http://www.manager.co.th/Local/ViewNews ... 0000130546
สงครามและการเมือง ปฐมเหตุการลี้ภัยของมลายูมุสลิม
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 กันยายน 2548 15:16 น.
ศูนย์ข่าวอิศรา...อารีฟิน บินจิ
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวมาลายูมุสลิมจากหลายอำเภอใน จ.นราธิวาส จำนวน 131 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างอพยพลี้ภัยไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลก สนใจ
การอพยพของชาวมลายูปัตตานี มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในอดีตนั้นเคยมีมาอย่างต่อเนื่อง
นับแต่สมัยสุลต่านอะหมัด ได้รับสถาปนาเป็นสุลต่านปัตตานีเมื่อปี 1776 (พ.ศ.2319) และได้เสียชีวิตจากสงคราม ปี ค.ศ 1785 (พ.ศ.2328) ผลของสงครามชาวมลายูถูกกวาดต้อนเข้าสู่บางกอกกว่า 4,000 คน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งประมาณ 20,000 คน ก็อพยพลี้ภัยไปยังดินแดนเมืองมาลายูที่เป็นเพื่อนบ้าน จนมีการกล่าวกันว่ายุคนั้น ผู้ชายแม้จะเชือดไก่ทำแกงก็ไม่มี (เพราะตายในสงครามและอพยพลี้ภัย)
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ ผู้เขียนได้ไปประชุมเรื่องปัญหาชายแดนที่ประเทศมาเลเซีย ได้พบวารสารที่ชื่อว่า Agama & Falsafah หรือแปลเป็นไทยว่า วารสาร ศาสนา และปรัชญา ประจำเดือนกรกฎาคม 2005 ก่อนเหตุการณ์อพยพที่นราธิวาส หน้าปกเป็นภาพของชายโพกศีรษะซึ่งเป็นแบบอย่างของ โต๊ะครู มีชื่อเรื่องข้างๆว่า Tuan Guru Haji Husien Penggerak Latihan Untuk Pejuang Pattani หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า ต่วนฆูรู ฮัจญีฮุสเซ็น ผู้นำการต่อสู้เพื่อชาวปัตตานี โดย Ramli Abdul Halim เป็นผู้เขียน
จึงขอสรุป ส่วนที่น่าสนใจของวารสารดังกล่าวมานำเสนอ ณ ที่นี้
...การตกอยู่ภายใต้สยามของปัตตานีในปี พ.ศ.2328 มาจากความพยายามของสยามเมื่อก่อนหน้านั้น จนถึงครั้งนี้รวม 5 ครั้ง (ปี พ.ศ.2146, 2175, 2176 และ 2181)
ในคราวนั้น ได้มีการอพยพของบรรดาชาวปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรดาอาลิม อูลามาอฺ หรือโต๊ะครู ซึ่งเป็นทั้งผู้นำศาสนาผู้ให้การศึกษาแก่ชุมชน และบางทีก็เป็นผู้นำการต่อสู้ ในหมู่นักต่อสู้ชาวมุสลิมปัตตานีด้วย
ในบรรดาผู้นำเหล่านั้นมี ต่วนฆูรู ฮุสเซ็น ปารัง ปันยัง หรือชื่อจริงว่า ต่วนฆูรู ฮัจญีฮุสเซ็น บิน ต่วนฆูรู ฮัจญีอิสมาแอล หรือ ต่วนฆูรู หะยีเจ๊ะโด บินมุสตาฟาร์ เป็นผู้ที่ถูกกล่าวขานกันมาก
ความจริงที่เกิดขึ้น หลังสงครามครั้งที่ห้าในปี พ.ศ.2328 ชาวมาลายูมุสลิมปัตตานี ไม่อาจจะต้านทานนโยบายที่เรียกว่า แบ่งแยกและปกครอง อันเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์สำคัญที่จะรักษาอำนาจของสยามไว้
จากนโยบายดังกล่าว ทำให้ปัตตานีถูกแยกออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย (7 หัวเมือง) ได้ก่อให้เกิดการต่อต้านจากชาวมลายูปัตตานี คือตั้งแต่ 2330 เป็นต้นมา เหตุการณ์นั้นได้เพิ่มความรุนแรงในระดับสูงในปี 2493
การต่อต้านอำนาจสยามเริ่มตั้งแต่ เต็งกูลัมมีเด็น และดาโต๊ะปังกาลัน ได้ทำให้การปกครองของสยามต่อปัตตานีมีผลกระทบรุนแรง แม้บุคคลทั้งสองนั้นจะได้การแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองปัตตานีจากสยาม ก็ตาม
ครั้นต่อมาสยามได้แต่งตั้ง เต็งกูสุหลง (พ.ศ.2358-2375) ซึ่งเป็นหลานของดาโต๊ะปังกาลัน เป็นเจ้าเมืองปัตตานีแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่เป็นชาวสยาม ในสมัยของท่าน ท่านได้ซ่อมแซมมัสยิดกรือเซะที่เสียหายจากสงครามในปี 2328 ซึ่งในยุคนั้นปัตตานีได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางที่ชาวเอเชียอาคเนย์ต่างมุ่งหน้ามาตักตวงความรู้ทางศาสนาอิสลามกันที่ปัตตานี
ในปี 2374 เต็งกูสุหลงได้ร่วมกับ ซัยค์ ซัยนัล อาบีดีน หรือรู้จักกันในนามว่า เต็งกู เด็น หลานสุลต่านเคดะห์ ทำสงครามกับสยามโดยมีเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ปัตตานีมาก่อนให้การสนับสนุน
สงครามครั้งนั้น ซัยค์ ดาวูด อับดุลลอฮฺ อัล-ฟาฎอนี เลือดเนื้อชาวปัตตานีที่ไปอยู่มักกะฮ์ ก็เดินทางกลับปัตตานีเพื่อร่วมทำสงคราม ซัยค์ดาวูด เป็นอูลามะอฺ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของมุสลิมในเอเชียอาคเนย์ ท่านเป็นผู้แต่งตำราทางศาสนาไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง หลังสงครามครั้งนั้นท่านก็ได้เดินทางลี้ภัยไปยังเมือง มักกะฮฺ อีกครั้งหนึ่ง และท่านก็ได้เสียชีวิตที่นั่น
ในสงครามครั้งนั้นเช่นเดียวกัน ที่ แซะห์ อับดุซ ซามัด อัล- ฟาลิมบานี นักเขียนตำรา ตาซาวุฟ ที่โลกมลายูรู้จักดี ได้เข้าร่วมทำสงครามด้วย แต่ท่านได้เสียชีวิตในสงคราม (ศพท่านถูกฝังไว้ในเขต อ.จะนะ จ.สงขลา ยังปรากฎร่องรอยจนปัจจุบัน) นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนกำลังคนในการทำศึกครั้งนี้จากรัฐกลันตันและตรังกานูอีกด้วย
ผลจากสงครามครั้งนี้คือความพ่ายแพ้ ชาวมลายูจำนวน 6,000 คนถูกจับเป็นเชลยเข้ากรุงเทพฯ และ 4,000 คนลี้ภัยสงครามไปยังรัฐมลายูอื่นๆ
แม้ว่าสงครามครั้งนั้นชาวมลายูได้รับความสูญเสีย แต่การต่อสู้ของบรรดาอูลามะอฺ ในปัตตานีก็ยังคงดำเนินต่อไป เช่น ซัยค์นิเดร์ อัล-ฟาฎอนี, ฮัจญี วันอะหมัด บินมูฮัมหมัดเซ็น บินมุสตาฟาร์ อัล-ฟาฎอนี, และซัยค์นิมะ กือจิ อัล-ฟาฎอนี เป็นต้น
แรงกดดันจากสยามที่มีต่อบรรดา อาลิม อูลามะอฺ รวมทั้งบรรดาโต๊ะครูโรงเรียนปอเนาะต่างๆโดยเฉพาะผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากฟากิฮ์ อาลี มัลบารี ต้องถอยร่นลี้ภัยไปยังแผ่นดินมาลายู รวมทั้งเกาะแก่งต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในบรรดาอูลามะอฺ ที่ลี้ภัยจากปัตตานีนั้น ก็มีซัยค์อับดุลกาเดร์ บูกิตบายะห์ ที่อพยพไปยังตรังกานู ซึ่งต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นมุฟตี (ผู้ชี้ขาดข้อพิพาททางศาสนา หรือ ฟัตวา) ของรัฐตรังกานู ต่อมา ซัยค์อับดุลเลาะห์ หรือรู้จักกันในนาม โต๊ะกู ปูลาดูยง ท่านได้รับเกียรติและได้รับการขนามนามว่า ไซคุล อูลามะอฺ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นมุฟตีของรัฐตรังกานูอีกผู้หนึ่งหลังจาก ท่านซัยค์อับดุลกาเดร์เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอูลามะอฺ อีกท่านหนึ่งอพยพไปยังตอนเหนือของแหลมมาลายู คือ ฮัจญีวันอิดริส ฮัจญีวันจามัล หรือที่รู้จักกันในนาม โต๊ะซัยค์ จารุม ท่านได้เปิดปอเนาะขึ้นที่บ้านดูรฆา ถนนลังงาร์ อลอสตาร์ รัฐเคดะห์
มีผู้อพยพไปยังเมืองเคดะห์อีกผู้หนึ่งคือ ฮัจญี อิสมาแอล์ หรือ ฮัจญีเจ๊ะโดล์ บินมุสตาฟาร์ ที่เปิดปอเนาะที่กูวา จือปือเดาะ รัฐเคดะห์ นอกจากนั้นยังมี ซัยค์ อิบราเฮ็ม บินซัยค์ อับดุลกาเดร์ มุสตาฟาร์ บินมูฮัมหมัด อัล-ฟาฎอนี ก็เปิดปอเนาะขึ้นที่ กาเญาะมาตี เคดะห์ เช่นกัน ท่านได้รับฉายาว่า ปะจูเฮ็ง ท่านคือบุตรชายของโต๊ะบันนังดายอ(ชื่อเรียกขานของบิดาท่าน) ซึ่งเป็นผู้แต่งตำราศาสนา ที่ชื่อว่า Fathul Jalil Wa-Sifatul-Jalil และแต่งตำราอูซุลลูดดีน ที่ชื่อว่า Kawaid ul-Fiqhiyah
ซัยค์ อะหมัด ตาญูดดีน ได้เปิดปอเนาะที่ เมอเลเล, เต็งกูมะหมูด ซูห์ดี เต็งกูอับดุลเราะห์มาน ได้อพยพไปยังสะลังงอ และได้รับเกียรติจากสุลต่านสะลังงอให้เป็นไซคุล อิสลาม แห่งรัฐสะลังงอ ขณะเดียวกันนั้น ฮัจญี ไซนัล อาบีดีน บินอะหมัดหรือมูฮัมหมัด หรือที่รู้จักกันในนามว่า ตูวันมีนาล์ ซึ่งเป็นผู้แต่งตำราศาสนาที่ชื่อว่า Aqidah an-Naajin ท่านได้อพยพและไปเปิดปอเนาะที่สุไหงดูวา ซือบือรังไปร (รัฐปีนัง)
หลานชาย ตูวัน มีนาล์ ที่มีนามว่า ต่วน ฆูรู ฮัจญีสุหลง บินอับดุลกาเดร์ ได้เป็นผู้สืบต่อเจตนาของบรรดาอูลามะอฺ สมัยก่อนหน้านั้น ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวมลายูปัตตานี ในโอกาสที่ ท่านได้เดินทางกลับไปปักหลักที่ปัตตานี ท่านได้พยายามพัฒนาการศึกษาในระบบปอเนาะรูปแบบเก่า ให้ทันสมัย โดยจัดให้เป็นรูปแบบโรงเรียนสอนศาสนา จากรากฐานของมัดราซะห์ ที่เรียกว่า อัล-มะอฺรีฟ อัลวาตาเนียะห์ มัดราซะห์นี้ เป็นเสมือนโรงเรียนศาสนาเริ่มแรกในปัตตานี ที่บรรดาผู้เล่าเรียนได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับฝึกปฏิบัติในทางศาสนา
ฮัจญีสุหลง ได้ต่อสู้เพื่อชาวมลายูปัตตานีจนเสียชีวิตในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1954 การเสียชีวิตของท่านเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในบทความเขียน เกี่ยวกับการเสียชีวิตของท่านเป็นสุภาษิตไว้ว่าmelempar batu sembunyi tanganหรือ ตรงกับภาษิตไทยว่า ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หรือ ความลับไม่มีในโลก
ในยุคเดียวกันนั้น ได้มี ต่วนฮัจญีฮุสเซ็น โต๊ะเจ๊ะโดล์ บินมุสตาฟาร์ ซึ่งเกี่ยวพันใกล้ชิดทางบิดา กับ ศูนย์การศึกษาศาสนาอิสลามที่ บ้านกูวา จือปือเดาะ (รัฐเคดะห์ )
ศูนย์การศึกษาศาสนาอิสลามหรือปอเนาะ ที่ชื่อว่าอัล- อัคลาฆียะห์ได้เป็นสถานที่ฝึกวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวมาลายูอิสลามปัตตานี ต่วนฆูรู ฮัจญีฮุสเซ็น และคู่เขยที่ชื่อว่า ต่วนฆูรู ฮัจญีอึมบง ซึ่งเป็นบุตรชายของต่วนฆูรู ชาโอ๊ะ(Chaok) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องดังกล่าว ต่วนฆูรุ ฮัจญีอึมบง หรือ ที่รู้กันในนามว่าต่วนฆูรู อับดุลมาญิด หรือ ต่วนฆูรูอับดุลมาญิด อึมบง เป็นนักปาฐกถที่สามารถปลุกขวัญกำลังใจได้ดีเยี่ยม
ต่วนฆูรู ฮัจญีฮุสเซ็น ซึ่งเก่งกาจในเรื่องศีละ ฆายง หรือการต่อสู้ป้องกันตัวแบบหนึ่งของชาวมาลายู ได้รับการขนามนามว่า โต๊ะ ฆูรู ฮัจญี ฮูสเซ็น ปือรังปันยังหรือ โต๊ะครูฮัจญีฮุสเซ็นพร้ายาว มีผลงานที่ร่ำลือของท่านและลูกศิษย์ คือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์กลุ่ม 3 ดาว ที่ บูกิต ญือนุน พวกเขาใช้เพียงมีดพร้ายาวเป็นอาวุธ ทำให้พลพรรคพวกคอมมูนิสต์ ประมาณ 40 คนถูกสังหาร
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว กลุ่มทหารป่าคอมมิวนิสต์ 3 ดาว ก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาข่มเหงชาวบ้านอีก นาม ต่วนฆูรูฮัจญีฮุสเซ็น พร้ายาวนั้น เป็นชื่อที่ชาวจีนที่เคดะห์ตั้งให้ เพราะชาวจีนศรัทธาในความกล้าหาญของท่าน จนกระทั่งได้ยกย่องท่านว่าเป็นผู้วิเศษ
ต่วนฆูรู ฮุสซ็น มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับคู่เขยของท่านคือ ต่วนฆูรู ฮัจญีอึมบงซึ่งเคยเป็นครูสอนศาสนาในพระราชวังของสุลต่านเคดะห์ ท่านได้รับการอนุคราะห์จากสุลต่าน พระราชทานรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นทั่วไปไม่สามารถมีรถยนต์ใช้กันมาก่อน
การต่อสู้ของชาวมลายูปัตตานี ไม่อาจจะขยายไปได้อย่างกว้างขวาง เมื่อถึงวันบังเกิดขึ้น แล้วก็ต้องมีวันที่ต้องสูญสลายไป
อย่างไรก็ตาม เป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านต่วนฆูรู ฮัจญีวันฮุสเซ็น เป็นผู้นำศาสนา หรืออาลิ่ม อูลามะอฺ ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และได้กลายเป็นวีรบุรุษที่อยู่ในหัวใจของชาวปัตตานีทั่วแคว้นมลายูชั่วกาลนาน
ขอองค์อัลลอฮ์ ได้รับเอาดวงวิญญาณของท่าน ได้อยู่ในบรรดาผู้มุอฺมีนด้วยเถิด อามีน.
...จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่า การฮิจเราะห์ หรือการอพยพของชาวมลายูปาตานีในอดีตจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม นอกจากเขาจะนำวิชาการศาสนาอิสลามไปเผยแผ่จนได้รับความเชื่อถือจากผู้นำรัฐแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสำคัญแล้ว ยังได้จัดระบบการศึกษาที่เรียกว่า ปอเนาะ ให้แก่รัฐมลายูจนเจริญรุ่งเรือง แต่..ขณะเดียวกัน นักการเมืองไทยบางกลุ่มกำลังคิดจะยกเลิกปอเนาะ ขอถาม นักการเมืองมุสลิมในสภาไทย ยังพอมีบ้างไหม ...?
จึงเป็นบทเรียนของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทุกระดับในพื้นที่จะต้องเรียนรู้ปัญหาซ้ำซากที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองที่พยายามสร้างภาพเพื่อเอาหน้า ตลอดจนการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดในอดีตต่อมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเป็นผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือประเทศเพื่อนบ้าน
ในขณะที่ชาวมลายูปัตตานี และรัฐไทยเอง ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของตนไปโดยไม่อาจจะเรียกกลับคืนมาได้