หน้า 27 จากทั้งหมด 30

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:28 am
โดย pak
ปตท.โล่งเดินหน้าซื้อLNG'เพ้ง'รับซื้อไฟลาว2หมื่นMWแค่แนวคิด
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th), Saturday, December 15, 2012

"พงษ์ศักดิ์" รมต.พลังงาน ยังไม่ฟันธง ซื้อไฟเพื่อนบ้าน 20,000 เมกะวัตต์ อ้างเป็นแค่แนวคิด ต้องรอแผน PDP ฉบับใหม่ ปี 2013 ของ กฟผ.ก่อน ชี้ความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไม่ลดแน่ ตราบใดที่ยังมีโรงไฟฟ้าเกิดใหม่

สืบเนื่องมาจากความกังวลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อคำประกาศของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว)และประเทศพม่า เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ต้องมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ประเทศใหม่

ขณะที่บริษัท ปตท.กำลังเดินหน้าเจรจาซื้อพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซ LNG เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะหมดลง เริ่มห่วงว่าการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะทำให้ความต้องการใช้ เชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซ LNG ที่จะนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ลดลง จนไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่จะเข้าไปเจรจาขอซื้อก๊าซ

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มีแผนจะซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) จำนวน 20,000 เมกะวัตต์ว่า ตอนนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดย เล็งเห็นว่า "สามารถทำได้" เนื่องจาก ประเทศเพื่อนบ้านยังมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้

ประกอบกับเมื่อการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศยังเพิ่มสูงขึ้น ก็จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดตายตัวว่า จะต้องซื้อไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าไร ต้องรอการจัดทำแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของ ประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2013 ก่อน

"การจะซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถทำได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ขึ้นไป อีกทั้งขึ้นกับภาคเอกชนที่จะเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาด้วย จึงจะกำหนดได้ว่าเราจะมีแผนรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนเท่าไร ต้องรอการจัดทำแผน PDP ใหม่ในปีหน้าก่อน"

ส่วนกรณีที่บริษัท ปตท. กำลังเจรจา ซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว หรือก๊าซ LNG จากแหล่งเชลก๊าซในสหรัฐ เริ่มมี ความกังวลว่าในอนาคตความต้องการใช้ก๊าซ LNG อาจจะลดลง ประกอบกับราคาก๊าซที่แพงขึ้น จนอาจจะไม่มีผู้ต้องการใช้ก๊าซ LNG เมื่อมีการนำเข้ามาใช้ภายในประเทศนั้น

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีความกังวลว่าจะไม่มีผู้ซื้อก๊าซ หรือปริมาณความต้องการใช้ก๊าซจะ ลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการ อยู่ก็ยังต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ในปีนี้จะเริ่มดำเนินการเปิดขายซอง เอกสารเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ดังนั้น "ความต้องการใช้ก๊าซจึงไม่น่าจะลดลง"

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.มีแผนเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากแหล่งเชลก๊าซ สหรัฐ ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ เป็นที่จับตามองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยรัฐบาลสหรัฐประกาศที่จะเริ่มพัฒนาแห่ลงนี้ในปี 2556 และจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเจรจา ดังนั้นในช่วงนี้ รัฐบาลไทยจะต้องแสดงเจตนาแล้วว่าต้องการก๊าซ LNG จากแหล่งนี้หรือไม่ เพราะกระบวนการของไทยต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาจจะเปิดโอกาส ให้ผู้สนใจรายอื่นเข้ามาเจรจาก่อน มีผลทำให้ประเทศไทยอาจจะต้องรอการพัฒนาแหล่งก๊าซเชลในระยะที่สาม นั่น หมายความว่าบริษัท ปตท.จะต้องซื้อก๊าซ LNG ในตลาดจรเพื่อรองรับความต้องการใช้ในปี 2560 ซึ่งการซื้อก๊าซในตลาด จรปกติจะมีราคาแพงกว่าเมื่อซื้อจาก แหล่งเชลก๊าซ

"ราคาก๊าซ LNG ขณะนี้คุยกันอยู่ที่ 3.5-4 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้สถานะก๊าซ LNG อยู่ในรูปของของเหลวติดลบอุณหภูมิ 160 องศา กับค่าขนส่งทางเรือมาถึงประเทศไทยจะตกอยู่ประมาณ 7-8 เหรียญ/ล้าน BTU กระทั่งก๊าซมาถึงไทยจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12 เหรียญ/ล้าน BTU ถือว่าค่อนข้างถูก

เพราะราคานี้อ้างอิงจากตลาดก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่จะอ้างอิงจากราคาน้ำมัน หากเราเจรจาได้แหล่งก๊าซนี้มา ทาง ปตท.มั่นใจว่าก๊าซ LNG จะผลิตได้ภายในเฟส 2 ทันต่อความต้องการใช้ของประเทศในปี 2560



ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 ธ.ค. 2555--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:28 am
โดย pak
ตท.เล็งทุ่ม4พันล.สร้างคลังตุนน้ำมันเพิ่ม12วัน
Source - ข่าวสด (Th), Saturday, December 15, 2012

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวง ผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่น ว่า ภายในปี 2558 กระทรวงจะเร่งดำเนินตามนโยบายรัฐบาลตั้งคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เป็น 90 วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 36 วัน หรือเพียง 5% ของการจำหน่าย

"การสำรองน้ำมันมีความสำคัญเหมือนการซื้อประกัน เพราะจะบรรเทาหากสถานการณ์โลกเกิดปัญหาทำให้นำเข้าน้ำมันไม่ได้ ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศจะดูความมั่นใจทางพลังงานของไทย อาทิ น้ำมัน ก่อนจะตัดสินใจลงทุนเช่นกัน และหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพื่อนบ้านสามารถเติมน้ำมันไทยได้ ดังนั้น ไทยต้องมีน้ำมันสำรองที่เพียงพอ" นายณอคุณกล่าว

ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า การเพิ่มสำรองน้ำมันในส่วนของเอกชนหรือผู้ค้าตามมาตรา 7 อีก 1% เป็น 6% หรือเพิ่มอีก 12 วัน เป็น 48 วันนั้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดย ปตท.ต้องเพิ่มสำรองน้ำมันอีกประมาณ 3-4 ล้านบาร์เรล น้ำมันดิบ 50% และน้ำมันสำเร็จรูป 50% จำนวน 4 ถัง ถังละ 1 ล้านบาร์เรล งบประมาณลงทุนเบื้องต้น 4,000 ล้านบาท โดยในส่วนของน้ำมันดิบนั้น ปตท.เห็นว่าพื้นที่บริเวณสัตหีบมีความเหมาะสมที่สุด เพราะปลอดภัย มีความมั่นคง ดังนั้น จะเร่งหารือกับฝ่ายกองทัพเรือเพื่อขอใช้พื้นที่ต่อไป เพราะยังติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. กล่าวว่า คลังน้ำมันอีก 1% ที่แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 6 วันและสำเร็จรูป 6 วันนั้น ตามความพร้อมของโครงการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี เพราะต้องได้พื้นที่ปลายท่อจากแทปไลน์ว่าจะอยู่บริเวณใด ซึ่งพื้นที่เหมาะสม อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก หรือ จ.สระบุรี ที่มีปลายท่อเดิมอยู่แล้ว

"การเพิ่มสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 30-40 สตางค์/ลิตร เพราะต้องรวมต้นทุนทั้งหมด ทั้งโรงกลั่น ขายปลีก" นายสรัญกล่าว

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:30 am
โดย pak
คอลัมน์: รายงานพิเศษ: 'บางจาก' ย้ำภาพผู้นำพลังงานทดแทน พาย่ำฮอกไกโด เยือนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ
Source - มติชน (Th), Sunday, December 16, 2012
จุฬารัตน์ ภู่เกิด


คงไม่อาจปฏิเสธว่า ปัจจุบันแหล่งพลังงาน ทั้งในรูปน้ำมันและก๊าซร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว จากการขุดขึ้นมาใช้อย่าง ไม่บันยะบันยัง ทั้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการขนส่งคมนาคม และ ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

ตัวเลขที่เป็นทางการในปี 2554 ระบุว่าประเทศไทยต้อง นำเข้าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหินสูงถึง 1.24 ล้านล้านบาท และนับวันจะเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องคิดเตรียมการแต่เนิ่นๆ ต้องยอมรับว่าใครที่ตัดสินใจพร้อมจะเป็นหัวขบวนในการบุกเบิกถือ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทาย เพราะต้อง ทุ่มเททั้งกำลังทุน กำลังความคิดและความมุ่งมั่นอย่างสูงเพื่อให้เป้าหมายในทางธุรกิจและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทะนุถนอมโลกสามารถเดินคู่กันไปได้

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติรายที่สอง รองจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจนำร่องไปในทิศ ทางนี้ โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีที่ ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

จนถึงวันนี้ หลังจากเริ่มผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20, E85 และไบโอดีเซล E5 ถือเป็นรายแรกๆ ที่ยกเลิกการขายเบนซิน 95 และบุกเบิกสร้างอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจาก พืชสาหร่าย นำร่องการปลูกปาล์มน้ำมันบริเวณสวนส้มร้างแถวรังสิต 1,500 ไร่ เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล รวมถึงริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ หรือซันนี่ บางจาก ที่ อ.บางปะอิน อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และกำลังขยายไปที่ปราจีนบุรีและชัยภูมิในระยะต่อไป

บางจากจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำพลังงานทดแทน และเป็นต้นแบบให้เกิดการลงทุนเชิงธุรกิจของเอกชนอีกหลายรายตามมา ทั้งในรูปแบบพลังงานแสงแดด พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นไปตามทิศทางหลักของรัฐบาลที่กำหนดให้ประเทศไทย มีการใช้พลังงานทดแทน 25% ใน 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งของพลังงานทดแทนที่บางจากยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แม้จะมีการลงทุน ขนาดย่อมนำร่องไปแล้วที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ดังนั้น เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะส่งไม้ให้ วิเชียร อุษณาโชติ รับช่วงการบริหารต่อ ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ซีอีโอ บางจากจึงนำคณะสื่อมวลชนไปสัมผัส ของจริงเต็มรูปแบบที่เมืองโมริ จ.ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่ที่เต็มไปด้วยบ่อน้ำร้อนและภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เปิดมุมมองให้สื่อมวลชนเห็นศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำมาทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้อีกทาง

อันที่จริง ในอดีตการใช้พลังงานความร้อนชนิดนี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบบ่อน้ำร้อน จนเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ทำให้สามารถพัฒนานำความร้อนนี้มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพต้นแบบของไทยอยู่ใกล้บ่อ น้ำพุร้อนฝาง ก่อสร้างมาเมื่อ 23 ปีที่แล้ว แต่มีกำลังผลิตเพียง 0.3 เมกะวัตต์ เพราะแหล่งกำเนิดความร้อนใต้ดินเป็นแหล่งเล็กเนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในโซนภูเขาไฟที่จะมีลาวาหล่อความร้อน ระดับสูงให้แหล่งน้ำใต้ดินตลอดเวลา

โรงไฟฟ้า Mori Geo Thermal Power Plant เป็น 1 ใน 18 โรงของญี่ปุ่น แต่เป็นแห่งเดียวบนเกาะนี้ สร้างด้วยทุนสูงถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 503 เมกะวัตต์ (ทั่วโลกมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลัง ความร้อนใต้พิภพ 11,013 เมกะวัตต์ ใน 24 ประเทศ โดย ประเทศที่มีกำลังผลิตสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 3,111 เมกะวัตต์ ส่วนในเอเชีย ประเทศที่มีการผลิตในระดับสูงคือฟิลิปปินส์ 1,967 เมกะวัตต์ รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 1,186 เมกะวัตต์ และ จีน 24 เมกะวัตต์) ดำเนินกิจการโดยบริษัท ฮอกไกโด อิเล็คทริค พาวเวอร์ ที่มีธุรกิจโรงไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน น้ำมัน พลังน้ำ

สำหรับที่นี่ กว่าจะลงมือผลิต บริษัทใช้เวลาสำรวจและก่อสร้างนานถึง 10 ปี (ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าฝางที่ฝรั่งเศสให้การสนับสนุน) ปัจจุบันหลังเปิดดำเนินการมา 30 ปี มีการผลิตเพียง 20 เมกะวัตต์ แต่มักสนองให้ชุมชนโดยรอบ

ที่น่าสนใจคือใช้พนักงานดูแลทั้งระบบแค่ 9 คน ผลัดเวรดูแลทีมละ 3 คน เพราะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพทุกแห่งจะเหมือนกันคือต้องวางระบบท่อลึกลงไปใต้ดินเฉลี่ย 2-3 กิโลเมตร (กม.) เพื่อนำไอน้ำร้อนมาปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แล้วอัดน้ำที่ดึงความร้อนออกแล้วกลับลงไปใต้ดินใหม่ นับเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมและเสี่ยงต่อการลงทุนที่สูง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยอาจมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ถึง 2 เท่า

เจ้าหน้าที่ดูแลเล่าว่า ผลพลอยได้ประการหนึ่งคือเกษตรกร รอบโรงไฟฟ้าสามารถนำน้ำอุ่นจากระบบผลิตไปใช้ในการเพาะปลูกมันฝรั่งและมะเขือเทศ พืชที่ขึ้นชื่อของฮอกไกโดได้ตลอดปี แม้แต่ฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุม

แม้โรงไฟฟ้ารูปแบบนี้ยากที่จะพัฒนาเป็นเรื่องเป็นราวได้ใน บ้านเรา แต่ซีอีโอบางจากแอบฝันว่า เมื่ออาเซียนรวมตัวเป็น เออีซีเมื่อไหร่ ไทยอาจไปลงทุนโรงไฟฟ้ารูปแบบนี้ที่ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การได้มาสัมผัสของจริง ทำให้เรียนรู้ถึงความพยายามของมนุษย์ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ

ในอนาคต หากทุกประเทศตระหนักอย่างจริงจังถึงวิกฤตพลังงานของโลกที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอัตราที่เร็วเกินคาด และหันมาพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างจริงจัง โลกที่ร้อนรุ่มวุ่นวายจากเกมแย่งชิงทรัพยากรคง สงบเย็นลงได้บ้าง

หวังเพียงว่าคงจะไม่สายเกินไป


--มติชน ฉบับวันที่ 17 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:33 am
โดย pak
รัฐสบช่องอิงต้นแบบพลังงานญี่ปุ่น ชูโรงถ่านหินคลังสำรองน้ำมันกลางทะเล
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th), Monday, December 17, 2012
ชนิกา สุขสมจิตร


กระทรวงพลังงานและกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร มีโอกาสได้ไปศึกษาการจัดการด้านพลังงานของประเทศญี่ปุ่นเพื่อหาต้นแบบการพัฒนาพลังงานของประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะแผนการผลิตไฟฟ้าที่เลือกใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึง 70% จำเป็นต้องกระจาย

ความเสี่ยงลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงให้เหลือไม่เกิน 40% ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2553-2573 (พีดีพี 2010) กำหนดให้เพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาทดแทนเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ

ณอคุณ สิทธิพงศ์ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยยังมีปัญหาในเรื่องการสร้างความเข้าใจกับชุมชน เนื่องจากภาพเดิมๆ ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.แม่เมาะจ.ลำปาง ที่เคยสร้างปัญหามลพิษ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเข้าสู่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมแทบไม่มีให้เห็น อย่างสถานีผลิตกระแส

ไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนอิโซโกะ ของบริษัท เจพาวเวอร์ มีเครื่องผลิตไฟฟ้า2 ตัว ตัวละ 600 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง อยู่ที่เมืองโยโกฮามา ตั้งในชุมชนเมืองรายล้อมด้วยบ้านพักอาศัย

ขณะเดียวกันยังมีข้อตกลงร่วมกันกับเมืองโยโกฮามา ในการริเริ่มโครงการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยการจัดสร้างเครื่องดูดและจัดการควันพิษเป็นแห่งแรก รวมทั้ง

นโยบายอื่นๆที่เป็นหลักประกันในการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมและการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เป็นสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังความร้อนถ่านหินขนาดเล็กสำหรับเมืองใหญ่ที่ได้มาตรฐานเรื่องการลดมลภาวะและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุด

ของโลก

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการก่อสร้างจำนวน 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่ตั้งให้ชัดเจน โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกจะอยู่ที่ จ.กระบี่

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสไปลงพื้นที่ดูงานคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการสำรองทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 206 วัน แบ่งออกเป็นสำรองโดยรัฐ 116 วัน และการสำรองโดยเอกชน 90 วัน เทียบกับของไทย เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชนจำนวน 36 วัน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 90 วัน เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน

สำหรับคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นทางกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (MITI) จะวางนโยบายการเก็บสำรอง โดยมอบหมายให้Japan Oil Gas and Metals Nationa l Corporation ( JOGMEC) เข้ามาบริหารซึ่งปัจจุบันมีคลังสำรองน้ำมันทั่วประเทศ10 แห่ง มีความจุคลังน้ำมันรวมมากกว่า

253 ล้านบาร์เรล โดย JOGMEC จะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนสำหรับปฏิบัติงานจำนวน 8 บริษัท ในการดูแลคลังน้ำมันสำรองทั้งหมด ช่วงภาวะฉุกเฉินMITI มีสิทธิตามกฎหมายในการสั่งปล่อยน้ำมันได้ ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาสามารถช่วยผ่อนคลายผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันได้เป็นอย่างดี

คลังสำรองน้ำมันที่ได้ไปเยี่ยมชม คือShirashima Oil Storage Facility อยู่ที่เมืองฟูกุโอกะ เป็นคลังสำรองน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศญี่ปุ่น มีความจุประมาณ 5,600 ล้านลิตร เป็นคลังลอยน้ำในทะเลมีขนาดพื้นที่กว้าง 0.5 กม. ยาว1 กม. บริเวณโดยรอบจะมีผนังกั้นคลื่นสึนามิสูง 25.5 เมตร ซึ่งข้อดีของคลังน้ำมันลอยน้ำ คือ ประหยัดพื้นที่และมีความยืดหยุ่นจากการปะทะของคลื่นสึนามิได้เพราะการสร้างคลังน้ำมันบนบกมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน ซึ่งคลังน้ำมันแห่งนี้ตั้งมาแล้ว 10 ปีและยังไม่เคยมีการจำหน่ายน้ำมันออกไป เนื่องจากตามกฎหมายระบุไว้ว่าจะนำน้ำมันจากคลังสำรองมาใช้ได้ต่อเมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องหยุดนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเท่านั้น

จากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่11 มี.ค. 2554 ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมีการทบทวนข้อกฎหมายดังกล่าวในเรื่องการนำน้ำมันสำรองมาใช้ยามฉุกเฉิน เพราะมีบทเรียนในช่วงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องปิดตัวลงจากสึนามิถล่มมีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำมันจากคลังสำรองเหล่านี้มาได้ ดังนั้นในอนาคตคงต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้กันใหม่

ณอคุณ กล่าวว่า การศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันของญี่ปุ่นก็ถือเป็นทางเลือกที่ไทยจะนำไปปรับใช้กับนโยบายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งกำหนดให้เพิ่มจาก 36 วันเป็น 90 วัน โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ สำรองโดยภาครัฐและสำรองโดยภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสำรองโดยภาครัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการบริหาร อาจตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลโดยเฉพาะรวมทั้งการหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้เหตุผลที่ไทยต้องมีแผนสำรองน้ำมันก็เหมือนซื้อประกันไว้ในยามฉุกเฉินประกอบกัน เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน(เออีซี) ปี 2558 ทำให้เกิดเสรีทางการค้าทางประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้าเติมน้ำมันไทยได้สะดวกมากขึ้น หากไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องสำรองน้ำมันจะมีปัญหาขาดแคลนได้

ด้าน ณัฐชาติ จารุจินดาประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. กล่าวว่า นโยบายการเพิ่มสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชนจาก 5% เป็น 6% ของผู้ค้าตามมาตรา 7 ทาง ปตท.มีความพร้อม แม้ว่าภาครัฐจะไม่ออกประกาศการเพิ่มสำรองน้ำมันอย่างเป็นทางการก็ตาม โดยมีแผนต้องสร้างคลังน้ำมันเพื่อรองรับการสำรองน้ำมันเพิ่มอีกประมาณ 3-4 ล้านบาร์เรลใช้งบลงทุนเบื้องต้น 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันต้องการความชัดเจนของโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือด้วย เพราะจุดรับจ่ายน้ำมันปลายท่อก็สามารถสร้างเป็นคลังน้ำมันสำรองได้เช่นกัน

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:33 am
โดย pak
พลังงานชงองค์กรร่วมไทย-มาเลย์ แก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซ
Source - ไทยรัฐ (Th), Tuesday, December 18, 2012

กระทรวงพลังงานชงเสนอขออนุมัติให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ขอความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติม สัญญาซื้อขายก๊าซ ฉบับที่ 2...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 18 ธ.ค. กระทรวงพลังงานเสนอขออนุมัติให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ขอความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B-17 & C-19 และ B-17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. การแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B-17 & C-19 และ B-17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียและบริษัทผู้ประกอบการ คือ บริษัท PC JDA Limited และบริษัท PTTEP International Limited ในฐานะกลุ่มผู้ขายก๊าซ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เปโตรนาส ในฐานะกลุ่มผู้ซื้อก๊าซ2. ให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ลงนามในร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติดังกล่าวกับกลุ่มผู้ซื้อก๊าซ เมื่อร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว 3. การยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2552 เรื่องการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้การทำสัญญาไม่ควรระบุในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากร่างสัญญาฉบับนี้ จำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการระงับข้อพิพาท โดยให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด เพื่อให้สอดคล้องกับร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B-17 & C-19 และแปลง B-17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2548.

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:34 am
โดย pak
ไออาร์พีซีขายที่ดินให้ ปตท. 132 ล้าน
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th), Tuesday, December 18, 2012

บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการน้ำมันไออาร์พีซี มีมติอนุมัติให้ขายที่ดินจำนวน 106 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.มาบข่า อ.บ้านค่าย จ.ระยองให้กับบริษัท ปตท. (PTT) ในราคา 132.49 ล้านบาท นับเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัทและบริษัทย่อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:35 am
โดย pak
ปตท.เล็งตั้งบริษัทใหม่ลงทุนสร้างท่อน้ำมัน
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th), Tuesday, December 18, 2012


ปตท.เตรียมแนวทางตั้งบริษัทใหม่ เพื่อลงทุนโครงการท่อส่งน้ำมันภาคอีสานและภาคเหนือ หลังการเจรจาซื้อหุ้น เพื่อเทคโอเวอร์กิจการแทปไลน์ไม่คืบหน้า

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า สำหรับการศึกษาโครงการลงทุนท่อส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ขณะนี้ เห็นว่าทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดควรให้ บริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย หรือ แทปไลน์ ซึ่งทำธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่ออยู่แล้วเป็นผู้ลงทุน จะช่วยลดต้นทุนและก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นอื่นๆ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างชาติ ยังไม่สนใจลงทุนโครงการนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีผลตอบแทนการลงทุนต่ำเกินไปประมาณ 11% เท่านั้น ขณะที่ผลตอบแทนที่จะเป็นควรต้องสูงกว่า 15% ทำให้ปตท.ต้องเจรจาเพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ ทั้งหมด อย่างน้อยให้ได้ ประมาณ 75% จากปัจจุบันที่บริษัทปตท.และบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นรวมกัน 40 % และหากการเจรจาซื้อหุ้นเพิ่มในแทปไลน์ไม่ประสบผลสำเร็จ ปตท.จะตั้งบริษัทใหม่เพื่อมาลงทุนและบริหารจัดการในโครงการนี้เอง

ด้าน นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. ในฐานะเป็นกรรมการในบริษัทแทปไลน์ กล่าวว่า ได้เคยมีการแสดงความจำนงในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มของปตท.ในบริษัทแทปไลน์ หลายครั้ง แต่ผู้ถือหุ้นรายอื่นยังปฏิเสธที่จะขายหุ้นในส่วนดังกล่าว และไม่สนใจที่จะเพิ่มทุน เพื่อใช้ในการลงทุน อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่า หากผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่พร้อมที่จะขยายธุรกิจก็ควรจะเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นที่มีความพร้อมเข้ามาถือหุ้นแทน

สำหรับโครงการลงทุนก่อสร้างท่อน้ำมันจากสระบุรี-พิษณุโลก-ลำปาง และท่อส่งน้ำมันจากสระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น นั้นสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้สรุปผลศึกษา พบว่าใช้เงินลงทุน1.6-1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์จะอยู่ที่ 15.08% เนื่องจากช่วยประหยัดน้ำมันในการขนส่งได้ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ประหยัดค่าซ่อมรถบรรทุก 1.7 หมื่นล้านบาท ลดสูญเสียน้ำมันขนส่ง 4.82 พันล้านบาทต่อปี ลดอุบัติเหตุปีละ 294 ล้านบาท แต่ผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 11.05%

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:36 am
โดย pak
ซัสโก้ทุ่มเม็ดเงิน200ล้านบาท เปลี่ยนปั๊มปิโตรนาส-ซัสโก้เดิม
Source - ASTV ผู้จัดการรายวัน (Th), Tuesday, December 18, 2012


ASTVผู้จัดการรายวัน - ซัสโก้ตั้งงบลงทุนปีหน้า150-200 ล้านบาท ปรับเปลี่ยนปั๊มปิโตรนาสมาเป็นซัสโก้เบื้องต้น 50 ปั๊มและปรับโฉมปั๊มเดิมให้ดีขึ้นอีก 20-30 แห่ง ดันยอดขายทะลุเป้า 3 หมื่นล้านบาท แต่สัดส่วนการส่งออกน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้านลดเหลือ 20-30% ของรายได้รวม ยันไม่มีแผนออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ที่กู้ซื้อปิโตรนาส เหตุทำสัญญาคืนเงินกู้ยาว 7 ปี

นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) (SUSCO)เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทฯจะใช้เงินลงทุนในการดำเนินธุรกิจประมาณ 150-200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงปั๊มน้ำมันปิโตรนาสมาเป็นปั๊มน้ำมันซัสโก้โดยจะทยอยปรับเปลี่ยนในปีแรก 50 ปั๊ม ใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท และที่เหลือจะใช้ในการปรับปรุงโฉมปั๊มซัสโก้เดิมให้ดีขึ้น 20-30 แห่งและอื่นๆ

โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าหมายว่าในปีหน้า บริษัทฯจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาทจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปั๊มปิโตรนาสเพิ่มเข้ามาจำนวน 96 แห่ง ทำให้จำนวนปั๊มน้ำมันเพิ่มเป็น238 ปั๊ม โดยมียอดขายน้ำมันปิโตรนาสเฉลี่ย 2 แสนลิตร/เดือน และปั๊มซัสโก้เดิมมียอดขายเฉลี่ย 1 แสนลิตร/เดือน ส่วนการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชาและเมียนมาร์นั้น ก็ยังทำต่อเนื่อง เพียงแต่สัดส่วนรายได้จากการส่งออกน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไปเหลือเพียง 20-30% ในปีหน้าจากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ 40-50 %ของรายได้รวม เนื่องจากมีรายได้จากปั๊มปิโตรนาสเข้าเสริม โดยไม่มีแผนทำปั๊มน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

นายชัยฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯได้รับโอนสินทรัพย์จากการซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันปิโตรนาสและมีการชำระเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯได้ซื้อ

กิจการปั๊มปิโตรนาสเป็นเงิน 46 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,415 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงิน70% โดยมีสัญญคืนหนี้เงินกู้ 7 ปี ซึ่งการซื้อกิจการครั้งนี้ ไม่ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากสินทรัพย์ที่ซื้อมาต่ำกว่าราคาทางบัญชี (Book) ทำให้สิ้นปี D/E เฉพาะบริษัทจะสูงกว่า 1 เท่าเล็กน้อย แต่หากเป็น งบรวม D/E จะต่ำกว่า 1 เท่า ดังนั้นบริษัทฯจึงไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ดังกล่าวแต่อย่างใด

หลังจากนี้บริษัทฯจะเข้าไปดูแลบริหารจัดการงาน ขณะที่การบริหารงานในปั๊มปิโตรนาสยังเหมือนเดิมโดยให้สิทธิ์ดีลเลอร์เป็นผู้ดูแลขณะเดียวกันก็จะหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาดำเนินการมินิมาร์ทด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปีหน้า ส่วนการขยายทำปั๊ม NGV มากขึ้นนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของปตท. ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หลังจากนโยบายรัฐต้องการให้มีการขยายปั๊ม NGV มากขึ้นแลกกับการปรับขึ้นราคาขาย NGV

สำหรับการรุกทำปั๊มน้ำมันในคอมมูนิตี้มอลล์นั้นมองว่าเป็นโอกาส แต่ในระยะอันใกล้ 1-2 ปีข้างหน้า ซัสโก้ยังไม่มีแผนที่จะรุกทำปั๊มในรูปแบบนี้ เพราะมุ่งเน้นในการบริหารจัดการปั๊มปิโตรนาสให้เรียบร้อยก่อน

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 19, 2012 10:37 am
โดย pak
ปตท.ปรับแผน5ปีลุยต่างชาติ'ประเสริฐ'หนุนขึ้นแอลพีจี
Source - สยามรัฐ (Th), Wednesday, December 19, 2012

ปตท. รื้อแผนลงทุน 5 ปีวางกลยุทธ์ให้เหมาะกับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ "ประเสริฐ" หนุนขึ้น แอลพีจี

นายสุรงค์ บูลกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.กำลังปรับปรุงแผนตามโครงการลงทุนระยะ5 ปี เพื่อให้เหมาะตามสภาพเศรษฐกิจและกลยุทธ์ โดยเป็นการลงทุนทั้งในประเทศอาเซียน และนอกอาเซียน

ซึ่งการลงทุนในประเทศจะเน้นความยั่งยืนด้านพลังงานรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ส่วนการประกาศยกเลิกการอุดหนุนราคา LPG ที่จะทยอยปรับเดือนละ 50 สตางค์/กก./เดือน จะส่งผลดีต่อ ปตท. และ ปตท.จะต้องเร่งก่อสร้างคลังก๊าซ LPG ใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซ LPG ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการวางท่อก๊าซและน้ำมันในภาคเหนือและอีสาน สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ ปตท.เพื่อรองรับการเปิดเออีซีมีหลายโครงการ เช่น การขยายสถานีบริการไปยังอาเซียน เช่น ลาว เขมร และพม่า รวมถึงโครงการเหมืองแร่ของ ปตท.เป็นต้น ซึ่งปตท.คาดว่าจะต้องระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อลงทุนออกหุ้นกู้ในปีหน้า แต่จะต้องนำเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติวงเงินอีกครั้ง

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ไออาร์พีซีกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะลอยตัวก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยยอมรับว่าราคาในประเทศไม่สอดคล้องกับต่างประเทศ หากรัฐบาลไม่มีการลอยตัวอาจจะเกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าลอยตัวรัฐบาลก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือ เช่น ประชาชน ผู้ขับรถแท็กซี่ หรือผู้ประกอบอาชีพรายเล็กควบคู่ไปด้วย เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มนี้ไม่ให้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันหากจะปรับก็ควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ประชาชนหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบ

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ธ.ค. 20, 2012 1:58 pm
โดย CHiNU_Vi
Don't Fall for the Shale Boom Hype - Chris Martenson Interview

http://oilprice.com/Interviews/Dont-Fal ... rview.html

Conservation Not Technology will be our Saviour - Chris Martenson (Part 2)

http://oilprice.com/Interviews/Conserva ... art-2.html

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 21, 2012 10:18 am
โดย pak
พลังงานบริสุทธิ์ปลื้มปิดโรดโชว์11จังหวัดนักลงทุนแห่ฟังทะลัก [ ข่าวหุ้น, 21 ธ.ค. 55 ]

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA
เปิดเผยว่า จากการเดินทางเพื่อนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Road Show) ทั้ง 11 จังหวัด ปรากฎว่านัก
ลงทุนทั่วประเทศให้การตอบรับและเข้ารับฟังการนำเสนอข้อมูลของบริษัทเป็นจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ แสดง
ให้เห็นถึงความสนใจในธุรกิจของ EA ซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนของไบโอดีเซล โรงไฟฟ้า
พลังงานแสงอาทิตย์ที่ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่มีอนาคตการเติบโตที่ต่อเนื่องและมั่นคง เพราะได้รับการสนับสนุน
จากภาครัฐ

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 21, 2012 10:25 am
โดย pak
'TRT' ประเดิมตลาด AEC บุกพม่ากวาดรายได้ 300 ล. [ ทันหุ้น, 21 ธ.ค. 55 ]

TRT หรือ ถิรไทย โชว์ศักยภาพ บุกตลาด AEC ประเดิมงานแรกที่พม่า กวาดรายได้แล้วกว่า 300
ล้านบาท ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (Distribution) และ Power ขนาด 150 เมกะวัตต์ และ
งานเหล็กสำเร็จรูป ของบริษัทในเครือ พร้อมต้อนรับซีเกมส์ครั้งแรกที่ เนปิดอร์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของ
ประเทศพม่า ผู้บริหารมั่นใจปีหน้า TRT สดใสแน่ คาดโตกว่า 20-25% หลังตุน Backlog ณ สิ้นปี 2555
แล้วกว่า 1,300 ล้านบาท

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 10:27 am
โดย pak
PTTลงทุน3.6แสนล.บอร์ดเคาะแผน5ปีเน้นร่วมทุนหนุนธุรกิจโต/ถือหุ้นโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์40%
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th), Saturday, December 22, 2012


โพสต์ทูเดย์ -บอร์ด ปตท.อนุมัติงบลงทุน 5 ปี รวม 3.66 แสนล้านมุ่งซื้อกิจการ-ก๊าซ ทุ่ม 1,450 ล้านบาท ร่วมทุนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวรประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติงบลงทุน5 ปี (ปี 2556-2560) วงเงินรวม3.66 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากแผนลงทุน 5 ปี (2555-2559) ที่ได้อนุมัติไว้ 3.57 แสนล้านบาท

งบลงทุนในปี 2556 พบว่าในแผนร่วมทุนและลงทุนในบริษัทที่ถือหุ้น 100% มีวงเงิน 6.21 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้4.12 หมื่นล้านบาท

ขณะที่งบลงทุนในก๊าซธรรมชาติวงเงินอยู่ที่ 2.54 หมื่นล้านบาทลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 3.18 หมื่นล้านบาท และในส่วนของการลงทุนน้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ มีวงเงิน 7,158 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 9,861 ล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่ของปตท. เป็นการร่วมทุนและลงทุนในบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% เพื่อขยายธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งการขยายความสามารถในการนำเข้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น โดยการลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี ในโครงการLNG Receiving Terminal ระยะที่2 และการลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีโครงการหลักประกอบด้วยโครงการท่อส่งก๊าซฯ บนบก เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) และโครงการท่อส่งก๊าซฯ บนบก นครสวรรค์และนครราชสีมา อีกทั้งการลงทุนเพื่อขยายคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)ของธุรกิจน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ บอร์ด ปตท.ยังได้อนุมัติให้เข้าร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในบริษัทไทย โซล่าร์ รีนิวเอเบิล (TSR) โดยปตท. จะเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 40%ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1,450 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ ผู้พัฒนาโครงการถือหุ้นในสัดส่วน 60%

การร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการรักษาและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศในระยะยาว โดยคาดว่าแผนการร่วมทุนจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2556

นายไพรินทร์ กล่าวถึงการซื้อหุ้นบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ผลิตถ่านหินที่สิงคโปร์ ว่าเข้าไปถือซื้อหุ้น 93% แล้ว และในอนาคตอาจจะนำออกจากตลาดหุ้นสิงคโปร์

ปัจจุบัน SAR มีปริมาณการขายถ่านหิน 13 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆคาดว่าปี 2563 จะมีปริมาณขายถ่านหิน 70 ล้านตันโดยแหล่งถ่านหินมาจากกัมพูชามองโกเลีย มาดากัสการ์

"ถ่านหินที่เราจะขายได้มากถึง70 ล้านตัน ในอนาคต เทียบเท่ากับการผลิตน้ำมันได้ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปตท.มีพลังงานครบ ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและถ่านหิน"นายไพรินทร์ กล่าว

ความเสี่ยงของ ปตท. นายไพรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องนโยบายราคาพลังงาน ซึ่งควรจะเปิดเสรีราคาพลังงาน ใช้มากก็ควรเสียภาษีมาก โดยเปรียบเทียบน้ำมันกับน้ำเมา หากมีการบริโภคมากก็จะเป็นการเสพติด หากต้องการอยู่ในโลกเสรีและอยู่ในเออีซีได้ ควรจะลดการใช้น้ำมันเพื่อให้กลไกเป็นไปอย่างเสรี โดยปี 2555 ปริมาณการใช้เอ็นจีวีมากกว่า ปี 2554 ประมาณ20%

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิชประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่าPTTEP AI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. และกลุ่มบริษัทร่วมทุนแปลง Rovuma Offshore Area 1 ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาออกแบบทางวิศวกรรม และการทำข้อตกลงเบื้องต้น ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลโมซัมบิก และ Empresa Nacional de Hidrocarbonetos, ep’s (ENH)ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศโมซัมบิก เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้โดยเร็ว

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 10:30 am
โดย pak
ปตท.สผ.จัดจ้างผู้รับเหมาโครงการในโมซัมบิก
Source - แนวหน้า (Th), Saturday, December 22, 2012

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า PTTEP AI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และกลุ่มบริษัทร่วมทุนแปลง Rovuma Offshore Area 1 โดยบริษัท Anadarko ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการได้จัดจ้างบริษัทรับเหมา เพื่อให้เข้าร่วมแข่งขันออกแบบทางวิศวกรรม (Front End Engineering Design: FEED) 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก (Liquefied Natural Gas: LNG) และด้านการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตและท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่งในแปลง Rovuma Offshore Area 1 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ และมีปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติมากกว่า 65 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ในประเทศโมซัมบิก

ทั้งนี้ บริษัทรับเหมาที่ได้รับการจัดจ้างให้เข้าร่วมการแข่งขันการออกแบบด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี จำนวน 2 สายการผลิต และการออกแบบทางวิศวกรรมในครั้งนี้ จะออกแบบผังโรงงานให้สามารถรองรับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ถึง 50 ล้านตันต่อปี ในอนาคต ประกอบด้วย3 กลุ่มบริษัท ได้แก่ 1.กลุ่มบริษัทJGC Corporation และบริษัท FluorTransworld Services, Inc. 2.กลุ่มบริษัท CB&I และบริษัท ChiyodaCorporation และ 3.บริษัท InternationalBechtel Co. LTD.

สำหรับบริษัทรับเหมาที่ได้รับการจัดจ้างให้เข้าร่วมการแข่งขันด้านการออกแบบด้านการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตและท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่ง ประกอบด้วย 3 กลุ่มบริษัทเช่นกัน ได้แก่ 1.บริษัท Technip USA, Inc. 2.กลุ่มบริษัทSubsea 7 (US) LLC และบริษัท SaipemSA และ 3.กลุ่มบริษัท McDermott, Inc. และ Allseas USA Inc.

อย่างไรก็ตาม เมื่อการแข่งขันการออกแบบ FEED และราคาประเมินการก่อสร้างแล้วเสร็จ กลุ่มบริษัทร่วมทุนจะทำการคัดเลือกบริษัทรับเหมาให้เหลือด้านละ 1 กลุ่ม เพื่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก และเป็นผู้รับเหมาติดตั้งอุปกรณ์การผลิตและท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่ง ซึ่งบริษัทรับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกจะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์การผลิตให้แล้วเสร็จ เพื่อเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณปี 2561

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 10:31 am
โดย pak
รายงาน: ไปดู...ต้นแบบคลังน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่น
Source - มติชน (Th), Sunday, December 23, 2012
ปิยะวรรณ ผลเจริญ


หัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ ความมั่นคงด้านไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ได้ประกาศนโยบายเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงทางพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งวิธีการหนึ่งคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองด้านไฟฟ้า และขณะเดียวกัน จะเน้นไปสู่การใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายและราคาไม่แพงจนเกินไป รวมทั้งหลีกเลี่ยงเชื้อเพลิงที่ร่อยหรอหรือมีปริมาณลดลง ทำให้รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่การใช้ถ่านหิน โดยมีเป้าหมายที่จะให้ไทยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดปลอดภัยให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากที่ปัจจุบันมีการใช้มากถึง 70% ให้เหลือไม่เกิน 40% ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2553-2573 (พีดีพี 2010)

นอกจากนี้ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จาก 36 วัน เป็น 90 วัน และจัดตั้งคลังสำรองน้ำมัน จากที่ไทยยังไม่เคยมีคลังสำรองมาก่อน เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ เมื่อเกิดปัญหา อาทิ ความขัดแย้งของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จนไม่สามารถส่งน้ำมันมาขายในไทยได้ โดยเดิมนั้น เอกชนได้มีการสำรองอยู่แล้ว 36 วัน และนโยบายใหม่กำหนดให้เอกชนเพิ่มปริมาณสำรองอีก 12 วันเป็น 48 วัน และที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะกำหนดแนวทางลงทุน แหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนต่อไป

เป็นที่มาของทริปศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น โดย นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำคณะสื่อมวลชน และตัวแทนจากคณะกรรมาธิการพลังงาน (กมธ) สภาผู้แทนราษฎร ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ กับผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

นายณอคุณ ให้เหตุผลการดูงานครั้งนี้ว่า "การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ยังมีปัญหาในการสร้างความเข้าใจกับชุมชน เนื่องจากในอดีต คนไทยมีบทเรียนที่ไม่ดีนักจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่เคยสร้างปัญหามลพิษ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นคลีน จนแทบไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม"

หนึ่งในตัวอย่างของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าอื่น คือ สถานีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนอิโซโกะ ของบริษัท เจพาวเวอร์ มีเครื่องผลิตไฟฟ้า 2 ตัว กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,200 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในเขตชุมชน ที่อยู่อาศัยในเมืองโยโกฮามา โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ซึ่งผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้เล่าให้ฟังว่า โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ เพราะมีข้อตกลงร่วมกับเมืองโยโกฮามาในการริเริ่มโครงการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยการจัดสร้างเครื่องดูดและจัดการควันพิษเป็นแห่งแรก รวมทั้งนโยบายอื่นๆ ที่เป็นหลักประกันในการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมและการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เป็นสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังความร้อนถ่านหินขนาดเล็กสำหรับเมืองใหญ่ที่ได้มาตรฐานเรื่องการลดมลภาวะและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุดของโลก

เมื่อย้อนกลับไปดูแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดของไทย ตามแผนพีดีพี ได้กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 6,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่ตั้ง โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกจะอยู่ที่ จ.กระบี่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จและเข้าระบบได้ในปี 2561-2562

นายสาคร เกี่ยวข้อง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ส.ส.กระบี่ที่ร่วมคณะไปด้วย ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจะสร้างที่ จ.กระบี่ได้ เพราะประชาชนในพื้นที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะมีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่แล้ว แต่ กฟผ.จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในลักษณะคู่ขนานกันไป เพราะปัจจุบันยังมีบางกลุ่มที่ต่อต้าน อาจเพราะไม่ได้รับข้อมูล เทคโนโลยีอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความ กังวล

อย่างไรก็ตาม หลังจากดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดอย่างครบถ้วน คณะของกระทรวงพลังงานได้เดินทางต่อไปยังเมืองฟูกูโอกะ ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปต่อที่ เมืองคิวชู ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งคิตะ และเป็นที่ตั้งของ Shirashima Oil Storage facility คลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการสำรองทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 206 วัน แบ่งออกเป็นสำรองโดยรัฐ 116 วัน และการสำรองโดยเอกชน 90 วัน เทียบกับของไทยแล้วพบว่าค่อนข้างแตกต่างกันมาก เพราะของไทยเป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชนจำนวน 36 วัน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 90 วัน เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน

คลังสำรองน้ำมันดังกล่าว ถือว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศญี่ปุ่น มีความจุประมาณ 5,600 ล้านลิตร เป็นคลังลอยน้ำในทะเลมีขนาดพื้นที่กว้าง 0.5 กม. ยาว 1 กม. บริเวณโดยรอบจะมีผนังกั้นคลื่นสึนามิสูง 25.5 เมตร ซึ่งข้อดีของคลังน้ำมันลอยน้ำ คือ ประหยัดพื้นที่และมีความยืดหยุ่นจากแรงปะทะของคลื่นสึนามิได้ เพราะการสร้างคลังน้ำมันบนบกมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนได้ยาก ซึ่งคลังน้ำมันแห่งนี้ตั้งมาแล้ว 10 ปี และยังไม่เคยมีการจำหน่ายน้ำมันออกไป เนื่องจากตามกฎหมายระบุไว้ว่าจะนำน้ำมันจากคลังสำรองมาใช้ได้ต่อเมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องหยุดนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เท่านั้น

สำหรับคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นทางกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (มิติ) จะวางนโยบายการเก็บสำรอง โดยมอบหมายให้ Japan Oil Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) เข้ามาบริหาร ซึ่งปัจจุบันมีคลังสำรองน้ำมันทั่วประเทศ 10 แห่ง มีความจุคลังน้ำมันรวมมากกว่า 253 ล้านบาร์เรล โดย JOGMEC จะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนสำหรับปฏิบัติงานจำนวน 8 บริษัท ในการดูแลคลังน้ำมันสำรองทั้งหมด ช่วงภาวะฉุกเฉิน มิติมีสิทธิตามกฎหมายในการสั่งปล่อยน้ำมันได้ ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาสามารถช่วยผ่อนคลายผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันได้เป็นอย่างดี

ซึ่งจากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมีการทบทวนข้อกฎหมาย ดังกล่าวในเรื่องการนำน้ำมันสำรองมาใช้ยามฉุกเฉิน เพราะมีบทเรียนในช่วงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องปิดตัวลงจากสึนามิถล่ม มีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำมันจากคลังสำรองเหล่านี้มาได้ ดังนั้นในอนาคตคงต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้กันใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางนายณอคุณ ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่า การศึกษารูปแบบการสำรองน้ำมันของญี่ปุ่นถือเป็นทางเลือกที่ไทยจะนำไปปรับใช้กับนโยบายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งกำหนดให้เพิ่มจาก 36 วัน เป็น 90 วัน โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ สำรองโดยภาครัฐและสำรองโดยภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการ

สำรองโดยภาครัฐ ขณะ

นี้อยู่ระหว่างการศึกษา

รูปแบบการบริหาร อาจ

ตั้งหน่วยงานขึ้นมา

กำกับดูแลโดยเฉพาะ

รวมทั้งการหาแหล่ง

เงินทุนที่เหมาะสม

ด้วย ทั้งนี้ เหตุผลที่

ไทยต้องมีแผนสำรอง

น้ำมันก็เหมือนซื้อ

ประกันไว้ในยาม

ฉุกเฉินประกอบกัน

เมื่อเปิดประชาคม

อาเซียน (เออีซี)

ปี 2558 ทำให้เกิด

เสรีทางการค้าทางประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้าเติมน้ำมันไทยได้สะดวกมากขึ้น หากไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องสำรองน้ำมันจะมีปัญหาขาดแคลนได้ ดังนั้น เมื่อเปิดเออีซีแล้วนโยบายดังกล่าวต้องเดินหน้าแล้ว

ด้าน ณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการเพิ่มสำรองน้ำมันตามกฎหมายของภาคเอกชนจาก 5% เป็น 6% ของผู้ค้าตามมาตรา 7 ทาง ปตท.มีความพร้อม แม้ว่าภาครัฐจะไม่ออกประกาศการเพิ่มสำรองน้ำมันอย่างเป็นทางการ โดยมีแผนต้องสร้างคลังน้ำมันเพื่อรองรับการสำรองน้ำมันเพิ่มอีกประมาณ 3-4 ล้านบาร์เรลใช้งบลงทุนเบื้องต้น 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ต้องการความชัดเจนของโครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือด้วย เพราะจุดรับจ่ายน้ำมันปลายท่อก็สามารถสร้างเป็นคลังน้ำมันสำรองได้เช่นกัน

"พื้นที่บริเวณสัตหีบมีความเหมาะสมที่สุด เพราะปลอดภัย มีความมั่นคง แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะต้องเร่งหารือกับฝ่ายกองทัพเรือเพื่อขอใช้พื้นที่ ต่อไป"

สิ้นภารกิจศึกษาดูงานครั้งนี้ เชื่อว่ากระทรวงพลังงานคงใจชื้นวางแผนเดินหน้าตามเวลาที่กำหนดไว้ หลังได้รับเสียงสนับสนุนจากตัวแทนประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมเปิดใจพูดคุยกับฝ่ายต่อต้าน เพราะนโยบายพลังงานจะเดินหน้าได้ต้องมาจากเสียงสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ!!!

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 10:34 am
โดย pak
ปตท.ลุ้นปีหน้าผลิตถ่านหิน17ล้านตัน
Source - ASTV ผู้จัดการรายวัน (Th), Monday, December 24, 2012


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.ตั้งเป้าผลิตถ่านหินปีหน้าที่ 17 ล้านตันจากปีนี้ผลิตได้ 13 ล้านตัน เตรียมเพิกถอนหุ้นSAR ออกจากตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไตรมาส 1/56 พร้อมเร่งสำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตถ่านหิน 70 ล้านตันในปี 2563

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯได้ลงทุนตามแผนงานที่ตั้งไว้เกือบ 90% ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีการลงทุนใหญ่สุด คือการเพิ่มทุนจดทะเบียนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท Sakari Resources Limited (SAR)ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจถ่านหิน

ล่าสุด ปตท.ถือหุ้นใน SAR คิดเป็นสัดส่วน 93% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หากถือหุ้นเกิน 90% จะต้องเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2556

จากการเข้าถือหุ้นใหญ่ใน SAR นี้ทำให้ปตท.รับรู้รายได้จากธุรกิจถ่านหินเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้ โดยบริษัทฯดังกล่าวมีกำลังการผลิตถ่านหินในปีนี้อยู่ที่ 13 ล้านตัน และปีหน้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 17 ล้านตัน โดยปตท.มีเป้าหมายการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านตันในปี 2563 หรือคิดเทียบกับปริมาณน้ำมันดิบถึง 5 แสนบาร์เรล /วัน โดย ปตท.มีแผนที่จะเสาะหาเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาเหมืองถ่านหินที่มี อาทิ กัมพูชามองโกเลีย และมาดากัสการ์

การตัดสินใจรุกธุรกิจถ่านหินของ ปตท.นี้ เนื่องจากเห็นว่าถ่านหินเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่มีปริมาณสำรองจำนวนมากเมื่อเทียบกับน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งในอนาคตถ่านหินอาจมีบทบาทมากยิ่งขึ้น แม้ว่าขณะนี้ไทยให้ความสำคัญพลังงานถ่านหินค่อนข้างน้อยก็ตาม โดยปตท.ต้องการเป็นเจ้าของพลังงานอย่างครบวงจรทั้งถ่านหิน ก๊าซฯและน้ำมันดิบ เพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ

นายไพรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในปีหน้านโยบายราคาพลังงานของรัฐถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของ ปตท. ซึ่งบริษัทฯเห็นว่าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ไทยถูกบังคับให้ต้องปรับราคาพลังงานตามตลาดโลก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนได้เสรีรัฐไม่สามารถรับภาระอุดหนุนราคาพลังงานได้อีกต่อไป ดังนั้นควรจะทยอยปรับขึ้นดีกว่าปรับขึ้นทีเดียวในปี 2558

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ในปี 2556 บริษัทมีเป้าหมายรักษาการทำกำไรไว้ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีหน้าประเมินได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศหลายปัจจัย ได้แก่ การแก้ปัญหาหน้าผาการคล้ง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯที่ต้องติดตามผลกระทบซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าและจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของผู้นำในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะมีผลต่อนโยบายการเงินการคลังด้วยเช่นกัน

สำหรับงวด 9 เดือนแรก ปี 2555 ปตท.มีกำไรสุทธิ 8.19 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.86 หมื่นล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2556- 2560) จะใช้วงเงินรวม 366,474 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติถึง 111,216 ล้านบาท คิดเป็น 30% ธุรกิจน้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 51,384 ล้านบาท คิดเป็น 14% แผนร่วมลงทุนและการลงทุนในบริษัทลูก คิดเป็น 191,947 ล้านบาท หรือ 53% สำนักงานใหญ่และอื่นๆ 11927 ล้านบาท หรือ 3% โดยปีหน้าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 9.88 หมื่นล้านบาท

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 11:20 am
โดย pak
พลังงานเล็งสร้างโรงไฟฟ้าเกาะสมุย-พงัน หลังไฟดับสูญเงินมหาศาล
กระทรวงพลังงาน มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าบนเกาะสมุยและพงัน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟดับซ้ำรอยอีก
ที่ http://www.ibizchannel.com/viewall.aspx?lid=11&cid=463

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 24, 2012 12:27 pm
โดย pak
EARTH เผยเจรจาซื้อสัมปทานเหมืองถัดไปจากผู้ขายรายเดิม-ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้า
อินโฟเควสท์, 24 ธ.ค. 55

นายขจรพงศ์ คำดี กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ(EARTH) เปิดเผยว่า บริษัทได้มีแผนจะเข้าซื้อสัมปทานจากผู้ขายรายเดิมในเหมืองถัดไปในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการเจรจาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อเป็นการรองรับ Mission ตามแผน 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่ได้มีข้อตกลงเข้าซื้อเหมืองจาก PT. Hary Niaga มูลค่า 3,695 ล้านบาท และในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าในเหมืองถ่านหิน เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นแผนในอนาคตในการต่อยอดธุรกิจ

สำหรับการเข้าลงทุนเหมือง มูลค่า 3,695 ล้านบาท ในเบื้องต้นสำรวจพบปริมาณถ่านหินอยู่ประมาณ 30-40 ล้านตัน ส่วนปริมาณถ่านหินที่แน่นอนอย่างเป็นทางการบริษัทได้แต่งตั้งให้บริษัทผู้ประเมินอิสระเป็นผู้ตรวจอบความถูกต้องขั้นตอนสุดท้ายตามวิธีการที่ยอมรับทั่วไป JORC และคาดว่าจะได้รับรายงานได้ภายใน 4-6 เดือน หากปริมาณสำรองมีน้อยกว่า 30 ล้านตัน ผู้ขายจะจัดหาสัมปทานแปลงอื่นเพิ่มเติมให้มีปริมาณไม่น้อยกว่า 30 ล้านตัน
...
อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อเหมืองแห่งใหม่ในครั้งนี้ไม่ต้องลงทุนเป็นเงินสด บริษัทใช้วิธีเพิ่มทุนเพื่อแลกกับการถือหุ้นร้อยละ100 ใน PT. Hary Niaga นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจตามแผน 5 ปีข้างหน้าเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอย่างมีศักยภาพแล้ว ยังจะทำให้บริษัทมีแหล่งถ่านหินสำรองเพิ่มขึ้น สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้นานถึง 10 ปี และที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ถ่านหินที่ออกจากเหมืองของ EARTH เอง คาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 30-40%

จากการเข้าลงทุนในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ EARTH มีความมั่นคงทางธุรกิจถ่านหินมากขึ้น โดยการเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหิน(Mining)ที่มีปริมาณสำรองของถ่านหินในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวต่อบริษัท และยังช่วยเพิ่มรายได้ในระยะยาวเนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเองรวมถึงทำให้อัตรากำไรดีขึ้น ทำให้โครงสร้างเงินทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุนลดลงที่สำคัญช่วยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ในระยะยาวได้อีกด้วย

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 25, 2012 9:39 am
โดย pak
คอลัมน์: สะเก็ดเศรษฐกิจ: คาดราคาน้ำมันปี 56 ผันผวน
Source - บ้านเมือง (Th), Tuesday, December 25, 2012

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันปีหน้าน่ายังคงผันผวนเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลทำให้การจัดหาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันน่าจะอยู่ระดับเหนือ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซินและดีเซลอยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มราคาก๊าซหุงต้ม คาดว่าควรจะปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งนโยบายรัฐบาลมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า ดังนั้นก็ต้องเข้ามาดูแลกลุ่มที่มีรายได้น้อยไม่ให้ส่งผลกระทบมากนัก และต้องแบกรับภาระมากกว่าในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคขนส่ง โดยรัฐบาลต้องหาแนวทางที่ดีให้กับทุกฝ่ายต่อไป

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังคงผันผวนมาก เนื่องจากในตลาดอเมริกามีโอกาสแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และมีโรงงานใหม่เกิดขึ้น พร้อมสามารถป้อนตลาดได้ใกล้กว่า ดังนั้นกลุ่มปิโตรเคมีในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัวและสามารถดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ประกอบกับปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สามารถป้อนให้หลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร ยา สิ่งทอ เป็นต้น โดยแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 25, 2012 9:44 am
โดย pak
VTEร่วมลงขันเหมืองอินโดรับทรัพย์ปีหน้า-โตก้าวกระโดด [ ทันหุ้น, 25 ธ.ค. 55 ]

บอร์ด VTE ไฟเขียวควักงบเกือบ 600 ล้านบาท ลงทุนเหมืองถ่านหินอินโด พร้อมตั้งเป้าปี 2556 ผลงานโตก้าวกระโดดรับธุรกิจใหม่ ฟากโบรกเกอร์ ฟันธงปี 2556 กำไรทะลุ 30% อานิสงส์ธุรกิจรับเหมา-ถ่านหินรุ่งโรจน์ พร้อมแนะ "เก็งกำไร" ลุ้นไฮใหม่ 8.50 บาท

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: อังคาร ธ.ค. 25, 2012 9:45 am
โดย pak
PTTเปิดแผนการลงทุน5ปี
Source - ข่าวหุ้น (Th), Tuesday, December 25, 2012


เทงบ3.6แสนล้าน เสริมธุรกิจลูก-ก๊าซธรรมชาติ

"ปตท." กางแผนลงทุน 5 ปี ตั้งงบ 366,474 ล้านบาท เน้นลงทุนในแผนร่วมทุนและบริษัทลูกสูงสุด 1.9 แสนล้านบาท รองลงมาใช้ในธุรกิจก๊าซ 1.1 แสนล้านบาท วงการย้ำราคาเป้าหมาย 409 บาท แนะนำ "ซื้อลงทุน"

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2556-2560) ของ ปตท. วงเงินรวม 366,474 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมทุนและลงทุนในบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% เพื่อขยายธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งการขยายความสามารถในการนำเข้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

โดยการลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal ระยะที่ 2 และการลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีโครงการหลักประกอบด้วย โครงการท่อส่งก๊าซฯ บนบก เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) และโครงการท่อส่ง ก๊าซฯ บนบก นครสวรรค์และนครราชสีมา อีกทั้งการลงทุนเพื่อขยายคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของธุรกิจน้ำมัน เป็นต้น

ดังนั้น แผนลงทุนทั้ง 5 ปี จะแบ่งเป็นการเข้าลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 111,216 ล้านบาท เทียบเท่า 30% น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 51,384 ล้านบาท เทียบเท่า 14% แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 191,947 ล้านบาท เทียบเท่า 53% สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 11,927 ล้านบาท เทียบเท่า 3% รวม 366,474 ล้านบาท

สำหรับแผนการลงทุนของ PTT ได้แบ่งออกทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัท ลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 สำนักงานใหญ่และอื่นๆ โดยในงวดปี 2556 จะลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 25,449 ล้านบาท น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 7,158 ล้านบาท แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 62,164 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 4,074 ล้านบาท รวม 98,845 ล้านบาท

ส่วนงวดปี 2557 จะลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 29,522 ล้านบาท น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 8,245 ล้านบาท แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 33,808 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 4,059 ล้านบาท รวม 75,634 ล้านบาท

ด้านงวดปี 2558 เข้าลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 30,417 ล้านบาท น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 16,952 ล้านบาท แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 34,631 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 1,862 ล้านบาท รวม 83,862 ล้านบาท

ขณะที่งวดปี 2559 เข้าลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 18,583 ล้านบาท น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 12,573 ล้านบาท แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 25,333 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 1,128 ล้านบาท รวม 57,617 ล้านบาท

สำหรับงวดปี 2560 เข้าลงทุนก๊าซธรรมชาติจำนวน 7,245 ล้านบาท น้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 6,456 ล้านบาท แผนร่วมทุนและการลงทุนบริษัทลูกที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 36,011 ล้านบาท สำนักงานใหญ่และอื่นๆ จำนวน 804 ล้านบาท รวม 50,516 ล้านบาท

ด้านบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อแผนลงทุนใน 5 ปี โดยงบลงทุนดังกล่าวจะเน้นการขยายธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ เช่น แผนการลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย โดยบริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการต่างๆ อย่างไรก็ดี เรามองว่าธุรกิจถ่านหินจะช่วยเสริมรายได้และกำไรให้แต่กลุ่ม PTT ในอนาคต

โดยแม้ว่าสัดส่วนกำไรในปัจจุบันยังน้อยกว่า 5% ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างการสำรวจโครงการใหม่ ในกัมพูชา มองโกเลีย

และมาดากัสการ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตถ่านในอนาคต นอกจากนี้ เราเชื่อว่า การนำ Shale Gas มาแทนถ่านในแถบเอเชียยังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งสูง จึงทำให้ความต้องการใช้ถ่านยังคงทรงตัวอยู่ ประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 2556 ที่ 409 บาท แนะนำ "ซื้อลงทุน"

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 26, 2012 9:52 am
โดย pak
'ไออาร์พีซี'เปิดสอนพาณิชย์นาวี มุ่งผลิตคนป้อนโลจิสติกส์-เชื่อมข่ายอาเซียน
Source - ข่าวสด (Th), Wednesday, December 26, 2012

นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รรก.กช.) เปิดเผยว่า ตามที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. มีนโยบายต้องการให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเปิดวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จ.ระยอง ขึ้น เพื่อจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านอาชีวศึกษา สาขา อาทิ ช่างกล ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้า และช่างยนต์ จึงหารือเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า นอกจากจะเปิดหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม สาขาช่างกล ในระดับปวช. ปีการศึกษา 2556 แล้ว ยังวางแผนเปิดหลักสูตรพาณิชย์นาวี ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรเน้นการทำงานบนเรือเดินสมุทร โดยหลักสูตรดังกล่าวจะกำหนดให้เป็นอิงลิชโปรแกรมเหมือนกัน

รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวต่อว่า แนวคิดนี้จะสอดคล้องกับการผลิตกำลังคนป้อนระบบโลจิสติกส์ หรือระบบการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทย ซึ่งภาคเอกชนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องการกำลังคนไปรองรับกับเป้าหมายของประชาคมอาเซียน ที่ต้องการให้ระบบการเดินเรือทางทะเล เป็นช่องทางหลักช่องทางหนึ่งในการเชื่อมเครือข่ายสมาชิกเข้าหากัน

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จ.ระยอง จึงให้ความสำคัญกับหลักสูตรนี้เป็นอย่างมาก โดยหลักสูตรดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ (STCW2010) ที่เป็นมาตรฐานข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ การคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศสมาชิก (IMO) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1/2557

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 26, 2012 9:53 am
โดย pak
'ประเสริฐ'ฟันธงปิโตรเคมี ไทยมีอนาคต คาดปีหน้าราคาน้ำมันยังรักษาระดับปีนี้
Source - พิมพ์ไทย (Th), Wednesday, December 26, 2012

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด มหาชน กล่าวว่า ราคาน้ำมันในปี 2556 จะใกล้เคียงกับปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ จะไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานของโลกยังเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมันเบนซินและดีเซลสำเร็จรูป จะอยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน

ขณะที่ราคาก๊าชหุงต้ม หรือ LPG ยังคงมีปัญหาจากการนำเข้าจากต่างประเทศมาขายในราคาถูก ซึ่งรัฐบาลก็พยายามปรับโครงสร้างราคาและดูแลผลกระทบให้กับผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ส่วนทิศทางธุรกิจปิโตรเคมี ในช่วง1-2 ปีข้างหน้ายังผันผวน ตามต้นทุนราคาวัตถุดิบที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในการลดต้นและเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อให้แข่งขันได้ และจะต้องดูแลธุรกิจปิโตรเคมีให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ เพราะปิโตรเคมี มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านบาท และทำให้เกิดการต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น

--จบ--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ธ.ค. 27, 2012 7:17 am
โดย pak
BOI นัดส่งท้ายปี 55 อนุมัติ 32 โครงการ มูลค่ากว่า 1 แสนลบ.
ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 26 ธันวาคม 2555 17:38:56 น.

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานอนุมัติส่งท้ายปีรวม 32 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 107,738 ล้านบาท โดยการลงทุนสาขาพลังงานทดแทนยังแรงไม่หยุด ทั้งพลังงานลม-แสงอาทิตย์ และผลิตไฟฟ้าจากขยะ ด้านธุรกิจขนส่งทางอากาศคึกคัก การบินไทย เช่าเครื่องบิน Airbus เพิ่ม 7 ลำ มูลค่ารวมกว่า 33,000 ล้านบาท ด้านบริษัท การบินกรุงเทพ เช่าเครื่องบินเพิ่ม 13 ลำ มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านบาท

"ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 32 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 107,738 ล้านบาท" นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ

โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้ง 32 โครงการ ประกอบด้วย
1.บริษัท ไทย ฟู้ดส์ โพลทรีย์ ฟาร์ม จำกัด ขยายกิจการผลิตลูกไก่ กำลังการผลิตปีละประมาณ 140 ล้านตัว เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี

2.บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางยานพาหนะเรเดียล เช่น ยางรถยนต์ รถกระบะ รถเอสยูวี เป็นต้น กำลังผลิตปีละประมาณ 7,200,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,181.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง

3.บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางยานพาหนะ ได้แก่ ยางรถบรรทุกเรเดียล กำลังการผลิตปีละประมาณ 392,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,537.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง

4.บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายกิจการผลิตยางยานพาหนะ เรเดียล เช่น ยางรถบรรทุก กำลังการผลิตปีละประมาณ 530,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,700.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เอส ไอ แอล ที่ดิน อุตสาหกรรม จำกัด จ.สระบุรี

5.บริษัท แอดวิคส แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิต DISC BRAKE CALIPER ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำหรับรถบรรทุกขนาดหนึ่งตัน และรถเอสยูวี กำลังการผลิตปีละประมาณ 1,200,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,032.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จ.ชลบุรี

6.บริษัท เควายบี สเตียริ่ง(ไทยแลนด์) จำกัด ขยายกิจการผลิตปั๊มไฮดรอลิค สำหรับเกียร์อัตโนมัติ กำลังการผลิตปีละประมาณ 864,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,277.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี

7.บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ เช่น ชิ้นส่วนตัวถัง กำลังการผลิตปีละประมาณ 19,250,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

8.บริษัท เจเทคโตะ(ไทยแลนด์) จำกัด ขยายกิจการผลิตชุดเพลาขับ กำลังการผลิตปีละประมาณ 700,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,605.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

9.MR.JARED ELLIOT ผลิต VINYL ACETATE ETHYLENE EMULSION ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผสม VINYL ACETATE MONOMER กับ ETHYLENE และสารเติมแต่งต่างๆ สำหรับนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรม กำลังการผลิตปีละประมาณ 50,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,980 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) จ.ระยอง

10.บริษัท อุทัยธานี ไบโอ เอเนอยี่ จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล(ชานอ้อย) กำลังผลิตไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,050 ล้านบาท ตั้งอยุ่ที่ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี

11.บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์(ภูหลวง) จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล(กากอ้อย) โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ขนาด 67 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 350 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย

12.บริษัท อี เอส พลังงาน จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 23 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 150 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 852.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

โครงการที่ 13-18 รวม 6 โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ บริษัท โซลาร์ โก จำกัด กำลังการผลิตรวมทั้ง 6 โครงการ 57 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวม 6 โครงการ มูลค่า 6,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม จำนวน 5 โครงการ และตั้งอยู่ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 1 โครงการ

19.บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี(ปราจีนบุรี) จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

20.บริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี(ปราจีนบุรี) จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

21.บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 50 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,488.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

22.บริษัท ราชบุรีเวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 15 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,350 ล้านบาท ตั้งอยุ่ที่ นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จ.ราชบุรี

23.บริษัท ราชบุรีเวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 15 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,650 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จ.ราชบุรี

24.บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 300 ตัน/ชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 300 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย

25.บริษัท เอสเอสยูที จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 123 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,880 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

26.บริษัท เอสเอสยูที จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 123 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,120 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

27.บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากขยะ ขนาด 60 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,844 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.สระบุรี

28.บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการกำจัดขยะมูลฝอยปริมาณ 255,500 ตัน/ปี และผลิตไฟฟ้าจากมูลฝอยขนาด 9.8 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 892.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

29.บมจ.การบินไทย(THAI) ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบินใหม่ แบบ Air bus A330-343 จำนวน 2 ลำ (เป็นเวลา 8 ปี) ความจุผู้โดยสารรวม 598 ที่นั่ง มีระวางบรรทุกสินค้ารวม 89.48 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,372.2 ล้านบาท

30.บมจ.การบินไทย(THAI) ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบินใหม่แบบ Airbus A 380-800 จำนวน 3 ลำ (เป็นเวลา 8 ปี) ความจุผู้โดยสารรวม 1,521 ที่นั่ง และมีระวางบรรทุกสินค้ารวม 138.99 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 24,460 ล้านบาท

31.บมจ.การบินไทย(THAI) ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบินแบบ Airbus A 320-200 จำนวน 2 ลำ (เป็นเวลา 8 ปี) ความจุผู้โดยสารรวม 348 ที่นั่ง และมีระวางบรรทุกสินค้ารวม 18.88 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,611.8 ล้านบาท

32.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบินใหม่ จำนวน 13 ลำ (ระยะเวลา 6 ปี) ความจุผู้โดยสารรวม 2,283 ที่นั่ง ระวางบรรทุกสินค้ารวม 19.8 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 14,191 ล้านบาท

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 28, 2012 9:48 am
โดย pak
คอลัมน์: วิรัตน์ แสงทองคำ: ปตท. (11) เติบโตและพลิกผัน
Source - มติชนสุดสัปดาห์ (Th), Friday, December 28, 2012
htpp//:viratts.wordpress.com


ในฐานะบทความชุดยาวที่เขียนต่อเนื่องหลายเดือน บทสรุป ให้ภาพรวบรัด มีความจำเป็นในบางช่วงบางเวลา โดยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจสัญลักษณ์พัฒนาการสังคมธุรกิจไทย

แม้ว่าบทความชุด ปตท. ยังจะมีอักสัก 1-2 ตอนถึงจะจบอย่างที่ควรจะเป็น

แต่การนำความและภาพต่อที่สำคัญจากบทความทั้งหมด มาเชื่อมต่อให้ภาพคมชัด ย่อมเป็นเรื่องที่ควรสำหรับการทบทวนความคิดของผู้อ่านในช่วงเวลาสิ้นสุดปีเก่าและกำลังต่อด้วยปีใหม่

องค์กรธุรกิจโตเร็วที่สุด

"ปี 2521 (29 ธันวาคม) จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์อันยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี ด้วยการควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือองค์การเชื้อเพลิง และองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย" (จาก ปตท. (1) ภาพกว้าง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2555)

ปตท.กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่เยาว์วัยที่เติบโตอย่าวงเร็ว แม้ว่าในระดับโลก โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่มีปรากฏการณ์องค์กรที่เคยเป็นของรัฐ แล้วก้าวเขาสู่ธุรกิจยุคใหม่เติบโตอย่างมหัศจรรย์ แต่สำหรับประเทศไทย กรณีทำนองเดียวกับ ปตท. ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"ปตท.มีรายได้ทะลุหลักล้านล้านบาทเป็นกิจการแรกของไทย เป็นการเติบโตประมาณ 10 เท่าเพียงทศวรรษเดียว ไม่เพียงเป็นความมหัศจรรย์หากถือว่าเป็นจังหวะก้าวกระโดดสำคัญ ในการขยายตัวด้วยโมเมนตัมแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ปตท.สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนอีกมาก" (อ้างแล้วข้างต้น)

ฐานมาจากผู้นำค้าปลีกน้ำมัน

ปตท.ใช้เวลาเพียงประมาณทศวรรษเดียว ก็บรรลุเป้าหมายสำคัญได้

ทีมผู้บริหารยุค ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ เป็นที่ทราบกันดีว่า หลายคนมีประสบการณ์ในธุรกิจคาปลีกน้ำมันของบริษัทต่างชาติ พวกเขาจึงมองธุรกิจสถานีบริการเป็นยุทธศาสตร์สำคัญมาก โดยดำเนินตามแผนการที่น่าสนใจ ควรกล่าวถึง 3 ขั้นตอน

หนึ่ง-สร้างแบรด์ใหม่ ย้อนกลับไปถือว่า เป็นเรื่องคลาสสิคทางการตลาดมากเรื่องหนึ่ง ในความพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก "สามทหาร"-สถานีบริการขององค์การเชื้อเพลิงภายใต้การดูแลของทหาร ซึ่งเป็นแบรนด์เก่า ล้าสมัย และสะท้อนภาพของความพ่ายแพ้ทางการตลาด สู่สัญลักษณ์ ปตท.ใหม่ ซึ่งยังใช้ในปัจจุบัน ที่สำคัญเริ่มต้นโฆษณาครั้งใหญ่ครั้งแรก เชื่อมโยงกับความเป็นไทย

สอง-หัวเมืองล้อมเมือง ความได้เปรียบจากการเริ่มต้นจากต่างจังหวัดนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า มาจากความได้เปรียบของระบบโลจิสติกส์ของกิจการน้ำมันแห่งชาติ ปตท. ได้สร้างคลังน้ำมันในต่างจังหวัดไว้มากกว่าคู่แข่งอย่าง Shell Esso และ Caltex เพื่อตอบสนองนโยบายความมั่นคงของรัฐและมุ่งกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง

สาม-คุณภาพผลิตภัณฑ์ ถือเป็นความภาคภูมิใจของผู้บริหาร ปตท.เป็นพิเศษ ว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันกิจการต่างประเทศ ความสามารถในเรื่องนี้แยกไม่ออจากบทบาท ปตท. ในฐานะผู้นำในการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน จึงมีความได้เปรียบในการบริหาร ทั้งต้นทุนและการผลิตนำมันสูตรต่างๆ

จากความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกปลีกน้ำมัน (โดยเฉพาะสถานีบริการ) ปตท.สร้างจินตนาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไปสู่สถานีบริการโมเดลใหม่ มองออกไปสู่ธุรกิจอื่นไม่ใช่น้ำมัน

เหตุการณ์สำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ ปตท.เข้าซื้อเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยของ Conoc oPhillips ไม่เพียงเป็นการขยายเครือข่ายสถานีบริการในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด ยังถือว่าสืบทอดและพัฒนาโมเดลธุรกิจคาปลีกน้ำมันใหม่ไปไกลกว่าคู่แข่งที่เป็นต่างชาติ รวมทั้งความพยายามสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค

อ่านเพิ่มเติมจาก ปตท. (4) ผู้นำค้าปลีกน้ำมัน มติชนสุดสัปดาห์ 9 พฤศจิกายน 2555

โอกาสเริ่มต้นจากตลาดหุ้น

ผมเคยอรรถาธิบายผลพว งขอ งวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 ประหนึ่งคลื่นที่ซัดกระหน่ำสังคมธุรกิจไทย แบ่งเป็น 3 ละลอกคลื่น

คลื่นลูกแรก-กระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมากในปลายปี 2540

คลื่นต่อมา-เป็นครั้งแรกธนาคารหลายแห่งมีอันเป็นไป ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธนาคารครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์

และคลื่นลูกหลัง-การล้มละลายกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่พัฒนามาจากกิจการอื่นๆ และกลุ่มการค้าเก่าแก่ของไทย ได้แก่ วิทยาคม อี๊สต์เอเซียติ๊ก และเคี่ยนหงวน

ในปีที่ ปตท.เข้าตลาดหุ้น มีสถานการณ์ระดับโลกที่ไม่เอื้อ ปีนั้น (2544) นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 30 ปี ที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่า 2.5% ต่อปี และหลังจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อยู่ระดับที่ต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 26 เดือน

และแล้วสถานการณ์โลกพลิกผันอย่างรวดเร็งในอีก 3 ปีต่อมา ในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ปตท.ขยายตัวจากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-2549 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาท ในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547

แม้ว่าปี 2547 ตลาดหุ้นไทยมีท่าทีดีขึ้นบ้าง แต่สถานการณ์สังคมธุรกิจไทยโดยรวม ยังอยู่ในภาวะต้องแก้ปัญหากันต่อไป

จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานเป็นประวัติการณ์ ไม่เพียงเป็นแรงต้านการปรับตัวฟื้นตัว สำหรับธุรกิจอื่นๆ เท่านั้น หากส่งผลให้ผลประกอบการของ ปตท.ปี 2547 ออกมาดีเกินคาด อย่างสวนกระแส ปตท. ในช่วงนั้นจึงมีความพร้อมมากกว่าใครๆ ในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเรื่อง ปตท. (7) เข้าตลาดหุ้น มติชนสุดสัปดาห์ 30 พฤศจิกายน 2555

ยุทธศาสตร์ใหญ่พลิกผัน

สังคมธุรกิจไทยในยุค "โชติช่วงชัชวาล" มอง Petrochemical Complex เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ ในมิติและความหมายที่กว้างขวางขึ้น

ภาพนั้นถูกกำกับอย่างตั้งใจ มาตลอดช่วงยุครัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ (3 มีนาคม 2523-4 สิงหาคม 2531 ) โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร เป็นรัฐมนตรีกำกับยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้นและใกล้ชิดด้วย (รัฐมนตรีช่วยว่าการอุตสาหกรรม 11 มีนาคม 2524-19 กันยายน 2528 รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม 19 กันยายน 2528-11 สิงหาคม 2529 และรัฐมนตรีประจำสำนัก นายกฯ 11 สิงหาคม 2529-27 กรกฎาคม 2530) โดยไม่คาดคิดว่าในช่วงอีกเกือบสองทศวรรษต่อจากนั้นมา จะพลิกผันอย่างเหลือเชื่อ

ภาพนั้น มองจากความเคลื่อนไหวอันคึกคักของบริษัทร่วมทุนในกิจการปิโตรเคมีตั้งต้น กิจการทั้งหลายเข้าสู่สนามการแข่งขันเพื่อเขาร่วมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ (International bidding) เป็นเหตุการณ์ใหญ่มากของสังคมธุรกิจในช่วงปลายรัฐบาลเปรม (ปี 2529-2531) ผลที่ออกให้ภาพที่น่าสนใจ

หากไม่นับรวมผู้บุกเบิกธุรกิจปิโตรเคมีมาก่อนหน้า ยังได้ปรากฏโฉมหน้าของกลุ่มธุรกิจอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมไทยรวมวงด้วย โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ในยุค ชาตรี โสภณพนิช กับซีพี เข้าร่วมวงด้วยในฐานะผู้ร่วมทุนกับต่างชาติ ในช่วงเริ่มต้นการเรียนรู้ธุรกิจใหม่ บุตรชายคนสำคัญของเขาเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

แต่ความชัดเจนทั้งมวล ควรเพ่งมองไปที่เอสซีจี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีบทสรุปที่ชัดเจนมาก ธุรกิจเคมีภัณฑ์ซึ่งมีโครงสร้างธุรกิจเฉพาะหลายรูปแบบ ทั้งเอสซีจีมีสัดส่วนถือหุ้น 100% และบริษัทร่วมทุนกับผู้นำในอุตสาหกรรมระดับโลก อาทิ Mitsui Chemicals Mitsubishi Rayon แห่งประเทศญี่ปุ่น Dow Chemical แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีได้กลายเป็นธุรกิจที่มียอดขาย มากกว่าครึ่งของทั้งทั้งเครือ หลังจากก่อตั้งขึ้นมาเพียงไม่ถึง 2 ทศวรรษ อ่านเพิ่มเติมจาก ปตท. (5) ฐานความมั่งคั่งใหม่ มติชนสุดสัปดาห์ 16 พฤศจิกายน 2555

และแล้วผมได้นำเสนอบทสรุปที่สุ่มเสี่ยงประการหนึ่ง--ความอ่อนไหวของสังคมไทย ต่อกรณี ทักษิณ ชินวัตร มีความเชื่อมโยงโดยตรง จากกรณีการสะสมความมั่งคั่งจากกลุ่มชินคอร์ป รวมมาถึงกรณียุทธศาสตร์ปิโตรเคมีพลิกผัน โดย ปตท.อยู่ในศูนย์กลางของความผันแปร รายละเอียด อ่านจากเรื่อง ปตท. (8) ความอ่อนไหว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2555

เรื่องราวและจังหวะก้าวของ ปตท. จึงมักข้ามพรมแดนทางธุรกิจ เศรษฐกิจ สู่มิติทางสังคมและกาเมืองได้อย่างฅง่ายดาย

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ธ.ค. 28, 2012 9:51 am
โดย pak
กฟภ.ขู่เลิกโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จีนนำร่องผุดเตาเผาขยะเล็งรุกเออีซี
แหล่งข่าว : ไทยโพสต์ , วันที่ : 28/12/2012

กฟภ.เดินหน้ายกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์ หลังผลิตไม่ได้ตามสัญญา ระบุเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน พร้อมขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ไม่เกิน 1 ปี ด้านยักษ์ใหญ่จีนทุ่ม 900 ล้าน ผุดโรงไฟฟ้าขยะที่หนองแขม

นายนำชัย หล่อวัฒนตระ กูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ. จะควบคุมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้ไม่ให้เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสนอโครงการเพื่อขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ให้กับ กฟภ. ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และปัจจุบัน มีโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาซื้อจนและถูกยกเลิกโครงการไปแล้ว ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แต่ก็มีหลายสัญญาที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้วประมาณ 900 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,000 กว่าเมกะวัตต์ นั้น ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ ในส่วนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมที่จะลงทุน แต่ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่การเงิน หรือขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัยนั้น กฟภ.จะขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน และต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โครงการสุดท้ายภายในสิ้นปี 2558

ทั้งนี้ แผนการรับซื้อไฟฟ้า ขนาดเล็กของ กฟภ.ในส่วนของ พลังงานแสงอาทิตย์ จะรับซื้อใน สามส่วน คือ 1.ในส่วนของนักลง ทุนประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ 2.โครง การหนึ่งชุมชนหนึ่งพลังงาน อีกประมาณ 900 เมกะวัตต์ และ 3. ส่วนที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์จากบ้านที่อยู่อาศัย อีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมา มีการรับซื้อไปแล้วเฉพาะส่วนที่มาจากนักลงทุน โดยในส่วนของชุมชนและบ้านที่อยู่อาศัยนั้น ยังต้องรอนโยบายการส่งเสริมราคาค่าไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผู้ประกอบการ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามกำหนด ทั้งๆ ที่มีความพร้อมเรื่องของที่ดินและเงินลงทุนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนการขอใบอนุญาตจัด ตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาห กรรม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความล่าช้า จนผิดปกติ และยังมีข่าวลือเรื่องการยอมจ่ายเงินให้กับนักการเมืองเพื่อแลกกับใบอนุญาตติดตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้มอบนโย บายให้กับสำนักนโยบายและแผน พลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนา พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลัง งาน (พพ.) ไปทบทวนแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) หลังจากพบว่าการรับซื้อไฟจากเซลล์แสงอาทิตย์ต้องจ่ายส่วนต่างรับซื้อค่าไฟ แอดเดอร์ (ADDER) เฉลี่ย 6-8 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

"ที่ผ่านมามีผู้ยื่นขายไฟจำนวนมาก แต่กลับพบว่าบางรายไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นได้สั่งให้ สนพ.ไปดู หากพบรายใดเห็นว่าผลิตไม่ได้และครบกำหนดจ่ายแต่ยังไม่จ่ายไฟก็ให้ยกเลิกสัญญาทันที แต่ถ้าได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น จัดซื้ออุปกรณ์ ก็ให้ดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกระทรวงพลังงานนั้นจะรับซื้อไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ แต่หากสัญญาผูกพันและยกเลิกไม่ได้ก็ไม่ควรเกิน 3,000 เมกะวัตต์" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้าและการบำบัดน้ำเสีย รายใหญ่จากประเทศจีน เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ก.ค.2555 ได้เซ็นสัญญากับกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างโรงเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เงินลงทุนกว่า 900 ล้านบาท และสามารถเผาขยะได้ประมาณ 300-500 ตันต่อวัน หรือสูงสุดรับได้ 600 ตันต่อวันคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ในปี 2557

"การลงทุนในประเทศไทยถือว่าเป็นโครงการนำร่องเพื่อที่จะเจาะเข้าไปในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยนั้น ทางบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปประมูลเพื่อก่อสร้างเตาเผามูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้าในหลายจังหวัด โดยจะเน้นจังหวัดขนาดใหญ่" นายหนิง เหอ กล่าว.

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 01, 2013 8:37 am
โดย pak
ตลาดหุ้นปีมะโรงอู้ฟู่กว่า2.6แสนล. ปตท.สผ.ทำสถิติสูงสุดประวัติการณ์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 29 ธ.ค. 2555 เวลา 11:57:22 น.

น.ส.ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ยอดการระดมทุน ไม่รวมหลักทรัพย์ที่เข้าทำการซื้อขายครั้งแรก (ไอพีโอ) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 262,765 ล้านบาท สูงสุดรอบ 10 ปี โดยมี บจ.ระดมทุนทั้งหมด 154 บริษัท เป็น บจ.ใน ตลท. 119 บริษัท มูลค่ารวม 237,346 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 35 บริษัท มูลค่ารวม 10,808 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อีก 5 กองทุน มูลค่ารวม 14,611 ล้านบาท

"นอกจากการระดมทุนของ บจ. ที่มีมูลค่าสูงแล้ว ยังมีการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นรัฐวิสาหกิจรวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 127,660 ล้านบาท คิดเป็น 49% ของมูลค่าทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าตลาดทุนไทยมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นแหล่งเงินทุนให้รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" น.ส.ปวีณากล่าว

น.ส.ปวีณากล่าวว่า การระดมทุนที่สูงปีนี้สอดคล้องกับดัชนีของทั้ง 2 ตลาดที่เพิ่มขึ้นมากจากปี 2554 โดยพี/อีของ ตลท.ทั้งปีอยู่ที่ 15.88 เท่า ส่วนค่าพี/อีในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 19.36 เท่า ถือว่าอยู่ระดับที่ดีและสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงทำให้ บจ.ระดมทุนได้ราคาดี ไม่ต้องเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นจำนวนมาก

น.ส.ปวีณากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากดูยอดการระดมทุนแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มทรัพยากรมียอดระดมทุนสูงสุด 93,986 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการระดมทุนของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มูลค่าหรือมีมาร์เกตแคป 92,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกลุ่มธุรกิจการเงิน 56,229 ล้านบาท ส่วนการใช้เครื่องมือทางการเงิน ในปีนี้มี บจ. 87 บริษัท ที่ใช้เครื่องมือทางการเงิน โดยมีรายการทั้งหมด 116 รายการ เครื่องมือที่ บจ.ใช้มากที่สุดคือ การจ่ายปันผล มี 35 บริษัท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้พบว่า บจ.ที่จ่ายปันผลโดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีกระแสเงินสดจ่ายในการซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รายงานการระดมทุนรูปแบบต่างๆ 5 อันดับแรก ได้แก่ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนกับประชาชนทั่วไป มีบริษัทดำเนินการ 4 บริษัท มูลค่า 1.01 แสนล้านบาท การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม มีบริษัทดำเนินการทั้งหมด 32 บริษัท มูลค่ารวม 7.37 หมื่นล้านบาท การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด มีบริษัทดำเนินการ 25 บริษัท มูลค่า 6.15 หมื่นล้านบาท การแปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพ มีบริษัทดำเนินการ 4 บริษัท มูลค่า 8.90 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผล มีบริษัทดำเนินการ 35 บริษัท มูลค่า 8.90 พันล้านบาท ด้านมูลค่าการระดมทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมูลค่า 2.62 แสนล้านบาท แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร มูลค่า 9.38 หมื่นล้านบาท ธุรกิจการเงิน 5.62 หมื่นล้านบาท และเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 3.27 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี 2555 ว่าดัชนีปิดที่ 1,391.93 จุด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36% ที่ดัชนีปิดวันสุดท้ายของปี 2554 ที่ระดับ 1,025.32 จุด


ที่มานสพ.มติชน

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 01, 2013 8:39 am
โดย pak
จี้ศึกษาท่อน้ำมันเหนืออีสานใหม่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,805
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 2 มกราคม พ.ศ. 2555


"เฮียเพ้ง"ไม่ง้อแทปไลน์ เดินหน้าศึกษาแนวท่อส่งน้ำมันไปเหนือ-อีสานใหม่ หลังเจรจาร่วมลงทุนไม่ได้ข้อยุติ ลากท่อน้ำมันจากมาบตาพุดกว่า 1 พันกม.แทนเชื่อมต่อที่สระบุรี คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่แทปไลน์ชี้หากเกิดได้จริงกระทบผลดำเนินงานปริมาณน้ำมันเข้าท่อหายแน่

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจว่า จากการที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะทำโครงการก่อสร้างท่อน้ำมันจากสระบุรี-พิษณุโลก-ลำปาง และท่อส่งน้ำมันจากสระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด ทำการศึกษาและแล้วเสร็จรายงานให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบนั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานได้พยายามเจรจากับบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด หรือแทปไลน์ ในการขอเชื่อมท่อจากสระบุรี โดยให้แทปไลน์เป็นผู้ลงทุนเองหรือร่วมลงทุนกับภาครัฐ แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากมองว่าการลงทุนมีผลตอบแทนที่ต่ำ ประกอบกับทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พยายามที่จะเจรจาขอซื้อหุ้นจากบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เป็นผู้ถือหุ้นแทปไลน์ เพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นในระดับ 50-60 % จากปัจจุบันบมจ.ปตท.ถือหุ้นอยู่ประมาณ 30 % และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) อีก 10 % หากสามารถมีหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 60 % ได้ จะช่วยให้บมจ.ปตท.มีความคล่องตัวในการบริหารงานและมีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนขยายแนวท่อออกไปได้ แต่การเจรจาดังกล่าวไม่ได้รับความร่วมมือ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รมว.พลังงาน พยายามที่จะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมองเป็นผลประโยชน์ประเทศชาติ และทำให้ประชาชนมีโอกาสใช้น้ำมันในราคาเดียวทั่วประเทศได้ จึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ไปว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาแนวทางการวางท่อส่งน้ำมันใหม่อีกครั้ง โดยจะก่อสร้างท่อน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันที่มาบตาพุดไปยังภาคเหนือและภาคอีสานเส้นใหม่ ไม่ต้องไปเชื่อมต่อท่อน้ำมันของแทปไลน์ที่สระบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2556 โดยท่อน้ำมันความยาวรวมประมาณ 1 พันกิโลเมตร โดยจะลดความยาวท่อของเส้นภาคเหนือลงมาอยู่ที่พิษณุโลกแทน

"แนวท่อน้ำมันใหม่นี้เป็นทางเลือกกรณีที่แทปไลน์ไม่ต้องการเป็นผู้ลงทุนส่วนขยายท่อส่งน้ำมัน ซึ่งรูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นมา หรือเป็น ปตท. ลงทุนก็ได้ ส่วนเงินลงทุนอาจมาจากภาครัฐเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด หรือมาจากการจัดตั้งกองทุนพื้นฐานก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2556 ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยท่อเส้นใหม่นี้ จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายสามารถใช้ได้ ต่างจากท่อส่งน้ำมันของแทปไลน์ที่มีเพียงผู้ถือหุ้นสามารถใช้ได้เท่านั้น"

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การศึกษาท่อส่งน้ำมันเส้นใหม่ดังกล่าว ก็มีข้อเสีย เนื่องจากส่วนที่ขนานกับท่อของแทปไลน์จะเป็นท่อส่วนเกินในระบบ ต้องแย่งปริมาณน้ำมันกัน ทำให้สูญเสียเม็ดเงินลงทุนแต่อาจใช้ประโยชน์จากท่อได้ไม่เต็มที่ และกว่าจะรอให้ใช้งานท่อได้เต็มที่คงต้องใช้เวลาหลายปี

นายยอดพงษ์ สุตธรรม กรรมการและผู้จัดการการตลาดขายปลีก บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าโครงการท่อส่งน้ำมันมีประโยชน์กับประเทศ แต่ในฐานะที่เอสโซ่เป็น 1 ในผู้ถือหุ้นแทปไลน์ (ปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้นในแทปไลน์ 20.66%) การลงทุนของภาคเอกชนจำเป็นต้องพิจารณาจุดคุ้มทุนด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่าการศึกษาโครงการท่อส่งน้ำมันของกระทรวงพลังงานมีผลตอบแทนการลงทุนต่ำเกินไป

แหล่งข่าวจากบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัดหรือ แทปไลน์ กล่าวว่า หากท่อส่งน้ำมันเส้นใหม่เกิดขึ้นได้ จะกระทบกับการดำเนินงานของแทปไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากต่อท่อเพื่อรับน้ำมันจากโรงกลั่นไปเส้นเหนือและอีสาน ปริมาณน้ำมันจากท่อของแทปไลน์ก็อาจลดลง แต่เชื่อว่าผู้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ก็ล้วนแต่เป็นผู้ถือหุ้นในแทปไลน์ทั้งสิ้น ก็จะยังใช้บริการท่อของแทปไลน์เช่นเดิม ยกเว้นแต่ภาครัฐจะนำเงินจากกองทุนมาอุดหนุนค่าผ่านท่อให้ถูกลง ก็อาจมีผู้ประกอบการสนใจ จนแทปไลน์ไม่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องศึกษาอย่างละเอียดว่าหากมีโครงการท่อน้ำมันเส้นใหม่เกิดขึ้น จะมีปริมาณน้ำมันที่ใช้บริการในท่อได้อย่างไร หรือมากน้อยเพียงใด เพราะหากมีปริมาณน้อยก็คงไม่คุ้มค่า นอกจากนี้มองว่าการที่กระทรวงพลังงานมีเงินก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเส้นใหม่ ก็ควรที่จะสนับสนุนแทปไลน์ ด้วยการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้จูงใจ เพราะสาเหตุที่แทปไลน์ยังไม่ตัดสินใจลงทุนดังกล่าว เพราะเห็นว่าผลตอบแทนลงทุนยังต่ำเกินไป

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 02, 2013 11:00 am
โดย pak
8 ภารกิจรอ 'เพ้ง' จัดการLPG/NGV ดาหน้าขึ้นราคาปี 2556
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th), Saturday, December 29, 2012

แม้เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือนเศษ แต่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 3 ในรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีภาระงานที่ต้องเร่งสะสางหลังเปิดศักราชใหม่ปี 2556 อยู่อีกเพียบ

โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งสะสางมีอยู่ด้วยกัน 8 เรื่องสำคัญ ได้แก่

เรื่องแรกการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ให้สะท้อนต่อราคาต้นทุนที่แท้จริง โดยหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา กระทรวงพลังงานตั้งเป้าปรับราคาภาคขนส่งและภาคครัวเรือนให้เท่ากันที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาภาคครัวเรือนอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และราคาภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม โดยภาคครัวเรือนจะปรับเพิ่มอีกประมาณ 6 บาทต่อกิโลกรัม ทยอยปรับเพิ่มเดือนละ 50 สตางค์ ส่วนภาคขนส่งจะปรับขึ้นอีกประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันว่า การปรับขึ้นราคาจะไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเด็ดขาด โดยได้ให้ความช่วยเหลือในส่วนภาคครัวเรือนแก่กลุ่ม ผู้ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จำนวน 8.3 ล้านครัวเรือน รวมครัวเรือนที่ไม่มีไฟใช้ รับความช่วยเหลือในการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือนละ 6 กิโลกรัมต่อเดือน ส่วนจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไรยังต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง แต่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาคครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยยังจ่ายค่าก๊าซหุงต้มเท่าเดิม

ส่วนร้านหาบเร่แผงลอย ซึ่งได้รับการอุดหนุน 150 กิโลกรัมต่อร้าน กระทรวงพลังงานได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้วงเงิน 50 ล้านบาทจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจัดทำฐานข้อมูลร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารทั่วประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงทำข้อมูลแล้วเสร็จ จึงจะออกบัตรเครดิตพลังงานให้ก่อนดำเนินการปรับขึ้นราคา เบื้องต้นคาดว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 5 แสนรายที่ตกสำรวจ นอกเหนือจากร้านค้าในโครงการอาหารสะอาดของกระทรวงสาธารณสุข

รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางบรรเทาผลกระทบ หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน

2.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์ โดยรายงานจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุราคาปรับขึ้นที่ 13.28 บาทต่อกิโลกรัม รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานตั้งเงื่อนไขการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีตามข้อเสนอของกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ ที่ต้องการให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดตั้งสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้ครอบคลุมอย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานี โดยสั่งการให้ ปตท.จัดทำแผนลงทุนขยายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งแผนนี้ ปตท.จะลงทุนเองหรือให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ หาก ปตท.มีแผนขยายสถานีอย่างจริงจังแล้วจะดำเนินการปรับราคาจำหน่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแผนดังกล่าว ปตท.จะต้องแบกรับภาระการขาดทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

3.แผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน ซึ่งความเป็นไปได้ของโครงการยังอยู่ห่างไกลพอสมควร จากเดิมที่ได้สั่งการให้ภาคเอกชนเพิ่มการสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% แต่ส่วนใหญ่ยังติดปัญหาถังเก็บน้ำมันมีไม่เพียงพอ และมีค่าใช้จ่ายที่จะเข้ามาเป็นต้นทุนในอนาคต รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่ไม่รองรับแผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และหากจะมีการจัดทำใหม่ใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ศักดิ์ได้มอบหมายให้ สนพ.รื้อแผนโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ ในส่วนของการวางท่อส่งน้ำมันมาศึกษาใหม่ ซึ่งมองว่าหากสามารถวางท่อส่งน้ำมันมายังอ่าวไทยได้ จะช่วยสนับสนุนแผนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศให้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากสามารถสนับสนุนให้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกาเข้ามาลงทุนสร้างถังเก็บน้ำมัน และตั้งศูนย์จำหน่ายในประเทศไทยได้ โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการศึกษาของ สนพ.

4.การยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งจะทำให้เหลือน้ำมันเบนซินชนิดเดียว คือ น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมัน

แก๊สโซฮอล์ โดยเป้าหมายหลักของ

กระทรวงพลังงานต้องการส่งเสริมให้ภาคประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) คาดว่า การยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 จะทำให้
ประชาชนที่ใช้น้ำมันในกลุ่มนี้ ซึ่งมีปริมาณการใช้ประมาณ 8 ล้านลิตรต่อวัน จะหันไปใช้น้ำมันเบนซิน95 ประมาณ 17-25% ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้นจาก 1 แสนลิตรต่อวัน เป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน
ประกอบกับการที่สถานีบริการน้ำมันทุกแบรนด์ยกเว้นบางจากจะนำน้ำมันเบนซิน 95 มาจำหน่ายมากขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดลงอีกประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจทำให้มีการแห่มาใช้น้ำมันเบนซิน 95 แทนที่จะเป็นน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ คงต้องมาจับตาดูว่ากระทรวงพลังงานจะมีนโยบายอย่างไรจูงใจให้เกิดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

5.การรักษาสถานะกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบอยู่ราว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันฯมีสถานะติดลบหลักหมื่นล้าน มาจากการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินอุดหนุนแอลพีจีแล้วกว่า 1.09 แสนล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงตั้งความหวังไว้กับการลอยตัวราคาก๊าซ แอลพีจีให้เกิดขึ้นได้จริงในปี 2556 นี้ เพราะอย่างน้อยจะช่วยลดภาระการอุดหนุนลงได้ไม่มากกว่าน้อย

ขณะเดียวกัน รายได้หลักของกองทุนน้ำมันฯมาจากการเก็บเงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งหลังจากไทยยกเลิกการจำหน่วยน้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 จะทำให้รายได้เงินกองทุนน้ำมันฯหายไปวันละ 53 ล้านบาท จึงทำให้ไม่มีรายได้เข้ากองทุนน้ำมันฯ คงต้องติดตามนโยบายของกระทรวงพลังงานจะมีแนวทางในการหารายได้เข้ากองทุนน้ำมันฯ หลังมาตรการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล์ผ่านการอุดหนุนราคา โดยมีความหวังว่าสถานะกองทุนน้ำมันฯจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

6.การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan หรือ PDP) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2013 โดยนายพงษ์ศักดิ์แสดงความกังวลการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงอาจต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม คือ ประเทศพม่า และ สปป.ลาว ที่ยังสามารถจัดหาไฟฟ้ามายังไทยได้อีกรวม 2 หมื่นเมกะวัตต์

นายพงษ์ศักดิ์ยังไม่ฟันธงว่าจะซื้อไฟเพิ่มจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวน 2 หมื่นเมกะวัตต์จริงหรือไม่ เนื่องจากใน ปี 2556 นี้ จะมีการจัดทำแผนพีดีพี ฉบับใหม่ (พีดีพี 2013) โดยจะตัดสินใจรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คงต้องรอการจัดทำแผนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน

7.การเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่ม ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer หรือ IPP) ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ก่อนจะได้ฤกษ์เปิดขายซองประมูลไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาดูต่อไปว่าการเปิดไอพีพีครั้งนี้จะดำเนินต่อไปจนครบถ้วนกระบวนความหรือไม่

เพราะมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดเชื้อเพลิงในการประมูลครั้งนี้เป็นก๊าซธรรมชาติ 100% อาจทำให้ภาคเอกชนบางรายที่ไม่มีความพร้อมด้าน เชื้อเพลิงถอนตัวออกไป จนเกิดช่องว่างให้มีการนำเอาเชื้อเพลิงถ่านหินมาอยู่ในแผนพีดีพีที่จะมีการปรับปรุงใหม่นี้

และเรื่องสุดท้าย 8.มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยการให้อัตราสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง (Feed in tariff) ล่าสุด ผลการศึกษาที่ สนพ.ทำร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคาะราคาฟีดอินทาริฟที่ 5.12 บาทต่อหน่วย คิดจากอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Internal rate of return-IRR) ที่ 12%

ราคาที่ออกมาดูเหมือนจะไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชนนัก โดยส่วนใหญ่มองว่าตัวเลขที่ออกมาเป็นค่าที่ต่ำเกินไป อีกทั้งการคำนวณไม่ควรมาจากสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้คลุกคลีหรือทำธุรกิจในแวดวงโซลาร์เซลล์ จึงไม่เข้าใจภาพรวมของธุรกิจอย่างถ่องแท้ ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังว่าจะได้รับค่าฟีดอินทาริฟที่ 6.50 บาท จึงจะจูงใจให้เกิดการลงทุน

คงต้องส่งแรงเชียร์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนนี้แล้ว เพราะภารกิจที่รอการสะสางดูจะเป็นงานหินไม่น้อยเลยทีเดียว


ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ธ.ค. 2555 - 2 ม.ค. 2556--

Re: รวมข่าว "การลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี"

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 02, 2013 11:03 am
โดย pak
ปตท.คาดการใช้น้ำมันช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์- ปีหน้าราคาน้ำมันสูงขึ้น
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th), Sunday, December 30, 2012


บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)มั่นใจ การใช้น้ำมันช่วงปีใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 ส่วนปีหน้าราคาน้ำมันตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 โดยราคาจะเคลื่อนไหวประมาณ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)กล่าวถึงการใช้น้ำมันช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า จากภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยวในต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นผลให้การใช้น้ำมันช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 จากช่วงเวลาปกติ เมื่อเฉลี่ยการเติบโตราคาน้ำมันของประเทศปีหน้า จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 สาเหตุหนึ่งมาจากมาตรการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล เป็นผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น และมาตรการนโยบายรถคันแรกกว่า 100,000 คัน โดยเฉพาะการใช้น้ำมันดีเซลยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลยังคงตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนการเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลาดโลกปีหน้า จะอยู่ในกรอบแคบๆ เพราะได้การผลิตน้ำมันเพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกา หลังพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันใหม่ ประกอบกับ เศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร คาดราคาน้ำมันดิบโลกจะทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ ประมาณ 100-110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล