หวั่นพิษดูไบดับฝันศก.โลกฟื้น "กรุงศรีฯ-ใบโพธิ์-รับเหมาไทย"โดนหางเลข!
หวั่นพิษดูไบเวิลด์ฉุดเศรษฐกิจโลกระส่ำ ตลาดการเงิน-ตลาดหุ้นโดนก่อนเต็มๆ รมว.คลัง-นายแบงก์ชี้ผลกระทบอาจมาไม่ถึง เผยแบงก์-ธุรกิจไทยโดนหางเลขด้วย แบงก์กรุงศรีฯ ไทยพาณิชย์แจ็กพ็อต อิตาเลี่ยนไทย-เนาวรัตน์ฯเซ็งดูไบยังค้างจ่ายหนี้อีก800ล้าน กลุ่มธุรกิจผู้รับเหมาขยาดเบรกแผนลุยตะวันออกกลาง กรณ์มองแง่บวกยังไม่กระทบถึงเอเชียและไทยโดยตรง
ทันทีที่กลุ่มดูไบ เวิลด์ กลไกการลงทุนเสาหลักของรัฐดูไบ ประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า ก่อผลกระทบตามมาระลอกใหญ่ ทั้งการประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของกลุ่มทุนภาครัฐ และเอกชนในดูไบ แรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินโลกที่เกิดขึ้นทันที สะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในหลายๆ ประเทศ อันมีผลให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังจับตาว่า จะส่งผลเชิงลบรุนแรงในลักษณะเดียวกับวกรณีวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐที่ฉุดเศรษฐกิจโลกทั้งระบบหรือไม่ ขณะเดียวกันผลกระทบที่เป็นรูปธรรมก็ปรากฎกับธุรกิจหลายๆ ประเภทในเมืองไทยด้วยเช่นเดียวกัน
การที่กลุ่มทุนดูไบ เวิลด์ ตัสดสินใจเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2552 ประกาศแผนจะเจรจาเพื่อขอให้เจ้าหนี้รายสำคัญๆ เลื่อนการชำระหนี้ในส่วนของบริษัทนาคีล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือออกไป จากเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า ส่งผลให้ ตลาดหุ้นในยุโรป สหรัฐ ละตินอเมริกา จนถึงเอเชียต่างทรุดตัวลงอย่างถ้วนหน้า อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงผูกพัน ที่สถาบันการเงิน และกลุ่มบริษัทก่อสร้างในยุโรป และเอเชีย มีต่อดูไบ เวิลด์
หุ้นธนาคารโรยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ เอสเอชบีซี โฮลดิงส์ ลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป และเครดิต สวิส กรุ๊ป ดิ่งลงมากกว่า 4.8% จากผลพวงของความกังวลที่ว่า ปัญหาในดูไบ อาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลก ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง โดยรวมพบว่าปัจจัยความวิตกปัญหาหนี้ของดูไบ เวิลด์ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในตลาดหุ้นลอนดอน มีมูลค่าลดลงถึง 1.4 หมื่นล้านปอนด์
รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนท์ ของอังกฤษ ที่ประเมินว่า สถาบันการเงินในยุโรปมีความเสี่ยงผูกพันกับดูไบประมาณ 1.3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยที่ชาอิน วอลเล่ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนในตะวันออกกลาง ของบีเอ็นพี พาริบาส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารอังกฤษจะมีความเสี่ยงผูกพันกับดูไบมากที่สุด
@ กลุ่มแบงก์-ก่อสร้างเอเชียโดนด้วย
จากการรวบรวมผลกระทบของปัจจัยดูไบ ต่อภาคธุรกิจเอเชีย พบว่า ความเสี่ยงผูกพันที่ภูมิภาคเอเชีย มีต่อรัฐดูไบ กระจายอย่างกว้างขวาง ในหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ จนถึงประเทศไทย
ในออสเตรเลีย ซึงได้รับผลกระทบแบบทันทีทันใด จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง อาทิ ซันแลนด์ กรุ๊ป ดิ่งลงสูงสุด 8.1% โดยมีการลงทุนในดูไบ นับถึง 30 มิถุนายน 2.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
ในญี่ปุ่น ผลกระทบสะท้อนให้เห็นจากการดิ่งลงของหุ้นโอบายาชิ และคาจิมะ 8.7% และ 14% ตามลำดับ
สำหรับเกาหลีใต้ ไทย และอินเดีย กลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ พลอยติดร่างแหไปกับปัจจัยความกลัว หลังนักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า หลายบริษัท รวมถึงจีเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัทชั่น อิตาเลียน-ไทย ดิเวลอปเมนต์ และดีแอลเอฟ ของอินเดีย จะได้รับผลกระทบด้านลบจากโครงการของบริษัทในดูไบ
@หวั่นปมดูไบฉุดโลก "ถดถอยรอบสอง"
นอกเหนือจากความวิตกต่อความเสี่ยงผูกพันของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินโลกแล้ว ยังพบว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดการเงินโลกเริ่มถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มาร์ค โมเบียส ผู้จัดการกองทุนชื่อดัง เทมเพิลตัน แอสเซ็ท แมเนจเมนต์ เตือนว่า วิกฤตดูไบบวกกับการลดค่าเงินด่องของเวียดนาม อาจเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนถอยฉากเพื่อรอดูสถานการณ์ และถอนเงินลงทุนออกไปก่อน โดยคาดว่าจะเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ ก่อนที่ตลาดจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่ชาฮิน วอลเล่ จากบีเอ็นพี พาริบาส์ ตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ในตลาดการเงินขณะนี้ว่า เต็มไปด้วยความอึมครึม และไม่แน่นอน เนื่องจากดูไบ เวิลด์ ไม่ใช่แค่บริษัทธรรมดารายหนึ่ง แต่เป็นเครือธุรกิจที่มีข้อจำกัดในเรื่องบรรษัทภิบาล และความโปร่งใส ทำให้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า หนี้ หรือสินทรัพย์ที่แท้จริง ภายใต้การถือครองของดูไบเวิลด์ นั้นมีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ผลที่ตามมาอาจทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลกชะลอลงอีกครั้ง เนื่องจากธนาคารอาจลังเลใจที่จะขยายสินเชื่อในช่วงเวลานี้
สอดคล้องกับความเห็นของอาร์นาบ ดาส นักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันรูบินี โกลบอล อิโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งก่อตั้งโดยศาสตราจารย์นูเรียล รูบินี ที่เตือนว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีมากขึ้น หากมีประเทศ หรือบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซ้ำรอยดูไบ เวิลด์ เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้นักลงทุนหนีความเสี่ยงกันมากยิ่งขึ้น
@"อิตาเลียน-เนาวรัตน์ฯ"โดนยื้อหนี้800ล้าน
สำหรับกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทยที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวค่อนข้างชัดเจนนั้น "ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบไปยัง นายชาติชาย ชุติมา รองประธานบริหารฝ่ายการเงิน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)ได้รับคำชี้แจงว่าขณะนี้บริษัทไม่มีงานที่ดูไบแม้แต่งานเดียว เพราะถอยออกมาหลายปีแล้ว หลังจากเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ช่วงหนึ่ง โดยร่วมกับบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการฯ ซึ่งงานก่อสร้างเสร็จไปหลายปีแล้ว แต่ยังมีค่าก่อสร้างที่เจ้าของงานจ่ายไม่ครบอยู่ส่วนหนึ่งประมาณ 800 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเรียกร้องหนี้ส่วนนี้อยู่ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจดูไบช่วงหลังมีปัญหาตามภาวะเศรษฐกิจโลก และงานอินฟราสตรัคเจอร์ไม่มีด้วย ปัจจุบันตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดหลักของอิตาเลียนไทยอยู่ที่ประเทศอินเดีย
นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่าก่อนหน้านี้เคยไปรับงานที่ดูไบร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย แต่ยังมีค้างค่างวดงานงวดสุดท้ายอยู่ 800 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทไม่มีงานที่ดูไบแล้ว แม้จะยังมีงานในเฟสอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างก็ตาม เนื่องจากตลาดไม่ค่อยดี และมีข้อจำกัดหลายอย่างในการรับงาน แต่กำลังจะเข้าไปรับงานที่อาบูดาบี้แทน ทั้งงานก่อสร้างอสังหาฯ และอินฟราสตรัคเจอร์
@รับเหมาไทยถอย-รอจังหวะฟื้น
นายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัททราบปัญหาของดูไบมานานแล้ว จึงไม่ได้รับงานมาเป็นเวลาปีกว่าแล้ว โดยที่ผ่านมาเคยร่วมกับบริษัท เพาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) เข้าไปประมูลงาน แต่ไม่ได้ไลเซ่นจึงยกเลิกไป ตอนนี้หันมารับงานในประเทศเป็นหลัก
แหล่งข่าวจาก บมจ.เพาเวอรไลน์ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาไทยรายใหญ่ที่เข้าไปรับงานในดูไบกล่าวว่า เศรษฐกิจดูไบประสบปัญหามานานหลายปีแล้ว ในภาพรวมงานก่อสร้างมีการชะลอตัวหลายโปรเจ็กต์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอสังหาฯ แต่ยังมีตลาดอื่นในภาคตะวันออกกลางที่ยังพอไปได้ อาทิ ซาอุดิอารเบีย การ์ตาร์ บาร์เรนห์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจดูไบน่าจะชะลอแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าฟื้นตัวจะกลับเข้าไปรับงานอีก เพราะบริษัทมีฐานบริษัทลูกอยู่ในดูไบอยู่แล้ว
นายสมชาย ศิริเลิศพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดูไบไม่ดี และการก่อสร้างลดน้อยลง บริษัทได้ยกเลิกการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท Syntec Construction PCL(L.L.C.) ที่จะใช้รับงานก่อสร้างในดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งใช้เงินลงทุนไป 43.83 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้ลงทุนแล้ว 10-20 ล้านบาท เป็นค่าสต๊าฟและค่าคนงาน แต่เมื่อโครงการหยุดก่อสร้างบริษัทเลยหยุดำเนินการกิจการด้วย และเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตจึงได้ยกเลิกบริษัทดังกล่าวแล้ว
@"อินเด็กซ์"ชี้ไม่กระทบ
ด้านนายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการบริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด ผู้บริหารธุรกิจแฟรนไชส์ศูนย์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน "อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์" กล่าวว่ากรณีบริษัท ดูไบ เวิลด์ ของรัฐบาลดูไบได้ขอเลื่อนการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนธันวาคมนี้ 3,500 ล้านดอลลาร์ ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2553 และถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือแผนการลงทุนขยายสาขาของพาร์ตเนอร์ของบริษัทที่ซื้อแฟรนไชส์ไปลงทุนเปิดสาขาอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์แห่งแรกในเมืองดูไบ เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ที่สำคัญภายหลังเปิดตัวอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์มาได้กว่า 3 เดือน สามารถทำยอดขายได้เป็นที่น่าพอใจ
@แบงก์กรุงศรี-ใบโพธิ์แจ็กพอต
นอกจากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้ว ธนาคารไทยอย่างน้อย 2 รายได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแล้ว โดย นายตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าได้มีการลงทุนในตราสารหนี้ในดูไบว่ามีจำนวนอยู่เท่าใด แต่คาดว่าจะเป็นเม็ดเงินไม่สูงเนื่องจากธนาคารไม่ใช่ธนาคารขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มาก
นายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกี่ยวข้องกับดูไบ จะมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ลงทุนอยู่ แต่ไม่กระทบมากเพราะเป็นการลงทุนทั่วไป(General Investment) น่าจะเป็นในลักษณะของตราสารมูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท หรือประมาณ 0.1% ของ พอร์ตลงทุน (Outstanding) ผลกระทบไม่น่าจะเกิน 5% ของผลดำเนินงานปี 2553
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีการลงทุนโดยตรงแต่ไม่ได้ตรงมาก ซึ่งมีปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่ไปทำ joint venture กับบริษัทในดูไบ ซึ่งมีเครดิตไลน์ ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ปล่อยกู้จริงๆ เป็นหลัก 100 ล้านบาท ก็ถือว่าไม่ได้มาก
ด้านนายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทมีกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ(FIF) ที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอาบูดาบีและกาตาร์มูลค่ากองทุน 200 ล้านบาท อายุลงทุน 3 ปี ผลตอบแทนที่ 3% ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะไม่ได้ลงทุนในรัฐดูไบโดยตรง และหากดูปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะอิงกับสินค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเหมือนดูไบที่ไม่มีสินค้าน้ำมันในรัฐเลย ทำให้ต้องหันมาเน้นการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งการเงินในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ติดตามสถานการณ์ล่าสุด มีความเป็นไปได้ที่รัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นประมุขของกลุ่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเข้าไปช่วยเหลือการเงินกับทางรัฐดูไบ ซึ่งเป็นรัฐที่ถูกปกครอง เนื่องจากรัฐอาบูดาบี ลงทุนในกองทุนของประเทศนี้สูงถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าไปช่วยเหลือรัฐดูไบ ซึ่งคงต้องรอประเมินสถานการณ์ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากติดวันหยุดเทศกาลของศาสนาอิสลาม
@คลังมองบวกไม่กระทบเอเซีย
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปดูไบมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคงไม่กระทบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และตลาดในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งทั้งหมด เช่นประเทศการ์ตา ที่นายกรัฐมนตรี เพิ่งไปเยือนกลับมาก็มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่าราคาน้ำมันที่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาเรล จะทำให้ประเทศตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันจะยังมีกำลังซื้อ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึง กองทุนดูไบที่หยุดพักชำระหนี้ ว่า ผลที่เกิดขึ้นไม่น่ากระทบถึงเอเชีย เพราะอยู่ไกลกันมาก สำหรับ
ประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่มีสภาพคล่องหลุดออกมาจากสถาบันการเงินแบบที่นำไปใช้ฟุ่มเฟือยในอสังหาริมทรัพย์หรือในหุ้น จึงไม่ถือว่าเป็นฟองสบู่
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า ตอนนี้ความกังวลของนักลงทุนอยู่ที่ความชัดเจนของการแก้ปัญหาโครงสร้างชำระหนี้ของรัฐดูไบ ซึ่งยังไม่ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ จึงทำให้นักลงทุนมีความกังวลและส่งผลต่อตลาดหุ้นปรับตัวลง ผลกระทบในครั้งนี้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งทั้งในตลาดหุ้นและการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะการจับตาดูประเทศที่มีอัตราหนี้สูงๆ ซึ่งอาจจะเป็นประเทศที่นักลงทุนเริ่มประเมินความเสี่ยงอีกครั้งแล้ว
นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล) ทิสโก้ กล่าวว่า สถานการณ์ในดูไบยังไม่ถึงกับรุนแรงหรือน่าเป็นห่วงมาก เพียงแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ชัดเจนว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เชื่อว่ากำลังฟื้นตัวนั้น ยังมีความเสี่ยงของกลุ่มสถาบันการเงินอยู่ เพราะถ้าลูกหนี้ไม่มีศักยภาพจะชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินก็จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะมีโอกาสที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แม้ว่ากรณีนี้จะเป็นการยืดหนี้ออกไปอีก 6 เดือนแต่ก็ใกล้เคียงกับการผิดนัดชำระหนี้ (Default)
prachachartturakij
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 2&catid=no