ผลผลิตภาคโรงงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นบ่งชี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว
xBT> USA:ผลผลิตภาคโรงงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นบ่งชี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว
ชิคาโก--2 ก.ย.--รอยเตอร์
บริษัทผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐและในบางประเทศเผยรายงานที่สดใสออกมา
ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างเชื่องช้าหลังจากประสบภาวะตกต่ำครั้ง
รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ทั้งนี้ รายงานของแต่ละประเทศได้รับการสนับสนุนจากผลสำรวจที่แสดง
ให้เห็นว่า กิจกรรมภาคโรงงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2008
โดยมีสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นผู้นำ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายแสดงความกังวลว่า การฟื้นตัวในครั้งนี้
พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากเกินไป ซึ่งความช่วยเหลือนี้รวมถึงโครงการ
cash for clunkers ของสหรัฐที่กระตุ้นให้ประชาชนนำรถเก่ามาแลกซื้อรถใหม่
ที่ประหยัดเชื้อเพลิง และรวมถึงโครงการของรัฐบาลเยอรมนีในการสนับสนุนตลาด
แรงงานก่อนการเลือกตั้ง
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่สามารถหนุนตลาดหุ้นทั่วโลกได้ โดยตลาด
หุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อวานนี้เนื่องจากมีความกังวลกันว่า นักลงทุนอาจปรับตัวรับการ
คาดการณ์เรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา
รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศจี-20 กำลังจะประชุมกันที่กรุงลอนดอนในช่วง
สุดสัปดาห์นี้ และเป็นที่คาดกันว่าในการประชุมนี้อาจมีการหารือเรื่องแนวทางต่างๆ
ในการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยไม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
หยุดชะงักลง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่สำคัญของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า ภาคโรงงาน
ของสหรัฐขยายตัวในเดือนส.ค.เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค.2008 เป็นต้นมา
ดัชนี PMI นี้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการ
cash for clunkers ที่ส่งผลให้ชาวสหรัฐนำรถยนต์เก่าจำนวนสูงกว่า 690,000 คัน
มาแลกส่วนลด 3 พันล้านดอลลาร์ในการซื้อรถยนต์คันใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิงกว่า
สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐรายงานว่า ดัชนีกิจกรรมภาค
โรงงานพุ่งขึ้นสู่ 52.9 ในเดือนส.ค. จาก 48.9 ในเดือนก.ค. โดยระดับเดือนส.ค.
ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2007
ดัชนีที่อยู่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคโรงงานของสหรัฐเติบโตขึ้น ส่วนตัวเลข
คำสั่งซื้อใหม่และตัวเลขการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
บริษัทที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงการ cash for clunkers คือบริษัท
รถยนต์สำคัญของเอเชียและบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ โคของสหรัฐ ซึ่งได้รับผลบวกจากการที่
บริษัทมีรถยนต์ขนาดเล็กและมีรถยนต์ประเภท crossover (หรือรถยนต์ที่มีลักษณะคล้าย
รถสปอร์ตอเนกประสงค์) ที่น่าสนใจกว่าของคู่แข่ง โดยฟอร์ดรายงานว่ายอดขายพุ่งขึ้น
17 % ในเดือนส.ค.ปีนี้เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2008
บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส โค (GM) ของสหรัฐรายงานว่า ยอดขายเดือน
ส.ค.ดิ่งลง 20 % ต่อปี แต่ยอดขายรถยี่ห้อหลักของ GM (GMC, เชฟโรเลต, บูอิค
และคาดิลแลค) พุ่งขึ้น 21 % จากเดือนก.ค.
ยอดขายรถยนต์โดยรวมในสหรัฐในเดือนส.ค.อยู่สูงกว่า 14 ล้านคัน
เมื่อเทียบเป็นตัวเลขรายปี ซึ่งถือเป็นอัตราการขายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2009
อย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์การลงทุนกังวลว่า การที่ประชาชนเร่งรีบ
ซื้อรถในเดือนส.ค.อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายรถในอนาคต และจะส่งผลให้บริษัท
ผู้ผลิตรถยนต์ประสบภาวะสต็อกรถยนต์ลดลง และอุปสงค์ไม่แน่นอนในช่วงหลายเดือน
ข้างหน้า
เมื่อวานนี้สหรัฐยังรายงานอีกด้วยว่า ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย
พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดรอบ 2 ปีในเดือนก.ค. โดยอาจได้รับแรงหนุนจากการปรับลดราคา
บ้านลงอย่างรุนแรง และจากการที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐประสบภาวะตกต่ำมานาน
3 ปีแล้ว
นายโจนาธาน บาซิล นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเครดิต สวิสกล่าวว่า
"ทั้งรายงาน ISM และรายงานภาคที่อยู่อาศัยต่างก็น่าพึงพอใจ และผมก็มีความพึงพอ
ใจมากเป็นพิเศษต่อตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่และส่วนต่างระหว่างตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่กับ
ตัวเลขการขนส่งสินค้า"
ตัวเลขการจ้างงานของ ISM แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐ
เริ่มมีความหวัง โดยดัชนีการจ้างงานของ ISM พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.
ปี 2008
อย่างไรก็ดี นายนอร์เบิร์ต ออร์ ประธานคณะกรรมการสำรวจธุรกิจ
ภาคการผลิตของ ISM กล่าวเตือนว่า การฟื้นตัวของภาคโรงงานอาจจะไม่ส่งผล
ให้ตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงนี้
นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่าง
ต่อเนื่องก็คือการทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐดิ่งลงจากระดับปัจจุบันที่ 9.4 %
โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั้ง 3 ดัชนีของสหรัฐต่างก็พุ่งขึ้นมาแล้วราว 50 %
จากระดับต่ำสุดของเดือนมี.ค. และทำให้บางคนมองว่าดัชนีอยู่สูงกว่าระดับที่
สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างอ่อนแอ
นายบิล กรอส ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ PIMCO ระบุในจดหมาย
ข่าวที่ออกมาวานนี้ว่า "เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงที่เราเรียกว่า New Normal
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของหลายประเทศเติบโตอย่างเชื่องช้ามาก แทนที่
จะเติบโตอย่างรวดเร็ว"
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงราว 2 % เมื่อวานนี้ ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลก
ร่วงลงราว 1.8 %
การที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงช่วยหนุนราคาพันธบัตร
รัฐบาลสหรัฐเมื่อวานนี้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงลง โดยอัตราผลตอบแทน
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนก.ค. ส่วนราคา
สินค้าโภคภัณฑ์ก็ดิ่งลงอย่างรุนแรง
สหพันธ์โลจิสติกและการจัดซื้อของจีนรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตของจีน
ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนส.ค. และได้ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดรอบ 16 เดือน ขณะที่
ตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่, ผลผลิต, ยอดนำเข้า และการจ้างงานต่างก็เพิ่มขึ้นทุกตัวเลข
นักวิเคราะห์บางคนคาดหวังว่าจีนจะเป็นตัวจักรสำคัญที่กระตุ้นการฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจโลกถ้าหากจีนยังคงนำเข้าในปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี ถึงแม้เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะอยู่ในขั้นตอนแรกของการฟื้นตัว
แต่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆก็อยู่ในสถานะที่แตกต่างกันไป
บริษัทผู้ผลิตของอินเดียมีอัตราการเติบโตเชื่องช้าที่สุดในรอบ 5 เดือน
ส่วนกิจกรรมภาคโรงงานในยูโรโซนขยับลงไม่มากเท่าที่คาดในเดือนส.ค. ทั้งนี้
บริษัทมาร์กิตรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตยูโรโซน
ทะยานขึ้นสู่ 48.2 ในเดือนส.ค. จาก 46.3 ในเดือนก.ค. โดยดัชนีที่ระดับต่ำกว่า
50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัว
อย่างไรก็ดี กิจกรรมภาคโรงงานหดตัวลงอย่างเกินความคาดหมายในอังกฤษ
และอัตราการหดตัวก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในสเปนและอิตาลี
ส่วนในยุโรปตะวันออกนั้น ภาคการผลิตในโปแลนด์และสาธารณรัฐเชคทะยานขึ้น
สู่ระดับของการเริ่มฟื้นตัว แต่ความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมในฮังการีดิ่งลง
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในยูโรโซนอาจเผชิญอุปสรรค
จากอัตราการว่างงานที่ระดับสูง ซึ่งส่งผลลบต่ออุปสงค์ในสินค้าปลีก และเผชิญอุปสรรค
จากการที่รัฐบาลหลายประเทศจะเรียกคืนเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ได้อัดฉีดเข้าสู่
เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
เนื่องจากเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังจะฟื้นตัวขึ้น นายกรัฐมนตรี
แองเจลา เมอร์เคลของเยอรมนีจึงกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุว่า จำเป็นต้องมีการ
คุมเข้มเงื่อนไขในการปล่อยกู้เมื่อใดก็ตามที่วิกฤติเศรษฐกิจสิ้นสุดลง
นางเมอร์เคลกล่าวว่า "จำเป็นต้องมีการปรับลดปริมาณเงินลง"
ด้านนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์
ไฟแนนเชียล ไทมส์ก่อนการประชุมกลุ่มประเทศจี-20 ว่า หลายประเทศควรประสานงานกัน
มากยิ่งขึ้นในเรื่องการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ--จบ--
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)
((
[email protected]; โทร 0-2648-9741;
Reuters Messaging:
[email protected]))