เครื่องมือทางการเงิน


โพสต์ โพสต์
figlio
Verified User
โพสต์: 1
ผู้ติดตาม: 0

เครื่องมือทางการเงิน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เครื่องมือทางการเงิน หมายถึง สัญญาที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงิน เครื่องมือทางการเงินสามารถซื้อขายได้และมีผลทางกฎหมาย มูลค่าของเครื่องมือทางการเงินจะมาในรูปแบบของเงินสด สิทธิความเป็นเจ้าของกิจการ สัญญาที่แสดงสิทธิในการได้รับประโยชน์ทางการเงิน ฯลฯ ตัวอย่างของเครื่องมือทางการเงิน เช่น เช็ค ตั๋วแลกเงิน สิทธิเลือก (Options) และ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เป็นต้น

สินทรัพย์ทางการเงิน หมายถึง สินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญาที่ทำให้บริษัทได้รับเงิน ตัวอย่างสินทรัพย์ทางการเงินที่แสดงในงบดุล เช่น เงินสดและรายการเทียบเท่าสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว รายการที่ประกอบขึ้นเป็นสินทรัพย์ทางการเงินคือ เงินฝากธนาคาร หุ้นที่บริษัทถืออยู่ในกิจการอื่นๆ พันธบัตร เป็นต้น

หนี้สินทางการเงิน หมายถึง ข้อผูกมัดตามสัญญาที่บริษัทจะต้องส่งมอบเงินสดหรือตราสารทุนให้ผู้อื่น ตัวอย่างหนี้สินทางการเงินที่แสดงในงบดุล เช่น เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยาว หุ้นกู้ รายการที่ประกอบเป็นหนี้สินทางการเงินคือ เจ้าหนี้การค้า และเงินกู้ เป็นต้น

อนุพันธ์ทางการเงิน (Derivatives) หมายถึง ส่วนใหญ่ถือเป็นสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินชนิดหนึ่ง อนุพันธ์ทางการเงินคือ สัญญาที่ทำขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้สิทธิผู้ถือในการซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต อนุพันธ์ทางการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง (หรือเก็งกำไร) ซึ่งในสัญญาของอนุพันธ์ทางการเงินจะระบุว่าสินทรัพย์ที่จะมีการแลกเปลี่ยนในอนาคต พร้อมทั้งจำนวน ราคา วันส่งมอบ และวันสิ้นสุดสัญญา อนุพันธ์ทางการเงินมักถูกนำมาใช้ประกันราคาสินทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และโภคภัณฑ์ (Commodity)

ตามปกติ บริษัทจะบันทึกสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินด้วยมูลค่าที่หลากหลาย เช่น ลูกหนี้จะบันทึกด้วยด้วยมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับ (คือเงินที่จะได้รับเมื่อถึงกำหนดในสัญญา) เงินกู้ยืมจะบันทึกด้วยมูลค่าที่จะต้องจ่าย อนุพันธ์ทางการเงินต้องบันทึกด้วยมูลค่ายุติธรรม เป็นต้น

ขอเบื้องต้นเอาไว้เท่านี้นะครับ ถ้ามีข้อสงสัยและไม่เข้าใจตรงไหนฝากคำถามไว้ได้ แล้วจะมาตอบให้ครับ :D
ภาพประจำตัวสมาชิก
kotaro
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1496
ผู้ติดตาม: 0

Re: เครื่องมือทางการเงิน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ

ในงบการเงิน เราจะสามารถพอบอกได้ไหมครับ ว่า อนุพันธ์ที่บริษัทฯ ใช้ไปนั้น ถูกใช้ไปในทางป้องกันความเสี่ยง หรือ
ใช้ในแง่เก็งกำไร

หรือถามใหม่คือว่า จะมีวิธีบอกได้ไหมครบ ว่าบริษัทฯ ไม่ได้ใช้ อนุพันธ์ในแง่เก็งกำไรมากเกินไปครับ
“Laughter is timeless. Imagination has no age. And dreams are forever.” ― Walt Disney Company
winnermax
Verified User
โพสต์: 38
ผู้ติดตาม: 0

Re: เครื่องมือทางการเงิน

โพสต์ที่ 3

โพสต์

[ขอบคุณครับ

ในงบการเงิน เราจะสามารถพอบอกได้ไหมครับ ว่า อนุพันธ์ที่บริษัทฯ ใช้ไปนั้น ถูกใช้ไปในทางป้องกันความเสี่ยง หรือ
ใช้ในแง่เก็งกำไร

หรือถามใหม่คือว่า จะมีวิธีบอกได้ไหมครบ ว่าบริษัทฯ ไม่ได้ใช้ อนุพันธ์ในแง่เก็งกำไรมากเกินไปครับ
ให้ดูที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน บริษัทให้รายละเอียดระหว่างอนุพันธ์เพื่อค้ากับอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง และในหมายเหตุที่เกี่ยวข้องกับ นโยบายบริหารความเสี่ยง ของกิจการ อย่างไรก็ตามในงบการเงิน หากมีรายการกำไรหรือขาดทุนจากอนุพันธ์ ตัวเลขก็จะเป็นที่สะดุดตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกิจการนั้นไม่ควรมีรายได้หลักจากการค้าอนุพันธ์ครับ
parporn
Verified User
โพสต์: 231
ผู้ติดตาม: 0

Re: เครื่องมือทางการเงิน

โพสต์ที่ 4

โพสต์

winnermax เขียน:
[ขอบคุณครับ

ในงบการเงิน เราจะสามารถพอบอกได้ไหมครับ ว่า อนุพันธ์ที่บริษัทฯ ใช้ไปนั้น ถูกใช้ไปในทางป้องกันความเสี่ยง หรือ
ใช้ในแง่เก็งกำไร

หรือถามใหม่คือว่า จะมีวิธีบอกได้ไหมครบ ว่าบริษัทฯ ไม่ได้ใช้ อนุพันธ์ในแง่เก็งกำไรมากเกินไปครับ
ให้ดูที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน บริษัทให้รายละเอียดระหว่างอนุพันธ์เพื่อค้ากับอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง และในหมายเหตุที่เกี่ยวข้องกับ นโยบายบริหารความเสี่ยง ของกิจการ อย่างไรก็ตามในงบการเงิน หากมีรายการกำไรหรือขาดทุนจากอนุพันธ์ ตัวเลขก็จะเป็นที่สะดุดตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกิจการนั้นไม่ควรมีรายได้หลักจากการค้าอนุพันธ์ครับ
เพิ่มเติมนิดหนึ่ง

การประเมินความเสี่ยงของอนุพันธ์จะดูยากหน่อย แต่พอบอกได้ว่ามีตัวแสดงอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง

1. อนุพันธ์ที่บริษัทซื้อหรือขายอาจจัดประเภทเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางบัญชีหรือเป็น trading securities ถ้าถือเป็นการป้องกันความเสี่ยง บริษัทจะต้องระบุลงไปอย่างชัดเจนว่ารายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้คืออะไร และการป้องกันความเสี่ยงเข้าข่ายเป็นการป้องกันความเสี่ยงชนิดใด (การป้องกันความเสี่ยงมูลค่ายุติธรรม การป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสด การป้องกันความเสี่ยงเงินลงทุนสุทธิในต่างประเทศ) ถ้าเราอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้วพบว่า อนุพันธ์ที่บริษัทมีอยู่ถือเป็นรายการที่ใช้ป้องกันความเสี่ยง เราอาจสบายใจได้ระดับหนึ่ง (ถ้าไม่มีอะไรตุกติก) เพราะกฎบัญชีค่อนข้างเข้มกับการจัดประเภทอนุพันธ์ให้เป็นการป้องกันความเสี่ยง

2. ถ้าอนุพันธ์ที่บริษัทมีอยู่ ไม่เข้าข่ายเป็นการป้องกันความเสี่ยงในทางบัญชี สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมี 2 ประเด็น

2.1 อนุพันธ์นั้นก็ยังอาจมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง เพียงแต่ไม่สามารถจัดประเภทเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางบัญชี เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เราควรจะอาจหมายเหตุเพื่อหาเหตุผลว่าบริษัทมีอนุพันธ์ไว้เพื่ออะไร หากบริษัทบอกว่ามีไว้เพื่อการป้องกันความเสี่ยง ให้ดูต่อไปว่ารายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้คืออะไร จากนั้น เราต้องพยายามหาว่า กำไรขาดทุนที่เกิดจากอนุพันธ์ (แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุน) เป็นจำนวนที่พอเหมาะกับกำไรขาดทุนที่เกิดจากรายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้หรือไม่ การดูกำไรขาดทุนจากรายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้อาจดูยาก ถ้าบริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลไว้ แต่บางครั้งเราจะพบว่า บริษัททำการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือสินค้าคงเหลือ เราจะพบว่ากำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของรายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้จะเกิดขึ้นในทิศทางตรงข้ามกับกำไรขาดทุนที่เกิดจากอนุพันธ์ ถ้านำกำไรขาดทุนจาก 2 รายการนั้น(อนุพันธ์กับรายการที่ป้องกันความเสี่ยงไว้) มาหักลบกันแล้วมีจำนวนสุทธิที่ได้ไม่สูงมาก เราก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง
บางครั้ง บริษัทมีอนุพันธ์ไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าคงเหลือ แต่อนุพันธ์นี้ไม่เข้าข่ายเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางบัญชี ถ้าราคาสินค้าคงเหลือลดลง บริษัทจะบันทึกกำไีรจากอนุพันธ์ และบันทึกขาดทุนจากสินค้าคงเหลือ กรณีนี้เราสามารถนำกำไรขาดทุนของทั้ง 2 รายการมาหักลบกันเพื่อดูว่าการป้องกันความเสี่ยงนั้นมีจำนวนที่เรารับได้เพียงไร
แต่ถ้่าสินค้าคงเหลือมีราคาสูงขึ้น กรณีนี้เราต้องทำการบ้านเพิ่ม เพราะบริษัทจะบันทึกขาดทุนจากอนุพันธ์ แต่จะไม่บันทึกกำไรจากสินค้าคงเหลือ เราต้องทำการคาดเดาว่าขาดทุนที่เกิดจากอนุพันธ์มีจำนวนพอเหมาะกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ (อาจเทียบเป็น%) บางครั้งบริษัทอาจเปิดเผยตัวเลขให้เราทราบ ทำให้ไม่ต้องเดา
บางครั้ง บริษัทมีอนุพันธ์ไว้เพื่อป้องกันความเสึ่ยงรายการที่ยังไม่เกิดขึ้น กรณีนี้ดูได้ยากมาก ต้องสังเกตจากกำไรขาดทุนจากอนุพันธ์ว่ามีจำนวนมากขนาดไหน (เหมือนที่อาจารย์วิเชษฐ์ winnermax บอกว่า กำไรขาดทุนนี้ถ้ามีจำนวนมากก็จะเด่นออกมา) ถ้ามากและบริษัมไม่เปิดเผยข้อมูลไว้อย่างเพียงพอ รีบสอบถามไปทางบริษัททันทีเพื่อหาคำอธิบาย

2.2 บริษัทไม่ได้ซื้อขายอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่ซื้อขายในลักษณะ trading เช่น ธนาคาร กรณีนี้ บริษัทมักมีการปิด position ของตัวเองสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความเสี่ยงในระดับที่รับได้อยู่แล้ว กรณีนี้ให้สังเกตจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมของอนุพันธ์ทั้งหมดทุกรายการ ถ้านำมูลค่ายุติธรรมมาหักลบกันแล้ว จำนวนสุทธิเข้าใกล้ 0 ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ แสดงว่าความเสี่ยงจากอนุพันธ์เข้าใกล้ 0 อยู่แล้ว( ทั้งนี้เราอาจต้องนำกำไรขาดทุนจากรายการที่เกี่ยวข้องกับอนุพันธ์มาดูประกอบด้วย เช่น กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าการซื้อขายอนุพันธ์นั้นมี position เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน (กลับไปเรื่องที่ว่าอนุพันธ์นั้นมีไว้ป้องกันความเสี่ยงข้างต้น))

คร่าวๆ แค่นี้ก่อนนะคะ เรื่องเกี่ยวกับอนุพันธ์นั้น ยาวค่ะ
โพสต์โพสต์