เกร็ด RMF แบบวิชามาร

การลงทุนอื่นๆนอกจากหุ้น วีไอ กองทุนรวมชนิดต่างๆ RMF LTFตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ อนุพันธ์ และเกษตรล่วงหน้า

โพสต์ โพสต์
DemonInvesting
Verified User
โพสต์: 805
ผู้ติดตาม: 0

เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

// พอดีช่วงใกล้สินปีก็เลยกำลังพิจารณาจะซื้อกองทุนเพื่อลดภาษี แล้วนั่งนึกไปนึกมาก็รู้สึกว่าไม่เคยได้ลองอ่านหลักเกณฑ์ของ RMF แบบจริงจังสักที อาศัยฟังเขาเล่า หรืออ่านเอาจากเอกสารโฆษณา พอได้ศึกษาดูก็พบว่ามันมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และ ข้อจำกัดสำคัญเรื่องระยะเวลาที่ทำให้หลายคนมองข้ามนั้นก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่หนักหนาอะไร อ่านแล้วก็กลัวลืมเลยทำเป็นบันทึกไว้ช่วยจำ เลยถือโอกาสนำมาลงที่ ThaiVI ด้วยเผื่อว่าจะมีประโยชน์กับท่านที่สนใจบ้าง เนื่องจากโดยส่วนตัวก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี ดังนั้นถ้าท่านใดอ่านแล้วพบว่ามีข้อผิดพลาด มีข้อติติง ชี้แนะ ก็เชิญได้เลย //

***คำเตือน ข้อความต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้นไม่ได้รับประกันว่าปฏิบัติตามแล้วจะปราศจากภาระทางภาษีแต่อย่างใด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีอากรหรือเจ้าหน้าที่จากบลจ.ประกอบด้วย***

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลงทุนเพื่อการประหยัดภาษีที่หลายคนสนใจ แต่พอเห็นเงื่อนไขที่ว่าต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี แล้วก็มักจะเบือนหน้าหนี เพราะเงื่อนไขที่เข้าใจว่าต้องลงทุน "ยาววววจนแก่" จนทำให้มองข้ามไปโดยที่ยังไม่ทันได้ศึกษาข้อมูลกฎข้อบังคับให้ลึกซึ้ง ทั้งๆที่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลให้ละเอียดสักหน่อยจะพบว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประหยัดภาษีที่ไม่จำเป็นต้องลงทุน "ยาวววววจนแก่" อย่างที่คิดแต่แรกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามกฎของ RMF ค่อนข้างจะหยุมหยิมกว่า LTF พอสมควร ต้องทำความเข้าใจให้ดีด้วย



เกร็ดข้อมูลที่สำคัญของการลงทุนใน RMF ที่ควรทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจจะกาทิ้ง หรือ กาถูก มีดังนี้ (ณ ขณะนี้อ้างอิงตามประกาศอธิบดีฯฉบับที่ 171-ม.ค. 2551)



เงื่อนไขข้อบังคับ


■ต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าปีไหนลืม หรือ ไม่มีเงิน ก็สามารถหยุดซื้อได้เหมือนกัน แต่ห้ามหยุดซื้อเกิน 1 ปีต่อเนื่องกัน
■วงเงินที่ต้องซื้อต่อปีคือ ไม่น้อยกว่า 3% ของรายได้พึงประเมิน หรือ ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
■ซื้อแล้วต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปี (นับจากวันที่ซื้อครั้งแรก ไม่ได้นับแค่ปีที่ซื้อแบบ LTF) และมีอายุเกิน 55 ปี (แต่ถ้าซื้อก่อน 30 มี.ค. 2551 จะใช้ตามประกาศอธิบดีฯ ฉบับ 90 ซึ่งเขียนไว้ด้วยคำว่า หรือ จึงเป็นช่องโหว่ให้สามารถขายคืนได้ถ้าถือมาครบ 5 ปีแม้จะอายุไม่ถึง 55 ปีก็ตาม)
โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้นสำคัญมาก ถ้ายังไม่ถึงขั้นอับจนหนทางจริงๆ ถ้าอายุยังไม่ถึง 55 และ ถือยังไม่ครบ 5 ปี ซื้อมาแล้วห้ามขายโดยเด็ดขาด แม้ส่วนที่ไม่ได้นำไปหักลดหย่อนก็ห้ามขาย ถ้าไปเผลอขายเมื่อไหร่ถือว่าจบเลยทันที แม้จะขายแม้เป็นเงินเล็กน้อยแค่ไหน พันสองพันก็ตาม ถือว่าสิทธิการยกเว้นภาษีจากการลงทุนในกองทุน RMF (เฉพาะ)กองนั้นจบลงทันที พร้อมกับมีภาระการประเมินภาษีย้อนหลังตามมาทันที



ที่คนพลาดกันมากคือ บางปีซื้อเกินแล้วหักลดหย่อนไม่ได้ ปีถัดไปก็ไปขายส่วนนั้น กับอีกกรณีคือนึกว่านับอายุแค่ตามปีที่ซื้อแบบ LTF จึงไม่ได้ดูวันที่ซื้อ พอเห็นอายุเกิน 55 ปีก็ขายคืนแล้ว ทั้งที่ตอนซื้อมานั้นซื้อเดือน ธ.ค. แต่ขายคืนเดือน มี.ค. อย่างนี้ สิทธิการยกเว้นภาษีก็จะหมดลงทันที แถมยังต้องโดนประเมินภาษีย้อนหลัง



แต่สำหรับใครก็ตามที่ลงทุนใน RMF ตามเงื่อนไขข้างบนครบถ้วนทุกประการ ผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่คนที่ผิดเงื่อนไข Capital Gain ที่ได้ต้องนำมาคำนวณภาษีรายได้ประจำปีด้วย



บทลงโทษ (เบาะๆ)



สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทุนตามเงื่อนไข จะมีความเสี่ยงจากการเสียทรัพย์สองส่วนคือ

■ต้องคืนส่วนลดภาษีที่เคยได้มาย้อนหลังไป 5 ปี
■ผลกำไรจากการคืนหน่วยลงทุนต้องนำมาประเมินภาษีรายได้ ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนนั้นครบ 5 ปี (จริงคำในประกาศฯที่เกี่ยวข้องคือฉบับที่ 171 จะใช้คำว่า ถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปี แต่มีหมายเหตุบอกว่าจะนับเฉพาะในปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น)


ซึ่งจริงๆแล้วบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิดเงื่อนไขนั้นมันก็ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่ล่ำลือกันว่าต้องคืนภาษีที่เคยได้ส่วนลดมาทั้งหมดให้กับสรรพากร เพราะจะเห็นว่าที่จริงแล้วเพียงคืนส่วนลดภาษีที่ได้มา 5 ปีย้อนหลังเท่านั้น แถมไม่ภาระภาษีจากกำไรจากเงินลงทุนด้วยในกรณีที่ซื้อหน่วยลงทุนครบ 5 ปีแล้ว



RMF ไม่ต้องถือ "ยาววววจนแก่" อย่างที่คิด



แม้ว่าจุดประสงค์ของกองทุน RMF นี้จะออกแบบเพื่อให้ประชาชนออมเพื่อใช้ยามเกษียณก็ตาม แต่จากข้อบังคับและบทลงโทษข้างต้นท่านที่อ่านอย่างละเอียดก็จะได้ไอเดียว่าจริงๆแล้วการลงทุนใน RMF เพื่อลดภาษีไม่จำเป็นต้องถือ"ยาววววจนแก่" อย่างที่คิด โดยระยะเวลาการลงทุนขั้นต่ำจะยาวกว่า LTF เพียงเล็กน้อย โดยอาจจะพูดได้ว่าระยะเวลาการลงทุนสั้นที่สุดของ RMF คือแค่ 1+5 หรือ 6 ปีเลยด้วยซ้ำ (แต่แน่นอนว่าทางที่ดีแล้วก็ควรจะลงทุนต่อเนื่องจนกว่าจะเกษียณตามวัตถุประสงค์ของกองทุน หรืออย่างน้อยก็อาจจะออมผ่านช่องทางอื่น)



ตัวอย่างการลงทุน RMF แบบ 1+5 ปี



การลงทุน RMF แบบ 1+5 ปี อาจจะเหมาะกับผู้ที่ปกติมีรายได้ไม่เยอะ แต่บังเอิญปีหนึ่งมีรายได้สูงมากผิดปกติ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นักกีฬาที่ได้เหรียญทอง ปกติอาจมีรายได้ในฐานภาษีต่ำ จนการลงทุนใน RMF ไม่ค่อยได้ประโญชน์มากนัก แต่ปีหนึ่งได้เหรียญทองจากการแข่งขัน ทำให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษจำนวนมากจนแม้จะซื้อ LTFเต็มวงเงิน 15% ของรายได้แล้วก็ตามก็ยังต้องเสียภาษีในฐานที่สูงอยู่



การพิจารณาซื้อ RMF จนเต็มวงเงินที่กำหนด ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยประหยัดภาษีได้เป็นอย่างดี ส่วนในปีถัดไปรายได้กลับมาสู่ระดับปกติ แทบจะไม่ต้องเสียภาษี ก็เพียงแต่ลงทุนใน RMF ด้วยวงเงินเท่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 3% ของรายได้ หรือ 5 พันบาทขึ้นไปต่อเนื่องทุกปี ไปจนครบ 1+5 หรือ 6 ปี ค่อยมาพิจารณาว่าจะลงทุน RMF ต่อไปไหม ถ้าไม่ได้มีรายได้พึงประเมินมากนัก หรือ มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามรถจะหยุดลงทุนได้ โดยถึงแม้ว่าต้องจ่ายส่วนลดภาษีที่ได้ไปคืน แต่ก็เนื่องจากตามกฎต้องจ่ายเฉพาะในส่วน 5 ปีสุดท้าย ซึ่งเราลงทุนไปแค่ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ทำให้ส่วนลดภาษีที่ต้องจ่ายคืนไปน้อยมาก ส่วนส่วนลดภาษีก้อนใหญ่ในปีแรกไม่ต้องคืนแต่อย่างใด นอกจากนี้ผลกำไรจากหน่วยลงทุน ยังไม่ต้องนำมาประเมินภาษีรายได้ด้วย ซึ่งกรณีนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้กับผู้โชคดีจากการชิงโชค หรือ ถูกรางวัลที่ 1 ทั้งหลายได้เช่นกัน



จากตัวอย่างข้างต้นที่ยกตัวอย่างมานั้นแสดงให้เห็นว่าทีจริงแล้ว RMF ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุน "ยาววววจนแก่" แต่อย่างใด สำหรับกรณีทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สุดโต่งอย่างตัวอย่างข้างต้นเช่น ผู้ที่วางแผนจะเกษียณก่อนอายุ 55 ปี ก็สามารถประยุกต์ใช้ตัวอย่างดังกล่าวได้ โดยลงทุนในกองทุน RMF แค่เท่ากับวงเงินขั้นต่ำในช่วง 5 ปีสุดท้าย ก็จะทำให้สามารถได้ประโยชน์จากการลดภาษีในช่วงปีแรกๆได้เต็มที่เช่นกัน



นอกจากนี้เนื่องจากกองทุน RMF นั้นสามารถเลือกลงทุนในช่องทางการลงทุนที่หลากหลายกว่า LTF โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เต็มจำนวนซึ่งกองทุน LTF ไม่มี ดังนั้นสำหรับผู้ที่กลัวความเสี่ยง กลัวความผันผวนของตลาดหุ้น การลงทุนใน RMF ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณา โดยไม่ได้มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปนักเมื่อเทียบกับ การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ซึ่งมีระยะเวลาขั้นต่ำ 10 ปี

DemonInvesting


เกร็ดเพิ่มเติม

■RMF สามารถเปลี่ยนกองที่ซื้อ หรือ เปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนเดิมทุกปี แค่ให้ในปีนั้นยอดรวมเกินเกณฑ์ขั้นต่ำก็พอ
■RMF สามารถบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนโยกย้ายระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันได้ เช่นปรับจากกองทุนหุ้นไปซื้อกองทุนตราสารหนี้บ้างก็สามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะต้องเสียค่าทำเนียบการสับเปลี่ยนบ้าง
■RMF มีวงเงินขั้นสูงที่ให้สิทธิในการลดหย่อนภาษี(รวมเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำนาญต่างๆ)ไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน และ ไม่เกิน 5 แสนบาท
■แม้การลงทุนในหลายกองทุนจะทำได้ แต่ก็อย่าลืมว่าถ้าจะให้ปลอกภาระไม่ต้องนำกำไรจากการขายมาคำนวณภาษี แต่ละกองทุนต้องมีการลงทุนซื้อหน่วยอย่างน้อย 5 ครั้ง เพื่อให้นับอายุการถือเกิน 5 ปีขึ้นไป
อ้างอิง

ประกาศอธิบดีฯ ฉบับที่ 171 http://www.rd.go.th/publish/39683.0.html

ประกาศอธิบดีฯ ฉบับที่ 170

http://www.rd.go.th/publish/39683.0.html

ประกาศอธิบดีฯ ฉบับ 90 (สำหรับส่วนซื้อก่อน 30 มีค 51)

http://www.rd.go.th/publish/3111.0.html

คู่มือภาษี RMF จาก บลจ. ธนชาติ (ตามประกาศฉบับ 90)

http://www.thanachartfund.com/PDF/taxdoc.pdf


ข้อหารือกับกรมสรรพากรที่น่าสนใจ

กรณีขายในส่วนที่ไม่ได้ลดหย่อน
http://www.rd.go.th/publish/37247.0.html
กรณีนับระยะเวลาผิด
http://www.rd.go.th/publish/39895.0.html
กรณีซื้อแล้วไม่มีรายได้
http://www.rd.go.th/publish/31434.0.html
กรณีขายคืนหลังถือครบ 5 ปีแต่ก่อนอายุ 55 ตามเกณฑ์เก่า
http://www.rd.go.th/publish/33469.0.html
ถึงตลาดจะฟูมฟายมากแค่ไหน ก็ยินดียืมไหล่ให้เธอซบ ยืมอกให้เธอซับน้ำตา
enokwan
Verified User
โพสต์: 174
ผู้ติดตาม: 0

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณค่ะ
จะได้เก็บไว้อ่านในอีก 20 ปีข้างหน้า (ถ้ายังอยู่ ไม่งั้นเด๋วมีลืมชัวร์)

แต่ขอแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ที่ว่า
วงเงินที่สามารถซื้อได้ตามสิทธิ จะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน
โดยไม่รวมเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำนาญต่างๆ
ซึ่งถ้ารวมแล้วถึงจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทค่ะ

และสงสัยตอนท้ายๆ ที่ว่า
ซื้อกองไหนก็ได้แต่ต้องซื้อแต่ละกองอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป
จริงๆแล้วไม่ต้องแยกกองก็ได้นี่คะ
ไม่ว่าจะเป็นกองไหนของ RMF ก็ได้ ถ้าซื้อ 5 ปีขึ้นไป
ก็ไม่ต้องนำกำไรมารวมคำนวณภาษีแล้ว

ผิดถูกอย่างไร เชิญ discuss กันได้เลยค่ะ
เพราะเพิ่งซื้อเป็นปีแรกเหมือนกัน
แต่จากการหาข้อมูลมาทั้งหมด เป็นเช่นนี้ค่ะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
MO101
Verified User
โพสต์: 3226
ผู้ติดตาม: 1

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

กรณีนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้กับผู้โชคดีจากการชิงโชค หรือ ถูกรางวัลที่ 1 ทั้งหลายได้เช่นกัน
ถูกรางวัลนี่จ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่านั้นนี่ครับ
DemonInvesting
Verified User
โพสต์: 805
ผู้ติดตาม: 0

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ...

เรื่องวงเงินนั่นท่านชี้แจงมาถูกต้องแล้ว ผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไป จริงๆเป็นอย่างที่ท่านแก้ไขมาครับ วงเงิน RMF ไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ถ้ารวมกองทุนสำรองฯอื่น แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี

ส่วนเรื่องการเสียภาษีจากรางวัลนั้น ผมลองไปค้นมาเพิ่มเติม ถ้าเป็นกรณีของ สลากกินแบ่งรัฐบาล ออมสิน หรือ ของหน่วยงานรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษีตาม มาตรา 42 ... แต่ถ้าเป็นการชิงโชคที่จัดโดยเอกชนแม้จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่ก็ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมเพื่อคำนวณสำหรับภาษีประจำปีด้วย โดยเป็นรายได้ในหมวด 40(8)

อ้างอิง
ข้อหารือ กค 0811/16540: http://www.rd.go.th/publish/23279.0.html

ส่วนเรื่องที่ผมเน้นเรื่องการถือหลายกองทุน ต้องมีการซื้ออย่างน้อย 5 ครั้ง ก็เนื่องจากจำนวนปีที่นับสำหรับกองทุน RMF ในการพิจารณาว่าจะต้องเสียภาษี capital gain หรือไม่นั้น จะนับเมื่อมีการซื้อหน่วยลงทุนในปีนั้น ลองดูรายละเอียดในอ้างอิงด้านบนอีกที
ถึงตลาดจะฟูมฟายมากแค่ไหน ก็ยินดียืมไหล่ให้เธอซบ ยืมอกให้เธอซับน้ำตา
DemonInvesting
Verified User
โพสต์: 805
ผู้ติดตาม: 0

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ด้านบนรู้สึกจะนำลิงค์มาอ้างอิงผิด สำหรับในเรื่องข้อกำหนดให้ได้รับการยกเว้นภาษี capital gain จากการขายกองทุน rmf ต้องไปดูในประกาศ 170 ซึ่งในข้อ 1(2) จะบอกรายละเอียดเรื่องการนับอายุกองทุนไว้ หรือลองดูเอกสารจาก บลจ.ธนชาต ด้านบนก็มีกรณีศึกษาตัวอย่างคล้ายๆกันนี้อยู่ด้านหลัง

อ้างอิง
ประกาศอธิบดีฯ 170 : http://www.rd.go.th/publish/39783.0.html
ถึงตลาดจะฟูมฟายมากแค่ไหน ก็ยินดียืมไหล่ให้เธอซบ ยืมอกให้เธอซับน้ำตา
porpiangrich
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 371
ผู้ติดตาม: 1

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

DemonInvesting เขียน:ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ...

เรื่องวงเงินนั่นท่านชี้แจงมาถูกต้องแล้ว ผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไป จริงๆเป็นอย่างที่ท่านแก้ไขมาครับ วงเงิน RMF ไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ถ้ารวมกองทุนสำรองฯอื่น แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี

ส่วนเรื่องการเสียภาษีจากรางวัลนั้น ผมลองไปค้นมาเพิ่มเติม ถ้าเป็นกรณีของ สลากกินแบ่งรัฐบาล ออมสิน หรือ ของหน่วยงานรัฐจะได้รับการยกเว้นภาษีตาม มาตรา 42 ... แต่ถ้าเป็นการชิงโชคที่จัดโดยเอกชนแม้จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่ก็ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมเพื่อคำนวณสำหรับภาษีประจำปีด้วย โดยเป็นรายได้ในหมวด 40(8)

อ้างอิง
ข้อหารือ กค 0811/16540: http://www.rd.go.th/publish/23279.0.html

ส่วนเรื่องที่ผมเน้นเรื่องการถือหลายกองทุน ต้องมีการซื้ออย่างน้อย 5 ครั้ง ก็เนื่องจากจำนวนปีที่นับสำหรับกองทุน RMF ในการพิจารณาว่าจะต้องเสียภาษี capital gain หรือไม่นั้น จะนับเมื่อมีการซื้อหน่วยลงทุนในปีนั้น ลองดูรายละเอียดในอ้างอิงด้านบนอีกที
สำหรับรางวัลสลาก กินแบ่ง, ออมสิน, ธกส ได้รับการยกเว้น ครับ
แต่รางวัลจากการส่งเสริมการขาย เช่น รถ Benz จากสลากออมสิน, หรือทีกำลังขายอยู่ขณะณี้ คือ ชิงรถ Altis เมื่อซื้อสลาก ธกส ผู้ได้รางวัลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% และต้องนำไปรวมยื่น ใน ภงด
DemonInvesting
Verified User
โพสต์: 805
ผู้ติดตาม: 0

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

เรียนสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง การถือ RMF หลายกองทุน บลจ เดียวกันค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
ปี 2007
ซื้อ RMF1 ของ SCB จำนวน 100,000 บาท
ปี 2008
1. ย้าย กอง ของปี 2007 จาก RMF1 ไป RMF2 ของ SCB จำนวน 50,000 บาท
2. ซื้อ RMF2 เพิ่มอีก 100,000 บาท เพื่อลดหย่อนภาษี ของปี 2008
ปี 2009
1. ซื้อ RMF2 เพิ่มอีก 100,000 บาท เพื่อลดหย่อนภาษี ของปี 2009
ปี 2010
1. ซื้อ RMF2 เพิ่มอีก 100,000 บาท เพื่อลดหย่อนภาษี ของปี 2010

อยากทราบว่า ถ้าในกรณีนี้ RMF1 เราขาดการซื้อมาแล้ว สองปีติดกัน จะถือว่าเราทำผิดข้อบังคับในการหักลดภาษีรึเปล่าคะ
ไม่มีปัญหาน่ะครับสำหรับกรณีนี้ ถ้ายังไม่ได้มีการขายกองทุน RMF1 ออกไป (เข้าใจว่าตอนย้ายกองทำเรื่องของเปลี่ยนกองตามขั้นตอนแล้ว) เพราะปกติสามารถซื้อหลายกองได้อยู่แล้ว หรือจะเปลี่ยนซื้อแต่ละปีไม่ซ้ำกันเลยก็ได้ ขอให้แต่ละปีซื้อตามเงื่อนไข ... แต่ถ้าซื้อแต่ละปีไม่ซ้ำกันเลย อาจจะมีปัญหาในตอนขายคืน ... (ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าตัวกม.ค่อนข้างสับสน) เพราะการคิดภาษี captital gain เขากำหนดว่าจะยกเว้นต่อเมื่อก่อนทุนนั้นถือติดต่อกัน เกิน 5 ปี โดนนับปีจากปีที่มีการซื้อ ...

แต่สำหรับกรณีขอสับเปลียนกองทุนตามกระบวนการนี้ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สรรพากรจะถือว่า กองทุนที่สับเปลี่ยนออกไม่เคยมีการซื้อเลย และ กองทุนที่สับเปลี่ยนเข้าให้นับอายุจากกองทุนที่สับเปลี่ยนออกต่อเนื่องไปเลยไหม .. น่าจะลองถามทาง บลจ. ดูครับ
ถึงตลาดจะฟูมฟายมากแค่ไหน ก็ยินดียืมไหล่ให้เธอซบ ยืมอกให้เธอซับน้ำตา
dsdchok
Verified User
โพสต์: 9
ผู้ติดตาม: 0

Re: เกร็ด RMF แบบวิชามาร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

เรื่องการซื้อเกิน แล้วจะขายคืน สามารถทำได้ภายในปีนั้นๆครับ
เช่น หักภาษีได้ 150,000 แล้วซื้อไป 200,000
สามารถขายคืน 50,000 ภายในปีนั้นๆ โดยไม่เสียสิทธิครับ
โพสต์โพสต์