ทำไมเขาปิดข่าว
โพสต์แล้ว: จันทร์ ม.ค. 15, 2007 5:25 pm
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3856 (3056)
ชลัช ชินธรรมมิตร์ เปิดเสรีอุตฯน้ำตาลคือ "ความคล่องตัว"
สัมภาษณ์
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ถูกจับตามอง หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศ ในข้อถกเถียงที่ว่า อุตสาหกรรมนี้สมควรที่จะเปิดเสรีหรือไม่ และคำว่า "เสรี" นั้น กินความหมายมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรค "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านพัฒนาอ้อยและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล
- อุปสรรคในการผลิตน้ำตาลให้มีคุณภาพดี
ความจริงแล้ว โรงงานน้ำตาลอยากหีบน้ำตาลคุณภาพดี แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดค่าความหวาน หรือค่า Pol ในน้ำตาลดิบนำเข้า "ไม่เกิน" 98 ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ กำหนดค่า Pol "ไม่ต่ำกว่า" 98.5 นั้น หมายความว่า ถึงโรงงานน้ำตาลอยากจะผลิตน้ำตาลดิบที่มีคุณภาพดีมากเพียงไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงผลิตไม่ได้ เนื่องจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลดิบรายใหญ่ที่สุดของไทย มีการนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 600,000 กระสอบ ใช้กลไกภาษีนำเข้าบังคับให้น้ำตาลดิบเข้าประเทศมีค่า Pol ไม่เกิน 98 หากเกินกว่านั้น จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ขณะที่เราจำเป็นที่จะต้องรักษาตลาดส่งออกน้ำตาลดิบตลาดนี้เอาไว้ให้ได้ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพน้ำตาลก็เกิดขึ้นลำบาก
- กอน.พยายามจะกำหนดประสิทธิภาพโรงงาน
ใช่ กอน.เคยพยายามที่จะออกระเบียบกำหนดประสิทธิภาพในการหีบอ้อย (ร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพอ้อย อ้อยไฟไหม้ ความบริสุทธิ์ของอ้อย และกำหนดประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาล พ.ศ. ...) ด้วยการบังคับให้โรงงานน้ำตาลแต่ละโรงต้องผลิตน้ำตาลทรายไว้ที่ 90 กิโลกรัม ณ ค่าความหวานที่ 10 CCS จากอ้อยที่เข้าหีบในโรงงานทุกๆ 1 ตัน
แต่ตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน ความจริงโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ก็หีบอ้อยเฉลี่ยทุก 1 ตันอ้อยที่ค่าความหวาน 10 CCS เกินกว่า 90 กิโลกรัมอยู่แล้ว แต่แน่นอนก็มีบางโรงงานยังทำได้ไม่ถึง ตรงนี้จะเป็นปัญหา และส่วนที่หีบเกินกว่า 90 กิโลกรัมนั้น จะให้ใคร กับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น กอน.บอกว่า เป็นมาตรการจูงใจ ผมก็สงสัยว่า เอาทฤษฎีใดมาวัดว่าประสิทธิภาพต้องอยู่ที่ 90 กิโลกรัม
ความจริงทุกโรงงานอยากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแทบทั้งสิ้น แต่หากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมของเรายังเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม หนี้เก่าก็ยังมี เราเคยเสนอให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาช่วยเหลือปล่อยกู้ในการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักร แต่ก็มาติดปัญหา กองทุนฯขาดสภาพคล่องอีก ล่าสุดเข้าใจว่า กอน.ชะลอการบังคับใช้เรื่องประสิทธิภาพในการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลออกไปแล้ว
เรื่องเอทานอลแบ่งปันกันอย่างไร
โรงงานน้ำตาลถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ กติกาปัจจุบันกำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อย กับโรงงานน้ำตาล ในระบบ 70/30 การตั้งโรงงานเอทานอลโดยนำโมลาสที่ได้จากการหีบอ้อยมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เอทานอลนั้น ถือเป็นการต่อยอดของโรงงานน้ำตาล ต้องเข้าใจว่าเราเป็นผู้ลงทุนตั้งโรงงาน เอทานอล เสร็จแล้วชาวไร่อ้อยก็ยังตามมาขอแบ่งปันผลประโยชน์จากเอทานอลอีก ซึ่งความจริงชาวไร่ได้แบ่งปันไปจากราคาโมลาสอยู่แล้ว
ปัจจุบันเราตกลงกันไว้ว่า จะใช้สูตรในการแบ่งปันด้วยการคำนวณปริมาณน้ำอ้อยไปสู่เอทานอล แล้วย้อนกลับมาเป็นน้ำตาลอีกครั้งหนึ่ง
- การเปิดเสรีอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล
ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องของกฎระเบียบถูกคุมอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน โรงงานน้ำตาลก็อึดอัด เราถูกคุมตั้งแต่อ้อยเข้าโรงงานไปจน กระทั่งถึงน้ำตาลทุกเม็ดที่หีบออกมา ชาวไร่/ส่วนราชการรับรู้ตลอด แต่พอน้ำตาลในประเทศขาดแคลน ก็มาโวยวายว่าโรงงานน้ำตาลกักตุน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ เราจะกักตุนได้อย่างไรในเมื่อควบคุมทุกขั้นตอนอย่างนี้ น้ำตาลไปไหนใครๆ ก็รู้ สุดท้ายมาโทษโรงงานคนเดียว
อย่างการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมน้ำตาลต้องทำ คำว่า "เสรี" ในความหมายของผมก็คือ ความคล่องตัว ทุกวันนี้ไม่มีความคล่องตัว ยกตัวอย่าง เรามีคณะกรรมการที่มีทั้งชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล-ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ถึง 5 ชุด ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นเลย เพราะทุกวันนี้พอมีปัญหาอะไรขึ้นมาในแต่ละชุดก็ตัด สินใจอะไรไม่ได้ กลับโยนทุกเรื่องกลับมาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กันอีก แล้วผมถามว่า จะมีอีก 4 ชุดที่เหลือเอาไว้ทำไม
- เปิดเสรีแล้ว ต้องคุมราคาหรือไม่
จะปล่อยราคาน้ำตาลขึ้นลงอย่างเสรีในระยะแรกคงไม่ได้ ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ผมคิดว่าจะต้องมีการกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศเป็นราคาขั้นสูงกับราคาขั้นต่ำเอาไว้ มีการประกาศราคาจำหน่ายเป็นคราวๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยราคานั้นจะคำนวณมาจากราคาส่งออกกับราคานำเข้า การประกาศ/บริหารในเรื่องราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะต้องมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทั้งฝ่ายโรงงาน-ชาวไร่-ผู้บริโภค เข้ามาดูแล
ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อปล่อยราคาน้ำตาลในประเทศแล้ว การตั้ง/ขยาย/ย้าย โรงงานน้ำตาล ยังจะถูกควบคุมหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าจะย้ายโรงงานน้ำตาลไปที่อื่น จะต้องตั้งห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมกี่กิโล ผู้ย้ายจะต้องมีการลงทุนสนับสนุนการปลูกอ้อยในพื้นที่ที่จะย้ายไป ใครเข้าเกณฑ์ที่กำหนดก็ย้ายไปได้เลย แต่ปัจจุบันนี้ "ไม่" ลงทุนในการปลูกอ้อยไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ย้ายโรงงาน