http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... C2%B9.html
ธุรกิจ
วันที่ 16 สิงหาคม 2557 10:00
สั่งปตท.แยกท่อก๊าซ-ขายหุ้นโรงกลั่น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กพช.xอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มxปลัดกระทรวงพลังงานxปตท.xแยกท่อก๊าซxขายหุ้นโรงกลั่นxบางจากปิโตรเลียมxวิเชียร อุษณาโชติ
ภาพข่าว ภาพประกอบข่าว
กพช.ถกนัดแรก
หนุน'แข่งขัน-พลังงานทดแทน' สั่งปตท.แยกท่อก๊าซ-ขายหุ้นโรงกลั่น
ทำแผน'พีดีพี'ใหม่ใน3เดือน
ด้าน"สุรงค์"เผยทำตามนโยบายรัฐ ระบุอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบผู้ถือหุ้นหรือไม่ ขณะนักวิเคราะห์ประเมินเป็นผลดีต่อปตท. ลดแรงต้าน-ความโปร่งใส
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประชุมนัดแรกวานนี้ (15 ส.ค.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นประธาน ได้มีมติสำคัญด้านพลังงานและเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โดยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ากพช.มีมติให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แยกหน่วยธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ในลักษณะการแบ่งออกไปเป็นบริษัทจำกัด และยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์สินจากปตท.ให้แก่บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้น โดยดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2558
ในระยะเริ่มต้นให้ปตท.ถือหุ้น 100% ในบริษัทใหม่ โดยยังไม่มีการแปรรูป แต่เพื่อให้ประชาชนและภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในบริษัทที่จะจัดตั้งใหม่ จะให้กระทรวงการคลังพิจารณาเข้าไปถือหุ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสม ประมาณ 25% ของทุนจดทะเบียน
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า การแยกธุรกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันธุรกิจก๊าซและความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งหากแยกธุรกิจออกมาจะทำให้เห็นข้อมูลได้ชัดเจน
หลังจากนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดระเบียบการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime : TPA Regime) โดยให้ประกาศภายในเดือนมี.ค. 2558 พร้อมให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. ดำเนินการทบทวนการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสามารถรองรับกับโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น และให้มาเสนอกพช. พิจารณาอีกครั้ง
ให้ปตท.ขายหุ้นโรงกลั่นสตาร์
นายอารีงพศ์ กล่าวว่ากพช.มีมติสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) “สัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม” ระหว่างกระทรวงพลังงาน กับ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ “SPRC” โดยให้นำหุ้นที่ปตท.ถือครองอยู่ในบริษัท SPRC จำนวน 36% เข้าขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยจำหน่ายหุ้นให้กับประชาชนภายใน 6 เดือน หลังจากวันที่ลงนามในสัญญา
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขันของธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยเสรี โดยให้ปตท.ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงกลั่นลงจากปัจจุบันที่มีการถือหุ้นในโรงกลั่น 5 ใน 6 แห่ง ขณะที่การลดสัดส่วนการลงทุนในโรงกลั่นอื่นๆ เช่น บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดของกพช.ที่จะมีการพิจารณา
"หากจะมีการลดสัดส่วนในการถือหุ้นในโรงกลั่นอื่นๆ ลงจะเป็นมติของคณะกรรมการบริษัท ปตท.ที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวเอง"
สั่งทำแผน'พีดีพี'ฉบับใหม่ให้เสร็จใน3เดือน
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า
กพช.เห็นชอบแนวทางจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP 2015) หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558 - 2579 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มทิศทางพลังงานโลกของทบวงพลังงานโลก (IEA)
"จะมีการ
ปรับกรอบระยะเวลาของแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใหม่ ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558 - 2579 เช่นเดียวกับแผน PDP ฉบับใหม่เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน"
ทั้งนี้
กพช.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือนทั้งขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น การปรับเปลี่ยนแผนใหม่เหมาะสมและการนำแผนฯไปเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
ตีกรอบใช้พลังงานแต่ละประเภทไม่เกิน30%
“สิ่งสำคัญที่มีการพูดคุยกันในการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่คือความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งหัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญ ซึ่งต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงให้สมดุลขึ้น เพราะปัจจุบันการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 67%ถือเป็นความเสี่ยง จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าใหม่ให้เหมาะสม
ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ถ่านหินสะอาด การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและทดแทน ไฟฟ้าพลังน้ำ การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประชุมฯพูดคุยกันว่าการพึ่งพาพลังงานในแต่ละชนิดในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ควรเกินประเภทละ 30% โดยเมื่อมีการวางแผนการผลิตและจัดหาไฟฟ้าที่ชัดเจนรัฐบาลก็จะสามารถทำแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานในระยะยาวได้”นายอารีพงศ์กล่าว
สำหรับประเด็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่าที่ประชุม กพช.จะมีการพิจารณาภายใน 3 เดือนนี้ว่าจะมีการบรรจุแผนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผน PDP 2015 หรือไม่
ไฟเขียวส่งเสริมไฟฟ้าแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้มีการเห็นชอบให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทต่างๆ ให้ครบตามเป้าหมายและกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับใช้ในการรับซื้อไฟฟ้าในปี 2557- 2558 ซึ่งยังคงมีเหลืออยู่อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จากจำนวนใบอนุญาตที่มีการออกไปทั้งสิ้นรวม 3,000 เมกะวัตต์
โครงการดังกล่าว แบ่งเป็น
1.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม)ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 576 เมกะวัตต์ เพื่อให้เต็มตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,000 เมกะวัตต์ โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2558 โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รับไปพิจารณาจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอโครงการ
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)ให้ขยายเวลากำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์สำหรับโครงการที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดไว้ภายในเดือน ธ.ค. 2556 เป็นภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2557 หลังจากที่สามารถแก้ปัญหาการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ได้แล้ว
3.เปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มสำหรับประเภทโครงการขนาดเล็กสำหรับที่พักอาศัยขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์เพิ่มอีก 69.36 เมกะวัตต์ เพื่อให้ครบเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนธ.ค.2558
4.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน (โซลาร์ชุมชน) ให้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวม 800 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2558 จากเดิมรูปแบบจะให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นเจ้าของโครงการ แต่ติดปัญหาหลายประการทำให้โครงการยังไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใด เช่น ชุมชนไม่สามารถจัดหาพื้นที่ส่วนกลางเพื่อตั้งโครงการได้เพราะต้องใช้ที่ดินส่วนรวม 10 - 12 ไร่ ปัญหาชุมชนไม่สามารถจัดหาเงินลงทุนได้ เป็นต้น
อัตราซื้อไฟฟ้า5.66-6.85บาท-อุดหนุน25ปี
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff ในปี 2557 - 2558 ได้แก่
แบบติดตั้งบนพื้นดิน ขนาดไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ 5.66 บาท/หน่วย
แบบติดตั้งบนหลังคา ที่อยู่อาศัยขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ 6.85 บาท/หน่วย
แบบติดตั้งบนหลังคา อาคารธุรกิจ/โรงงาน ขนาด 10-250 กิโลวัตต์ 6.40 บาท/หน่วย
แบบติดตั้งบนหลังคา อาคารธุรกิจ/โรงงาน ขนาดตั้งแต่ 250-1,000 กิโลวัตต์ 6.01 บาท/หน่วย
และแบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร 5.66 บาท/หน่วย
"โครงการทุกรูปแบบมีระยะเวลาในการสนับสนุนจากภาครัฐ 25 ปี"
ปตท.ประเมินผลกระทบแยกท่อ
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. (PTT) กล่าวว่าอยู่ระหว่างการศึกษา โดยต้องมาดูว่าการแยกธุรกิจออกมาตามนโยบายของกพช.นั้น จะมีความคุ้มค่าอย่างไรบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐเป็นหลัก
หากประเมินถึงมูลค่าทางบัญชีของธุรกิจท่อก๊าซ อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท หากประเมินจากมูลค่าจริง พบว่า ธุรกิจท่อก๊าซมีมูลค่าถึง 4-5 ล้านบาท
นายสุรงค์ กล่าวว่าที่ผ่านมา บริษัทมีการแยกบัญชีของธุรกิจทำธุรกิจท่อก๊าซอยู่ก่อนแล้ว แต่ตัวทรัพย์สินยังบันทึกอยู่ในบริษัทปตท. ซึ่งบริษัทต้องพิจารณาอย่างหนักว่าการแยกบริษัทออกมาจะกระทบกับผู้ถือหุ้นของปตท.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การแยกธุรกิจท่อก๊าซออกเป็นบริษัท จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
บางจากหนุนส่งเสริมพลังงานทดแทน
นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการปฏิรูปพลังงาน ควรจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน คือ เรื่องของบทบาทของรัฐต่อความมั่นคงทางพลังงานว่าควรจะมีมากน้อยแค่ไหน ส่วนไหนที่รัฐควรจะต้องดูแล และส่วนไหนที่จะให้เป็นบทบาทของภาคเอกชน
ทั้งนี้ เห็นว่าทางออกของประเทศซึ่งมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเนื่องจากผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้นั้น จำเป็นจะต้องส่งเสริมเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ซึ่งต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วยว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทนจะไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลง
โบรกฯมองต้องการลดกระแสสังคม
นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภายในเครือปตท. (PTT) มีจุดประสงค์เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคม ขณะเดียวกันบริษัท ปตท.ยังคงยืนยันการขายหุ้นโรงกลั่น ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) ทั้งขายให้กับผู้ร่วมทุนใหม่, และขายในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัท โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ
ทั้งนี้ การแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซเป็นบริษัทใหม่ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ด้านความโปร่งใส และการเข้ามาใช้ท่อของบุคคลที่ 3 ซึ่ง ปัจจุบันรอความชัดเจนการยกเว้นภาษีการโอนสินทรัพย์ โดยเบื้องต้นบริษัท ปตท. (PTT) จะยังถือสัดส่วน 100%
ด้านนายเบญจพล สุทธิ์วนิช นักวิเคราะห์การลงทุน บล.เคเคเทรด กล่าวว่า การจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ลดแรงกดดัน โดยบริษัท ปตท. อยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่คาดจะได้ข้อสรุปในช่วงครึ่งแรกปี 2558 และมองว่าจะเป็นบวก เนื่องจากมีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ
"หากได้ข้อสรุปที่ดีจากการเจรจากับภาครัฐน่าจะนำไปสู่การแยกธุรกิจได้ และลดกระแสสังคม"
ราคาหุ้น PTT ปิดตลาดวานนี้ (15 ส.ค.) เพิ่มขึ้น 3.00 บาท หรือ 0.90% อยู่ที่ 335.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 954.72 ล้านบาท