หน้า 3 จากทั้งหมด 8

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 20, 2009 4:36 pm
โดย pavilion
บทสรุปผู้บริหาร: ภาวะเศรษฐกิจสหยุโรปประจำเดือนเมษายน 2552

บทสรุปผู้บริหาร
        ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำเดือนเมษายน 2009 พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) ยังคงอ่อนแอลงต่อเนื่องโดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่ำที่สุดนับจากเดือนตุลาคม 1999 แม้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง สะท้อนว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีน่าจะติดลบลึกกว่าไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อและการจ้างงานยังคงย่ำแย่ โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมชะลอตัวลงแรงเหลือเพียงร้อยละ 0.6 ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับร้อยละ 8.9 เป็นครั้งแรกนับจากปี 2005 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 14.2 ล้านคน ในเดือนนี้ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate) ลงอีกร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.25 เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจหดตัวซึ่งก็ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินและสินเชื่อยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงแม้จะมีการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายโดยลำดับก็ตาม สำหรับเสถียรภาพภายนอก (external stability) มีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยในเดือนกุมภาพันธ์ Euro area ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากเดือนที่แล้วเนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงน้อยกว่าการนำเข้า แต่เนื่องจากยังคงขาดดุลรายได้และดุลเงินโอนจึงทำให้ยังคงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงมีฐานะไหลเข้าสุทธิเนื่องจากมีการเกินดุลเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (portfolio investments) เป็นจำนวนมาก ขณะที่ค่าเงินยูโรมีการแข็งค่าเล็กน้อยกับเงินทำสกุล ยกเว้นเงินปอนด์สเตอร์ลิง

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 21, 2009 11:01 am
โดย pavilion
ดอลล์ร่วงแตะระดับต่ำสุดใน 8 สัปดาห์เทียบเยน หลังเฟดอาจซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม

เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์เมื่อเทียบเงินเยน หลังมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและเพิ่มอุปทานเงินดอลลาร์
ในขณะที่เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบ 16 สกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุด เนื่องจากมีกระแสความวิตกว่าวิกฤตการเงินยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด หลังเฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยลงอีก ส่วนเงินยูโรซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ ก่อนที่ยุโรปจะรายงานตัวเลขภาคการผลิตและการบริการที่คาดว่าจะหดตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปตรึงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม
        "เฟดอาจซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปทานเงินดอลลาร์ในตลาดได้เป็นอย่างดี" ยูจิ ไซโต หัวหน้าฝ่ายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก โซซิเอเต เจเนอราล เอสเอ กล่าว "มาตรการดังกล่าวอาจทำให้เงินดอลลาร์มีค่าลดลงและกระตุ้นให้นักลงทุนในสหรัฐหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น"
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 94.46 เยนต่อดอลลาร์ ณ เวลา 9.23 น.ตามเวลาโตเกียว จากระดับ 94.88 เยนต่อดอลลาร์เมื่อวานนี้ ส่วนเงินเยนแข็งค่าแตะ 130.05 เยนต่อยูโร จาก 130.77 เยนต่อยูโร ในขณะที่เงินยูโรซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1.3768 ดอลลาร์ต่อยูโร จาก 1.3780 ดอลลาร์ต่อยูโรเมื่อวานนี้
        ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัววัดการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบเงินยูโร เยน ปอนด์ ฟรังก์สวิส ดอลลาร์แคนาดา และโครนาสวีเดน ปรับตัวลดลง 0.1% แตะ 81.120 จุด

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 21, 2009 11:10 am
โดย pavilion
World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารหลังจากมีข่าวการเพิ่มทุนของแบงค์ ออฟ อเมริกา
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 52.81 จุด หรือ 0.62% แตะที่ 8,422.04 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 4.66 จุด หรือ 0.51% แตะที่ 903.47 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 6.70 จุด หรือ 0.39% แตะที่ 1,727.84 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) โดยน้ำมันดิบทะยานขึ้นเหนือระดับ 62 ดอลลาร์หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่ร่วงลงเกินความคาดหมาย ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าดีมานด์พลังงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและชาวอเมริกันจะนำยานยนต์ออกไปขับขี่ในช่วงวันหยุด Memorial Day แม้เศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในระยะถดถอยก็ตาม
        โดยสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.94 ดอลลาร์ ปิดที่ 62.04 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยระหว่างวันราคาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 62.14 ดอลลาร์

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ และราคาน้ำมันดิบที่ทะยานขึ้นเหนือระดับ 62 ดอลลาร์/บาร์เรล
        โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่ 937.40 ดอลลาร์/ออนซ์ พุ่งขึ้น 10.70 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 925.30-941.00 ดอลลาร์

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐมีแนวโน้มคลี่คลาย ซึ่งทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์และหันไปให้ความสนใจกับสกุลเงินอื่นๆ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่าได้เข้าซื้อหลักทรัพย์มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
        โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1.34% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 94.720 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 96.010 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลง 0.85% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1000 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1094 ฟรังค์/ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารเนื่องจากข่าวการระดมทุนของแบงค์ ออฟ อเมริกา และความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอังกฤษหลังจากมีรายงานว่าตำแหน่งในภาคการเงินของอังกฤษร่วงลงอย่างหนัก
        โดยดัชนี FTSE 100 ปิดลบ 13.84 จุด แตะที่ 4,468.41 จุด

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 21, 2009 11:16 am
โดย pavilion
Eurekahedge เผยเฮดจ์ฟันด์ลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลกสูงถึง $1.54 หมื่นล้านในเดือนเม.ย.

Eurekahedge ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่บริษัทและสถาบันการเงินทั่วโลก รายงานว่า กลุ่มเฮดจ์ฟันด์เข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นวงเงินสูงถึง 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนเฮด์ฟันด์ทำผลประกอบการยอดเยี่ยมที่สุดในรอบกว่า 3 ปีเนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

อังเคอร์ ซัมทานีย์ นักวิเคราะห์ของ Eurekahedge กล่าวว่า เม็ดเงินที่กลุ่มเฮดจ์ฟันด์เข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว หลังจากนำเงินเข้าลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี Eurekahedge Hedge Fund Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกของเฮดจ์ฟันด์กว่า 2,000 แห่ง พุ่งขึ้น 3% ในเดือนเม.ย. หรือพุ่งขึ้น 3.9% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้
        กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ได้ประโยชน์จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่พุ่งขึ้น 11% ในเดือนเม.ย. และคาดว่าเฮดจ์จะรุกลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปหลังจากการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ย่ำแย่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีพ.ศ.2551 โดยดัชนี Eurekahedge Hedge Fund Index ดิ่งลง 12% ในปี 2551 ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ Eurekahedge เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในปีพ.ศ.2543
        ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นไปอย่างคึกคักในเดือนเม.ย. เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะสิ้นสุดลง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นปานกลาง ขณะที่ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และอังกฤษเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี
        Eurekahedge ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลกขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย  นอกจากนี้ เฮดจ์ฟันด์ยังขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศมีคำสั่งห้ามทำชอร์ตเซลล์ หลังจากตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้ของเฮดจ์ ฟันด์ด้วย สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 21, 2009 11:20 am
โดย pavilion
กรีนสแปนชี้วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐยังไม่สิ้นสุด คาดแบงค์สหรัฐยังต้องระดมทุนอีกมาก

อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐยังไม่สิ้นสุดลงแม้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงก็ตาม พร้อมกับเตือนว่าธนาคารพาณิชย์สหรัฐจะต้องระทุนทุนอีกจำนวนมาก
"ยังมีธนาคารอีกหลายแห่งในสหรัฐที่ต้องระดมเงินทุน และต้องระดมเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก สหรัฐยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในตลาดปล่อยกู้จำนองไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าราคาบ้านจะฟื้นตัวขึ้น ผมเชื่อว่าระบบการธนาคารในสหรัฐยังขาดเงินทุนอีกมาก แม้ผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test) ระบุว่ามีเพียง 10 แบงค์ จากทั้งหมด 19 แบงค์ที่ต้องระดมทุนก็ตาม" กรีนสแปนกล่าวให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กที่วอชิงตัน
        ผลทดสอบภาวะวิกฤติของ 19 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่บ่งชี้ว่า มีธนาคาร 10 แห่งที่ต้องระดมทุนเพิ่มเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา จำเป็นต้องเพิ่มทุนมากที่สุดที่ระดับ 3.39 หมื่น ล้านดอลลาร์ ธนาคารเวลส์ ฟาร์โกต้องเพิ่มทุน 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ บริษัท GMAC ต้องเพิ่มทุน 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ ซิตีกรุ๊ป อิงก์ ต้องเพิ่มทุน 5.5 พันล้านดอลลาร์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ต้องเพิ่มทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์
        กรีนสแปนกล่าวว่า "ภาวะขาดแคลนเงินทุนของธนาคารในสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนและผู้บริโภค อีกทั้งจะขัดขวางความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สหรัฐกำลังยืนอยู่บนจุดที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งหากตัดสินใจพลาดเพียงก้าวเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไปอีกหลายปี และผมคงรู้สึกกังวลมากหากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าเกินไป"
        อย่างไรก็ตาม กรีนสแปนเชื่อว่า ตลาดการเงินซึ่งเผชิญภาวะตึงตัวอย่างหนักนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า
        "ที่ผ่านมานั้นตลาดการเงินทั่วโลกถูกทับถมด้วยกระแสความวิตกกังวลที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ผมเชื่อว่าตลาดการเงินจะพลิกฟื้นขึ้นได้ภายในอีก 6-12 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าราคาบ้านในสหรัฐจะกลับมามีเสถียรภาพในปีหน้า และเชื่อว่าภาวะผันผวนในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลงในปีหน้าด้วย" กรีนสแปนกล่าว
        กรีนสแปนยังกล่าวด้วยว่า การที่กระทรวงการคลังสหรัฐเข้าลงทุนมูลค่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์ด้วยการซื้อหุ้นในธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ ได้ช่วยลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์และอัตราดอกเบี้ยและอัตราการทำสว็อปแบบข้ามคืน ซึ่งการแทรกแซงของกระทรวงการคลังครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการกู้ยืม และจะช่วยลดแรงตึงตัวในตลาดการเงิน นอกจากนี้ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารด้วยวิธีนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน และช่วยให้การระดมทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีความไหลลื่นมากขึ้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 21, 2009 4:55 pm
โดย pavilion
นักเศรษฐศาสตร์คาดดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐอาจดีดตัวขึ้นในเดือนเม.ย.

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐอาจดีดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยหนักสุดในรอบกว่า 50 ปีเริ่มคลี่คลายลงแล้ว

โดยผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสำนักงาน Conference Board น่าจะดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือว่าปรับตัวสูงขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2548 ในขณะเดียวกันก็คาดว่าปัจจัยอื่นๆ อย่างตัวเลขภาคการผลิตจะหดตัวช้าลงและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานก็น่าจะลดลงด้วย
        นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าราคาหุ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ถึงกระนั้นอัตราว่างงานที่พุ่งแตะดับสูงสุดในรอบ 25 ปี และคาดว่าจะไต่ระดับอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
        "เศรษฐกิจหลุดพ้นจากช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดแล้ว แต่ยังคงซบเซาอยู่ดี" เดวิด เซมเมนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงค์ ในนิวยอร์ก กล่าว "ตลาดแรงงานยังคงซบเซา นอกจากนั้นผู้บริโภคก็ยังเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่มากเท่าในอดีต"
        สำนักงาน Conference Board มีกำหนดเปิดเผยตัวเลขดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในเวลา 10.00 น.โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ระหว่างหดตัว 0.2% ถึงขยายตัว 1.4% หลังจากที่ปรับตัวลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค.    
        นอกจากนั้นในเวลาเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟียก็อาจเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิต ซึ่งคาดว่าอาจดีดตัวขึ้นแตะ -18 จุดในเดือนพ.ค. จาก -24.4 จุดในเดือนเม.ย. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 22, 2009 9:34 am
โดย pavilion
World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันข่าวที่ว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับลดอันดับเครดิตของอังกฤษ

โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 129.91 จุด หรือ 1.54% แตะที่ 8,292.13 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 15.14 จุด หรือ 1.68% แตะที่ 888.33 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 32.59 จุด หรือ 1.89% แตะที่ 1,695.25 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงหดตัวลงในปีนี้ ซึ่งจุดปะทุให้เกิดความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะฉุดดีมานด์พลังงานลดลงด้วย
        โดยสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 99 เซนต์ ปิดที่ 61.05 ดอลลาร์/บาร์เรล

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยสัญญาทะยานขึ้นเหนือระดับ 950 ดอลลาร์/ออนซ์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เพราะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ
        โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่ 951.20 ดอลลาร์/ออนซ์ พุ่งขึ้น 13.80 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 935.80-956.90 ดอลลาร์

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่าตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่าสหรัฐอาจมีตัวเลขขาดดุลที่สูงเกินคาด
        โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.59% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 94.290 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 94.850 เยน/ดอลลาร์ และร่วงลง 0.69% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0930 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1006 ฟรังค์/ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) หลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอังกฤษ และนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าวิกฤตการณ์การเงินยังไม่สิ้นสุดลง
        โดยดัชนี FTSE 100 ปิดร่วงลง 122.94 จุด แตะที่ 4,345.47 จุด หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 4,325.77-4,468.41 จุด

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 22, 2009 9:37 am
โดย pavilion
เงินบาทเปิดตลาด 34.38/40 จากดอลลาร์อ่อนค่ามาก

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 34.38/40 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดวันนี้

เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลัก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่ามากเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก หลังจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐปีนี้คาดว่าจะหดตัว 1.3-2% และเมื่อคืนที่ทางการสหรัฐประกาศตัวเลขอัตราว่างงานสหรัฐสูงขึ้นมากกว่าคาดการณ์เช่นกัน
        "เงินบาทน่าจะแข็งค่าได้ต่อตามภูมิภาค หลังจากดอลลาร์อ่อนค่ามากเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก เช่น ยูโรปรับตัวแข็งค่าทำสถิติสูงสุดเมื่อคืนนี้ ที่ 1.400 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินบาท หากปรับตัวแข็งค่ามาก ทางการคงเข้ามาซื้อบ้างเพื่อไม่ให้เงินบาทเคลื่อนไหวมาก "นักบริหารเงิน กล่าว
        ส่วนค่าเงินสกุลต่างประเทศเช้าวันนี้ เงินเยน เปิดตลาดที่ 93.90 เยน/ดอลลาร์ เงินยูโร อยู่ที่ 1.3938/40 ดอลลาร์/ยูโร
        แนวโน้มเงินบาทวันนี้ คาดว่าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.27/45 บาท/ดอลลาร์

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 22, 2009 9:45 am
โดย pavilion
เฟดระบุมีสัญญาณศก.กระเตื้องขึ้น จะเห็นอัตราเติบโตในครึ่งหลังปีนี้
เอเอฟพี - บรรดาผู้กำหนดนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) กำลังมองเห็น "หลักฐานแม้ยังไม่สู้แน่นอน" ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังโผล่พ้นภาวะถดถอย และอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจกลับไปมีอัตราการเติบโตเป็นบวกพอประมาณในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ตามเนื้อหาในรายงานบันทึกการประชุมที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธ(20)
     
      ขณะเดียวกันในวันพุธนี้เอง ธนาคารกลางสหรัฐฯยังได้ทบทวนแก้ไขทิศทางอนาคตเศรษฐกิจในมุมมองของตน โดยระบุว่า จีดีพีของสหรัฐฯในปีนี้จะหดตัวในระดับระหว่าง 1.3 ถึง 2.0% แต่ก็บอกด้วยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะผ่านพ้นช่วงดิ่งลงรุนแรงที่สุดไปแล้ว
     
      แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ จะแย่กว่าการคาดการณ์ของเดือนกุมภาพันธ์ ที่บอกว่าผลผลิตของสหรัฐฯจะลดลงราว 0.5 - 1.3% แต่เมื่อดูในรายงานบันทึกการประชุมที่เพิ่งนำออกมาเผยแพร่ ก็จะพบว่ามีการระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่ของเฟดได้ทบทวนและปรับแก้ทิศทางอนาคตให้ดีขึ้นสำหรับการมองภาพรวมเศรษฐกิจในระยะหลังๆ นี้ "เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการต่างๆ ทางการเงินที่เอื้ออำนวยยิ่งขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ รวมทั้งตัวเลขซื้อขายต่าง ๆซึ่งดีกว่าที่คาดไว้มาก"
     
      รายการการประชุมของคณะกรรมการนโยบายกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) ที่นำออกเผยแพร่คราวนี้ เป็นของการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 28-29 เมษายนที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของรายงานทำให้เห็นว่าคณะกรรมการได้พูดในทางบวกมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แม้ว่าจะยังคงชี้ว่าปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆยังคงดำรงอยู่
     
      "ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องกันว่า ข้อมูลที่ได้มาภายหลังจากการประชุมเดือนมีนาคม ทำให้เห็นหลักฐานแม้ยังไม่สู้แน่นอนบางประการว่า การหดตัวของกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเริ่มที่ชะลอตัวลงบ้างแล้ว" รายงานการประชุมกล่าว
     
      "ผู้เข้าร่วมประชุมชี้ว่าสภาพด้านต่างๆ ของตลาดการเงินเริ่มแข็งแกร่งขึ้นโดยทั่วไป และผลการสำรวจรวมทั้งรายงานเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ก็ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำมากก็ตาม"
     
      รายงานการประชุมระบุว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่พวกเจ้าหน้าที่เฟดเตรียมมาสำหรับการประชุมเมื่อสิ้นเดือนเมษายนคราวนั้น แสดงให้เห็นว่ามีสัญญาณมากมายชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2007 นั้น กำลังผ่อนคลายลงแล้ว
     
      "การจับจ่ายของผู้บริโภคดูเหมือนจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่ดิ่งลงมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 และการร่วงลงรุนแรงของภาคที่อยู่อาศัยก็ดูเหมือนจะรุนแรงลดน้อยลงไปด้วย" รายงานการประชุมของเฟดระบุว่าเป็นการคาดการณ์ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่เฟด
     
      "อย่างไรก็ตาม การหดตัวในตลาดแรงงานยังคงมีอยู่ในเดือนมีนาคม ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมก็ยังคงดิ่งลงรวดเร็วต่อเนื่องไป การลงทุนในซอฟท์แวร์และอุปกรณ์อื่น ๆก็ลดลงต่อจากช่วงเวลาก่อนหน้า"
     
      ในขณะเดียวกัน เฟดกล่าวว่าสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นในภาคการเงินและตลาดสินเชื่อ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดกำลังใจ
     
      "อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมในภาคเอกชนเริ่มลดลง ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นชัดเจน และระดับของแรงกดดันในภาคการเงินบางประการก็เริ่มผ่อนคลายลงไปเช่นกัน" เฟดชี้
     
      "การคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เจ้าหน้าที่เฟดจัดทำไว้สำหรับครึ่งหลังของปี 2009 และ 2010 ได้มีการทบทวนเพื่อปรับให้สูงขึ้น โดยคาดหมายว่าจีดีพีแท้จริงจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นพอประมาณในปีหน้า"
     
      รายงานการประชุมนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ประธานเฟด เบน เบอร์นันกีกล่าวเมื่อก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ โดยเบอร์นันกีชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะลงถึงก้นเหว จากนั้นก็ไต่ขึ้นมาในช่วงต่อไปของปีนี้
     
      ทั้งนี้จีดีพีสหรัฐฯอยู่ในอาการหดตัวด้วยอัตราน่าตกใจถึง 6.1%ในไตรมาสแรกของปี 2009 หลังจากที่ตกลงไปแล้ว 6.3%ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า
     
      เกี่ยวกับภาวะการว่างงาน รายการประชุมของเฟดคาดว่าอัตราการว่างงานยังจะขยับขึ้นจากระดับ 8.9% อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี โดยอาจจะขึ้นไปแตะระดับ 9.2-9.6%ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่เฟดได้คาดเอาไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2009 นั้นจะอยู่ระหว่าง 0.6-0.9% และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2010 จะอยู่ที่ 20-3.0%
     
      เมื่อมองในภาพรวมแล้ว เฟดระบุว่ายังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะบรรลุเป้าหมายของธนาคารกลางทั้งในด้านอัตราการเติบโต, ภาวะเงินเฟ้อ, และระดับการจ้างงาน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 25, 2009 9:39 pm
โดย pavilion
สภาพัฒน์เผยจีดีพี Q1/52 หดตัว 7.1% คาดทั้งปี 52 ติดลบ 3.5 ถึง 2.5%

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 1/52 ติดลบ 7.1% เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในไตรมาส 4/52 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่ง
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการส่งออก
        พร้อมกันนั้น สภาพัฒน์ยังได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 52 มาเป็นติดลบ 3.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะติดลบ -1% ถึง 0% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 จะติดลบน้อยลงหากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติ ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดๆ เข้ามาซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในเดือนเม.ย.52  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าจีดีพีอาจจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52
        "ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ รัฐบาลเดินหน้าลงทุนได้ตามแผน ก็เชื่อว่าในไตรมาส 2/52 เศรษฐกิจจะติดลบน้อยกว่าไตรมาสแรก และน่าจะเริ่มฟื้นเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4"นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว
                                       
*จีดีพี Q1/52 หดตัวหนักจากผลกระทบศก.โลกทรุดรุนแรง

        เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/52 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/52 และเป็นการหดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่ง IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกหดตัว 1.3% และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการของไทยหดตัวมากกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน
        พร้อมกันนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวจากการการส่งออกและการผลิตหดตัว ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีการยกเลิกการจ้างงานจำนวนมาก มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง
        ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนโดยรวมลดการลงทุนลง เนื่องจากการที่ยังขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก และความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังถดถอย ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสถาบันการเงินระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ และบรรยากาศการระดมทุนในตลาดทุนยังไม่จูงใจ

*แนวโน้มศก.ช่วงที่เหลือปี 52 มีลุ้นฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

        สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะยังหดตัวต่อเนื่องช่วงครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 2/52 ยังอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องและส่งผลต่อการส่งออกและการผลิตในหลายสาขาให้หดตัวตามไปด้วยโดยกำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่สูง ไม่จูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน แต่การคาดการณ์หดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 จะลดความรุนแรงลงกว่าไตรมาสแรก และหากเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาสมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พยุงไม่ให้การใช้จ่ายประชาชนลดลงมาก ขระที่มีการเร่งรัดการใช้จ่ายและโครงการภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย
        นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้นในไตรมาส 2/52 โดยที่การหดตัวการค้าระหว่างประเทศจะลดความรุนแรงลงช่วงปลายไตรมาส ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ของปี 51 ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก ดังนั้น ทางเทคนิคจะทำให้อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2/52 ไม่รุนแรงนัก
        และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และช่วยให้การหดตัวของทั้งปีไม่รุนแรงมากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มรับผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐคลี่คลายลง  
        นอกจากนี้การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการจัดทำงบกลางปี 52 วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท เริ่มมีการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ มี.ค. ซึ่งการดำเนินโครงการต่าง ๆ และการเบิกจ่ายเงินมีความคืบหน้ามาก ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น พยุงไม่ให้การใช้จ่ายครัวเรือนหดตัว มีมาตรการดูแลผู้ว่างงาน และรักษาอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน
        ประกอบการ รัฐบาลยังคงเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปกติของปี 52 ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 94% มีการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนสำคัญภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 มีมาตรการพยุงยาคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ โดยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ มีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อและขยายสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยที่ ธปท. ยังดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ช่วยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจและปรับตัวช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้
        ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไม่เกิน 60 ดอลลาร์/บาเรล จึงคาดว่าจะไม่เกิดภาวะชะงักงันของภาคการผลิต
        "เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตั้งแต่ครึ่งปีหลัง จากผลของแรงกระตุ้นของงบกลางปี 52 ซึ่งจะช่วยให้ปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 จีดีพีจะขยับเป็นติดลบน้อยลง การบริโภคจะกระเตื้องขึ้น เราคาดว่าการปรับตัวของสินค้าคงคลังจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะเห็นสัญญาณการเพิ่มกำลังการผลิตจากความเชื่อมั่นของเอกชนที่เพิ่มขึ้น ตลาดทุนจะเริ่มกลับมามีชีวิตชีวา และมีการไหลเข้าของนักลงทุนต่างประเทศ" นายอำพน กล่าว

*แนะรัฐเร่งบรรเทาผลกระทบวิกฤติศก.โลก-ดูแลแรงงานและเกษตรกร

        สภาพัฒน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และมีความเปราะบาง โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้ช่วงต้นปี การค้าโลกลดลงรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกหลายประเทศรวมทั้งไทย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดและดูแลการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
        รัฐบาลต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 และงบกลางปีวงเงิน 1.167 แสนล้านบาท และเร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณประจำปี 53 มีการเตรียมความพร้อมของโครงการที่จะสามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้ทันทีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 53 (ต.ค.-ธ.ค.52)ควบคู่ไปกับการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐสำคัญที่อยู่ในกรอบงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ให้คืบหน้าอย่างจริงจัง
        พร้อมกันนั้น จะต้องเร่งรัดดำเนินงานตามมาตรการดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ทั้งในเรื่องการดูแลให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ มีโอกาสในการหางานใหม่ รวมถึงดูแลปรับปรุงกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งด้านการแทรกแซงราคา และการพัฒนาภาคเกษตรอย่างครบวงจร ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
        และ ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย สนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ รวมทั้งดูแลการประกันสินเชื่อและการสนับสนุนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 25, 2009 9:41 pm
โดย pavilion
ราคาน้ำมัน NYMEX ลดลงแตะ $61.32 ขณะนลท.จับตาการประชุมโอเปควันพุธนี้

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลงแต่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 61 ดอลลาร์/บาร์เรลท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในสัปดาห์นี้ รวมถึงมองหาปัจจัยชี้นำใหม่ๆที่สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในช่วงเที่ยงวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนก.ค.ลดลง 35 เซนต์ แตะระดับ 61.32 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังพุ่ง 62 เซนต์ สู่ระดับ 61.67 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา          
        ราคาน้ำมันเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองในแง่บวกว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายสิ้นสุดลงแล้ว และเทรดเดอร์จะรอคอยการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ๆในสัปดาห์นี้ โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.รวมถึงรายงานยอดขายบ้านมือสองและบ้านใหม่ในเดือนที่ผ่านมา
        ขณะที่ในเอเชีย เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ที่ว่าภาวะตกต่ำในภาคธุรกิจส่งออกมาถึงจุดต่ำสุดที่พร้อมดีดตัวขึ้นแล้ว แม้แนวโน้มจะยังเลือนรางก็ตามที
        วิคเตอร์ ชุม นักวิเคราะห์จากเปอร์วิน แอนด์ เกิร์ซ ในสิงคโปร์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 60 ดอลลาร์บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวแล้ว แม้จะมีหลักฐานให้เห็นเพียงเล็กน้อย"
        ทั้งนี้ กลุ่มประเทศโอเปคจะประชุมกันที่กรุงเวียนนาในวันพุธนี้เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันซึ่งที่ประชุมอาจลดโควต้าการผลิตลงจากเดิมที่วันละ 4.2 ล้านบาร์เรลตั้งแต่เดือนก.ย.ปีก่อน
        อย่างไรก็ตาม ผู้นำกลุ่มโอเปคต้องการให้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลจากระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนมี.ค.จะกดดันให้ที่ประชุมกลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิตลงอีก

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 25, 2009 9:44 pm
โดย pavilion
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2552

-เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรกปี 2552 รุนแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 การหดตัวที่รุนแรงกว่าที่คาดเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรงมากขึ้นและทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวลงมาก และมีผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนลดลงและสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
-ภาคธุรกิจเอกชนลดการลงทุนลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งความต้องการสินค้าและการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงมาก จึงได้ส่งผลให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากและมีการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมสำคัญ และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
        -แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าลดลงร้อยละ 1.9 จากที่ลดลงถึงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้าชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงต่ำสุดซึ่งจะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสที่มีโอกาสจะเป็นบวกในครึ่งหลัง
        -ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลัง ประกอบด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลาง รวมทั้งการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตภายหลังจากที่ได้ใช้สินค้าคงคลังไปมากแล้ว ทั้งนี้โดยมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ราคาสินค้าที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ
        -คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณร้อยละ (-3.5)-(-2.5) โดยที่เฉลี่ยในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจหดตัวมากแต่จะฟื้นตัวดีขึ้นและมีโอกาสกลับมาขยายตัวในครึ่งหลัง ทั้งนี้การขยายตัวเป็นบวกในครึ่งหลังนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก โดยที่ประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ
        -คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 จะอยู่ในระดับร้อยละ (-0.5)-(0.5) เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวลงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 3.7 ของ GDP จากการเกินดุลการค้าในระดับสูงและการปรับตัวดีขึ้นของดุลบริการที่เกิดจากรายได้จากการท่องเที่ยว
        -การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจะต้องมุ่งเน้นในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดเตรียมความพร้อมให้โครงการภาครัฐสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินโครงการภาครัฐ

1. ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2552
        1.1ในไตรมาสแรกปี 2552 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่ฉุดให้การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงมากและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศให้หดตัวลงตาม และทำ ให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวรุนแรงกว่าที่คาด

        ประเด็นหลัก

        - ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกปี 2552 ถดถอยเป็นวงกว้างและรุนแรงมากกว่าในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 โดยหดตัวประมาณร้อยละ 4.0 แต่ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนได้เริ่มมีสัญญาณบวกเกิดขึ้นบ้างในหลายประเทศเช่น ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่รุนแรงน้อยลง และสต็อกสินค้าลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปมีความจำเป็นในการเพิ่มทุนเป็นจำนวนที่น้อยลงและลดแรงกดดันต่อภาวะตลาดการเงินโลก
        ในไตรมาสแรกวิกฤตทางการเงินโลกที่ส่งผลให้เกิดภาวะเครดิตตึงตัวและขาดสภาพคล่องในภาคสถาบันการเงิน ความมั่งคั่งของประชาชนลดลงและขาดความเชื่อมั่น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยทำให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนลดลงรวมทั้งปรับลดการผลิตลงมาก จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลงมากและต่อเนื่องถึงกันเป็นลูกโซ่โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเอเชียนั้นได้รับผลกระทบที่ทำให้การส่งออกลดลงมากและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน การดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ (i) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งในหลายประเทศ (เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับร้อยละ 0 (ii) การอัดฉีดสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อโดยตรงเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ (Quantitative easing) และการเข้าไปเพิ่มทุนหรือการให้กู้แก่สถาบันการเงินโดยตรงโดยภาครัฐ และ (iii) การดำเนินนโยบายการคลังผ่อนคลายทั้งการปรับลดภาษีการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน โดยที่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศควบคู่ไปด้วยเพื่อการเพิ่มผลิตภาพและการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งเป็นที่คาดว่าผลของการดำเนินมาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจะมีประสิทธิผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและผลที่เกิดขึ้นจะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันของประเทศต่าง ๆ โดยผ่านทางการค้าระหว่างประเทศและทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น

        -เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2552 หดตัวร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้นและล่าสุดในเดือนเมษายนองค์กรการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจากที่คาดไว้ในเดือนมกราคมว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 มาเป็นการหดตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณการค้าโลกหดตัวมากโดยที่ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกและการนำเข้าหดตัวลงมากในหลายประเทศต่อเนื่องจากที่เริ่มหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนนั้นชะลอลงมากและถึงขนาดหดตัวในหลายประเทศ ดังนั้นในไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกของไทยจึงลดลงมากทั้งปริมาณและมูลค่า โดยที่การส่งออกในทุกตลาดสำคัญลดลง และสินค้าออกสำคัญหลายรายการลดลง การส่งออกและการผลิตที่หดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ต้องมีการลดชั่วโมงการทำงานและเลิกจ้างงาน รายได้และกำลังซื้อของประชาชนจึงลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลงและอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเมื่อถูกซ้ำเติมโดยปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ดังนั้นในไตรมาสแรกการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนจึงลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ในไตรมาสแรกนี้การหดตัวลงอย่างรวดเร็วของการส่งออกและผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนลดลงจึงเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม
        อย่างไรก็ตามหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2552 โดยเปรียบกับในไตรมาสก่อนหน้านั้นลดลงร้อยละ 1.9 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.1ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการถดถอยทางเทคนิค(technical recession) แต่อย่างไรก็ตามการหดตัวในอัตราที่ช้าลงนั้นชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและมีโอกาสที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดได้ในไตรมาสสองของปีนี้ก่อนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปี (QoQ)

        - ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากในไตรมาสแรกปี 2552
        (1) ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงทำให้การส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากกว่าในไตรมาสที่ 4/51
                  - ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศต่าง ๆ มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมหดตัวร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากที่เริ่มเข้าสู่ภาวะการหดตัวเพียงร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 4/51 ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อมั่นและความมั่งคั่งที่ลดลง และตลาดสินเชื่อตึงตัวมากขึ้นจึงทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศลดลงมากและมีผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศต่าง ๆ เป็นวงกว้างมากขึ้น เศรษฐกิจหลักที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสแรก ได้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ (-2.6%) อังกฤษ (-4.1%)ญี่ปุ่น (-9.7%) กลุ่มยูโรโซน (-4.6%) สิงคโปร์ (-10.1%)เกาหลีใต้ (-4.3%) และไต้หวัน (-10.2%) เป็นต้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียตนามก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมากต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วโดยมีการขยายตัวร้อยละ 6.1, 3.7 และ 3.1 ตามลำดับ ผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกต่อการค้าโลกนั้นรุนแรงมากขึ้น โดยที่ในไตรมาสแรกการค้าระหว่างประเทศลดลงมากอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกของหลายประเทศยังลดลงมาก เช่น ญี่ปุ่น (-46.2%) จีน (-17.1% และ -22.6% ในเดือนเมษายน) เกาหลีใต้ (-22% และ -19% ในเดือนเมษายน)ไต้หวัน(-36.1%) สิงคโปร์ (-28.1%) และมาเลเซีย (-26%) ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ประเทศต่าง ๆ ต้องลดการผลิตลง และมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูงรวมทั้งมีการเลิกจ้างแรงงานมากขึ้นอัตราการว่างงานในหลายประเทศจึงเพิ่มสูงขึ้น เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซนมีอัตราการว่างงานร้อยละ 8.51, 4.8และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ
                  - เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทยหดตัวลงมากในไตรมาสแรกของปีนี้ต่อเนื่องจากที่มีการหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงร้อยละ 17.9 (จากที่หดตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4/51) และมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 19.3 รุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4/51 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาสแรกนั้น มีจำนวน 3.7 ล้านคนลดลงร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 19.4 ในไตรมาส 4/51 ก็นับว่าผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดสนามบินนั้นได้บรรเทาลงและเป็นผลกระทบที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการบริโภคที่ลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทยลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ ราคาข้าวโพด มันสำปะหลังยางพารา และปาล์มน้ำมัน (ราคาที่เกษตรกรขายได้ลดลงร้อยละ 18.4, 44.1, 45 และ 37 ตามลำดับ) ในไตรมาสแรกของปีนี้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยจึงเพิ่มขึ้นน้อยมากเพียงร้อยละ 0.9 ซึ่งนับว่าชะลอลงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.7 และ 59.3 ในไตรมาสสามและสี่ของปีที่แล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 33 ในปี 2551)
        (2) การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.6 และ 17.7 ตามลำดับ จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.1 และหดตัวเพียงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสสี่ปี 2551 ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ทำให้การส่งออกและการผลิตหดตัว จึงทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและมีการยกเลิกจ้างงานจำนวนมาก อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลงมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง สำหรับภาคธุรกิจเอกชนนั้นโดยรวมยังลดการลงทุนลง เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังถดถอย รวมทั้งยังมีผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทย ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและบรรยากาศการระดมทุนในตลาดทุนยังไม่จูงใจ

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 25, 2009 9:45 pm
โดย pavilion
โนมูระชี้เศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้-มาเลเซีย-ไต้หวันได้รับผลกระทบหนักสุดในเอเชียจากเศรษฐกิจโลกถดถอย

โนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้เศรษฐกิจไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวันได้รับผลกระทบหนักสุดจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และคงจะต้องใช้เวลากว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้มีการลดพนักงานเป็นจำนวนมากในประเทศเหล่านี้
บลูมเบิร์กรายงานว่า ร็อบ ซับบารามัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ กล่าวว่า หากเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ คาดว่าบริษัทเอกชนในประเทศเหล่านี้คงไม่มีทางเลือก นอกจากการลดจำนวนพนักงานลงอย่างมาก
        อัตราว่างงานในฮ่องกงเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 5.3% ในช่วงไตรมาส 1 ส่วนอัตราว่างงานในเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2546 ขณะที่อัตราว่างงานใน 2 ประเทศมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่านี้เช่นกัน
        รายงานระบุว่า ดีมานด์ การส่งออก การบริโภค และการลงทุนที่หดตัวลง เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากช่วงภายหลังวิกฤตการเงินในภูมิภาคเอเชียที่เอเชียไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกให้ฟื้นตัวเพื่อหนุนเศรษฐกิจได้ และจีนเองก็ไม่สามารถช่วยหนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคได้มากเท่าไรนัก

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ค. 25, 2009 9:49 pm
โดย pavilion
Ifo เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

สถาบัน Ifo เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า ภาวะเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจถดถอยจะคลี่คลายลงในปีนี้

 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพ.ค.ของเยอรมนีปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 84.2 จากระดับ 83.7 ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็นคาดว่า ความเชื่อมั่นจะขยายตัวขึ้นมาอยูที่ระดับ 85 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนมี.ค.ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี
        พรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของนางแองเจล่า แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกำลังพยายามที่จะดึงเศรษฐกิจเยอรมนีให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย ด้วยการวางแผนใช้จ่ายประมาณ 8.2 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลง 6% ในปีนี้ แต่ประธานธนาคารกลางเยอรมนีมองว่า มีสัญญาณด้านบวกที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้
        ราล์ฟ โซลวีน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของคอมเมิร์ซแบงค์ เอจี กล่าวว่า ขณะที่ดัชนี Ifo ปรับตัวสูงขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ถือว่าเป็นบวก ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราคงจะยังไม่ได้เห็นการฟื้นตัวขึ้นในทันทีทันใด
        ในขณะที่มาตรวัดการคาดการณ์ของ Ifo เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 85.9 จากระดับ 83.9 นั้น เงินยูโรร่วงลงหนึ่งในสามของ 1 เซนต์ หลังจากที่มีรายงานตัวเลขดัชนีมาอยู่ที่ 1.3958 เซนต์ต่อดอลลาร์
        เกอร์น็อต เนิร์บ นักเศรษฐศาสตร์ของ Ifo กล่าวว่า การคาดการณ์ต่างๆถือเป็นการส่งสัญญาว่าเรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังถือว่าอ่อนแออยู่ เราจะเสนอให้มีการลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: อังคาร พ.ค. 26, 2009 9:49 am
โดย pavilion
ฐานทุนวูบ-วิกฤติไม่จบ อุตฯแบงก์ส่ออ่วม
ชี้ฟองสบู่สินเชื่อบ้านยังซ่อนสึนามิซับไพร์มพร้อมกระหน่ำทำตลาดช็อกอีกครั้ง เพราะอัตราว่างงานกับหนี้เสียบัตรเครดิตกำลังก่อปัญหางูกินหาง

ปัญหาสินเชื่อตึงตัวในภาคธนาคารทั่วโลกรวมทั้งไทย ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง และยังมีธนาคารหลายแห่งในหลายประเทศรวมทั้งไทย ไม่กล้าปล่อยกู้ง่ายๆ เพราะกลัวหนี้ไม่ก่อเกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นจนกัดกร่อนฐานทุนธนาคารนั้น

ถือเป็นประเด็นร้อนทำให้ "ดิ อีโคโนมิสต์" นิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษ ให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว และร่วมประเมินความเสียหายของภาคธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารในซีกโลกตะวันตก  หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติที่ปะทุมาตั้งแต่ปลายปี 2550  

โดยอีโคโนมิสต์ได้นำเสนอรายงานเชิงวิเคราะห์หัวเรื่อง "การฟื้นฟูธนาคารทั่วโลก" ที่นอกจากจะนำเสนอปัญหาของธนาคารในปัจจุบันแล้ว ยังมองถึงแนวโน้มซึ่งหมายถึงอนาคตของธนาคารจากซีกโลกตะวันตกและธนาคารในกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงเอเชียและไทยด้วย

อุ้มแบงก์ดันหนี้ประเทศพุ่ง

งานวิเคราะห์เริ่มจากการคำนวณดูต้นทุน ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้ความพยายามอย่างหนัก ที่จะกอบกู้ระบบการเงินในประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพร้อมกันไปด้วยว่า ได้ก่อความเสียหายในระยะยาว ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นอยู่ในรูปของการนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยอัดฉีดฐานเงินทุนของธนาคาร

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คำนวณว่าหนี้สาธารณะรัฐบาลกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวย 20 ประเทศ หรือจี 20 จะพุ่งขึ้นแตะ 100% ของจีดีพีในปี 2557 ซึ่งเพิ่มจากระดับ 70% ของจีดีพีในปี 2543 และที่ระดับเพียง 40% ของจีดีพีในปี 2523

ขณะเดียวกันความสูญเสียของอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลกอีกด้านหนึ่ง ได้ปรากฏให้เห็นชัดจากการสูญเสียของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ เพราะความเสียหายได้ทำลายความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น สะท้อนให้เห็นจากกราฟแสดงมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของอุตสาหกรรมธนาคารโดยรวม พบว่า ตอนนี้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของปี 2551 และยังกวาดเอากำไรที่เคยทำได้ทั้งหมดในปี 2546 หายไปจนหมด

ปัญหาเหมือนงูกินหาง

อีโคโนมิสต์เชื่อว่าความเจ็บปวดที่สถาบันการเงินทั่วโลกได้รับ ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดว่าจะจบลงเมื่อใดและอย่างไร ในเมื่อภาวะสินเชื่อตึงตัวได้ก่อคลื่นสึนามิตามมาเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า

เพราะนอกจากสินเชื่อปล่อยให้ภาคธุรกิจแท้จริงมีจำกัดแล้ว ธนาคารส่วนใหญ่กำลังอยู่ในอาการขาอ่อนหมดเรี่ยวแรง และยิ่งจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน เพราะวังวนของปัญหาเปรียบเหมือนงูกินหาง กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับบริษัทเอกชนทั่วไปและกลุ่มผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทั้งทางตรงและทางอ้อม

การขาดทุนและความสูญเสียมหาศาล ซึ่งธนาคารเผชิญอยู่นั้น ควรเป็นปัญหาที่โผล่ให้เห็นในบัญชีสินเชื่อ และมีแนวโน้มว่าภาวะตื่นตระหนกจะยังเกิดขึ้นอีก เพราะขนาดของฟองสบู่และความรุนแรงอันเกิดจากฟองสบู่แตก อาจเปลี่ยนรูปปรากฏให้เห็นจากความสัมพันธ์ระหว่างอัตราว่างงานกับหนี้เสียจากบัตรเครดิต ขณะที่การขาดทุนจากสินเชื่อของธนาคารกลับบันทึกรับรู้ทางบัญชีล่าช้ากว่าเดิม

นอกเหนือจากการขาดทุนของธนาคารแล้ว ตอนนี้สินทรัพย์ของธนาคารอยู่ระหว่างการประเมินและวิเคราะห์หาความสูญเสีย ซึ่งอาจมีมูลค่ามากกว่าที่สถาบันการเงินทั่วไปเคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ และ จอห์น วาร์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ของบาร์เคลย์ส มองว่าความสูญเสียหรือมูลค่าสินทรัพย์ที่หายไปนั้น จะโผล่ให้เห็นเป็นหลักฐานพิสูจน์กันได้มากขึ้น ตามระดับความถดถอยซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะกินลึกเพียงใด

แบงก์มีฐานทุนไม่พอ

งานวิเคราะห์ยังอ้างอิงรายงานเสถียรภาพการเงินทั่วโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟว่า ไอเอ็มเอฟประเมินตัวเลขความสูญเสียโดยรวมของสถาบันการเงินทั่วโลกครั้งล่าสุด อันเนื่องมาจากวิกฤติปัจจุบันว่า ขยับขึ้นเป็น 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และงานวิเคราะห์เชื่อว่าตัวเลขแดงเป็นการขาดทุนในงบบัญชีธนาคารมีโอกาสขยายตัวได้อีก

ขณะที่นายธนาคารทั่วโลก มีบทเรียนที่จะไม่รีบแสดงความเชื่อมั่นมากเกินไปเกี่ยวกับอนาคตของธนาคาร เพราะหากคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ เรื่องการสูญเสียของสถาบันการเงินทั่วโลกเป็นการประเมินที่ถูกต้อง ย่อมหมายถึงฐานทุนของธนาคารทั่วโลกขณะนี้ยังน้อยเกินไป หรือไม่เพียงพอ แม้ผู้เชี่ยวชาญการธนาคารส่วนใหญ่มองโอกาส ที่จะเกิดปัญหาสถาบันการเงินใหญ่ระดับโลกล้มลงมีน้อยลงก็ตาม

ชี้แบงก์รับภาระขาดทุนได้

อีโคโนมิสต์ชี้ว่าความสามารถทำกำไรของธนาคารจากนี้ไป ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหมายถึงความสามารถของธนาคารที่จะครอบคลุมการขาดทุนโดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม เป็นเงินอัดฉีดจากรัฐบาล

ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มหนึ่งของบาร์เคลย์ส แคปิตอล คาดการณ์และคำนวณไว้ว่า รายได้ปีนี้ของธนาคารชั้นนำ 20 อันดับแรกของสหรัฐ ก่อนหักเป็นกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญและก่อนหักเป็นภาษี ในปี 2553-2554 จะอยู่ที่ 5.75 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพียงพอจะครอบคลุมการขาดทุน ที่ประเมินไว้ในช่วงเดียวกันว่า อยู่ระหว่าง 4.2 - 5.6 แสนล้านดอลลาร์

อีโคโนมิสต์ชี้ กำไรที่ธนาคารทำได้ จำเป็นต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะกำไรที่ทำได้อาจเป็นด่านแรก ที่ช่วยป้องกันภัยจากปัญหาวังวนเหมือนงูกินหาง แต่ในช่วงวิกฤติการเงินขณะนี้ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด กำไรธนาคารยังคงวูบหายและหมดไปอย่างรวดเร็ว จากการตัดบัญชีหนี้สูญ และการปรับรูปแบบธุรกิจเสียใหม่เพื่อความอยู่รอด ทำตัวเองให้ยืดหยุ่นมากที่สุด ลดพึ่งพาเงินทุนจากธุรกิจรายใหญ่ หันมาเพิ่มช่องทางทำรายได้กับผู้ฝากเงินมากขึ้น

แบงก์สหรัฐต้องปรับตัวหนัก

งานวิเคราะห์มองว่า ธนาคารทั่วโลกโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก พากันลดปริมาณความเสี่ยงที่แบกรับไว้ หมายถึงการลดลงทุนมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้า และทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ทุนน้อยลง พร้อมกับลดขนาดของงบบัญชีตามไปด้วย

ส่วนแนวโน้มของธนาคารทั่วโลกนั้น งานวิเคราะห์ชี้ว่ากลุ่มธนาคารมีขนาดเล็กกว่ามีอนาคตที่ดูจะเลือนราง ส่วนธนาคารสหรัฐและธนาคารรับฝากเงินของสเปน ติดกลุ่มที่เผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น เพราะผลกระทบเจ็บปวดจากการลงทุนในพอร์ตเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์นั้นมีมากกว่า

โดย ไมค์ ปูลอส จากโอลิเวอร์ ไวแมน บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐ คาดว่าจำนวนธนาคารในอเมริกาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8 พันแห่งหรือมากกว่านั้น จะลดจำนวนลงหายไป 2 พันแห่งหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติปัจจุบัน

อีโคโนมิสต์สรุปในตอนท้ายว่า ธนาคารในตลาดเกิดใหม่รวมถึงเอเชียและไทย แม้ได้ผลกระทบจากวิกฤติแต่ถือว่าน้อย และน้อยกว่าธนาคารจากซีกโลกตะวันตก ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอย่างหนัก ตั้งแต่โครงสร้างรูปแบบบริหารงานไปจนถึงสวัสดิการกับเงินเดือนของพนักงาน เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดขึ้น










































[/b]

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: อังคาร พ.ค. 26, 2009 9:50 am
โดย pavilion
โบรกฯเตือนแรงทิ้งหุ้นกดดัชนีรูด หลังพบยอดยืมหุ้นขายชอร์ต5เดือน1.2หมื่นล.
โบรกเกอร์ เตือนระวังเจอแรงเทขายหุ้นกดดัชนีตลาดหุ้นรูด หลังตลาดหุ้นพุ่งเร็ว-แรงเกินปัจจัยพื้นฐาน แจงพบนักลงทุนเริ่มทยอยยืมหุ้นขายชอร์ตจาก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บล.เคจีไอฯ เผยปีนี้มีกองทุน 8 แห่งใหม่ นำหุ้นให้ยืมมูลค่ารวม 4-5 พันล้านบาท หวังเพิ่มรายได้แก่ผู้ถือหน่วย ส่งผลให้มูลค่ารวมสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ ยอดชอร์ตเซลทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท
     
      ตลอดเดือนพฤษภาคม 2552 บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวในทิศทางบวกติดต่อกันหลายวัน ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่มีเข้ามาอย่างหนาแน่น หลังจากนักลงทุนต่างประเทศเริ่มหวนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหลายเป็นซื้อสุทธินับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือนพ.ค. 52 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิกว่า 8 พันล้านบาท
     
      นางนฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนปรับแผนการลงทุนด้วยการยืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ตมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน ก่อนที่จะเข้าไปซื้อคืนหลังราคาหุ้นที่น่าจะปรับตัวลดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้
     
      ทั้งนี้ จากการที่นักลงทุนเริ่มทยอยเข้ามายืมหุ้นกับทางบริษัทที่จะมีการขายชอร์ตออกมาก่อน จากที่มีมุมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสจะมีการปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) น่าจะคึกคักมา จากที่ดัชนีตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงในปีนี้ โดยในช่วงประมาณ 5 เดือนนี้ มูลค่าการยืมหุ้นไปชอร์ตของบริษัทนั้นถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตลาดหุ้นจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว แต่ในปีนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น-ลดลง แล้ว 3 รอบ
     
      ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 พ.ค.) ยอดการยืมหุ้นไปชอร์ตของบริษัทปรับตัวลดลง จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจนขณะนี้นั้นถือว่าเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว และไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา ทำให้จะต้องระมัดระวังในการลงทุน โดยเริ่มที่จะมีนักลงทุนทยอยเข้ามายืมหุ้นกับทางบริษัทที่จะมีการขายชอร์ตออกไปก่อน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าการยืมจำนวน 500 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนที่มี 1.5 หมื่นล้านบาท
     
      นางนฤมล กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนรายใหม่ที่นำหุ้นมาให้บริษัทยืมหุ้นจำนวน 8 กองทุน ภายใต้การบริหารจัดการ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 3 แห่ง มูลค่ารวม 4-5 พันล้านบาท ส่งผลให้บล.เคจีไอ มีหุ้นที่สามารถให้ยืมได้รวมจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยการที่บลจ.หันนำหุ้นมาให้บริษัทยืมมากขึ้น เนื่องจาก ในปีนี้บลจ.ได้มีการลงทุนในหุ้นจำนวนมาก แทนที่จะเก็บหุ้นไว้เฉยๆ นำมาให้ทางบริษัทยืม จะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากได้อัตราดอกเบี้ย
     
      นอกจากนี้ จากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง นั้นทำให้บลจ.จะต้องพยายามหาแหล่งลงทุนเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้นหน่วยลงทุน และขณะที่ในฝั่งผู้ที่มายืมหุ้นจากบริษัทนั้น เป็นนักลงทุน และล่าสุดได้มีการเซ็นสัญญากับทางบล.ในประเทศจำนวน 5 แห่ง และบล.ต่างประเทศ 2 แห่ง ในการมายืมหุ้นกับทางบล.เคจีไอ แล้ว
     
      ด้านนักวิเคราะห์ได้ประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง แม้บางวันจะปรับตัวลดลงบ้าง จากการที่นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งได้ฉวยจังหวะเทขายทำกำไร บวกกันความวิตกกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้มีทิศทางที่ดีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
     
      ทั้งนี้ ในภาพรวมแล้วตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนมากนัก ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 1/2552 โดยตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่น่าจะติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน เป็นการแสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นไทยและทำให้มีแรงเทขายออกมาระลอกใหม่
     
      ดัชนีตลาดหุ้นไทยในระดับนี้ ถือว่าราคาหุ้นไทยไม่ถูกแล้วเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน จากพีอีเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 15-16 เท่า และมีหลักทรัพย์หลายตัวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนั้นในสัปดาห์นี้ดัชนีตลาดไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับฐานต่อ โดยให้กรอบแนวรับที่ 540 จุด แนวต้าน 555 จุด
     
      จากการรวบรวมข้อมูลการขายชอร์ตตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (21 พ.ค.) มีมูลค่ารวม 12,036 .01 ล้านบาท ซึ่งหุ้นที่มีการขายชอร์ตมากสุด 5 อันดับ แรก ประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT) มูลค่ารวม 2,363 .17 ล้านบาท บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 2,007.22 ล้านบาท บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) มูลค่า 1,050.32 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มูลค่า 736.88 ล้านบาท และบมจ.บ้านปู (BANPU) มูลค่า 625.37 ล้านบาท

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 27, 2009 9:25 am
โดย pavilion
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 196.17 จุด หลังดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทะยาน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ (26 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดขึ้นหลังจากนักวิเคราะห์ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิล
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 196.17 จุด หรือ 2.37% แตะที่ 8,473.49 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 23.33 จุด หรือ 2.63% แตะที่ 910.33 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 58.42 จุด หรือ 3.45% แตะ 1,750.43 จุด
        ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.38 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.11 พันล้านหุ้น
        จิม คิง นักวิเคราะห์จาก National Penn Investors Trust Co กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างคึกคัก หลังจากสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 54.9 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน จากเดือนเม.ย.ที่ระดับ 40.8 จุด และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 42.3 จุด
        "นักลงทุนมองว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมายสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นและมั่นใจที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการซื้อสินค้ารายการใหญ่ๆ อาทิ บ้านและรถยนต์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค.ยังทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ประหลาดใจเพราะอัตราว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต " คิงกล่าว
        ส่วนข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น ดัชนีราคาบ้านของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส-ชิลเลอร์บ่งชี้ว่า ราคาบ้านเดี่ยวในสหรัฐประจำเดือนมี.ค.ร่วงลง 18.7% จากปีก่อน ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เขตเมืองของสหรัฐลดลง  2.2% ในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชราคาบ้านใน 20 เขตเมืองของสหรัฐจะร่วงลง 18.4%ในเดือนมี.ค. หลังจากดิ่งลง 18.6% ในเดือนก.พ.
        ก่อนหน้านี้ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า ราคาบ้านในสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าตลาดการเงินจะฟื้นตัวได้ไม่ยากนัก พร้อมกับคาดการณ์ว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างสต็อกอยู่ในสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถูกระบายออกสู่ตลาดในไม่ช้านี้ ซึ่งจะทำให้ราคามีเสถียรภาพขึ้น
        ข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์และดัชนีราคาผู้บริโภคที่ดีเกินคาดช่วยหนุนหุ้นกลุ่มบริษัทสร้างบ้านและบริษัทค้าปลีกดีดตัวขึ้น โดยหุ้นเจซี เพนนี ปิดบวก 6.5% หุ้นเบสท์ บาย ปิดบวก 5.3% ส่วนหุ้นเคบี โฮม ปิดบวก 5.9% หุ้นดีอาร์ ฮอร์ตัน ปิดพุ่ง 5.1%
        นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นหลังจากนักวิเคราะห์ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิล โดยหุ้นแอปเปิลปิดบวก 6.8%

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 27, 2009 4:36 pm
โดย pavilion
World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2552

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ มองว่า การพิจารณาคดีนางออง ซาน ซู จี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าว่า เป็นการจัดฉาก และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางซู จี โดยเร็ว

-- ดัชนีราคาบ้าน Standard & Poor`s/Case-Shiller National Home Price ลดลง 19.1% ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งเป็นระดับที่ร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบ 21 ปี
        ทั้งนี้ ราคาบ้านของสหรัฐดิ่งลง 32.2% นับตั้งแต่ที่เคยพุ่งสูงสุดในช่วงไตรมาสสองของปี 2549 และอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นปี 2545

        -- มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากของธนาคารในประเทศไทย 11 แห่ง ซึ่งมีแน้วโน้มที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยธนาคารดังกล่าวได้แก่ BBL BAY EXIMT GHB KBANK KTB SCIB SCB SCBT TMB และ UOBT

        -- สำนักงานสถิติแห่งขาติของเวียดนามคาดการณ์ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แตะ 1.563 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

        -- มาร์ค ฟาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อดังระดับโลกและเป็นผู้ตีพิมพ์นิตยสารการลงทุน Gloom, Boom and Doom Report คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หรือ hyperinflation เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

        -- ทางการปากีสถานเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจากเหตุระเบิดในเมืองลาฮอร์ ทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งนับเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่กองทัพปากีสถานเริ่มปฏิบัติการโจมตีกลุ่มกบฏตาลีบันในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

        -- รายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาชี้ว่า สมาชิกคณะกรรมการบริหารของแบงค์ชาติญี่ปุ่นเห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายเพิ่มเติม  ในช่วงที่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็มีแนวโน้มว่า จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น และอัตราของราคาก็มีแนวโน้มว่า จะค่อยๆปรับตัวลง ขณะที่มาตรการด้านการเงินและการคลังปัจจุบันจะค่อยส่งผลกระทบที่เป็นบวกออกมา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการใช้มาตรการนโยบายการเงินเพิ่มเติมในขณะนี้
         
        -- อาลี อัล-ไนมิ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันซาอุดิอารเบีย กล่าวว่า กลุ่มโอเปคไม่จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันเนื่องจากมีสัญญาณว่าอุปสงค์น้ำมันกำลังฟื้นตัวแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าสต็อกน้ำมันจะลดลงในที่สุด

        -- องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมยกเครื่องระบบการเตือนภัยโรคระบาด หลังจากหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษ ระบุว่าสัญญาณเตือนภัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้สร้างความรู้สึกสับสนและทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 27, 2009 6:11 pm
โดย pavilion
ดีทรอยต์/นิวยอร์ค--27 พ.ค.--รอยเตอร์ >> GM ใกล้ล้มละลายหลังผู้ถือหุ้นกู้ปฏิเสธข้อเสนอสว็อปหุ้น
USA:GM ใกล้ล้มละลายหลังผู้ถือหุ้นกู้ปฏิเสธข้อเสนอสว็อปหุ้น
      ดีทรอยต์/นิวยอร์ค--27 พ.ค.--รอยเตอร์

      บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (GM) ประสบความล้มเหลวในการ
ชักจูงผู้ถือหุ้นกู้จำนวนมากพอให้ยอมรับข้อตกลงสว็อปหุ้นกู้กับหุ้นสามัญ ซึ่งอาจ
ส่งผลให้ GM ล้มละลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะถือเป็นการล้มละลาย
ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในภาคอุตสาหกรรมสหรัฐ
      ความล้มเหลวนี้สร้างความผิดหวังเป็นอย่างมากต่อ GM ซึ่งเป็นบริษัท
ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
      นายพีท เฮสติงส์ นักวิเคราะห์สินเชื่อของบริษัทมอร์แกน คีแกน กล่าวว่า
"ผมคิดว่านี่เป็นการปฏิเสธอย่างมีเหตุผลต่อข้อเสนอที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผมเคยพูดไป
แล้วว่า ข้อเสนอนี้จะไม่มีทางได้รับการยอมรับ และเราก็เพียงแค่รอเวลาให้ข้อเสนอนี้
ได้รับการปฏิเสธเท่านั้น"
      GM พยายามที่จะชักจูงผู้ถือหุ้นกู้ราว 90 % ให้สนับสนุนข้อเสนอนี้เพื่อ
หลีกเลี่ยงจากภาวะล้มละลาย แต่แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายในช่วงเที่ยงของเมื่อวานนี้
ผู้ถือหุ้นกู้ที่สนใจข้อเสนอนี้มีสัดส่วนเพียงตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น
      ผู้ถือหุ้นกู้มีเวลาจนถึงเที่ยงคืนของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นในการตัดสินใจ
ขั้นสุดท้ายเรื่องข้อเสนอนี้
ซึ่งระบุว่าผู้ถือหุ้นกู้จะต้องยกหนี้ของตนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการ
ถือหุ้น 10 % ในบริษัทหลังการปรับโครงสร้าง
      ทางด้าน GM ไม่ได้แสดงความเห็นเรื่องการสว็อปหุ้นกู้ดังกล่าว โดยระบุว่า
ทางบริษัทจะเปิดเผยผลดังกล่าวในวันนี้ ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า GM อาจยื่นเรื่อง
ล้มละลายในช่วงตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันอังคารจนถึงก่อนวันที่ 1 มิ.ย.
      อย่างไรก็ดี GM บรรลุข้อตกลงเมื่อวานนี้กับผู้นำสหภาพแรงงานรถยนต์
สหรัฐ (ยูไนเต็ด ออโต้ เวิร์คเกอร์ส หรือ UAW) โดยการเจรจาต่อรองระหว่าง
GM กับ UAW มุ่งไปที่แนวทางในการปรับโครงสร้างเงื่อนไขในการจ่ายเงินที่ค้างอยู่
2 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนทรัสต์ประกันสุขภาพสำหรับผู้เกษียณอายุ (สมาคม
สวัสดิการลูกจ้างแบบสมัครใจ หรือ VEBA)
      UAW ตกลงที่จะเข้าถือหุ้นสามัญ 17.5 % ใน GM หลังการปรับโครงสร้าง
นอกจากนี้ UAW จะได้รับหุ้นบุริมสิทธิ์ 6.5 พันล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้อีก 2.5
พันล้านดอลลาร์ด้วย
      การทำข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวหมายความว่า UAW ประสบความ
สำเร็จในการแบกรับความเสี่ยงในระดับที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในข้อเสนอฉบับก่อนหน้านี้
ของ GM โดยข้อเสนอฉบับนั้นระบุว่า UAW จะได้ถือครองหุ้นสามัญ 39 % ใน GM
      GM จะเสนอโครงการผลตอบแทนสำหรับผู้ที่สมัครใจลาออกจากงานให้แก่
ลูกจ้างทั้งหมดของ UAW
      UAW ระบุในเอกสารที่เผยแพร่แก่พนักงานของ GM ว่า "วันนี้ GM ยืนอยู่ที่
ริมขอบของการล้มละลาย"
      สมาชิกสามัญใน UAW จะลงมติในเรื่องสัญญาดังกล่าวในวันนี้และพรุ่งนี้
โดยเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานที่ประชุมกันที่เมืองดีทรอยต์เมื่อวานนี้ได้ลงมติอย่างเป็น
เอกฉันท์ในการสนับสนุนสัญญานี้ หลังจากรับฟังถ้อยแถลงของนายรอน เกลเทลฟิงเกอร์
ซึ่งเป็นประธาน UAW
      ผู้ถือหุ้นสามัญในปัจจุบันจะได้ถือหุ้นเพียง 1 % ใน GM หลังการปรับโครงสร้าง
      นายเจมส์ ยาร์โบรห์ ซึ่งเป็นนักบัญชีที่ปลดเกษียณแล้ว กล่าวถึงข้อเสนอ
เรื่องการแลกหุ้นกู้กับหุ้นสามัญ 10 % ว่า "ข้อเสนอนี้เหมือนกับการตบหน้า" โดยนาย
ยาร์โบรห์ลงทุนในหุ้นกู้ของ GM ไปแล้วเป็นเงินถึง 158,000 ดอลลาร์นับตั้งแต่ปี
1994 เป็นต้นมา โดยเขาเสียใจที่เขาซื้อหุ้นกู้เพิ่มเติมในปี 2008 เนื่องจากเขา
คาดการณ์ในขณะนั้นว่า GM กำลังจะฟื้นตัว
      แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางทำเนียบขาวยังคงเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพยายาม
บรรลุข้อตกลง
      ราคาหุ้น GM ปิดตลาดวานนี้ขยับขึ้น 1 เซนต์ สู่ 1.44 ดอลลาร์ในตลาดหุ้น
นิวยอร์ค หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1.12-1.84 ดอลลาร์ในระหว่างวัน โดยหุ้น GM
อาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าถ้าหาก GM ล้มละลาย
      รัฐบาลสหรัฐได้จัดสรรเงินรวมกัน 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ GM,
ไครสเลอร์ และบริษัทไฟแนนซ์ในเครือของสองบริษัทนี้นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008
โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า รัฐบาลอาจจัดสรร "เงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ" ให้แก่
GM ในระหว่างการล้มละลาย และจะดำเนินบทบาทน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในฐานะ
ผู้ถือหุ้น
      หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า กระทรวงการคลัง
สหรัฐวางแผนจะอัดฉีดเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาของ GM
โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของหุ้นสามัญ นอกจากนี้ WSJ ยังระบุว่า รัฐบาลอาจเพิ่ม
การถือครองหุ้นขึ้นสู่ 70 % จาก 50 % เพื่อลดหนี้ของ GM หลังจาก GM ออกจาก
ภาวะล้มละลาย
      แหล่งข่าวกล่าวว่า การล้มละลายของ GM อาจใช้เวลานานกว่าการ
ล้มละลายของบริษัทไครสเลอร์ เพราะว่าเครือข่ายทั่วโลกของ GM มีความซับซ้อนสูง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องการที่จะขายหุ้นออกไปเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลมั่นใจว่า ผลประโยชน์
ของผู้เสียภาษีจะได้รับความคุ้มครองในขณะที่ทางบริษัทเปิดดำเนินการต่อไป
      ไครสเลอร์กำลังรอการอนุมัติในสัปดาห์นี้ในการขายกิจการให้แก่บริษัท
"ไครสเลอร์ใหม่" ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐ, รัฐบาลแคนาดา,
สหภาพแรงงานของไครสเลอร์ และบริษัทเฟียต ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของอิตาลี
โดยการพิจารณาคดีเรื่องการขายกิจการจะมีขึ้นในวันนี้
      เมื่อวานนี้ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐได้ปฏิเสธคำร้องของกลุ่ม
กองทุนเงินบำนาญรัฐอินเดียนาที่ต้องการให้ชะลอการพิจารณาคดีเรื่องการขาย
กิจการไครสเลอร์และต้องการให้ย้ายคดีล้มละลายนี้ไปยังศาลเขต
      การล้มละลายของไครสเลอร์และการที่ GM ใกล้จะล้มละลายได้ส่ง
ผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยนางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม
ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐมิชิแกนกล่าวว่า บริษัทซัพพลายเออร์หรือบริษัทจัดหาอะไหล่รถยนต์
ของสหรัฐจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากทางรัฐบาลราว 8 พันล้านดอลลาร์
ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าถ้าหาก GM ล้มละลาย
      ส่วนในยุโรปนั้น ยังคงมีการเจรจากันต่อไปในประเด็นเรื่องการขายกิจการ
Opel ของ GM
      เมื่อวานนี้รัฐบาลเยอรมนีได้กดดันผู้ยื่นเสนอซื้อ Opel 3 รายให้ปรับปรุง
ข้อเสนอของตนเองให้ดีขึ้น โดยระบุว่าผู้เสนอซื้อจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงมาก
ยิ่งขึ้น และต้องให้สัญญาอย่างน่าเชื่อถือว่าจะรักษาการจ้างงานและโรงงาน
      นายคาร์ล-ธีโอดอร์ ซู กุทเทนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี
กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังจากประชุมกับนายเซอร์จิโอ มาร์ชิออนเน ซีอีโอของเฟียตว่า
ข้อเสนอซื้อของเฟียตมีความจริงจัง แต่ข้อเสนอซื้อจากบริษัทแมกนาของแคนาดา
และจากบริษัทอาร์เอชเจ อินเตอร์เนชั่นแนลของเบลเยียมยังคงอยู่ในระหว่าง
การพิจารณา
      "ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นที่ชื่นชอบ ทุกคนรู้ว่ายังคงมีความจำเป็นในการ
ปรับปรุงข้อเสนอให้ดีขึ้น" นายกุทเทนเบิร์กกล่าว
      บริษัทเบจิง ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ป (BAIC) ของจีนได้ยื่นข้อเสนอ
ซื้อ Opel เป็นรายที่สี่ในช่วงเย็นวานนี้--จบ--

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 28, 2009 9:12 am
โดย pavilion
World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่พุ่งสูงขึ้นอาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและผู้บริโภค นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้น้ำหนักกับการแสดงความคิดเห็นของมาร์ค ฟาร์เบอร์ที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 173.47 จุด หรือ 2.05% แตะที่ 8,300.02 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 17.27 จุด หรือ 1.90% แตะที่ 893.06 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 19.35 จุด หรือ 1.11% แตะที่ 1,731.08 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง แม้มีกระแสคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะยังไม่ลดโควต้าการผลิตในการประชุมสัปดาห์นี้ และแม้ว่ามีข่าวด้านลบออกมาหลายระลอกจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐก็ตาม
        โดยสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1 ดอลลาร์ ปิดที่ 63.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดทรงตัวเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) เพราะถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน อย่างไรก็ตาม ตลาดทองคำได้รับแรงหนุนในระหว่างวันเนื่องจากภาวะการซื้อขายที่ซบเซาในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้กระตุ้นนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำ
        โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ทรงตัวที่ 953.30 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 946.20-959.60 ดอลลาร์

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเรื่องอันดับเครดิตของสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากยอดขายบ้านที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในสหรัฐ
        โดยค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้น 0.22% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 95.210 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 95.000 เยน/ดอลลาร์ และพุ่งขึ้น 0.46% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0882 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0832 ฟรังค์/ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มกลุ่มค้าปลีก ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวผันผวน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่นักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นในด้านบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ
        โดยดัชนี FTSE 100 ปิดบวก 4.51 จุด แตะที่ 4,416.23 จุด หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 4,390.23-4,439.79 จุด

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 28, 2009 3:29 pm
โดย pavilion
UN คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 2.6%-เอเชียหดตัว 3% ชี้เอเชียถูกกระทบหนักสุดจากวิกฤตศก.
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.5% เนื่องจากทั่วโลกยังคงเผชิญวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ยูเอ็นระบุในรายงาน ''World Economic Situation and Prospects 2009'' ว่า "กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงประเทศในเอเชียที่ได้รับผลกระทบอย่างจากภาวะการค้าทั่วโลกหดตัวลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโซนเอเชียจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ เนื่องจากการจ้างงานลดน้อยลง"
        "แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ามาตรการฟื้นฟูที่ใช้ในปัจจุบันจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า แต่ยูเอ็นมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยยาวนาน หากรัฐบาลยังไม่สามารถยุติวงจรปัญหาเรื่องภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินได้" ยูเอ็นกล่าว
        ยูเอ็นยังคาดการณ์ด้วยว่า ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอาจจะฉุดวอลุ่มการค้าทั่วโลกให้ทรุดตัวลงกว่า 11% ซึ่งจะเป็นสถิติที่ร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงทศวรรษที่ 1930
        โจโม เควเม ซันดาราม รองเลขาธิการยูเอ็นฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลกได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและใช้นโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
        "กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการณ์การเงินโลก และสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือประเทศเหล่านี้ถูกเพิกเฉยในเรื่องการให้ความช่วยเหลือ ท่านบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในเวลานี้คือทรัพยากรของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา "ร่อยหรอลงมาก" และแทบจะไม่มีประเทศใดยินดีให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา" ซันดารามกล่าว
        นอกจากนี้ ซันดารามยังตำหนิรมว.คลังกลุ่มประเทศ G7 ที่ขาดภาวะผู้นำในการประเมินและรับมือกับวิกฤตการณ์การเงิน พร้อมกล่าวว่า "สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญในขณะนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้กับสถานการณ์ของเรือไททานิก ในช่วงเวลานั้นกัปตันเรือไททานิกมีเวลาไม่กี่นาทีก่อนที่จะรู้ว่ามีภูเขาน้ำแข็งขวางทางอยู่ข้างหน้า แต่เราตสามารถกำหนดมาตรการป้องกันไว้หลายทาง และเราควรจะนำมาใช้เพื่อตอบสนองกับวิกฤตการณ์ให้ทันท่วงที"
        ทั้งนี้ รองเลขาธิการยูเอ็นแนะนำว่า รัฐบาลควรใช้มาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และช่วยกันเพิ่มอัตราจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก สำนักข่าวเอพีรายงาน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 28, 2009 3:44 pm
โดย pavilion
ราคาน้ำมัน NYMEX ลดลงแตะ $62.92 ก่อนสหรัฐเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบ

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากนักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่าอุปสงค์น้ำมันจะดีดตัวขึ้นหรือไม่

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในช่วงเที่ยงวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนก.ค. ลดลง 53 เซนต์ แตะระดับ 62.92 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่เมื่อวานนี้ทะยาน 1 ดอลลาร์ ปิดที่ 63.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน
        เทรดเดอร์เชื่อว่าโอเปคจะยังตรึงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมวันนี้ที่กรุงเวียนนา ในขณะที่นายอาลี อัล ไนมิ รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดิอารเบีย เชื่อว่าราคาน้ำมันจะดีดตัวสู่ระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรลภายในสิ้นปีนี้ หลังอุปสงค์น้ำมันจากเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
        โอเปคพยายามทำให้ทั่วโลกเชื่อว่าราคาน้ำมันควรอยู่ที่ระดับ 75-80 ดอลลาร์/บาร์เรล" โจนาธาน คอร์นาเฟล จากบริษัท ฮัดสัน แคปิตอล เอเนอร์จี ในสิงคโปร์ กล่าว
        ในขณะเดียวกัน นักลงทุนกำลังรอดูตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ที่กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล หลังจากที่ลดลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 28, 2009 3:49 pm
โดย pavilion
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน-ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐมีแววฟื้นตัว ขณะวิกฤตศก.เริ่มคลี่คลาย

ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐประจำเดือนเม.ย.อาจฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายหนักสุดในรอบ 50 ปีเริ่มคลี่คลายลง
        นักวิเคราะห์จากโพลล์บลูมเบิร์กคาดว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่มีอายุการใช้งานนานหลายปีอาจเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. จากอานิสงส์ของยอดจองเครื่องบินเชิงพาณิชย์ของโบอิ้ง โค ที่ดีดตัวขึ้น โดยในเดือนเม.ย.โบอิ้งมียอดสั่งซื้อเครื่องบิน 17 ลำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ยอดส่งมอบเครื่องบินรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 39 ลำ ลดลงจากจำนวน 50 ลำในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ยอดขายบ้านใหม่อาจเพิ่มขึ้น 1.1% มาอยู่ที่ 360,000 ยูนิต
        สถานการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยและภาคการผลิตที่เริ่มดีขึ้นหลังจากตกต่ำอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในที่สุด แต่ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์ยังมองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังมีแรงกดดันภายใต้ข้อจำกัดต่างๆเพราะธนาคารพาณิชย์ยังลังเลใจที่จะออกเงินกู้ ขณะที่อัตราว่างงานยังคงพุ่งสูง
        อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่นๆอาจมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่บริษัทมียอดสินค้าค้างสต็อกลดลงในไตรมาสแรก โดยสถานการณ์ในตลาดเงินที่ดีขึ้น และความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงกระแสคาดการณ์ที่ว่าผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมีแนวโน้มคลี่คลายลง
        เจมส์ โอ ซัลลิแวน นักวิเคราะห์จากยูบีเอส ซีเคียวริตี้ แอลแอลซีในสแตมฟอร์ด กล่าวว่า "เราได้เห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าความอ่อนแอในภาคธุรกิจต่างๆเริ่มจางหายไปบ้างแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา"
        ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีกำหนดเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในวันนี้ เวลา 8:30 น.และเผยยอดขายบ้านใหม่ในเวลา 10:00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (หรือคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย)

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. พ.ค. 28, 2009 5:01 pm
โดย pavilion
สำรวจตลาดเกิดใหม่เสี่ยงสุด ไทยติดอันดับ 5




อีโคโนมิสต์สำรวจตลาดเกิดใหม่ 17 ประเทศ พบเศรษฐกิจไทยติดอันดับ 5 อ่อนไหวเสี่ยงต่อปัญหาสินเชื่อโลกตึงตัวมากสุด

ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาขาดสภาพคล่องทั่วโลก ยังคงแผ่กระจาย ค่อยๆ ซึมเข้าไปยังเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลาง ส่งผลค่าเงิน ราคาหุ้นในตลาด และตราสารหนี้ ล้วนได้รับผลกระทบผันผวนปั่นป่วนไปตามๆ กัน

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างหวั่นเกรงและวิตกกันว่า จะมีตลาดเกิดใหม่อาจผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้น และวิกฤติหลายต่อหลายครั้งที่เกิดจากตลาดเกิดใหม่มีลักษณะการกระจายวงรุนแรง เมื่อนักลงทุนผละหนีจากตลาดหนึ่งไปหาตลาดอื่น

เช่นกรณีดูไบเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ประสบปัญหานี้อยู่ แต่ก่อนที่วิกฤติครั้งใหม่จะเกิดขึ้นมาอีกนั้น มีคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า จากนี้ไปทั่วโลกจะสามารถตรวจสอบหาตลาดเกิดใหม่ที่ส่อเค้าผิดปกติ อ่อนไหวเปราะบางที่สุดต่อปัญหาสินเชื่อทั่วโลกตึงตัวได้อย่างไร?

จากข้อสงสัยและคำถามข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิเคราะห์ชิ้นล่าสุดของ ดิ อีโคโนมิสต์ สื่อสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษ ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า "ทฤษฎีโดมิโน: ตลาดเกิดใหม่แห่งใดเป็นรายต่อไปที่อาจทำวิกฤติกระจายวง?" เพื่ออธิบายและหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว

อีโคโนมิสต์ชี้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในอดีตพยายามหาคำตอบว่าประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่แห่งใดเสี่ยงต่อการรับผลกระทบจากปัญหานอกประเทศ โดยพิจารณาแต่เรื่องสินทรัพย์กับหนี้สินของภาครัฐ และสัดส่วนของหนี้เทียบจีดีพีประเทศ จุดนี้อีโคโนมิสต์เห็นว่า การสำรวจหาแหล่งอ่อนไหวต่อการก่อความเสี่ยงมากที่สุดนั้น ไม่ควรวิเคราะห์ดูแต่ภาระหนี้หรือการกู้ยืมเงินของประเทศเท่านั้น แต่ควรดูจากภาระหนี้บริษัทและธนาคารในประเทศด้วย

เพราะเมื่อเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเหือดแห้ง จะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้จะรีไฟแนนซ์หนี้ครบกำหนดชำระ หรือระดมทุนกู้ยืมเงินก้อนใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเสริมสภาพคล่อง
3 ดัชนีวัดความเสี่ยง

ทั้งนี้อีโคโนมิสต์ได้ใช้ข้อมูลพื้นฐานส่วนใหญ่จากเอชเอสบีซี ธนาคารชั้นนำของอังกฤษ มาปรับใช้เป็นดัชนีสำคัญวัดความเสี่ยง 3 ตัว เพื่อประเมินดูความเปราะบางของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่มีต่อปัญหาสินเชื่อทั่วโลกตึงตัว โดยดัชนีตัวแรกเป็นการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้

เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากจำเป็นต้องหาหรือได้เงินทุนอุดหนุน แต่ตอนนี้ภาคธนาคารและพอร์ตเงินทุนที่เคยไหลเข้า กลับอยู่ในอาการขวัญเสียและหวาดผวา และแม้แต่เงินลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอ ซึ่งเคยมองกันว่าผันผวนและอ่อนไหวน้อยกว่านั้น กลับปรับลดลงอย่างมากปีนี้

ประเทศเศรษฐกิจเล็กในยุโรปหลายประเทศ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบสัดส่วนจีดีพีปี 2551 เป็นตัวเลขสองหลัก แม้ว่าการถดถอยกินลึกจะช่วยลดตัวเลขขาดดุลนี้ไปได้บ้างก็ตาม และจากการเก็บข้อมูลมาประเมิน งานวิเคราะห์ชี้ว่าหลายประเทศที่นำมาจัดอันดับหาความเสี่ยง อย่างปากีสถาน, แอฟริกาใต้ และโปแลนด์ มีแนวโน้มว่าจะบริหารแบบขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบจีดีพีที่ระดับ 8% หรือมากกว่าในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับหรือขนาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติปี 2540

สำหรับดัชนีตัวที่สองใช้วัดความเสี่ยง เป็นหนี้ระยะสั้น มีกำหนดชำระคืนนาน 12 เดือน เทียบทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ แต่ละประเทศต้องชำระหรือคืนหนี้ต่างประเทศ หากระดมหาเงินทุนนอกประเทศ ประเทศนั้นๆ ต้องดึงทุนสำรองมาใช้จนเหลือน้อยลง

ดังนั้น หากหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองสูงเกิน 100% หมายถึงหนี้ที่มีอยู่นั้นมากเกินไป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยได้เช่นกัน อย่างกรณีเคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2540 ช่วงนั้นหนี้ระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 130% ของทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศที่มีอยู่ขณะนั้น

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างตลาดเกิดใหม่ ที่อีโคโนมิสต์สำรวจล่าสุด ผลออกมาว่าลัตเวียและเอสโทเนียมีหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองอยู่สูงมาก คือมากกว่า 250% ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า พบว่าหนี้ระยะสั้นเทียบทุนสำรองต่ำกว่า 100%

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเอชเอสบีซีทำให้อีโคโนมิสต์คาดว่า หนี้ระยะสั้นของเกาหลีใต้จะสูงเกินและมากกว่าทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศที่กำลังร่อยหรอลงก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนทุนสำรองของอินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้และฮังการีดูเหมือนจะน้อย ด้านทุนสำรองของรัสเซียวูบหายไปกว่า 1 ใน 3 เมื่อธนาคารกลางรัสเซียพยายามพยุงค่าเงินรูเบิล แต่มูลค่าทุนสำรองปัจจุบันถือเป็นกันชนที่ทำให้รัสเซียสบายใจได้

ส่วนดัชนีตัวที่สาม คือ สัดส่วนสินเชื่อธนาคารเทียบเงินฝาก ประเมินดูความอ่อนไหวเปราะบางของระบบธนาคาร หากสัดส่วนอยู่ที่ระดับกว่า 1.0 เช่น รัสเซีย, บราซิล, เกาหลีใต้และฮังการี เป็นต้น หมายความว่าธนาคารพึ่งพาการกู้ยืมที่มักมีแหล่งทุนในต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นทุนอุดหนุนการปล่อยกู้ในประเทศ อาจทำให้ธุรกิจธนาคารหยุดชะงักได้ เพราะปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก

แอฟริกาใต้-ฮังการีเสี่ยงสุด

เพื่อให้เห็นภาพรวมของความเปราะบางอ่อนไหวต่อปัญหาสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก งานวิเคราะห์ได้ใช้ดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ตัวข้างต้น ในการจัดอันดับตลาดเกิดใหม่ทั้ง 17 ประเทศรวมไทย พร้อมหาค่าเฉลี่ย โดยเชื่อว่าหากนำตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทุกแห่งรวมถึงประเทศยุโรปตะวันออก อย่างลัตเวีย, ยูเครนและโรมาเนีย มาประเมินด้วย ทั้ง 3 ประเทศน่าจะติดอันดับต้นๆ ความเสี่ยงสูงสุด

ทั้งนี้จากผลการจัดอันดับความเสี่ยง อีโคโนมิสต์ยกให้แอฟริกาใต้และฮังการีดูแล้วเสี่ยงมากที่สุด และจีนเสี่ยงน้อยที่สุด สำหรับฮังการีประสบปัญหาและขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไปแล้ว แต่แอฟริกาใต้ยังไม่ได้ร้องขอ

อีโคโนมิสต์ยังสรุปภาพรวมตลาดเกิดใหม่ในเอเชียโดยทั่วไปดูแล้วปลอดภัยมากที่สุด เพราะติดกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้คะแนนดีที่สุด และติดกลุ่ม 6 ตลาดมีความเสี่ยงน้อยสุด แต่ยกเว้นเกาหลีใต้ที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศมีมาก ส่วนภาระหนี้ภาคธนาคารสูงเช่นกัน ทำให้เกาหลีใต้ดูมีความเสี่ยงเหมือนโปแลนด์ ส่วนเวียดนามแม้ไม่นำมาสำรวจหรือจัดอันดับครั้งนี้ พบว่ามีคะแนนประเมินจากดัชนีชี้วัดทั้งสามตัวอยู่ระดับสูง

ทุนสำรองลดก่อความเสี่ยง

ในช่วงท้าย งานวิเคราะห์ชี้ว่าคะแนนที่ให้จากการสำรวจ 17 ตลาดเกิดใหม่โดยภาพรวม เป็นการจัดอันดับเพื่อดูความเสี่ยงเท่านั้น แต่การจะประเมินความเสี่ยงแท้จริงของวิกฤตินั้น จะต้องประเมินความต้องการเงินทุนในต่างประเทศด้วย อธิบายได้ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดรวม และมูลหนี้ระยะสั้นระยะ 12 เดือนข้างหน้า

โจนาธาน แอนเดอร์สัน นักวิเคราะห์ของยูบีเอส คำนวณหาช่วงโหว่ ความไม่สมดุลระหว่างดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมและมูลหนี้ระยะสั้นระยะ 12 เดือนข้างหน้า และทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศใน 45 ประเทศ พบข่าวดีว่ามีเพียง 16 ประเทศที่มีช่องโหว่ในการจัดหาเงินทุน ส่วนประเทศอื่นที่เหลือมีทุนสำรองมากกว่าและมากเกินพอ ที่จะชำระคืนหนี้ได้นานนับปี แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีเงินทุนไหลเข้าเลยก็ตาม

แอนเดอร์สันจากยูบีเอสย้ำว่า 16 ประเทศมีความเสี่ยงล้วนอยู่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ในจำนวนนี้รวมถึงตลาดเกิดใหม่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่นอกภูมิภาคด้วย คือแอฟริกาใต้และปากีสถานซึ่งขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟแล้ว ในทางตรงกันข้ามเกาหลีใต้กลับพบว่าไม่น่าจะมีช่องโหว่ที่ก่อปัญหาในการหาเงินทุน ซึ่งเป็นผลดีจากการปรับดุลบัญชีเดินสะพัดให้สามารถเกินดุลเล็กน้อย

อีโคโนมิสต์สรุปด้วยว่า จากทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศมีอยู่มากมายในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้รอดพ้นจากภยันตราย แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างที่สุดนั้น กลับอยู่ที่ว่าหากปัญหาสภาพคล่องสินเชื่อตึงตัวทั่วโลกยังเกิดขึ้นนานและต่อเนื่อง ทุนสำรองของตลาดเกิดใหม่ทั้ง 17 ประเทศ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะลดน้อยตามไปด้วย หมายถึงความเสี่ยงยังคงรอตลาดเกิดใหม่เหล่านี้อยู่

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: ศุกร์ พ.ค. 29, 2009 10:06 pm
โดย pavilion
World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2552

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมากสุกในรอบกว่า 6 ปีในเดือนเม.ย. หลังภาคเอกชนเริ่มซื้อสินค้ามาเก็บไว้ในสต็อกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มบรรเทาความรุนแรงลง
กระทรวงการค้ารายงานว่า ผลผลิตจากโรงงานขยายตัวกว่า 5.2% ในเดือนเม.ย. เทียบกับเดือนมี.ค.ที่โตเพียง 1.6% และเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 3.3% นอกจากนั้นบริษัทต่างๆ ยังวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีกในเดือนพ.ค.และ มิ.ย.

        - เกาหลีใต้ได้จัดพิธีศพอดีตประธานาธิบดี โรห์ มูเฮียน ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อวันเสาร์ อย่างยิ่งใหญ่ในวันนี้ โดยมีประชาชนชาวเกาหลีใต้หลั่งไหลเข้ามาไว้อาลัยและแสดงความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีการเคลื่อนย้ายศพของอดีตประธาธิบดีจากหมูบ้านบองฮา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายโรห์ไปยังสถานที่ที่จัดพิธี คือ ที่พระราชวังเคียงบ๊อก โบราณสถานสำคัญของประเทศ อายุหลายร้อยปี ที่อยู่ใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี ใจกลางกรุงโซล    
         
        - ศาลพม่าได้เลื่อนการพิจารณาคดีนางออง ซาน ซู จี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าไปเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากที่ได้มีการรับฟังคำให้การของพยานและจำเลย ซึ่งหากมีการตัดสินว่า นางซู จี มีความผิด เธออาจจะต้องถูกจำคุกหรือกักบริเวณต่อไปอีกเป็นเวลาหลายปี หลังจากที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเมิดกฎในการกักบริเวณด้วยการให้ที่พักแก่ชายชาวอเมริกันที่แอบลักลอบเข้ามาในบ้านพักของเธอที่กรุงย่างกุ้งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว      

        - สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งสัญญาณว่าภาคเอกชนปลดพนักงานน้อยลง แต่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัตการณ์
        กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเหลือ 623,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จาก 636,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 635,000 ราย

        - กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเผย รัฐบาลจะร่างนโยบายในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการประกาศยื่นพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ หลังจากที่มีรายงานข่าวออกมาหนาหูว่า จีเอ็มจะยื่นขอล้มละลาย

        - สำนักงานสถิติอินเดียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจอินเดียไตรมาสแรกขยายตัว 5.8% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะโตขึ้น 5%  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อนายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์ ของอินเดียในการกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคในช่วงที่ขึ้นบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2

        - สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าลงถ้วนหน้าในสัปดาห์นี้ โดยมีเงินวอนของเกาหลีใต้ร่วงลงหนักสุดจากผลกระทบของเกาหลีเหนือที่ประกาศทดลองนิวเคลียร์และข่มขู่ถึงการใช้กำลังทหารเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้นักลงทุนโยกย้ายไปถือครองเงินดอลลาร์ที่มองว่าปลอดความเสี่ยงมากกว่า

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 01, 2009 8:56 am
โดย pavilion
World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐไตรมาส 1 ที่หดตัวลง 5.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่คาดว่าจะหดตัว 6.1% นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าการคาดการณ์ ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นหลังจากราคาน้ำมันตลาด NYMEX ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 96.53 จุด หรือ 1.15% แตะที่ 8,500.33 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 12.31 จุด หรือ 1.36% แตะที่ 919.14 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 22.54 จุด หรือ 1.29% แตะที่ 1,774.33 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 66 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่มีรายงานว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐไตรมาส 1 หดตัวลงไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
        สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.23 ดอลลาร์ หรือ 1.89% ปิดที่ 66.31 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 64.68 - 66.47 ดอลลาร์/บาร์เรล

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงหดตัวลง
        ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1.45% เมื่อเทียบกับเงินยูโรที่ 1.4138 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3936 ยูโร/ดอลลาร์ และร่วงลง 1.76% เมื่อเทียบกับเยนที่ 95.230 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 96.940 เยน/ดอลลาร์
        นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง 1.60% แตะที่ 1.0678 ดอลลาร์/ฟรังค์สวิส จากระดับของวันพฤหัสบดัที่ 1.0852 ดอลลาร์/ฟรังค์สวิส และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 1.51% แตะที่ 1.6168 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.5928 ดอลลาร์/ปอนด์

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งสูงขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน และราคาน้ำมันดิบ NYMEX ที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 66 ดอลลาร์/บาร์เรล
        สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ปิดพุ่งขึ้น 17.10 ดอลลาร์ แตะที่ 980.30 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 960.40-982 ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษและจีนที่ส่งสัญญาณว่า ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ โดยดัชนี FTSE 100 ปิดบวก 30.40 จุด หรือ 0.7% แตะที่ 4,417.94 จุด

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 01, 2009 3:00 pm
โดย pavilion
รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2552

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2552

SUMMARY:
        1. ธปท.เผยดุลบัญชีเดินสะพัด เม.ย. เกินดุล 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
        2. นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
3. สหประชาชาติชี้ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2.6

HIGHLIGHT:
1. ธปท.เผยดุลบัญชีเดินสะพัด เม.ย. เกินดุล 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
        -  ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือนเม.ย.52 ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 426 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากดุลการค้าเกินดุล 619 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุล 193 ล้านดอลลาร์ตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลง และด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล 751 ล้านดอลลาร์ จากภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร  เป็นการไหลออกสุทธิของเงินทุนในหลักทรัพย์ของไทยขณะที่มีเงินไหลออกบางส่วนจากการที่ผู้ส่งออกลดการป้องกันความเสี่ยง ทำให้โดยรวม ดุลการชำระเงินเกินดุล 645 ล้านดอลลาร์ และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเม.ย.52 อยู่ที่ 116.8 พันล้านดอลลาร์

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 52 เท่ากับ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเกินดุลการค้าในระดับสูงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากทำให้ต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตหรือการบริโภคลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 52 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9.8 ของ GDP

2. นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
        -  นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยดำเนินการไปพร้อมๆกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ นายกฯ ได้ขอให้นักธุรกิจภาคเอกชนดำเนินการ 4 เรื่องคือ 1) ขอให้มึความตื่นตัวในการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกและนโยบายรัฐบาล 2) ขอให้ช่วยกันสร้างบรรยาศที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น 3) ขอให้อยู่บนพื้นฐานความพอดี และ 4) ขอให้บริหารงานโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการใช้จ่ายภาคเอกชนผ่านการบริโภคและการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 51.8 และ 16.7 ของ GDP ตามลำดับ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาบทบาทของภาคเอกชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการไทยเข้มแข็งที่จะดำเนินการในช่วงปี 52-55 โดยเน้นการลงทุนที่สำคัญและจำเป็น คิดเป็นวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี เทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการลงทุนดังกล่าว

3. สหประชาชาติชี้ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2.6
        -  สหประชาชาติได้ปรับการประมาณการเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ในปี 52 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เมื่อเดือนมี.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี โดยชี้แจงว่า หากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจริง ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากนักและสถานการณ์ยังมีความคลุมเครืออยู่  ทั้งนี้ ต้นเหตุวิกฤติมาจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับได้รับผลกระทบหนักกว่า  จากการที่นักลงทุนของประเทศพัฒนาถอนการลงทุน  ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องเพิ่มจำนวนเงินกู้ยืม ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติลดลง  ประกอบกับโครงสร้างระบบการค้าโลกที่ชะงักงัน อย่างไรก็ดี  หากมีความร่วมมือระหว่างประเทศจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว และขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 4 - 5  ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 53 - 58

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก  ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้มีเริ่มฟื้นตัวในเดือน เม.ย. ที่ร้อยละ 5.2 ต่อเดือน นอกจากนี้  ยังสามารถเห็นได้จาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวชะลอลง  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 01, 2009 3:03 pm
โดย pavilion
ขุนคลังสหรัฐชี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มคลี่คลาย-ให้คำมั่นลดยอดขาดดุลฯกับจีน
นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า แรงกดดันของวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอยดูเหมือนว่าจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่วางใจได้ และการปฏิรูปเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำอยู่กับที่ไปอีกระยะหนึ่ง
   ไกธ์เนอร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจคือการสร้างสมดุลและความมีเสถียรภาพในตลาดโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและข้อบังคับด้านการกำกับดูแลในตลาดเงินอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างคำกล่าวปราศรัยของนายไกธ์เนอร์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนว่า "วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆทั่วโลก"
        ไกธ์เนอร์เผยว่า เศรษฐกิจโลกดูเหมือนว่าจะเริ่มคลายแรงกดดันลงแล้ว ขณะที่ระบบการเงินก็เริ่มได้รับการเยียวยา นอกจากนี้เศรษฐกิจยังมีปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความมีเสถียรภาพและมีหลักประกันว่าตลาดเงินเริ่มหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณบ่งชี้ที่ดีเริ่มแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น กระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง"
        นอกจากนี้ ไกธ์เนอร์เสริมว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องควบคุมยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาที่นายโอบามาให้ไว้กับชาวสหรัฐในระหว่างการหาเสียง
        โดยจีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงคำมั่นสัญญาที่ประธานาธิบดีให้ไว้ในการปฏิรูปเงินงบประมาณขาดดุล ขณะเดียวกันตลาดเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงการขึ้นดอกเบี้ยในระยะยาวซึ่งสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐ
        ทั้งนี้ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของคณะทำงานภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐได้เดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 2 วันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีกำหนดการณ์เข้าพบกับนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และหวาง จีชาน รองนายกรัฐมนตรีจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ มิ.ย. 03, 2009 8:48 am
โดย pavilion
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 19.43 จุด ขานรับยอดขายบ้านสหรัฐสดใส

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกัน 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ (2 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาบ่งชี้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลกับข่าวที่ว่าธนาคารรายใหญ่หลายแห่งเร่งระดมทุนเพื่อเตรียมใช้หนี้คืนแก่รัฐบาลสหรัฐ ได้สกัดแรงบวกในตลาดและทำให้ดาวโจนส์ปิดบวกเพียงเล็กน้อย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 19.43 จุด หรือ 0.22% แตะที่ 8,740.87 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 1.87 จุด หรือ 0.20% แตะที่ 944.74 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 8.12 จุด หรือ 0.44% แตะ 1,836.80 จุด
        ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.41 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 3 ต่อ 2 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.42 พันล้านหุ้น
        สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ประจำเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 6.7% แตะระดับ 90.3 จุด จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 84.6 จุด ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นรายเดือนมากที่สุดในรอบ 7 ปีครึ่ง และสะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐเริ่มบรรเทาลง
        ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายประจำเดือนเม.ย.จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เนื่องจากราคาบ้านที่ปรับตัวลดลงในสหรัฐได้ดึงดูดผู้ซื้อมากขึ้น
        แซล กูติเยร์ นักวิเคราะห์จาก BMO Capital Markets กล่าวว่า จำนวนบ้านหลุดจำนองที่ปรับตัวลดลงทำให้ราคาบ้านอยู่ในระดับที่ดึงดูดใจแก่ผู้ซื้อ อีกทั้งช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์และพยุงเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐจะยังคงถูกกดดันจากอัตราว่างงานที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น
        นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานประจำเดือนพ.ค.จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.2% ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 9% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 25 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลงทำให้แทบทุกภาคส่วนในสหรัฐลดการจ้างงาน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลจ้างงานเดือนพ.ค.ในวันศุกร์นี้ตามเวลาประเทศไทย
        อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มการเงินถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก หลังจากโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ซึ่งต้องการจ่ายเงินคืนรัฐบาลสหรัฐรวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนนี้ ตัดสินใจระดมทุน 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (1.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้วยการขายหุ้นในอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC)
        ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ เตรียมระดมทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์ด้วยการขายหุ้นสามัญ ส่วนเจพีมอร์แกนเตรียมขายหุ้นสามัญมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ และอเมริกัน เอ็กซ์เพรส เตรียมระดมทุนด้วยการขายหุ้น 500 ล้านดอลลาร์
        ทั้งนี้ หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ปิดลบ 4.9% หุ้นเจพีมอร์แกนปิดร่วง 4.5% หุ้นโกลด์แมน แซคสื ปิดร่วง 1.20 ดอลลาร์ แตะที่ 143.13 ดอลลาร์ แต่หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปิดบวก 20 เซนต์ ปิดที่ 30.09 ดอลลาร์
        นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ ADP Employer Services เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนเม.ย. ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงาน และวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์แล้ว: พุธ มิ.ย. 03, 2009 11:56 am
โดย pavilion
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.อังกฤษพุ่งสูงสุดรอบ6เดือน
มิย. 2552 10:21 น.


เนชั่นไวด์ บิลดิ้ง โซไซตี้ เปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น 2 จุด อยู่ที่ 53 จุด ในเดือนพ.ค.ทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน หลังผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากภาวะถดถอยในเร็วๆนี้ ด้านดัชนีความคาดหวังในอนาคตปรับตัวสูงขึ้น 5 จุด แตะที่ 76 จุด ขณะที่ดัชนีวัดทัศนคติในการซื้อสินค้าใหญ่ขยับขึ้น 1 จุด อยู่ที่ 101 จุด และดัชนีวัดทัศนคติเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันลดลง 4 จุด เหลือ 17 จุด

ส่วนวันพรุ่งนี้ธนาคารกลางอังกฤษอาจตัดสินใจไม่พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มบรรเทาความรุนแรงลง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจในเชิงบวกอีกหลายอย่างที่ได้รับการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ อาทิ อัตราการปล่อยสินเชื่อที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และราคาบ้านที่หยุดปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน