พลังงานทดแทนถึงทางตัน [ ฉบับที่ 861 ประจำวันที่ 12-1-2008 ถึง 15-1-2008]
> ศึกแย่งวัตถุดิบเดือด! ตลาดมืดเริงร่าตุนแป้ง-น้ำตาล
วิกฤติพลังงานทดแทนระอุ หลังพบพื้นที่ปลูกจำกัด คาดใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ ด้านเอกชนกังวลปัญหาแย่งวัตถุดิบบานปลาย เพราะรัฐบาลไม่ชัดเจนการจัดโซนนิ่ง เกรงเกษตรกรขนไปป้อนโรงงานไบโอดีเซล หมด ทำน้ำมันพืชขาดตลาด แนะทางเลือกหันกลับไปกินน้ำมันหมูดีกว่า ด้านมันสำปะหลัง-น้ำตาล เจอภาวะเดียวกันถูกแย่งทำก๊าซโซฮอล์ ล่าสุดแป้งมันขึ้น แล้วกว่า 30% น้ำตาลชาร์จราคาอีกกระสอบละ 30 บาท หวั่นนโยบาย ยรรยง ก่อผลตลาดมืดฟีเวอร์ ขณะที่ปลัดพลังงานเตรียมหารือพาณิชย์ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อรับทราบเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ
แหล่งข่าวจากธนาคารเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่าขณะนี้พื้นที่ส่งเสริมการปลูกปาล์มยังเป็นพื้นที่เดิมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยประกาศไว้แล้วคือ ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัด ชุมพรลงไป ภาคตะวันออก และภาคอีสานที่จังหวัด หนองคาย อย่างไรก็ตาม รัฐยังไม่ได้กำหนดว่าพื้นที่ส่วนไหนปลูกเพื่อใช้ทำพลังงานทดแทน พื้นที่ส่วนไหนปลูกเพื่อการบริโภค
คุณต้องเข้าใจว่าขณะนี้โรงงานไบโอดีเซลขนาดใหญ่ยังไม่เสร็จสักโรง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานของ ปตท.หรือของบางจาก เพราะฉะนั้นถ้ากำหนดว่าพื้นที่นั้นผลิตปาล์มเพื่อทำไบโอดีเซลแต่ไม่มีโรงงาน ไบโอดีเซลแล้วจะขายให้ใคร การจะกำหนดพื้นที่การปลูกได้ต้องมีแหล่งรองรับวัตถุดิบแน่นอน ซึ่งรายละเอียดลึกๆ ก็ต้องถามไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศยังค่อนข้างจำกัด เพราะปาล์มเป็นพืชพิเศษที่ต้องใช้พันธุ์อย่างดี และใช้น้ำจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ในภาคใต้ แต่ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคใต้ก็ใช้ในการปลูกยางพารา รัฐบาลจึงมองหาพื้นที่ทดแทน โดยใช้พื้นที่ทางภาคตะวันออก และพื้นที่บางส่วน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพื้นที่ปลูกปาล์มวันนี้ต้องถือว่ามีจำกัดอย่างยิ่ง
วันนี้ถ้าเราไปบอกให้คนทางภาคใต้ปลูกปาล์มเขาก็ยังคิดหนักเพราะราคายางพารากิโลกรัม ละ 70 บาท ประกอบกับหากเริ่มปลูกปาล์มวันนี้จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปีจึงจะให้ผลผลิต ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องนำเข้าปาล์มจากประเทศมาเลเซียเพื่อใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและบริโภค ก่อนที่ปาล์มในเมืองไทยจะให้ผลผลิต แหล่งข่าว กล่าว
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธาน คณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอ การค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่าเรื่องการจัดโซนนิ่งเพื่อปลูกปาล์มเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งในวันนี้เท่าที่ทราบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าพื้นที่ส่วนไหนใช้ปลูกปาล์มทำน้ำมัน พื้นที่ส่วนไหนใช้ปลูกปาล์มเพื่อบริโภค ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะเลือกขายผลิตผลให้กับโรงงานที่ให้ราคาดีกว่า ซึ่งก็คือโรงงานผลิตไบโอดีเซล นั่นหมายความว่าปาล์มสำหรับ การผลิตน้ำมันพืชก็จะน้อยลงไปอีก และจะนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าบริโภคไม่สิ้นสุด โดยอ้างว่าผล ผลิตน้อย หรือต้นทุนสูง
ขณะที่นายสมชาย พรรัตนเจริญ ประธานนายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีก เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่านโยบายของรัฐบาลค่อนข้างสับสน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวสินค้าล้นตลาด เดี๋ยวสินค้าขาดตลาด ในกรณีปาล์มน้ำมันก็เช่นกัน เราควรจะกำหนดแน่ชัดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะต้องใช้ผลิตสำหรับไบโอดีเซลเท่าไหร่ และควรเพิ่มพื้นที่ปลูกเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มีการบริหารจัดการแต่อย่างใด มีแต่สนับสนุนให้คนหันมาใช้พลังงานทดแทน จน ถึงวันหนึ่งเมื่อวัตถุดิบขาดแคลนก็จะมารณรงค์ให้เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตก็ต้องรอไปอีก 4-5 ปี แม้กระทั่งพืชอย่างอื่นเช่น อ้อย หรือมันสำปะหลังก็เช่นกัน ไม่มีการกำหนดโซนนิ่งว่าพื้นที่ไหนปลูกเพื่อทำน้ำตาล พื้นที่ไหนปลูกเพื่อทำเอธานอล หากเป็นเช่นนี้ต่อไปวันหนึ่งเราคงเห็นราคาน้ำตาลขึ้นพรวดพราดเหมือนราคาน้ำมัน พืช เพราะทุกวันนี้ราคาก็ขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งขึ้นมาแล้ว กว่า 30% ในช่วง 2 เดือน หรือราคาน้ำตาลซึ่งขึ้น ราคากระสอบละ 60 บาท หรือ 60 สตางค์ต่อกิโลกรัม นั่นก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอธานอลเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันก๊าซโซฮอล์
นายสมชายยังกล่าวว่า ในอนาคตหากราคา น้ำมันพืชแพงเกินไป ผู้ประกอบการอาจหันมา รณรงค์ให้บริโภคน้ำมันหมูเช่นในอดีต ซึ่งแม้จะดูว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก็ได้
ในอดีตคนไทยบริโภคน้ำมันหมู ซึ่งก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่วันหนึ่งเราก็โดนนักการตลาดที่นำเข้าน้ำมันปาล์มโฆษณาว่ากินน้ำมันหมูเสี่ยงต่อการเป็นโรคคอเรสเตอรอล ส่งผลให้เกิดความกลัวหันมาบริโภคน้ำมันพืชแทน ซึ่งผมมองว่าถ้าราคาน้ำมันพืชยังขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เราอาจต้องหันกลับไปบริโภคน้ำมันหมูแทน นายสมชาย กล่าว
และจากกรณีผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ได้ยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน ขอขึ้นราคาอีกขวดละ 6.50 บาท หรือปรับจากขวดละ 43.50 บาท เป็นขวดละ 50 บาท เพราะแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว โดยผลปาล์มสดขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 6 บาท จากปลายปี 2550 อยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 4 บาท ส่งผลให้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ลิตรละ 32.50 บาท และยังมีแนวโน้มว่า น้ำมันปาล์มขวดอาจขาดตลาด เพราะผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลง จากปัญหาขาดทุน ประ กอบกับน้ำมันปาล์มดิบเริ่มขาดแคลน เพราะส่วนหนึ่งนำไปผลิตพลังงานทดแทน โดยนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า ได้รับหนังสือที่ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มบรรจุขวดยื่นขอปรับราคาเข้ามา ซึ่งกรมคงไม่อนุมัติให้ ปรับขึ้นราคาตามเพดานที่ขอเข้ามาเพราะประชาชน จะได้รับผลกระทบมากเกินไป แต่อาจจะให้เพิ่มขึ้นเพียงขวดละ 3 บาท หรือเพิ่มจากขวดละ 43.50 บาท เป็นขวดละ 46.50 บาท ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวของอธิบดีกรมการค้าภายในทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ลงลึกในรายละเอียด แม้จะเป็นการช่วยเหลือด้านค่าครอง ชีพให้กับประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้และเลิกผลิตสินค้า นั่นอาจจะสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่า เพราะประชาชนอาจต้องแย่งกันหาซื้อสินค้าในตลาดมืด ซึ่งนอกจากจะมีปริมาณ น้อยแล้ว อาจต้องมีโควตาว่าซื้อได้คนละจำนวนเท่าไหร่ และราคาอาจจะสูงมากกว่าที่ผู้ประกอบการ ขอเพิ่มในเวลานี้ด้วยซ้ำ
ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับทราบเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่มีอยู่ในขณะนี้ว่า มีปริมาณเท่าใดและมีสถานที่ปลูกที่ใดบ้าง รวมทั้งการบริหารจัดการสำหรับการบริโภคและการใช้พลังงานทดแทนว่าเป็นไปอย่างไร
ทั้งนี้ เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เกิดการขาด แคลนน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มมาก แต่อยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก เป็นสำคัญ อีกทั้งปัจจุบันการนำเข้าน้ำมันปาล์ม มาใช้เป็นพลังงานทดแทนก็จะได้นำมาจากน้ำมัน ที่เหลือใช้จากการบริโภคในประเทศแล้วเท่านั้น ไม่ได้นำจากส่วนของการบริโภคมาใช้แต่อย่างใด
ดังนั้น การนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบมาใช้เป็นพลังงานทดแทน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันปาล์มปรับเพิ่มขึ้นหรือลงนั้นเป็นไปตามกลไกตลาดโลก
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ราคาน้ำมันปาล์ม ดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามแนวโน้มราคาตลาดโลก ที่อ้างอิงราคาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของโลก เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซลอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ราคาปาล์มดิบปรับตัวขึ้นอย่าง รวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่ากระทรวงพลังงานจะไม่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง แต่ราคา น้ำมันพืชก็ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีมาตรการดูแลสภาพ ตลาด ทั้งในด้านราคา การจัดหา ตลอดจนการนำเข้าและส่งออก เพื่อให้มีผลผลิตปาล์มเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป กระทรวงพลังงานจะบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 2 ที่ผลิตจากไบโอดีเซล บี 100 ในสัดส่วนร้อยละ 2 กับน้ำมันดีเซลร้อยละ 98 ซึ่งจะต้องใช้ไบโอดีเซล บี 100 จำนวน 1.2 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ไบโอดีเซล บี 2 ทั่วประเทศในปีนี้ ส่วนไบโอดีเซล บี 5 คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปี 2554
การส่งเสริมไบโอดีเซล บี 2 และบี 5 จะไม่เพิ่มภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจาก เป็นการชดเชยในอัตราส่วนเพียงเล็กน้อย
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันภายในประเทศ ขณะนี้ กระทรวงพลังงานติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นสูงสุดแตะที่ระดับ 112 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 107 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงมา แต่ถือว่าทรงตัวในระดับสูง ดังนั้น ผู้ใช้น้ำมันต้องตระหนักและใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนนโยบายที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาอุดหนุนนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ แต่อาจทำได้ด้วยวิธีการลดภาษีสรรพสามิต แต่ก็จะมีผลกระทบทำให้รายได้ของภาครัฐหายไป
รมว.พลังงาน ยังกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้ก๊าซโซฮอล์ อี 85 โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานนโยบาย และอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) กลับไปหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ต่างๆ อีกครั้งว่าจะเริ่มจำหน่ายก๊าซ โซฮอล์ อี 85 ได้เมื่อใด เพราะต้องให้เวลาผู้ผลิตรถยนต์ในการปรับตัว โดยราคาก๊าซโซฮอล์ อี 85 จะราคาถูกกว่าเบนซิน 95 ประมาณ 10 บาทต่อลิตร และถูกกว่าก๊าซโซฮอล์ อี 10 ประมาณ 4 บาทต่อลิตร
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... 12DDS45231