ทฤษฎีลงทุน 10 เด้ง 'สถาพร งามเรืองพงศ์' เซียนหุ้นวัย 25 ปี
วันที่ 14 มิถุนายน 2554 01:00
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เจาะลึกเทคนิคลงทุน 'เซียนหุ้นวัยเบญจเพส' เจ้าของพอร์ตหลายสิบล้านบาท 'ฮง' สถาพร งามเรืองพงศ์ เล่นหุ้นให้ 'รวย' ต้องดูพื้นฐาน 70% เทคนิค 30%
เริ่มเล่นหุ้นตอนเรียนปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ "แอบพ่อ-โอ๋แม่" ทุบกระปุกเงินเก็บแตะเอีย 100,000 บาท หว่านล้อมให้แม่ไปเปิดบัญชีเล่นหุ้นให้ที่ บล.ธนชาต ใช้ชื่อตัวเองไม่ได้เพราะยังเด็กเกินไป เวลาสั่งซื้อขายหุ้นก็ให้ส่งจดหมายไปที่บ้านญาติเพราะกลัวพ่อรู้ พ่อมี "อคติ" กับตลาดหุ้น มองว่าการเล่นหุ้นไม่ต่างอะไรกับ "เล่นการพนัน"
เด็กหนุ่มฮงในวัยเพียง 19-20 ปี ใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ออกตระเวนไปแสวงหาความรู้ตามตลาดหลักทรัพย์ และโบรกเกอร์ต่างๆ รู้ว่าที่ไหนมี "สัมมนาฟรี" เด็กหนุ่มเป็นต้องขวนขวายไปฟัง บางครั้งต้องหาวิธีหลอกล่อเจ้าหน้าที่สารพัดเพราะไม่ใช่ลูกค้าของโบรกเกอร์นั้น
ครั้นระหว่างพักทานอาหารว่างและหลังงานสัมมนาเลิก เด็กฮงก็จะวิ่งไปเกาะติดวิทยากรขุดคุ้ยถามประเด็นที่ตนสงสัย แต่บ่อยครั้งที่เด็กฮง "ถูกมองข้าม" วิทยากรบางคนเห็นหน้าละอ่อนยังเป็นเด็กก็ไม่ยอมตอบคำถามไม่ให้ความสำคัญ จนเขาพูดกับตัวเองว่า "โลกนี้ไม่มีความยุติธรรม" แม้จะทรมานกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับไอ้ตี๋จอมเซ้าซี้ แต่ฮงก็พยายามหาความรู้จากหนังสือ และเว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มเติมจนแม่เห็นความตั้งใจจริง
จากเงิน "หลักแสน" พอร์ตของเด็กฮงก็ค่อยๆ งอกเงยอย่างรวดเร็ว แม่จึงเติมทุนให้แต่ก็ไม่ได้มากมาย ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี (อายุ 19-25 ปี) "ฮง" สถาพร งามเรืองพงศ์ กลายเป็น "เซียนหุ้นวัยรุ่น" ชื่อดังมีพอร์ตใหญ่ "หลายสิบล้านบาท" พ่อของฮงที่มีอาชีพค้าเสื้อยืดย่านพระราม 2 วันนี้ยอมรับในตัว "ลูกชายคนเล็ก" ของครอบครัวคนนี้ ครอบครัวของเขาเพิ่งเปลี่ยนอาชีพไปปลูกต้นลีลาวดีขายบนเนื้อที่ 33 ไร่ ย่านบางขุนเทียนชื่อสวน "ลีลาวดีภิรมย์"
ฮงคุยว่าเงินลงทุนของเขาเพิ่มขึ้นราวๆ 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) ขณะที่พอร์ตลงทุนขยายตัวประมาณ 40-50 เท่า ภายในเวลา 7 ปี (2547-2553) หลังประสบความสำเร็จอย่างแรงฮงพัฒนาตัวเองไปเป็น "วิทยากร" เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน มีนักลงทุน "รุ่นพี่-รุ่นอา" จองที่นั่งเข้าฟังจำนวนมาก อีกทั้งนามแฝง Hongvalue ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดีใน "เว็บบอร์ด" แวลูอินเวสเตอร์
แม้ฮงแฝงตัวกลมกลืนกับแวลูอินเวสเตอร์ (VI) แต่เขาก็นิยามตัวเองเป็น "ลูกครึ่ง Value Investor"
"ผมจะลงทุนกึ่งแวลู จะผสมผสานระหว่างปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งต่างจากนักลงทุน Value ทั่วไป แต่วันนี้มีนักลงทุน VI รุ่นใหม่ยึดแนวทางนี้เพิ่มขึ้น เพราะพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดีมาก"
ฮงกล่าวว่า การจะซื้อหุ้นสักหนึ่งตัว นักลงทุนควรต้องดูทั้งปัจจัยพื้นฐานและกราฟเทคนิคควบคู่กันไป เพราะการดูกราฟย้อนหลังจะทำให้เห็น Demand และ Supply ของหุ้นในอดีต ที่สำคัญจะเห็นจุด "นิวไฮ" ของหุ้นด้วย
"สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เหมือนนักลงทุนหุ้นคุณค่าทั่วไปคือ ผมยอมรับการขาดทุนได้บ้าง แต่ถ้าเป็นนักลงทุน VI แท้ๆ ต้องไม่มีคำว่า Cut Loss (ตัดขาดทุน) แต่ผมคิดแบบนั้นไม่ได้ตราบใดที่ยังชื่นชอบการเล่นหุ้นคอมมูนิตี้ (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่สำคัญนักลงทุน VI จะไม่ดูกราฟดูปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว เขามองว่าดูกราฟเหมือนมองกระจกหลัง มันเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่สามารถสะท้อนธุรกิจในปัจจุบันหรือในอนาคตได้"
สำหรับเทคนิคการลงทุนฮงจะเน้นดูปัจจัยพื้นฐาน 70% อีก 30% จะดูเทคนิเคิล และกราฟหุ้นย้อนหลัง หลายครั้งเขาบอกว่ากราฟหุ้น "ช่วยชีวิต" ไว้ ทำให้ไม่ต้อง "ขายหมู" (ขายถูก) ให้คนอื่น โดยเขายอมลงทุนเสียเงินปีละ 20,000 บาท ติดตั้งโปรแกรม APEX เพื่อดูกราฟราคาหุ้นโดยเฉพาะ
ยกตัวอย่างผลดีจากการดูกราฟ เช่น ราคาหุ้นทำนิวไฮ 10 บาท อยู่ดีๆ ลงมา 8-9 บาท แล้วซื้อขาย 8-9 บาทนานพอสมควร อยู่ๆ ก็วิ่งขึ้นไป 10 บาท โดยมีวอลุ่มเข้ามาเยอะมาก เหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้คิดได้ว่าบริษัทนี้ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง "ผมก็จะเริ่มตรวจสอบข้อมูลทันที" บางครั้งฮงเริ่มแกะรอยจากหุ้นที่มี "วอลุ่มผิดสังเกต" จากนั้นก็จะคัดเลือกหุ้นที่ "สวย" (ผลประกอบการดีที่สุด) เข้าพอร์ต
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเลือกหุ้นที่ "เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ของกำไร" และต้องอ่านเกมต่อไปว่า "ไตรมาสที่เหลือ" ของปีนั้นๆ ต้องสามารถรักษากำไรสุทธิระดับนี้ (ดี) ได้ต่อเนื่อง ขั้นตอนจากนั้น ต้องเลือกหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 6-7% ต่อปี และข้อสุดท้าย ต้องเลือกหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่า P/E ของกลุ่ม...เหล่านี้คือคุณสมบัติเบื้องต้นของหุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนได้สูงจากการลงทุน
เมื่อได้หุ้นที่เข้าข่ายกำไรสุทธิทำจุดสูงสุดใหม่ จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และค่า P/E ไม่สูง (ราคาหุ้นยังไม่แพง) ได้แล้ว ฮงก็จะเริ่มปฏิบัติการวิเคราะห์เจาะลึก "งบการเงิน" ทันที โดยเน้นหนักไปที่ "กระแสเงินสด" ของกิจการ พยายามดูย้อนหลังให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะในส่วนของความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของกิจการ (EBITDA) ต้องมีตัวเลขใกล้เคียงกับกำไรสุทธิ ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ต้องไม่เกิน 1 เท่า และควรเป็นหนี้สิน (หมุนเวียน) ที่ไม่มีดอกเบี้ย
เท่านั้นยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฮงจะทำการวิเคราะห์ "โครงสร้างธุรกิจ" ผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ทำกำไรให้บริษัท รวมทั้งอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ที่เขียนถึงหุ้นตัวนี้ รวมทั้งค้นหาบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารมาอ่านเพื่อให้แน่ใจว่าหุ้นที่จะวางเดิมพันราคาต้อง "วิ่ง" ชัวร์!
"ผมจะอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่โบรกเกอร์ส่งมาในอีเมล์ทุกเช้า รวมถึงอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อให้เห็นทิศทางของบริษัท ส่วนใหญ่จะใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพียง 2 วัน"
เมื่อหาข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะเริ่มทำ "ประมาณการผลประกอบการล่วงหน้า" เพื่อประเมินราคาที่เหมาะสมในอนาคต สำหรับวิธีการเข้าเก็บหุ้นจะใช้สูตร 30:30:30:10 ซื้อแล้วหุ้นขึ้นถึงซื้อ "สเต็ปที่สอง" "สเต็ปที่สาม" และ "สเต็ปที่สี่"
หมายความว่าซื้อครั้งแรก 30% สเต็ปที่สอง (อีก 30%) จะซื้อเพิ่มก็ต่อเมื่อราคาหุ้นขยับตัวเพิ่มขึ้น 7-8% ถ้าซื้อ 30% แรกแล้วราคาไม่ขึ้นก็จะรอไปก่อน "ยังไม่ซื้อ" ตรงกันข้ามถ้าซื้อแล้ว 30% ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 8% ก็จะ Cut Loss (ตัดขายขาดทุน) ทิ้งทันที ถ้าทิ้งไว้นานเดี๋ยว "ออก(ของ)ไม่ได้"
เทคนิคที่ทำให้พอร์ตโตเร็ว 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) เวลาตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ "กระทิง" หรือ "ขาขึ้นใหญ่" และมั่นใจหุ้นสุดๆ เขาจะใช้ "เงินกู้มาร์จิน" เพิ่มพลังบวกให้กับพอร์ต
ทุกวันนี้ศูนย์บัญชาการของฮงอยู่ที่บ้านแล้วสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ที่บ้านย่านพระราม 2 จะกั้นห้องไว้สำหรับนั่งดูหุ้นโดยเฉพาะภายในมีทีวี LCD 60 นิ้วตั้งอยู่กลางห้อง กิจวัตรประจำวันฮงจะตื่นนอนมานั่งในห้องนี้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าแล้วอ่านข้อมูลทุกอย่างเริ่มตั้งแต่บทวิเคราะห์ หนังสือพิมพ์ เข้าเว็บบอร์ด Thaivi.org เหตุที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะเสียค่าคอมมิชชั่นเพียง 0.1% ถ้าโทรศัพท์สั่งผ่านมาร์เก็ตติ้งต้องจ่าย 0.15% (รายย่อยต้องจ่าย 0.25%)
"โดยปกติผมจะปรับพอร์ตลงทุนทุกไตรมาส (3 เดือน) เพราะสถานการณ์มักมีการเปลี่ยนแปลง ทุกครั้งที่งบการเงินประจำไตรมาสออก ผมจะนำข้อมูลที่ผู้บริหารบอกผ่านสื่อกับบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์มานั่งคำนวณตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสถัดไป"
อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จฮงจะ "เล่นหุ้นเป็นกลุ่ม" ประมาณ 7-8 คน เทคนิคการเล่นจะคล้ายๆ กัน พวกเขานัดเจอกันที่ "สโมสรทหารบก" ทุกๆ 2 สัปดาห์ ไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์ เว้นว่าช่วงไหนตลาดหุ้นดีๆ ก็จะเจอกันสัปดาห์ละครั้ง กิจกรรมที่ทำจะเช่าห้องฉายโปรเจ็คเตอร์เพื่อแชร์ข้อมูลกัน คนไหนถนัดดูกราฟก็จะมาบอกว่าเส้นกราฟเทคนิคหุ้นตัวไหนสวย ใครถนัดพื้นฐานก็จะนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง
ส่วนการซื้อขายแต่ละคนจะตัดสินใจเอาเองไม่ค่อยบอกกัน ถ้ามีหุ้นตัวไหนเข้าตาฮงชอบสั่งซื้อหุ้นวันจันทร์ ซื้อเสร็จไม่เคยกำหนดว่าต้องถือยาวหรือสั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะเป็นตัวบอก แต่เขาจะเตือนตัวเองเสมอว่า "เล่นหุ้นต้องเล่นแบบ "ไร้ใจ" ถ้าใช้อารมณ์เล่นหุ้น (รัก-โลภ-โกรธ-หลง) มีโอกาสขาดทุนสูง ผมจะพยายามคิดเสมอว่าหุ้นตัวนี้ไม่ใช่ญาติเรา ไม่รัก ไม่เกลียด"
ในยามที่ตลาดหุ้นไม่น่าไว้วางใจฮงจะเล่นหุ้นด้วยบัญชีเงินสด ปัจจุบันซื้อขายประจำอยู่ที่ บล.เคทีซีมิโก้ ตามมาร์เก็ตติ้งคู่ใจย้ายมาจาก บล.พัฒนสิน
ล่าสุดในพอร์ตมีหุ้นอยู่ 3 ตัว ได้แก่ BCP ต้นทุน 21 บาท มองว่าหุ้นบางจากราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ถ้าผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาสวยเหมือนไตรมาสแรก ก็อาจปรับราคาเป้าหมายขึ้นไปอีก บางจากถือเป็นหุ้นโรงกลั่นตัวเดียวที่มีค่า P/BV ต่ำที่สุด
อีกตัวที่ลงทุนอยู่คือหุ้น HEMRAJ ซื้อมาได้เดือนกว่าๆ แล้ว ต้นทุนแถว 2.10 บาท ชอบเพราะปี 2555 จะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าทำให้บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น และหลังเกิดสึนามิทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย เหมราชก็จะได้ประโยชน์
ตัวสุดท้ายที่ลงทุนคือหุ้น CENTEL ตัวนี้ต้นทุน 7.30 บาท เก็บเพราะเห็นว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 ปีนี้พลิกจากปี 2553 ขาดทุน 51 ล้านบาท มาเป็นกำไรสุทธิ 400 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิวไฮในรอบ 5 ปี เพราะธุรกิจอาหารเติบโตมากขึ้น ธุรกิจโรงแรมก็ยังขยายตัวได้ดีอัตราการเข้าพักเพิ่มจาก 50-60% เป็น 70%
นอกจากหุ้นทั้ง 3 ตัวนี้แล้ว หุ้นตัวอื่นๆ ฮงบอกว่า ตอบตรงๆ ตอนนี้ยังหาตัวที่ถูกใจไม่เจอเลย วันนี้ยอมรับว่าสนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ แต่ยัง "เล่นยาก" เคยถามคนที่ลงทุน "หุ้นจีน" เขาบอกว่า "น่ากลัวมาก" บริษัทจีนมีการลงบัญชีไม่ค่อยโปร่งใสถ้าสุ่มสี่สุ่มห้ามีหวังขาดทุน ถ้ามีประสบการณ์แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
ถามว่าเคยคิดอยากเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ เด็กหนุ่ม ตอบว่า แม้การซื้อหุ้นคือ "การซื้อธุรกิจ" แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากเข้ามาบริหาร "ผมไม่คิดที่จะ “ผูกพัน” กับหุ้นตัวไหน แค่ต้องการเข้ามา “เสพสุข” (จากกำไร) เท่านั้น ได้ตามเป้าหมายแล้วก็จะไป"
ฮงเล่าว่า ตลาดหุ้นสมัยนี้คนอายุ 22-23 ปีขึ้นไป เข้ามาเล่นหุ้นกันค่อนข้างมาก จบปริญญาโทมาเล่นหุ้นก็มีเยอะ ส่วนตัวอยากแนะนำ "มือใหม่ที่เพิ่งหัดคลาน" ว่า ควรเริ่มลงทุนด้วยเงิน "ก้อนเล็กๆ" ก่อนสัก 100,000 บาท หากยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วหุ้นที่ใช้ "ฝึกมือ" ควรเป็นพวกหุ้น "โรงไฟฟ้า-ค้าปลีก" เพราะธุรกิจเข้าใจง่าย ราคาหุ้นไม่ผันผวนมาก เมื่อมีประสบการณ์แล้วก็ค่อยขยับมาเล่นหุ้นยากๆ อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหุ้นพวกนี้ถ้าจับจังหวะถูกจะได้กำไรเยอะ (รวยเร็ว)
"หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ผมจะถนัดกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทแผ่นฟิล์ม สินค้าเกษตร กลุ่มอื่นๆ ยอมรับว่ายังไม่ค่อยชำนาญ"
ฮงย้ำว่า ข้อผิดพลาดของนักลงทุนจำนวนมากชอบซื้อหุ้นตามคำแนะนำของเพื่อน หรือซื้อตามโบรกเกอร์โดยที่คุณไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย เท่าที่พบ 90% จะขาดทุน คนที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้น (ยุคนี้) ต้องศึกษาหาความรู้ รู้ทุกซอกทุกมุมของหุ้น
"ผมโชคดีที่เล่นหุ้นตั้งแต่เรียนปี 1 ม.กรุงเทพ กว่าจะจับจุดได้ (รู้ความลับตลาดหุ้น) ใช้เวลานาน 2-3 ปี ผมจะยึดอาชีพนักลงทุนเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบก็ไม่เคยไปทำงานบริษัท ทุกวันนี้ผมมีเงินทำอะไรได้หลายๆ อย่าง อย่างที่เพื่อนๆ ไม่มี" เซียนหุ้นวัยเบญจเพส กล่าวทิ้งท้าย
from:
http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... 14/394926/ทฤษฎีลงทุน-10-เด้ง-สถาพร-งามเรืองพงศ์-เซียนหุ้นวัย-25-ปี.html