2 สัปดาห์ ! ชี้ชะตาวิกฤตยูโรโซน..“เอาไม่อยู่..มีสิทธิ์ฉุด 5 ประเทศยุโรปล่มตาม !!
ความร้อนแรงหลังการเลือกตั้งในประเทศกรีซ ดูเหมือนจะทำสร้างความกังวลให้หลายภาคส่วน ถึงการลุกลามของวิกฤตยูโรโซนในวงกว้างทั่วภูมิภาคยุโรป และลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบมาถึงประเทศไทย
เนื่องเพราะทุกคนไม่มั่นใจว่า รัฐบาลใหม่จะสามารถเดินหน้าเจรจาเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น และผ่อนปรนกับกลุ่มเจ้าหนี้ หรือทรอยกา(Troika) ที่ประกอบด้วย 3 องค์กรหลัก ได้แก่ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commision: EC) , ธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank: ECB), และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้สำเร็จภายใน 2 สัปดาห์
สังเกตได้จากความเคลื่อนไหวตั้งแต่การเรียกประชุมทีมเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมการตั้งคณะทำงานขึ้นมาจับตาความเคลื่อนไหว เพื่อตั้งรับ
และยิ่งตอกย้ำมากขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้จัดประชุมนัดพิเศษระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ขึ้นเป็นครั้งแรก
เป้าหมายเพื่อผนึกกำลังในการช่วยกันกำหนดนโยบาย และความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ติดตาม และประเมินความเสี่ยงสำคัญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ยืดเยื้อ และในระยะสั้นอาจสร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนของไทย สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศอาจตึงตัว ในระยะยาวเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
@ หาก 2 สัปดาห์กรีซเจรจาทรอยกาล่ม มีสิทธิ์ดึงโปรตุเกส-ไอร์แลนด์-สเปน-อิตาลีร่วง
ในช่วงกลางสัปดาห์ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้นำทีมเศรษฐกิจชุดใหญ่มาประเมิน และวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตยูโรโซนที่เกิดขึ้น นำทีมโดยนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค หนึ่งในทีมผู้บริหารของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงวิกฤตยูโรโซนหลังการเรียกตั้งของกรีซว่า มี 3 ปัจจัยที่เป็นตัวแปรที่จะส่งผลกระทบต่อการลุกลามของวิกฤตในยุโรป
กรณีที่ 1 ทางรัฐบาลใหม่ที่มีพรรค New Democracy เป็นแกนนำจะต้องเร่งเจรจาให้กลุ่มทรอยกา(Troika) ยืดหยุ่น และผ่อนปรนเรื่องนโยบายรัดเข็มขัด เนื่องจากประชาชนไม่ต้องการ แต่ขณะเดียกวันประชาชนของกรีซยังต้องการอยู่ในยูโรโซน
กรณีที่ 2หากการเจรจาระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซกับกลุ่มทรอยกาล้มเหลว ล่าช้าไม่สำเร็จภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 กรีซจะขาดสภาพคล่องช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2555 และมีแผนต้องใช้เงิน 10,000 ล้านยูโร กรีซอาจผิดนัดชำระหนี้บางส่วน
ถึงตอนนั้นกรีซคงถูกบีบให้ออกจากยูโรโซน เพราะทางการยุโรปต้องตีวงสกัดไม่ให้วิกฤตลุกลาม เพื่อจำกัดความสูญเสีย เช่น การเพิ่มทุนให้สถาบันการเงงิน เพิ่มการค้ำประกันเงินฝาก จำกัดการถอนเงิน และควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่ ECB ต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น
ขณะนี้เดียวกันกรีซต้องสร้างระบบการเงิน ระบบการชำระเงิน และสกุลเงินใหม่ แต่ความไม่เชื่อมั่นต่อสกุลเงินใหม่ จะยังคงทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบสถาบันการเงิน และสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของกรีซ
กรณีที่ 3 หากทางการยุโรปไม่สามารถจำกัดวงความสูญเสีย จะเกิดเป็นวังวน จะลุกลามบานปลาย เป็นแรงผลักดันให้ประเทศ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี ต้องออกจากยูโรโซนไปด้วย ถ้าถึงตอนนี้ทางการยุโรปคงไม่มีการเงินมากจะครอบคลุมการจ่ายหนี้ให้สเปน และอิตาลีด้วย
ระบบการเงินและเศรษฐกิจของยุโรป จะเผชิญความปั่นป่วนอย่างหนัก และอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง เงินยูโรโซนอาจจะร่วงลงอย่างหนัก ความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"ตอนนี้หวังว่า ถ้ากรณีที่ 1 เจรจาได้ จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ทุกคนไม่อยากเห็นว่า รัฐบาลที่เพิ่งเลือกตั้งเข้ามาไร้เสถียรภาพอีกรอบ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าคงจะเห็นกรีซประกาศนโยบายว่า กลุ่มทรอยกาผ่อนปรอนเงื่อนไขอะไรให้ และกรีซจะวางแผนระยะยาวให้ประเทศอย่างไร"
@ วิกฤตส่อเค้าบานปลาย เหตุ ECB ทำงานได้จำกัด 17 ประเทศไร้เอกภาพ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤตในกรีซยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึง 3 ปี ทั้งที่ทุกคนทราบดีว่า กรีซควรจะจบทางไหน ทุกคนทราบว่า วิกฤตยูโรโซนมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน แต่ไม่สามารถหาทางออกได้ เพราะยูโรโซน 17 ประเทศ ทุกประเทศต่างมีรัฐบาลของตัวเอง ต่างคนมีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง
เช่น รัฐบาลเยอรมันจะมีการเลือกตั้งปีหน้า จะบอกประชาชนอย่างไรว่า จะนำเงินของประเทศไปช่วยกรีซ สะท้อนให้เห็นภาพว่า ภาวะการแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกฉันท์ และเป็นเอกภาพภายในใน 17 ประเทศเกิดขึ้นได้ยากยืน จากการ “ยืนกันคนละจุด”
รวมถึงบทบาทของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ยังทำอะไรได้ค่อนข้างจำกัด จะลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยกรีซก็ทำไม่ได้ เพราะ ECB ไม่ได้ทำนโยบายการเงิน เพื่อช่วยกรีซประเทศเดียว ขณะที่ด้านการคลังยังไม่มี ความเป็นเอกภาพของการแก้ปัญหายังไม่มีในการแก้วิกฤต
การกำหนดให้แต่ละประเทศที่จะเข้ามาอยู่ในยูโรโซนกำหนดว่า ประเทศนั้นต้องขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% และมีอัตราเงินเฟ้อไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่การออกจากยูโรโซนไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศที่มีการขาดดุลการคลังมากควรจะออกจากยูโรโซนอย่างไร
ยูโรโซนเป็นตัวแปรหนึ่งที่สงผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีจุดเปราะบางเกิดขึ้นหลายจุด ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องพิจารณาเรื่องการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบในการประชุมสัปดาห์นี้
ขณะที่เศรษฐกิจจีนต้องหันมาผ่อนปรนนโยบายมากขึ้น เพราะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก มีผลกระทบต่อประเทศจีนและเอเซียชะลอตัวตามแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความกังวลต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านยังไม่หมดไป และอาจเป็นจุดพลิกผัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในช่วงครึ่งหลังของปี 2555
@จับตา “เอาไม่อยู่”....กระทบเศรษฐกิจไทยดิ่ง !!
ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงผลกระทบของวิกฤตยูโรโซนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยว่า ยูโรโซนถือเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหาในยูโรโซน
แต่หากปัญหาของยูโรโซนสามารถจำกัดขอบเขตได้ ผลต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่รุนแรงมาก แต่ว่า ถ้าวิกฤตยูโรโซนเชื้อแพร่กระจายไปทุกภูมิภาคของโลกเหมือน เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบอาจฉุดเศรษฐกิจไทยให้ทรุดตัวลงรุนแรงได้เช่นกัน
สำหรับในปีนี้ท่ามกลางความเสี่ยงของวิกฤตหนี้ยูโรโซน เศรษฐกิจไทยถือว่าโชคดีในภาวะที่หลาย ๆ ประเทศ กำลังชะลอตัวลง แต่ว่าเศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนอกจากวิกฤตยูโรโซนแล้ว ปัญหาของราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ไทยเองยังสามารถส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งหลายประเทศมีการขยายตัว โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว ช่วงครึ่งปีแรกมีการขยายตัว 40-50%
ทำให้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2555 ไว้ที่ 5% แต่ตัวที่จะมีการปรับเปลี่ยนคือ ตัวของเงินเฟ้อที่มีแรงกดดันที่ผ่อนคลายลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% ลดลงมาที่ 3.5%
หากวิเคราะห์ผลกระทบของยูโรโซนในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคถือว่า อยู่ในระดับปานกลาง ถ้าดูผลสุทธิต่อจีดีพี ประเทศที่เสี่ยงสูง ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา
สำหรับตัวเลขการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดยุโรปโดยหดตัวลงประมาณ 15.4% ทำให้คาดว่าทั้งปีการส่งออกไปตลาดยุโรปจะติดลบประมาณ -5% ภาพรวมการส่งออกทั้งประเทศคาดว่าจะเติบโตที่ 10%
หากดูในเรื่องการท่องเที่ยวประเทศไทยค่อนข้างเสี่ยง ไทยมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาเที่ยวค่อนข้างมากเมื่อเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ในช่วง 4 เดือนด้าน
การท่องเที่ยวไม่ได้ส่งผลกระทบที่ชัดเจน แต่ในด้านการลงทุนประเทศไทยพึ่งเงินลงทุนจากยุโรปค่อนข้างน้อย
ส่วนผลกระทบในทางอ้อม ปัจจัยสำคัญมาจากประเทศคู่ค้าที่ทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ธนาคารในยุโรปถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลง และเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องก็จะมีผลต่อธนาคารในยุโรปที่จะให้เครดิตสินเชื่อการค้าแก่ประเทศคู่ค้าของไทยในยุโรป เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจสะท้อนมาที่การรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการด้วย
@เตือนผู้ส่งออกไทยเลี่ยงรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินยูโร -ระวังผิดนัดชำระสินค้า
ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวน และผู้ส่งออกจะต้องความระมัดระวังในเรื่องของการผิดนัดชำระค่าสินค้า อาจจะหลีกเสี่ยงการรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินยูโร อาจจะมีความเสี่ยงที่ค่าเงินอ่อนค่าลง ทั้งนี้สะท้อนมาที่การส่งออกได้เช่นกัน
ภายใต้ความเสี่ยงของวิกฤตยูโรโซนยังมีอย่างต่อเนื่อง อาเซียนยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 4 เดือนแรก ตลาดอาเซียนมีการขยายตัว 8.6% เทียบกับที่ยุโรปติดลบ ทั้งปีการส่งออกไปตลาดอาเซียนน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 17% และในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนน่าจะปรับขึ้นไปถึง 30% เทียบกับการส่งออกรวมที่อยู่ที่ 24%
โดยปัจจัยที่สนับสนุนที่สำคัญมาจากการขยายตัวของการค้าชายแดน เพราะคนในประเทศเพื่อนบ้านมีรายได้ดีขึ้น และในอีก 3 ปีข้างหน้าที่จะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ภาษีศุลกากรอีก 4 ประเทศ คือ CLMV กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะลดลงเหลือ 0% และจะสังเกตเห็นว่า ผู้ประกอบการของไทยมีความสนใจเข้าไปขยายการลงทุนในอาเซียนกันอย่างคึกคัก
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ที่ผ่านมาประเมินในภาวะที่สามารถขีดวงวิกฤตยูโรโซนได้ แต่หากวิกฤตยูโรโซนขยายตัวไประดับรุนแรงทำให้ภูมิภาคยุโรปหดตัวรุนแรง อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวถึงแนวโน้มภาคการเงินไทยกับความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงของวิกฤตยูโรโซนว่า ที่ผ่านมาคนไทยไปลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในหุ้นในต่างประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อยกว่าคนอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้หากเกิดวิกฤตเกิดผลกระทบไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนความเสี่ยงที่ทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน อาจเป็นการกู้ระหว่างธนาคารยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
@คาดไทย"เอาอยู่"หลังประเมินอย่างเหลวร้ายสุดสถาบันการเงินยุโรปล่ม ติดลบ 3.5%ต่อจีดีพี
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้มองถึงกรณีเหลวร้ายสุดถ้าวิกฤตยุโรปขยายวงกว้างไปทั้งภูมิภาคว่า เรามองกรณีแย่มาก ๆ ทั้งกลุ่มกรีซ ยุโรปสถาบันการเงินล้ม เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจติดลบ 3.5% ต่อจีดีพี ถึงกรณีเหลวร้ายสุดเราก็มองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เหลวร้ายเท่ากับปี 2009 ที่มีซัพไพร์ม ปีนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบ 2% กว่า
วิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังขยายตัวได้ เพราะการส่งออกเราพึ่งยุโรปน้อย นอกจากนี้ รัฐบาลมีโครงการของภาครัฐรออยู่จำนวนมาก ในครึ่งปีหลังเป็นฤดูกาลเบิกจ่ายงบประมาณ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐรออยู่ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า 2 ล้านล้านบาท
ถึงเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนอย่างไร ถ้าการลงทุนในประเทศยังมีอยู่ น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ และประเทศรอบ ๆ เพื่อนบ้านของเรา กัมพูชา ลาว พม่า กัมพูชามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี ประเทศเหล่านั้นมีการค้าชายแดนกับไทยที่สูง เมื่อรวมกันใหญ่พอ ๆ กับยูโรโซน และยังขยายตัวต่อเนื่องอีกในช่วงหลายปีข้างหน้าน่าจะเป็นอานิสงค์ที่ดีสำหรับไทย
แต่การที่โครงสร้างของกฎหมายและกติกาที่รวมกันอยู่ของยุโรป ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายจุด และแหล่งเงินมาจากหลายประเทศ กว่าจะอนุมัติได้ต้องไปผ่านความเห็นชอบของประชาชนในแต่ละประเทศ ซึ่งกว่าจะตกลงกัน กว่าจะให้นักการเมืองหาเสียงมาได้ เรื่องเหล่านี้ต้องผ่านกลไกค่อนข้างยาวนานใช้เวลา จึงเป็นจุดจำกัดที่ทำให้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จไม่ได้
เมื่อเกิดโจทย์ขึ้นอย่างเช่นกรณีในกรีซ หรือในสเปนขึ้น ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจผลักดันวงเงินก้อนใหญ่ หรือว่ามาตรการที่เบ็ดเสร็จออกมาได้ในเวลาอันสั้น ฉะนั้นทางเลือกของยุโรป เครื่องมือทางด้านนโยบายมีค่อนข้างจำกัด ธนาคารกลางยุโรป (ECB)เองมีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินที่จำกัดกว่าธนาคารกลางสหรัฐ
แม้ทางการยุโรปจะพยายามหาความร่วมมือในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ แต่ในที่สุดไม่มีการตัดสินใจอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมา ทำให้ปัญหาวิกฤตยูโรโซนน่าจะถูกลากยาวออกไปอีกเป็นปี ส่วนจะเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างไรคงต้องเฝ้าระวังติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ที่่สำคัญการที่รัฐบาลไทยจะหวังพึ่งพิงการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากเกิดวิกฤตลุกลาม เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ทุกประเทศย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม บทเรียนการรวมตัวกันในกลุ่มสหภาพยุโรป 17 ประเทศที่กำลังมีปัญหา น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอาเซียนรอบครอบ และระมัดระวังมากขึ้นในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ที่กำลังจะมาถึงในอีก 3 ปีข้างหน้า
เรื่องโดย: กฤษณา ไพฑูรย์
http://www.matichon.co.th/news_detail.p ... catid=0501