หุ้นพลังงานยังน่าลุ้นทั้งน้ำมัน โรงกลั่น โรงไฟฟ้า และถ่านหิน
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Wednesday, January 30, 2008
ในการสัมมนา เคล็ดลับวิธีวิเคราะห์ หมวดพลังงานและปิโตรเคมี แนวโน้มและหุ้นเด่น ในงานมหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 2551 ปีที่ 6 ได้กล่าวถึงการแบ่งประเภทหุ้นในกลุ่มพลังงานออกเป็น 5 หมวดด้วยกันคือ
1. หมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น บมจ. ปตท. (PTT) และ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)
2. หมวดโรงกลั่น เช่น บมจ. ไทยออยล์ (TOP)
3. หมวดถ่านหิน เช่น บมจ. บ้านปู (BANPU)
4. หมวดผลิตไฟฟ้า เช่น บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)
5. หมวดการบริการ เช่น บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS)
ผู้เชี่ยวชาญแนะลงทุนธุรกิจพลังงานครบวงจรดีกว่าธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันว่า ใน
ภาพรวมธุรกิจนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
1. ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) คือ ผู้ทำธุรกิจขุดเจาะและสำรวจ ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงบริษัทเดียวคือ
PTTEP
2. ธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) แบ่งเป็น
2.1 ธุรกิจโรงกลั่น (Refinery) เช่น
TOP
2.2 ธุรกิจการตลาด เช่น สถานีบริการน้ำมัน ผู้ให้บริการน้ำมันเตาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
กลุ่มธุรกิจปลายน้ำจะมีรายได้หลักมาจาก 2 ทางด้วยกันคือ
- ค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin: GRM) ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบ
- ค่าการตลาด (Marketing Margin: MKM) ส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันกับราคาหน้าโรงกลั่น
ทั้งนี้ กำไรของกลุ่มธุรกิจปลายน้ำจะขึ้นอยู่กับส่วนต่างของค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยบริษัทที่ทำทั้งธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจการตลาดไปพร้อม ๆ กันจะเรียกว่าเป็น Integrated Company เช่น บมจ. บางจาก (BCP) ที่ธุรกิจจะพึ่งพาซึ่งกันและกัน และสามารถตอบรับกับสถานการณ์น้ำมันที่ผันผวนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากธุรกิจน้ำมันมีความเสี่ยงสูง ในบางครั้งค่าการกลั่นสามารถสร้างรายได้ได้ดีกว่าค่าการตลาด และในทางกลับกันในบางช่วงเวลาก็ต้องพึ่งพารายได้จากค่าการตลาดแทนค่าการกลั่น
ส่วน PTT นับเป็นเอกชนรายเดียวของประเทศไทยที่ทำธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำไปพร้อมกัน (Fully Integrated) จึงได้รับความนิยมสูงจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะในต่างประเทศบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่จำเป็นต้องทำธุรกิจให้ครบวงจรเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ปัจจัยกดดันราคาน้ำมันปีนี้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันได้แก่
1. ปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น เรื่อง Demand Supply และภาวะเศรษฐกิจ
2. ปัจจัยทางด้านเทคนิค เฉพาะธุรกิจน้ำมัน การกลั่น การขนส่ง และการซ่อมบำรุง
3. ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนได้มากที่สุด อาทิ เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศผู้ผลิต สงคราม และการก่อการร้ายโจมตีท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น
4. ภัยธรรมชาติ
5. เก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสบิดเบือนได้มากที่สุด เดิมปัจจัยนี้จะมีผลต่อราคาน้ำมันเพียง 5% เท่านั้น แต่ในปัจจุบันการลงทุนของกองทุนเพื่อการเก็งกำไร (Hedge Fund) ทำให้ปัจจัยด้านการเก็งกำไรนี้เพิ่มสัดส่วนความสำคัญต่อการกำหนดราคาน้ำมันถึง 20-25%
6. ค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทำให้กองทุนต่าง ๆ โยกเงินมาเก็งกำไรในราคาน้ำมันแทน
ปี 2550 เป็นปีที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ที่จริงแล้วหากคิดเป็นราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะไม่สูงนัก สำหรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้สูงสุดอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล ต่ำสุดอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล ส่วนราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันที่ซื้อขายในตลาดต่าง ๆ ในปีนี้เป็นดังนี้
- ตลาดนิวยอร์ค 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล
- เบรนท์ทะเลเหนือ 70-90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล
- น้ำมันดิบดูไบ 60-80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล
- น้ำมันเบนซินในประเทศ 30-35 บาทต่อลิตร
- น้ำมันดีเซล 28-30 บาทต่อลิตร
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะนี้ได้แก่ การใช้น้ำมันของผู้ใช้รายใหญ่คือ สหรัฐฯที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน (โอเปก) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 51 เรื่องกำลังการผลิต ปริมาณน้ำมันสำรอง เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสภาพอากาศในประเทศตะวันตกที่ไม่หนาวอย่างที่คาดกัน
นายมนูญยังกล่าวอีกว่า กิจการพลังงานของประเทศไทยจะมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อมีการผ่านพ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) ขึ้นมากำกับดูแลกิจการพลังงานทั้งหมดของประเทศในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ หรือการดูแลเรื่องท่อก๊าซ เป็นต้น
บล.ซีมิโก้แนะลงทุนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปันผลดี แม้ผลประมูล IPP จะผ่านไปแล้ว
นายธีรภัทร เมธานุเคราะห์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ กล่าวว่า สหรัฐฯเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ติดอันดับหนึ่งสี่ของโลก และบริโภคถ่านหินหนึ่งในห้าของโลก ซึ่งหมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯถดถอย ก็จะมีความเป็นไปได้ที่การใช้น้ำมันของโลกจะชะลอตัวลง และทำให้ราคาน้ำมันลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจด้านน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาน้ำมันลดลงนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากแหล่งผลิตและการผลิต (Supply) ขยายตัวไม่ทันตามความต้องการของผู้ใช้ ดังนั้นหากราคาน้ำมันและราคาหุ้นพลังงานลดลงเพียงชั่วคราว ก็ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าซื้อเพื่อสะสมหุ้นพลังงาน
นักวิเคราะห์จากบล.ซีมิโก้ยังกล่าวถึงการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าว่า ยังน่าสนใจอยู่แม้ว่าการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ได้ผ่านไปแล้ว โดยตัวเก็งอย่าง
บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ RATCH ไม่ชนะการประมูล และการประมูลครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ตาม เพราะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าถือว่าเป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ และสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยซีมิโก้แนะลงทุนใน บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) และ RATCH
สำหรับ
หมวดปิโตรเคมีบล.ซีมิโก้แนะนำบมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) ซึ่งมีความโดดเด่นในสายโอเลนฟินส์ อีกทั้งยังมี Demand ในตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาของผลิตภัณฑ์ที่กลับมาสูงอีกครั้งในช่วงต้นปี และในปี 2552 จะมีกำลังการผลิตจากการขยายไปในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ยังแนะนำให้ ซื้อบมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) เพราะในช่วงปลายปีกำลังการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากปิโตรเคมีที่เป็นผลพลอยได้ตามมาด้วย โดยให้มูลค่าเหมาะสมไว้ที่ 53 บาท ซึ่งหากราคาลดลงก็ถือว่าเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ
ส่วนกลุ่มน้ำมันยังคงแนะนำ PTTEP ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ยังมี BCP ที่กิจการมีแนวโน้มฟื้นตัวจากค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น การมีธุรกิจค้าปลีกของตัวเองผ่านทางสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา ก็ล้วนสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งสิ้น
บล. กิมเอ็งเผยราคาเป้าหมายหุ้นน่าลงทุน
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะหลักสำคัญในการเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานว่า ควรพิจารณาถึงศักยภาพในการทำธุรกิจว่ามีแนวโน้มที่กำไรจะเติบโตขึ้นหรือไม่ เหมือนกับหุ้น BANPU ที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เพราะกำไรจากโรงไฟฟ้า BLCP และราคาถ่านหินในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หรืออย่าง PTTEP ที่น่าจะมีผลกำไรเติบโตได้ดีในอนาคต อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากแหล่งต่าง ๆ
โดย บล. กิมเอ็ง ให้มูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นต่าง ๆ ไว้ดังนี้
- TOP 99.50 บาท
- PTTCH 150 บาท
- PTTEP 193 บาท
- PTTAR 55 บาท
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Sto ... fault.aspx