โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 31 ธันวาคม 53
เวลาที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะคิดถึงอยู่เสมอก็คือ ความโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของบริษัท ต่อลูกค้า และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีบริษัทนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคำตอบก็คือ บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนจำนวนมาก หรือสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของคนมากมายในขณะที่หาสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันจากบริษัทอื่นไม่ได้หรือได้ยาก ในกรณีอย่างนี้ ผมก็จะสนใจและอาจจะให้คุณค่าสูง และคำว่าคุณค่าสูงของผมนั้น ผมจะวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท
ตัวอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์นั้น สำคัญหรือยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรมนี้มิฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์จะต้องสูง “มโหฬาร” เหตุเพราะว่าคนจำนวนเป็นพันล้านทั่วโลกต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน ข้อเท็จจริงก็คือ ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หุ้นไมโครซอฟท์เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลก แนวคิดที่ว่ามูลค่าหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำคัญของบริษัท ผมขอใช้คำว่า “ศักดิ์ศรี” ของหุ้น นั่นคือ ศักดิ์ศรีของการที่เป็นโปรแกรมที่คนทั่วโลกต้องใช้
ลองมาดูอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ของ สตีป จอบส์ นี่คือบริษัทที่คนทั่วโลกคอยติดตามหาซื้อผลิตภัณฑ์ไฮเท็ครุ่นใหม่ล่าสุด ทั้ง ๆ ที่สินค้าของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่มันเป็นสิ่งที่คน “คลั่งใคล้” ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่โดดเด่นโดนใจสุด ๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้หุ้นของแอปเปิลมีมูลค่าสูงขึ้นมโหฬารและแซงไมโครซอฟท์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เรายังเห็นศักดิ์ศรีของหุ้นกูเกิล เวปไซ้ต์ที่คนทั่วโลกต่างก็เข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายไม่จำกัด หรือเฟซบุ๊คที่คนนับหลายร้อยล้านและกำลังเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ เข้ามาใช้บริการ เหล่านี้ผมคิดว่าจะต้องมีมูลค่าหุ้นมหาศาล ซึ่งเราไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จากตัวเลขกำไรในปัจจุบัน เหตุก็เพราะว่ามันยังขยายตัวไปเรื่อย ๆ และยังเป็นช่วงที่บริษัทอาจต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากเพื่อรองรับกับการขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์หรือคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะต้องมองไปข้างหน้าที่ยาวไกล ดูว่าในที่สุดแล้วจะมีคนกี่คนที่จะเป็นลูกค้าและบริษัทจะมีกำไรเท่าไรซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเราก็อาจจะพบว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันนั้น ยังน่าจะห่างจากมูลค่าที่น่าจะเป็นในอนาคตอีกมาก พูดง่าย ๆ ราคามัน “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในฐานะที่เป็น …. และถ้าเราพบหุ้นแบบนี้ การซื้อลงทุนก็อาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาล
ธุรกิจจำนวนมากนั้นผลิตสินค้าที่สำคัญมากและเป็นสินค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้ามองในแง่บริษัทแล้ว ความสำคัญก็อาจจะมีไม่มาก เพราะถ้าบริษัทเป็นอะไรไป บริษัทหรือโรงกลั่นอื่นก็ยังผลิตอยู่สามารถทดแทนได้ และแม้ว่าจะทดแทนได้ไม่หมด เราก็ยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ดังนั้น ศักดิ์ศรีของการเป็นโรงกลั่นในแง่ของหุ้นก็มีไม่มากนัก
กิจการบางอย่าง เช่น สาธารณูปโภค นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้คนทั้งประเทศและไม่มีบริษัทอื่นมาแทนได้ถ้าบริษัทเป็นอะไรไป แต่กิจการเหล่านั้นก็มักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้ตั้งราคาสูง บางกิจการถูกบังคับให้ตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ แบบนี้ ศักดิ์ศรีก็มีแต่แปลงให้เป็นราคาหุ้นไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างของกิจการในเมืองไทยที่ผมเห็นว่าสามารถนำเรื่องของศักดิ์ศรีมาพูดได้และก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คือ หุ้นการบินไทย ย้อนหลังไปเพียงไม่เกิน 2-3 ปีในช่วงที่หุ้นการบินไทยตกต่ำลงเหลือเพียง7-8 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงนั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทของการบินไทยอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาเครื่องบินโบอิง 747 เพียง 2-3 ลำ แต่ถ้าดูจริง ๆ แล้ว ศักดิ์ศรีของการบินไทยคือการเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนเกือบครึ่งหนึ่งที่ต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยเครื่องบินต้องใช้บริการ นอกจากนั้นการบินไทยยังถือหุ้นใหญ่โดยรัฐที่มี “ศักดิ์ศรี” ที่จะต้องรักษาบริษัทไว้ ดังนั้น ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นการบินไทยในช่วงนั้นจึงดู “ไม่สมศักดิ์ศรี” ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุนหรือฐานะการเงินอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น หุ้นการบินไทยปรับตัวขึ้นมหาศาลสมกับฐานะหรือศักดิ์ศรีของบริษัทคือกว่าแสนล้านบาท
ลองมาดูบริษัทเอกชนธรรมดาที่สถานะหรือตำแหน่งในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจ “ยิ่งใหญ่” แต่ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวแรกก็คือ หุ้น CPF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ฐานะของบริษัทในสังคมการค้าและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารนั้นเป็นที่ประจักษ์มานาน ยอดขายของบริษัทก็สูงเป็นแสนล้านบาทและยังเติบโตไปเรื่อย ๆ แต่ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปี มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพียงแค่ 2-3 หมื่นล้านถ้าผมจำไม่ผิด และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมารับกับศักด์ศรีของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาจจะเติบโตยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาท
หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งบังเอิญอยู่ในกลุ่มของ CP เช่นเดียวกันก็คือ หุ้น CPALL ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปีเช่นเดียวกัน ศักดิ์ศรีของบริษัทก็คือ เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาดสะดวกซื้อที่คนไทยนับวันจะใช้บริการมากขึ้นและในที่สุดก็น่าจะทั้งประเทศ สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การขาดร้าน 7-11 นั้นก็จะเป็นการ “ยุ่งยาก” หรือ “ไม่สะดวก” เอามาก ๆ แต่ในขณะนั้น หุ้นของ CPALL ซึ่งโดยศักยภาพนั้นน่าจะมียอดขายเป็นแสนล้านบาทขึ้นไปกลับมี Market Cap. เพียง 3-4 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีหนี้เงินกู้เลย เป็นไปได้อย่างไรที่กิจการที่คนทั้งประเทศต้องใช้บริการเกือบทุกวันโดยที่หาคู่แข่งแทบไม่ได้จะมีมูลค่าเพียงเท่านั้น และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาทสมกับศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็น
การดูว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้นสมกับศักดิ์ศรีของกิจการหรือไม่เป็นศิลปะอยู่มากทีเดียวเนื่องจากตัวเลขผลการดำเนินงานในขณะที่วิเคราะห์นั้นใช้ไม่ได้ หลายครั้งต้องใช้จินตนาการว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปี 10 ปีหรือยาวกว่านั้น การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าทำถูก ผลตอบแทนก็มหาศาล