หน้า 89 จากทั้งหมด 89

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 10, 2010 2:41 pm
โดย Lu Xun
:bow:  :bow:  :bow:

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 10, 2010 2:46 pm
โดย Suysak
เข้ามาแสดงความนับถือ และขอบคุณในน้ำใจ พี่โจ อีกคนครับ

:bow:  :bow:

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 10, 2010 3:47 pm
โดย thanapon.k
ขอบคุณพี่โจมากครับ
ได้เรียนรู้อะไรดีๆจากกระทู้พี่มากมายเลย  :D

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 10, 2010 7:16 pm
โดย yy
ขอบคุณ คุณโจ มากๆด้วยครับ
ประทับใจตั้งแต่ได้ดูรายการ Money talk เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน
ตามมาอ่านในเว็ปไทยวีไอ ยิ่งประทับใจมากขึ้น
ได้หุ้นหลายตัวไปต่อยอดจากการอ่านที่คุณโจตอบคำถามท่านอื่นๆในกระทู้นี้
แอบภูมิใจลึกๆที่หุ้นบางตัวที่เริ่มวิเคราะห์เอง คุณโจก็มีหุ้นเช่นเดียวกัน
ยังจะติดตามโพสต์ของคุณโจในกระทู้อื่นๆต่อไปครับ
ขอบคุณอีกครังครับ
และผมจะรอวัน Shane เอ๊ย Jo come back

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 25, 2010 10:34 pm
โดย ลูกอิสาน
[quote="nun08"]พี่โจครับอยากทราบมุมมองของพี่ต่อ SVI ครับ มีทั้ง svi-w2 รอแปลง และ esop5 แบบนี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไร

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 25, 2010 10:37 pm
โดย ลูกอิสาน
[quote="Hughes"]มีมาอีกตัวครับ GOLD
golden land,

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 25, 2010 10:41 pm
โดย ลูกอิสาน
[quote="simpleBE"]สอบถามความเห็นเกี่ยวกับ AIM ในเวลานี้ครับ
บริษัทยังขาดทุนอยู่

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ค. 26, 2010 9:24 pm
โดย ลูกอิสาน
Kuray เขียน:รบกวนพี่ช่วยวิเคราะห์ TNH ให้ทีได้ไหมคับ ผมเห็นงบการเงินก็ดี แต่เห็นราคาตกเอาๆ
nasesus เขียน:ขอรบกวนพี่โจหน่อยครับ พี่โจครับ หุ้นโรงพยาบาล CMR หลังจากแลกหุ้นกันเมื่อสองปีก่อน แนวโน้มการเติบโตน่าจะสม่ำเสมอมั้ยครับ เพราะบริษัทเหมือนมีโรงพยาบาลกระจายในเชียงใหม่และในต่างจังหวัด แนวโน้มอนาคตจะมีการสร้างศูนย์มะเร็งเพิ่มเติม อ่านในกูเกิ้ลส่วนใหญ่คนที่ใช้บริการโรงพยาบาลในเครือออกแนวชมมากกว่าบ่นนะครับ แต่งบการเงินรวมพึ่งมีแค่สองปีแล้วหนี้ค่อนข้างมากด้วยเลยเสียวๆครับ เลยมาขอความเห็นพี่โจหน่อยครับ
kindaiji เขียน:ขอความเห็นพี่โจเกี่ยวกับ vibha  ครับ
ผมหาในร้อยคนร้อยหุ้น ได้ข้อมูลน้อยมาก
เหมือนไม่ค่อยมีคนสนใจเลย
พี่โจคิดว่าจะเทียบชั้นกับ kh ได้ไหมครับในอนาคต
ขอบคุณมากครับ
Laziale เขียน:รบกวนถามความเห็นพี่โจสำหรับ AHC หน่อยครับ เพราะดูแล้วราคายังค่อนข้างต่ำและยังไม่ไปไหน แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของกำไรใน Q3'09 นี้ซึ่งค่อนข้างดี ไม่ทราบว่าพี่โจพอจะคาดการณ์กำไรในอนาคตว่าน่าสนใจอย่างไรครับ :D
มีหลายคนสอบถามเรื่องในกลุ่มโรงพยาบาลติดๆกันเลย ผมของตอบรวมไปทีเดียวนะครับ ถ้าผมจะลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ผมจะมองปัจจัยดังนี้ครับ..

1.เป็นโรงพยาบาลที่โดดเด่นในพื้นที่นั้น การสร้างความน่าเชื่อถือต้องอาศัยเวลา ดังนั้นโรงพยาบาลใหม่ๆ แม้อาคาร สถานที่อาจดูดีกว่าก็ใช่ว่าจะสู้กับโรงพยาบาลเดิมที่คนคุ้นเคย  และหลายครั้งเรื่องภูมิศาสตร์ความใกล้ไกลกับชุมชนก็มีผล โดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่ฉุกเฉิน คงต้องหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดไว้ก่อนครับ  เรื่องความน่าเชื่อถือของหมอก็มีผล โรงพยาบาลที่ดีย่อมสามารถดึงดูดให้หมอเก่งๆมาทำงานให้ครับ พูดโดยรวมคือต้องเป็นโรงพยาบาลเบอร์ 1 ในหัวใจของคนแถบนั้นหากเป็นเบอร์ 2 ก็ควรเป็นเบอร์สองที่ใกล้เคียงเบอร์ 1

2.ต่อเนื่องจากข้อแรกนอกจากเชื่อเสียงที่ดี โรงพยาบาลควรอยู่ในชุมชนที่ขยายตัวด้วย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆที่มีอุตสาหกรรมรองรับ มีการจ้างงาน จะมีแนวโน้นที่ชุมชนจะขยายตัวครับ อย่างจังหวัด ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปราจีนบุรี ธุรกิจที่อยู่ในเมืองที่กำลังโตก็เหมือนวิ่งลู่ไปตามลม ถ้าอยู่ในเมืองกำลังหดตัวก็เหมือนวิ่งต้านลมครับ :D

3.ต้องมีการเติบโตของรายได้และกำไร กำไรจะโตได้ก็ต้องมี 2 อย่างคือการเพิ่มลูกค้า หรือการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้มากกว่าการเพิ่มของต้นทุน การเพิ่มลูกค้าอาจจะเพิ่มจากสาขาเดิม หรือการก่อสร้างสาขาใหม่ครับ ส่วนการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลต้องมากกว่าเงินเฟ้อ มากกว่าต้นทุนที่เพิ่ม กรณีการรับลูกค้าประกันสังคม ประกันสุขภาพของรัฐและเอกชน ค่ารักษาต่อหัวควรจะเพิ่มทุกปีมากกว่าหรือเท่ากับเงินเฟ้อ

4.งบดุลของกิจการต้องแข็งแกร่ง เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า และหากมีการขยายกิจการก็ไม่ต้องรบกวนเงินของผู้ถือหุ้นหรือรบกวนไม่มาก หากเจอวิฤตก็มีโอกาสรอดมากกว่ากิจการที่วงการเงินอ่อนแอ

5.ความเสี่ยง จากเหตุการจลาจลที่เพิ่งเกิดขึ้น สอนให้เรารู้ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ดังนั้นโรงพยาบาลที่มีหลายสาขาหรือมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย น่าจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าโรงพยาบาลที่ stand alone หรือมีกลุ่มลูกค้ากระจุกตัว เช่นกลุ่มลูกค้าต่างชาติมีจะผันผวนตามปัจจัยที่มากระทบได้มาก

6.ต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากต้นทุนทางการเงินแล้ว ต้นทุนการบริหารงาน ต้นทุนค่าใช้จ่ายๆต่างๆ โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย น่าจะมีอำนาจต่อรอง สามารถ utilize เครื่องมือเครื่งใช้ที่ราคาแพง หรือหากมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จ่ายเพียงก้อนเดียวแต่ส่งผลได้ทุกสาขา ผมเชื่อว่าในอนาคตโรงพยาบาล stand alone จะลดลง และจะกลายเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายมากขึ้น ฟันธง !จากเหตุผลข้างต้นครับ แต่โรงพยาบาลเดี่ยวบางแห่งอาจจะมีขนาดใหญ่มากเช่น BH จนเกิด economy of scale ในทุกๆด้าน อย่างนี้ก็ถือว่าคล้ายกับมีหลายสาขาเช่นกันเพียงแต่ยังคงมีความเสี่ยงการพึ่งพาสถานประกอบการเพียงแห่งเดียว

TNH มีภาระการลงทุนใหญ่อยู่ข้างหน้า ดังนั้นปันผลอาจจะลดลง แต่ผลประกอบการถือไว่าไม่เสี่ยงอะไร มีเพียงการผันผวนบ้างรายไตรมาส ขึ้นอยู่กับภาวะการระบาดของโรคต่างๆ

CMR ผมไม่ได้ติดตามตัวนี้ ดูงบการเงินคร่าวๆก็โอเค ปีที่แล้วมีกำไรพิเศษทำให้กำไรโตมากกว่าผิดปกติ ที่ราคาปัจจุบันพีอีประมาณประมาณ 8-12 เท่าก็ถือว่าไม่ถูกไม่แพง ผมอยู่ทางใต้เลยไม่รู้ว่าการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลที่เชียงใหม่เป็นอย่างไรครับ คนในพื้นที่จะทราบมากกว่า

KH เป็นหุ้นที่ผมชอบเป็นพิเศษ แต่ในระยะสั้นๆ 2-3 ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ กำไรอาจจะชะงัก :?  แต่หลังจากนั้นน่าจะกลับมาโตได้ครับ

VIBHA ผมไม่ได้ติดตามเช่นกัน เคยอ่านเจอว่าซื้อเซอวิสอพาทเมนท์จากอีกบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่(TFD) ถ้าเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับผู้ถือหุ้นแน่ครับ

AHC เอกชล1 อยู่ตัวแล้วและเติบโตได้เรื่อยๆ ต้องลุ้นกับเอกชล 2 ว่ามีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นมากน้อย และลุ้นให้สปส.เพิ่มเบี้ยรายหัวในแต่ละปี ปีหน้ารายได้ประกันจะเพิ่มเพราะปีนี้ไม่เพิ่มให้ครับ ดูผลประกอบการไตรมาสแรกก็ดูดี คนใข้ทั่วไปเพิ่ม คนใข้ประกันสังคมก็เพิ่ม น่าจะถึงจุดคุ้มทุนแล้วครับ

แถมอีกตัว NTV ที่ราคาปัจจุบัน NTV เทรดที่ P/E ประมาณ 9-10 เท่า ให้ผลตอบแทนเงินปันผล 5-6% งบดุลค่อนข้างดี สินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ดิน อุปกรณ์ มีเงินสดค่อนข้างน้อย บริษัทมีการเติบโตของผลกำไรทุกปีแต่ในอัตราที่น้อยลง เพราะอัตราการให้บริหารค่อนข้างเต็มแล้ว บริษัทมีโครงการจะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่รัตนาธิเบศต์ ใช้งบประมาณ 1 พันล้านโดยทยอยสร้างทีละเฟส แต่ปัจจุบันต้องเลื่อนออกไปเพราะปัญหาเศรษรกิจ จุดเด่นของ NTV คือเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงในแถบนั้น และอยู่ในชุมชนที่ขยายตัว ทำให้มีลูกค้าสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นครับ จากราคา ผมคิดว่าราคาปัจจุบันน่าจะสมเหตุสมผลแล้ว เป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาไม่ไปไหน คนที่ซื้อก็มักลงทุนระยะยาว ไม่มีตัวเร่งที่จะทำให้ราคาหุ้นผันผวนครับ ..

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 28, 2010 11:10 pm
โดย ลูกอิสาน
[quote="Kuroemon"]1.พี่โจครับปีนี้พี่มีมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาอย่างไรบ้างครับ คิดว่า supply demand ไปแล้วหรือยัง พอดีตอนนี้ในพอร์ตกว่า 25%เป็นหุ้นอสังหาครับ

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ก.ค. 28, 2010 11:14 pm
โดย ลูกอิสาน
[quote="ler109"]พี่โจครับ ผมขอถามเกี่ยวกับ Biz model ของ Aeonts ครับ คือว่าผมดูงบกระแสเงินสดแล้วงงๆ ครับ คือว่า เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน มันติดลบตลอดเลยครับ เท่าที่ผมดูก็น่าจะเป็นเพราะลูกหนี้การค้ามันเพิ่มขึ้นตลอดเลยครับ ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดีใช่หรือเปล่าครับ แล้วก็อีกจุดหนึ่งก็คือเงินสดรับจากการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องภายใต้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตรงนี้ก็คือบริษัทเอาลูกหนี้ไปขายให้กับบริษัทย่อย ตรงนี้มันดูเหมือนว่าเป็นการผลักความเสี่ยงออกไปจากบริษัท ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่าครับ เห็นเค้าบอกว่าเป็นการทำ Securitization บริษัทย่อยซื้อหนี้ไปจากบริษัทแม่แล้วมันต่างกันตรงไหนกับการที่หนี้อยู่ที่บริษัทแม่ครับ...คือที่ผมสนใจลองศึกษาหุ้นตัวนี้เพราะเห็นว่าดูเหมือนจะยังถูกอยู่ครับ PE กับ P/BV ยังไม่ค่อยไปไกลครับ

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 07, 2010 1:26 pm
โดย por_jai
:8) ก๊วนวิ่งจ๊อกกลิ้ง
     ขอไปจอยงานจิบกาแฟ(ให้โจ)แลสาว
     ที่หาดใหญ่ด้วย
     มีผม
     ทศ
     ตึก
     สมิตกับเพื่อนนายอำเภอโกลก
     กอล์ฟกับแฟน
     หมอแม็ค
     หนึ่ง
     เกี้ย
     นัทกับเก๋

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ย. 19, 2010 10:58 pm
โดย ลูกอิสาน
สิ่งที่หวงแหนที่สุด

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เป็นแนวทางการลงทุนที่มีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เราซื้อหุ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ กิจการที่มีกิจกรรมทางเศรษกิจ มีคนทำงานกันจริงๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นหากกิจการมีกำไร เราจะได้รับส่วนแบ่งกำไรนั้นไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือรับส่วนแบ่งเงินสดอย่างเงินปันผล หน้าที่ของนักลงทุนคือซื้อหุ้นของบริษัทที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เพราะนั่นจะทำให้เรามีกำไรสูงสุด  ทัศนคติที่ว่า"การวิเคราะห์หุ้นคือการวิเคราะห์กิจการ" จึงสำคัญ ทัศนคติจะเป็นเหมือนเข็มทิศที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความคิดในการลงทุนของเรา ทัศคติที่ถูกต้องทำให้เราเดินไปถูกเส้นทาง คนฉลาดมากๆหากเลือกเส้นทางผิดก็อาจไม่ถึงจุดหมาย  ในทำนองเดียวกันคนที่ไม่ได้ฉลาดมาก หากเขาหรือเธอเลือกเดินในเส้นทางที่ถูกต้องก็ถึงจุดหมายได้แม้ต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม

ในโลกการลงทุนจริงๆมีปัจจัยทางด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องบ่อยๆ การดำรงทัศนคติให้แน่วแน่ ไม่สั่นคลอนไปตามกระแสต่างๆเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเย็น  อารมณ์กลัวจะทำให้นักลงทุนขายหุ้นไปตอนที่ตลาดตกต่ำซึ่งทำให้เขาเสียหายสูงสุด(ทั้งที่ควรจะซื้อ) ความโลภจะทำให้นักลงทุนมองแต่โลกที่สดใสและพร้อมจะซื้อหุ้นในทุกๆราคา(ทั้งที่ควรจะขาย) และความริษยา ทำให้นักลงทุนมองวิธีการลงทุนของคนอื่นดีกว่าของตัวเองเสมอ ปัจจัยอารมณ์เหล่านี้เป็นธรรมชาติที่อ่อนแอของมนุษย์ เป็นความจำเป็นที่่เราต้องรู้เท่าทันและเอาชนะความอ่อนแอที่ติดตัวเรามานี้ให้ได้  ทัศนคติที่ถูกต้องจะทำให้เราเอาชนะความอ่อนแอนี้ได้ และจะทำให้เราข้ามผ่านเวลาที่แย่และเวลาที่เลวร้ายสุดๆ ไปได้

เมื่อเรายึดกิจการเป็นหลัก เราจะไม่ขายหุ้นเพียงเพราะตลาดตกต่ำ เราจะไม่ซื้อหุ้นตอนที่ตลาดมองโลกในแง่ดีมากๆ และเราจะไม่อิจฉาคนอื่นที่ใช้แนวทางอื่นและทำกำไรได้มากกว่า เพราะในโลกการลงทุนจริงๆผลตอบแทนระยะยาวที่มากกว่า 20%ต่อปี เป็นสิ่งที่คนเพียง"หยิบมือเดียว"ในโลกเท่านั้นที่ทำได้ ผลตอบแทนที่สูงกว่านั้นเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการมองโลกด้านดีด้านเดียว การมองโลกในแง่ดีทำให้เรามองแต่ผลตอบแทนจนละเลยความเสี่ยง ทั้งที่ความจริงในโลกธุรกิจหรือทุกอย่างในโลกนี้มีความเสี่ยงแฝงอยู่ทั้งสิ้น ถ้าเปรียบเทียบการการลงทุนแนว vi คงเป็นการเดินทีละก้าวอย่างช้าๆแต่มั่นคงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง และมักไม่เดินถอยหลัง การรับความเสี่ยงมากๆเพื่อผลตอบแทนสูงๆเหมือนการกระโดดที่พร้อมจะเจ็บตัวได้ทุกเมื่อ

นักลงทุนแบบ vi กับทัศนคติที่ว่าหุ้นคือบริษัท และพื้นฐานกิจการจะกำหนดราคาหุ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเสมือนหางเสือเรือที่จะพาเราเดินทางไปให้ถึงฝั่ง เป็น"ทัศนคติที่เราต้องหวงแหนที่สุด" เมื่อไหร่ที่เราตัดสินใจลงทุนโดยละเลยหลักการข้างต้น นั่นแสดงว่าเราเริ่มมีปัญหาแล้ว..

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ต.ค. 20, 2010 10:53 am
โดย Oyyoyo
อันดับแรก ขอขอบคุณพี่ลูกอิสานสำหรับกระทู้ทรงคุณค่าอันนี้นะครับ ตอนนี้กำลังพยายามไล่อ่านจากหน้าแรกมาให้ถึงหน้าสุดท้ายอยู่ เผื่อจะทำให้ผมเข้าใจการลงทุนมากยิ่งขึ้ัน  :lol:

ตอนนี้ผมเริ่มมาศึกษาการลงทุนแบบ VI อย่างจริงจังน่ะครับ และก็กำลังใช้วิธีการเลือกหุ้นของท่านลุงบัฟเฟตต์จาก The New Buffettology เป็นตัวช่วยวิเคราะห์หุ้น ผมจึงมีคำถามอยากจะรบกวนพี่ลูกอิสานช่วยชี้แนะหน่อยครับ

1. ในหนังสือสอนว่า ให้ประเมินกำไร 10 ปีย้อนหลัง โดยบริษัทที่เป็นตัวอย่างในหนังสือนั้น เป็นหุ้นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ว่าพอผมวิเคราะห์ CPALL เห็นช่วง 4-5 ปีแรก (2003-2006) นั้น กำไรมีทั้งขึ้นและลง แต่มาช่วง 2-3 ปีหลังที่กำไรกระโดดขึ้นมา และทำให้ราคามาพุ่งขึ้นเอาปีนี้ อยากถามว่า ถ้าเจอหุ้นที่มีกำไรขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ เราควรจะวิเคราะห์อย่างไรดีครับ?

2. โดยปกติพี่ลูกอิสานเริ่มวิเคราะห์หุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่สนใจ พี่ลูกอิสานจะิพิจารณาค่าตัวเลขตัวไหน (เช่น PE, BV, EPS) บ้างครับ และมีขั้นตอนการพิจารณาอย่างไร เพื่อจะทำให้พี่ลูกอิสานมั่นใจในการลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ ครับ?

3. ตอนนี้ผมกำลังมีปัญหาในการหา "มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน" ณ ปัจจุบันของหุ้นอยู่น่ะครับ อย่างเช่นตอนนี้ผมอยากจะหาว่า CPALL มีมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานประมาณกี่บาทต่อหุ้น? เพื่อที่ว่าผมจะได้ติดตามว่า ถ้าหุ้นมีราคาลดลงมาจนมี MOS ระดับนึง ผมจะได้เข้าไปซื้อหุ้นมาเก็บ คำถามผมก็คือ รบกวนพี่ลูกอิสานช่วยแนะนำวิธีการวิเคราะห์ "มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน" ของหุ้นให้หน่อยครับ

อาจจะคำถามเยอะนิดนึงนะครับ แต่รบกวนช่วยชี้แนะด้วยครับ อยากเป็น VI ที่เก่งแบบพี่ลูกอิสานบ้าง   :bow: ได้สักเสี้ยวนึงของพี่ลูกอิสานจะดีใจมากๆ ครับ  :wink:

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ต.ค. 20, 2010 11:00 am
โดย dome@perth
เฮ....โพสต์ ในห้องกระทู้คุณค่าได้แล้ว
ดีใจจัง..โดนขังมาตั้งนาน :cry:

ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ต.ค. 20, 2010 11:09 am
โดย sorn adis
โพสต์ได้จริงๆด้วยแฮะ

คิดถึงอาจารย์โจจัง  :)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ย. 11, 2011 12:32 am
โดย crazyrisk
คิดถึงความรู้ดีๆจากพี่โจครับ....

เมื่อไหร่จะกลับมาตอบอีกครับ.......

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: เสาร์ ธ.ค. 31, 2011 10:30 pm
โดย ลูกอิสาน
ขอใช้พื้นที่เล็กๆตรงนี้กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2555 กับพี่ๆน้องๆ thai vi ทุกท่านครับ ไม่ว่าจะเป็น ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ครรชิต พี่ปรัชญา ลุงขวด พี่กะละมัง พี่เวป พี่เจ๋ง พี่นัน พี่พีรนารถ พี่ฉัตรชัย พี่หมอสามัญชน พี่บู พี่นริศ พี่หมอมุข พี่มน พี่ธันวา พี่หลิน พี่วิบูลย์ พี่พอใจ พี่ต.หยวนเปียว เฮียคลายเครียด พี่ตี้ พี่จรัญ คุณคเชนท์ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและคุณความดีที่ทุกท่านได้ทำมา คุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันอันตราย สุขภาพแข็งแรง สมหวังในสิ่งที่ปราถนาครับ


ปี 2554 ผ่านไปอีกปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนประมาณ 3 % รวมปันผล พอร์ตของผมได้รับผลตอบแทนในระดับ"พอใจ" คิดว่าเพื่อนนักลงทุนที่ยึดมั่นใน"หลักการ" คงได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน แม้ระหว่างปีจะเจอกับความผันผวนต่างๆนาๆ ความจริงคือการลงทุนในหุ้นเราต้องรับมือกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์นี้ผ่านไป เหตุการณ์ใหม่จะเข้าอีกแน่นอน และยิ่งในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมทะลักเรา เป็นไปได้มากที่เราจะสับสน ไม่รู้ว่าข่าวไหนดี ข่าวไหนร้าย ยิ่งติดตามข่าวมาก โอกาสมากที่เราจะถูกดูดเข้าไปกลายเป็นส่วนหนึ่งของนายตลาด เราไม่อาจหนีข่าวสารได้ ดังนั้นลองเปลี่ยนแนวคิดดีไหม ว่า"คุณค่าจักเกิดจากภายใน" ราคาของหุ้นต้องมาจากพื้นฐานของกิจการ ไม่ใช่การพยายามทำนายทิศทางตลาดว่าจะขึ้นหรือลง ปัจจัยอื่นในระยะสั้นอาจทำให้ราคาผันผวนได้อย่างไม่เหลือเชื่อ แต่ที่สุดแล้วราคาหุ้นจะสอดคล้องกับผลประกอบการเสมอ หลักนี้เราต้องยึดให้มั่น ท่ามกลางทะเลอารมณ์โลภ กลัว ที่บ้าคลั่งของตลาดหุ้น คนที่ละจากหลักยึด จะไปไม่ถึงฝั่ง


นับจากปี 2541 ซึ่งแนวคิดวีไอได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสืออกเผยแพร่ครั้งแรก ในตอนนั้นมันถูกตั้งคำถาม ถูกดูแคลน ว่าเป็นวิธีลงทุนที่ใช้ได้ผลจริงหรือ หรือจะใช้ได้จริงแค่เมืองนอก เวลาผ่านมา 13-14 ปีแล้ว ผลลัพธ์ไม่เคยได้รับการยืนยัน มีแต่ความจริงที่ว่า มันได้เปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆคนไปตลอดกาล และมองไปในอนาคต มันจะเปลี่ยนอีกหลายชีวิต แต่นี่อาจจะยังเป็นการเริ่มต้น การเดินทางยังอีกยาวไกล แนวคิดการลงทุนเน้นคุณค่าต้องได้รับการพิสูจน์อีก ไม่มีประโยชน์หากกำไรมาทุกปี แต่ปีสุดท้ายขาดทุนจนหมดโอกาสแก้ตัว สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับคนที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ครับ ในปีใหม่ปี 2555 จะมีความเสี่ยงใหม่ๆ ความผันผวนเกิดขึ้นเหมือนอย่างที่มันเคยเป็น เรานักลงทุนได้เตรียมพร้อม เตรียมใจรับมือหรือยัง ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ผมขอฝากคำเตือน คำสอน ของปรมาจารย์เกรแฮม เป็นหลักการที่ไม่เคยเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา..


"An investment operation is one which, upon thorough analysis promises safety of principal and an adequate return. Operations not meeting these requirements are speculative."
(การลงทุนคือปฎิบัติการซึ่งผ่านการวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเงินต้น และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม การใดๆที่ไม่เข้าข่ายนี้ถือเป็นการ "เก็งกำไร")

“You are neither right nor wrong because the crowd disagrees with you. You are right because your data and reasoning are right.”
(คุณไม่ได้ผิดหรือถูกเพราะคนอื่นไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่คุณถูกเพราะเหตุผลและข้อมูลคุณถูก)



(กระทู้นี้สมาชิกอ่านได้แต่ตอบไม่ได้ ต้องขออภัยด้วยครับ)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 31, 2012 11:47 pm
โดย ลูกอิสาน
ขอพื้นที่เล็กๆตรงนี้ กราบสวัสดีปีใหม่ 2556 พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หยวนเปียว พี่กะละมัง พี่พี พี่หลิน พี่หนิง พี่หมอสามัญชน พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่เวป พี่ฉัตร พี่มุก พีเจ๋ง พี่นริศ พี่พอใจ น้องๆทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย ปลอดโรคเบียดเบียน พอร์ตโตเหมือนดังที่ตั้งใจครับ

ปี 2555 ผ่านไปด้วยความสดใส ดัชนีรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนประมาณ 40% และบวกติดต่อกัน 4 ปี จนหลายคนชักจะลืมๆคำว่า "ขาดทุน"ไปแล้ว หากไม่รวมกลุ่มพลังงานซึ่งราคาขยับไม่มาก แต่มีสัดส่วนถ่วงดัชนีค่อนข้างสูง ผลตอบแทนรวมน่าจะใกล้เคียง 50% พอร์ตส่วนตัวผมให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ แม้จะยังมีความผิดพลาดที่ต้องปรับปรุงรวมถึงมีโชคดีบ้าง สิ้นวันทำการทุกๆปี ผมจะบันทึกสรุปบทเรียนของปีที่ผ่านไป เพื่อว่าเราจะได้เรียนรู้ ทั้งสิ่งที่ดีอยู่แล้วและสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อว่าเราจะดีขึ้นทุกๆปี ทุกๆวัน

ในปีหน้า ผมยังมีความหวัง ความฝัน เหมือนทุกคนว่าจะเป็นปีที่สดใส แต่ความจริงก็คือ ทุกสิ่งมีเกิด- มีดับ มืด- สว่าง สุข- ทุกข์ ขึ้น-ลง หุ้นก็ไม่มีข้อยกเว้น เมื่อดูตัวเลขต่างๆที่บ่งบอกความถูก แพงของหุ้น น่าจะเป็นปีที่เราควรระวัง มากกว่าตั้งหน้าตั้งตาบุก หรือมองหาแต่ผลกำไร เงินที่ได้มาง่าย มักเสียไปง่ายเช่นกัน

การเลือกหุ้นของผม ยังคงใช้เหตุผลเพื่อเสาะแสวงหา "ความคุ้มค่า"เสมอ โดยไม่ประนีประนอมหรือจำนนกับกระแส ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อความโลภจากหุ้นปั่น ไม่พยายามคาดเดาทิศทางตลาดหุ้น เพราะเดาไปก็ไม่ถูก ตั้งแต่ยอมรับว่าเดาตลาดหุ้นไม่ได้ ชีวิตการลงทุนผมมีความสุขขึ้นเยอะเลยครับ

ขอฝากข้อคิด ข้อเตือนใจสำหรับทุกท่านและเตือนใจผมเองด้วย..

"ตลาดหุ้นไม่เคยปราณีให้กับคนโลภ คนขี้เกียจ แต่จะให้รางวัลกับคนที่มีความเชื่อ ความมุ่งมั่น และความศรัทธาเท่านั้น"

"สรรพสิ่งมาด้วยกันเสมอ เมื่อสิ่งหนึ่งนั่งอยู่บนโต๊ะ อีกสิ่งหนึ่งหลับรออยู่ใต้เตียง"

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 02, 2014 11:31 pm
โดย ลูกอิสาน
ขอพื้นที่เล็กๆตรงนี้ กราบสวัสดีปีใหม่ 2557 พี่ๆ น้องๆ สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หลิน พี่หนิง พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่มุข พี่คนขายของ พีเจ๋ง พี่นริศ พี่พอใจ ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย ปลอดโรคเบียดเบียน พอร์ตโตเฟื่องฟูลอย เหมือนดั่งที่ตั้งใจครับ :D


ปี 2556 ผ่านไปอีกปี คนมองโลกแง่ร้าย มักบอกตัวเองว่าแก่ขึ้นอีกหนึ่งปี คนมองแง่ดีแบบผม บอกว่าเราโชคดี ได้อยู่รอดปลอดภัยบนโลกใบนี้ ได้พบเจอสิ่งดีๆ มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี สภาพตลาดหุ้นปีที่ผ่านมาเป็นแบบ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา” ครึ่งปีแรกดัชนีไต่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วพร้อมกับข่าวดีที่โถมทะลักเข้ามา นักลงทุนทุกคนกำไรมากบ้างน้อยบ้าง งานสัมมนาหุ้นผู้คนล้นห้อง หนังสือหุ้นติดชาร์ทซีเอ็ด หนุ่มๆสาวๆใผ่ฝันหาอิสรภาพทางการเงิน แต่โลกนี้ยุติธรรม เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ข่าวร้ายก็ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ สิ้นปีดัชนีที่รวมเงินปันผล(3.23%) ให้ผลตอบแทนสุทธิ -3.47% ติดลบครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติซับพลามปี 2551 จากสิ้นปี2555 ดัชนีอยู่ที่ 1391.93 จุด ระหว่างปีทำจุดสูงสุดประมาณ 1650 ต่ำสุดประมาณ 1260 และปิดปลายปีที่ 1298.71 จุด

ผลตอบแทนส่วนตัวก็ยังน่าพอใจ เหมือนทุกๆปี แม้ลดลงจากปีก่อนๆมาก ที่จริงผลตอบแทนหลายปีก่อนๆอาจจะดีเกินไป ตอนนี้กลับสู่ความเป็นจริง >> regression to the mean กลยุทธ์การลงทุนส่วนตัวยังกระจายความเสี่ยงถือหุ้นประมาณ 20 ตัว ไม่ใช้อินไซด์ ไม่กู้เงินมาลงทุน หรือกู้แต่มีเงินสดค้ำประกันทั้งจำนวน ถือหุ้น 90-100% เหมือนที่เคยทำ เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพดี ราคาถูก ไม่ซื้อหุ้นดี พีอีสูง ดังคำพูดที่ว่า “ แสวงหาการลงทุนที่ดี มิใช่แสวงหาหุ้นคุณภาพดีๆ” พยายามมองหาโอกาสจากการมองสั้นๆของตลาด เข้าซื้อหุ้นที่ประสบปัญหาชั่วคราวที่จะแก้ไขได้ในเวลาไม่นาน ราคาที่ลดลงมาก เป็นโอกาสสำหรับคนที่มองยาวกว่า วิธีนี้ซื้อหุ้นแบบนี้ใช้ได้ผลดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ทุกๆปีก็ยังมีข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไขบ้าง บางคนพูดว่า “ความผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ” นี่น่าจะจริง สิ่งทิ่ผิดพลาดในปีที่แล้วคือซื้อหุ้นบางตัว ในเวลาที่ตัวเลขอะไรๆดูดีเกินจริง ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ยั่งยืน โดยคาดหวังว่าจะขายได้ทันก่อนที่มันจะกลับไปแย่ คิดได้แต่ทำไม่ทัน :cry: หรือการไม่ยอมแพ้ในหุ้นบางตัวที่เราคิดผิด แต่มิจฉาทิฐิ เป็นอคติบังตาให้เราถัวสู้ สุดท้ายความเสียหายลุกลามเพิ่มขึ้น แต่ข้อดีก็ยังพอมีบ้าง หุ้นบางตัวเราคิดผิด ยอมแพ้แต่เนิ่นๆ ขาดทุนเล็กน้อย ดีกว่าเสียหายหนักหรือเสียโอกาส การไม่ยอมจำนนโดยไปซื้อกิจการที่พีอีสูงๆ กิจการที่สิ่งดีๆถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหมดแล้ว ทำให้หลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆในปีที่ผ่านมาได้

ระยะเวลาการลงทุนในตลาดหุ้นตลอด 14 ปีที่ผ่านมา พอจะเข้าใจบ้างแล้วว่า ไม่มีแนวทางการลงทุนแบบใดๆที่ทำได้ดี ทุกครั้ง ทุกช่วงเวลา แม้กระทั่งแนวทางแบบวีไอ แต่จากที่เห็นและที่พิสูจน์ด้วยตัวเองยังเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า ในระยะยาวที่ผ่านทั้งช่วงดีและร้าย หลักการลงทุนแบบวีไอจะยังเป็นแนวทางการลงทุนที่ดีที่สุด สามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ สร้างคุณภาพชีวิต รักษาสมดุลของสภาพจิตใจ โดยแทบไม่มีข้อจำกัดของอายุนักลงทุนหรือขนาดพอร์ตการลงทุน… บนเส้นทางการลงทุน ซึ่งขอเรียกเท่ห์ๆว่า เส้นทางเกียรติยศ เส้นนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่ถึงจุดหมาย คนที่ทำได้ ต้องทนในสิ่งที่คนอื่นทนไม่ได้ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก นี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำอย่างเต็มใจ (วันแรกของปี2557 ที่เขียนบทความนี้หุ้นตก 5.23% :) ) ยิ่งหุ้นตกเท่าไหร่ ความเสี่ยงในมุมมองของนักลงทุนวีไอ ย่อมลดลงเท่านั้น ดังนั้นเวลาหุ้นตก อย่าทำหงอย แต่ควรกระตือรือร้นศึกษาบริษัทให้มากขึ้น มองหาโอกาสที่ตลาดมีความผิดพลาดระหว่าง "ราคา" กับ "มูลค่า" มากที่สุด ฉกฉวยโอกาสนั้น ในเวลาที่คนอื่นแห่ขายหนีตาย การชนะคนอื่นนั้น เราควรชนะใจตัวเองก่อน การเรียนรู้เท่าทันอารมณ์ การมองความเสี่ยงก่อนเสมอ การไม่หวังผลเลิศเกินไป การแยกตัวออกจากฝูงชน ควรระลึกเสมอว่า อะไรที่มันดูดี มักดีเกินจริง แต่อะไรที่มันดูแย่ ทุกคนหมางเมิน มักจะมีสิ่งดีๆรออยู่เช่นกัน

สิ่งดีๆอีกอย่างในปีที่ผ่านมาคือได้ร่วมงานแสดงมุฑิตาจิตครบ 60 ปี ของท่านอาจารย์ดร.นิเวศน์ ซึ่งสำหรับผมและอีกหลายๆคน คงไม่ได้พูดเกินจริง ที่จะพูดว่า “มีวันนี้เพราะอาจารย์ให้” ขอขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับจากอาจารย์ครับ และในปีนี้เองท่านดร.นิเวศน์ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 99 นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในหนังสือที่ชื่อว่า The World’s 99 Greatest Investors-The Secret of Success. สำหรับชีวิตนักลงทุน การเลือกอาจารย์ให้ถูกคน เปรียบเสมือนการเริ่มต้นได้ครึ่งทางแล้ว ขอยืนยันอีกเสียงว่านี่เป็นความจริง !!

ในระหว่างปีมีหนังสือการลงทุนดีๆออกมาหลายเล่ม 2 เล่มในนั้น เป็นหนังสือที่นักลงทุนวีไอทุกคนต้องอ่าน เล่มแรก หนังสือ “ก้าวเล็กๆในตลาดหุ้น ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ของท่านดร.นิเวศน์ เล่มนี้รวบรวมบทความเด่น คัดเฉพาะแก่นการลงทุนที่เป็นจริงอยู่เหนือกาลเวลา เป็นสุดยอดบทความที่เขียนโดยยอดนักลงทุน ส่วนอีกเล่ม หนังสือ”แก่นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” หรือ The Most Important Thing Illuminated (เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวในปีที่ผ่านมาที่อ่านจนจบ) หนังสือพูดถึงแนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คัดมาเฉพาะแก่น กระพี้ไม่ต้อง คนที่จริงจัง ต้องไม่พลาดเล่มนี้ครับ จะมีอะไรดีไปกว่า การลงทุนเพียงเล็กน้อยในความรู้ ที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตคนคนนึงได้


ท้ายสุด..ในสถานการณ์ที่ประชาชนในประเทศที่รักของเรา มีความแตกต่างทางความคิด ทางการปกครอง อย่างมากมายในปัจจุบัน เราในฐานะนักลงทุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งด้านจิตใจและผลกระทบตรงๆต่อหน้าที่การงาน ทุกคนอาจจะมีความรู้สึก มีอารมณ์ร่วม ผมก็เช่นกัน แต่อยากให้ฉุกคิด ผมมักนึกถึงคำสอนของท่านพุทธทาสตอนนึง หากจำไม่ผิดท่านให้แนวคิดเรื่อง “มุมมองต่อเพื่อนมนุษย์” โดยอาจดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ อย่างนี้ครับ..


เขาเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนเรา
เขาเป็นคนธรรมดา ที่ยึดมั่น ถือมั่น หลงผิด เหมือนเรา
เขาเป็นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมศาสนาเดียว กับเรา
เขาอาจจะโง่ เหมือนที่เราโง่
เขามีสิทธิ แห่งความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับเรา
เลือดของเขา เป็นเลือดสีเดียว กับเรา
เขามีสิทธิ ที่จะชอบ ที่จะคิด ต่างจากเรา
เขามีสิทธิเต็มที่ เท่ากับเรา ที่จะอยู่ในประเทศนี้

ถ้าเราคิดอย่างนี้ จะไม่มีศัตรู ไม่มีความอาฆาต
ไม่มี “พวกมัน” มีแต่ "พวกเรา"



สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ :D


(กระทู้นี้โพสต์ตอบไม่ได้ครับ)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ม.ค. 05, 2015 8:10 am
โดย ลูกอิสาน
ขอพื้นที่เล็กๆตรงนี้ กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2558 พี่ๆ น้องๆ สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่มุข พี่ชาย พีเจ๋ง พี่นริศ พี่พอใจ ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย สุขกาย สบายใจ ตลอดปีตลอดไปครับ :D

ปี 2557 ที่ผ่านไป เป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นไทย มีหลายเหตุการณ์ที่ควรพูดถึง ตั้งแต่ต้นปีประเทศเรายังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การประท้วงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักเที่ยวเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนนักธุรกิจ เป็นครั้งแรกๆที่การเมืองส่งผลต่อเศรษกิจอย่างมีนัยสำคัญ จวบจนกลางปีเมื่อสถานการณ์สุกงอม ทหารได้เข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง ทุกอย่างเริ่มนับหนึ่งใหม่ ระหว่างปีดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1224-1603 จุด ผันผวนถึง 400 จุด เปิดตลาดวันแรกของปีดัชนีลดลงทันที 5% หรือ 70 จุด เนื่องจากกลุ่มม็อบ กกปส.ประกาศปิดกรุงเทพ แต่หลังจากนั้นตลาดค่อยๆกระเตื้องในขาขึ้นติดต่อกันนานหลายเดือน ทั้งที่สภาวะเศรษฐกิจจริง GDP เติบโตต่ำสุดในรอบหลายปี และต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วงปลายปีดัชนีลดลงอย่างรวดเร็ว 200 กว่าจุดจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว [ขอย้ำว่าหุ้นตก เพราะราคาน้ำมันลดลง] ประกอบกับข่าวลือต่างๆ จบสิ้นปีดัชนีปิดที่ 1497.67 เพิ่มขึ้น 200 จุดหรือ 15.32% รวมปันผล 3.05% ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 18.37% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีอันดับต้นๆของโลกรองจากตลาดหุ้นอินเดีย

ในปีนี้หุ้นกลุ่มที่อยู่ในกระแสคือหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนอาทิ แสงอาทิตย์ พลังลม ชีวมวล หุ้นบางตัวกลุ่มนี้พีอีสูงเหลือเชื่ออย่างน่าสงสัย หลายๆบริษัทแค่ออกข่าวว่าจะไปทำโซล่าเซลล์ ราคาหุ้นก็พุ่งทันที ว่ากันว่าหากรวมจำนวน MW ไฟฟ้าที่ทุกๆบริษัทออกข่าวว่าจะได้สัญญาจากรัฐ มากกว่าตัวเลขที่รัฐประกาศจะเปิดให้สัมปทานหลายเท่าตัว :shock: ชัดเจนว่าหลายบริษัทคุยโม้โอ้อวดเกินจริงและจะต้องผิดหวัง หุ้นกลุ่มที่ทำได้ดีปานกลางคือกลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร กลุ่มส่งออก ส่วนหุ้นกลุ่มที่ทำผลงานได้แย่เป็นส่วนใหญ่คือกลุ่มที่เน้นการบริโภคในประเทศ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มพลังงาน กลุ่มบริโภคได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง และราคาสินค้าเกษตรหลักตกต่ำเช่น ข้าว ยาง ปาล์ม การยกเลิกนโยบายการจำนำข้าวของรัฐ ปัญหาสินค้าล้นตลาดของทั้งยางและปาล์มทำให้ราคาตลาดที่ชาวสวนขายได้ลดลง ซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลต่อพืชพลังงานราคาลดลงด้วย ในกลุ่มท่องเที่ยว ปัญหาการเมืองและปัญหาในกลุ่มประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลัก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปีก่อนติดต่อกันถึง 9 เดือน ก่อนเริ่มกระเตื้องขึ้นในเดือนตุลาคม คาดว่าปี 2557 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงเกือบ 10% ด้านกลุ่มพลังงานมีผลดำเนินงานปกติจวบจนครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรงในไตรมาสสุดท้าย จากปัญหาการแข่งขันราคาระหว่างน้ำมันจากผู้ผลิตในสหรัฐที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน และผู้ผลิตจากตะวันออกกลาง บวกประเทศนอกกลุ่มโอเปค ที่ผลิตด้วยวิธี conventional drill สถานการณ์ดูจะยืดเยื้อไปในปี 2558

ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีหลายเหตุการณ์ที่ต้องพูดถึง ประการแรกคือ “ฟองสบู่หุ้น IPO” เริ่มขึ้นจากจากสภาวะตลาดหุ้นที่ดีต่อเนื่องติดต่อมาหลายปี ราคาหุ้นทรงตัวในราคาสูง เป็นสภาวะที่สมบูรณ์แบบสำหรับเจ้าของกิจการ เป็น “โอกาสทอง”ที่จะเข็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลายบริษัทสามารถขายหุ้นได้แพงอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ก่อตั้งบริษัทหลายคน ลงทุนธุรกิจด้วยเงินหลักร้อยล้านแต่กลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านทันที ทันใดที่หุ้นเข้าตลาด หลายคนเพิ่งรับรู้ว่าความมั่งคั่งของตัวเองมีมากแค่ไหน สถาณการณ์อย่างนี้ยิ่งเร่งเร้าให้เจ้าของกิจการคู่แข่งอยากเข้าตลาดบ้าง เพราะทนเห็นคนอื่นรวยไม่ไหว หรือไม่ก็กังวลที่คู่แข่งแข็งแกร่งขึ้นจากเงินระดมทุนที่ไม่มีต้นทุน ในขณะที่นักลงทุนมอง หุ้น IPO กลายเป็นหุ้นทองคำ เพราะราคาของหุ้นเล็กๆหลายตัวเพียงเข้าตลาดราคาขยับขึ้นไปอีก 2-3 เท่าตัว นักลงทุนบางคนถึงกับลงทุนเทรดหุ้นเพื่อสร้างวอลุ่มอย่างบ้าคลั่ง เพียงเพื่อให้ได้โควต้าหุ้น IPO เยอะๆ แต่นี่คือกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือไม่ นักลงทุนหวังว่าจะนำแบงค์ 100 ไปแลกเป็นแบงค์ 1,000 แต่กลับพบว่าตัวเองแลกได้มาแค่แบงค์ 20 ก็ในเมื่อทุกคนคิดและทำแบบเดียวกัน การซื้อๆขายๆมากขึ้นหมายถึงคอมมิสชั่นที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น และการซื้อขายบ่อยๆนั้นก็มีโอกาสขาดทุนสูง ในขณะที่หุ้นไอพีโอที่ขายราคาแพงอยู่แล้ว กลายเป็นหุ้นที่แพงอย่างไม่สมเหตุสมผลเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเข้าตลาด แน่นอนว่าเมื่อไม่มีกำไร-ผลประกอบการรองรับ [มีแต่สายลม แสงแดด และความฝัน :8) ] ไม่ช้าก็เร็ว คนที่เข้าไปซื้อเพื่อเก็งกำไร จะได้บทเรียนที่เจ็บปวด ซึ่งเริ่มจะเห็นแล้วในหุ้นบางตัว ตัวผมเองได้รับหุ้นไอพีโอหลายตัวและส่วนใหญ่ได้กำไรค่อนข้างดี แต่ไม่มีนัยยะสำคัญต่อพอร์ตรวม ในมุมมองนักลงทุนวีไอ หุ้นไอพีโอราคาแพง เป็นแค่ ”นายตลาดอารมณ์ดี” ที่เราสามารถหาประโยชน์ได้ ก็เท่านั้น

แต่ในมุมมองของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายนัก ตราบใดที่เกิดการระดมทุน [ซึ่งเป็นจุดประสงค์ในการก่อตั้งตลาดหุ้น] ก็ถือว่างานบรรลุเป้าหมาย ตลอดทั้งปีมีหุ้นใหม่เข้าตลาดประมาณ 40 บริษัท ทำให้ตัวเลขบริษัทในตลาดหุ้นสิ้นปีจะมีประมาณ 615 บริษัท สูงสุดในรอบ 39 ปี [ไม่เลวร้ายนัก หากเราจะคิดว่ามีสาวสวย- หนุ่มหล่อ ให้เลือกตั้ง 615 คน ดีกว่าชีวิตจริงเยอะ :wink: ]

ฟ้าทับเหว
ม้าเฉียว 09/02/2005

ฟ้าทับเหว เป็นเครื่องมือจับตาย ที่ใช้จับ(ฆ่า) หนูตามบ้าน ใครที่อายุมากหน่อยน่าจะยังรู้จัก ฟ้าทับเหว มีไม้แผ่นบนรูปทรงสี่เหลี่ยมที่หนาและหนัก เหมือนเป็นฟ้า ส่วนไม้แผ่นล่างที่เป็นฐานรอง และมีฝาประกบ 2 ด้าน เหมือนเป็นเหว เมื่อหนูเข้าไปกินอาหารที่วางเสียบไว้ในเหว ฟ้าจะหล่นลงมาทับหนูจนแหลกเหลวทันที พร้อมๆ กับมีเสียงกระแทกดัง เสียงจะเป็นตัวบอกให้คนดักรู้ เพื่อเอาซากหนูไปฝังทำลาย
เสียงกระทบกระแทกที่ดังลั่น ยังมีผลให้หนูตัวอื่นๆ แตกตื่นจนวิ่งไปติดเครื่องมือดักหนูอันอื่นๆ ก็มี ซึ่งเป็นเทคนิคเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการจับดักอีกทางหนึ่ง ฟ้าทับเหว เป็นฟ้าที่ลิขิตที่อยู่ (กิน) ที่ตายของหนู เป็นฟ้าที่คนจับต้องและควบคุมได้เต็มที่
ในตลาดหุ้นบ้านเรา มีฟ้าทับเหวอยู่หลายอัน บางอันก็วางอาหารที่หอมหวนเสียนี่กระไร บางอันก็เย้ายวนใจให้ทดสอบฝีไม้ลายมือและความเร็วของหนู และบางอันพินิจพิจารณาเท่าไหร่ก็มองไม่เห็นฟ้า ไม่เห็นเหว ผมก็เป็นหนูตัวหนึ่ง แต่ผมยินดีไปหากินตามท้องไร่ท้องนาห่างไกลผู้คนที่มีแต่ความสงบ ผมไม่กล้าที่จะไปหากินในบ้านคนที่ไม่รู้จะมีฟ้าทับเหวอยู่กี่อัน แม้บ้านบางหลังดูจะปลอดภัยดี เพราะมีหนูมากมายอาศัยอยู่

ผมอาจจะเป็นหนูที่ขี้ขลาด แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าหนูจะฝึกพลังขาของตนให้สามารถวิ่งได้เร็วเท่าไหร่ก็ตาม ผมก็ไม่เคยเห็นหนูตัวไหนที่เมื่อเผลอไปกินอาหารในฟ้าทับเหว แล้วไม่ถูกฟ้าทับ และเป็นการทับที่ไม่ให้โอกาสแก้ตัวใหม่เลยแม้แต่น้อยซะด้วย หนูตัวไหนอาจหาญจะไปทำมาหากินในบ้านที่วางฟ้าทับเหวไว้หลายอันก็ไม่ว่า แต่ในร้อยครั้ง พันครั้งที่เราไปหากินในบ้านนั้น แล้วก็รอดมาซะทุกครั้งนั้น ไม่รู้เหมือนกันว่า ครั้งไหนจะเป็นครั้งที่เรา...จบเห่

หมายเหตุ: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
จบเห่ แปลว่า ยุติ, ตาย
อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงคือเรื่อง “หุ้นปั่น” http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=57586 พูดได้ว่าทั้งปี 2557 เป็นยุคหุ้นต้มตุ๋นครองเมือง หุ้นบางตัวราคาขึ้น 10-20 เท่าในระยะเวลาไม่นาน บางตัวมีส่วนทุนหลักร้อยล้าน แต่มูลค่าตลาดหมื่นล้าน [เจอได้เฉพาะตลาดหุ้นไทย] แน่นอนว่าทุกบริษัทอธิบายความไม่สมเหตุสมผล ด้วยเหตุผลที่ดูดีมีเหตุผล ปัจจัยเดียวที่ทำไมการปั่นหุ้นยังทำสำเร็จนั่นเพราะคนนักลงทุนยังมีความโลภ และแน่นอนว่าเป็นความโลภที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่มีอะไรที่ทำให้มนุษย์ลืมเหตุ ลืมผล ลืมตัว กลัวตาย ได้เท่ากับความโลภอีกแล้ว หลายคนที่เข้าไปเล่นหุ้นเหล่านี้ ส่วนใหญ่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นหุ้นปั่น แต่คิดว่าจะหนีจ้าวมือได้ทัน [เหมือนหนูที่มันคิดว่าจะรอดจากฟ้าทับเหวได้ :? ] แต่โลกอาจไม่ได้สวยอย่างที่คิด ผมไม่เคยเห็นคนรวยเพราะเล่นหุ้นปั่น [แต่เคยเห็นคนที่รวยเพราะปั่นหุ้น] นักลงทุน ควรตั้งคำถามว่าตัวเอง “มีปัจจัยอะไร” ที่ทำให้ได้เปรียบจ้าวมือปั่นหุ้นบ้าง ทั้งปริมาณเงิน ข่าวสาร การเข้าถึงข้อมูล เครือข่ายผลประโยชน์ เช่น สื่อ ถ้านักลงทุนรายย่อยได้เปรียบ เก่งกว่าจ้าวมือ แล้วจ้าวมือจะรวยได้อย่างไร ที่เห็น ใครมักขาดทุน นักลงทุนวีไอบางคนก็เข้าไปเล่นหุ้นปั่นด้วย เพราะคิดว่าการเกาะกระแสหุ้นปั่นจะสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ และยังเชื่อมันว่าเค้ามีวิธีที่จะเอาชนะจ้าวมือได้ ทุกอย่างอาจจะสำเร็จในครั้งแรกๆแต่นั่นเป็น ”ความสำเร็จเพื่อที่จะล้มเหลว” คนที่ลองยาเสพติดครั้งแรก มัก”ติด”เพราะมันให้ความสุขสุดๆ เราคิดว่าเราแน่ เราจะเลิกมันเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ แต่ในความเป็นจริงมันเข้าง่ายออกยาก บางคนจะไม่ได้ออกไป ในระยะยาวการเล่นหุ้นปั่นจะรับประกันการสูญเงิน แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือเราได้สูญเสีย “สิ่งที่หวงแหนที่สุด” ไปแล้ว และมันยากที่จะได้กลับคืน

ปีนี้พอร์ตส่วนตัวทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี ส่วนนึงเพราะตลาดโดยรวมดี และสไตร์การลงทุนที่เน้นถือหุ้นขนาดกลางและเล็ก ได้รับประโยชน์จากสภาวะตลาดที่มีการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มดังกล่าวสูง โชคดีส่วนนึงถูกชดเชยด้วยอุบัติเหตที่เกิดกับหุ้นบางตัว ชีวิตการลงทุนเราจะเจอโชคดีและร้ายเสมอ แต่กรอบความคิดที่ถูกต้อง จะช่วยให้เรายืนหยัดได้ในระยะยาว แนวคิดการคัดเลือกหุ้นส่วนใหญ่ยังคงเดิมคือซื้อหุ้นคุณภาพดี ราคาไม่แพง แต่เริ่มปรับมาถือหุ้นที่คุณภาพดีมาก ในราคาสมเหตุสมผลบ้าง เหตุผลเพราะหุ้นแบบแรกเริ่มหาได้ยาก ระหว่างปีไม่มีการใช้เงินกู้ยืมมาซื้อหุ้น หากมีก็จะถือเงินสดมากกว่าเพื่อปกป้องเสมอ มีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงบ้างในช่วงที่ตลาดอยู่ในสถาวะดีผิดปกติ แนวคิดการจัดพอร์ตหุ้นเป็นแบบ Cocktail Portfolio คือพยายามเลือกหุ้นที่ดี ต่ำกว่ามูลค่า แต่เนื่องจากเราไม่รู้ว่าตลาดจะรับรู้เมื่อไหร่ ดังนั้นการกระจายถือหุ้นแบบนี้หลายๆตัวเป็นกลุ่มหุ้น (เกือบๆ 30 ตัว) จะเพิ่มโอกาสที่เราจะเจอหุ้นแจ็กพ็อต ในแต่ละปี แค่ 3-4 ตัวก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างผลตอบแทนที่แตกต่าง และพอร์ตรวมจะเติบโตอย่างสม่ำเสมอไม่หวือหวา มุมมองเรื่องกำไร แน่นอนยังเน้นการเติบโตของพอร์ต แต่ไม่ใช่เพื่อเติบโตให้มากที่สุด โดยยอมรับความเสี่ยงสูงๆ สิ่งที่นักลงทุนควรทำคือเน้นการเติบโตสูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่น้อยสุดหรือความเสี่ยงที่จัดการได้ หากเราได้ยินว่าใครทำผลตอบแทนได้สูงๆอย่างไม่น่าเชื่อ ควรตั้งคำถามต่อไปว่า ผลตอบแทนนั้นแลกมาด้วยความเสี่ยงระดับใด ถูกกฎหมายหรือไม่ หากเสี่ยงมาก คนที่ทำได้อาจจะแค่ “โชคดี” ที่รอดมาได้ ใครจะรู้ว่าหากยังรับความเสี่ยงมากๆ ปีไหนที่อาจจะ “จบเห่” สิ่งที่เราต้องการคือสิ่งที่ปรมาจารย์แกรแฮมสั่งสอนไว้ “ผลตอบแทนที่เหมาะสมและสามารถรักษาเงินต้นได้” เป็นระยะเวลา 15 ปีที่เดินในเส้นทางหุ้นเน้นคุณค่า มีทั้งสุขและทุกข์เคล้ากันไป [แน่นอนสุขเยอะกว่ามาก] ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะมาได้ไกลขนาดนี้ เหตุผลเดียวที่ยืนอยู่ตรงนี้ได้นั่นคือเลือกอาจารย์ถูกคน บวกขยัน อดทน ควบคุมอารมณ์ให้สามารถคิดแบบเหตุและผล เงินทองจะไหลมาเทมาเอง

ในปีนี้ ผมได้ตัดสินใจในบางเรื่องที่ยากลำบากสำหรับชีวิตนักลงทุน เราทราบกันดีทั่วไปว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าสิ่งที่มีค่ามากคือ “ข้อมูลของกิจการ” เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์อีกทอดนึง หากเราเข้าถึงข้อมูล มากเท่าไหร่ นี่หมายถึงผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น ในเมื่อ ข้อมูล = ผลตอบแทน สิ่งที่ตามมาคือการแสวงหาข้อมูล ในอดีตคนที่รู้ข้อมูลกิจการดีที่สุดคือผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้เกี่ยวข้องเช่น ฝ่ายบริหาร กรรมการ พนักงาน ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ตรวจสอบบัญชี ในฟากนักลงทุนเริ่มจาก “ผู้จัดการกองทุน นักลงทุนสถาบัน” เช่น สปส.,กบข.,ประกันชีวิต,Hedge fund ที่มีเงินมาก สามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ง่ายดาย ต่อมาคือ “นักวิเคราะห์” ที่ควรจะต้องทำงานด้วยจรรยาบรรณเข้าพบผู้บริหารและเขียนงานวิจัยเผยแพร่ให้กับนักลงทุน [แต่น่าแปลกที่หุ้นวิ่งไปก่อนงานวิจัยออกแทบทุกที] ในปัจจุบันสิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงคือ”นักลงทุนรายใหญ่” เริ่มเรียนรู้วิธีที่จะขอเข้าพบ พูดคุยกับผู้บริหาร โดยไม่ต้องอาศัยนักวิเคราะห์เป็นตัวกลางอีกต่อไป ฟากผู้บริหารก็มักเต็มใจ หากรายใหญ่เข้าซื้อ ราคาหุ้นอาจขึ้นไปได้มาก และท้ายสุดนักลงทุนรายย่อยที่ในอดีตไม่มีแต้มต่อ ได้สร้างอำนาจต่อรอง โดยรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน เป็นสมาคม นัดแนะกันขอเข้าพบพูดคุยกับผู้บริหาร ( CV –company visit) ฟังดูเหมือนทุกอย่างสมเหตุสมผล ทุกคนวินๆ ผมก็เคยทำอย่างนั้น ตลอดชีวิตการลงทุน 15 ปี ผมได้เยี่ยมกิจการ 5 แห่ง ได้พูดคุยกับผู้บริหาร ได้เรียนรู้ธุรกิจ ได้ข้อมูลบ้าง ปัญหามีอย่างเดียวคือสิ่งเหล่านี้ได้สร้างคำถามขึ้นในใจใครหลายคนว่า การทำเช่นนี้ เป็นการเข้าถึง “ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน”หรือไม่ เป็นการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์หรือเปล่า มันจะดีและไม่มีปัญหา หากท่านผู้บริหารได้ให้ข้อมูลที่อยู่ในขอบเขต อยู่ในกรอบที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด แต่ในความเป็นจริง อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น การพูดคุย สอบถามในวงกว้างเช่นงาน opportunity day การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี กับการพูดคุยในวงแคบ 2 คน ไม่กี่คน หรือสิบกว่าคน เนื้อหาย่อมไม่เหมือนกัน มีการตั้งข้อสงสัยว่านักลงทุนวีไอสร้างผลตอบแทนมากว่าเพราะเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าหรือไม่ ในทางที่เอาเปรียบคนอื่น ผมคิดว่ามีทั้งส่วนจริงและไม่จริง ครั้งนึง Warren Bufett เคยพูดว่า “เราสามารถเสียเงินทอง แม้กระทั่งเงินทองมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ยอมเสียนั่นคือชื่อเสียง”
เกียรต ติยศ หนักดั่ง ขุนเขา
เงินทอง เบาดุจ ปุยนุ่น

การกระทำย่อมตัดสินว่าเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่คำพูด ผมจึงตัดสินใจที่จะบอกกล่าวว่า “ผมจะไม่เยี่ยมกิจการอีกต่อไป” เหตุผล เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเอง จะทนต่อการยั่วยุได้หรือไหมหากได้รับข้อมูลอินไซเดอร์ และที่ต้องประกาศให้รู้ทั่วกัน เพราะทุกท่านจะได้ช่วยเป็นพยานและช่วยควบคุมให้ผมทำสำเร็จครับ เรื่องนี้เป็นการสมัครใจส่วนตัว และไม่ได้หมายความว่าการเยี่ยมกิจการเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด ตราบใดที่ผู้บริหารให้ข้อมูลอย่างเหมาะสม สมาคมก็ยังคงจัดกิจกรรม CV อย่างปกติให้กับสมาชิกต่อไป ผมจะใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ในช่องทางปกติเช่น สื่อต่างๆ งาน opp day การประชุมผู้ถือหุ้น เหมือนเช่นที่เคยทำมา หลักการการเผยแพร่ข้อมูลที่เท่าเทียมกัน เป็นหนึ่งในหลักธรรมภิบาลที่ตลาดหลักทรัพย์โปรโมทตลอดมา ซึ่งทำได้ไม่ยาก แค่ให้บลจ.เผยแพร่ข่าวผ่านสื่อ ผ่านช่องทางปกติ งาน opp day มี translate ให้นักลงทุนต่างชาติรู้ข้อมูลทันท่วงที และห้ามพบนักลงทุนเป็นการส่วนตัว เท่านี้เอง อยู่ที่ว่าจะทำหรือเปล่าเท่านั้น ประเทศชาติของเราต้องเน้นหลักธรรมภิบาล เพื่อขจัดปัญหาคอรัปชั่นซึ่งเป็นกับดักฉุดรั้ง ทำให้ประเทศพัฒนาไม่ได้ ถ้าเราอยากให้ประเทศเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่ชี้นิ้วบอกให้นักการเมือง คนอื่นทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ให้เริ่มสร้างประเทศจากตัวเราเอง อะไรที่ถูก เราจะทำมัน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม คนละเล็กละน้อย คนละมือ รวมกันจะเป็นพลังสร้างสังคมใหม่ได้

ระหว่างปีมีการพูดกันมากว่ายุคทองการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้ผ่านไปแล้ว บางคนถึงกับพูดว่าแนวทางการลงทุนนี้ “ตกยุคไปแล้ว”ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น หากนักลงทุนคนใดยังทำผลตอบแทนได้ดี น่าพอใจ นี่ย่อมเป็นยุคทอง ถ้าผลตอบแทนไม่ดี ไม่พอใจ อาจเป็นยุคเสื่อมถอย ชัดเจนว่าจะเป็นยุคไหนเป็นปัจเจกขึ้นอยู่กับการกระทำของนักลงทุนนั้นๆ ความขยันหมันเพียร ศึกษา พัฒนาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่งอมืองอเท้า จะทำให้นักลงทุนอยู่ในยุคทองตลอดไป (หรืออย่างน้อย”ยุคเงิน”ก็ไม่ได้แย่ :P ) สิ่งที่บางท่านต้องการจะสื่อ น่าจะเป็นประมาณว่านักลงทุนไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนสูงๆ ที่ดีผิดปกติในช่วงที่ผ่านมามากกว่า สิบกว่าปีที่แนวทางการลงทุนแบบวีไอเริ่มได้รับการเผยแพร่จากปรมาจารย์ ดร.นิเวศน์ ดัชนีอยู่ในช่วงตกต่ำประการนึง เมื่อดัชนีเพิ่มขึ้น นักลงทุนย่อมได้ประโยชน์จากส่วนนี้ อีกประการนึงหุ้นที่มีราคาและคุณสมบัติที่นักลงทุนวีไอชื่นชอบ ได้ถูกปรับระดับ P/E ที่ซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งดัชนีที่เพิ่มและระดับ P/E ซื้อขายที่เพิ่ม สองประการนี้สร้างผลตอบแทนที่ “ดีผิดปกติ” ให้กับนักลงทุน ต่อแต่นี้ผลตอบแทนจะกลับสู่สภาวะปกติ จะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท และราคาซื้อที่เหมาะสม แน่ใจได้เลยว่าในแต่ละปี จะมีความผันผวน ความผันผวนเหล่านี้สร้างโอกาสให้นักลงทุนเน้นคุณค่าเสมอ เมื่อพฤติกรรมการซื้อขายยังผลักดันจากความโลภ และความกลัว แน่ใจได้เลยว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบ ร้อยปี แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า จะยังใช้ได้ดี ไม่น่าแปลกใจที่หลักการวีไอได้รับการเผยแพร่ เกือบร้อยปีที่แล้ว ผ่านการพิสูจน์ คำค่อนแคะ เสียดสี ผ่านยุคแห่งความนิยม ยุคที่ดูถูกดูแคลนเหมือนไดโนเสาร์ที่จะสูญพันธ์

แต่ใครล่ะ ที่ยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่พวกเราหรอกหรือ ประวัติศาสตร์มันไม่ได้บอกหรือ ว่าใครคือผู้ชนะ!!

โชคดี ปลอดภัย ในปี 2558 ทุกท่าน

(ขออภัยกระทู้นี้อ่านได้ แต่ตอบไม่ได้ครับ)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 05, 2016 11:00 am
โดย ลูกอิสาน
ขอพื้นที่เล็กๆตรงนี้ กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2559 พี่ๆ น้องๆ สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่นริศ พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย สุขกาย สบายใจ พอร์ตหุ้นเฟื่องฟูลอย ตลอดปีตลอดไปครับ


ตลาดหุ้นปี 2558 เป็นปีที่ไม่น่าจดจำนักสำหรับนักลงทุน ดัชนีเซ็ทอยู่ในระดับสูงสุดตอนต้นปี และค่อยๆไหลลง และลดลงอย่างรวดเร็วในตอนสิ้นปี ดัชนีเริ่มต้นปีที่ 1497.67 จุด ทำจุดสูงสุดที่ 1619.77 ต่ำสุดที่ 1251.99 และปิดสิ้นปีที่ 1288.02 จุด ตลาดให้ผลตอบแทนเป็นเลขกลมๆที่ - 14% รวมเงินปันผลเฉลี่ยเป๊ะ 3 % ผลตอบแทนรวมเท่ากับ -11% ทั้งปีมีหุ้นเข้าใหม่ประมาณ 33 บริษัท เพิกถอนออกไป 7 สุทธิปลายปีมีหุ้นประมาณ 639 บริษัท ตลาดหุ้นไทยติดอันดับตลาดที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดใกล้เคียงกับตลาดสิงคโปร์ ในขณะกลุ่มที่ดีที่สุดคือตลาดหุ้นจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส ให้ผลตอบแทนประมาณ 10%

ผลตอบแทนส่วนตัว ยังน่าพอใจ แม้จะลดลงตามสถาวะตลาดบ้าง ไม่มีเงินกู้ ถือหุ้นเฉลี่ย 90 กว่า% ตลอดทั้งปี Cocktail Portfolio ยังทำงานได้ดีเหมือนเดิม โดยมีหุ้นเพิ่มเป็นเฉลี่ยประมาณ 40 ตัว (ไม่รวมที่ถืออีก 15 ตัวในตลาดหุ้นเวียดนาม) ตัวที่ถือสูงสุดไม่เกิน 10% ของพอร์ต ข้อดีของการถือหุ้นหลายตัวคือมันเปิดโอกาสให้เราผิดพลาดได้พอสมควร ผลบวกจากหุ้นดีๆจะไปกลบผลขาดทุนของหุ้นที่ติดลบได้ทั้งหมด เพียงแต่เวลากำไร ต้องกำไรมากๆ เพื่อไปชดเชยกับขาดทุนน้อยๆของหุ้นหลายตัว หุ้นที่ให้ตอบแทนดีๆ ยังเป็นหุ้นเติบโต และหุ้นฟื้นตัว ส่วนหุ้นที่ทำให้ขาดทุน(หนักๆ)ส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มหุ้นวัฏจักรที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ส่วนนึงที่ยังทำผลตอบแทนได้เป็นบวก ทั้งที่ตลาดติดลบ คือการใช้ตราสารอนุพันธ์บางส่วน (TFEX set 50) เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากตลาดขาลง (มิใช่เพื่อเก็งกำไร) ประกอบกับกระจายพอร์ตไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม (6%) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดี

เรื่องราวในตลาดหุ้นตลอดปี 2558 มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง ที่ควรขยายความ

ดอกไม้ในทะเลทราย แม้ในขณะที่ดัชนีลดลงพอสมควร กลับมีหุ้นหลายตัว หลายกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดี บางตัวก็ดีมากๆ เช่นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (MTLS SAWAD KTC GL) กลุ่มท่องเที่ยว (MINT CENTEL SPA AOT) กลุ่มโรงพยาบาล (ฺBCH BDMS BH CHG) กลุ่มพลังงานบางตัว (TASCO PTG TOP IRPC) กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป (EPG FSMART MCS BEAUTY HFT COM7) หน้าที่ของนักลงทุนคือค้นหาหุ้นเหล่านี้ แม้ไม่ใช่งานง่าย แต่มีนักลงทุนบางรายที่ยังทำได้จริงๆ หุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้น สวนทางดัชนีตลาดรวมที่ปรับลดลง สะท้อนความจริงที่ว่าผลประกอบการคือทุกอย่าง หุ้นทุกตัวข้างต้น กำไรปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทุกตัว การทำผลตอบแทนดีๆไม่จำเป็นต้องรอซื้อหุ้นตอนวิกฤติ(เพราะช่วงวิกฤติ มีเงินใช่จะกล้าซื้อ) การสร้างผลตอบแทนดีๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดัชนีตลาดรวม แต่ขึ้นกับการซื้อหุ้นดีๆ ในราคาที่สมเหตุสมผล

บลูชิพกลายเป็นบลูฉิบ หุ้นบลูชิพ (Blue-chip) มีที่มาจากการพนันในบ่อนคาสิโน เหรียญฟ้าหรือ Blue-chip คือเหรียญที่มีมูลค่ามากที่สุด ราคาแพงที่สุด หากนำมาเปรียบเทียบกับหุ้นก็เหมือนกับหุ้นขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง มั่นคง เป็นผู้นำมีชื่อเสียง กำไรไม่ผันผวน นักลงทุนมักซื้อหุ้นเหล่านี้เพราะ “คุ้นเคย มั่นคง ไว้ใจได้” ถ้าซื้อไว้ โดยเฉพาะตอนที่ตลาดมีความไม่แน่นอน คงจะไม่ขาดทุน ความเชื่อนี้ ใช้ไม่ได้ในปี 2558 หุ้นเหล่านี้ ในกลุ่มน้ำมัน (PTT PTTEP) กลุ่มธนาคาร (KBANK SCB BBL KTB) และโดยเฉพาะในกลุ่มสื่อสาร (ADVANC INTUCH DTAC) ราคาลดลงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ความเชื่อก็คือความเชื่อ และมักจะโดนหักล้างด้วยสิ่งที่แน่นอนกว่า คือความจริง

ราคาน้ำมัน จากที่เคยขึ้นไปสุงสุด 100 กว่าเหรียญต่อบาเรล ลดลงเหลือไม่ถึง 40 เหรียญ เป็นความจริงที่ไม่น่าเชื่ออีกเรื่องนึง สาเหตุจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการใช้ รวมถึงซัพพลายส่งออกใหม่จากประเทศอิหร่าน สหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันที่ลดลงเกินครึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษกิจเป็นลูกโซ่ ราคาน้ำมันที่ลด ส่งผลให้สินค้าคอมโมดีตี้ ลดลงเกือบทุกชนิด กระทบกับเศรษกิจทั้งโลก ที่กระทบมากที่สุดคือประเทศที่ส่งออกน้ำมันและคอมโมดิตี้ เช่นกลุ่มตะวันออกกลาง บราซิล นอร์เว รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศนำเข้าน้ำมันอย่างประเทศไทย ซึ่งควรจะได้รับผลดีจากการได้ซื้อน้ำมันที่ถูกลง กลับโดนหักล้างจากเหตุผลที่ว่า ราคาน้ำมันที่ลด ทำให้สินค้าหลักของไทย ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ราคาลดลงด้วย ปริมาณการส่งออกก็ลดลง เพราะความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เราเคยเชื่อว่าน้ำมันราคาแพง ทำให้เศรษกิจไม่ดี ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่!

หุ้นคุณฆ่าวีไอ ปีที่ผ่านมา มีหุ้นหลายตัวที่นักลงทุนแนววีไอได้เข้าไปซื้อเพราะมีคุณสมบัติบางประการที่ “อาจจะ”เข้าข่ายหุ้นวีไอ แต่ต่อมาราคาได้ลดลงมาก สร้างความเสียหายอย่างหนัก พาลทำหลายคนให้เริ่มหวั่นไหวและตั้งคำถาม ว่าหลักการวีไอยังใช้ได้ดีหรือไม่ หุ้นเหล่านี้มีหลายรูปแบบ หุ้นประเภทแรก ซื้อขายที่ P/E ค่อนข้างต่ำ มีเงินปันผลดี หนี้สินไม่สูง ผู้บริหารเก่ง ดูโดนรวมก็น่าจะเป็นหุ้นที่ดี แต่อนิจจาราคาหุ้นลดลงมากกว่าครึ่ง สาเหตุเพราะเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หรือผูกติดกับอุตสาหกรรมน้ำมัน เมื่อราคาสินค้าลดลง ผู้ผลิตก็ต้องลดการผลิต งานที่เคยมี ก็ลดหรือเลื่อน หลายโครงการยกเลิก ราคาสินค้าที่ลดลง ทำให้เกิดการขาดทุนสินค้าคงคลัง ราคาต่อหน่อยลด ปริมาณการขายก็ลด ยอดขายตก เมื่อกำไรลด P/E ที่เคยต่ำก็สูงขึ้น ปันผลลด ราคาหุ้นก็ลดเช่นกัน หุ้นประเภท 2 เป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติบางอย่างเข้าข่ายหุ้นวีไอ เป็นหุ้นที่เน้นการเติบโต นักลงทุนให้ค่าการเติบโตสูงลิ่ว จนไม่มีที่ว่างให้กับความผิดพลาด (MOS) แต่เมื่อความจริงปรากฎ หุ้นบางตัวไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง เป็นแบรนด์สินค้าที่ลูกค้าไม่ได้มีความภักดี บางตัวได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษกิจ สินค้าเลียนแบบได้ง่าย หุ้นบางตัวถึงแม้มีการเติบโตของผลกำไร แต่ไม่ได้มากมายเท่าที่คิด ราคาหุ้นที่ขึ้นไปด้วยความหวังก็พังทลายลงมา เข้าข่ายหุ้นดี แต่ซื้อที่ราคาแพง ก็หมดตัวได้ ประเภท 3 เป็นหุ้นหลอกวีไอ บริษัที่หิวเงินและมีผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ จะกล่าวอ้าง โอ้อวดเกินจริง ให้นักลงทุน(วีไอ) หลงเคลิบเคลิ้ม จะมีโปรเจคโน้น นี้ กำไรเท่านั้นเท่านี้ แต่พอได้เงินก็ออกลาย นำเงินไปละเลงในธุรกิจที่แปลกๆ ไม่สมเหตุสมผล ดูน่าเคลือบแคลง หากมีนักลงทุนตั้งข้อสังเกต โจมตี ก็ข่มขู่จะฟ้องร้อง แม้กระทั่ง กลต.ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

หุ้นเหล่านี้เป็นเสมือนกับดัก ที่อาจทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด ความรู้ที่ถูกต้องจากเหล่าอาจารย์เท่านั้น ที่จะทำให้เราแยกแยะ ของแท้ออกจากของเทียมได้ การกระจายความเสี่ยง ก็สามารถช่วยปกป้องความเสียหายได้ วอร์เรนเคยพูดว่า “ความเสี่ยงเกิดจากการไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่” บางคนตีความประโยคนี้ไปสุดโต่ง เลยถือหุ้นตัวเดียว เพราะคิดว่า รู้ทุกอย่าง เมื่อรู้ทุกอย่าง ก็คือไม่เสี่ยง อาจะลืมคิดไปว่า เราไม่ได้รู้ทุกอย่างในบริษัทหรือทุกอย่างในโลกนี้ ความเสี่ยงบางอย่างเรารู้ เราป้องกัน ความเสี่ยงบางอย่าง เราไม่รู้ เราจึงไม่เคยป้องกัน คนเก่งๆมากมายแต่กลับล้มเหลวเพราะประมาณความรู้ตัวเอง สูงเกินไป ต่อให้มีมากแค่ไหน ทำดีมาแค่ไหน คูณด้วย 0 มันก็หมดความหมาย

สื่อสารกลายเป็นสุสาน ดราม่าส่งท้ายปีของตลาดหุ้นไทยคือการประมูลคลื่น 4 G ของกลุ่มโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผลที่ออกมาส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรง เมื่อมีการทุ่มเงินประมูลกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และมีผู้เล่นรายใหญ่ประมูลคลื่นได้ไป สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนย่อมส่งผลต่อการแข่งขันในอุตสาหรรมที่เคยมีแค่ 3 ราย ราคาประมูลที่สูงติดอันดับโลก ย่อมส่งผลต่อศักยภาพการทำกำไร ไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก บางบริษัทราคาลดลงถึง 1/3 ของราคาสูงสุด ที่เหลือก็ลดมากกว่าครึ่ง หลายคนที่ถือหุ้นในกลุ่มนี้ จากที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเป็น safe heven ปันผลดี มั่นคง กลับกลายเป็นหลุมสุสานที่ฝังนักลงทุน สิ่งที่เราคิดว่าปลอดภัย ที่จริงไม่ได้ปลอดภัยจริง ความเสี่ยงที่ซ่อนเอาไว้ โผล่ออกมา หลายคนก็รับมือไม่ทันแล้ว หุ้นที่ท่านถือ มีความเสี่ยงแบบนี้หรือเปล่า โปรดระวัง น่าแปลกใจยิ่งกว่า ก่อนหน้านี้ ต้นปี ไม่เคยมีนักวิเคราะห์ กูรู คนไหน ที่ออกมาเตือน สะกิด ให้นักลงทุนรับรู้ความเสี่ยงจากการประมูลนี้เลย คนเก่งๆยังไม่รู้ ธุรกิจที่พื้นฐานกลับหน้ามือเป็นหลังเท้า ภายในเวลาไม่กี่วัน คำถามคือ นี่คือธุรกิจที่ดีแน่หรือ?


คุณค่าธรรมภิบาล ดราม่าอีกเรื่องของตลาดหุ้นไทยคือการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ราคาหุ้นของบริษัทที่ว่า ลดลงอย่างมาก ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประกอบการของบริษัทนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า นักลงทุนในปัจจุบันให้คุณค่าของบริษัทที่บริหารอย่างโปร่งใส โดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีของตลาดหุ้นไทย รวมถึงประเทศไทยด้วย นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ ย่อมมีทางเลือก บางคนเลือกที่จะขายหุ้นเพราะไม่สบายใจที่จะถือหุ้นที่ผู้บริหารมีปัญหาธรรมภิบาล บางคนก็เลือกที่จะถือหุ้นต่อไป เพราะไม่ได้กระทบกับพื้นฐานของบริษัทโดยตรง บางคนที่ไม่เคยถือหุ้น อาจอาศัยจังหวะที่ราคาหุ้นลดลง เข้าไปซื้อ

คนเราย่อมมีเหตุผลทุกการกระทำ มีมุมมองต่อชีวิต ต่อโลกที่ต่างกัน คนที่คิดต่างจากเรา กระทำต่างจากเรา ไม่ใช่คนผิด เพราะที่จริง เราอาจจะผิดเองก็ได้ (หรือเราทำถูกทุกอย่าง?) และบางเรื่อง ก็เป็นความเชื่อ ซึ่งไม่มีผิดหรือถูก เราอาจจะแสดงจุดยืน ความเห็นได้ แต่อย่าได้พยายามให้คนอื่น ต้องคิดเหมือนเรา การเคารพคนอื่น เราจะได้การเคารพกลับมาเช่นกัน

นอกเหนือจากกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธรรมภิบาล อาจโด่งดังน้อยกว่า แต่กระทบต่อกิจการชัดเจนกว่า เช่นบริษัทรับเหมาแห่งนึง ที่งบการเงินล่าสุดต้องรับรู้ผลขาดทุนจำนวนมาก จากงานก่อสร้างที่ผิดพลาด นักลงทุนรู้เมื่องบออก (หุ้นก็ลงมาแล้ว) แต่ผู้บริหารรู้มานาน ตั้งแต่ลูกค้าขอเคลมความเสียหาย คำถามคือทำไมรายการที่มีนัยสำคัญนี้ ไม่แสดงในหมายเหตุงบการเงิน อีกกรณีศึกษา เป็นหุ้นพัฒนาอสังหา มีสินทรัพย์เป็นที่ดินนับหมื่นล้าน (ไม่ใช่หมื่นบาท :evil: ) ซ่อนอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีใครรู้ ถ้าเรื่องไม่แดง จากคำสั่งศาลที่สั่งให้ชำระความเสียหายจากคดี

ปัญหาธรรมภิบาลที่เกิดจากทุกภาคส่วน ผู้บริหารที่ยักยอกเงิน กินหัวคิว ผ่านรายการซื้อขายแปลกๆ การใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่เผยแพร่ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีพฤติกรรมปั่นหุ้น(หลายครั้งสมรู้กับผู้บริหาร) การเข้าหาผู้บริหารเพื่อหวังข้อมูลภายใน ร่วมมือกับโบรคเกอร์เพื่อชี้นำบทวิเคราะห์ที่ตัวเองมีส่วนได้เสีย นักลงทุนรายย่อย ที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง แต่หากมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายใน ก็ทำเหมือนกัน เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราได้ฟัง ได้ยิน เป็นปกติในตลาดหุ้นไทย ทั้งที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสม หากเรามีกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน เด็ดขาด การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร (ถ้ามีก็น้อย) คำอธิบายจาก กลต.ที่คุมกฎคือ “กฎดีอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มการบังคับใช้” อยากถามว่า ถ้ากฎดีอยู่แล้ว ทำไมยังมีคน “กล้าเสี่ยง” ที่จะทำ บทลงโทษเบาหวิวจนคุ้มค่าที่จะลองทำใช่หรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายที่บอกว่าจะเข้มข้นขึ้น แน่ใจได้อย่างไรว่าจะทำได้ แล้วในอดีตทำไม ทำไม่ได้ เป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องทำ และควรทำให้ดี ตลาดหุ้นควรเป็นแหล่งระดมทุน ไม่ใช่บ่อนที่มีจ้าวมือ หากนักลงทุนไม่หวังพึ่งท่าน เราจะหันหน้าไปพึ่งใคร!!



Chinese Effect น่าสังเกตว่ามีหุ้นหลายตัวที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น (AOT BAFS SPA BEAUTY AAV BA CENTEL MINT) หุ้นเหล่านี้มีกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนทางกับเศรษกิจโดยรวมที่ไม่ดี เมื่อศึกษาลึกๆถึงสาเหตุ พบว่าบริษัทส่วนใหญ่ได้รับผลดีจากนักท่องเที่ยว เจาะจงลงไปคือนักท่องเที่ยวจีน เศรษกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องหลายปี ทำให้ประชาชนจีนพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นชนชั้นกลางที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนอื่นๆทั่วโลก ผนวกกับการเกิดขึ้นของสายการบินราคาถูก ทำให้เกิดการไหลทะลักของนักท่องเที่ยวจีนไปต่างประเทศ ประเทศไทยได้รับผลดีอย่างชัดเจน เป็น destination ที่สำคัญ อาจะด้วยระยะเวลาเดินทางที่ไม่ไกลนัก วัฒนธรรมที่เป็นมิตร ค่าใช้จ่ายไม่แพง เราจะพบนักท่องเที่ยวจีนทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย วัดพระแก้วคลาคล่ำแทบไม่มีที่จะเดิน ในรถไฟฟ้า เครื่องบินในประเทศ ร้านอาหาร แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยบางแห่ง บางคนอาจทำกริยาที่ไ่ม่เหมาะสมบ้าง โปรดให้อภัย :8) ถือว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้กำลังหล่อเลี้ยงประเทศไทย โดยการกิน ใช้ ซื้อของฝาก กิจการที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ย่อมได้รับผลดี พลังอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวจีน เป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องให้ความใส่ใจ

หุ้นขึ้น เราได้เงิน ไม่ได้บทเรียน
หุ้นลง เราได้บทเรียน แต่ไม่ได้เงิน


บทเรียนแรก ในช่วงต้นปีที่ทุกอย่างดูสดใส อยู่ในช่วงฮันนีมูนของรัฐบาลใหม่ ดัชนีผ่านตัวเลขสำคัญคือ 1600 จุด หลายคนคิดว่ามีโอกาสสูงที่ดัชนีจะผ่าน 17xx จุดสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้เมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้ว !! แต่ณ.จุดนั้นผมกลับรู้สึกกลัวอย่างบอกไม่ถูก เพราะไม่เคยเลย ที่ผมไม่มีหุ้นต่ำกว่ามูลค่าให้ซื้อ ณ.ตอนนั้นเป็นอย่างนั้นจริง ผมกลัว แต่ไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งดัชนีค่อยๆไหลลง จากสารพัดปัญหาที่รุมเร้าประเทศ ผมจะจำไว้ว่า เมื่อไหร่ที่ไม่มีหุ้น(ต่ำกว่ามูลค่า)ให้ผมซื้อ แทนที่จะดันทุรังซื้อ ผมอาจจะพิจารณาขาย หรืออย่างน้อย ต้องยกการ์ดให้สูง!! :roll:

บทเรียน 2 ตลาดหุ้นเป็นแหล่งรองรับอารมณ์ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในโลกนี้ ตลาดหุ้นจะตอบสนองไวที่สุด ทั้งปีมีเหตุการณ์สำคัญๆเช่น เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ จีนลดค่าเงินหยวน ปัญหากรีซ เรื่องอื้อฉาวของโฟคสวาเก้น สงครามกลุ่มไอเอส ก่อการร้ายในปารีส การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของเฟด การขายของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนที่รอบรู้ ต้องรู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่นอน และจะเกิดขึ้นอีก การภาวนาให้ตลาดหุ้นไม่ผันผวน ราคามีแต่ขึ้นไม่มีลง เหมือนภาวนาให้โลกนี้มีแต่ผู้ชาย ท้องฟ้ามีแต่ดวงอาทิตย์ ซึ่เป็นไปไม่ได้ หากเราไม่ทำตัวเองให้อ่อนแอ เราจะกังวลทำไม (การทำตัวให้อ่อนแอเช่น การกู้เงินมาซื้อหุ้น การถือหุ้นตัวเดียว) ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ในตลาดหุ้นไม่เคยว่างเว้น เหมือนฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา การตระหนักถึงมัน เตรียมพร้อมทั้งกายและใจ เตรียมกลยุทธิ์รับมือ พิสูจน์แล้วว่า ดีกว่าการพยายามทึกทัก ทำนาย ว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ วันไหน ซึ่งควรเป็นงานของพระเจ้า!!

บทเรียนที่ 3 จุดที่น่ากลัวที่สุด อาจเป็นจุดที่ดีที่สุด ในวันที่มีเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ตลาดหุ้นมีการตอบสนองอย่างรุนแรงกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างกลุ่มโรงแรมและการท่องเที่ยว ที่ชัดเจนคือไมเนอร์ คอร์ปเปอเรชั่น ซึ่งเป็นหุ้นที่มูลค่าตลาดมากที่สุด ราคาตกลงเหลือ 22 บาท ต่อมาเมื่อข่าวร้ายผ่านไป ตลาดเริ่มรับรู้ว่ากลุ่มไมเนอร์มีธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร มีการกระจายแหล่งรายได้ไปต่างประเทศค่อนข้างมาก ราคาก็ค่อยขยับฟื้นตัวขึ้นมา และปิดสิ้นปีที่ 35 บาท หากเราเข้าซื้อที่จุดที่ราคารับรู้ข่าวเต็มที่ และเชื่อว่าเป็นปัจจัยกระทบชั่วคราว ผ่านมาแค่ไม่กี่เดือน เราจะได้กำไรประมาณ 60 % จากหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ที่ไม่ควรมีผลตอบแทนที่สูงผิดปกติเช่นนี้ ผลตอบแทนที่มากกว่าปกติ มักมาจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ใช่วิกฤติ เป็นโอกาส โลภในเวลาที่คนอื่นกลัว

บทเรียนที่ 4 โลภในเวลาที่คนอื่นกลัว ใช้ไม่ได้ผลกับกรณี SSI นักลงทุนคนใดที่ไม่กลัว และเข้าไปซื้อกิจการนี้ ณ.ต้นปีที่ราคา 29 สตางค์ จะพบว่าเงินลงทุนหดหายไปถึง 90 % เพราะปลายปีราคาลดลงเหลือแค่ 3 สตางค์!! ก็คงเหมือนคำพูดของเฮียคลายเครียดที่ว่า

“จินตนาการที่มีความรู้ กับจินตนาการที่ไม่มีความรู้หนุนหลัง” ย่อมให้ผลลัพธิ์ที่ต่างกัน

บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่รายนี้ของไทย ที่ต้องการปิดจุดอ่อนเรื่องวัตถุดิบ โดยการขยับไปทำต้นน้ำมากขึ้นคือโรงถลุง ตัวเลขทางการเงินที่ชงโดยที่ปรึกษาทางการเงินก็ดูดีเหมาะสมไปหมด จะลดต้นทุนได้กี่หรียญต่อตัน กำไรเท่าไหร่ จะคืนทุนภายในกี่ปี ภายใต้สมมุติฐานที่วางไว้ คำนวณไว้พร้อมสรรพ ใครได้ฟังแล้วก็เคลิ้ม เหล่าคนดังๆเข้าไปซื้อกันเพียบ รวมถึงผมก็ด้วย ซื้อที่ 1.19 บาท ต่ำกว่าราคาเพิ่มทุนที่ 1.2 ตั้ง 1 สตางค์ :mrgreen: แต่กาลเวลาก็ค่อยๆเผยจุดอ่อนออกมา จุดตายคือสมมุติฐานที่อิงอยู่กับราคาสินค้าในตลาดโลก ทั้งแร่เหล็ก เหล็กแท่งบิลเล็ต ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน เมื่อเวลาผ่านไป เหตุปัจจัยมากมาย ส่งผลต่อราคาสินค้าที่ว่า สมมุติฐานที่ดูมีเหตุผล กำไรจะมากมาย กลับกลายเป็นความจริงที่ว่าขาดทุนมหาศาล ทุกๆตันที่ผลิตขาดทุน ต่อให้ผลิตเต็ม 100% ก็ยังขาดทุน แม้ผู้บริหารใจยังสู้ เพิ่มทุนหลายรอบ ก็ฝืนความจริงไม่ได้ ผมได้ตัดขายไปที่ 80 สตางค์!! เพราะเริ่มยอมทำใจยอมรับได้ว่า “คิดผิด” ถ้าหากยังถือด้วยอีโก้ คงเหลือแต่กางเกงใน :( แต่อย่างน้อยยังได้บทเรียนบางอย่าง

- เมื่อไหร่ที่ความสามารถในการทำกำไรของกิจการ ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าในตลาดโลก(ที่ควบคุมไม่ได้) คุณต้องระวังให้มากกว่าปกติ
- คนเก่ง คนฉลาด การศึกษาดี ก็มีวันผิดพลาด นายธนาคารที่ปล่อยกู้ ที่ปรึกษาการเงินระดับโลก นักลงทุนที่มืชื่อเสียง ไม่มีใครเฟอเฟคท์
- การหลอกตัวเอง(ว่ามันยังดี ทั้งที่ทั้งโลกรู้ว่าไม่ดี) การรับฟังแต่มุมมองแง่ดี(จากผู้บริหาร) การดื้อรั้น ถือทิฐิ เป็นศัตรูตัวฉกาจของนักลงทุน

บทเรียนที่ 5 ฟองสบู่ ไม่มีฟองสบู่ไหน ที่ไม่แตก ช้าหรือเร็วเท่านั้น ในตลาดหุ้นไทย ชัดเจนว่าฟองสบู่ในหุ้นบางกลุ่มได้แตกแล้ว เช่น กลุ่มพลังงานทดแทน หุ้นในกลุ่มนี้ตกอย่างหนัก มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ปัจจัยพื้นฐานที่รองรับ ตัวที่มีแต่ลมปาก หุ้นก็ลงหนัก ตัวที่ดีหน่อย ก็ลงน้อยหน่อย มีคำอธิบายที่ชัดเจนของบริษัทเล็กๆแห่งนึงที่แจ้งตลาด ยกเลิกการลงทุนด้านพลังงานว่า “สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากก่อนหน้านี้” ราคารับซื้อต่อหน่วยที่ลดลง การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นมหาศาล สุดท้าย กำไรที่เคยมากกว่าปกติ ก็กลับมาน้อยกว่าปกติ คนที่เอากำไรในอดีต เป็นตัวแทนเพื่อคาดการณ์กำไรในอนาคต ย่อมได้ตัวเลขที่ผิดเพี้ยน ตัวเลขที่ดีดูเกินจริง ราคาหุ้นที่แพงเกินไป ส่วนผสมที่ลงตัวของฟองสบู่ ฟองสบู่หุ้นปั่น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเล็กๆที่มีมูลค่าตลาดต่ำๆ เมื่อคนปั่นได้ตกลงกับเจ้าของเดิมเรียบร้อยแล้ว หรือสะสมหุ้นในมือจนมากพอ กระบวนการปั่นก็เริ่มขึ้น เป็นวิธีที่ซ้ำซาก จำเจ เหมือนละครน้ำเน่า แต่กลับได้ผลดีทุกครั้ง เพียงแต่ ตอนจบไม่ได้ happy ending เหมือนละคร แต่เป็นอย่างนี้..
ศัตรูของเราไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่มันคือตัวเราเอง ความโลภที่ควบคุมไม่ได้ การรวยอย่างง่ายๆนั้น ไม่เคยมีจริง

ฟองสบู่หุ้นไอพีโอ อาจยังไม่ได้แตกชัดเจน แค่มีรอยปริ หุ้นที่เพิ่งเข้าตลาด ยังไม่มีราคาอ้างอิง อาศัยความ “สดและซิง” ในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก คนที่เข้าไปซื้อหวัง “ปาฎิหาริย์” ซ้ำรอย ที่เคยกับหุ้นใหม่บางตัว มีเจ้ามือเข้าไปทำราคาให้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย คนเข้าไปซื้อด้วย ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ความจริงคือ จ้าวมือหุ้นไม่ใช่มูลนิธิการกุศลแต่เป็นการล่อแมงเม่าเข้ากองไฟด้วยความโลภเพื่อกินเงิน ซื้อหุ้นด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ หวังฟลุค มันก็พิสูจน์ว่าส่วนใหญ่จะขาดทุนไม่มากก็น้อย ในกลุ่มหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ แต่ตั้งราคาขายในราคาที่สูงลิบ (พีอี) ทั้งที่ธุรกิจไม่ได้เติบโตขนาดนั้น ประกอบกับมูลค่าการระดมทุนที่ใหญ่ ไม่มีใครกล้าเป็นจ้าวมือ multipulate สุดท้ายราคาหุ้นก็ลดลงตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ตัวบ่งชี้ที่พูดกันสนุกๆ แต่เป็นเรื่องจริงคือ “หุ้นไอพีโอดีๆ ไม่เคยถึงมือรายย่อย ถ้าถึงมือรายย่อย มักจะไม่ดี”


16 ปีของการลงทุน มีบางอย่างที่ผมเชื่อมั่นขึ้นทุกวัน เชื่อทุกวินาที เชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย ว่าหลักการลงทุนที่ดี ได้ผล มีอยู่จริง นั่นคือหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า การซื้อของ สินค้า หรือบริษัท ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เพิกเฉย หาประโยชน์จากความผันผวน เราจะขาดทุนได้อย่างไร ผมเชื่อว่า เมื่อผมทำได้ คนอื่นก็น่าจะทำได้ โดยเฉพาะคนที่มีต้นทุนสังคมสูงกว่า แต่ความจริงที่ผมเริ่มทำใจยอมรับคืออาจไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับการเป็นนักลงทุน ในสังคมที่หลากหลาย บางคนชี้แนะเล็กน้อย ก็เข้าใจ หลายคนมีความตั้งใจ แต่ต้องเรียนรู้ หลายคนมีแต่ความปราถนา (อยากรวย) แต่ไม่อยากลงมือทำ!! ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเล็กๆน้อยๆจากผม

สำหรับคนที่อยากรวย แต่ไม่อยากลงมือทำ ไม่มีแรงพลักดันเพียงพอ ไม่ใช่ความผิดของท่าน ท่านอาจถนัดอย่างอื่น แต่ท่านก็ต้องลงทุนในหุ้นอยู่ดี หากไม่อยากเกษียณแบบอดๆอยากๆ เพียงแต่ท่านไม่ต้องลงมือทำเอง ปล่อยให้มืออาชีพบริหารเงินให้ท่าน โดยการซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น การบ้านเล็กน้อยคือต้องดูว่าฝีมือการบริหารงานในอดีตเป็นอย่างไร แม้ไม่ได้การันตีอนาคต แต่ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย งานต่อมาคือวินัยในการใส่เงินเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรถอนออกมาใช้ (หากไม่จำเป็นมากๆ ปล่อยให้กำไรทบต้น) การบ้านสุดท้ายคืออย่าไปดูราคา(กองทุน) บ่อยๆ เพราะท่านจะทนความผันผวนไม่ได้

สำหรับคนที่อยากรวย แต่ไม่ได้เก่ง ไม่ได้ฉลาดมาก ไม่ได้มีแพสชั่นมากมาย คุณสามารถเอาชนะ ด้วยความสม่ำเสมอ ระยะเวลาที่นานพอ ต่อให้ทำผลตอบแทนแย่ๆ ก็สามารถเอาชนะคนเก่งผลตอบแทนสูงๆ แต่เริ่มต้นช้ากว่า ระยะเวลาในการลงทุนคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดตัวนึงในสมการมหัศจรรย์การทบต้น โชคดีที่ธรรมชาติมอบตัวแปรนี้ให้ทุกคนเท่าๆกัน บางคนสามารถขยายมันโดยการเริ่มให้เร็ว ตายให้ช้า ถ้าไม่เก่ง ก็ต้องอึด!!

สำหรับคนที่อยากรวย พร้อมที่จะลงมือทำด้วยแพสชั่น ลองเชื่ออย่างนี้

ไม่มีอะไรจะหยุดคุณได้ ถ้าใจคุณเอา
เรื่องยากจะกลายเป็นง่าย
คำว่ายาก ไกล ไม่มีเวลา ไม่เคยอยู่ในหัว
ไม่มีความรู้ใดๆที่ยากสำหรับคุณ
งานของคนอื่น แต่คือการพักผ่อนของคุณ
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่วิกฤติ เราจะยืนเด่น ท้าทาย องอาจ ทรนง
ต้องพร้อมที่จะทำ เพื่อให้สมควรได้รับ
หุ้นตก พอตแดง เป็นส่วนหนึ่งของเรา
บัญชีคือเรื่องของเด็กประถม ปอ4
ตลาดหมีได้หว่านเมล็ดพันธ์แห่งตลาดกระทิงเอาไว้
อยากเป็นคนยิ่งใหญ่ เราต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่
คนยิ่งใหญ่ ต้องโดนทดสอบ
คนรวย ยังไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่
เส้นทางคนยิ่งใหญ่ ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือได้มาโดยง่าย
ชนะตัวเอง ยิ่งใหญ่ที่สุด







สิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นวันครบวาระในต่ำแหน่งนายกสมาคมของผม ขอบคุณทุกๆท่าน ทั้งอาจารย์ กรรมการ สมาชิกทุกท่าน ที่ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม TVI ให้เป็นสังคมแห่งคุณค่า น่าจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นสังคมนักลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพมากที่สุดระดับต้นๆของประเทศไทย อาจจะคึกคักน้อยลงบ้าง ตามสภาวะตลาดและเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป จากนี้ท่านนายกสมาคมคนใหม่ จะเข้ามารับช่วงทำงาน พัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้สังคมของเราก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปครับ

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 03, 2017 11:49 am
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2560 พี่น้อง สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปีตลอดไปครับ


ตลาดหุ้นไทยตลอดปี 2559 ผันผวนในกรอบ 200-300 จุด เหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมา เริ่มต้นปีดัชนีลงไปลึกถึงประมาณ1221 จุด เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นเสาหลักเศรษฐกิจของโลก ตลาดหุ้นจีนตก 7% ติดต่อกันถึงสองวัน พร้อมกับราคาน้ำมันที่ยังดิ่งลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่หลังจากนั้นดัชนีก็เริ่มไต่ขึ้นตลอดทั้งปี จนสูงสุดที่ประมาณ 1553 จุด ในเดือนสิงหา จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ไล่ซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ทดแทนผลตอบแทนดอกเบี้ยทั่วโลกที่ตกต่ำเป็นประวัติศาสตร์ ประกอบกับราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว แต่ในเดือนตุลาคม ดัชนีผันผวนลดลง 150-200 จุด จากข่าวสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาอย่างอย่างรวดเร็ว และจบสิ้นปีโดยให้ผลตอบแทน 22.84 % โดย 19.79 % มาจากราคาหุ้นที่เพิ่มและ 3.05 % จากเงินปันผล นี่ทำให้ตลาดหุ้นไทยให้ผลแทนดีที่สุด อันดับ 2 ของเอเชีย รองจากตลาดหุ้นปากีสถาน โดยรวม ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีอีกปีหนึ่ง เพราะมีการฟื้นตัวของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าปกติในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน รวมถึงมีเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิทั้งปีถึงประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากสภาวะดอกเบี้ยตกต่ำทั่วโลก

โครงสร้างของตลาดหุ้นไทยมีหุ้นสามัญประมาณ 657 บริษัท กองอสังหา 62 บริษัท มีมูลค่าตลาดเฉพาะหุ้นประมาณ 15 ล้านล้านบาท ตลอดปี 2559 ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 53,000 ล้านต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ และมีสภาพคล่องการซื้อขายสูงสุดในตลาดอาเซียนติดต่อกันปีที่ 5 (อีกความหมายคือเก็งกำไรกันสูงที่สุด) นี่ควรจะส่งผลดีต่อบริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้น หากไม่โดนกระทบจากการลดลงของค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ที่ค่อย ๆ ลดลงตามการแข่งขันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

มองตลาดหุ้นไทยในภาพย่อย หุ้นที่โดดเด่นในปีนี้ คือหุ้นที่ย่ำแย่ในปีที่แล้ว เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ฟื้นตัว หุ้นเติบโตอีกหลายตัว กลุ่มที่แพ้ตลาดเช่น สื่อสาร ส่วนกลุ่มที่แย่กว่าตลาดมากคือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีสังคม เทคโนโลยี เช่น กลุ่มทีวี สิ่งพิมพ์

ตลอดปี หุ้นที่เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติในเวลาเดียวกันคือหุ้น IPO ทั้งปีมีหุ้น IPO เข้ามาระดมทุนซื้อขายในตลาดหลายตัว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กและกลาง ทำให้มูลค่าการระดมทุนไม่มากเท่าที่ควร และแทบทุกตัวขายในราคาที่สูงมาก (เปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในตลาดเดิม) ที่หนักกว่านั้น เปิดตลาดมา ทุกตัวยังเปิดซื้อขายในราคากระโดด ตัวที่พื้นฐานดีจริง ราคาก็ไปต่อได้ พื้นฐานด้อย ราคาก็ถอยกลับลงไปได้มาก สวรรค์ นรก อยู่ใกล้ๆกันในตลาดหุ้น จากสถานการณ์เช่นนี้ การันตีได้เลยว่าในปีต่อไป จะมีหุ้นเข้าใหม่ต่อคิวรอเข้าตลาดอีกมาก เพราะเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่าย win win ทั้งเจ้าของบริษัทที่ขายหุ้นได้ราคาแพงมากๆ ที่ปรึกษาทางการเงินได้เงิน (ตามเปอร์เซ็นต์ของยอดระดมทุน) ผู้รับประกันการจำหน่าย มาร์เก็ตติ้งได้ลูกค้า รายย่อย ผู้มีอุปการคุณได้ส่วนต่างราคา และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ได้หน้า

ผลตอบแทนพอร์ตส่วนตัวของผม ยังน่าพอใจ ชนะตลาดติดต่อกันเป็นปีที่ 13 จาก 17 ปีที่ลงทุนแบบวีไอ ผลตอบแทนที่ชนะตลาดพอประมาณ แต่น้อยกว่าอดีต มาจากหลายสาเหตุ ด้วยขนาดพอร์ตรวมที่ใหญ่ขึ้น การบริหารเงินยากขึ้น หุ้นที่ถือสัดส่วนเยอะไม่ perform เท่าที่คาดหวัง รวมถึงการถือเงินสดประมาณ 30-40 % นานมากกว่าครึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 20% รวมถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นเวียดนาม 10% ของพอร์ต ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก

[ตลาดหุ้นเวียดนามให้ผลตอบแทนรวมประมาณ 18 % ต่ำกว่าตลาดหุ้นไทยไม่มากนัก แต่เกิดจากการเพิ่มของหุ้นขนาดใหญ่ ไม่ใช่หุ้นขนาดเล็กซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมซื้อ ปีนี้ได้เปลี่ยนกลยุทธ์จากซื้อหุ้น PE ต่ำมาเป็นหุ้นปันผลสูง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่ความคิดที่ดี เพราะหากพื้นฐานไม่ดี กำไรลดลง ปันผลย่อมลดลงด้วยในที่สุด แถมราคายังลดลงมากกว่า ปีหน้าอาจต้องปรับกลยุทธ์มาเน้นหุ้นพีอีต่ำ และหุ้นคุณภาพดี ราคาเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนั้นหุ้นที่ถือหลายตัว ราคาลดลงมากกว่า 50 % ซึ่งเกิดจากปัญหาธรรมภิบาลทั้งสิ้น โดยเฉพาะบริษัทเอกชนขนาดเล็ก เป็นสิ่งที่พบได้ในตลาดหุ้นชายขอบ (frontier market) การกระจายการถือหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้ผลตอบแทนที่ได้ยังไม่ดี แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะล้มเลิกลงทุน เพราะเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศเวียดนามยังเติบโตได้ดี ภูมิศาสตร์ได้เปรียบ ประชากรมีคุณภาพ มีกำลังซื้อ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเรียนรู้ต่อไป]

กลยุทธ์การจัดพอร์ต ส่วนใหญ่ยังเน้นหุ้นขนาดเล็ก มีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อ hedge พอร์ตบางส่วนในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่แน่นอน มีการกระจายการถือหุ้นมากขึ้น โดยถือหุ้นไทยประมาณ 54 ตัว (รวมหุ้นที่ออกจากตลาด 2 ตัว) และหุ้นเวียดนามประมาณ 35 ตัว การกระจายการถือหุ้นแบบนี้ ข้อดีคือทุกๆปีจะมีหุ้นที่ perform ดีเสมอๆ ซึ่งทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้เราผิดพลาดได้ ในหุ้นบางตัวที่ให้ผลตอบแทนแย่ ทำให้พอร์ตรวมไม่กระทบมากเพราะมีหุ้นที่ดีคอยพยุงเอาไว้ แต่การกระจายการถือหุ้นต้องแลกมากับข้อเสีย การกระจายเป็นสัญญานบ่งบอกว่านักลงทุนอาจไม่เข้าใจบริษัทอย่างถ่องแท้ ไม่แน่ใจในพื้นฐานของหุ้นที่ถือ ดังนั้นจึงต้องกระจายการถือเพื่อลดความเสี่ยง แต่นี่ก็ต้องแลกมากับผลตอบแทนที่ไม่หวือหวาด้วย คนที่ใช้แนวทางนี้ ไม่อาจคาดหวังผลตอบแทนสูงๆมากได้นอกจากนั้นการติดตามหุ้นหลายตัว เป็นภาระค่อนข้างหนัก ต้องใช้เวลามาก และแน่นอนว่าคงมีความรู้ในพื้นฐานของหุ้นไม่เท่ากับคนที่ติดตามหุ้นน้อยตัว

กลยุทธ์การจัดพอร์ต ว่าควรเป็นแบบ focus มีหุ้นน้อยตัว หรือกระจายถือหุ้นหลายตัว แบบใดดีกว่ากัน เป็นสิ่งที่นักลงทุนถกเถียงกันมาเนิ่นนาน และน่าจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป คนที่ใช้กลยุทธ์การถือหุ้นน้อยตัว คิดว่า “แทนที่จะกระจายใข่ใส่ในหลายตระกร้า ทำไมไม่ใส่ไว้ในตะกร้าเดียว และดูแลมันอย่างดีที่สุด” ที่ผ่านมาหลายคนที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้ ทำผลตอบแทนได้สูงมาก มากจนกระทั่งมันเป็นแบบอย่างให้คนหลายคนทำตาม เพราะเห็นตัวอย่างคนที่ทำสำเร็จ และผมก็ไม่ได้คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิด ตราบใดที่นักลงทุนที่ทำอย่างนั้น ต้องตระหนักรู้ว่าผลตอบแทนที่สูง ไม่ได้มาแบบไม่มีเหตุผล แต่มาจากการเพิ่มความเสี่ยง เมื่อยินดีที่จะได้รับมากๆ เมื่อพลาด ก็ต้องยอมรับที่จะเสียมากๆด้วย ไม่ใช่ผิดพลาดแล้วโทษโชคชะตา ฟ้าดิน อคติการรับรู้ อาจทำให้เรามองเห็นแต่คนที่ทำได้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ไม่รอด เพียงแต่คนที่ไม่รอดไม่ได้พูด คนพูดคือคนที่รอด


ตลอดทั้งปี 2559 มีเรื่องราวในตลาดหุ้นที่น่าติดตาม เป็นกรณีศึกษาหลายเรื่อง ที่ผมอยากจะพูดถึง เพื่อที่ว่าเผื่อเราจะได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง

การบูมของตราสารอนุพันธ์ ที่มีหุ้น ดัชนีหุ้น สินค้าอื่นๆ เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ไม่ว่าจะเป็น TFEX DW ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้นสูงขึ้นทุกปีๆ สินค้าเหล่านี้บางอย่างสร้างมาด้วยเจตนาที่ดีเพื่อใช้ปกป้องความเสี่ยง แต่ในความเป็นจริง มันกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือเร่งผลตอบแทน แม้มีคำเตือนว่าผลตอบแทนสูง มาพร้อมความเสี่ยงที่สูง แต่อคติการรับรู้ ทำให้นักลงทุนจำได้เพียงแค่ประโยคแรก คำว่า “ทวีกำไร หรือ ทำกำไรได้ทั้งขาขึ้น ขาลง” จะถูกจดจำได้มากกว่าคำว่า “ทวีขาดทุน – ฉิบหาย ได้ทั้งขาขึ้นขาลง” สินค้าอนุพันธ์บางชนิดมีสภาพการซื้อขายที่สูงกว่าปกติ เพราะมี market maker คอยควบคุม กลไกที่บิดเบือนนี้ จะยั่งยืนได้อีกนานแค่ไหน สำหรับนักลงทุนที่รอบคอบ นี่เป็นของเล่น (อันตราย) ของความโลภที่ควบคุมไม่ได้ ก็เท่านั้น

กูรู โค้ช ครองเมือง ในยุคที่อิสรภาพทางการเงิน เป็นสิ่งที่ผู้คนร่ำเรียกหามากที่สุด อาชีพที่ผุดเป็นดอกเห็ดคือ “ผู้นำพา” หรือ กูรู โค้ช อาจารย์ ตามแต่จะเรียกกัน เป็นผู้มีหน้าที่ชี้ทาง โค้ชชิ่ง ทำให้หนทางสู่อิสรภาพทางการเงินง่ายขึ้น เร็วขึ้น เสมือนชี้ทางลัด ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี หากคนสอนรู้จริง สอนในสิ่งที่ถูกต้อง เอาไปใช้ได้จริง แต่ถ้าไม่ คนที่ไปเรียนย่อมเสียเงิน เสียทอง เสียเวลาเปล่าๆ ฉุกคิดสักนิด อิสรภาพทางการเงินที่ว่า เป็นของใครกันแน่ ของอาจารย์หรือของศิษย์ ที่แย่กว่านั้นคือครูสอนแบบผิด ๆ ทำให้คนเรียนหลงทาง ซึ่งจะทำลายชีวิตการลงทุนตลอดไป หากคิดจะไปเรียนคอร์สการเงินเหล่านี้ ผมมีข้อสังเกตแนะนำเล็กๆน้อยๆ ดังนี้

1. เจตนาชักจูงให้เกิดความโลภ เป็นสัญญานแรกที่ไม่ดี การวางแผนการเงิน การลงทุน ควรเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ ใช้เวลา ไม่ใช่รวยเร็วๆ ทันใจ พึงระลึกว่าจุดตายทางการเงิน การหลอกล่อ การโกงทุกคดี มักใช้ความโลภเป็นเหยื่อล่อให้ผู้คนติดกับ จงระวังประโยค เช่น “รวยพันเปอร์เซ็นต์ใน 60 วินาที” “เริ่มจาก 300 บาท กลายเป็น 1 ล้าน” “รวยภายใน 24 ชม”
2. ถ้าคนสอนเก่งจริง ทำไมต้องหาเงินจากการสอน คิดสักนิด โดยเฉพาะคอร์สที่ราคาแพงๆ หากคนสอนทำได้เหมือนที่โชว์เวลาสอน คงมีเงินเป็น พันล้าน หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียเวลา มาหาเงินเล็กๆน้อย จากนักเรียน จากประสบการณ์ตรง ผมไม่เคยเจอเซียนหุ้นตัวจริง สอนเพื่อเงินสักคน เพราะถ้าเก่งจริงเขาสามารถทำเงินจากหุ้น ได้มากกว่าการสอนมากๆ
3. มีแต่ตัวอย่างซ้ำๆ เคสในอดีตที่ทำสำเร็จ แล้วหลังจากนั้นล่ะ กรณีที่ไม่สำเร็จล่ะ อย่าลืมว่า แม้คนโง่ที่สุด ยังเคยมีวันดีๆ แต่คนที่สำเร็จจริง ต้องทำได้บ่อยๆ
4. โปรไฟล์คนสอน ไม่ใช่เรื่องหน้าตา ชาติตระกูล การศึกษา แต่สำคัญที่สุดคือผลงานที่ประจักษ์ชัด ถ้าหากเป็นเรื่องหุ้น ก็ควรจะมีชื่อติดผู้ถือหุ้นใหญ่หลายๆบริษัท (ไม่ใช่เอาเงินค่าสอน ไปซื้อหุ้นเล็กๆ ให้ติดชื่อ แล้วนำมาเป็นโปรไฟล์,บางคนเคยให้สัมภาษณ์มันนี่ชาแนลครั้งเดียว อุตสาห์เอามาเป็นโปรไฟล์)



Solar drama หุ้นพลังงานทดแทนที่โด่งดังที่สุด เพราะมีนักลงทุนรายใหญ่หลายคนเข้าไปซื้อหุ้นจำนวนมาก ในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้นักลงทุนหลายคนแห่เข้าไปซื้อตาม ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก ต่อมาเมื่อเจ้ามือตัวจริงหรือผลกำไร ไม่มาตามที่คาด ประกอบกับมีคำถามเรื่องธรรมภิบาลในหลายเรื่อง นักลงทุนรายใหญ่เริ่มทยอยขาย เมื่อข่าวถูกแจ้งตลาด นักลงทุนอื่นๆ รู้ข่าวและตกใจ เทขายด้วย ทั้งรายใหญ่ รายย่อมพร้อมใจกันขาย ทำให้ราคาลดลงอย่างมาก สร้างความเสียหายให้กับหลายคน เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวแบบนี้ ประการแรก พึงจำไว้ว่า เซียนย่อมผิดพลาดได้ แม้เซียนหลายคนเห็นพ้องกัน ก็ยังผิดพลาดมาแล้ว เซียนผิดพลาด รีบยอมรับและตัดสินใจตัดขาดทุน แล้วคนซื้อตามล่ะได้ทำหรือเปล่า เหตุผลตอนซื้อ ยังอยู่เหมือนเดิมไหม ประการที่สอง ที่สุดแล้วกำไรคือปัจจัยที่พยุงราคาหุ้นได้อย่างแท้จริง จะเซียนกี่คนช่วยกันดัน สุดท้ายก็สู้เจ้ามือตัวจริงไม่ไหว ประการที่ 3 ถึงแม้วิธีการวิเคราะห์หุ้นจะถูก แต่ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ผิด ผลลัพธ์ก็ย่อมผิดด้วย และข้อมูลก็มาจากผู้บริหาร ดังนั้นคุณภาพผู้บริหารสำคัญถึงสำคัญที่สุด

ศัพท์การลงทุนแปลกๆ ปีนี้หรือปีไหนๆ เราจะได้ยิน ได้ฟัง ศัพท์ใหม่ๆที่ผู้คนประดิดประดอย สร้างสรรค์กันออกมา เร็วๆนี้นี้เราได้ยินคำว่า Fintech, Brexit, Block chain, EV, Crow funding, Start up, Co working space สารพัดที่เรียกกัน แน่นอนว่าหลายคำเป็นเพียงแฟชั่น ไม่นานก็จะเลือนหายไป แต่หลายอย่างจะกลับกลายเป็นแนวโน้มจริง สำหรับนักลงทุน ไม่ควรตื่นเต้นไปตามกระแสเหล่านี้ แม้มันเกิดขึ้นจริง ก็ยังพอมีเวลาที่จะปรับเปลี่ยนการลงทุน นักลงทุนบางท่าน อาจสนใจลงทุนในธุรกิจ Start up โดยตรง ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่พึงระลึกว่าอัตราความสำเร็จที่อยู่รอดของ Start up จนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มีต่ำมากๆ อย่าให้ผลตอบแทนสูงๆที่เกิดขึ้นกับบางบริษัทอันน้อยนิด ทำให้เกิดภาพลวงตาของความสำเร็จ ผมจะรอให้ธุรกิจ Start up เหล่านี้ ประสบความสำเร็จ เข้าตลาดหลักทรัพย์เสียก่อน ค่อยเข้าไปซื้อขายดีกว่า แม้จะได้ผลตอบแทนน้อย แต่ความเสี่ยงก็ต่ำกว่ามาก

อินไซเดอร์ อย่างที่หลายคนทราบ ผมได้ประกาศไม่ใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ในการซื้อขายหุ้น เมื่อหลายปีมาแล้ว รวมถึงประกาศไม่เยี่ยมบริษัท เมื่อปีที่แล้ว แต่ปีที่ผ่านมามีข้อมูลอินไซเดอร์ 2 บริษัท ที่เข้ามาพิสูจน์ [เรื่องราวต่อไปนี้ สมมุติว่าเป็นเรื่องจริง..] บริษัทแรก เพื่อนรุ่นน้องที่เคารพ โทรมาบอกว่าบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง จะมีงบไตรมาสที่จะประกาศอลังการมากๆ เป็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน หากผมซื้อ ก็น่าจะได้กำไรมากพอสมควร เพราะแค่วันนั้นหุ้นก็ขึ้นถึง 7 % แล้ว พองบออกมา ก็เป็นจริงตามตัวเลขที่บอก แต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไร บริษัทนี้ผมชนะ แต่อีกบริษัท เพื่อนรุ่นพี่ที่เคารพ โทรมาบอกว่า บริษัทแห่งหนึ่งที่ผมลงทุนอยู่เยอะ กำลังจะมีข่าวดีมากๆ เร็วๆนี้ ผมซึ่งในขณะนั้นกำลังซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่ม เมื่อได้ข้อมูลใหม่ ผมซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% จากที่ตั้งใจจะซื้อ หลังจากวันนั้น หุ้นยังเพิ่มขึ้นอีก และวันที่ออกข่าว หุ้นขึ้นถึง 22% สองวันหลังผมไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ผมยังรู้สึกผิด ผลประโยชน์เพียงน้อยนิด ปล่อยให้ข้อมูลอินไซด์และความโลภมีผลต่อการซื้อขาย ผมหวังว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ที่ข้อมูลอินไซเดอร์มีผลต่อการซื้อขายของผม [ถึงเพื่อนๆที่ปรารถนาดีต่อกัน หากรู้ข่าวอินไซเดอร์ ไม่ต้องโทรมาบอกผมนะครับ จะขอบคุณมาก ... :P ]

เรื่องไม่จริงที่ผมเล่านี้ ก็สะท้อนความจริงบางอย่างของตลาดหุ้น ของนักลงทุนไทย ประการแรก ทุกการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ มีโอกาสเป็นอินไซเดอร์สูงมาก ผมอยู่ห่างไกลจากตลาด ไม่ได้คบหาเพื่อนมากมาย ยังได้รับข้อมูลขนาดนี้ แล้วคนที่แสวงหาล่ะ..ตลาดที่ควรจะเป็นหรือตลาดในอุดมคติ คือตลาดที่ทุกคนได้รับข่าวสารเท่าเทียมกัน วัดกันที่ใครวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีกว่ากัน แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกมากที่ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ในทางที่เอาเปรียบคนอื่น ประการที่สอง การต่อสู้กับความโลภ ยังเป็นสิ่งที่ยากที่สุด ผมซึ่งมีขนาดพอร์ตระดับที่ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองในการดำรงชีพแล้ว ยังติดกับ แล้วคนอื่นที่อยู่ในช่วงพอร์ตเล็กๆ กำลังก่อร่างสร้างตัว หากมีโอกาสทำเงินมากๆ (จากอินไซเดอร์) คุณคิดว่าเขาจะทำไหม มีโอกาสมากไหมที่เขาจะทำ สิ่งที่ผมอยากพูดกับตัวเองและคนอื่นคือ หากคุณรู้อยู่แล้วว่า คุณต้องรวย หรืออย่างน้อยไม่จนแน่ๆ เพราะใช้วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง มันจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้คุณเดินเร็วขึ้น แต่หากวันหนึ่งคุณประสบความสำเร็จ และมองย้อนกลับมาในสิ่งที่คุณได้กระทำ คุณจะบอกลูกอย่างภูมิใจ คุณจะยิ้มให้กับตัวเองอย่างภูมิใจได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณได้ทำอย่างไร ในวันนี้..


หุ้นเติบโต & หุ้นวีไอ ในอดีตผมเชื่อว่าหุ้นเติบโตมีคุณสมบัติของหุ้นคุณค่า การที่บริษัทมีคุณภาพ สามารถเติบโตได้มาก นั่นคือคุณภาพอย่างหนึ่ง แม้เราซื้อหุ้นในราคาแพงสักหน่อย แต่ไม่ช้ากำไรจะเติบโตขึ้น จนไล่ทันราคาที่เราซื้อ แต่ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เส้นแบ่งระหว่างหุ้นเติบโตและหุ้นคุณค่า เริ่มแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้น หุ้นเติบโตหลายตัว แม้เติบโตได้ดีก็จริง แต่ถูกซื้อขายในระดับ PE ที่สูงจนไม่อาจเรียกว่าเป็นหุ้นคุณค่าได้ แนวโน้มนี้อาจเหมือนในต่างประเทศ ที่หุ้นเติบโตและหุ้นคุณค่าแบ่งแยกกันค่อนข้างชัดเจน แต่มันไม่สำคัญว่าจะเป็นแบบไหน สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือกำไร ในต่างประเทศนักลงทุนที่มีชื่อเสียงหลายคน ก็ประสบความสำเร็จด้วยหุ้นเติบโต แต่สิ่งที่นักลงทุนควรจะรู้คืองานวิจัยหลายชิ้น บ่งบอกว่า ในระยะยาวหุ้นคุณค่ามักให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นเติบโต เมื่อหุ้นในกลุ่ม Nifty-Fifty ซื้อขายในระดับ PE ที่สูงมาก สุดท้ายตลาดก็เริ่มรับรู้ว่าเป็นการคาดหวังการเติบโตที่ดีเกินจริง ส่งผลหลายปีถัดจากนั้น หุ้นกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าตลาดมาก อีกเหตุผลนึงที่หุ้นเติบโตได้รับความนิยมมากในช่วงหลัง คือกลยุทธ์ “ดักซื้อก่อนกองทุน” ปัจจุบันกองทุนในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก มีเม็ดเงินมหาศาล โดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคล (Private fund) เกิดปรากฏการณ์ searching for yield ภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยตกต่ำ ดังนั้นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนดี มีอยู่ไม่มาก นั่นคือการลงทุนในหุ้น หุ้นที่เหมาะกับกองทุนคือหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสูง มีการเติบโตที่แน่นอนสูงมาก และมีธีมการขยายไปต่างประเทศ ราคาแพงหน่อยไม่สำคัญ นี่น่าเป็นเหตุผลหลักที่กองทุนไล่ซื้อหุ้นเติบโตสูงหลายตัว ในราคาอนาคตที่สูงลิบลิ่ว นักลงทุนวีไออาศัยโอกาสนี้ ดักซื้อหุ้นประเภทนี้ ก่อนกองทุนจะมาไล่ซื้อ และนี่เป็นที่มาของการหากำไรจากหุ้นเติบโตก่อนที่กองทุนจะซื้อ

คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์จัดอันดับเศรษฐีหุ้นประจำปี มีนักลงทุนที่น่าสนใจท่านหนึ่ง คนเดียวที่ไม่ได้ก่อตั้งธุรกิจเอง เป็นนักลงทุนที่รับบริหารพอร์ตต่อจากบิดา แต่สามารถสร้างพอร์ตเติบโตจนเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ของประเทศไทย พอร์ตหุ้นมูลค่าประมาณ 27,000 ล้านบาท นักลงทุนท่านนี้ลงทุนตามแนววิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบวีไอ ย้อนหลังไปประมาณ 10 กว่า ปี ผมยังพอจำได้ว่าพอร์ตของท่านมูลค่าไม่ถึง 1 พันล้านบาท นั่นเท่ากับว่าพอร์ตได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยที่แทบไม่มีการเปลี่ยนหุ้นเลย โดยหุ้นที่เป็นพระเอกที่ทำให้พอร์ตการลงทุนโตมากคือ MINT หรือ RGR เดิม รวมถึง HMPRO และหุ้นอีกหลายตัวที่ไม่มีนัยยะ นี่ทำให้เราพอสรุปได้ว่า การถือหุ้นระยะยาวทำให้รวยได้เลย แต่สำคัญที่สุด ต้องถือหุ้นให้ถูกตัว และสำหรับประเทศไทย ผมไม่คิดว่า จะมีใครเชื่อ คนๆหนึ่งที่ไม่ได้มีกิจการของตัวเอง ไม่ได้รับธุรกิจจากพ่อแม่ อาศัยเป็นนักลงทุนเพียงอย่างเดียว จะสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ขนาดนี้ นอกจากท่านนี้ ผมคิดว่ายังมีอีก 3-4 ท่าน ที่มีพอร์ตระดับหมื่นหรือเกือบๆจะหมื่นล้าน ว่าที่จริง ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นไปได้จริง หากเราเข้าใจสมการทบต้น ที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นในปีท้ายๆ เราจะไม่สงสัย การลงทุนแบบวีไอเพิ่งเผยแพร่ ได้รับความนิยมเพียงไม่เกิน 20 ปี หลายท่านยังมีความมั่งคั่งระดับนี้ มองไป 10 20 30 ปี ข้างหน้า เมื่อการทบต้นทำงานไปเรื่อยๆ... โลกจะเห็น นี่ไม่รวมความมั่งคั่งระดับพัน ร้อย หรือสิบล้าน อย่าสงสัย ว่ามันเป็นเส้นทางที่ถูกต้องหรือเปล่า ดูไปที่เส้นชัยซิ.. อย่าเอาคำอ้างทั้งหลาย ..เกิดมาจน ..เงินน้อย มาฆ่าความฝัน แม้เงินน้อย เมื่อมันฉลาด มันจะโต เงินโง่ แม้มีมาก ที่สุดมันก็ลดลง เวลาจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เมื่อเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง..



การเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นที่เสียใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่สูญเสียพระมหากษัติย์ที่เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ภายใต้บรรยากาศแห่งการไว้อาลัย พิธีการ กิจกรรมต่างๆมากมาย อยากให้ประชาชนชาวไทย มองทะลุออกไป ถึงหลักการใช้ชีวิตที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างตลอดมา การใช้ชีวิตที่ต่ำกว่าฐานะ ความพอเพียง ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อตามกระแสสังคม ไม่ทำอะไรที่เกินฐานะตัวเองไปมาก ไม่สร้างหนี้สินเกินกว่าที่จะชำระได้ หากเพียงเรานำหลักการเหล่านี้ไปใช้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ต่อประเทศ นี่น่าจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างแท้จริง..


การใช้ชีวิต เมื่อผมได้ผ่านการลงทุนมาเกือบ 20 ปี ชีวิตล่วงเลยสู่วัยกลางคน ชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินทองเพื่อกินอยู่แล้ว ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของเฮียคลายเครียดเรื่อง “โอ่ง 5 ใบ” ซึ่งเป็นบททดสอบว่าชีวิตหนึ่งมีความสมดุลหรือไม่ โอ่งแต่ละด้านในมุมมองของผมเป็นอย่างนี้

1.การงาน เงินทอง ผมคิดว่าชีวิตนี้สมบูรณ์พร้อมแล้ว
2.ครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นไปตามที่สมควรจะเป็น มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้ตอบแทนผู้มีพระคุณ ช่วยเหลือญาติมิตรตามสมควร มีเพื่อนฝูงที่ปรึกษาหารือกันได้
3.สุขภาพร่างกาย เสื่อมถอยไปตามวัยที่ควรจะเป็น ร่างกายที่หยิบยืมมา ที่ไม่รู้ว่าจะโดนทวงคืนเมื่อไหร่ ที่ทำได้คือตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
4.สุขภาพจิต ไม่มีอะไรกดดัน บีบคั้น สามารถควบคุมความกลัว โลภ ได้ตามสมควร
5.การทำเพื่อคนอื่น เพื่อประเทศ เพื่อโลกนี้ ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อคนที่มีกำลัง ศักยภาพที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ยังไม่ทำ เราไม่อาจคาดหวังคนอื่นจากได้อีก จากนี้ตั้งใจว่าจะเน้นให้ความสำคัญในการช่วยเหลือคนอื่น ช่วยสังคม มากขึ้นครับ


แล้วเพื่อนๆ ละครับ ที่กำลังเดินไปข้างหน้า เดินเต็มกำลัง สมดุลชีวิตของท่านเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าขาดด้านใดด้านหนึ่ง แม้มีเงินทองมากมายท่วมหัว ท่านก็อาจสอบตกวิชาชีวิตนะครับ..

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 03, 2018 10:04 pm
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2561 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ น้องๆ ทีวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี และตลอดไปครับ

ตลาดหุ้นปี 2560 ที่เพิ่งผ่านไป เริ่มต้นปีที่ดัชนี 1542.94 จุด และเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยทำจุดต่ำสุดที่ 1529 จุด กลางเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งกลางเดือนสิงหาคม ดัชนีเริ่มไต่เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน สิ้นปีปิดที่ระดับ 1753.71 จุด ให้ผลตอบแทนรวมเงินปันผล 16.66 % (ราคาหุ้น 13.66 %+ ปันผล 3.00% ) ดีต่อเนื่องสองปีติดต่อกัน ตลอดปี 2560 เป็นปีทองของหุ้น IPO มีจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ประมาณ 42 บริษัท สามารถเพิ่มมูลค่ารวมตลาดหุ้นได้ประมาณ 4.2 แสนบ้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์มา 42 ปีทั้งจำนวนและมูลค่าระดมทุน จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 680 บริษัท (รวมบริษัทที่โดน SP -22 บริษัท) และกอง-ทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาอีก 59 กอง มูลค่าตลาดรวมตลาดหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17.9 ล้านล้านบาท

เปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆในต่างประเทศ set index กลับสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างต่ำ ตลาดหุ้นหลักของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ดัชนี Down Jone & S&P 500 ให้ผลตอบแทนประมาณ 25 % หรือในเอเชียที่ Hang Seng ฮ่องกงให้ผลตอบแทน 36 % หรือในกลุ่ม 6 ประเทศอาเซียน set index ชนะแค่ตลาด Malaysian เท่านั้น โดยดัชนีหุ้นเวียดนามโดดเด่นที่สุด ให้ผลตอบแทนเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย 48 % (คิดในสกุลเงินท้องถิ่น)

การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้น ดูเหมือนคำอธิบายที่มีเหตุผลจะตามมา ก็ต่อเมื่อเรารู้ผลของมันแล้ว แต่มันจะดูคลุมเครือ พร่ามัว ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง นักลงทุนคนไหนจะคิดว่า ดัชนีที่ต้วมเตี้ยมมาตลอด 8 เดือน จะพุ่งขึ้นถึง 200 จุดในเวลาแค่ 4 เดือนหลัง นี่ย่อมพิสูจน์ว่า การคาดการณ์ดัชนีได้ถูกต้องเป็นสิ่งที่มีความน่าจะเป็นพอๆกับโยนหัวก้อย คนที่มีกิจกรรมต้องทำนายดัชนี เช่น ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ TFEX อาจจะจนไปหลายคนเพราะทำนายผิดทาง หรือแม้คนที่ถือเงินสดหวังให้ตลาด crash ก็ยังเสียโอกาส ส่วนนักวิเคราะห์ที่ทายผิด ก็พยายามกลบเกลื่อน ทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำนายต่อไป หวังจะถูกสักวัน


ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม แสดงภาวะซบเซาในครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวยังคงเป็นบางกลุ่มที่เรียกว่า ฟื้นกระจุก ซึมกระจาย กลุ่มที่ฟื้นตัว เป็นกลุ่มที่อิงกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่มส่งออก กลุ่มท่องเที่ยว แต่กลุ่มที่อิงกับกำลังซื้อในประเทศ ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำและภัยแล้ง การลงทุนภาครัฐที่นักลงทุนคาดหวังมาหลายปี ยังคงล่าช้าจากกฎระเบียบทางราชการและการประกาศใช้นโยบายจัดซื้อ จัดจ้างใหม่ของทางรัฐบาล


พอร์ตส่วนตัวของผม ยังทำผลตอบแทนได้น่าพอใจ ชนะตลาดเป็นปีที่ 14 จาก 18 ปีที่ลงทุนแบบวีไอ การลงทุนยังเน้นกระจายความเสี่ยง โดยถือหุ้นไทยประมาณ 37-38 ตัว ลดลงจากเกือบ 60 ตัวในปีที่แล้ว สาเหตุที่กระชับการถือหุ้นเพราะเน้นลงทุนในหุ้นที่เข้าใจ มีความแน่นอนของผลประกอบการ ขายหุ้นที่มีความไม่แน่นอน คาดเดายาก ประกอบกับเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางมากขึ้น ทำให้สามารถลงทุนในจำนวนเงินที่สูงได้ ระหว่างปีไม่มีการใช้เงินกู้ลงทุน แต่มีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันพอร์ตบ้างเล็กน้อย (ซึ่งแน่นอนว่าให้ผลขาดทุน) ปีที่ผ่านมา มีการขายหุ้นขาดทุน 7-8 ตัวที่คิดผิด แต่ผลตอบแทนรวมยังค่อนข้างดีเพราะหุ้นตัวหลักๆให้ผลตอบแทนตามสมควร และมีหุ้นขนาดกลางบางตัวที่ให้ผลตอบแทนเกินเท่าตัว ทำให้พอร์ตรวมชนะตลาดได้

ส่วนพอร์ตการลงทุนต่างประเทศ ปีนี้ลงทุนเพิ่มในตลาดฮ่องกง นอกเหนือจากตลาดเวียดนาม แต่โดยรวม การลงทุนในต่างประเทศยังไม่ประสบผลสำเร็จ ผลตอบแทนแพ้ตลาดมาก โดยเฉพาะในตลาดเวียดนาม ที่แม้ให้ผลตอบแทนสูงสุดในเอเชีย แต่การเพิ่มขึ้นของดัชนีเกิดจากหุ้นขนาดใหญ่ที่ตลาดนิยม ไม่ใช่หุ้นตัวกลาง-เล็กที่ผมถือ และแม้เราสนใจลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ก็หาซื้อหุ้นไม่ได้เพราะติดเกณฑ์การถือครองหุ้น Foreign limit และปัจจัยที่ส่งผลชัดเจนให้ผลตอบแทนพอร์ตไม่ดีคือจากอัตราแลกเปลี่ยน ปีนี้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมาก จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล โดยแข็งค่าขึ้นประมาณ 7 % เทียบเงินเวียดนามด่อง(VND) และแข็งค่าขึ้น 8-9% เปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ฮ่องกง (HKD//USD) ดังนั้นเงินลงทุนทั้งในเวียดนามและฮ่องกง จึงด้อยค่าโดยปริยายเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทไทยในวันสิ้นปี นี่เป็นเหตุผลหลักที่พอร์ตลงทุนต่างประเทศที่เคยเป็นสัดส่วนเกือบ 10 % ก่อนหน้านี้ ปรับลดลงเหลือ 7-8 % ไม่ใช่เพราะขาดทุนแต่เป็นเพราะพอร์ตหุ้นไทยโตขึ้นมากกว่า ตรงกันข้ามกับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหุ้นไทย ได้กำไรที่ดีกว่าปกติทั้งจากราคาหุ้นและจากอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุผลเดียวกับหุ้นไทย ปีที่ผ่านมาปรับลดการถือหุ้นเวียดนามจาก 36 ตัว เหลือ 18 ตัว โดยปรับลดตัวที่ไม่มีความแน่นอน ลดหุ้นที่ปันผลสูง มาเน้นหุ้นที่เติบโตแทน รวมถึงเน้นการถือหุ้นบางตัวที่มีโอกาสกำไรชัดเจนมากกว่า

มองไปในอนาคต ผมยังคงลงทุนในต่างประเทศบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงที่สินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ในสกุลเงินบาท แต่เรื่องผลตอบแทนขึ้นอยู่กับว่าผลของการเรียนรู้ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะผลิดอกออกผลเมื่อไหร่ แต่ยังมีเรื่องดีๆอยู่บ้าง ที่โบรคเกอร์ไทยบางราย เริ่มให้บริการซื้อขายหุ้นเวียดนามโดยตรงผ่านทาง Internet โดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดแล้ว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมรอคอย คาดว่าในระยะเวลาอันใกล้ โบรคเกอร์รายอื่นๆ จะให้บริหารเช่นนี้เกือบทั้งหมด การซื้อและขายหุ้นเวียดนามจะสะดวกสบาย คล่องตัวขึ้นมาก

มองไปข้างหน้าในปี 2561 นี้ มีโอกาสมากเหลือเกินที่ดัชนีจะทำลายสถิติปิดสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ที่ 1753.73 และจุดสูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้ที่ 1789.16 จุดในวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่พูดว่ามีโอกาสมาก เพราะจากดัชนีปิดในปี 2560 ที่ 1753.71 จุด ห่างจากดัชนีที่จุดสูงสุดเพียงแค่ 0.02 จุดเท่านั้น หรือเท่ากับว่านี่เท่ากับจุดปิดสูงสุดแล้ว บางคนอาจคิดว่าระดับดัชนีที่สูงกว่าจุดสูงสุดในอดีต เป็นสิ่งอันตรายที่นักลงทุนต้องระวัง นี่อาจไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะระดับดัชนีที่ 1789.16 ในปี 2537 ณ.จุดนั้นหุ้นทั้งตลาดเทรดที่ P/E เฉลี่ยประมาณ 30 เท่า P/B เฉลี่ยประมาณ 5 เท่า เปรียบเทียบกับปัจจุบันเทรดที่ P/E 19 เท่าและ P/B แค่ 2.1 เท่า ต่างกันมาก หรือพูดได้ว่าระดับดัชนีในปัจจุบันมีพื้นฐานของบริษัทรองรับดีกว่าในอดีต เป็นผลจากตลอด 24 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนสร้างกำไรทุกปี และสะสมกำไรบางส่วนไว้ในบริษัท ทำให้สามารถนำไปขยายกิจการสร้างกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ทั้ง P/E และ P/B ลดลง ไม่รวมถึงผลของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน ที่ต่ำกว่าในอดีตมาก ทำให้หุ้นเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เราควรสรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมา

รู้ว่าจะตายที่ไหนเพื่อจะได้ไม่ไปที่นั่น ปี 2560 เป็นปีที่ค่อนข้างผิดปกติ เพราะมีหุ้นหลายตัวที่สร้างความเสียหายกับนักลงทุนอย่างคาดไม่ถึง ราคาหุ้นเหล่านี้ลดลง 70-90% บางตัวต้อง SP เข้าแผนฟื้นฟู ทั้งที่เป็นหุ้นที่เคยมีพื้นฐานอยู่บ้าง หลายตัวก่อนที่ราคาจะตกหนัก มองตัวเลขทางการเงินก็ยังดูดี เช่น AJA GL EARTH เราในฐานะนักลงทุนวีไอ ที่ใช้ตัวเลขทางการเงินเหล่านี้ในการวิเคราะห์ จะมีอะไรที่เป็นสัญญาณเตือน ให้เรารอดปลอดภัยจากหุ้นประเภทนี้หรือเปล่า ผมคิดว่าพอมีบ้าง เช่น ประวัติ พฤติกรรมของผู้บริหารที่ดูน่าเคลือบแคลง เราอาจจะไม่รู้ แต่เราสัมผัสได้ บุคลิก การเปิดเผยข่าวสาร การสื่อสารกับนักลงทุน แต่ปัจจัยที่ชัดเจนคือ อะไรที่ดีเกินจริง ให้สงสัยไว้ก่อน มันอาจทำให้เราพลาดโอกาสบ้าง แต่จะลดโอกาสที่เราจะเสียหายหนักๆ ทั้ง 3 บริษัทข้างต้น มีตัวเลขผลประกอบการดีอย่างน่าสงสัยติดต่อกันมาหลายปี หลายไตรมาส ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันสูง และประเด็นข้อสังเกตสุดท้ายคือหากธุรกรรมหลักหรือกำไรส่วนใหญ่ มาจากต่างประเทศ ให้สงสัยไว้ก่อน ยิ่งหากเป็นประเทศเล็กๆ ขาดความโปร่งใสให้ระวังเป็นดีที่สุด

วิกฤติตั๋วแลกเงิน (BE-Bill of Exchange) นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสิ่งที่ดีเกินจริง ไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป ในช่วงปีก่อนหน้าคือปี 2559 การกู้เงินโดยการออกตั๋วแลกเงิน ได้รับความนิยมจากบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างมาก เหตุผลหลักๆเป็นเพราะ ออกได้ง่ายและจ่ายดอกเบี้ยต่ำ สะดวกเพราะบางบริษัทไม่ต้องจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และยังได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากู้ธนาคาร เนื่องจากสถาวะดอกเบี้ยตกต่ำเป็นเวลานาน ผู้มีเงินออมเหลือพยายาม Search for yield มองหาผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดและคิดว่าความเสี่ยงต่ำสุดเช่น ตั๋วบีอี จนกระทั่งจุดหนึ่งแม้แต่บริษัทที่งบการเงินอ่อนแอ ขาดความโปร่งใส ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Nonrated) ยังสามารถออกตั๋วบีอีขาย และโชคร้าย ยังมีคนเต็มใจที่จะซื้อ และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตินี้ ทันทีเริ่มมีข่าวบางบริษัทผิดชำระหนี้ (Default) ด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ฟองสบู่ตั๋วบีอีก็แตก เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้ซื้อตั๋วว่าจะไม่ได้เงินคืน บางบริษัทที่เคยออกตั๋วใหม่เพื่อชำระตั๋วเก่าก็เริ่มทำไม่ได้ เพราะนักลงทุนไม่กล้าซื้อ ลุกลามทำให้บางบริษัทขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยการกู้หนี้สูงๆ หรือลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว โดยใช้เงินกู้ระยะสั้นจากตั๋วบีอี สถานการณ์เลวร้าย จนแทบไม่มีบริษัทใดที่ออกตั๋วบีอีขายได้เลย และนี่พลอยทำให้การออกหุ้นกู้ ซึ่งคล้ายกับตั๋วบีอี แต่เป็นการกู้ระยะยาวกว่า ได้รับผลกระทบไปด้วย หากจะให้ขายได้ บริษัทต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความกลัวของนักลงทุน นี่เองทำให้ต้นทุนทางการเงินของหลายบริษัทเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำไรโดยรวม วิกฤติตั๋วแลกเงินย่อมพิสูจน์คำพูดที่ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล จะจบลงอย่างมีเหตุผล


ฟองสบู่หุ้น IPO ปี 2560 เป็นปีทองของหุ้น IPO อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งจำนวนหุ้นที่เข้าจดทะเบียนและมูลค่าตลาดที่เพิ่ม ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์หุ้นไทย โดยในครึ่งปีแรก ภาวะหุ้น IPO ยังอยู่ในช่วงซบเซา แต่ครึ่งปีหลังกลับเป็นยุคทองที่ไม่เคยมีมาก่อน บางวันมีหุ้นเข้าตลาดพร้อมกับถึง 2 บริษัท เหตุผลที่เป็นอย่างนี้ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เมื่อมองไปที่ระดับดัชนีตลาดหุ้นที่อยู่ในช่วงร้อนแรงสูงสุดในประวัติศาสตร์ เหล่าที่ปรึกษาทางการเงิน เจ้าของบริษัท ที่เตรียมทุกอย่างไว้พร้อม ฉวยโอกาสนี้จังหวะที่ตลาดดี รีบเข็นบริษัทเข้าตลาดในช่วงทอง กอบโกยเม็ดเงินให้มากที่สุด จากการขายหุ้นราคาแพงๆ (นักลงทุนเคยตั้งคำถามไหม ช่วงตลาดซบเซา ทำไมหุ้น IPO หายไปไหนหมด) คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดในสภาวะเช่นนี้คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ที่เสียสัดส่วนหุ้นไม่มาก แต่ได้เงินเข้าบริษัทมหาศาล, ที่ปรึกษาทางการเงิน underwriter ที่ได้เงินตาม % ที่ระดมทุนได้,หน่วยงานเกี่ยวข้องที่ได้ผลงาน ,เศรษฐกิจประเทศที่น่าจะดีขึ้น จากเงินที่ระดมไปลงทุน ดูเหมือนจะมีกลุ่มคนที่อาจจะโชคร้ายอยู่กลุ่มเดียว นั่นคือนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้น IPO ในราคาแพงๆ ในช่วงตลาดแพงๆ นี่เป็นเหตุผลที่ระยะหลังเริ่มมีหุ้น IPO บางตัวสร้างให้ผลขาดทุนกับนักลงทุน ความเชื่อที่ว่าใครได้หุ้น IPO มีแต่กำไรเท่านั้น ไม่มีความเสี่ยง แน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่จริง นักลงทุนซื้อไปแล้วขาดทุน เมื่อถึงจุดนึง เริ่มไม่กล้าซื้อหุ้น IPO นั่นคงเป็นจุดจบของฟองสบู่ IPO รอบนี้ ด้วยน้ำมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นี่ไม่รวมถึงหุ้น IPO หลายตัวมีกำไรที่น่าสงสัย บางบริษัทก่อตั้งได้ไม่กี่ปีแต่สามารถมีมูลค่าตลาดสูงเป็นหมื่นล้าน บางบริษัทไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ยังขาดทุนอยู่เลย บางบริษัทยังมีคดีฟ้องร้องที่มีนัยยะสำคัญมาก คุณภาพกำไรของหลายบริษัทที่ไม่แน่นอน แต่รีบเข็นบริษัท ถอนทุนตอนที่กำไรทำจุดสูงสุด ในช่วงตลาดสูงสุด คงเดาได้ไม่ยากว่าใครจะซวยที่สุด

หุ้นเทวดาตกสวรรค์ หุ้นหลายตัวที่ขึ้นด้วยความคาดหวังสูง คาดหวังในกำไรที่จะเพิ่มขึ้น หุ้นเหล่านี้หากจะไม่ให้ราคาถดถอย มีทางเดียวคือทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่คาด กำไรต้องโตระเบิด ถ้าโตน้อย หรือไม่โต ตลาดจะลงโทษอย่างรุนแรง หลายตัวแม้กำไรโต แต่ตลาดคาดหวังไว้สูงมากกว่า ราคาหุ้นถูกปรับลด P/E เราจึงได้เห็น แม้กำไรเพิ่ม แต่ราคาหุ้นกลับลดลง นี่คือเสน่ห์และอันตรายของหุ้นเติบโต ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปได้มาก ตราบที่นักลงทุนยังคาดหวัง และปรับลดลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อนักลงทุนเพียงแค่เริ่มสงสัย ถึงความสามารถในการทำกำไร ตลอดปี 2560 มีหุ้นหลายตัวที่เคยเทรดในระดับ P/E ที่เหลือเชื่อ แต่เมื่อไม่สามารถสร้างกำไรที่คาดหวัง ราคาก็ลดลงมาก จนสร้างความเสียหายให้นักลงทุนหลายคน นี่คงสะท้อนแนวคิดของวีไอที่กล่าวว่า ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย ความคุ้มค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ คุณภาพและราคา เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาไปด้วยพร้อมๆกัน คนที่ละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะได้รับบทเรียน..

หุ้นโรงไฟฟ้าไม่ได้น่าซื้อทุกตัว หุ้นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในปี 2560 คือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ด้วยปัจจัยหลายๆประการ เช่น มีหุ้นในกลุ่มนี้ขนาดใหญ่ที่เข้าระดมทุนจำนวนมาก หรือการที่นักลงทุนที่มีชื่อเสียงเข้าไปถือหุ้นในบางตัว รวมถึงธรรมชาติรายได้ กำไร ในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความแน่นอนค่อนข้างสูง จากสัญญาการซื้อขายไฟที่แน่นอน แต่นักลงทุนวีไอที่ดี เราควรตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ มีความเสี่ยงใดๆที่เราอาจไม่รู้หรือเปล่า เช่น

- สัญญาต่างกัน รายได้ย่อมต่างกัน บริษัทที่ได้ส่วนเพิ่มจากค่าไฟพื้นฐาน (adder) สูง กำไรจะสูง แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือระยะเวลาที่ได้แอดเดอร์ที่สั้น บางบริษัท 8 ปี หรือ 6 ปี เมื่อหมดระยะเวลาแอดเดอร์ กำไรที่บริษัททำได้จะลดลงอย่างมาก และนี่จะเป็นระเบิดเวลาของราคาหุ้นด้วย บางบริษัทที่ได้สัญญาแบบ FIT (Feed-in Tariff) เป็นสัญญาที่ค่าไฟค่อนข้างคงที่ และระยะเวลาขายที่ยาวนานกว่ามาก กำไรอาจจะไม่มาก แต่ยาวนานกว่า สัญญาซื้อขายไฟมีผลต่อกำไรและราคาหุ้นอย่างมาก บางบริษัทราคาหุ้นไม่ไปไหน ทั้งที่ P/E ต่ำ กำไรเติบโต แต่นักลงทุนส่วนใหญ่รู้ว่า Adder กำลังจะหมดอายุ

- เทคโนโลยี วัตถุดิบ ต่างกัน ความสามารถในการทำกำไรย่อมต่างกัน โรงไฟฟ้าไม่ได้เหมือนกันหมดทุกโรง มีข้อเด่น ข้อด้อยต่างกันไป ไฟฟ้าจากถ่านหิน- ราคาไฟฟ้าต่ำ มีความเสถียร แต่ลงทุนสูงและสร้างได้ยากเพราะชาวบ้านต่อต้าน รวมถึงก่อให้เกิดแก๊สโลกร้อน กำไรของผู้ผลิตจะดี ไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ-ลงทุนสูง ต้นทุนการผลิตต่ำหากเป็นแบบผลิตไอน้ำร่วมด้วย (Cogeneration) สร้างไม่ยาก แต่กำไรของผู้ผลิตจะต่ำ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ – ค่าไฟต่ำ แต่ลงทุนสูงและสร้างได้ยากเพราะโดนต่อต้าน การผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำไรของผู้ผลิตจะดี ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ – ค่าไฟฟ้าสูง รัฐยังต้องสนับสนุน ชั่วโมงการผลิตต่ำ แต่สร้างได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำไรของผู้ผลิตมีแนวโน้มต่ำลงเพราะความง่ายในการผลิต ไฟฟ้าจากชีวมวล – ค่าไฟสูงเล็กน้อย ความยากง่ายในการก่อสร้างปานกลาง มีปัญหาเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าจากพลังงานลม – ค่าไฟสูงเล็กน้อย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ลงทุนสูง หาพื้นที่เหมาะสมได้ยากเพราะประเทศไทยมีลมน้อย กระแสไฟไม่เสถียร กำไรของผู้ผลิตปานกลาง ไฟฟ้าจากพลังความร้อนใต้พื้นพิภพ (Geothermal) – ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ชั่วโมงการผลิตยาวนาน แต่ลงทุนสูงและหาพื้นที่เหมาะสมได้ยาก(ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ) ราคาขายและกำไรของผู้ผลิตปานกลาง ไฟฟ้าจากขยะชุมชน-อุตสาหกรรม - ค่าไฟสูง รัฐอุดหนุนเพราะลดมลภาวะได้ กำไรค่อนข้างสูงหากรัฐอุดหนุน แต่มีปัญหาเรื่องซัพพลายและความสม่ำเสมอของค่าความร้อนขยะ ต้องลงทุนสูง

- องค์ประกอบอื่นๆ เช่น คดีฟ้องร้อง ที่อาจจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ อย่าเชื่อเพียงลมปากผู้บริหารว่าคดีไม่มีปัญหา กำลังการผลิต อย่าดูแค่เมกะวัตต์ (MW) แต่ให้ดูถึงชั่วโมงการผลิตด้วย กำลังการผลิตน้อยแต่ผลิตได้ 24 ชม. อาจดีกว่ากำลังการผลิตมาก แต่ผลิตได้ 5 ชม/วัน โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ต้องระวังเรื่องความเป็นไปได้จริงของโครงการ ความแน่นอนของค่าไฟฟ้า รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน เงินลงทุน ธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง แม้มีสัญญารับซื้อไฟ แต่ไม่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้เพราะหนี้สินสูง ย่อมไม่มีประโยชน์ การเพิ่มทุน ก็ทำให้ EPS ลดลง

ปรากฏการณ์บิทคอยน์ (Bitcoin) รวมถึงเงินสกุลดิจิตอลต่างๆ นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับผม ทางที่ง่ายที่สุดคือหลีกเลี่ยง แทนที่จะเสียเวลาทำความเข้าใจกับมัน แม้ความโลภจะเรียกร้อง เมื่อเห็นคนอื่นกำไรกันอย่างง่ายๆ รวยเร็วๆ รวยทันใจ แต่สามัญสำนึกเบื้องต้นบอกว่านี่เป็นสิ่งอันตราย สิ่งของที่มูลค่าขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น จับต้องแทบไม่ได้ หากความเชื่อมันหดหาย หรือมีบางอย่างที่มา disrupt หรือทดแทน จะเกิดอะไรขึ้นกับราคา เหมือน Chalie Munger พูดไว้

"Believe me, man is capable of somehow creating more bitcoin. … They tell you there are rules and they can't do it. Don't believe them. When there is enough incentive, bad things will happen."

นักลงทุนจะไม่เดือดร้อน หากไม่ได้ลงทุนในบิทคอยน์ แต่จะเดือดร้อนแน่ๆ เมื่อเข้าไปลงทุน และมันไม่เป็นไปตามคาด แล้วเราจะเสี่ยงทำไม ไม่มีความโลภใดที่เลวร้ายกว่าความโลภที่เราควบคุมไม่ได้


เริ่มกันใหม่ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาในการลงทุน มีเพื่อนนักลงทุนหลายคนที่เข้ามาปรับทุกข์ ปรึกษา ขอคำแนะนำ หลังจากได้ตัดสินใจทำสิ่งผิดๆไป จนขาดทุนเสียหายหนัก เกือบทุกกรณีมักเกี่ยวข้องกับการขาดประสบการณ์ทำให้เลือกหุ้นผิด การเพิ่มความเสี่ยง เช่น all in ในหุ้นตัวเดียวหรือน้อยตัว บางคนหนักกว่าถึงกับใช้เงินกู้ทุ่มกับหุ้นตัวเดียวแล้วผิดพลาด สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้จากชีวิตการลงทุนคือการให้อภัยตัวเอง ในเมื่อเราให้อภัยคนอื่นได้ เราควรอภัยให้กับตัวเองได้เช่นกัน การหมกมุ่น จมอยู่กับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในการลงทุน วันสิ้นปีเหมือนวันที่กดรีเซ็ต ล้างทุกอย่างเป็นศูนย์ ปีที่แล้วเราจะขาดทุนเท่าไหร่ กำไรมากแค่ไหน จบตรงนั้น ปีใหม่เริ่มเหมือนกันหมดที่ตัวเลขศูนย์เท่าๆกันทุกคน สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ คือทำอย่างไร ไม่ให้ผิดพลาดเหมือนในอดีต การผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของทุกคน แต่การผิดซ้ำๆด้วยเรื่องเดิมๆ เท่ากับไม่มีการเรียนรู้ คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นมักใช้วิธีเดิมๆ แต่ต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่าง ซึ่งมันไปไม่ได้จริง หากเราหมั่นจดบันทึก ข้อผิดพลาดในทุกๆปีที่ผ่านไป คอยเตือนทบทวนตัวเอง ไม่ให้เกิดซ้ำ เราจะพัฒนา เป็นนักลงทุนที่ผิดพลาดน้อยลง ได้กำไรบ่อยขึ้น มากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้นนั่นเอง

ปีใหม่นี้ ปีการลงทุน 2561 ยังคงท้าทายเหมือนทุกๆปี สิ่งที่่แย่มีโอกาสเกิดขึ้นเท่าๆกับสิ่งที่ดี ขอให้เพื่อนนักลงทุนอย่าประมาท จงพยายามในสิ่งที่เราควบคุมได้ ผมเชื่อว่าหากเราเริ่มด้วยทัศคติที่ถูกต้อง ทำด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ดีจักบังเกิด..

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ม.ค. 04, 2019 11:29 am
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2562 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ พี่หน่อง พี่เล็ก น้องๆ ทีวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นเช่นไรครับ


แค่วันแรกที่เปิดซื้อขายหุ้นของปี 2561 ตลาดหุ้นไทยก็สามารถทำลายสถิติปิดสูงสุดตลอดกาลที่ 1753.73 จุด ได้อย่างง่ายดาย และยังคงเดินหน้าต่อจนสามารถทำจุดสุงสุดใหม่ตลอดกาลที่ 1852.51จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะค่อยๆย่อตัวลงจนแตะ 1600 จุดในช่วงกลางปี แล้วเด้งขึ้นเกือบๆ แตะ 1800 จุดอีกครั้งในต้นเดือนตุลาคม ก่อนกลับมาตกหนักอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเดือนธันวาคมที่ปกติจะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมาก แต่ปี 2561 ดัชนีกลับตกหนัก สำหรับนักลงทุนปีนี้ ใกล้สิ้นปี ความรู้สึกเหมือนใกล้จะสิ้นใจ จบปีดัชนี SET ปิดที่ 1563.88 จุด ลดลง 190 จุดหรือ 10.82 % หากคิดรวมปันผล หรือวัดจาก SET TRI ให้ผลตอบแทนติดลบ 8.08 % ส่วนดัชนีตลาดหุ้น MAI ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็กลดลงถึง 34.04 % เมื่อดูในรายละเอียดจากหุ้นประมาณ 698 ตัวในตลาด มีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแค่ 16 % เท่านั้น ที่เหลือขาดทุนหมด ไม่มากก็น้อย และหากสังเกตสักนิดหุ้นที่มีน้ำหนักต่อดัชนีสูงบางตัวเช่น PTT PTTEP HMPRO BDMS GULF ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก แต่ดัชนีหุ้นรวมกลับติดลบ 10.82 % นี่แสดงว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดลดลงมากกว่าดัชนีมาก

สาเหตุที่ทำให้ปี 2561 ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนไม่ดี มีปัจจัยจกดดันทั้งจากภายนอกประเทศนั่นคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เปิดฉากโดยประธานาธิบดี Donald Trump กับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศจีน รวมถึงกระแสเงินต้นทุนถูกเริ่มหมดไป Fed เริ่มมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการลดเลิก QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ นอกจากนั้นตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงเทขายเกือบๆ 3 แสนล้านจากนักลงทุนต่างประเทศ แต่ยังดีที่มีแรงรับจากกองทุนและนักลงทุนรายย่อย ทำให้ดัชนีไม่ติดลบไปมากกว่านี้



มีหุ้น IPO เข้าใหม่ในปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 18 บริษัท และมูลค่าตลาดรวม Market capital ณ.วันสิ้นปีของตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด SET และ MAI รวมกันประมาณ 16.24 ล้านล้านบาท

เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ปี 2561 เป็นปีที่ไม่ดีสำหรับนักลงทุน ดัชนีทั่วโลกตกพร้อมเพรียงกัน แต่อัตราการตกไม่เท่ากัน บางประเทศที่มีปัจจัยกระทบเฉพาะตัวเช่น จีน อินเดีย ตุรกี ดัชนีจะตกมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน รวมถึงตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลงถึง 24 % และ 15 % ตามลำดับจากประเด็นสงครามการค้ากับอเมริกา และนี่ทำให้กองทุนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มีผลการดำเนินงานที่แย่ตามไปด้วย ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมไทย กองทุนที่มีผลดำเนินการดีไปหาแย่ตามลำดับดังนี้ กองทุนอสังหา> กองทุนตราสารหนี้> กองทุน set 50 >กองทุนต่างประเทศ > กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก

เศรษกิจไทยในปี 2561 ขยายตัวในระดับที่ดีมากในรอบหลายๆ ปี โดย GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2 แต่การขยายตัวยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม ธุรกิจที่ไปได้ดีเช่น ธุรกิจยานยนต์ การส่งออก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวยังเติบโตแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง จากปัญหานักท่องเที่ยวจีนลดลงจากปัญหาเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ดีคือสินค้าเกษตร ราคาพืชผลหลายตัวยังตกต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดย่ำแย่ ส่วนการลงทุนภาครัฐซึ่งเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษกิจเริ่มส่งผลต่อปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์บ้าง แต่โดยรวมการใช้จ่ายงบประมาณยังล่าช้ากว่าแผนงานมาก ทั้งที่จะเกิดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2562 ซึ่งอาจทำให้แผนงานเหล่านี้ล่าช้าไปอีก

พอร์ตลงทุนส่วนตัวผม ให้ผลขาดทุนในปี 2561 โดยแพ้ผลตอบแทนตลาดรวมหรือ SET TRI เล็กน้อย (ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปผมจะใช้ SET TRI เป็น Benchmark เปรียบเทียบผลการลงทุน ) ซึ่งนับว่าน่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า หุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมลงทุนมาตลอดหลายปี ราคาลดลงอย่างมาก หลายๆตัวลดลง 70 % การลดลง 40-50 % เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ดัชนี SET ลดลงแค่ 10.82 % เท่านั้น เหตุผลที่พอร์ตลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเพราะผมได้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศประมาณ 10 % ส่วนหนึ่งเกิดจากการถือหุ้นที่ P/E ต่ำกว่าตลาดมากอยู่แล้ว ทำให้ราคาไม่ลดลงมาก และสุดท้ายคือหุ้นที่ถือบางตัวยังให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ชดเชยกับหุ้นตัวที่ขาดทุนได้ ทั้งพอร์ตมีหุ้นประมาณ 45 บริษัท เป็นบริษัทกลางและเล็กเหมือนเช่นเคย กระจายตัวอยู่ในกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ market cap 4-5 หมื่นล้าน จนต่ำสุด 200 กว่าล้าน

สำหรับพอร์ตลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่คือตลาดเวียดนาม ปี 2561 ที่ผ่านมา ผมได้เพิ่มเงินลงทุนในตลาดเวียดนามอีกเล็กน้อย และยังเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กเช่นเดิม แต่พยายามเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความแน่นอนสูงมากขึ้น มีการเติบโตที่แน่นอน แต่ก็ยังมีหุ้นถูกๆ P/E ต่ำปันผลสูง ด้วยเช่นกัน จำนวนหุ้นที่ลงทุน 23 ตัว ระดับ P/E เฉลี่ยประมาณ 8 เท่า ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มหุ้น VN30 ที่ P/E ประมาณ 14-15 เท่าโดยผลตอบแทนส่วนตัวในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 0 ไม่ขาดทุนหรือกำไร เมื่อไม่คิดผลจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เมื่อแปลงเป็นเงินบาท จะขาดทุนประมาณ 3 % เนื่องจากเงินด่องอ่อนตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาท 3 % เช่นกัน ผลที่ได้น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามที่ลดลงเกือบๆ 10 % นี่แสดงเช่นกันว่าหุ้นที่ผมลงทุนมีความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นเวียดนามค่อนข้างต่ำ ปี 2562 คาดหวังว่ากลยุทธ์ลงทุนที่เน้นความรอบคอบ คัดสรรมากขึ้น น่าจะผลิดอกออกผล ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดรวมครับ ส่วนการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยลงทุนในหุ้นแค่ตัวเดียว ให้ผลขาดทุนเกือบๆ 50 % :oops:

ในปี 2561 มีทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม โดยที่ไม่ต้องเปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศ หรือโอนเงินไปมาให้ยุ่งยาก นั่นคือการเปิดซื้อขาย DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีชื่อย่อในการซื้อขายในตลาดหุ้นว่า E1VFVN3001 ออกโดยหลักทรัพย์บัวหลวง มีหลักทรัพย์รับฝากเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 เป็นตัวแทนของหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม นักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดเวียดนามจะเติบโต การซื้อ DR ตัวนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของเวียดนาม และถือไว้ระยะยาว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง


การลงทุนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เพราะทุกอย่างไม่เคยเที่ยง ทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี สิ่งใหม่ทำลายล้างสิ่งเก่า แม้กระทั่งสิ่งใหม่ก็รอวันที่จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ใหม่กว่า การซื้อหุ้นสักตัวและถือยาวนานเป็น 10 ปี ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับยุคสมัย เรามาดูกันว่าปี 2561 นักลงทุนได้เผชิญกับอะไร และเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง

เมื่อ disruptive เริ่มถึงจุด critical mass
กระแส disruptive technology ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเดินทางมาถึงจุดที่แสดงผลลัพธ์ของมันบ้างแล้ว แน่นอนว่า มันได้สร้างสิ่งใหม่ๆ และทดแทนสิ่งเก่าที่ล้าสมัย ดังนั้นย่อมมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในช่วงปี 2561 กระแสการปิดตัวของสื่อบางประเภทเกิดขึ้นในอัตราเร่ง โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และแน่นอนว่ามันจะไม่หยุดแค่นี้เพียงแค่กลุ่มสื่อ แต่มันจะขยายออกไป เราจะเริ่มรับรู้ผลกระทบของมันอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักลงทุนเราจะรับมืออย่างไร หากมองในแง่บวก นักลงทุนยังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก เราสามารถซื้อหรือขายหุ้นได้ตลอดเวลา เรามีความยืดหยุ่น หากบริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวก เราซื้อ บริษัทใดที่รับผลกระทบ เราขาย ไม่เหมือนกับเจ้าของบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ ที่มีข้อจำกัดในการซื้อและขายมากกว่า เราจะมีข้อได้เปรียบจากกระบวนการ disruptive อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อ เราต้องอย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ โลกที่คุ้นเคย ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นเพราะมีการปฏิวัติทางไอที การที่นักลงทุนจะถือหุ้นตัวหนึ่งอย่างยาวนาน อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำอีกต่อไป ในเมื่อธุรกิจที่ทำอยู่ อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องตัดสินใจคือแนวโน้มบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามวัน แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน อาจกินเวลาหลายปี หรือเป็นสิบปี การรีบขายหุ้นเร็วไป อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ในเมื่อเรายังสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไร ปันผล ได้อีกนาน กว่าที่มันจะตาย

ข่าวที่ค่อนข้างช็อคสำหรับนักลงทุนส่งท้ายปีคือข่าวการปิดตัวของบริษัทแฟมมิลี่ โนฮาว เจ้าของ Money Channel และนิตยสาร มันนี่ แอนด์ เวลท์ ที่น่าแปลกใจเพราะนี่คือสื่อทีวีแทบจะช่องเดียวเกี่ยวกับหุ้น และมีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง อ่านจากเหตุผลอธิบายการปิดตัวของบริษัท นอกเหนือจากโดน disrupt จากช่องทางอื่นแล้ว คงเป็นเพราะตลท.ต้องควักเนื้อทุกปี เพื่อให้บริษัทอยู่ได้ การฝืนทำเช่นนี้ทุกปี คงไม่สามารถทำได้ในระยะยาว ผลกระทบทันทีนอกจากนักลงทุนขาดสื่อหลักแล้ว คือพนักงานนับร้อยคน ที่ตกงานแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่กลุ่มสุดท้าย โลกธุรกิจที่หมุนเร็วเช่นทุกวันนี้ บริษัทที่ถูกทำลายจะโผล่ออกมาเรื่อย ๆ คนที่ทำงานประจำควรเอาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ความไม่สอดคล้องกันของรายรับและรายจ่าย รายจ่ายนั้นค่อนข้างตายตัวแน่นอน มากหรือน้อย แต่รายได้กลับแน่นอนน้อยกว่ามาก วันดีคืนร้ายหากตกงาน และไม่มีรายได้ทางอื่น รายได้หายไปทั้งหมด แต่รายจ่ายที่ผูกผันไว้กลับเท่าเดิม ปัญหาย่อมเกิด ดังนั้นชีวิตควรมีการเผื่อเหลือเผื่อขาด มีเงินเก็บบ้างไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หนุ่มสาวยุคนี้หลายคนใช้เงินราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ได้มาเท่าไหร่ ต้องรับใช้ให้หมด โดยเฉพาะรายจ่ายท่องเที่ยว เที่ยวเท่าไหร่ ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ กว่าเราจะรู้ว่าเงินนั้นสำคัญ ก็ต่อเมื่อถึงวันที่เราไม่มีมัน

5 อันดับแรกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดปีนี้
ล้วนเป็นหุ้นน่าสงสัยว่าถูกปั่นราคา นี่ย่อมฉายภาพของตลาดหุ้นไทย สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายของ ตลท.และ กลต. ตลาดทุนซึ่งควรที่จะให้รางวัลกับบริษัทที่ดี แต่สิ่งที่ปรากฏ กลับตรงกันข้าม กระเบื่องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยกลับถอยจม หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดต่อเนื่องกันหลายๆ ปี ตลาดหุ้นจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะนักลงทุนจะแห่ไปเล่นหุ้นปั่น แทนที่จะซื้อหุ้นพื้นฐานดี แม้ระยะหลังโดยเฉพาะยุคสมัยคุณ รพี สุจริตกุล ดำรงตำแหน่งเลขา กลต.มีการกล่าวโทษ นักปั่นหุ้นมากที่สุด เท่าที่ผมจำความได้ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการดำเนินการหลังจากกระบวนปั่นเสร็จสิ้นไปแล้ว ความเสียหายกับนักลงทุนได้เกิดไปแล้ว การกล่าวโทษเหล่านี้ล้วนไม่ทันการณ์ เสมือนวัวหายแล้วล้อมคอก กระบวนการลงโทษส่วนใหญ่เป็นกระบวนการทางแพ่ง ที่ได้เงินคืนภาครัฐ แต่นักลงทุนที่เสียหายจากหุ้นเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย นอกจากคำปลอบประโลมสวยหรูที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” และเท่าที่ผมจำความได้ไม่เคยมีนักปั่นหุ้นต้องโทษจำคุก ส่วนใหญ่จะยอมรับโทษทางแพ่ง ยอมเสียค่าปรับ มีส่วนน้อยที่ไม่ยอมชำระ ซึ่งกลต.จะส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง แต่ความจริงที่น่าแปลกใจคือประเทศตรูไม่เคยมีนักปั่นหุ้นถูกจำคุก น่าสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ กลต.ได้ส่งเรื่องถึงอัยการหลายครั้ง ผมไม่แน่ใจว่าอัยการได้ส่งฟ้องศาลหรือไม่ หรือมีเหตุอันใดเกิดขึ้น ทำให้เรื่องที่กลต.ส่งไป จบที่อัยการ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรตรวจสอบ มีอะไรเกิดขึ้นกับทั้งสองหน่วยงานหรือเปล่า หวังว่า ท่าน รื่นวดี สุวรรณมงคล ว่าที่เลขา กลต.คนใหม่ จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดุมทุนอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แหล่งต้มตุ๋น เช่นที่ผ่านมา นักลงทุนขอเป็นกำลังใจให้กับท่าน

ปี 2561 กลต.ได้กล่าวโทษการปั่นหุ้นและเรียกร้องให้ชำระค่าปรับ น่าจะสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีกรณีใหญ่ๆคือต้นปีมีการกล่าวโทษ 25 นักปั่นพร้อมให้ชำระค่าปรับ 890 ล้าน กับการปั่นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ 6 ตัว และในปลายปีได้กล่าวโทษ 40 คนที่สมคบคิดปั่นหุ้น AJD พร้อมให้ชำระค่าปรับจำนวนมหาศาล 1727 ล้านบาท นักลงทุนต้องจับตาว่าทั้ง 2 กรณีจะมีจุดจบเช่นเดิมหรือไม่ :idea: ส่วนนักลงทุนรายย่อยพึงสังเกต หุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติทุกตัว ล้วนมีอาชญากรรม (อยู่เบื้องหลัง)

ฟองสบู่ทยอยแตก
สิ่งที่แน่นอนที่สุดของฟองสบู่คือมันจะต้องแตกสักวัน ไม่ช้าก็เร็ว สถานการณ์ในปี 2561 ที่ตลาดตกต่ำ ได้เปิดเผยสิ่งที่ถูกปกปิดเอาไว้ในยามตลาดดีๆ เหมือนน้ำที่ลด ย่อมทำให้ตอเริ่มผุด ภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นและเริ่มแตกในปีที่ผ่านมาได้แก่

ฟองสบู่หุ้นไอพีโอ ภาวะที่รุ่งเรืองติดต่อมาหลายปีของหุ้นไอพีโอ เดินทางมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ ภาพที่บริษัทต่างๆ แห่แหนเข้าตลาดหุ้น หรือมีแผนเข้าตลาดหุ้น หุ้นไอพีโอเป็นของมีค่า เป็นที่ต้องการของรายย่อยแทบทุกคน โบรคเกอร์ใช้หุ้นไอพีโอดึงดูดลูกค้า ราคาขายของหุ้นไอพีโอทุกตัวสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นที่มีอยู่ในตลาด เมื่อเปิดซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นยังสามารถสูงขึ้นไปอีก จากราคาที่แพงอยู่แล้ว กลายเป็นหุ้นที่ราคาแพงมาก ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น 2-3 ปี ติดต่อกัน แต่ในที่สุดตลาดก็เริ่มกลับมามีเหตุผล ในเมื่อมีหุ้นดีๆ ราคาถูกกว่ามาก อยู่ ในตลาดอยู่แล้ว ทำไมต้องไปซื้อหุ้นเข้าใหม่ ที่ราคาแพงแบบไร้เหตุผล นี่ทำให้หุ้นไอพีโอส่วนใหญ่เริ่มมีราคาลดลง หลายตัวราคาลดลงจนต่ำกว่าราคาไอพีโอ แต่จุดจบที่แท้จริงคือในช่วงหลัง หุ้นไอพีโอแทบทุกตัวเปิดซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอ เมื่อถึงจุดนี้ ใครจะกล้าซื้อหุ้นไอพีโออีกล่ะ ? คนที่สมควรรับผิดชอบต่อฟองสบู่ไอพีโอที่แตก ควรเป็นทุกฝ่าย เจ้าของเดิมที่อยากขายแพงๆ ได้เงินเข้าบริษัทที่สุด ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้รับประกันการจัดจำหน่าย ที่อยากได้ค่าธรรมเนียม อยากได้หุ้นไอพีโอมาจูงใจลูกค้า คนจองหุ้นไอพีโอที่ผลักดันด้วยความโลภอยากได้กำไรง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรงศึกษา ขอแค่เป็นหุ้นไอพีโอ แต่หากจะให้ชี้ชัดลงไป ผมเชื่อว่าราคาขายหุ้นไอพีโอที่แพงเกินไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีจุดจบเช่นนี้

ฟองสบู่หุ้นโรงไฟฟ้า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขอให้เป็นหุ้นโรงไฟฟ้า นักลงทุนยินดีไล่ราคาจนสูงลิบลิ่ว แต่เมื่อถึงปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 หุ้นไฟฟ้าเริ่มเดินทางใครทางมัน คู่ควรกับพื้นฐานที่ควรจะเป็นของแต่ละตัว หุ้นโรงไฟฟ้าที่ราคาแพงอย่างไร้เหตุผล คุณภาพไม่ดี สุดท้ายตลาดก็เริ่มฉลาดและให้ราคาลดลง ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่พื้นฐานดี มีโอกาสเติบโต ราคายังไม่แพง สามารถยืนหรือราคาขึ้นไปได้อีก นี่เป็นบทเรียนว่าทุกกระแสการแห่ตามในตลาดหุ้น ล้วนมีจุดจบไม่สวย คุณจะหาซื้อหุ้นที่มีคุณสมบัติอยู่ในกระแส และราคาถูก พร้อมกันไม่ได้ เพราะถ้ามันอยู่ในกระแส ราคามันต้องแพงสะท้อนกระแสนั้นไปแล้ว

ฟองสบู่หุ้นเติบโต ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาดหุ้นไทย น่าจะเป็นหุ้นเติบโต หุ้นเหล่านี้ถูกซื้อขายกันที่ราคา ระดับ P/E สูงลิ่ว สะท้อนความคาดหวังว่าจะมีการเติบโตของผลกำไรสูง หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นค้าปลีก มีสตอรี่การขยายตัวไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีประชากรกำลังซื้อสูง นักลงทุนคาดว่า หากหุ้นเหล่านี้ประสบความสำเร็จในประเทศจีน อาจจะทำให้หุ้นขึ้นไปได้หลายเท่า ซึ่งฟังดูก็มีเหตุมีผลจริง นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นกลุ่มนี้ไว้ก่อนเนิ่นๆ ได้กำไรอย่างงามเป็นกอบเป็นกำ หลายเท่าตัว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มไม่เป็นไปตามคาด การเติบโตน้อยกว่าความคาดหวังมาก ตลาดจีนที่หวังเอาไว้ ทำไม่ได้ตามคาด ตลาดในประเทศก็ตกต่ำ หุ้นบางตัวกำไรนอกจากไม่โต ยังลดลงด้วย และนี่เองทำให้ฟองสบู่เริ่มแตก เริ่มจากหุ้นที่อ่อนแอที่สุด ลุกลามไปหุ้นไปแข็งแกร่งปานกลาง ราคาหุ้นหลายตัวลดลงมาก จนเป็นหายนะของคนถือ กำไรที่เคยทำได้หลายปี ถูกเอาคืนภายในเวลาไม่กี่เดือน แทบทุกตัวราคาลดลงมากกว่า 50 % ปัจจัยหลักที่ทำให้ฟองสบู่แตก ประเด็นแรกเกิดจากตัวบริษัทเองที่ทำการเติบโตของ EPS ได้ลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับ P/E ที่นักลงทุนให้สะท้อนความคาดหวังลดลง รวมถึงสภาวะตลาดรวมที่ P/E ถูกปรับลดลงด้วย บทเรียนครั้งนี้พิสูจน์อีกครั้งว่า ความเชื่อที่ว่า หุ้นคุณภาพดี มีอัตราการเติบโตสูง สามารถซื้อที่ราคาเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องดู P/E เป็นเรื่องไม่จริง ในความเป็นจริงการเติบโตอย่างถาวร ต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ P/E ลดลงมากๆ นั้น เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเป็นการเติบโตชั่วครั้งชั่วคราว ที่นักลงทุนหลงคิดไปเองว่าจะยั่งยืน หุ้นที่พื้นฐานไม่ดี กับราคาที่แพง สุดท้ายก็เหมือนปราสาททราย ที่ทะลายเพียงแค่คลื่นซัดมา สิ่งที่ดูเหมือนนักลงทุนหุ้นเติบโตละเลยไปคือ margin of safety.. in MOS we trust.

ปัจจุบันยังมีฟองสบู่หลงเหลืออยู่ในหุ้นกลุ่มใดบ้าง คำตอบน่าจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นในกลุ่มนี้แทบทุกตัวซื้อขายกันที่ระดับ P/E ค่อนข้างสูง โดยมีเหตุผลสนับสนุนจากแนวโน้มสังคมที่จะมีคนแก่มากขึ้น และต้องการการรักษาพยาบาล แน่นอนว่านี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริง แต่จะยาวนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้

วิกฤติศรัทธาหุ้นขนาดกลางเล็ก
ผมมีความเชื่อมาตลอดว่า หุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว เพราะจากตัวเลขและสถิติทำให้เชื่อเช่นนั้น ตลอด 19 ปีที่ลงทุน ผมลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ และได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติจริง แต่ปี 2561 นี้เอง ผมได้เห็นอีกด้านของหุ้นกลางและเล็ก นั่นคือความเสี่ยงที่มากับธรรมชาติของมัน หุ้นเหล่านี้มีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ด้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อไหร่ที่เศรษกิจไม่ดี หุ้นเหล่านี้จะถูกกระทบเป็นอันดับแรก และนั่นคือสิ่งที่ผมพบเจอในปีที่ผ่านมา นั่นยังไม่พอ เมื่อกำไรบริษัทถูกกระทบ ภาพภาวะเศรษกิจที่ไม่แน่นอน นักลงทุนก็เริ่มปรับลด P/E ของตลาดรวม เป็นอีกดาบที่ทำให้ราคาหุ้นกลางและเล็กลดลงอย่างรวดเร็ว และตามด้วยดาบต่อมา หุ้นกลางและเล็กมักถือโดยนักลงทุนรายย่อย ซึ่งอ่อนไหวต่อข่าวสารที่เข้ามากระทบมากกว่านักลงทุนสถาบัน และในปีที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นข่าวร้าย ทำให้มีแรงขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมามาก และดาบสุดท้าย ด้วยธรรมชาติของหุ้นกลางและเล็ก มักมีสภาพคล่องการซื้อขายน้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อมีแรงขายมากกว่าปกติ แต่ไม่มีแรงซื้อ ราคาสามารถลดลงได้อย่างมาก จากแรงขายเพียงน้อยนิด ตลอดทั้งปี เราจะเห็นว่าบางวันราคาของหุ้นกลางและเล็กบางตัวลดลงกว่าตลาดมาก ทั้งที่ดัชนีลดลงนิดเดียว นั่นเพราะมีแรงขายแต่ไม่มีแรงรับ แรงขายเพียงไม่กี่แสนบาท ทำให้ราคาลดลงได้มากกว่า 5 % บางครั้งมีนักลงทุนรายใหญ่หน่อยปรับพอร์ต ขายหุ้นออกมา หุ้นตัวนั้นปรับตัวลดลงเหมือนหลอมละลาย แต่ทั้งหมด ไม่ได้ทำให้ผมเลิกความเชื่อว่าที่ว่าหุ้นกลางและเล็กให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เพียงแต่ทำให้ผมเห็นความเสี่ยงอีกด้าน ที่ถูกปกปิดตลอดมา และเผยให้เห็นในปีที่ผ่านมา ผมยังคงเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ด้วยความรอบคอบและระวังมากขึ้น มีกลยุทธ์ที่ดีกว่านี้ และสุดท้ายคือเข้าใจธรรมชาติของมัน วันนี้อาจไม่ใช่วันของผม แต่ผมรู้ว่ามันต้องมี

สงครามการค้า
ประเด็นที่นักลงทุนวิตก และรบกวนจิตใจตลาดปี 2561 คือสงครามการค้า ทีเปิดฉากโดยประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา กับประเทศจีน ซึ่งนี่เป็นจุดขายที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นักลงทุนอาจจะโทษทรัมป์ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ป่วนตลาดหุ้นทั้งโลกในปีที่ผ่านมา ผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่คิดว่ามีส่วนอยู่บ้าง เพราะก็มีปัจจัยอื่นที่ประจวบเหมาะเข้ามากระทบพร้อมๆ กันด้วย เช่นการยกเลิกมาตรการอันฉีดการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกหรือ QE กระแสการเพิ่มของดอกเบี้ย ซึ่งเกิดพร้อมกันทั้งโลก หลังจากธุรกิจเอนจอยเงินต้นทุนถูกมาหลายปี แต่ผมเชื่อว่าสงครามการค้า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครชนะ ดังนั้นผมไม่เชื่อว่าทรัมป์จะดื้อดึงเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่สนอะไรทิ้งสิ้น ที่เป็นไปได้มากคือยื่นข้อเสนอขอ(จีนหรือคู่ค้า)ให้มากที่สุด ต่อรองกันไปมาก สุดท้ายได้มากหรือน้อย ย่อมดีกว่าไม่ได้ เมื่อต่อรองได้ตามที่ต้องการ ปัญหาจะจบอย่างเร็ว เหมือนกรณีปัญหานิวเคลียกับเกาหลีเหนือ ที่ตอนต้นปีข่มขู่กันไปมาจนโลกตระหนก ก่อนจะมาจับมือโอบกอดกัน ไม่กี่เดือนให้หลัง แบบงงๆ กันทั้งโลก


บทบาทของกองทุนรวมต่อตลาดหุ้น
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ากลุ่มนักลงทุนที่มีบทบาทชี้นำมากที่สุดในตลาดหุ้นคือกองทุนรวม จากในอดีตที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยแม้มีสัดส่วนเยอะที่สุด แต่กลับไม่มีพลังเพราะต่างคนต่างซื้อต่างขาย ปัจจุบันกองทุนรวมหุ้นมีมูลค่ารวมประมาณ 1.5 ล้านล้าน จากมูลค่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมทั้งหมด 4.9 ล้านล้าน ปีที่ผ่านมาถือว่ากองทุนเป็นพระเอกที่ช่วยรับแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ร่วมกับนักลงทุนรายย่อย แต่หลายครั้งการซื้อและขายหุ้นบางตัวของกองทุน ถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ แม้แต่ภาครัฐ (เลขา กลต.คุณรพี สุจริตกุล) ตั้งคำถามหลายเป็นประเด็นที่ชวนคิด อาทิ..

* กองทุนรวมเป็นผู้ไล่ราคาซื้อและขายเสียเอง ความหมายคือกองทุนเป็นจ้าวมือหุ้นเสียเอง ดูได้จากผลตอบแทนหุ้นที่กองทุนถือ สูงกว่าผลตอบแทนกองทุนมาก นั่นแสดงว่าที่ราคาหุ้นขึ้นเพราะกองทุนไล่ซื้อ และราคาหุ้นลงเพราะกองทุนไล่ขาย สะท้อนว่ากองทุนอาจเป็นผู้เข้าซื้อหรือขายจนเป็นการไล่ราคา แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

* กองทุนรวมสร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะกองที่มีนโยบาย active เก็บค่าธรรมเนียมบริหารรายปีสูง แต่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้คุ้มค่า เทียบกับกองทุนที่บริหารแบบ passive เก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่า แต่กลับสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือเท่ากัน

ความจริงอีกประการ ที่ผู้จัดการกองทุนอาจไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่รู้คือ ในอดีตกองทุนมักใช้ตัวเทียบวัด (Benchmark) เป็นดัชนี SET แต่นับแต่ปี 2560 กลต.ได้บังคับให้ใช้ SET TRI เป็นตัวเทียบวัด ซึ่งดัชนีสองตัวนี้ต่างกันเท่ากับเงินปันผลหรือปีละประมาณ 3 % นี่เป็นสาเหตุที่ในอดีตกองทุนมักอ้างว่าชนะดัชนีเพราะใช้ตัวเทียบวัดที่ไม่ถูกต้อง แต่ กลต.ก็ไม่ได้บังคับให้แก้ไขตัวเลขย้อนหลัง ดังนั้นหากใครที่ดูผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง ต้องระวังในจุดนี้ด้วย ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าผมมีอคติกับกองทุนรวม แต่ตรงข้าม ผมสนับสนุนกองทุนรวม เพราะนี่คือแหล่งออมเงินเพื่อการเกษียณที่ดีที่สุดในระยะยาว สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่ไม่ได้มีความรู้ที่จะลงทุนเองในหุ้น

ในปี 2562 จะเป็นปีสุดท้ายที่จะมีกองทุนประหยัดภาษี LTF เพราะภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีปีละเกือบๆ 1 หมื่นล้านบาท และคนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุน LTF คือคนที่ฐานภาษีสูงหรือกลายเป็นกลุ่มคนมีรายได้สูงได้ประโยชน์ที่สุด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นทางเลือกทดแทนที่ดูจะเหมาะสมกว่าในปัจจุบันคือการซื้อกองทุน RMF ซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่มีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่า ยกเว้นแต่ภาครัฐจะออกเป็นกองทุนประหยัดภาษีแบบใหม่ เพื่อป้องกันการเทขายของเงินทุน LTF เดิมที่ครบอายุ เงินเหล่านี้อาจจะออกจากตลาดไปเลย หากไม่มีกองทุนมาทดแทน


ภาวะตลาดในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าได้สั่นคลอนความเชื่อของนักลงทุนหลายคน ความฝันที่จะลงทุนแบบวีไอและมีอิสรภาพทางการเงินดูเลือนลางออกไป บางคนขาดทุนหนักจนมองแทบไม่เห็นแสงสว่าง แต่นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น วันที่เราอ่อนแอที่สุด อาจจะเป็นวันที่เราแข็งแกร่งที่สุด เมื่อเราผ่านมันไปได้ นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ผมขาดทุน และคงไม่ใช่ปีสุดท้าย ทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ไม่มีใครจะกำไรทุกปี หรือชนะตลาดทุกปี หากใครทำได้นั่นย่อมเป็นคนแรกของโลก การเดินทางไกล ย่อมมีเหนื่อย มีพักบ้าง เป็นเรื่องแสนธรรมดา ไม่มีใครที่จะวิ่งได้ตลอดเวลา เวลาท้อแท้ หลายคนอาจจะถอดใจ จะเลิกจะถอยอย่างไร แต่คนสำเร็จย่อมไม่คิดอย่างนั้น ความล้มเหลวไม่ได้แย่เสียทีเดียว อย่างน้อยมันให้บทเรียน ทำให้เราตัวเล็กลง ไม่หยิ่งผยอง ทำให้ต้องรู้จักปรับตัว ยืดหยุ่น เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน เราขาดทุนปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขาดทุนตลอดไป เราย่อมรู้ดีว่า ไม่ว่าตลาดหมีหรือตลาดกระทิง ยิ่งมันดำเนินไปเท่าไหร่ มันจะทำลายตัวมันเองมากขึ้นเท่านั้น สปริงค์ที่ยิ่งกด มันกลับยิ่งสร้างแรงดีดกลับ ..

ฝากบทกวีของเพลง “สู่เส้นชัย” มาฝากทุกท่าน

“ ทางข้างหน้าลางเลือนเหมือนว่างเปล่า
แดดจะเผาผิวผ่องเธอหมองไหม้
ที่ตรงโน้นมีหุบเหวมีเปลวไฟ
ถ้าอ่อนแอจะก้าวไปอย่างไรกัน
อนาคตนั้นช่างคดเคี้ยว
มันลดเลี้ยวเลี้ยวไปใช่สุขสันต์
ยากลำบากใช่เพียงแค่ชั่ววัน
แต่จะต้องฝ่าฟันจนวันตาย
บนหนทางแม้มีสิ่งใดขวาง
ไม่อาจกางกั้นฉันและเธอได้
หนทางนี้สัญญาอย่างมั่นใจ
ด้วยพลังยิ่งใหญ่ในศรัทธา
จะขอฝ่าฟันข้ามความทุกข์ยาก
จะลำบากเราสู้ดูเถิดหนา
จะร่วมแรงร่วมกันด้วยศรัทธา
ทางข้างหน้าสู่ชัยที่หมายปอง”




กับอีกบทกวีคลาสสิคของ Rudyard Kipling ที่วอเรนต์ บัฟเฟตต์ นำบางส่วนมาเขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ปี 2017


if you can keep your head when all about you are losing theirs ...
If you can wait and not be tired by waiting ...
If you can think – and not make thoughts your aim ...
If you can trust yourself when all men doubt you ...
Yours is the Earth and everything that's in it.





ท่านจะทำดังเช่นนี้ได้หรือไม่
เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ..




สวัสดีปีใหม่ ขอให้ MOS คุ้มครองทุกท่าน
(กระทู้นี้อ่านได้แต่ตอบไม่ได้)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 02, 2020 7:12 pm
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2563 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่สุบรรณ พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ พี่หน่อง พี่เล็ก น้องๆ ทีวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นเช่นไรครับ

ตลาดหุ้นปี 2562 เปรียบเหมือนรถไฟฟ้า วิ่งไปวิ่งมา วนกลับมาที่เดิม โดยเริ่มต้นปี ดัชนีฟื้นตัวจากปลายปีก่อน ก่อนขึ้นๆลงๆ ทีละเล็กละน้อย จนทำจุดสูงสุดที่ 1748 จุดช่วงต้นเดือนกรกฎาคม แล้วค่อยๆ ไซด์เวย์ลงจนทำจุดต่ำสุดที่ 1543 จุด กลางเดือนธันวาคม ก่อนเด้งขึ้นมาปิดสิ้นปีที่จุดใกล้เคียงปีก่อนที่ 1579.84 จุด เพิ่มขึ้น 1.02 % หากรวมปันผลอีกประมาณ 3.27 % จะให้ผลตอบแทนรวม 4.29 % (ดัชนีผลตอบแทนรวมหรือ TRI)

ในปี 2562 วันที่ 28 พฤษภาคมมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยได้ทำสถิติใหม่ที่ประมาณ 2.04 แสนล้านบาท เนื่องจากการปรับพอร์ตของกองทุนต่างชาติ ที่ซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เพราะสาเหตุเพราะต้องปรับตามดัชนี MSCI ที่กองทุนเหล่านี้อ้างอิง และเหตุผลที่ MSCI เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย ไม่ใช่เหตุทางเศรษกิจ แต่เป็นเหตุผลทางเทคนิค ที่เริ่มมีการคำนวณรวมหุ้นใน NDVR รวมกับหุ้นปกติ ทำให้น้ำหนักของหุ้นประเทศไทยเพิ่มขึ้น สัดส่วนหุ้นไทยในพอร์ตรวมหุ้นโลกจึงต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

หุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นมีประมาณ 200 กว่าตัว ที่เหลือคือติดลบ จากหุ้นทั้งตลาดประมาณ 700 บริษัท หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นคือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หุ้นกลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร กลุ่มค้าปลีกบางตัว ธนาคารขนาดเล็ก กลุ่มขนส่งมวลชน กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีผิดปกติคือกลุ่มกอง REIT และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลจากสภาวะดอกเบี้ยตกต่ำ ทำให้นักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนแต่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้กอง REIT- โครงสร้างพื้นฐาน คือคำตอบ กลุ่มที่แย่คือบริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออก กลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (ดัชนีหุ้น MAI ลดลงถึง 13.13 % ) กลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

ตลอดทั้งปี ตลาดหุ้นถูกครอบงำทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ดุเดือดตลอดปี โดยผลัดกันโต้ตอบขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน มีการแบนบริษัทเทคโนโลยี แต่สุดท้ายในสงครามที่จะไม่มีใครชนะ ก็สงบลงชั่วคราวโดยการทำข้อตกลงการค้าในเฟสแรก ( แต่รอติดตามชมเฟสต่อ ๆไป)

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่แท้จริงที่กระทบต่อผลประกอบการบริษัท ปัจจัยลบที่ชัดเจนคือการแข็งค่าของเงินบาท ผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ทำให้เงินบาทเป็น safe haven ของนักค้าเงิน ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอันดับต้นๆ ของโลก ทั้ง ๆที่เศรษกิจขยายตัวต่ำมาก เป็นความย้อนแย้งที่ส่งผลเสียต่อหลากหลายธุรกิจ เช่นการท่องเที่ยว เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ความคุ้มค่าในการมาท่องเที่ยวในไทยลดลง และที่ส่งผลที่สุดคือทำให้การส่งออก ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย ทำได้อย่างยากลำบากขึ้น นอกเหนือจากสงครามการค้า ที่ส่งผลลบต่อกำลังซื้อแล้ว ค่าเงินบาทที่แข็งมาก ส่งผลให้การส่งออกปีที่ผ่านมาติดลบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย การแข็งค่าของเงินบาท ยังทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร แข่งขันได้ยากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลักแทบทุกตัว ราคาลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรทั้งประเทศด้วย ไม่รวมถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้นแทบทุกปี และปี 2563 มีแนวโน้มว่าจะแล้งมากกว่าปี 2562

การเลือกตั้งที่เกิดในปีที่ผ่านมา ถูกคาดหวังก่อนหน้าว่าอาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษกิจ กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดสุญญากาศ การใช้เวลายาวนานเพื่อตั้งรัฐบาลอย่างทุลักทุเล ทำให้งบประมาณปี 2563 ยังไม่ได้ผ่านสภา ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐชะงักงัน
นอกจากนั้นตลาดหุ้น ยังมีปัจจัยทางเทคนิคที่ทำให้กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนในปี 2562 ลดลงจากปี 2561 คือ พระราชบัญญัติแรงงานฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ ทำให้หลายบริษัทต้องค่าใช้จ่ายย้อนหลังเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้บริษัทพลังงานต้องบันทึกการด้อยค่าของสินค้าในคลัง และเศรษกิจโดยรวมที่ค่อนข้างซบเซา ทำให้ P/E ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มจากประมาณ 17 เท่า เป็น 19 เท่า ทั้งที่ดัชนีทรงตัวเท่าๆเดิม

ตลาดหุ้นต่างประเทศ ปี 2562 ที่ผ่านมาแม้มีสงครามการค้า แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับสดใส แทบทุกตลาด ผิดลิบลับกับตลาดหุ้นไทย ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา มีเพียงตลาดหุ้นประเทศใน southeast Asia เท่านั้นที่แย่พอๆ กับตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นประมาณ 20 % MSCI World Index เพิ่มขึ้น 24 % ตลาดที่โดดเด่นมากคือสหรัฐอเมริกา โดยดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นเกือบ 30 % ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกคือ ความกลัวว่าเศรษกิจจะถดถอยจากสงครามการค้า ทำให้หลายประเทศมีการผ่อนคลายทางการเงิน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ทำให้หุ้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากขึ้น


พอร์ตหุ้นส่วนตัวปีนี้ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเล็กน้อย แต่แพ้ดัชนี SET TRI โดยแพ้ตลาด 2 ปีติดต่อกัน ปีนี้ครบรอบ 20 ปี ของการลงทุน สรุปว่าให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปี แพ้ตลาด 3 ปี ระหว่างปี 2562 มีการซื้อหุ้นเพิ่มเป็นประมาณ 70 ตัว ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ตัดสินใจผิดพลาด เพราะหุ้นที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษกิจมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ แม้จะมีหุ้นบางตัวที่ให้ผลตอบแทนดี แต่ไม่สามารถชดเชยกับหุ้นที่ขาดทุน ซึ่งมีเยอะกว่ามาก แต่ด้วยการ Hedge พอร์ตด้วยการ short future และ short หุ้นบางตัว รวมถึงการกระจายไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้บรรเทาผลกระทบไปได้บ้าง พอร์ตหุ้นที่เวียดนามให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ถึงแม้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 8 % อีกส่วนได้นำไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยการซื้อ ETF ( หรือกองทุนที่ซื้อขายในตลาดหุ้น ) ซึ่งอิงกับดัชนี S&P 500 ซึ่งให้ผลตอบแทนทีดีมาก แต่ผมได้ซื้อไปเพียงเล็กน้อยของพอร์ตรวม

Disruption ปีนี้เป็นปีที่ที่เริ่มสังเกตเห็นผลกระทบจาก disruption ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้ เป็น tsunami of disruption มองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไม่น่าเชื่อว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีสื่อสาร 3 G 4 G และสมาร์ทโฟน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจต่างๆ ถ้วนหน้า การถือหุ้นยาวนาน เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นความคิดที่ดีหรือเปล่า ในเมื่อธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ คำถามแรกที่ต้องถามตัวเอง ก่อนการซื้อหุ้นสักตัวทุกวันนี้ คือบริษัทที่เราจะลงทุน มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจาก disruption เร็วๆนี้หรือไม่ ก่อนไปดูข้อมูลคุณภาพด้านอื่นๆ ธุรกิจด้านสื่อทีวี บรรจุภัณฑ์พลาสติกบางชนิด ธุรกิจอสังหา ห้างที่เปิดให้เช่าพื้นที่ คือกลุ่มที่เริ่มรับผลกระทบจากการ disrupt ของสื่ออินเตอร์เน็ต รถไฟฟ้าขนส่งมวลตน แอปสั่งอาหาร และที่ชัดเจนที่สุดคือการขายออนไลน์ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไปแม้กระทั่งนักลงทุนรายย่อยเองก็ถูก disrupt จากในอดีตที่สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยประมาณ 80 % และได้ลดลงต่อเนื่องจนกระทั่งเหลือไม่ถึง 50 % ในปัจจุบัน ต่างจากนักลงทุนสถาบันที่เพิ่มสัดส่วนขึ้นมาทดแทน น่าคิดว่า รายย่อยจะปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร เพื่อให้ยังมีที่ยืนในตลาดหุ้นเคียงคู่กับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ที่กุมความได้เปรียบแทบทุกด้าน

วิกฤติหุ้นตัวเล็ก ชั่วคราวหรือถาวร 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่ให้ตอบแทนแย่ที่สุดคือกลุ่มหุ้นตัวเล็ก จากในอดีตที่ให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่น ทำให้นักลงทุนหลายคนลืมตาอ้าปากได้ กลับกลายมาเป็นหุ้นที่ทำให้ฝันร้าย ใครถือหุ้นตัวเล็ก มีโอกาสสูงมากที่จะทำผลตอบแทนได้แย่ (เหมือนที่ผมเป็น ) ทำไมทุกอย่างกลับตาลปัตรเช่นนี้ เหตุผลหนึ่งที่คิดว่าเป็นไปได้คือในยามที่เศรษกิจเริ่มไม่ดี หลายธุรกิจถูก disrupt ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง ทุกธุรกิจเริ่มรัดเข็มขัด กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กจะเริ่มได้รับผลกระทบก่อน เพราะอำนาจต่อรองน้อยกว่า สินค้าจำเป็นน้อยกว่า ต้นทุนสูงกว่า กำไรของกลุ่มนี้จะลดลง และนั่นทำให้ราคาหุ้นตัวเล็กลดลงด้วย แต่ยังมีหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็กอีกบางตัวที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนสูง นั่นเพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเหล่านั้นยังดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ว่า ผลประกอบการคือเจ้ามือตัวจริง
อีกเหตุผลที่เป็นไปได้ที่หุ้นตัวเล็กลดความนิยมลง คือประมาณเม็ดเงินที่เข้ามาซื้อขายหุ้นเหล่านี้ลดลง ผลจากการลดลงของสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย และกลายเป็นว่ากลุ่มที่มีเม็ดเงินที่ dominate ตลาดคือกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ที่มีกระแสเม็ดเงินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งหุ้นที่กลุ่มสถาบันนิยมซื้อขายคือหุ้นกลุ่มขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ยิ่งทำให้การซื้อขายหุ้นขนาดเล็ก ค่อยๆซึมลง พีอีที่ซื้อขายก็ปรับลดลงด้วย


หุ้นไอพีโอ ปี 2562 มีหุ้นเข้าใหม่ประมาณ 32 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เช่น AWC BAM เป็นที่น่าสังเกตชัดเจนว่าคือหุ้นไอพีโอหลายตัว เปิดซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าจอง และส่วนใหญ่ราคาจะร่วงลงอีก หลังจากซื้อขายผ่านไปไม่นาน สาเหตุก็คือเหตุผลเดิมๆ คือขายแพง บางตัวเข้าตลาดด้วยระดับ P/E เป็นร้อยเท่า หรือหลายสิบเท่า ด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วเคลิ้มคือมีการเติบโตสูง ซึ่งสุดท้ายทำได้จริงบ้างไม่จริงบ้าง การนำเอาพื้นฐานในอนาคตมาขายในปัจจุบัน ทำให้หุ้นมีราคาแพง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลือกคล้ายๆกันที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว พื้นฐานไม่ได้ต่างกันมากมาย แต่ราคาขายต่างกันเป็นเท่าตัว สุดท้ายนักลงทุนก็จะฉลาด แต่ก่อนฉลาด บริษัทเหล่านี้และผู้เกี่ยวข้องก็รับเงินไปแล้ว เมื่อไหร่ที่นักลงทุนเริ่มมีสติ ฟองสบู่ไอพีโอก็คงแตกลง

หุ้นโรงไฟฟ้า ปีที่ผ่านมากลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เช่น EGCO RATCH GULF BGRIM ราคาเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น มีวอลุ่มการซื้อขายอย่างคึกคัก ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้มีระดับราคาที่ค่อนข้างสูง ผิดปกติวิสัยของกลุ่ม utility ที่มักซื้อขายกันที่ระดับพีอีต่ำ story อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนราคาหุ้น ประการแรกอาจเป็นสภาวะดอกเบี้ยตกต่ำ หุ้นที่จะได้รับประโยชน์คือกลุ่มสาธารณูปโภค เช่นไฟฟ้า เพราะดอกเบี้ยจ่ายลดลง จ่ายปันผลค่อนข้างสูง พีอีไม่สูงมาก แต่หุ้นโรงไฟฟ้าบางตัวไม่เข้าข่ายนี้ แต่ราคากลับร้อนแรง แน่นอนว่าต้องมี storty การเติบโตหล่อเลี้ยงราคาหุ้น ยังเติบโตมากๆ ราคาสามารถขึ้นได้ไม่จำกัด แต่การเติบโตเหล่านี้ ดีเกินจริงหรือไม่ ทำไมการได้โครงการดูเหมือนง่ายดายไปหมด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่สุดท้ายจะทำได้จริงตามที่คาดหรือไม่ อนาคตจะเป็นคำตอบ แต่วันนี้ราคาหุ้นตอบรับไปแล้ว !

SSF หรือ Super Saving Fund ปี 2562 เป็นปีสุดท้ายที่จะมีกองทุนประหยัดภาษี LTF และภาครัฐได้ออกกองทุนประหยัดภาษีแบบใหม่เพื่อทดแทน นั่นคือกองทุน SSF โดยสาระสำคัญที่แตกต่างระหว่างกองทุน LTF และ SSF คือประเภทสินทรัพย์ลงทุน กองทุน LTF เดิม กำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65 % แต่กองทุน SSF สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภท ดังนั้นบทบาทที่กองทุนแบบใหม่ จะลงทุนในหุ้นย่อมลดลง เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการลดภาษี แต่ไม่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงแบบหุ้น ทั้งที่การออมในหุ้นระยะยาวเช่นนี้ มีโอกาสขาดทุนน้อยมาก นอกจากนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่นกองทุนตราสารหนี้ ยังให้ผลตอบแทนต่ำ ไม่สามารถทำให้คนที่ลงทุนมีเงินเพียงพอในตอนเกษียณ ดังนั้นผมเชื่อว่ากองทุน SSF ไม่ตอบทั้งเรื่องความพอเพียงของเงินออมและการส่งเสริมตลาดทุนเท่ากับกองทุน LTF แบบเดิม



อนาคตหุ้นไทย หลังจากทำผลตอบแทนมาได้แย่ ติดต่อกัน 2 ปี ทำให้ผมเริ่มมองอนาคตหุ้นไทยแนวโน้มเป็นลบมากขึ้น ( คนที่ยังกำไรย่อมไม่เห็นด้วย ) ประการแรก หากสมมุติให้ประเทศไทยคือหุ้น 1 ตัว ดังนั้นทั้งโลกมีหุ้นประมาณ 200 ตัว หากเราเป็นประชากรโลก เราจะซื้อหุ้น THAI หรือไม่ หากเราคิดวิเคราะห์เหมือนการเลือกหุ้นปกติ นั่นคือเราจะเลือกบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน แล้วประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ( ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง มักทำได้ดีในการแข่งขันด้านอื่นๆด้วย ดูเหรียญการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปีที่ผ่านมาสิ ) ผมเชื่อว่ามีไม่กี่อุตสาหกรรมที่ไทยพอจะแข่งขันกับต่างชาติได้ แต่ส่วนใหญ่เราเป็นผู้แพ้ เป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ และยิ่งการมาของ shopping online ที่เพิ่งเริ่มมาได้ไม่นาน แต่เริ่มส่งคลื่นผลกระทบต่อเศรษกิจไทยแล้ว โดยที่ภาครัฐ คนไทย ยังไม่ตระหนักรู้ ปัจจุบัน platform การค้าออนไลน์ เป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น แต่ที่แย่กว่านั้นคือ สินค้าที่ซื้อขายออนไลน์ เริ่มมีสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เงินไหลออก จากที่จะเคยหมุนเวียนในประเทศ มันย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่ เมื่อการผลิตลดลงเพราะไม่มีคนซื้อ โรงงาน รวมถึง cluster และ SME ที่เกี่ยวเนื่องก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายการผลิตก็จะค่อยๆหายไปจากไทย การจ้างงานก็หายไป แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร เมื่อมีการซื้อขายเป็นหลายแสนล้าน แต่เงินไม่หมุนเวียนในประเทศสักบาท รัฐบาลต้องรู้เท่าทัน และออกกฎ ระเบียบ รับมือปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้

ซ้ำร้ายจากโครงสร้างประชากรไทย ที่เข้าสู่สังคมที่มีคนสูงอายุเป็นสัดส่วนที่มาก ผู้สูงอายุมักไม่มีรายได้ หรือมีน้อย แต่มีค่าใช้จ่ายเยอะ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล เป็นความไม่สมดุลของรายได้และรายจ่าย ส่วนต่างนี้ถูกคาดหวังว่ารายได้จาก ลูก หลานจะช่วยทดแทนได้ แต่ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อครอบครัวยุคใหม่มีลูกน้อยราย แต่ต้องดูแลผู้สูงอายุหลายคน ลำพังตัวเองยังเอาตัวแทบไม่รอด ตัวเลขที่น่าวิตกคือหนี้ครัวเรือนของไทย (ไม่รวมหนี้จำนำทะเบียนและหนี้นอกระบบ) สูงอันดับ 2 ของเอเชีย 80 % ของ GDP คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13 ล้านล้าน คนไทยแบกหนี้หลังแอ่น เอาเงินอนาคตมาใช้ ลำพังดอกเบี้ยไม่รวมเงินต้นก็ต้องจ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้าน แล้วจะเหลือเงินไปใช้จ่าย ดูแลครอบครัว ตัวเอง พ่อแม่ ให้ดีได้อย่างไร

ทางออกสำหรับการลงทุนหุ้นในอนาคต ที่คิดว่าพอจะเป็นไปได้ ความเสี่ยงไม่มาก ผมจะมอง global มากขึ้น โดยการขยายไปลงทุนในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากไม่อคติเกินไป น่าจะมีประเทศที่มีศักยภาพที่เก่งกว่าไทย และหากเราลงทุนในประเทศเหล่านี้ โอกาสที่เราจะได้รับผลตอบแทนที่พอใจย่อมเป็นไปได้สูง แต่การลงทุนในต่างประเทศที่เราไม่คุ้นเคย กลยุทธ์เลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัวอาจไม่เหมาะสม ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้นทางเลือกที่น่าจะดีกว่าคือการซื้อ Exchange Trade Fund หรือ ETF ที่อิงกับดัชนีของประเทศที่เราสนใจ ซึ่งมี ETF มากมายหลายเจ้าให้ลงทุน และการซื้อขายสามาระทำได้ง่ายดาย เพียงแค่เรามีบัญชีซื้อหุ้นต่างประเทศ เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้กลยุทธ์ “ เกาะชายผ้าเหลือง” ไปกับประเทศที่จะรุ่งเรือง เรานักลงทุนก็น่าจะได้รับผลตอบแทนดีตามไปด้วย แต่การซื้อขายคงต้องดูเวลา มูลค่าที่เหมาะสมด้วย การซื้อช่วงที่ดัชนีประเทศนั้นๆกำลังทำนิวไฮท์ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่

แต่แน่นอนว่าการลงทุนหลักผมยังคิดว่าเป็นตลาดหุ้นไทย เพราะเราน่าจะมีความได้เปรียบ รวมถึง การกิน การใช้ เราก็ยังใช้เป็นสกุลเงินบาทเป็นหลัก ผมยังเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นไทย ยังเป็นทางเลือกที่ดี ทุกๆปี ยังมีหุ้นหลายตัวที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่เราอาจพลาดหุ้นเหล่านั้น เพราะใช้กลยุทธ์เดิมๆ ทั้งที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้เปลี่ยนไป การที่เราทำได้น้อยกว่าตลาดบ่อยๆ ขึ้น อาจเป็นไปได้ทั้งเรื่องของความบังเอิญ หรือยังไม่ใช่เวลาของเรา หรือกลยุทธ์ที่เราใช้ เริ่มไม่ได้ผล แต่นี่เป็นสัญญานเตือนที่ดังชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้ในตลาดหุ้น เวลาผ่านไป ผู้ชนะ กลายเป็นผู้แพ้ ผู้แพ้ กลับมาเป็นผู้ชนะ ไม่แน่นอน หุ้นที่ชนะในปีที่ผ่านมา ก่อนหน้ากลับเป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุนขาดทุนมากที่สุด ตลาดที่ดี กลับกลายเป็นตลาดที่แย่ในปีถัดไป นี่คือสิ่งที่นักลงทุนต้องตระหนัก บางปีเราอาจเลือกชนะ บางปีเราเลือกผิดเป็นผู้แพ้ เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องปกติคือแม้แต่คนที่ลงทุนเก่งที่สุดในโลก ก็มีปีที่ขาดทุน บางครั้งหลายปีติดต่อกัน แต่เมื่อไม่ล้มเลิกก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาชนะ

ขอให้เพื่อนนักลงทุนทุกท่าน ลงทุนด้วยความสุข พร้อมยิ้มรับทั้งสิ่งที่ดีที่สุด และร้ายที่สุด ในปี 2563 ครับ :D

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ม.ค. 01, 2021 11:32 pm
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2564 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่สุบรรณ พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ พี่หน่อง พี่เล็ก พี่นา พี่ๆน้องๆ ไทยวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี ตลอดไปครับ


ตลาดหุ้นปี 2563 ปีแห่งมหาวิกฤติโควิด

ปี 2563 นับเป็นปีที่นักลงทุนหรือแม้แต่ชาวโลกทุกคนไม่ลืมเลือน กระแส Globalization ในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้โลกหลอมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายผู้คน สิ่งของ เป็นเรื่องง่ายดาย หนุนด้วยต้นทุนการเดินทางที่ถูกลงมาก การเดินทางด้วยเครื่องบินราคาถูก ยิ่งทำให้ผู้คนในโลกในเดินทาง เคลื่อนย้ายไปทั่วโลก นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีต่อมนุษย์เท่านั้น แต่มันเป็นสภาวะที่ดีมากๆ ด้วย สำหรับเชื้อโรค ที่สามารถขยายแพร่เผ่าพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วพอๆกับความเร็วของเครื่องบิน ณ.ปลายปี 2562 จากข่าวเล็กๆในหนังสือพิมพ์ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ มีรายงานข่าวเกิดโรคปวดบวมลึกลับระบาดที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ความโกลาหลเริ่มเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์เริ่มตระหนักว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน มีอัตราการตายค่อนข้างสูง และสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว ความตื่นกลัวเริ่มเกิดไม่แต่เฉพาะชาวจีน แต่รวมถึงชาวโลก เมื่อมันเริ่มระบาดอย่างช้าๆ ไปในประเทศที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ประเดิมด้วยไทยเป็นประเทศแรก แต่โลกเริ่มตระหนกเมื่อมันเริ่มระบาดหนักอย่างไม่ทันตั้งตัวที่ประเทศอิหร่านและอิตาลี หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งเชื้อโควิด – 19 ได้

ไม่เคยมีครั้งใดที่กิจกรรมทางเศรษกิจของโลกจะได้รับผลกระทบเท่ากับวิกฤติครั้งนี้ (อย่างน้อยตั้งแต่ผมจำความได้) เพราะวิธีการเอาชนะไวรัสเมื่อยังไม่มีวิธีการรักษา คือต้องพยายามไม่ให้มนุษย์พบปะกัน เมื่อมนุษย์ถูกแยก ไวรัสก็ไม่สามารถติดต่อได้ แต่วิธีการนี้มีต้นทุนมหาศาล เพราะกิจกรรมทางเศรษกิจแทบทุกอย่าง ชะงักงันทั้งหมด การผลิต การบริการ ทั้งรัฐและเอกชน ล้วนได้รับผลกระทบทั่วทั้งโลก GDP ของโลกติดลบ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน IFM คาดการณ์ว่าปี 2020 เศรษกิจโลกจะติดลบประมาณ - 4.4% ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เคยขึ้นมาก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าไทยจะมี GDP ติดลบ 6.6% ในปี 2563

กลับมาที่ตลาดหุ้น ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนสภาพเศรษกิจที่ชัดเจนที่สุด ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดัชนีหุ้นเริ่มต้นปีที่ 1579.84 จุด และไต่ขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1600.48 จุดกลางเดือนมกราคม เมื่อมีการระบาดใหญ่ในประเทศและกำลังลุกลามไปทั่วโลก นักลงทุนเริ่มตระหนกแห่เทขายหุ้นจนดัชนีทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08 จุด ณ.วันที่ 13 มีนาคม ในช่วงแพนิคมีการใช้ Circuit Breaker ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นตลาดค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น หลังจากไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี ดัชนีค่อยๆไต่ขึ้นถึงระดับ 1,400 จุดช่วงกลางปี ก่อนค่อยๆไหลลงอีกครั้งจากการระบาดอย่างหนักในต่างประเทศ การชุมนุมประท้วงของคณะราษฏร แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ดัชนีกลับไปที่ 1,200 จุดอีกครั้งตอนปลายเดือนตุลาคม ก่อนพุ่งขึ้นค่อนข้างแรงจากแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติหลัง โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความก้าวหน้าการผลิตวัคซีน ณ.สิ้นปี ดัชนีปิดที่ระดับ 1,449.35 จุด ลดลง 130.49 จุดหรือลดลงจากปีก่อน – 8.26 % ส่วนดัชนีผลตอบแทนรวม ( TRI ) ซึ่งรวมปันผล ปิดที่ระดับ 9,659.25 จุด ลดลง – 5.24 % จากปี 2562

สภาพโครงสร้างของตลาดหุ้นปี 2563 ที่เปลี่ยนแปลงไปมีหลายแง่มุม

สัดส่วนนักลงทุนที่ซื้อขาย นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 43% ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศและสถาบันในประเทศ สัดส่วนลดลง เหตุที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นผลจากการเปิดบัญชีใหม่ของนักลงทุนรายย่อยไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ประมาณ 6 แสนบัญชี หากนับเป็นรายบุคคลจะมีนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 140,000 คน สิ้นปี 2563 จะมีประชากรไทยที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นประมาณ 1.4 ล้านคน เหตุผลที่อธิบายความสนใจของคนที่จะลงทุนในหุ้น เพิ่มขึ้นมาก มี 2 ประเด็น ประการแรกคือตลาดหุ้นที่ลดลงมากในระหว่างปี ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน เพราะอยากเก็บหุ้นราคาถูก ประการที่สอง วิกฤติโควิด ทำให้มีคนตกงาน หรือต้องทำงานที่บ้าน จำนวนมาก ทั้งพนักงานทั่วไปหรือแม้แต่เจ้าของกิจการ ต้องการเล่นหุ้นเพราะว่าง :D และบางส่วนต้องการรายได้ เพื่อชดเชยงานที่หายไป (ผมคงดีใจหากเป็นเหตุผลแรก แต่เหตุผลที่ 2 ดูจะเป็นไปได้มากกว่า )

ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนลดลงเพราะได้ขายหุ้นติดต่อกันหลายปี และยังขายต่อเนื่องอีก 3 แสนล้านใน 10 เดือนแรกของปี 2563 ทำให้มีหุ้นให้ขายลดน้อยลงมาก ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มแผ่วลงไป เพราะนโยบายการปรับเปลี่ยนกองทุน LTF มาเป็น SSF ของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ กระแสเงินสดที่สถาบันเคยได้รับปีละหลายหมื่นล้าน ลดลงเหลือระดับพันล้านต้นๆ ในขณะที่กองทุน LTF เก่าๆ ก็ค่อยทยอยถูกไถ่ถอน สองเหตุนี้ย่อมทำให้นักลงทุนสถาบันมีเม็ดเงินมาซื้อหุ้นน้อยลง

จำนวนหุ้น IPO ในปี 2563 มีประมาณ 26-27 บริษัท ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีบริษัท (รวมกองทุนพื้นฐาน อสังหา) ประมาณ 740 บริษัท และหลายบริษัทที่ไอพีโอมี market cap ค่อนข้างใหญ่ เช่น CRC SCGP KEX STGT ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าไอพีโอสูงสุดของ Southeast Asia 2 ปีติดต่อกัน นี่ย่อมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักลงทุน ที่มีบริษัทให้เลือกลงทุนมากขึ้น และการระดมทุนยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของตลาดทุน ที่มีบทบาทต่อเศรษกิจของประเทศมากขึ้นด้วย มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในปี 2563 ประมาณ 66,000 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน และทำให้ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของ Southeast Asia ติดต่อกันหลายปี ชนะสิงคโปร์ที่แม้จะมี market cap รวมสูงกว่า

โดยรวมมีบริษัทที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 43 % ( หากรวมเงินปันผลจะสูงกว่านี้ ) ที่เหลือให้ผลตอบแทนติดลบ กลุ่มธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในตลาดหุ้นปี 2563 คือกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ ไอที แพคเกจจิ้ง อาหาร และโลจิสติกส์ บริษัทในกลุ่มเหล่านี้ ได้ประโยชน์จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดคือ กลุ่มท่องเที่ยว เครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร ห้างสรรพสินค้า กลุ่มผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ปิโตรเคมี ถ่านหิน และกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะสองกลุ่มหลังซึ่งมีน้ำหนักถ่วงดัชนีค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดัชนีตลาดรวมติดลบ ในขณะที่หุ้นขนาดเล็ก ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ดัชนี MAI เพิ่มขึ้น 8.61 % จากปีก่อนหน้า

ตลาดหุ้นต่างประเทศในปี 2563 ตลาดเอเชียให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยเฉพาะประเทศเกาหลี ใต้หวัน ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ประเทศเหล่านี้ควบคุมการระบาดของโรคค่อนข้างดี และมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด ส่วนตลาดที่แย่ที่สุดคือสิงคโปร์ ติดลบ 11 % ใกล้เคียงกับไทย เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมากเหมือนกัน ตลาดยุโรปค่อนข้างทรงตัวถึงติดลบเล็กน้อย เพราะมีการระบาดสูงและพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก แต่ตลาดที่น่าสนใจคือตลาดอเมริกา ดัชนีดาวโจนส์เพิ่ม 7% เอสแอนด์พี- 500 เพิ่ม 16% และกลุ่มเทคโนโลยี - แนสแด็กบวกถึง 44 % ทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการระบาดของโควิด -19 มากที่สุด มีคนเสียชีวิตสูงสุด และตลาดขึ้นมามากแล้วจากปีก่อนๆ แต่ด้วยการกระตุ้นเศรษกิจ การทำ QE แบบไม่อั้น และการมีบริษัทเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จากการระบาดอยู่จำนวนมาก การที่ปัจจัยบวกส่งผลมากกว่าปัจจัยลบ ทำให้ตลาดอเมริกาให้ผลตอบแทนดีมากอย่างน่าประหลาดใจ

พอร์ตส่วนตัวผมในปี 2563 ให้ผลตอบแทนเป็นบวกและชนะตลาด หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมามีทั้งขาดทุนและแพ้ตลาด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ปัจจัยที่ทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นมาจากหลายปัจจัย ประการแรก การขายหุ้นขนาดเล็กที่ราคาเฟอร์ฟอร์มดีขึ้น มาซื้อหุ้นขนาดกลางใหญ่ ในราคาที่ถูกลงมากจากแพนิค ประการที่สอง การตัดสินใจซื้อหุ้นตอนที่ตลาดกำลังแพนิค ( นำเงินจาก short tfex ,โยกเงินจากตลาดต่างประเทศ และเบิกเงินมาร์จิน 10-15 % ประการที่สาม การบริหารความเสี่ยงของพอร์ต โดยการ short index ก่อนดัชนีจะลดลงมาก รวมถึงการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ ...จำนวนหุ้นที่ถือ ณ.สิ้นปีลดลงเหลือประมาณ 40 ตัว จาก 70 ตัวในปีก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนดี คือหุ้นเติบโต หุ้นวัฏจักร หุ้นขนาดกลาง ที่ราคาลดลงมาก รวมถึงหุ้นขนาดเล็กอีกหลายตัว ที่ยังทำผลประกอบการได้ดีและราคาขึ้นมามาก

สำหรับพอร์ตหุ้นต่างประเทศ ปี 2563 ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ดี ล้อไปกับตลาด โดยลงทุนใน 3 ประเทศ คือเวียดนาม ปรับเปลี่ยนจากลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมาซื้อกองทุนที่อิงดัชนีบางส่วน ทำให้สัดส่วนหุ้นรายตัวลดลงเหลือ 2/3 ส่วนตลาดอเมริกา เน้นลงทุนใน ETF อิงดัชนี S&P -500, NASDAQ, ETF-OIL และหุ้นบางตัวที่เป็นตัวแทนราคาน้ำมัน และในจีน เน้นลงทุนใน ETF ที่อิงตลาดรวม กลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศในอนาคต จะไม่เน้นลงทุนในหุ้นรายตัว (เพราะต้องใช้พลังและเวลามหาศาล ผมพอแล้ว :P ) แต่จะพยายามลงทุนใน ETF ที่อิงกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจงขึ้น มากกว่าการอิงดัชนีรวมเหมือนในปัจจุบัน ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเป็นแค่ 10 % ของพอร์ต มีความตั้งใจว่าจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น เพียงแต่รอคอยโอกาสที่เหมาะสมกว่านี้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็น ต้องขายหุ้นไทยที่ราคาถูก และไปซื้อหุ้นนอกที่ราคากำลังแพง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล

ปรากฏการณ์ Delta

ตลาดหุ้นไทยส่งท้ายปี 2563 มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น นั่นคือการที่หุ้น Delta ซึ่งอยู่ในกลุ่มอิเล็คทรอนิคส์ ราคาเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ไม่ได้เพิ่มแค่ 100% แต่เพิ่มกว่า 3,000 % ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่มี story ใดๆ ที่สมเหตุสมผลรองรับ จนทำให้ market cap สูงเป็นอันดับ 3 ของตลาดหุ้น และนี่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น Delta ส่งผลอย่างมีนัยยะต่อดัชนีตลาดหุ้นด้วย และยังส่งผลต่อการซื้อขายของกองทุนดัชนีที่ต้องซื้อหุ้นตาม เมื่อหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าตลาด เข้าเกณฑ์ที่กำหนด ยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นไปอีก ในขณะที่ฝ่ายควบคุมดูแลคือ กลต.และ ตลท.ไม่ได้มีมาตรการอะไรอย่างจริงจัง ที่จะออกมาเพื่อปกป้องนักลงทุน การพร่ำบอกให้นักลงทุนรับผิดชอบ ดูแลตัวเอง อาจไม่ยุติธรรมนัก ในเมื่อสังคมย่อมมีทั้งคนที่มีความรู้ -คนไม่รู้ มีคนดี - คนไม่ดี ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองเราจะมีตำรวจไว้ทำไมกัน :roll:

แต่เรื่องนี้คาดเดาได้ไม่ยาก ว่าจะลงเอยอย่างไร เพราะ Delta ไม่ใช่หุ้นตัวแรกที่เป็นเช่นนี้ จากอดีตที่ยังพอจำได้ เราเคยมีปรากฏการณ์ Bay ปรากฏการณ์ Beauty ปรากฏการณ์ Gl แม้ชื่อหุ้นต่างกัน เวลาเกิดต่างกัน แต่จุดจบเหมือนกัน ราวกันนัดกันไว้ นักลงทุนพึงจำไว้ว่า ในตลาดหุ้น อะไรที่ขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล มันจะตกลงมาอย่างมีเหตุผล ในฐานะนักลงทุน นี่เป็นแค่เรื่อง “มารผจญ” ความโลภที่เข้ามาทดสอบเรา เหมือนดังคำพูดของเฮียคลาดเครียดที่ว่า “ จ้าวมือเค้าไม่ได้ปั่นหุ้น แต่เค้าปั่นความโลภในใจเรา ’’ ในอนาคตอันใกล้ เมื่อปรากฎการณ์หุ้น Delta จบลง นอกจากคนเข้าไปเล่นเกมส์ที่เสียหายแล้ว ยังมีผลต่อระดับดัชนี SET ด้วยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน.

( ..คิดถึงเฮียคลายเครียด เงียบหายไป ใครพอรู้ข่าวสาร ช่วยกันบอกกล่าวหน่อยน้า..)


บทเรียนจากวิกฤติโควิด

วิกฤติตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายมหาศาล การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นไทยลดลง 40 % ภายในเวลาแค่ 2 เดือน ยังไม่รวมว่าหุ้นขนาดใหญ่หลายๆ ตัว ราคาลดลงมากกว่า 50 % แน่นอนว่าวิกฤติรอบนี้มีคนรอดตาย คนที่ปางตาย และคนที่ตาย และเพื่อไม่ให้ประสบการณ์จากวิกฤติครั้งนี้ผ่านแล้วผ่านเลย หาประโยชน์ไม่ได้ ผมจะแสดงความเห็นในบางประเด็น เผื่อเป็นข้อคิด สำหรับรับมือวิกฤตครั้งต่อๆ ไป ซึ่งผมมั่นใจมากถึงมากที่สุด ว่าเราจะเจอแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว หากเรายังอยู่.. :P

ตลาดหุ้นโลกกลางวิกฤติโควิด
ตลาดหุ้นโลกกลางวิกฤติโควิด
ตลาดหุ้นไทยกลางวิกฤติโควิด
ตลาดหุ้นไทยกลางวิกฤติโควิด
ป่วยการที่จะทำนายวิกฤติ นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนวีไอส่วนใหญ่รู้ดีอยู่แล้ว เรารู้ว่าวิกฤติมันจะเกิดขึ้นแน่ แต่สิ่งที่ยากคือการทำนายว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การหลบเลี่ยงวิกฤติได้ ถือเป็นความฝันของนักลงทุนทุกคน หากรู้จะได้เทขายหุ้นออกไปก่อน แล้วค่อยไปซื้อกลับตอนราคาถูก ๆ แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายหรือเกือบๆเป็นไปไม่ได้ เพราะวิกฤติแต่ละครั้ง จะมาอย่างแนบเนียน ในรูปแบบที่ไม่ซ้ำกัน และทุกครั้งกว่าเราจะรู้ว่าเป็นวิกฤติ ราคาหุ้นก็ลดลงมากแล้ว ซึ่งป่วยการที่จะขาย เพราะขายที่ราคาต่ำไม่มีประโยชน์ เหตุการณ์ร้ายๆ ที่กระทบต่อตลาดหุ้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวใดที่จะก่อให้เกิดวิกฤติ หรือเป็นข่าวเล็กๆ ที่แค่กวนใจ หากเราจะขายหุ้นทุกครั้งที่ตลาดมีข่าวร้าย เราอาจจะได้ขายหุ้นทุกเดือน แถมประสาทกิน สิ่งที่เราพอทำได้และควรทำ คือการคิดวางแผน หากวิกฤติเกิดขึ้น เราควรจะทำอย่างไร มีขั้นตอน 1..2...3.. ทำเช่นนี้จะมีประโยชน์มากกว่า

การบริหารความเสี่ยง แม้วิกฤติเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดเดาไม่ได้ และสร้างความเสียหายมากได้มากเมื่อมันเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันตลาดทุนพัฒนามากขึ้น มีเครื่องมือบางตัว ที่สามารถใช้ลดความเสี่ยงของพอร์ตจากวิกฤติได้ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ Future และตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้นอย่าง option ..เมื่อผมได้รับข่าวเรื่องการระบาดโควิด และเริ่มตระหนักว่าอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นได้มาก ผมอยากขายหุ้น แต่ขายไม่ได้เพราะหุ้นส่วนใหญ่สภาพคล่องต่ำมาก ผมเลือกที่จะ hedge port บางส่วน โดยการใช้เงินก้อนสุดท้าย short สัญญา future set50 หากผมคาดผิด การระบาดไม่ร้ายแรง หุ้นไม่ลง กลับขึ้น ผมจะขาดทุนสัญญา future แต่จะได้กำไรจากหุ้น แต่สิ่งที่เกิดจริงคือตลาดหุ้นตกลงมาก ผมขาดทุนหุ้นที่ถืออย่างหนัก แต่ได้กำไรจากสัญญา future มาชดเชย ( ลองนึกภาพ..เมื่อหุ้นลง สมองซีกขวาผมเสียใจ :cry: แต่สมองซีกซ้ายกลับดีใจ :P ) และกำไรจากการ short future นี้เอง ที่ผมนำมาซื้อหุ้นที่ราคาต่ำๆ ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนเงินที่ไม่ได้มากมาย แต่ตอนวิกฤติเงินสดคือพระเจ้าจริงๆ :|

วิกฤติจะเป็นโอกาส เมื่อเราแข็งแรงเท่านั้น เหมือนร่างกายที่แข็งแรง เมื่อเจอเชื้อโรคร้ายก็มีโอกาสรอดสูงกว่า นักลงทุนก็เช่นกัน หากทำตัวให้อ่อนแอ เช่นแบกหนี้เงินมาร์จินมาซื้อหุ้น เจอวิกฤติ ราคาหุ้นลดลงมาก แทนที่เป็นโอกาสซื้อหุ้นราคาถูกเพิ่ม กลับต้องมาเป็นฝ่ายเทขายหุ้นเสียเอง เพื่อคืนเงินมาร์จิน ความเสียหายจะมหาศาล วิกฤติโควิดมีนักลงทุนที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้หลายคน สังเกตได้จากราคาหุ้นกลางเดือนมีนาคม แต่คนตายหรือปางตายคงไม่อยากเล่าให้เราฟัง ตรงกันข้ามคนที่ตัวเบาหรือแข็งแรง สามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เข้าซื้อหุ้นที่ถูกเทขายราคาถูกๆ ได้

อย่าสงสัยในความสามารถของมนุษย์ ที่จะโต้กลับจากปัญหาที่เข้ามาคุกคาม หากมนุษย์ไม่มีคุณสมบัตินี้ คงไม่สามารถแพร่เผ่าพันธุ์ ยึดครองโลกได้อย่างทุกวันนี้ เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นในตลาดหุ้น - 100 % ของข่าวสารที่เราได้รับจะเป็นข่าวร้าย ข่าวที่ดูเหมือนโลกจะแตก ทุนนิยมจะล่มสลาย ผู้คนจะล้มตาย หุ้นจะเหลือแต่เศษกระดาษ แต่มนุษย์ไม่มีวันจะยอมแพ้ ไม่ช้าไม่นาน วิธี มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา จะถูกระดมคิดขึ้น และถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว ปัญหาที่ร้ายแรงจะทุเลาลง หรืออาจเอาชนะปัญหาได้เลย ณ. จุดแย่ที่สุด คนที่มองโลกในแง่ร้าย ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ จะขายหุ้นทิ้งไป หุ้นจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือคนที่มองโลกในแง่ดีกว่า มันเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง

โลกหมุนเร็ว ต้องรีบตัดสินใจ โลกทุกวันนี้ หมุนเร็วกว่าโลกในอดีตมาก เพราะการหมุนเวียนของแทบทุกสิ่งอย่าง เป็นระบบดิจิตอล ตลาดหุ้นก็เช่นกัน วิกฤติรอบนี้ หุ้นได้ไปทำจุดต่ำสุดกลางเดือนมีนาคม และนิ่งๆอยู่เพียงแค่ไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็แรลลี่ขึ้นยาว คนที่เงื้อง่าราคาแพง คนที่รอให้มีดตกถึงพื้นเสียก่อน คนที่ขอต่อราคาอีกหน่อย คนที่รอทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน คนที่มองโลกในแง่ร้าย ล้วนถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง จะดีกว่าไหมหากเราไม่ต้องรอให้มีดตกถึงพื้น เพราะเราไม่มีวันรู้ กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อมันเด้งขึ้นมาแล้ว หากราคามันถูกพอ ซื้อบางส่วนไปก่อน ลงอีกได้ซื้ออีก หากมันเด้ง ยังมีหุ้นบ้าง ซื้อทันแบบคร่าวๆ ดีกว่าตกรถแบบจังๆ

ตราสารหนี้ไม่ใช่ safe heaven เสมอไป นักลงทุนเคยเชื่อว่าตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย เป็นที่พักเงินที่ไว้ใจได้ แต่วิกฤติครั้งนี้ ความเชื่อนี้เริ่มสั่นคลอน ตราสารหนี้ก็หนีไม่พ้นที่ได้รับผลกระทบ สภาพคล่องที่หายไป เพราะนักลงทุนแห่เทขายสินทรัพย์ทุกชนิดเพื่อถือเงินสด ผู้ถือตราสารอยากขายก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีแรงซื้อ จนกองทุนตราสารหนี้บางกองต้องประกาศปิดกองทุน เพราะหากดึงดันจะขายในสภาพที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ราคาขายจะต้องมีส่วนลดสูง สู้ปิดกองทุนรอให้สภาพคล่องกลับมา จะขายได้ที่ราคาดีกว่า ความเสียหายจะน้อยกว่า แต่ลองนึกถึงนักลงทุนที่พักเงินในตราสารหนี้ เพื่อรอจังหวะช้อนซื้อหุ้นตอนราคาตกต่ำ อยากจะซื้อหุ้นก็ซื้อไม่ได้ เพราะขายไม่ได้ ไม่มีเงิน เหมือนเจอไม้งามเมื่อยามขวานบิ่น แล้วจะสามารถไปเรียกร้องค่าเสียโอกาสกับใครได้บ้าง.. :roll:

รอบ 2 ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ผมได้ผ่านวิกฤติตลาดหุ้นมา 3 ครั้ง ครั้งแรกวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ครั้งที่ 2 คือวิกฤติซับไพรม์ ปี 2551 และวิกฤติล่าสุด วิกฤติโควิดปี 2563 แทบทุกครั้งหลังจากหุ้นลงไปทำจุดต่ำสุด และมีทีท่าว่าจะฟื้นตัว จะมีความเห็น post crisis แทบทุกครั้งทำนองว่าจะวิกฤติรอบ 2 ..ตอนปี 40 ก็มีคำพูดที่โด่งดังคือ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าจะเผาจริง ปี 2551 ก็มีคนหลายคนออกมาเตือนว่าจะมีวิกฤติรอบ 2 เพราะตราสารหนี้ CDO -collateralized debt obligation ล็อต 2 จะถูกไถ่ถอน และมันจะไม่มีคนซื้อ พอวิกฤติโควิดรอบนี้ ก็มีคำเตือนว่าโควิดจะระบาดรอบ 2 และทำให้เกิดวิกฤติเศรษกิจอีกรอบ ( ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นจริง แต่จะไม่สะเทือนหุ้นเหมือนครั้งแรก ) แต่สิ่งที่เป็นจริงทุกครั้งคือ วิกฤติรอบ 2 ไม่เคยเกิดขึ้นจริง คนที่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤติรอบ 2 น่าจะเป็นผลจาก Snake-bite effect + Recently bias + pessimistic หากนักลงทุนเสพและคล้อยตามความเห็นเหล่านี้ เขาจะไม่กล้าซื้อหุ้น ในตอนที่ควรจะซื้อที่สุด หรือเรียกว่า เสพข่าวร้ายจนตกรถ

สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนนักลงทุนทุกท่าน สำหรับการลงทุนต่อๆ ไป สิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันจบไปแล้วกับปีเก่า เรารีเซ็ททุกอย่างเป็นศูนย์ ขึ้นปีใหม่ เริ่มกันใหม่ การลงทุนเรามองไปที่อนาคตเสมอ ไม่ว่าปีที่ผ่านไปจะดีหรือไม่ดี สิ่งที่ยังพอเป็นประโยชน์บ้างคือมันให้บทเรียน เราได้เรียนรู้ เพื่อที่จะเป็นนักทุนที่เก่งขึ้น ผิดพลาดน้อยลง หากเทคนิค วิธีใด ใช้ไม่ได้ผล ต้องฉุกคิด วิธีผิด หรือคนผิด ไตร่ตรองแล้วปรับเปลี่ยน โลกเปลี่ยน คนต้องยืดหยุ่น


สวัสดีปีใหม่ปี 2564 ทุกท่าน อัตตาหิ อัตโนนาโถ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ผู้ที่ฝึกตนไว้ดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันหาได้ยาก" :o :o :o

(กระทู้นี้ ตอบกลับไม่ได้นะครับ)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 02, 2022 9:34 pm
โดย ลูกอิสาน
กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2565 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ ดร.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่สุบรรณ พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่ WEB พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ พี่หน่อง พี่เล็ก พี่นา พี่ ๆ น้องๆ ชาวไทยวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี ตลอดไปครับ :D

ปี 2564 ย่างเข้าสู่ปีที่สอง ของวิกฤติโรคโควิด ถึงแม้จะยังไม่สามารถขจัดโรคภัยนี้ให้หมดไปได้ แต่สถานการณ์ทั่วโลกโดยรวมก็ดีขึ้น เพราะโลกเริ่มรู้จักวิธีรับมือ มีเครื่องไม้เครื่องมือ ยารักษา วัคซีน ดีกว่าปีก่อนหน้า ในขณะที่ตัวเชื้อโรคก็ปรับตัวเองให้มีความสามารถในการอยู่รอดมากขึ้น นั่นคือติดต่อสู่ host ได้ง่าย แต่ไม่ทำให้ host ตาย นั่นทำให้เชื้อมีโอกาสที่จะแพร่พันธ์ได้มากกว่าเดิม สภาวะตลาดหุ้นก็คล้ายๆกัน ตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำสุดในช่วงต้นปี และค่อยปรับตัวขึ้นสูงแบบซิกแซก ดัชนี set ปิดสิ้นปีที่ 1,657.62 จุด เพิ่มจาก 1,449.35 จุดในปี 2563 นั่นคือดัชนีเพิ่มขึ้น 14.37 % เมื่อพิจารณาดัชนี Set TRI ซึ่งรวมเงินปันผลเข้าไปด้วย ดัชนีปิดที่ 11,365.88 จุด จาก 9,659.25 จุด หรือตลาดหุ้นไทยปี 2564 ให้ผลตอบแทน 17.67 %

ทั้งปี 2564 มีหุ้น IPO เข้าตลาดประมาณ 41 บริษัท โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ตื่นไอพีโอ” ได้แก่ ปตท.ค้าปลีกหรือ OR และเงินติดล้อหรือ TIDLOR ซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยมีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรหุ้นอย่างทั่วถึง มูลค่าการระดมทุนผ่านการ IPO ประมาณ 1.37 แสนล้าน เป็นรองแค่อินโดนีเซียที่สูงกว่าในภูมิภาคอาเซียน มูลค่าการซื้อขายต่อวันในตลาดหุ้นไทย 93,845 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งน่าจะสูงสุดตลอดกาล และสูงสุดในอาเซียนติดต่อกันหลายปี โดยกลุ่มนักลงทุนที่ขายสุทธิได้แก่ นักลงทุนต่างชาติ ปีนี้ขายอีกกว่า 48,6000 ล้านบาท โดยขายต่อเนื่องมาหลายปี น่าจะเกิดจากมูลค่าหุ้นไทยที่ไม่ถูก การเติบโตของผลกำไรที่ต่ำ ในขณะที่มีทางเลือกลงทุนในประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อีกกลุ่มที่ขายออกสุทธิคือนักลงทุนสถาบัน ประมาณ 77,000 ล้านบาท น่าจะเกิดจาก เงินลงทุนใหม่ลดลงมาก เพราะกองทุนประเภท SSF ได้รับความนิยมจากประชาชนไม่มาก ประกอบกับประชาชนบางส่วนซื้อกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้กองทุนต้องขายเงินลงทุนเดิมในตลาดหุ้นไทยออกมา และจาก 2 สาเหตุข้างต้น ทำให้อิทธิพลชี้นำของนักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มลดลง โดยมูลค่าการซื้อขายของกองทุนลดลงจากเกือบๆ 10% ก่อนหน้า เหลือแค่ประมาณ 6% กว่าๆ ในปี 2564

ทั้งตลาดหุ้นไทย รวม SET+ MAI มีบริษัทจดทะเบียนประมาณ 776 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 20 ล้านล้าน มีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น 2.129 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 1.506 ล้านบัญชี ค่อนข้างมาก การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น มีหุ้นที่ราคาลดลงประมาณ 95 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ถูกปั่นราคาขึ้นไปมากในปี 2563 เช่น หุ้นวัฏจักรบางกลุ่ม หุ้นโรงไฟฟ้าขนาดกลางหลายตัว ส่วนหุ้นที่ Mkt ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นคือ PTT มีราคาลดลงประมาณ 10% .. หุ้นที่นอกเหนือจาก 95 บริษัทข้างต้น ล้วนราคาเพิ่มสูงขึ้นทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้น MAI เพิ่มถึง 73% ซึ่งน่าจะติดอันดับดัชนีตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในโลก ! :?

สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศ เกือบทุกประเทศในโลกให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก โดยในเอเชีย ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือตลาดเวียดนามที่ 35.73 % รองลงมาเป็นตลาดอินเดียและไต้หวัน ส่วนตลาดที่แย่ที่สุดคือดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง ซึ่งคำนวณจากหุ้น 64 ตัว ให้ผลตอบแทนติดลบ 13.81% โดยปิดที่ระดับ 23,397.67 จุด ในขณะที่ดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ให้ผลตอบแทนติดลบ 5.2 % สาเหตุจากการแทรกแซงธุรกิจจากรัฐบาลจีนอย่างหนักหน่วงในปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดยุโรป ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกประเทศ มากบ้างน้อยบ้าง และตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างตลาดหุ้นอเมริกา หลังจากให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องมาหลายปี ปีนี้ยังคงสามารถสร้างจุดสูงสุดขึ้นใหม่ ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นอีก 26.89% ส่วนดัชนีหุ้นเทคโนโลยี แนสแด็ค ให้ผลตอบแทน 21.39%

พอร์ตส่วนตัวผมยังทำผลตอบแทนได้น่าพอใจ เป็นอีกปีที่ทำได้ดีกว่าดัชนี SET TRI ในตลาดหุ้นไทย หุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้ดีคือหุ้นวัฏจักร (ถ่านหิน) หุ้นเติบโต และหุ้นขนาดเล็กแทบทุกตัว ส่วนตลาดหุ้นต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนได้ดีมากคือตลาดเวียดนาม ตลาดอเมริกา (หุ้น FAANG บางตัว) ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกงให้ผลขาดทุน โดยดัชนีจากระดับที่ผมเริ่มเข้าไปลงทุน ลดลงเกือบ 20% ทำให้หุ้นบางตัวที่เข้าซื้อขาดทุนอย่างหนัก แต่การกระจายถือหุ้นหลายตัว และหุ้นบางตัวมีกำไรเยอะ ทำให้ชดเชยกันได้บางส่วน ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าประมาณ 10% ได้ช่วยให้โดยรวม ไม่ทำให้ขาดทุนมาก ส่วนตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ค่อนข้างทรงๆ

ปัจจุบันถือหุ้นรวมประมาณ 90 บริษัท เป็นบริษัทที่ฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่คือ 60 บริษัท ในขณะที่ตลาดไทยและเวียดนาม ทยอยลดจำนวนหุ้นลง และเน้นหุ้นขนาดใหญ่ และกลางมากขึ้น ณ.สิ้นปี 2564 น้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย 46% และต่างประเทศ 54% โดยตลาดต่างประเทศให้น้ำหนักตลาดฮ่องกงสูงสุด ที่ประมาณ 34%

ปรับพอร์ตเชิงกลยุทธ์ ปีที่ผ่านมา ผมได้ตัดสินใจสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับการลงทุน นั่นคือการเพิ่มสัดส่วนลงทุนต่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยแรงจูงใจที่ว่า หุ้นไทยที่น่าสนใจหาได้ยากมากขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ ประกอบกับการได้รับคำแนะนำให้ศึกษาตลาดหุ้นฮ่องกง ที่ราคาหุ้นถูกกว่าตลาดไทยมาก บริษัทที่ลิสต์ในฮ่องกงส่วนใหญ่คือบริษัทที่ทำธุรกิจในประเทศจีน ราคาหุ้นที่ถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทย เป็นเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจนัก นอกจากข่าวที่รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงธุรกิจ และปัญหาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นผมจึงลงทุน ลงแรง ยอมเหนื่อยอีกครั้ง ศึกษาหุ้นรายบริษัทในตลาดต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคย ทั้งที่เดิมเคยตั้งใจว่าจะลงทุนใน ETF เท่านั้น แน่นอนว่าในอนาคต ตลาดหุ้นฮ่องกงน่าจะเป็นตลาดหลักที่ให้น้ำหนักลงทุน รองจากตลาดหุ้นไทย ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นในปีที่ผ่านมาจะไม่ดีนัก แต่ผมเชื่อว่าด้วย Value ระดับนี้ โอกาสที่จะขาดทุนในระยะยาวแทบไม่มี และอาจมีโชคดีจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ควรจะแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทในระยะยาวด้วย :)


หุ้นซอมบี้คืนชีพ หุ้นซอมบี้คือหุ้นที่ฆ่าไม่ตาย บางครั้งเกือบๆจะตาย แต่ก็ฟื้นกลับมาได้ทุกครั้ง ในตลาดหุ้น หุ้นซอมบี้คือธุรกิจที่ไม่อนาคต ขาดทุนซ้ำซาก แข่งขันไม่ได้ หลายบริษัทไม่มีเจ้าของที่แท้จริง เพราะคงไม่มีใครอยากถือหุ้นธุรกิจที่ไม่ดี หลายบริษัทถูกมือดีกว้านซื้อหุ้น ในระดับที่ไม่ถูกบังคับทำ tender offer แต่สามารถควบคุมการบริหารได้ เพราะผู้ถือหุ้นรายอื่นกระจายตัว รวบรวมเสียงไม่ได้ หลังจากนั้นจะถูกเข้าไปสูบเงินออกจากบริษัท ผ่านรายจ่ายต่างๆ อาทิ เอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ในราคาแพงเกินจริง (แน่นอนว่าน่าจะมีเงินทอน) ค่าตอบแทนผู้บริหารที่สูงเกินควร ในช่วงตลาดหุ้นปกติหรือซบเซา หุ้นเหล่านี้จะแสดงผลขาดทุนตลอดเวลา ทั้งปีทั้งชาติ จวนเจียนจะถูกพักการซื้อขายรอมร่อ แต่เมื่อได้เวลา ฟ้าเปิดเมื่อไหร่ ตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก หุ้นตัวเล็กๆ มีแรงเก็งกำไรสูง หุ้นเหล่านี้จะถูกดันราคาขึ้นมหาศาล ตามด้วยสูตรสำเร็จ จะขยายไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังร้อนแรงในขณะนั้น [ปี 2564 ต้อง Hemp - Crypto - EV เท่านั้น] แต่นักลงทุนต้องเพิ่มเงินนะจ๊ะ :8) ผ่านการอัดข่าวดีจากผู้บริหาร เมื่อนักลงทุนเคลิบเคลิ้มกับ story จนหลงเพิ่มทุน บริษัทก็รอดตาย กระบวนการสูบเงินของผู้บริหารออกจากบริษัท (อย่างถูกกฎหมาย) ก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง จนกว่าเงินจะเริ่มหมด กระบวนการก็จะย้อนกลับไปใหม่ เป็นวงจรอุบาทที่เกาะกินตลาดหุ้นไทยมาช้านาน ตลาดทุนแทนที่จะเป็นแหล่งระดมทุนให้กับธุรกิจที่สร้าง productivity สูงสุด กลับไหลเข้าสู่มือผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ เราจะโทษใคร นักลงทุนที่ไม่รู้เท่าทัน ผู้บริหารเจ้าเล่ห์ หรือ ตำรวจที่ไม่ทำหน้าที่ ?

พายุ Cryptocurrency หรือเงินดิจิตอล เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 12 ปีที่แล้ว โดยมี Bitcoin เป็นเงินสกุลแรก เนื่องจากเป็นของใหม่ ยังไม่มีคนเข้าใจมากนัก ทำให้ความนิยมซื้อ - ขาย ค่อนข้างผันผวน บางช่วงได้รับความนิยม บางช่วงซบเซาจนแทบสาบสูญ แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เงินดิจิตอลเหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมหาศาล อานิสงค์จากเริ่มมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามาลงทุน การเกิดขึ้นของเงินสกุลใหม่ๆอย่างมากมาย รวมถึงเม็ดเงินใหม่จากนักเก็งกำไรหนุ่มสาวทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาซื้อขาย ทำให้เงินหลายสกุลให้ผลตอบแทนหลายเท่าตัว ยิ่งทำให้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Crypto Fever ในสังคมไทย ภาพเด็กมัธยมต้น โพสต์รูปโชว์กำไรที่ทำได้จากการซื้อขายคริปโต เด็กๆ รบเร้าขอเงินพ่อแม่ 500 บาท เพื่อไปซื้อคริปโตตามเพื่อนๆ :shock: ... ผมไม่รู้จริงๆ ว่าตอนจบของเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ตลาดคริปโตอาจเติบโตมากกว่านี้ ได้รับความนิยมมากกว่านี้ หรืออีกทาง อาจจะหายสาบสูญไปเลย เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่จากประสบการณ์ ในตลาดหุ้นก็เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ การแห่ลงทุนในธุรกิจต่างๆตามกระแส ที่ส่วนใหญ่ มาแล้วก็ไป เกิดแล้วดับในเวลาอันรวดเร็ว ในฐานะนักลงทุนที่ลงทุนมานานพอสมควร อยากให้คนที่จะลงทุน หรือคนที่ลงทุนอยู่แล้วในตลาดคริปโต ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ท่านได้เข้าใจไหม คริปโตที่ท่านลงทุนมีอรรถประโยชน์อย่างไร มีมูลค่าได้อย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่ อนาคตจะเป็นอย่างไร เก็บรักษาอย่างไร หากหาย โดนโกง ท่านจะไปเอาคืนหรือร้องเรียนเอาจากใคร หากท่านตอบคำถามเหล่านี้ได้ อย่างมีเหตุ มีผล ท่านน่าจะได้ไปต่อ แต่ถ้าไม่ คริปโตเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากฝิ่นดิจิตอล ที่ทำให้ผู้คนหลงเมามัวในการเก็งกำไร ภายใต้บ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย


กัญชาพาฝัน หนึ่งใน story ร้อนแรง ที่มีการใช้เป็นประเด็นผลักดันราคาหุ้นให้ร้อนแรงในปี 2564 คือนโยบายการทำกัญชา (รวมถึงพืชกระท่อม) ให้ถูกกฎหมาย ถึงแม้วันนี้ยังไม่สามารถค้าขายพืชกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้ 100% แต่ทิศทางก็เป็นแนวทางผ่อนคลายการซื้อ- การขาย มากขึ้นเรื่อยๆ.. จากของที่ผิด กลายเป็นของที่ถูก ของที่อยู่ใต้ดิน กลับมาอยู่บนดิน ความตื่นเต้นก็บังเกิด ข่าวบริษัทจดทะเบียนหลายสิบรายแห่ประกาศข่าวจะมาทำธุรกิจกัญชา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หรือแทบไม่เกี่ยวข้องเลย บางบริษัทเคยทำยางรถจักรยาน ผลิตไฟฟ้า ก็จะมาทำกัญชา บางบริษัทถึงกับลงทุนเปลี่ยนชื่อบริษัทให้ฟังดูคล้ายกัญชา การประกาศข่าวดี ราคาหุ้นที่ร้อนแรง เป็นส่วนผสมลงตัว ที่ทำให้นักลงทุนเคลิบเคลิ้มราวกับได้เสพกัญชาจริงๆ...แต่เอ..เดี๋ยวก่อน :x ฟังดูเหมือนคุ้นๆไหม หลายปีก่อนในตลาดหุ้น มีกระแสหลายสิบบริษัทแห่มาทำธุรกิจพลังงานทดแทน ทุกบริษัทออกข่าว อย่างโน้นอย่างนี้ จะได้กำลังการผลิตกี่ MW จนนักลงทุนหลงเชื่อ ไล่ซื้อหุ้นกันอย่างร้อนแรง กว่าจะได้สติ ราคาหุ้นก็สลิงขาดลงมาแล้ว ก่อนความจริงปรากฎว่า รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ทุกบริษัทให้ข่าวรวมกันจำนวนหลายพัน MW ทั้งที่สัญญาจริงที่รัฐบาลเปิดให้ประมูลแค่หลักร้อย MW สรุปนั่นคือบริษัทเหล่านี้ให้ข่าวเกินจริง เพื่อผลักดันราคาหุ้น กว่าความจริงจะปรากฏ คนให้ข่าวก็โกยกำไรก้อนโตไปแล้ว สตอรี่กัญชาก็เช่นกัน หากเราเชื่อว่าคนไทยจะกินกัญชาแทนผัก จะมีกัญชาในแทบทุกผลิตภัณฑ์ที่ขาย ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมอาจมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป



ค่าต๋งตลาดหุ้น ปลายปี 2564 มีข่าวว่ารัฐบาลนำโดย รมว.การคลัง เสนอแนวคิดจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นอีกครั้ง หลังจากได้รับการยกเว้นการจัดเก็บมายาวนาน เบื้องต้นเสนอจัดเก็บที่ 0.1 % ของมูลค่าการขายที่เกิน 1 ลบ.ต่อเดือนเพียงขาเดียว (มูลค่าขาย 1 ล้านเสียภาษี 1 พันบาท ขาซื้อไม่ต้องเสีย) แน่นอนว่าเสียงสะท้อนจากสังคมนักลงทุนย่อมไม่เห็น นัยว่าทำอย่างนี้ ไม่ส่งเสริมการลงทุน จะทำให้มูลค่าการซื้อขายลดลง จะทำให้นักเก็งกำไรหนีจากตลาดหุ้นไปซื้อขายในตลาดคริปโตมากขึ้น [ ซึ่งก็น่าจะจริง หากกฎหมายมีผลบังคับใช้] ในฐานะที่เป็นนักลงทุนรายหนึ่ง ผมย่อมไม่เห็นด้วย แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมกลับเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า นักลงทุนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ให้รัฐบาลนำเงินไปพัฒนาประเทศ สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ หรือใช้หนี้เงินที่กู้มารับมือกับวิกฤติโควิด ..ที่ผ่านมานักลงทุนเสียภาษีทางอ้อมผ่าน vat ที่เก็บจากค่าธรรมเนียมซื้อขาย หรือเสียภาษีหัก ณ.ที่จ่ายจากเงินปันผล แต่ผมคิดว่าเป็นการเสียที่น้อยเกินไป การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ยังทำให้ต้นทุนเจ้ามือหุ้น มีต้นทุนการปั่นหุ้นสูงขึ้น ซึ่งจะลดการเก็งกำไร ที่น่าจะมากเกินไปในปีที่ผ่านมา ผมคาดหวังเพียงว่าภาษีที่ถูกเก็บไป จะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อไป :?

ม้ายูนิคอร์น 3 ตัว หลังจากปล่อยให้ชาติเพื่อนบ้านอาเซียนล้ำหน้ามาหลายปี ในที่สุด สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ( มูลค่าบริษัทเกิน 1 พันบ้านเหรียญสหรัฐ) ก็ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ตัวเดียว แต่เกิดพร้อมๆ กันถึง 3 ตัว ได้แก่ แพลช เอ็กซ์เพรส -ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์, แอสเซนด์ มันนี่- ธุรกิจการเงินดิจิตอล และ บิทคับ ออนไลน์ – ธุรกิจกระดานซื้อขาย Cryptocurrency (นอกจากนั้นยังมียูนิคอร์นที่มีคนไทยร่วมก่อตั้งในอินโดนีเซียคือ Ajaib ทำธุรกิจแพลทฟอร์มซื้อขายหุ้น ) เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับประเทศไทย ที่จะมีธุรกิจดิจิตอลใหม่ๆ ที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น และยังเป็นแบบอย่าง กำลังใจ ให้กับสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ให้มีแรงใจสร้างธุรกิจต่อไป ถึงแม้ว่าสถานะสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในวันนี้ ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จในระยะยาวก็ตาม

X ขึ้นยานแม่ ปี 2564 มีอีกปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในตลาดทุนนั่นคือกระแสการเปลี่ยนชื่อบริษัทให้มีตัวเอ็กซ์ นัยว่าเพื่อเน้นรุกธุรกิจดิจิตอลในอนาคต รับมือกับการดิสรัปชั่น ที่จะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือเพื่อล้างภาพเน่าๆ ของบริษัทในอดีตออกไป ซึ่งก็ได้ผลจริง แทบทุกบริษัทที่เปลี่ยนชื่อและเติมตัวเอ็กซ์ จะตามมาด้วยราคาหุ้นที่ร้อนแรง บริษัทใดอยากให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและเติมตัวเอ็กซ์เข้าไป นั่นเพราะตัวเอ็กซ์เป็นสัญลักษณ์ของความเท่ห์ ความทันสมัย น่าค้นหา.. ในระยะสั้นการทำเช่นนี้ อาจจะมีผลผลักดันราคาหุ้นได้จริง แต่ในระยะยาว นักลงทุนย่อมรู้ดีว่า ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับว่า ธุรกิจจะสามารถแข่งขันและสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน เราเลือกหุ้น หุ้นมันก็เลือกเรา ทุกบริษัทล้วนประชันขันแข่ง แต่งหน้าทาปาก เพื่อให้เราเลือกมัน แต่สุดท้ายบริษัทจะเป็นเงาะซ่อนรูป หรือสวยแต่รูปจูบไม่หอม การวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน มีเหตุมีผลเท่านั้น ที่จะให้คำตอบได้

เจอ จ่าย จบเห่ ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ไม่ปกติของแวดวงบริษัทประกันภัย บางบริษัทประกันภัยถูกปิดกิจการ บางบริษัทขาดทุนหนักต้องเพิ่มทุน สาเหตุเพราะเสียหายหนักจากประกันภัยโควิด ทั้งที่ปีก่อนหน้าสร้างกำไรมหาศาล จากกรมธรรม์ ชนิดเดียวกัน เรื่องราวอย่างนี้สอนอะไรเรา การละเลยการบริหารความเสี่ยง การมองแง่ดีมากเกินไป จุดอ่อนเพียงนิดเดียวก็ทำให้เกิดหายนะได้ ดังส้นเท้าของ Achilles ..นักลงทุนที่อยู่รอดในระยะยาวได้ ต้องบาลานซ์ทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง จะมีประโยชน์อะไร หากบางปีเรากำไรมหาศาล หรือกระทั่งกำไรจนคนอื่นอิจฉาติดต่อกันหลายปี แต่พลาดเพียงครั้งเดียว เอาถึงตาย การยอมรับผลตอบแทนที่น้อยลง ย่อมดีกว่าการกลับไปเริ่มต้นใหม่ มิใช่หรือ ?

ถิ่นกาขาว ผู้ดีเดินตรอกขี้ครอกเดินถนน กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย - น้ำเต่าน้อยกลับถอยจม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ท่านคิดว่าสุภาษิตใดเหมาะสุด ที่จะใช้อธิบายตลาดหุ้นไทยในปี 2564 ?.. ตลาดทุนที่ควรจะมีบทบาทจัดสรรเงินทุนให้กับธุรกิจที่ดีที่สุด กลับไหลไปสู่บริษัทที่น่ากังขา เมื่อหันไปดู 20 อันดับแรก หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาด แทบไม่มีตัวใด ที่ราคาขึ้นมาแบบปกติ ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น เราอยากเห็นตลาดหุ้นเราเป็นเช่นนี้หรือ :evil: การเก็งกำไรไม่ใช่สิ่งผิดหรือเลวร้าย แต่อะไรที่สุดโต่งเกินไป มักจบไม่สวย หากสังเกตสักนิด หุ้นที่ขาดทุนมากสุดของทุกปี ก็คือหุ้นที่เคยมีการเก็งกำไรสุงสุดในปีก่อนหน้านั่นเอง .. ปี 64 นักลงทุนได้เห็นทั้งการปั่นหุ้นที่ไม่พื้นฐานรองรับ หรือหุ้นที่พื้นฐานธรรมดาๆ ให้ดูเหมือนเป็นหุ้นที่ดีมาก พร้อมกับราคาที่ขึ้นไปหลายเท่าตัว ก่อนประกาศเพิ่มทุนที่ราคาต่ำกว่าตลาด แต่สูงกว่าราคาพื้นฐานมาก แล้วได้เงินก้อนโตจากนักลงทุน เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวิธีการเดิมๆ ที่ยังได้ผลดี ไม่เคยล้าสมัย

ปีที่ผ่านมาเช่นกัน น่าจะเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการการสกัดการเก็งกำไร มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นมา แต่ดูเหมือนมาตรการเหล่านี้แทบไม่ระคายผิว หลายกรณีเมื่อประกาศ ราคาหุ้นกลับขึ้นเย้ย นั่นแสดงว่าอาวุธหรือเครื่องมือของทางการใช้ไม่ได้ผลแล้ว แม้จะมีข่าวการปรับปรุงให้เข้มข้นขึ้น แต่นั่นจะทันกับโจรหรือเปล่า เมื่อโจรไม่กลัวตำรวจ มี DELTA ได้ ไม่โดนจับ ก็ย่อมมี JTS ...เมื่อไม่มีใครคุ้มหัวเราได้ เรานักลงทุน ก็ต้องปกป้องตัวเอง อย่าเห็นผิดเป็นชอบ แยกให้ออก ทองหรือกรวด อย่าให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบิดเบือนให้เราเขว :8)

เล่นขายของกันเอง ปี 2564 มีปรากฏการณ์เด่นชัดในแวดวงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั่นคือ การจับคู่ซื้อขายหุ้นกันเองของบริษัทจดทะเบียน โดยแทบไม่ได้มีการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่มักซื้อขายในสัดส่วนที่ไม่ถูกบังคับให้ต้องทำ tender offer และซื้อขายในระดับราคาสูงๆ จนน่าสงสัยว่าเบื้องหลังมีผลประโยชน์ตอบแทนกันหรือไม่ หลายบริษัทเอาบริษัทลูกมา spin off เพื่อหาเงินจากนักลงทุนอีกรอบ หรือบางบริษัทก็เอาธุรกิจเดิมมาทำเป็น PO หาเงินอีกครั้ง การจับคู่ซื้อขายกันเองเช่นนี้ อดคิดไม่ได้ว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในสภาวะที่ตีบตัน เงินล้น แต่ไม่มีของใหม่ๆ ก็ต้องหมุนของเก่า มาซื้อๆขายๆ ไป :roll:

อนึ่ง ปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นปีที่น่า “ ใจหาย ” สำหรับวงการนักลงทุนวีไอ เมื่อเพื่อนของเราบางท่านได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยไม่ทันได้ร่ำลา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ทราบมาว่า 4-5 ปี ที่ผ่านมา มีสุภาพบุรุษนักลงทุนวีไอได้จากเราไปถึง 4-5 คน ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา หลายคนผมรู้จักดี บางคนรู้จักผิวเผิน แต่ทุกคนล้วนอายุน้อยกว่าผมทั้งสิ้น ความเกิดแก่เจ็บตาย ทุกคนหลีกไม่พ้น หนีไม่ได้ แต่การจากไป ก่อนกาลอันควร เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ ..ขอให้น้องๆ ทุกท่านได้เจอกับภพภูมิที่ดี หากชาติหน้ามีจริง เราจะได้เจอกันอีกครั้ง

หากมีอะไรที่เราจะเรียนรู้ได้บ้าง ในฐานะนักลงทุน เมื่อเรายังหนุ่มสาว คงไม่มีใครคาดคิด ว่าตัวเราจะเป็นอะไรในวันนี้ แต่อย่างที่เราเห็น มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่พ้น และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่เราพอจะทำได้ คือการเตรียมตัว ตายก่อนตาย เพื่อที่ว่าเราจะจากไปอย่างสบายใจ และไม่ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังเดือดร้อน.. อย่างน้อยๆ คนในครอบครัวควรรู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น จะต้องทำอย่างไรกับพอร์ตการลงทุน ทำอย่างไรกับสินทรัพย์นั้น มีสินทรัพย์อะไรที่เราซ่อนเร้นไว้หรือเปล่า มีรหัสอะไรที่จำเป็นต่อการเข้าถึงสินทรัพย์นั้นๆหรือไม่ วันนี้เราได้เตรียมตัวกับ “วันนั้น” หรือยัง ?


“เมื่อเราสุขสบาย ความปรารถนามีหมื่นอย่าง แต่เมื่อป่วยไข้ ความปรารถนาเหลืออย่างเดียว”

กฤษฎา บุญเรือง



(กระทู้นี้ล็อค อ่านได้เพียงอย่างเดียวครับ)

Re: ขอถามคุณลูกอีสาน เรื่องเทคนิคการปรับพอร์ตครับ

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 01, 2023 1:18 pm
โดย ลูกอิสาน
แจ้งข่าว ต่อไปผมจะโพสต์กระทู้สวัสดีปีใหม่ในห้อง Value investing แทนครับ