูเบาเกินไป และต้องไม่เป็นกระต่ายตื่นตูม เป็นคนมีเหตุมีผล แต่ถ้าคุณตอบปัญหาทั้ง 5 ข้อไม่ได้ก็อย่าหวังเลยที่จะเป็นนักเล่นหุ้นที่ดีได้ รังแต่จะเป็นเหยื่อของตลาดเปล่าๆ และคุณจะโทษใครไม่ได้ถ้าคุณตอบตัวเองไม่ได้ เพราะเราเตือนคุณแล้ว
Blueblood
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3645
ผู้ติดตาม: 1

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ อาจารย์ผมเลยนะคนนี้ :)
Joraka
Verified User
โพสต์: 61
ผู้ติดตาม: 0

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 5

โพสต์

บทที่ 03 หุ้นตัวแรกของชีวิตเซียน

นายลินช์ได้เล่าให้ฟังว่าหุ้นตัวแรกที่แกซื้อในชีวิตนั้นแกซื้อตั้งแต่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยบอสตันปีที่ 2 หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นของบริษัทสายการบินมีชื่อว่า ฟลายอิง-ไทเกอร์ ราคาที่ซื้อก็แค่ 7 เหรียญต่อหุ้นเท่านั้น

อ๋อ ไม่ต้องสงสัยหรอกครับว่าผมเอาเงินจากไหนมาซื้อหุ้น เซียนหุ้นบรรลือโลกขยับปากสาธยายข้อสงสัยทันทีว่า รายได้จากการเป็นแคดดีสนามกอล์ฟยังไงล่ะครับ เพราะผมเรียนก็เรียนฟรีอยู่แล้ว แถมกินฟรีอยู่ฟรีอีกด้วยเพราะผมอยู่กับคุณแม่ ผมเรียนอยู่ปี 1 ก็มีรถเก่าๆ ใช้อยู่คันหนึ่ง เป็นมรดกตกทอดจากคุณพ่อ แต่พอหุ้นเริ่มดีขึ้น ผมเป็นวัยรุ่นนี่ครับ ตอนนั้นผมก็อยากมีรถใหม่ๆ ดีๆ ขับอวดสาวๆ บ้าง เพราะ ไอ้แก่ คันเก่าเวลาออกเดทกับสาวๆ แต่ละทีมันทำผมขายหน้าแทบทุกครั้ง มีอย่างที่ไหนให้สาวๆ มาดันตูดเพราะดันทรยศเครื่องดับเอาดื้อๆ พอมีกะตังค์หน่อยผมก็ไปเทิร์นคันใหม่ราคา 150 เหรียญออกมาให้เพื่อนร่วมสถาบันอิจฉาเล่น ทำเอาหนุ่มๆ ร่วมสถาบันน้ำลายหกไปตามๆ กัน หลายคนสงสัยไม่น้อยว่าผมหาเงินจากไหนมาซื้อรถใหม่ ผมก็บอกว่า เล่นหุ้น แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่ต้องอธิบายอะไรต่อไป

นายลินช์เล่าว่า การตัดสินใจซื้อหุ้นฟลายอิง-ไทเกอร์ตอนนั้นไม่ใช่ซื้อเล่นสนุกๆ หรือใครจะมากระซิบให้ซื้อ แกต้องตอบคำถามตัวเองอย่างถี่ถ้วนทั้ง 5 ข้อก่อน (คำถามในบทที่แล้ว) จึงตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่า เล่นเป็นเล่นวะ ก่อนที่จะซื้อหุ้นตัวนี้แกก็ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนี้พอสมควร โดยตอนแรกอ่านจากบทความที่เขียนวิเคราะห์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เขาเขียนว่าขณะนี่กิจการด้านการขนส่งทางอากาศกำลังจก้าวไปไกล อนาคตกำลังแจ่มใสเพราะขณะนั้นมีผู้ใช้บริการกันมาก และ ฟลายอิง-ไทเกอร์ ก็มีกิจการประเภทนี้อยู่พอดี

นี่เป็นข้อมูลเริ่มแรกที่นายลินช์ได้รับจาหุ้นตัวนี้ ถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ก็กระโดดจับพลั๊วเข้าให้ทันที แต่ระดับเซียนนั้นส่อให้เห็นตั้งแต่เป็นไก่อ่อนเพิ่งสอนขัน นายลินช์ไปสอบถามถามอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเองจากบริษัทอย่างถี่ถ้วน โดยอ้างว่าจะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ แค่นี้คนในบริษัทก็ให้รายละเอียดจนนายลินช์หอบกลับพร้อมความปิติยินดีอยู่ในใจแทบไม่ไหว แกนอนตัดสินใจอยู่ร่วมคืนก็ได้บทสรุปว่า บริษัทแห่งนี้มีความมั่นคงถาวรแน่นอน 100% เบี้ยน้อยหอยน้อยที่เพียรสะสมคงไม่จบลงเพราะเจ้าหุ้นตัวนี้แน่ แกจึงตัดสินใจซื้อทันที

ทุกอย่างถ้าเริ่มต้นดี อะไรๆ มันก็ดูดีไปหมด ฟลายอิง-ไทเกอร์ราคาหุ้นพุ่งปรู๊ดปร๊าดเพราะบริษัทรับขนส่งภาระทางทหารไปเวียดนาม เพราะตอนนั้นสหรัฐเข้าไปร่วมรบในสงครามเวียดนามด้วย ฉะนั้นอาวุธยุทโธปกรณ์และสัมภาระต่างๆ ที่ลำเลียงจากอเมริกาไปแปซิฟิกก็ต้องใช้ทางเครื่องบินเท่านั้น ช่วงเวลาเพียง 2 ปีหุ้นจากราคา 7 เหรียญก็กระโดดไปที่ 32 เหรียญ ผมไม่โลภหรอกครับ มันทำกำไรเกือบ 5 เท่าผมก็เริ่มทยอยขายไปจนหมด และกำไรก้อนนี้แหละที่เป็นทุนให้ผมเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ วาร์ตัน และผมเรียกทุนการศึกษาก้อนนี้ว่า ทุนกาศึกษาฟลายอิง-ไทเกอร์ ผมต้องให้เกียรติแก่หุ้นตัวแรกในชีวิตของผมหน่อย

ในช่วงระหว่างที่เรียนปีสุดท้ายที่บอสตัน นายลินช์ไปสมัครงานตอนปิดเทอมหน้าร้อนที่บริษัทฟิเดลลิตี จำกัด ซึ่งผู้จัดการใหญ่คือคนที่แกแบกถุงกอล์ฟให้เป็นประจำนั่นเอง มิสเตอร์ จอร์จ ดี ซัลลิแวน กรรมการผู้จัดการเป็นคนแนะนำ เพราะแกเห็นว่าผมหน่วยก้านดี แกบอกว่าที่บริษัทมีตำแหน่งว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ลองไปสมัครทดสอบฝีมือเอา เพราะบริษัทแห่งนี้โด่งดังมากในสมัยนั้น ใครๆ ก็อยากทำงานด้วยทั้งนั้น เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินและหุ้น และด้วยความสามารถของผม ผมก็ผ่านการทดสอบไปได้ เพราะมีคนสมัครแข่งประมาณ 100 กว่าคน

นายลินช์หลับตานึกถึงความหลังในสมัยนั้นแล้วเล่าให้ฟังต่อไปว่า ผมทำงานบริษัทนี้ด้วยความตั้งใจเป็นที่สุด เพราะคนที่สอนงานผม 2 คน คือ นายเน็ด จอห์นสัน เป็นผู้บริหารกองทุน ฟิเดลลิตีเทรนด์ กับนายเจอร์ซีไซ ผู้ดูแลกองทุน ฟิเดลลิตีแคปปิตอล ซึ่งอาจารย์ทั้ง 2 มีชื่อเสียงโด่งดังมากในวงการหุ้น ฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์เป็นอย่างดีสำหรับนักเล่นหุ้นในนิวยอร์ค เพราะฉะนั้นผมจะไม่ทำให้อาจารย์ทั้ง 2 คนนี้ผิดหวังในตัวผมอย่างแน่นอน ผมมีความรู้สึกเหมือนกับที่เซอร์ไอแซค นิวตัน พูดไว้ว่า ที่ผมสามารถมองไกลไปข้างหน้ากว่าคนอื่นมากมายนั้นก็เพราะได้มีโอกาสยืนอยู่บนไหล่ของมหาบุรุษผู้ยิ่งยงนั่นเอง

ทฤษฎีข้อหนึ่งที่นายเน็ด จอห์นสันสอนให้แก่นายลินช์จำแบบไม่มีวันลืมนั่นคือ หุ้นเมื่อขึ้นมาแล้วต้องขายไป ที่ควรจะเก็บรักษาไว้อย่างดีคือ เมีย เท่านั้น นายเน็ด จอห์นสัน เป็นลูกชายนักบริหารกองทุนชื่อก้องอีกท่านหนึ่ง และแกคนนี้แหละที่ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากเปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการซื้อ-ขายหุ้น เพราะทฤษฎีที่สอนนายลินช์ไว้นั้นแกก็มาสอนคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ใครจะจำหรือไม่สนใจนั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะแกมักจะเน้นเสมอว่า การลงทุนในหุ้นนั้นมิใช่เป็นการเก็บตุนเงินทุนเอาไว้ แต่จะต้องทำกำไรและกำไรอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อกำไรจากหุ้นตัวนี้ก็ให้ลงทุนซื้อหุ้นตัวใหม่หรือซื้อเพิ่มไปอีก แล้วกำไรก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวไปเอง

นายลินช์ได้บันทึกไว้ว่า วันที่แกได้งานซัมเมอร์ที่บริษัทฟิเดลลิตีในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 1966 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ระดับ 925 แต่พอหยุดงานและเข้าเรียนต่อปริญญาโทในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ดัชนีร่วงไปที่ 800 ทันที อาถรรพ์ปีเตอร์ ลินช์ เกิดขึ้นอีกแล้ว พอผมเริ่มจะมีอะไรดีในชีวิตดัชนีหุ้นเป็นต้องลดลงทุกที รู้สึกว่ามันไม่ต้อนรับความก้าวหน้าในชีวิตผมเลยนะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายขโมย
Verified User
โพสต์: 159
ผู้ติดตาม: 0

Peter Lynch - One Up On Wall Street

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ต่อๆ ครับได้ความรู้ดี :lol:
ล็อคหัวข้อ