ความจริงที่หายไปในหนังโฆษณาชุดล่าสุดเรื่อง กฟผ.
ประสาท มีแต้ม
กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา
1. คำนำ
ผมได้ชมหนังโฆษณาชุดล่าสุดในโทรทัศน์ที่พยายามบอกถึงเหตุผลของรัฐบาลในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แล้วรู้สึกว่าต้องเขียนบทความชิ้นนี้ทันที ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลสำคัญบางอย่างได้ถูกบิดเบือนและทำให้คิดต่อไปได้ว่า แล้วสิ่งอื่นๆ ที่รัฐบาลจะทำในอนาคตจะถูกบิดเบือนอีกไหม
ในฐานะที่ได้ติดตามข้อมูลด้านพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้ามานาน ผมจึงสามารถจับได้ไล่ทันว่าข้อมูลใดบ้างได้ถูกบิดเบือนหรือถูกทำให้หายไป ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอข้อมูลที่ได้หายไปเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ประกอบการพิจารณา สำหรับข้อมูลดิบที่ผมใช้ในการวิเคราะห์นี้มาจากกระทรวงพลังงานซึ่งท่านที่สามารถใช้อินเตอร์เนตค้นหาได้ที่
www.eppo.go.th/vrs/VRS61.pdf <
http://www.eppo.go.th/vrs/VRS61.pdf> (หน้าที่ 63)
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะเปรียบเทียบกิจการไฟฟ้าที่มีความซับซ้อน(และมีตัวเลขเยอะแยะ)กับกิจการคิวรถแท็กซี่ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปเล่าสู่กันฟังภายใต้การผูกขาดการใช้สื่อแต่เพียงผู้เดียวของภาครัฐ
2. สาระสำคัญของหนังโฆษณา
เนื้อความในโฆษณาดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า ขณะนี้ทาง กฟผ. มีโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เพียงประมาณ 50% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่คนไทยทั้งประเทศใช้ ที่เหลืออีก 50% เป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าของเอกชน ดังนั้นถ้าไม่มีการระดมทุนแล้วจะเอาทุนที่ไหนมาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นxxxส่วนการผลิตของ กฟผ.ก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ทาง กฟผ.ยังมีหนี้สินถึง 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
3. ความจริงที่หายไป
จากสาระดังกล่าว เราพบว่ามีความจริง 2 ประการที่หายไป
ประการแรก คือทรัพย์สินของ กฟผ. มีอยู่ถึง 4 แสนล้านบาท การมีหนี้สินถึง 1.4 แสนล้านบาทก็ต้องถือว่ายังมีความมั่นคงทางการเงินอยู่และมีกำไรทุกปี ดีกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาจจะดีกว่าฐานะของคนไทยทั้งประเทศที่มีหนี้สาธารณะถึง 52% ของรายได้ต่อปีเสียอีก หรือว่าจะต้องนำประเทศไทยไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย!
ประการที่สอง เรื่องที่ทาง กฟผ.มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงประมาณ 50% เรื่องนี้ต้องอาศัยข้อมูลประกอบการพิจารณา ขอท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างช้าๆสักนิดนะครับ
3.1 นับถึงเดือนมิถุนายน 2546 ประเทศไทยมีกำลังการผลิต
ไฟฟ้ารวมกันถึง 25,647 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการสูงสุดของทั้งปีเพียงที่ 18,121 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังผลิตสำรองอยู่ถึง 42% เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ผมจะเปรียบโรงไฟฟ้าเป็นรถแท็กซี่ ส่วนจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เทียบเป็นจำนวนผู้โดยสาร และเพื่อให้เห็นxxxส่วนของการใช้งานของรถแท็กซี่ ผมขอเปรียบให้จำนวนผู้โดยสารในวันที่มีมากสูงสุดมีจำนวน 100 คน (18,121 เมกะวัตต์) ดังนั้นในวันนั้นประเทศไทยมีรถแท็กซี่อยู่ทั้งหมด 142 คัน (รถ 1 คันเทียบเท่าโรงไฟฟ้า 180 เมกะวัตต์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,300 ล้านบาท)
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เรารู้สึกได้ว่า คิวนี้มีรถมากเกินไป เพราะมีสำรองถึง 42 คัน หากคิดย้อนกลับไปคิดเป็นกิจการโรงไฟฟ้า การมีโรงไฟฟ้าสำรองถึง 42% นั้นต้องถือว่ามีมากเกินไป (ซึ่งปกติเขามักสำรองที่ 15% ท่านนายกฯทักษิณเคยกล่าวเมื่อต้นปี 2545 ว่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสำรองคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท เนื่องจากการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟฟ้าแพง)
3.2 ในจำนวนรถทั้งหมด 142 คัน ปรากฏว่าเป็นของ กฟผ. 84 คันหรือคิดเป็น 59% ของจำนวนรถทั้งหมดของคิว ที่เหลือ 41%(หรือ 58 คัน) เป็นของบริษัทเอกชน
3.3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2546 พบว่ารถของ กฟผ. ได้รับผู้โดยสารรวมเพียง 52% (แต่มีรถอยู่ 59%) ในขณะที่รถของเอกชนได้รับผู้โดยสาร 48%(แต่มีรถอยู่ 41%)
จากข้อมูลนี้ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า นายคิว นี้ไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง คำถามก็คือว่า ใครคือนายคิว จึงได้ปล่อยให้รถของ กฟผ. หรือของคนไทยทุกคนต้องว่างงานเป็นจำนวนมาก
4. ใครคือนายคิว?
คำตอบคือ กฟผ. เองนั่นแหละที่เป็นนายคิว เพราะ กฟผ. เป็นผู้ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าหรือควบคุมถนน แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเกณฑ์การจัดคิวแบบนี้คือใคร
คำตอบคือรัฐบาลไทยนั่นเอง เพราะนโยบายมาจากรัฐบาล โดยรัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญาที่เรียกว่า ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย กล่าวคือเป็นสัญญาที่ได้ประกันความเสี่ยงให้กับบริษัทเอกชนที่ว่า เมื่อบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้แล้ว ทาง กฟผ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทอย่างน้อย 85% ของจำนวนที่บริษัทผลิตได้เพื่อนำไปขายต่อให้กับประชาชน
โปรดอย่าลืมว่า ในระบบทั้งหมดเรามีรถอยู่ 142 คันแต่มีผู้โดยสารไม่เกิน 100 ราย ด้วยสัญญาแบบนี้ กฟผ. จึงจำเป็นต้องปล่อยรถของตนเองออกให้น้อยลง เพราะถึงปล่อยรถของตนเองออกมา ก็ต้องจ่ายเงินให้รถของเอกชนอยู่ดี ตามสัญญา ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย
5. กฟผ. เสียรายได้ปีละ 17,500 ล้านบาท
ในปี 2546 ทั้งปี คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านหน่วยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 275,000 ล้านบาท ดังนั้นปริมาณไฟฟ้า 1% มีค่าเท่ากับ 2,750 ล้านบาท
จากหัวข้อ 3.3 ที่รถของ กฟผ. มีอยู่ถึง 59% แต่ได้รับผู้โดยสารเพียง 52% คือหายไปถึง 7% (เพราะไปเพิ่มให้รถของเอกชน) ดังนั้นด้วยการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ทำให้ กฟผ. ขาดรายได้ไปถึงปีละ 17,500 ล้านบาท
เงินรายได้ที่หายไปจาก กฟผ.จำนวน 19,250 ล้านบาทนี้ เป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ 11,900 ล้านบาท(หรือประมาณ 68%ของรายได้) ดังนั้นรายได้ที่เหลืออีกประมาณ 6,000 ล้านบาทจึงถือได้ว่าเอากำไรล้วนๆ ของ กฟผ.ไปให้กับบริษัทเอกชนนั่นเอง เพราะว่าต้นทุนค่าสายส่งและค่าบริหารไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้ว
เงินก้อนนี้ตกปีละ 6,000 ล้านบาทนี้เป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้จ่าย ได้หายไปจาก กฟผ. ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน แต่กลับไหลไปสู่กระเป๋าของบริษัทเอกชนเพราะนโยบายการจัดคิวที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย
ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อมูลปี 2546 แต่ที่ทางราชการไทยได้วางแผนไว้สำหรับปี 2547 กลับสาหัสมากกว่านี้คือ รถของ กฟผ. จะได้รับผู้โดยสารเพียง 48% (ทั้งๆที่มีโรงไฟฟ้าหรือรถเพิ่มขึ้นอีก 2 คันที่จังหวัดกระบี่ รวมรถของ กฟผ.มี 60%) รถของบริษัทเอกชนจะได้รับผู้โดยสาร 52%
ความอยุติธรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 7% ในปี 2546 เป็น 12% ในปี 2547 เฉพาะส่วนที่ไม่เป็นธรรมนี้คิดเป็นกำไรล้วนๆ ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี
5. สรุป
ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าในหนังโฆษณาชุดนี้รัฐบาลทักษิณได้หลอกลวงคนไทยไว้ 3 ประเด็น คือ
(1) บอกแต่จำนวนหนี้สินแต่ไม่บอกจำนวนทรัพย์สินที่มีมากกว่า
(2) จำนวนโรงไฟฟ้าล้นเกินถึง 42% แทนที่จะเป็น 15% และ
(3) ปิดบังความจริงเรื่องการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลเอง ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้และเอกชนได้ประโยชน์ถึงปีละ 6,000 ล้านบาท
ผมคิดว่าสิ่งที่คนไทยต้องตั้งคำถามอีก 4 ข้อ คือ
(1) ยังมีสิ่งที่หลอกลวงที่บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกไหม
(2) นี่เป็นการหลอกลวงครั้งสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่
(3) เงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์มาจากไหน ใครเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ซึ่งรับเงินค่าโฆษณาแล้วนำความเท็จมาให้ประชาชน
และ (4) แล้วเราจะเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้การปิดกั้นข่าวสารได้อย่างไร