มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ไม่ว่าจะผ่านกองทุน หรือเปิดพอร์ตเองก็ตาม

   ขอบคุณครับ

อืมม์... tmbamก็มี

กองทุนเปิดทหารไทย China Equity Index

วัตถุประสงค์
เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนให้ได้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี FTSE/Xinhua China A50 โดยจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี FTSE/Xinhua China A50 โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน

นโยบายการลงทุน
กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี FTSE/Xinhua China A50 ให้มากที่สุด
Hughes
Verified User
โพสต์: 1088
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เมือวันเดือนก่อนผมอ่านหนังสือพิมพ์เห็นเขาพูดถึงว่า Buffet ไปซื้อหุ้นในบริษัทBYD ผลิต แบทเตอรี่ และรถยนต์ เมื่อหลายเดือนมาแล้วเลยไปลองเปิดดู ตอนเขาซื้อมันยังถูกมากแต่พอปู่ซื้อเสร็จราคาพุ่งกระฉูดสงสัยเพราะคนตาม

ตอนนี้ผมว่ามันไม่ถูกแล้วเลยไม่กล้าซื้อตามนะ
ศิษย์เซียน007
Verified User
โพสต์: 1252
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจในการลงทุนที่จีนมากครับ แต่เสียดายโอกาสทองในช่วงเวลานี้ที่เงินทุนผมน้อยเกินไปครับ  :idea:
niyom_value
Verified User
โพสต์: 362
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ลงทุนของ tmbam ไปครับ ก่อนวิกฤต
ตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงครับ .... 5555
greenman
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 532
ผู้ติดตาม: 0

คำนึงค่าใช้จ่ายของกองทุน

โพสต์ที่ 5

โพสต์

กองทุนต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงทั้งๆที่เป็นกองของ FEEDER Fund ทำให้ผลตอบบวกน้อยแต่ลงมากหรือเปล่า
ซากคน
Verified User
โพสต์: 1400
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552

เศรษฐกิจจีนตกแรงเกินคาด

การส่งออกของจีนกำลังตกต่ำและการว่างงานกำลังน่าวิตก จีนต้องเร่งหาวิธีฟื้นเศรษฐกิจ แต่นั่นอาจต้องใช้เวลานานเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

Li Zhong-he เดินไปที่หน้าประตูโรงงานที่เขาเคยทำงาน เพื่อไปตรวจหาชื่อของตัวเองในเอกสารที่ติดอยู่หน้าโรงงาน หมายศาลที่สั่งให้โรงงานจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างจำนวนเล็กน้อยให้แก่คนงานอย่าง Li และอีกหลายร้อยคนที่ต้องตกงาน หลังจากที่โรงงานผลิตของเล่นแห่งนั้นปิดกิจการ

เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ Li อพยพจากชนบทไปยัง Dongguan เมืองอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเจริญรุ่งเรือง เกือบตลอดทศวรรษที่ผ่านมา Li มีเงินเดือนงามพอดู ประมาณเดือนละ 250 ดอลลาร์ และยังก้าวหน้าในการทำงานจนได้เป็นหัวหน้ากะ Li ทำในสิ่งที่แตกต่างจากแรงงานอพยพที่มีประมาณ 115 ล้านคนทั่วประเทศจีน เขาได้อพยพภรรยาและลูกชายเล็กๆ เข้ามาอยู่ในเมืองกับเขาด้วย เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิต "ปกติ" อย่างชนชั้นกลาง

แต่ตอนนี้ Li กล่าวเสียงเบา เมื่อหันหน้ากลับมาจากเอกสารด้วยความผิดหวัง ที่หาชื่อของตัวเองไม่พบ "ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไปดี"

เกือบตลอดทศวรรษนี้ที่จีนใช้ชีวิตอย่างเชื่อมั่น ใครๆ ต่าง ก็พร่ำพูดไม่หยุดว่า ศตวรรษนี้คือศตวรรษของจีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนี้จะกลายเป็นมหาอำนาจที่มั่งคั่งและทรงอำนาจมากที่สุด จีนเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักหรือใกล้เคียงมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนจำนวนมาก อย่าง Li จากชาวนายากจนให้กลายเป็นสมาชิกกลุ่มชนชั้นกลาง คนที่มีชีวิต "ปกติ" ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 ก็คล้ายกับมีใครบางคนยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นสัญญาณให้นักวิ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติทั่วโลกต่างพากันวิ่งแข่งเข้าไปยังจีน เพื่อจะใช้เป็นฐานส่งออกพร้อมกับเจาะเข้าตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว กระแสของจีนแรงมากจนเมื่อ 1 ปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับพูดถึงการ decoupling ซึ่งหมายถึงว่า แม้หากสหรัฐฯ ต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งมีชนวนมาจากปัญหาวิกฤติในตลาดบ้านของตนเอง แต่จีนก็จะยังคงเติบโตต่อไปได้ และบางทีอาจสามารถ ช่วยพิทักษ์โลกให้ปลอดภัย โดยไม่ต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำตามสหรัฐฯ ได้

หนีไม่พ้น
แต่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วมานานเกินไป ทำให้แทบทุกภาคส่วนของจีนมองโลกในแง่ดีมากเกินไป จนยากที่จะยอมรับความเป็นจริงอันโหดร้ายทางเศรษฐกิจบางอย่างของตัวเองทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ แต่อาจถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องกัดฟันทนก้มหน้า สู้ความจริง ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า จีนเองก็ไม่มีภูมิต้านทานพอที่จะหลีกหนีการตกต่ำทางเศรษฐกิจของโลกได้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนยืนยันด้วยซ้ำไปว่า ความจริงแล้วเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วน่าจะติดลบด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้นการ ชะลอตัวของจีนครั้งนี้อาจจะรุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด ภาคการส่งออกของจีนตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลง 17% ในไตรมาสที่ 4 และจะยังคงเป็นอย่างนั้นต่อไปจน กว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีนจะเริ่มฟื้นตัว

ตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลักอีกตัวของจีน คือการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed-asset) ก็อ่อนแอลงเช่นกันและจะยิ่งอ่อนแอลงเรื่อยๆ บริษัททั้งที่เป็นของจีนเองและบริษัทต่างชาติในจีน ได้ทุ่มลงทุนสร้างเสริมสร้างศักยภาพด้านอุตสาหกรรมให้แก่จีนนับตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษนี้เป็นต้นมา ในปี 2000 มีบริษัทต่างชาติในจีนจำนวน 364,000 แห่ง มาถึงสิ้นปีที่แล้วจำนวนบริษัทต่างชาติในจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 661,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม

การลงทุนสร้างโรงงานใหม่และการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งหมดในจีนเมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 40% ของ GDP หรือประมาณ 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักเศรษฐ-ศาสตร์จากสถาบันวิจัย Lombard Street Research ในลอนดอน ระบุว่า "ไม่น่าเชื่อ" โดยสิ้นเชิง

และเนื่องจากตัวเลขที่อาจจะปรุงแต่งจนสูงเกินจริงเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้จีนต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถฟื้นตัวจนถึงระดับการลงทุนที่เคยสูงขนาดนั้นได้ ในขณะที่บริษัทที่บอกว่าเพิ่ง จะทุ่มลงทุนนับล้านล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างโรงงานใหม่กลับกำลังลอยแพคนงาน

ความอ่อนแอของตลาดแรงงาน ซึ่งเริ่มจากการเลิกจ้างคนงานในโรงงานผลิตของเล่นและสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ ได้เริ่มลามเข้าสู่โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงแล้วเช่นกัน TMSC ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกของจีน ซึ่งมีโรงงานอยู่ชานนคร เซี่ยงไฮ้และเปิดมาตั้งแต่ปี 2003 ได้เริ่มให้คนงานที่มีอยู่ทั้งหมด 1,500 คน "ลาหยุดอย่างสมัครใจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง" เดือนละ 2-3 วันมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว

เมื่อการว่างงานมากขึ้นย่อมกระทบความต้องการซื้อของผู้บริโภค แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็ยังคงไม่เลิกฝากความหวังไว้ที่จีน ว่าจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะยังคงเติบโต แม้ว่าจะช้าลงกว่าเดิมก็ตาม และยังคงหวังว่าจีนจะเป็น "หัวรถจักรของโลก" ที่จะสามารถช่วยฉุดลากสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้

"แต่นั่นจะไม่เกิดขึ้น" Andy Xie นักเศรษฐศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้ชี้ผลสำรวจโดยหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ล่าสุดชี้ว่า ในจำนวนบริษัทต่างชาติ 108 แห่งที่ได้รับการสำรวจในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มี 40% ที่รายงานว่า ยอดขายในจีนลดลง 10% หรือมากกว่าเมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อน จริงอยู่ที่การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับข่าวร้ายทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การซื้อชะงักงันไปทั่วทุกหนแห่ง และขณะนี้ความต้องการซื้อในจีนก็เพิ่มขึ้นมากกว่านั้นแล้วก็ตาม แต่คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้หาใช่คำถามที่ว่า เศรษฐกิจจีนจะตกต่ำอย่างรุนแรงหรือไม่เสียแล้ว หากแต่กลายเป็นว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำ อย่างรุนแรง "เพียงใด" ต่างหาก

คนที่ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำเพียงไม่นานและไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก เป็นเพราะเชื่อมั่นในรัฐบาลจีน เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำอย่างรุนแรง จีนได้สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศ มาตรการกระตุ้นด้านการคลังวงเงินสูงถึง 5 แสน 6 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8% ของ GDP (ในขณะที่แผนกระตุ้นของสหรัฐฯ ใช้งบเท่ากับ 5.6% ของ GDP เท่านั้น) นักเศรษฐศาสตร์พากันหัวปั่นตั้งแต่นั้น เพราะพยายามจะแยกให้ออกว่า ตัวเลขงบกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ดูมากมายมหาศาลนั้น มีส่วนไหนบ้างที่เป็นงบใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจริงๆ และส่วนไหนที่เป็นงบเก่าที่ใช้อยู่แล้ว แต่ผ่านมาหลายเดือนจนถึงบัดนี้ ก็ยังคงหาความชัดเจนในเรื่องนี้ไม่ได้ ในขณะที่รัฐบาลจีนเริ่มพูดถึงการจะออกแผนกระตุ้นครั้งใหม่แล้ว

ข่าวดีอย่างหนึ่งทั้งสำหรับจีนเองและโลกคือ รัฐบาลจีนมีเงินพอที่จะทุ่มให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่อย่างแน่นอน จีนย่างเข้าสู่ปีใหม่ปีนี้ด้วยงบประมาณเกินดุล และการเพิ่มงบใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ก็จะช่วยหนุนเสริมผู้ผลิตเหล็กกล้าและสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งหลายของจีน ที่กำลังต้องการแรงหนุนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังสามารถจะช่วยสร้างงานใหม่จำนวนหนึ่ง ให้แก่แรงงานอพยพจากชนบทที่กำลังตกงานอยู่ถึง 20 ล้านคน เพราะสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนต้องนอนฝันร้ายทุกคืนในขณะนี้ก็คือความกลัวว่าจะเกิดความไม่สงบทางสังคม เนื่องจากการที่มี คนตกงานจำนวนมหาศาล

จีนอาจจะมีทรัพยากรมากพอที่จะรองรับเศรษฐกิจขาลงไม่ให้ตกกระแทกพื้นอย่างรุนแรงนัก และอาจสามารถหลีกเลี่ยงความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นได้ Jun Ma หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank Securities ในฮ่องกงชี้ว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลจีนคือปัจจัยหลักที่ทำให้จีนเติบโตถึง 7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนจะอ่อนแอลงอีกครั้งในช่วงต่อไปปีนี้ และตัวเลขการเติบโตดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างงานใหม่เพื่อรองรับชาวจีนที่ตกงานได้ทั้งหมด

จุดอ่อนเศรษฐกิจจีน
ปัญหาที่แท้จริงของผู้นำจีนมิใช่เพียงการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ดูเหมือนจะเชื่อว่า ทันทีที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกยุติลง จีนจะกลับไปเติบโตแบบร้อนแรงได้เหมือนเดิมคือ 10% เป็นอย่างน้อย และทำให้ชาวจีนหลายล้านคนก้าวพ้นจากความยากจน เข้าสู่สถานภาพที่คล้ายกับชนชั้นกลาง แต่นั่นอาจเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้น ต่อให้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีชนวนจากสหรัฐฯ เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ตาม แต่ผู้นำจีนก็ตระหนักดีว่า ความได้เปรียบที่พวกเขาได้อัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของตน เพื่อสร้างการเติบโตที่รวดเร็วนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีการศึกษาดีแต่มีค่าแรงต่ำจำนวนมหาศาล การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออก ส่งออกและส่งออกให้มากยิ่งขึ้น ได้วิ่งไปจนเกือบจะสุดทางของมันแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนขณะนี้พุ่งสูงลิ่วจนทำลายสถิติที่ 8% ของ GDP ไปเมื่อปีที่แล้ว หากจีนยังขืนปล่อยให้ตัวเองเกินดุลมาก ไปกว่านี้ ก็อาจจะต้องเจอกับปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงจากประเทศ คู่ค้าก็เป็นได้ เกมของจีนจบลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ฉายแสงให้มองเห็นจุดอ่อนทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งถูกกลบจนมิดในช่วงที่เศรษฐกิจจีนยังรุ่งเรืองดี และใครๆ ต่างพากันกล่าวขวัญถึงศตวรรษของจีน นักวิเคราะห์ด้านจีนแห่ง Rhodium Group ในนิวยอร์กชี้ว่า เส้นทางข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนไม่เคยเดินมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะชัดเจนขึ้นเองว่า จีนจำเป็นจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางใด ในขณะที่สหรัฐฯ จะต้องประหยัดมากขึ้น และใช้จ่ายน้อยลง แต่จีนจะต้องทำตรงกันข้าม อัตราการออมของจีน สูงกว่า 20% แต่ในขณะที่ GDP ของจีนเติบโตขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ประชาชาติต่อหัวของจีนกลับไม่เติบโตเลย Huang Yasheng ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่ง Sloan School ของ MIT ชี้ว่า การทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจในขั้นต่อไป แต่จะทำได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่จีนกำลังพยายามจัดการอยู่ แต่ก็มาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการได้อย่างง่ายดายหรือรวดเร็วได้ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ด้วยว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญในการปรับสมดุลการเติบโตของจีนคือการเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินต่อไป จีนได้ทุ่มเงินมหาศาลกว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทุกวันนี้ได้ แต่ผู้ออมเงินของจีนกลับถูกลงโทษ ด้วยดอกเบี้ยเงินฝากที่แสนต่ำในการฝากเงินกับธนาคารของรัฐ และธนาคารเหล่านี้ยังนำเงินทุนที่ได้มาจากเงินออมของประชาชนไปใช้ ด้วยเหตุผลที่สะท้อนการเมืองมากกว่าการใช้วิจารณญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนยังคงได้เงินทุนสนับสนุนจากธนาคารของรัฐเป็นรายแรกๆ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันซึ่งมีชนวนมาจากพฤติกรรม ของนักการเงินตะวันตก ทำให้ดูเหมือนจะกลายเป็นแฟชั่นทั้งในและนอกจีน ที่จะต้องแสดงความเสียใจต่อระบบการเงินการธนาคารแบบตะวันตก พร้อมไปกับชื่นชมระบบของจีนที่มีสุขภาพดีกว่า แม้ว่าจะเป็นความจริงอยู่บ้างแต่ก็เป็นการมองด้วยสายตาที่คับแคบ และหากการชื่นชมนี้ไปขัดขวางการเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินของจีน ก็จะส่งผลกระทบต่อการที่จีนกำลังพยายามจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การมีเศรษฐกิจที่มีความสมดุลมากขึ้น อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของจีน (People's Bank of China) เปิดเผยว่า จีนกำลังจะปฏิรูประบบการเงินในขั้นต่อไปอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ออมและนักลงทุน และทำให้ระบบการเงินของจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่โชคไม่ดีที่มาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เสียก่อน ทำให้การปฏิรูประบบการเงินของจีนอาจต้องล่าช้าออกไปและเปิดช่องให้ฝ่ายคัดค้านที่อยู่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้โอกาสเยาะเย้ยฝ่ายที่พยายามปฏิรูปว่า เห็นหรือไม่ว่าแม้แต่ชาติตะวันตกเองยังกำลังยึดธนาคารกลับไปเป็นของรัฐ

นอกจากจีนจะต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อก้าวขึ้นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นต่อไปแล้ว จีนยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาในด้านเทคโนโลยี สร้างงานใหม่และทำให้รายได้ต่อหัวเติบโต โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยนวัตกรรม ในบรรดาบริษัทไฮเทคทั้งหมดที่อยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วประเทศจีนนั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นบริษัทของต่างชาติแทบทั้งสิ้น จีนจึงจำเป็นต้องคุ้มครองนักสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งที่เป็นชาวจีนเองและชาวต่างชาติ ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีการ ละเมิดอย่างแพร่หลายในจีน อย่างไรก็ตาม Liu Fenming ผู้บริหาร ระดับสูงของไมโครซอฟท์กล่าวว่า จีนมีความคืบหน้าในเรื่องนี้ในเดือนมกราคม ทางการจีนได้ทลายเครือข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาครั้งใหญ่ ซึ่งละเมิดซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์แถมยัง ส่งออกซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไปยังประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศแม่ของไมโครซอฟท์เอง

งานหินของผู้นำจีน
ปัญหาของผู้นำระดับสูงของจีนคือ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตขั้นต่อไปของจีน ล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูประบบการเงิน และการปรับปรุงระบบสวัสดิการบำนาญและการรักษาพยาบาล เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องยาก หาใช่นโยบายประเภทที่รัฐบาลจีนสามารถจะสั่งเปลี่ยน แปลงได้ในชั่วข้ามคืน ในขณะที่ทุกๆ คนในจีนขณะนี้ เหมือนกับคนที่กำลังวิ่งวุ่นไปทั่ว เพื่อพยายามดับไฟที่กำลังเผาไหม้ ไม่มีใครในจีนที่คาดคิดมาก่อนว่า จีนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ ทุกคนจึงยังรู้สึกตกตะลึงอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากตกตะลึงแล้ว จีนยังรู้สึกโมโหอีกด้วย จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในขณะนี้ เมื่อไม่นานมานี้ Luo Ping เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการกฎระเบียบธนาคารของจีนให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกว่า "จีนรู้สึกโกรธ แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้" นอกจากจะยังคงซื้อพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ ต่อไป เพราะหากเงินตราต่างประเทศของจีน ที่ได้รับมาจากการเกินดุลการค้ามหาศาลไหลกลับเข้าไปยังจีน ก็มีแต่จะทำให้ค่าเงินหยวนหรือเงิน renminbi ของจีนแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของจีนแพงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา

จีนคงจะใช้วิธีกระจายการถือครองเงินตราต่างประเทศต่อไป โดยหันไปซื้อทองคำและเงินยูโรให้มากขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณว่า จีนจะเลิกสนใจพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ และหลายคนในจีนก็ไม่รังเกียจที่อิทธิพลทางการเมืองของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ ไม่มีใครในรัฐบาลจีนที่รู้สึกไม่พอใจที่ฮิลลารี คลินตันลดระดับการแสดงความเป็นห่วงเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนลง ในระหว่างที่เธอเดินทางเยือนจีนในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นครั้งแรกและสำหรับสหรัฐฯ แล้ว การที่จีนยังคงกระหายในพันธบัตรของตน ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจเล็กๆ เพียงอย่างเดียวที่ออกมาจากจีนในทุกวันนี้

แต่สำหรับชาวจีนธรรมดาทั่วไป การมองเห็นเงินไหลออกไปยังต่างประเทศในขณะที่ประเทศตัวเองกำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ นี้เป็นเรื่องที่น่าโมโห พวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องมาตกอยู่ในสภาพนี้ และคิดว่านี่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา นี่เป็นยุคที่จีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจมิใช่หรือ นี่เป็นศตวรรษของจีนมิใช่หรือ แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด แม้แต่จีนเองก็ยังต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไม่ต่างอะไรกับชาติอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องจมลงไปในวิกฤติเศรษฐกิจ ยุคที่จีนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน คงจะยังมาไม่ถึงในเร็วๆ นี้

ในช่วงเวลานี้ แรงงานจีนอพยพจากชนบทนับล้านๆ คนอย่างเช่น Li Zhong-he ซึ่งต้องตกงานเพราะถูกเลิกจ้างอย่างไม่รู้ตัว ต่างก็ต้องบ่ายหน้ากลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง Li ยังโชคดี ที่สุดท้ายเขาก็ได้รับเงินชดเชยการถูกเลิกจ้างจากทางการ Dongguan แต่ยังมีอีกหลายล้านคนที่ไม่โชคดีเท่าเขา นี่อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะตกกระแทกพื้นอย่างแรง และยังไม่รู้ว่าความรุนแรงครั้งนี้จะสิ้นสุดลง ณ ที่ใด

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ฟอร์จูน 16 มีนาคม 2552
ซากคน
Verified User
โพสต์: 1400
ผู้ติดตาม: 0

มีใครลงทุนหุ้นในจีนบ้างครับ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ความเห็นในการลงทุนระยะกลาง-ยาวในกองทุนต่างประเทศ

หากจะเล่น country fund แบบรายประเทศแบบนี้  ผมว่าจะให้ดี ต้องรู้จุดเด่น-จุดด้อยทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆให้มากๆ    เพราะแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคเอเชียเหมือนกัน  แต่ก็ไม่ได้ดีเด่นในเรื่องการส่งออกไปเสียหมด  และถึงแม้ประเทศนั้นๆจะไม่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกโดยตรง  แต่การฟื้นฟูสภาพจำเป็นต้องมีทุนสำรองเยอะมากพอ และควรจะมีดุลการค้าสะสมเป็น +  

    มาวิกฤติรอบนี้  ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่มีประเทศไหนปิดช่องโหว่ตัวเองได้หมด  

ยกตัวอย่างประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อย (export to GDP ratio) เมื่อเทียบประเทศไทย และประเทศเอเชียอื่นๆส่วนใหญ่  

เช่น

ประเทศที่มีทุนสำรองอันดับหนึ่งของโลก อย่างจีน  กับดุลการค้าสะสม+มหาศาล  มีขนาดเศรษฐกิจที่ผูกพันกับการส่งออกไปอเมริกา ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ 3 ประเทศที่เหลืออย่าง บราซิล รัสเซีย และ อินเดีย  (BRIC)  ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เช่นกัน

ส่วนอินเดีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยก็จริง  แต่ส่งออกของเขาก็ผูกติดกับอุตสาหกรรม IT มากเกินไป  ทำให้คนชนชั้นกลางที่เป็น demand สำคัญในประเทศ ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย
ประกอบกับนำเข้าน้ำมันมาก  ดุลการค้าสะสมติดลบ  การเมืองไม่แน่นอน  พลอยทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า และไม่มากพอ  
 

ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีอัตราเติบโต GDP สูงๆๆ  น่าจะมีมากกว่าจีน  ผสมอยู่ในพอร์ตด้วย  เพื่อให้จุดเด่นของแต่ละประเทศเข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน  เวลาเศรษฐกิจของประเทศนึงได้รับผลกระทบจังๆ  จะยังคงเหลืออีกประเทศที่ยังค้ำพอร์ตเราอยู่  กระจายสัก 2-4 ประเทศ น่าจะยังวิเคราะห์ไหว  แต่ทั้งนี้ไม่ควรกระจายมากเกินไปจนเราจับไม่ได้ว่า  แก่นหลักของพอร์ตเราอยู่ที่ไหน  ส่วนตัวพอร์ตกองทุนต่างประเทศ ผมมีเพียง จีน+อินเดีย อย่างละครึ่งครับ  

ส่วนเรื่องประชากรศาสตร์ของแต่ละประเทศ  หากรู้ได้ก็ยิ่งดีครับว่า  สัดส่วนอายุคนทำงานมีอยูกี่ % , แนวโน้มจำนวนประชากรรวมของแต่ละประเทศอีก 10-20 ปี จะเป็นยังไงต่อไป  

หากมีโอกาสได้เห็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขาแล้ว  ก็อาจนำมาพิจารณาร่วมกับเรื่องอื่นๆได้ครับ ว่าแนวโน้มที่คาดว่าจะเป็น  สมเหตุสมผลไหม    

มากกว่า 4 ประเทศนี้ ผมทำการบ้านไม่ไหวครับ  ^^
โพสต์โพสต์