เอามาฝากครับไม่รู้เคยอ่านกันหรือยัง
ที่มา:
http://achikochi1234.blogspot.com/2011/09/72-1.html
กฎของ 72 คุณไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 ก็ได้
วันนี้ผมมานั่งคิดๆ ดูถึงกฎ 72 กฎข้อนี้บอกว่า ถ้าเราเอาเงินก้อนหนึ่งไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเป็น x% ต่อปีทบต้น เราจะใช้เวลาทั้งหมดเท่ากับ 72/x ปี ในการที่จะทำให้เงินที่เราลงไปนั้นโตเป็นสองเท่า เช่น
ถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยทบต้น 2% ต่อปี (ประมาณจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำตอนนี้) เงินทุนเราจะเป็นสองเท่าก็หลังจากที่เวลาผ่านไปเท่ากับ 72/2 = 36 ปี
แต่สมมติเราเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย 6% ต่อปี เงินลงทุนของเราจะเป็นสองเท่าเมื่อเวลาผ่านไปเท่ากับ 72/6 = 12 ปี
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าแค่เราเพิ่มผลตอบแทนให้ได้จาก 2% เป็น 6% (หรือเพิ่มขึ้น 4%) ต่อปี เราก็สามารถย่นระยะเวลาในการทำให้เงินลงทุนโตขึ้นสองเท่าได้ถึง 24 ปี (36 – 12 = 24 ปี) ซึ่งถ้าคิดว่าคนเราแก่ตายที่อายุสัก 72 ปี เวลา 24 ปีที่ได้มานั้นมันเท่ากับช่วงเวลา 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว
กฎนี้ไม่ธรรมดาแฮะ... ผมจึงลองพล็อตกราฟ y = 72/x เมื่อ y เป็นจำนวนปีที่ใช้ในการทำให้เงินลงทุนโตเป็นสองเท่า และ x เป็นเปอร์เซ็นต์ของอัตราผลตอบแทนทบต้นที่เราทำได้ มาลองดูกัน
(หลายคนอาจสงสัยว่ากฎ 72 นี้ใช้คำนวณได้แม่นยำจริงๆ หรือเปล่า ใช่ครับ กฎ 72 นื้เป็นเพียงการประมาณค่า ใช้เพื่อความสะดวกในการคำนวณให้ง่ายขึ้น แต่เมื่อผมลองตรวจสอบดูด้วยการพร็อตกราฟของ y = (log(2)) / (log(1+x/100)) ซึ่งเป็นสูตรที่แท้จริงของการคำนวณ (ไม่ขออธิบายรายละเอียดนะครับ) ก็ปรากฎว่ากราฟทั้งสองนั้นใกล้เคียงกันมากจนเราสามารถใช้แทนกันได้)
จากกราฟเส้นสีน้ำเงินจะเห็นว่ายิ่งตัวเปอร์เซ็นต์ของอัตราผลตอบแทนทบต้น (แกนนอน) มากขึ้นเท่าไหร่ ระยะเวลาที่ใช้เพื่อทำให้เงินลงทุนเป็นสองเท่า (แกนตั้ง) ก็จะลดน้อยลงเท่านั้น คือยิ่งเปอร์เซ็นต์เยอะก็ยิ่งเร่งผลตอบแทนได้เร็วขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว แต่เมื่อสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าเส้นกราฟนี้มันตกดิ่งลงมาอย่างรุนแรงเฉพาะในช่วงแรก แต่ในตอนท้ายๆ มันจะตกลงในอัตราที่ช้าลงเรื่อยๆ จนแถวๆ ที่อัตราผลตอบแทนประมาณ 20-30% เส้นกราฟนี้ก็เกือบจะเป็นแนวนอนอยู่แล้ว
ทีนี้มาลองดูเส้นประสีแดงกับเจ้าแท่งสีชมพูกันบ้าง (ดูกราฟไปด้วยนะครับ) ตัวเลขที่เขียนในแท่งสีชมพูนั้นหมายถึงจำนวนปีที่เราสามารถเร่งผลตอบแทนในการทำให้เงินเราโตเป็นสองเท่าได้ในแต่ละช่วงของเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทน โดยเริ่มจากที่อัตราผลตอบแทน 2% เพิ่มไปทุกๆ 4% เป็นที่ 6%, 10%, 14%, 18%, และ 22% ซึ่งสรุปได้ดังนี้ครับ
เมื่อเราเพิ่มอัตราผลตอบแทนจาก 2% ไปเป็น 6% เราสามารถลดเวลาในการทำเงินเป็นสองเท่าได้ 24 ปี
จาก 6% ไป 10% ลดได้ 5 ปี
จาก 10% ไป 14% ลดได้ 2 ปี
จาก 14% ไป 18% ลดได้ 1 ปี
และสุดท้ายจาก 18% ไป 22% ลดได้ 0.7 ปี
ถามว่าทำไมถึงหยุดที่ 22% ครับ ก็เพราะว่าค่านี้เป็นสถิติโลกนั่นเอง ซึ่งคนที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นได้ขนาดนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett – นักลงทุนในหุ้นคุณค่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในครึ่งแรกของปี 2008 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์) นั่นเอง
ทีนี้มันหมายความว่ายังไง ? มันแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มอัตราผลตอบแทนในช่วงเปอร์เซ็นต์ต่ำๆ (ที่เราสามารถทำได้ง่าย) จะเร่งผลตอบแทนหรือลดระยะเวลาได้มาก ในขณะที่การฝืนเพิ่มอัตราผลตอบแทนในช่วงเปอร์เซ็นต์สูงๆ (ซึ่งเราทำได้ยาก) จะไม่ค่อยมีผลต่อการเร่งผลตอบแทนในรูปของการลดระยะเวลาได้อีกสักเท่าไหร่
ยกตัวอย่างนะครับ คนที่เคยฝากประจำอย่างเดียวที่เคยได้ 2% อยู่แล้วสามารถทำให้ผลตอบแทนตัวเองเพิ่มเป็น 6% ได้ไม่ยากและไม่เสี่ยงมาก เช่นเอาไปซื้อทอง ซื้อหุ้นกู้ แล้วทำให้ลดเวลาในการเร่งผลตอบแทนได้ถึง 24 ปี ในขณะที่คนที่เคยเล่นหุ้นได้อยู่ 18% ต่อปี จะเป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงขึ้นอย่างมากถ้าเขาพยายามจะทำให้มันเป็น 22% เพียงเพื่อที่จะเร่งผลตอบแทนให้เร็วขึ้นได้อีกแค่ 0.7 ปี
สังเกตตัวเลข 24 ปี (2% ไป 6%), 5 ปี (6% ไป 10%), 2 ปี (10% ไป 14%), 1 ปี (14% ไป 18%), และ 0.7 ปี (18% ไป 22%) สมมติเราพอใจตัดเอาที่ 10% ต่อปี จะเห็นว่าเราสามารถลดเวลาที่เงินเราจะโตเป็นสองเท่าได้ (มากกว่าการฝากประจำเฉยๆ ที่ 2%) เท่ากับ 24 + 5 = 29 ปี ในขณะที่ถ้าเราจะเอาให้เท่าสถิติโลกหรือที่ 22% เราจะลดเวลาได้เท่ากับ 24 + 5 + 2 + 1 + 0.7 = 32.7 ปี ซึ่ง 32.7 ปี กับ 29 ปี นั้นต่างกันไม่ถึง 4 ปี หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว เราก็ห่างจากสถิติโลกแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
ผมถึงบางอ้อก็ตรงนี้ครับ เมื่อก่อนเคยคิดว่าการเล่นหุ้นทำไม่เราไม่ตั้งไว้สัก 40-50% ต่อปี นั่นบ้าไปแล้วครับ มันเหมือนกับการที่เราไปท้า ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt – เจ้าของสถิติโลกวิ่ง 100 เมตร ที่ 9.58 วินาที) ให้มาวิ่งแข่งกับเรา แล้วบอกเขาว่า “โบลต์... ผมว่าผมวิ่งเร็วกว่าคุณ 5 วิ ไม่เชื่อมาพนันกันมั้ย!”
ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “แรงที่มีกำลังมากที่สุดในโลก คือ ดอกเบี้ยทบต้น” (Compound interest is the most powerful force on Earth.) คำกล่าวนี้เป็นความจริงไม่เกินเลย แต่มันก็แฝงไปด้วยหลักธรรม...
ตัวเลข 2% ของการไม่ทำอะไรนอกจากการฝากเงินไว้เฉยๆ กับตัวเลข 22% ของนักลงทุนอันดับหนึ่งของโลกนั้น ค่าตรงกลางของมันก็อยู่แถวๆ 10% กว่าๆ นี่เอง ซึ่งการที่เราพอใจที่ 10% นั้นแม้ว่าเราจะแพ้ที่หนึ่งอยู่ 4 ปี แต่มันก็ทำให้เราชนะที่สุดท้ายได้ถึง 29 ปี คนที่ยังได้ 2% อยู่จึงควรพยายามทำให้ได้ 10% (หรือสัก 6% ก่อนก็ยังดี) ส่วนคนที่ได้เกิน 10% ไปแล้ว แค่รักษาผลตอบแทนขนาดนั้นเอาไว้อย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าเยี่ยมยอดแล้ว การพยายามวิ่งไล่ 22% นอกจากจะเป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาอาจไม่คุ้มค่าแรงนัก
หลักธรรมที่ว่านั้นคืออะไรครับ... ใช่แล้ว! มันคือ “ทางสายกลาง” นั่นเอง ระหว่างการที่เราไม่ทำอะไรเลยกับการที่เราดิ้นรนมันเต็มที่ ของที่ดีและเหมาะสมที่สุดกลับมาอยู่ตรงกลาง ข้อคิดนี้ทำให้ผมรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องวิ่งให้เร็วเท่า ยูเซน โบลต์ ก็ได้ เพราะตราบใดที่เราตื่นเช้าสักหน่อย เราก็ไปทำงานทัน (อิอิ...เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย) กฎของ 72 บอกผมอยู่อย่างหนึ่งว่า “ในชีวิตจริงคุณไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 ก็ได้”
ต้องขอขอบคุณเจ้าของบล็อกด้วยครับ
ในช่วงการลงทุนแรกๆ คงต้องพยายามรักษาเงินต้น และพยายามให้ทำได้ผลตอบแทนระดับปีละ10%(ลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม)นี้ไปก่อน พอมีความรู้ตามที่พี่ลูกอีสานแนะนำไว้ ก็เริ่มแบ่งเงินในพอร์ตที่ทำได้ระดับปีละ10%นี้ ไปลงทุนแบบที่พี่ลูกอีสานแนะนำ(ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าลงทุนแบบไหนดี งั้นเรียก แบบตีแตกนิยม แล้วกันครับ) ลองก่อนสัก10%ของพอร์ตทั้งหมด เมื่อเริ่มเก่งขึ้นทำผลตอบแทนได้ดีขึ้นค่อยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้นเรื่อย โดยส่วนตัวก็ยังคงรักษาการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมไว้อยู่ สัก20%ของพอร์ต แต่ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน
สมมุติว่าเราลงทุนด้วยเงิน 150,000บาททำผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ ปีละ10%เป็นเวลา50ปี เงินจะกลายเป็น19,000,000บาทเลยทีเดียว แบบเงินก้อนแรกไม่ได้เติมเงินเข้าไปอีกเลยนะครับ อย่างบางบริษัทนี่ปันผลก็ปีละ7-8%แล้วขอราคาหุ้นเพิ่มแค่ปีละ3-5%ต่อปี ก็ได้ปีละ10%แล้วนะครับ ลงทุนเอาไว้ให้ลูกหลานเลย แต่ลูกหลานเราไม่ได้เริ่มต้นที่ 150,000แบบเรา เขาเริ่มต้นด้วยหลักหลายล้านน่าจะไปได้สวยกว่ารุ่นเรา ^^