Peter1011 เขียน: ↑เสาร์ มี.ค. 12, 2022 9:33 pm
ต้องนับถือความรู้ของอ.ตี่ ขอบคุณที่มาตอบให้ทุกโพสท์ครับ เรื่อง asset allocation ผมไม่มีปัญหามาต้องแต่ลงทุนครั้งแรกแล้วครับ ระดับการรับความเสี่ยงของตัวเองผมก็ไม่มีปัญหา หากผมไม่ไปใน uncharted territories หรือพูดง่ายๆว่านอก circle of competence
...
กราบขออภัย หากเข้าใจปัญหาของคุณ Peter1011 ผิด และ ขอโทษด้วยนะครับ หากความเห็นของผมไปกระทบกระทั่งอะไรกับคุณ Peter1011 เข้า
พอดีช่วงนี้ผมศึกษาเรื่องความเสี่ยง และระดับในการรับความเสี่ยงของตัวเอง กับผลกระทบจาก Social Media เยอะ แล้วก็รู้สึกว่าระดับในการรับความเสี่ยงของตัวเองเปลี่ยนไป มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง จนต้องกลับมาศึกษาอะไรหลายๆ อย่างเพิ่ม เพื่อทำความเข้าใจตัวเองใหม่
เท่าที่ศึกษามา ทฤษฎีความเสี่ยงเป็นเรื่องของการใช้ Outsider View ในการนำเครื่องมือทางสถิติมาวิเคราะห์ความจริงที่เกิดขึ้น ในการวัดระดับความเสี่ยง ซึ่งในทางสถิติที่เกิดขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานแล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพมากกว่าตลาดอื่นๆ เพราะ มีจำนวนหุ้น นักลงทุน และเม็ดเงินลงทุน สูงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมแล้วต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ และหุ้นรายตัว
ในมุมของ Asset Allocation เวลาเราจะ Take ความเสี่ยงใน Equity เราเริ่มต้นจากความเสี่ยงในตลาดหุ้นที่ต่ำที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ แล้วก็ค่อยๆ ไล่ไปที่ตลาดที่ความเสี่ยงสูงขึ้น อย่าง Emerging Market แล้วไปที่กลุ่มหุ้นในราย Sector สุดท้ายค่อยไปจบที่หุ้นรายตัว
ในขณะที่ Circle of Competence เป็น Insider View ที่มี Familarity Bias ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในวัยเด็กและการศึกษา ว่าเป็นอย่างไร ในการทำความเข้าใจอุตสาหกรรม และธุรกิจรายตัว ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเอามาใช้เลือกหุ้นรายตัว
ในทางทฏษฎีความเสี่ยงแล้ว การเลือกหุ้นรายตัว ความเสี่ยงมันสูงกว่าการถือ ETF ของตลาด เพราะ ผลของการกระจายความเสี่ยง เราสามารถลดความเสี่ยงเฉพาะกิจการออกไปได้ หากถือหุ้นกระจายในหลายๆ อุตสาหกรรมมากกว่า 20 ตัวขึ้นไปได้ ซึ่งนักลงทุนส่วนบุคคล เท่าที่เคยเห็นคนที่กระจายได้มากๆ ก็มีพี่โจลูกอีสาน กับ อาจารย์ Damodaran ที่ถือกัน 50 ตัวขึ้นไป นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่กระจายความเสี่ยงไม่มากพอ มักจะถือหุ้นน้อยตัวเกินไป และมี Correlation ต่อกันมากจนเกินไป
(ลองอ่าน
Blog Post นี้ประกอบดูนะครับ )
ดังนั้นในมุมของความเสี่ยงในทางสถิติแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะสบายใจในแง่ที่เราลงทุนอยู่ใน Circle of Competence แต่เราอาจจะกำลังรับความเสี่ยงที่ใหญ่โตมโหฬารอย่างที่เราไม่คาดคิด ซึ่งต้องใช้เครื่องมือทางสถิติมาจับถึงจะเห็นความจริงนี้ หรือ ไม่ก็ต้องโดนลงโทษจากตลาด เล่นจริงเจ็บจริง เราถึงจะเห็นความเป็นจริงว่า จริงๆ แล้วอะไรมันเสี่ยงมากกว่ากัน
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางสถิติ กับความเข้าใจตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน กับความเสี่ยงที่รับได้จริงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
ความเสี่ยงที่เรากำลังรับอยู่จริงๆ มันคือ อาการเสียวๆ ท้อง มวนๆ ท้องเวลาเห็นหุ้นตก เวลารู้สึกคิดวนอยู่ในหัวจนนอนไม่ค่อยหลับ หรือ อาการใจผวาที่รู้ข่าวว่าเพื่อนเราขายหุ้นไปหมดพอร์ต แล้วเห็นหุ้นตก จนอยากจะกดขายตามให้หมดพอร์ต
ถ้าผมจำไม่ผิด เหมือนจะมีคำพูดของบัฟเฟตที่บอกว่าถ้าเข้าไปเล่นหุ้นรายตัว ต้องเตรียมใจที่จะทนเห็นหุ้นตัวเองตกไป 50% ให้ได้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเรารับความเสี่ยงจริงๆ ได้เท่าไหร่ จนกว่า Asset Allocation ที่เราเชื่อว่าเรารับได้ ได้รับการทดสอบจริง Stress Test ด้วยของจริงที่เกิดขึ้นในตลาด
ซึ่งในการทดสอบจริงกับตลาดครั้งนี้ คุณ Peter1011 อาจจะไม่มีปัญหา แต่ผมมีปัญหาครับ ด้วยความคิดในมุมแคบๆ ของผมที่เป็น Tunnel Vision และเหมารวมมี Bias ก็เลยคิดว่าคุณ Peter1011 ก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกับผม เลยเป็นที่มาของการโพสต์อะไรที่เผลอไปล่วงเกินคุณ Peter1011 ซึ่งก็ต้องกราบขอโทษคุณ Peter1011 อีกหลายๆ ครั้งที่จุดนี้ ซึ่งก็หวังว่าคุณ Peter1011 จะให้อภัยผมกับความเข้าใจผิดของผมในครั้งนี้นะครับ
ความเสี่ยงที่ผมคิดว่าตัวเองรับได้ พอผมเจอการทดสอบครั้งนี้ มันกลับไม่ใช่อย่างนั้น...
ความรู้สึกบีบคั้นที่เกิดขึ้นข้างในมันหนักกว่าที่คิดครับ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผมซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น Valuation ยากขึ้นเข้ามาในพอร์ต ผลกระทบจาก Social Media ที่ทำให้ระดับความผันผวนและความเสี่ยงของหุ้นมีมากขึ้น ในขณะที่ Life Style ในช่วงที่ผ่านมาของผมเอง ที่ใช้ App และ Smartphone ทำให้ระดับความอดทนมีต่ำลง ประกอบกับปริมาณข้อมูลจากสื่อ Social ที่มีมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่าความหนัก ความบีบคั้น ในการทนกับความเสี่ยงในครั้งนี้แตกต่างจากในช่วง Subprime ผมรู้สึกว่าครั้งนี้บีบคั้นและหนักกว่ามาก ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงในทางสถิติแล้ว ในช่วง Subprime ผม Take ความเสี่ยงหนักกว่าครั้งนี้หลายเท่าตัว
มันทำให้ผมตระหนักเลยว่า ความเสี่ยงที่รับจริง ความเสี่ยงที่คิดว่าตัวเองรับได้ กับความเสี่ยงที่รับได้จริงๆ มันเป็นคนละเรื่องกันเลย
มันเลยทำให้ผมต้องกลับมาศึกษา และทบทวนหลักการอีกครั้ง เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า การลงทุนระยะยาวคืออะไร สัดส่วนในการลงทุนที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ ความเสี่ยงคืออะไร การบริหารความเสี่ยงควรทำอย่างไร เราควร Take มุมมอง และจัดการกับสภาพจิตใจของตัวเองอย่างไร เราจะตัดอิทธิพลของตลาดในระยะสั้นอย่างไร การรับข้อมูลที่เหมาะสมคืออะไร และเท่าไร ฯลฯ
ผมยังมีปัญหา และผมก็ยังพยายามเรียนรู้ในเรื่องนี้อยู่ แม้ว่าตัวเองจะฝึกทำ Simulation ทางความรู้สึกเอาไว้แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง บ่อยครั้งที่สิ่งที่จินตนาการกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็อาจจะไม่ตรงกัน
แต่จะกลัวเท่าไร มันก็เป็นอารมณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จะบีบคั้นมาก บีบคั้นน้อย จะยาว จะสั้น ถึงจุดหนึ่งมันก็ดับไป มันไม่ได้ตั้งอยู่อย่างจีรังไม่มีวันสิ้นสุด
ในขณะนี้ผมเข้าใจว่า ความเสี่ยงที่รับได้จริงๆ คือ ความสามารถที่จะอดทนต่อความบีบคั้นชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จะรักษาแผนการลงทุนระยะยาวที่ตั้งใจเอาไว้ได้ โดยไม่ล้มกระดาน พับแผนที่วางเอาไว้ทิ้ง จะเป็นการปรับสัดส่วนพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับจริงให้มากขึ้นก็ได้ แต่ไม่ใช่การล้างพอร์ต ล้มแผนระยะยาวของเรา
ในทางอารมณ์ เราควรที่จะกินอิ่ม นอนหลับได้อย่างเพียงพอ และมีอารมณ์ที่มีเสถียรภาพพอที่จะไม่ไปฟาดงวง ฟาดงา ใส่ใคร แน่นอนล่ะมันจะบีบคั้นแน่นอน มันมีผลกระทบแน่ๆ ล่ะ แต่มันไม่ควรบีบคั้นจนทำให้ชีวิตด้านอื่นพัง
สุดท้ายแล้ว หุ้นที่ตกมากเกินไปวันหนึ่งก็กลับมาขึ้น หุ้นที่ขึ้นมากไปวันหนึ่งก็กลับมาตก คำถามคือ เรามีไม้บรรทัด มีเครื่องคิดเลข มีวิธีการคำนวณ มีความกล้าหาญ และความเป็นกลางที่จะวัดค่าออกมาได้ไหม ว่าไอ้ที่ว่ามากเกินไป ค่าที่ควรจะเป็นจริงๆ มันคือเท่าไรกันแน่
และเมื่อวัดค่าออกมาแล้ว เรามีความเชื่อ มีศรัทธาในปรัชญาการลงทุนของเราไหม ที่จะ Take Action ตามสิ่งที่เราเชื่อ
สุดท้าย (ผมบอกกับตัวเองนะครับ) ถ้าเราสามารถจัดการกับความเสี่ยงและอารมณ์ได้แล้ว สามารถพิจารณาการลงทุนได้อย่างเป็นกลางแล้ว เราทำทุกอย่างที่ควรทำได้ไปหมดแล้ว
มันก็เป็นช่วงเวลาที่ผมต้องอดทนกับความกลัวที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่นานหรอก ที่ความกลัวนี้จะดับไป เรายังอยู่บนเส้นทางตามแผนระยะยาวของเรา
มันเป็นช่วงเวลาที่ผมต้องอดทนกับความโลภที่อยากจะแก้แค้น อยากจะเอาคืน ซึ่งก็ไม่นานหรอก ที่ความโลภนี้จะดับไป เรายังอยู่บนเส้นทางตามแผนระยะยาวของเรา
มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องรักษาใจตัวเองของเราไว้ ไม่ให้เผลอไปเบียดเบียนคนใกล้ๆ ตัวที่เรารัก และไม่ภาระให้เค้าต้องเป็นห่วงเรามากจนเกินไป
มันเป็นช่วงเวลาที่หากเรารักษาใจเราได้แล้ว มันจะดีกว่าไหม ที่เราจะเผื่อแผ่ความเข้มแข็งทางจิตใจนี้ไปให้กับคนที่กำลังต้องการที่พึ่งในเวลานี้
ผมยังคงมีความสุขกับการตอบคำถาม แชร์ความคิดเห็น ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ในเว็บ ThaiVI เหมือนกับวันแรกที่ผมเดินเข้ามาเป็นสมาชิกในที่แห่งนี้ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา ที่แสดงความคิดเห็นแบบเกรียนๆ ทำให้ใครหลายคนไม่ชอบใจในหลายๆ ครั้ง แต่ผมก็พยายามทำ โดยเชื่อว่าสิ่งที่ผมพยายามกลั่นกรองออกมาเป็นข้อความนี้จะมีประโยชน์ต่อใครสักคนหนึ่ง ที่บังเอิญมีโอกาสได้เข้ามาอ่าน
ตัวผมเองคงต้องเรียนรู้ ยังมีปัญหาของตัวเองอีกเยอะแยะที่ต้องแก้ ยังเป็นนักเรียนที่กำลังพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจโลกแห่งการลงทุนแห่งนี้ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้ เป็นอาจารย์อะไร ผมรู้สึกกับตัวเอง เหมือนเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ที่มีความสงสัย ใคร่รู้สิ่งต่างๆ ในโลก และเวลาได้เรียนอะไรสนุกๆ มา ก็อยากแชร์ แบ่งปันให้กับเพื่อนๆ เหมือนกับที่ผมได้รับสิ่งดีๆ ที่อาจารย์ พี่ๆ เพื่อนๆ ที่ร่วมแชร์แบ่งปัน สร้างสังคมแห่งนี้ขึ้นมา
บ่อยๆ ครั้ง ที่ผมก็รำคาญตัวเองเหมือนกัน ที่จะเขียนอะไรเยอะแยะ แสดงความเห็นอะไรมากมาย บางครั้งก็เกลียดตัวเองที่ตัวเองเป็นแบบนี้ อยากจะเป็นคนที่พูดน้อยๆ เขียนน้อยๆ สำรวมคำพูดให้ได้มากกว่านี้ จะได้สงบมากกว่านี้ จะได้ฟุ้งซ่านน้อยกว่านี้ ผมอยากทำได้ ผมพยายามทำ แต่พอดีผมยังทำไม่ได้ครับ ผมพยายามเลิกเล่น ThaiVI หลายรอบมาก แต่สุดท้ายก็ยังทำไม่ได้ หวังว่าวันหนึ่งจะทำได้ แต่ระหว่างที่ผมยังทำไม่ได้ ก็รบกวนช่วยอดทนกับผมหน่อยแล้วกันนะครับ