โบรกฯ ประสานเสียงฟันธงหุ้นไทยปีนี้แตะ 1000 จุด
โพสต์แล้ว: จันทร์ ต.ค. 04, 2010 1:21 pm
กองทุนยักษ์พาเหรดกลับหุ้นไทย
http://www.thannews.th.com/index.php?op ... Itemid=417
http://www.thannews.th.com/index.php?op ... Itemid=417
เกาะไว้แน่นๆ นะครับ :lol:กองทุนยักษ์พาเหรดกลับหุ้นไทย
วันจันทร์ที่ 04 ตุลาคม 2010 เวลา 08:58 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - ข่าวหน้า1
โบรกเกอร์สานเสียง นักลงทุนระยะยาวทั้งกองทุนยักษ์ระดับโลก และกองทุนบำนาญ ทยอยเข้าตลาดหุ้นไทยแล้ว บล.บัวหลวงฯ รับลูกค้ามอร์แกน สแตนเลย์ ซึ่งบริหารกองทุนขนาดใหญ่ระดับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีนโยบายลงทุน 3-5 ปี บล.ภัทรฯ และทิสโก้ เผยโรดโชว์ต่างประเทศ กองทุนระยะยาวสนใจฟังตรึม เฮชเอสบีซี เผยผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลกเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็น 50 %
ในช่วง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา ที่กระแสเงินทุนไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์ ทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชียนั้น สำหรับตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสะสมสุทธิแล้วถึง 60,000 ล้านบาท (ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-30 ก.ย.53 ) และจากที่"ฐานเศรษฐกิจ"ได้สำรวจไปยังบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยรอบนี้มีกองทุนขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีนโยบายลงทุนระยะยาวทยอยกลับเข้ามาลงทุนแล้ว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้เดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์)ต่างประเทศ อย่างต่อเนื่องในปีนี้ เชื่อว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีนักลงทุนระยะยาว ซึ่งรวมถึงกองทุนบำนาญในต่างประเทศ สนใจทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15-17 กันยายน ที่ผ่านมา บล.ทิสโก้ฯได้จับมือกับดอยช์แบงก์ โรดโชว์ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)จำนวน 5 ราย ร่วมเดินทางไปด้วย คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)(บมจ.) บมจ. ปตท.เคมิคอล บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ โปรดักส์ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบมจ. ทิสโก้ไฟแนลเชียลกรุ๊ป โดยมีผู้จัดการกองทุนจากทั่วโลกกว่า 1,000 คนมาร่วมงาน และช่วงที่เหลือของปียังมีแผนเดินสายโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามคาดว่า เม็ดเงินของกองทุนระยะยาวที่เป็นกองทุนบำนาญ อาจจะยังเข้ามาลงทุนไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังเป็นห่วงเรื่องการเมืองไทย ว่าจะสงบได้นานเพียงใด ประกอบกับราคาหุ้น หากเทียบกับอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี) ที่ระดับ 13 เท่า ถือว่าใกล้เคียงกับภูมิภาคแล้ว ทำให้นักลงทุนต่างชาติขอดูความชัดเจนเรื่องการเมือง แม้ว่าพื้นฐานหุ้นไทยยังดีอยู่ก็ตาม
ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.บัวหลวงฯ กล่าวว่า หากประเมินจากผลการโรดโชว์ที่บริษัทจัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับมอร์แกน สแตนเลย์ คาดว่ากองทุนต่างชาติที่มีนโยบายลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ได้ทยอยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้ว โดยสังเกตจากบริษัทที่ร่วมเดินทางไปโรดโชว์ครั้งนี้จำนวน 10 ราย ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นถ้วนหน้า รวมถึงหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 60 อันดับแรก ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เกิน 10,000 ล้านบาทขึ้นไปด้วย
สำหรับรายชื่อบจ. 10 แห่งที่ร่วมโรดโชว์ อาทิ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.ธนาคารทหารไทย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บมจ.ปตท.เคมิคอล และบมจ.ไทยออยล์ เป็นต้น
ด้านกองทุนต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าของมอร์แกน สแตนเลย์ ที่มาร่วมงานโรดโชว์ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยแต่ละรายมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ฯ (เอไอเอ) , พรูเดนเชียล และฟิเดลลิตี้ เป็นต้น "สาเหตุที่นักลงทุนระยะยาวเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน ที่ส่วนใหญ่ยังสามารถเติบโตได้"
ทั้งนี้ บล.บัวหลวงฯ ได้ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (EPS) ปี 2554 ของบริษัทจดทะเบียน จาก 15 % เป็น 21 % อีกทั้งได้ปรับคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน ปี 2553 ขึ้นเป็น 18.46 % จากเดิมคาดว่าเติบโต 16 %
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทรฯ กล่าวว่า ในปีนี้หลังจากที่บริษัทได้เดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ เชื่อว่าเริ่มมีสถาบันต่างประเทศ ที่เป็นนักลงทุนระยะยาว เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้ว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าช่วงที่บริษัทได้เดินสายโรดโชว์นั้น มีกลุ่มนักลงทุนระยะยาวสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย จะเป็นกลุ่มนักลงทุนระยะยาวแต่หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และกระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุน นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวก็พร้อมที่จะขายหุ้นออกได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ และ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ทำให้เงินระยะยาวไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเช่นกัน
ล่าสุด ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประจำไตรมาส 3/2553 จากผู้จัดการกองทุน ที่ทำงานในบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลก 12 แห่งซึ่งมียอดเงินกองทุนภายใต้การบริหารจัดการรวมกันกว่า 3.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 14.8% ของปริมาณเงินลงทุนประมาณการที่มีอยู่ทั่วโลก
นายบรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ HSBC กล่าวถึงผลสำรวจว่า ในไตรมาส 3/2553 ผู้จัดการกองทุนได้ให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเป็น 50 % จาก 40 % ในไตรมาส 2/2553 และส่วนใหญ่มองว่า การลงทุนในหุ้นมีแนวโน้มดีกว่าพันธบัตร โดยมี 13% เท่านั้นที่เห็นว่า ตลาดพันธบัตรน่าลงทุนกว่าตลาดหุ้น
จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้จัดการกองทุน 44% ที่มองว่า หุ้นในตลาดเติบโตเร็วในแถบเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีอนาคตสดใส เพิ่มจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 38%
การสำรวจครั้งนี้ ไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใด ที่ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น หรือตลาดพันธบัตรเลย แม้ว่าหลายฝ่ายจะยังกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และแม้ว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่กองทุนตราสารหนี้ปริมาณสูงมาก
อย่างไรก็ตาม จากการที่ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ยังคงน้ำหนัก การลงทุนในตลาดพันธบัตรในไตรมาส 3/2553
ขณะที่การให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในไตรมาสนี้ แม้จะไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดที่ลดน้ำหนักการลงทุน แต่ผลสำรวจพบว่า ผู้จัดการกองทุนที่มองว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มสดใสนั้นมีจำนวนน้อยลง ขณะที่ผู้จัดการกองทุนที่คงน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีนมีมากขึ้น
สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่นั้น มีจำนวนผู้จัดการกองทุนจำนวนเพิ่มขึ้น ที่คงน้ำหนักการลงทุนเช่นเดิมในไตรมาสนี้ ส่วนที่เห็นว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มร้อนแรง กลับมีจำนวนน้อยลง
ทั้งนี้ HSBC ระบุว่า ในไตรมาส 2/2553 กองทุนที่ลงทุนในหุ้น มีผลประกอบการดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 26.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,571 3-6 ตุลาคม พ.ศ. 2553