ตัวแทนมึน!ผู้ซื้อประกันเริ่มเมิน [ ฉบับที่ 811 ประจำวันที่ 18-7-2007 ถึง 20-7-2007]
>3 เดือนขายผ่านแบงก์ขยายตัวรดต้นคอ/ส่วนแบ่ง58-33
สมาคมประกันชีวิตไทย -
แบงก์แอสชัวรันส์คึกคัก 11 ค่ายประกันชีวิตแข่งกันโกยเบี้ยไล่รดต้นคอช่องทางตัวแทน กางตัวเลขไตรมาสแรก แบงก์แอสชัวรันส์สร้างเบี้ยใหม่กินสัดส่วนถึง 33.7% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญ พุ่งพรวดจากที่เคยอยู่ระดับเพียงไม่ถึง 20% ในปีที่ผ่านมา ไล่บี้ผลงานมือทองที่กอดไว้ 58.8% จากที่เคยครองตลาดถึง 70% ขณะช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้ง เริ่มตีตื้นแชร์ส่วนแบ่ง ได้ 4.1%
การขยายตัวในอัตราที่สูงลิ่วของธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ มาจากเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นของบริษัทประกันชีวิต จากการขยายช่องทางจำหน่ายหลากหลายช่องทาง ซึ่ง
ปัจจุบันนอกเหนือจากช่องทางจำหน่ายหลัก คือ ช่องทางตัวแทน (Agent) แล้ว ยังมีช่องทางนายหน้า (Broker), ช่องทางจำหน่ายผ่านธนาคาร หรือแบงก์แอสชัวรันส์ (Bancassurance), ช่องทางขายผ่านที่ทำการไปรษณีย์ (Post Office), ช่องทางขายตรงผ่านไปรษณีย์ (Direct Mail), ช่องทางติดต่อโดยตรงกับบริษัท (Walk in), ช่องทางขายผ่านโทรศัพท์ (Tele Marketing), ช่องทางขายผ่านองค์กร (Worksite Marketing) และช่องทางอื่นๆ (Others)
ช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ในบางช่องทาง สามารถสร้างผลงานให้บริษัทได้เป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และนับวันจะยิ่งทวีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ที่มีการกล่าวถึงกันมาก ว่ายอดขายเริ่มไต่ระดับไล่หลังยอดขายจากช่องทางตัวแทนขึ้นมาทุกขณะ แต่กระนั้นที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถวัดผลงานของแต่ละช่องทางได้ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลกลางให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นเพียงข้อมูลที่แต่ละบริษัทนำเสนอเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาพการขยายตัวแบบหายใจรดต้นคอของช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์กำลังฉายชัด เมื่อสมาคมประกันชีวิตไทย ได้แยกผลงานเบี้ยปีแรก (FYP) หรือเบี้ยใหม่เฉพาะประเภทสามัญ ซึ่งเป็นตลาดหลักของธุรกิจตามช่องทางจำหน่าย โดยในช่วงม.ค.-มี.ค.2550 ช่องทางตัวแทนมีเบี้ยปีแรกในประเภทสามัญทั้งสิ้น 4,660.427 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.8% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญทั้งหมดที่มีจำนวน 7,923.152 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยจากช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์มีจำนวน 2,669.159 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.7% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญทั้งหมด
ทั้งนี้มีบริษัทประกันชีวิต 11 บริษัทด้วยกันที่มีผลงานในช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ โดยบริษัทที่ครองแชมป์ผลงานสูงสุดในช่องทางนี้ คือ บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ด้วยเบี้ยปีแรกประเภทสามัญจากช่องทางนี้จำนวน 846.775 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 31.72% ตามด้วย อันดับ 2 บ.เมืองไทยประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 25.99% ด้วยเบี้ยจำนวน 693.644 ล้านบาท, อันดับ 3 บ.ไทยคาร์ดีฟ ประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 17.31% ด้วยเบี้ยจำนวน 462.116 ล้านบาท, อันดับ 4 บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต หรือเอเอซีพี ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 14.20% ด้วยเบี้ยจำนวน 379.120 ล้านบาท, อันดับ 5 บ.กรุงเทพประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 4.70% ด้วยเบี้ยจำนวน 125.366 ล้านบาท
อันดับ 6 บ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 3.65% ด้วยเบี้ยจำนวน 97.360 ล้านบาท, อันดับ 7 บ.แมกซ์ประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.86% ด้วยเบี้ยจำนวน 22.910 ล้านบาท, อันดับ 8 บมจ.มิลเลียไลฟ์อินชัวรันส์ (ประเทศไทย) ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.74% ด้วยเบี้ยจำนวน 19.800 ล้านบาท, อันดับ 9 บ.อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จก. หรือเอไอเอ ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.56% ด้วยเบี้ยจำนวน 14.953 ล้านบาท, อันดับ 10 บมจ.พรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.26% ด้วยเบี้ยจำนวน 6.820 ล้านบาท และอันดับ 11 บ.ธนชาตประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.01% ด้วยเบี้ยจำนวน 295,000 บาท ตามลำดับ
ส่วนช่องทางตัวแทน บริษัทประกันชีวิตที่มีผลงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เอไอเอ ด้วยเบี้ยปีแรกประเภทสามัญจากช่องทางนี้จำนวน 1,823.855 ล้านบาท ตามด้วยบ.ไทยประกันชีวิต จก. ด้วยเบี้ยจำนวน 882.048 ล้านบาท, เอเอซีพี เบี้ยจำนวน 456.867 ล้านบาท, เมืองไทยประกันชีวิต เบี้ยจำนวน 300.715 ล้านบาท และไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ เบี้ยจำนวน 101.195 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้ง ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ มีเบี้ยปีแรกประเภทสามัญเข้ามาจำนวน 323.034 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญทั้งหมด โดยมี 13 บริษัทที่มีผลงานในช่องทางนี้ นำโดยบ.ไอเอ็นจีประกันชีวิต จก. มีผลงานสูงสุด ด้วยเบี้ยปีแรกประเภทสามัญผ่านช่องทางนี้ 86.726 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 26.85% ตามด้วย อันดับ 2 บ.เจนเนอราลี่ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 18.19% ด้วยเบี้ยจำนวน 58.758 ล้านบาท, อันดับ 3 พรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ฯ ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 18% ด้วยเบี้ยจำนวน 58.150 ล้านบาท, อันดับ 4 เอเอซีพี ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 8.37% ด้วยเบี้ยจำนวน 27.040 ล้านบาท และอันดับ 5 บ.เอซ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 6.06% ด้วยเบี้ยจำนวน 19.586 ล้านบาท ตามลำดับ
ช่องทางจำหน่ายองค์กร หรือ Worksite Marketing ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีเบี้ยปีแรกประเภทสามัญรวม 160.859 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญทั้งหมด โดยมี 6 บริษัทประกันชีวิตมีเปิดขายผ่านช่องทางนี้ นำโดยเอไอเอ ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 75.4% ด้วยเบี้ยจำนวน 121.285 ล้านบาท ตามด้วยบ.ฟินันซ่าประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 23.3% ด้วยเบี้ยจำนวน 37.487 ล้านบาท, เอเอซีพี ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.45% ด้วยเบี้ยจำนวน 730,000 บาท, พรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ฯ ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.37% ด้วยเบี้ยจำนวน 603,000 บาท, กรุงเทพประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.27% ด้วยเบี้ยจำนวน 437,000 บาท และธนชาตประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.2% ด้วยเบี้ยจำนวน 317,000 บาท ตามลำดับ
ขณะที่ช่องทางนายหน้า หรือโบรกเกอร์ ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีสัดส่วน 1.3% ของเบี้ยปีแรกประเภทสามัญทั้งหมด ด้วยเบี้ยปีแรกประเภทนี้รวม 105.749 ล้านบาท นำโดยเมืองไทยประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้สูงสุด 54.87% ด้วยเบี้ยจำนวน 58.024 ล้านบาท รองลงมาเป็นไทยคาร์ดีฟประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ไป 34.39% ด้วยเบี้ยจำนวน 36.369 ล้านบาท, เอเอซีพี ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 9.46% ด้วยเบี้ยจำนวน 10 ล้านบาท, ธนชาตประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 1.23% ด้วยเบี้ยจำนวน 1.305 ล้านบาท, ไทยประกันชีวิต ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.04% ด้วยเบี้ยจำนวน 460,000 บาท และบ.สยามซัมซุงประกันชีวิต จก. ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ 0.005% ด้วยเบี้ยจำนวน 5,000 บาท ตามลำดับ
ส่วนอีก 2 ช่องทางอื่นๆ ทั้งช่องทางซื้อตรงกับบริษัท, ช่องทางขายผ่านไปรษณีย์, ช่องทางขายตรงผ่านไปรษณีย์ หรือไดเรคเมล และอื่นๆ มีเบี้ยไม่ถึง 1% ของทั้งหมด
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบผลงานของช่องทางจำหน่ายต่างๆ ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้กับปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสัดส่วนเบี้ยของช่องทางตัวแทนเริ่มขยับลดลง ขณะที่สัดส่วนเบี้ยของช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ยิ่งขยับเพิ่มขึ้น โดยในช่วง ม.ค.-เม.ย.2549 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้ทดลองจัดเก็บสถิติแยกตามช่องทางจำหน่าย ปรากฏว่า ในตอนนั้นสัดส่วนเบี้ยจากช่องทางตัวแทนอยู่ที่ 74.45% ส่วนช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์มีสัดส่วนเพียง 16.25% เทียบกับ 3 เดือนแรกปีนี้สัดส่วนเบี้ยจากช่องทางตัวแทนเหลือเพียง 58.8% ขณะที่ช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 33.7%
รายงานข่าวจากวงการประกันชีวิต เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่า การเปลี่ยนแปลงด้านช่องทางจำหน่ายที่เกิดขึ้น ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องจัดตั้งคณะอนุกรรมการใหม่ขึ้น 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาการตลาดระบบขายตรง (Direct Marketing), คณะอนุกรรมการส่งเสริมการประกันชีวิตผ่านธนาคาร (Bancassurance) และคณะอนุกรรมการสารสนเทศ (Information Technology) เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมในการควบคุมดูแลช่องทางจำหน่ายเหล่านี้ ดังนั้นสมาคมฯ จึงต้องเร่งจัดระบบการเก็บข้อมูลใหม่ แยกตามช่องทางจำหน่ายอย่างชัดเจน ซึ่งต่อไปแบบรายงานสถิติของสมาคมฯ จะต้องจัดทำรูปแบบใหม่ตามที่ได้จัดทำนี้ เพื่อที่จะเห็นภาพการขยายตัวของแต่ละช่องทางจำหน่าย และสภาพการแข่งขันของธุรกิจที่แท้จริง
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... ws_id=4856