หน้า 4 จากทั้งหมด 4

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 25, 2022 1:45 pm
โดย pakapong_u
PROEN แจงเลิกสัญญา Bitkub ไม่กระทบงบการเงิน
เผยแพร่: 23 ส.ค. 2565 15:04 ปรับปรุง: 23 ส.ค. 2565 15:04 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โปรเอ็น คอร์ป แจงการบอกเลิกสัญญาการเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ "บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี" ยันไม่มีมูลค่าความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญา เพราะยังไม่ได้ดำเนินการหรือใส่เม็ดเงินลงทุนใดๆ ในธุรกรรมนี้ จึงไม่กระทบต่อการแสดงรายการทางการเงินในงบการเงิน

นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ได้แจ้งข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เรื่องแจ้งการบอกเลิกสัญญารายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี การเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub Chain) เพื่อให้บริษัทฯ เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมแบบ Proof of Stake Alliance (Node Validator-POSA) ในระบบบล็อกเชน Bitkub Chain บริษัทฯ ขอแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้



ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่มีมูลค่าความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญา เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้ดำเนินงานใดๆ และยังไม่ได้ชำระเงินลงทุนซื้อเหรียญ KUB จาก Bitkub Chain จำนวน 250,000 เหรียญ KUB มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72,949,815 บาท อีกทั้งไม่ได้ชำระเงินลงทุนในสินทรัพย์อื่นใด จึงทำให้การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวไม่ส่งกระทบต่อการแสดงรายการทางการเงินในงบการเงินทั้งก่อนทำสัญญาและหลังการบอกเลิกสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่มีรายการใดๆ ที่บันทึกค่าใช้จ่ายในงบการเงินนับตั้งแต่ทำสัญญาจนถึงการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 25, 2022 2:22 pm
โดย pakapong_u
'บิทคับ และ SCBS' ตกลงร่วมกันไม่ไปต่อ แจงการสอบทานธุรกิจไม่มีปัญหา
25 ส.ค. 2565 เวลา 13:39 น.

'บิทคับ และ SCBS' ตกลงร่วมกันไม่ไปต่อ ดีลขายหุ้น 1.78 หมื่นล้าน แจงการสอบทานธุรกิจไม่มีปัญหา ยังดำเนินธุรกิจปกติไม่ได้รับผลกระทบ ชี้ ยังคงเป็นผู้นำศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย


ประกาศจาก บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด วันที่ 25 สิงหาคม 2565

สืบเนื่องจากประกาศของบริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ตามที่ประชุมคณะกรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด ได้มีมติอนุมัติให้ SCBS เข้าทำสัญญาธุรกรรมซื้อหุ้นในบริษัทบิทคับ ออนไลน์ จำกัด จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดนั้น

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทางบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และบล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ได้ดำเนินการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับบล.ไทยพาณิชย์ จำกัด และได้ทำการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพ และแสดงผลประกอบการอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ตลอดจนนำเสนอแผนกลยุทธ์การดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจในอนาคต

จากการสอบทานธุรกิจ ทางบริษัทผู้ซื้อ (SCBS) “ไม่พบข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขได้” อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ยังคงมีประเด็นคงค้างกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.
ล.ต.) ที่อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการธุรกรรมดังกล่าว

บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และบริษัทผู้ซื้อ (SCBS) จึงได้ตกลงร่วมกันที่จะระงับธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ เพื่อให้บริษัทดำเนินการหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ตามคำชี้แนะและสั่งการโดยก.ล.ต.ต่อไป

บริษัทขอเรียนว่าการดำเนินงานและการประกอบธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด บริษัทยังคงเป็นผู้นำในตลาดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยพร้อมมีทรัพยากร สำหรับการดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานและยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้

รวมถึงยังคงเดินหน้าต่อไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เพื่อสร้างระบบนิเวศของตลาดการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและประกอบธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล เพื่อให้บริการผู้ลงทุนอย่างโปร่งใสและสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมแก่ผู้คนในสังคมต่อไป

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 25, 2022 9:45 pm
โดย pakapong_u
ย้อนรอยมหากาพย์ SCBX-Bitkub ก่อนดีลล่ม ปิดฉากยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย
โดย ดำรงเกียรติ มาลา
25.08.2022

HIGHLIGHTS
•การส่ง SCBS เข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ด้วยมูลค่า 17,850 ล้านบาท ในช่วงปลายปีก่อนของกลุ่ม SCBX สร้างความคาดหวังว่าจะสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย

•การสอบทานธุรกิจที่ล่าช้ากว่ากำหนด และปัญหาที่ยังค้างคาระหว่าง Bitkub กับหน่วยงานกำกับ นำไปสู่การตัดสินใจแยกทางกันเดินในที่สุด

•ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงคริปโตมองว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ Bitkub โอกาสที่จะเกิดดีลใหม่ๆ ยังคงเปิดกว้างเสมอ

การประกาศล้มดีลยกเลิกแผนเข้าลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX หรือยานแม่ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีของไทยต่อเนื่องจากกรณีปัญหา Zipmex

หากย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 การประกาศส่งยานลูกอย่าง SCBS เข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ด้วยมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงคริปโตไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากดีลนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะส่งให้ Bitkub ก้าวขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทยในทันที โดยกระแสข่าวเชิงบวกที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลให้ราคาเหรียญ KUB พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 580 บาท

อย่างไรก็ดี ในแถลงการณ์ของกลุ่ม SCBX ได้ให้รายละเอียดกำกับไว้ครั้งนั้นว่า การเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน โดยคาดว่าการสอบทานจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ย้อนกลับไปในตอนนั้น อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้เหตุผลของการเข้าลงทุนใน Bitkub เอาไว้ว่า

“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งในธุรกิจการเงินแห่งโลกอนาคตที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว การที่ ‘กลุ่ม SCBX’ เข้าไปลงทุนใน ‘Bitkub’ ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยให้ ‘กลุ่ม SCBX’ สามารถสร้างคุณค่าใหม่ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ SCBX ในการยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

ขณะที่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้กล่าวว่า

“Bitkub ได้เดินมาถึงจุดที่เราได้กลายเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า Digital Economy ต่อจากนี้ Bitkub ไม่ได้เป็นเพียงสตาร์ทอัพอีกต่อไป แต่กำลังจะก้าวมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อวงการการเงิน 3.0 ของประเทศไทย ในตอนนี้เราได้พา Bitkub มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก และเพื่อที่จะนำ Bitkub ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก พวกเราต้องการพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งมาเป็นกำลังเสริมให้ไปถึงได้เร็วขึ้นอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลที่เราจับมือร่วมกับ SCBS”

โดยท๊อปยังระบุด้วยว่า การเข้ามาลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX ถือเป็นการประทับตรา ‘ยูนิคอร์น’ อีก 1 ตัวให้คนไทยทุกๆ คนได้ภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ไตรมาสแรกของปีนี้ตามกำหนดการ ปรากฏว่าธุรกรรมการซื้อขายกลับยังไม่มีวี่แววว่าจะแล้วเสร็จ โดยทั้ง SCB และ Bitkub ให้เหตุผลว่า การสอบทานธุรกิจยังไม่แล้วเสร็จ จนมีการขยายกรอบเวลาธุรกรรมออกมาเรื่อยๆ สอดคล้องกับราคาเหรียญ KUB ที่ทยอยปรับลดลง

จนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา SCBX ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า ตามที่บริษัทได้แจ้งว่า จากการคาดการณ์ว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นกับ Bitkub จะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น ธุรกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทานทางธุรกิจและระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทำให้ต้องขยายเวลาการเข้าทำธุรกรรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ต่อมาภายในเดือนเดียวกัน มาณพ เสงี่ยมบุตร Chief Finance & Strategy Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า การเข้าลงทุนใน Bitkub ยังคงไม่มีพัฒนาการใหม่ๆ โดยดีลดังกล่าวได้มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ Due Diligence และการเจรจาพูดคุย ตลอดจนปรึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน่วยงานที่กำกับดูแล

“ดีลยังมีอยู่ แต่ใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และผลตอบแทน รวมไปถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม” มาณพกล่าว

การที่ดีลถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ประกอบกับกรณีที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) สั่งการให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ของ Bitkub ภายใน 30 วัน ทำให้เริ่มมีข่าวลือเรื่อง ‘ดีลล่ม’ เกิดขึ้นอย่างหนาหู

ในท้ายที่สุดข่าวลือก็กลายมาเป็นข่าวจริงในวันนี้ (25 สิงหาคม)​ เมื่อกลุ่ม SCBX ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการยกเลิกการเข้าลงทุนใน Bitkub โดยระบุว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (‘SCBS’ หรือ ‘ผู้ซื้อ’) ในการประชุมครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติอนุมัติให้ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (‘บริษัทฯ’) เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (‘Bitkub’) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (‘ผู้ขาย’) ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท รวมเรียกว่า ‘ธุรกรรมการซื้อขายหุ้น’ นั้น

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ และ SCBS ได้ร่วมกันดำเนินการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ขายและ Bitkub โดยในระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ บริษัทฯ และ SCBS ได้เห็นศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านของกลุ่ม Bitkub และเห็นโอกาสในการร่วมมือพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของ Bitkub ในอีกหลายด้าน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้

ขณะที่ ท๊อป จิรายุส ได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่าการตัดสินใจยุติธุรกรรมซื้อขายหุ้นในครั้งนี้เป็นการตกลงร่วมกันของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอย่างรอบด้าน และเห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้

“ผมและทีมงานตลอดจนผู้บริหารต้องขอขอบพระคุณทาง SCBS ที่ได้ให้ความสนใจในสตาร์ทอัพและแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนเล็งเห็นถึงศักยภาพของ Bitkub Exchange และมีอุดมการณ์ที่จะสนับสนุนให้บริษัทของคนไทยได้เติบโตและขยายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ได้ แต่ด้วยความล่าช้าของธุรกรรม จึงทำให้มีการยุติดีลในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับทั้งสองฝ่ายได้เดินหน้าต่อไป Bitkub เป็นองค์กรที่มีอนาคตมาก ในฐานะผู้บริหารและผู้นำองค์กร ผมและทีมงานทุกคนยังคงเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันในการเป็น National Champion ใหม่ให้กับประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่โลกอนาคต และเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค พวกเรายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสให้กับทุกคนตามแนวทางที่เราเชื่อมั่นต่อไปครับ”

กานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand ประเมินว่า ดีลการเข้าลงทุนใน Bitkub ของกลุ่ม SCBX ที่ล่มลง อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนสูญเสียความเชื่อมั่นไปบ้างเนื่องจากการมีข่าวว่าผู้เล่นรายใหญ่อย่างไทยพาณิชย์สนใจเข้ามาลงทุนใน Bitkub ช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หลายคนมองว่าแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีในไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่แถลงการณ์ระบุถึงสาเหตุของดีลล่มว่าเกิดจากการติดปัญหากับหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ใช่เกิดจากการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ไม่ได้ออกมาแย่ ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ Bitkub ก็เพิ่งประกาศผลกำไรของธุรกิจ Exchange ที่กว่า 2 พันล้านบาท จึงมองว่าในแง่การดำเนินธุรกิจเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

กานต์นิธิระบุอีกว่า ในมุมมองส่วนตัวยังมองว่าอนาคตของ Bitkub ไม่ได้น่ากังวล เพราะกำไรกว่า 2 พันล้านบาท น่าจะทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกหลายปี ขณะเดียวกัน ลักษณะการทำธุรกิจของ Bitkub คือเป็นคนกลางที่เก็บค่าธรรมเนียม ดังนั้นไม่ว่าราคาคริปโตจะขึ้นหรือลง บริษัทก็ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียม นอกจากนี้หากมองในแง่ดี การที่ดีลนี้ล้มไปอาจเปิดโอกาสให้เกิดดีลใหม่ๆ ขึ้นก็ได้

“ผลกระทบที่อาจจะเห็นได้ในตอนนี้คือการปรับลดลงของราคาเหรียญ KUB ซึ่งเป็นผลมาจากข่าว อาจมีนักลงทุนบางส่วนที่ต้องได้รับผลกระทบ แต่ผมมองว่า Bitkub ยังมีอนาคต ยังมีช่องทางให้ไปต่อได้อยู่” กานต์นิธิกล่าว

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 27, 2022 2:15 pm
โดย pakapong_u
"bitkub" ยูนิคอร์น ฝันสลาย!? ย้อนรอย ก่อนดีลล่ม "SCB"
By กรุงเทพธุรกิจออนไลน์25 ส.ค. 2565 เวลา 15:00 น.

ชวนย้อนรอยฝันสู่ “ยูนิคอร์น” ของ “Bitkub“ เบอร์หนึ่งกระดานเทรดคริปโทฯไทย หลัง SCB-bitkub ประกาศ “ไม่ไปต่อ” ปิดฉากดีลยักษ์ 1.785 หมื่นล้าน

ทันทีที่ข่าว "แยกทาง" ระหว่าง SCB-bitkub เผยแพร่เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 ส.ค.65 หลังจากเคยจับมือประกาศดีลยักษ์ โดยกลุ่ม SCBx ให้บริษัทลูก คือ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโทฯ ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็น มูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท

เรียกได้ว่า สั่นสะเทือนแวดวงคริปโทฯ อย่างมาก เพราะพ้นจากข่าวความง่อนแง่นของ zipmex ไม่ทันไร อีกเจ้าใหญ่อย่าง bitkub ก็เกิดข่าวใหญ่ตามมาติดๆ

ขณะที่ ราคาเหรียญkub coin ก็ร่วงตาม ราวๆ 20% ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง (ระหว่างบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง) ก่อนจะดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อย

สำหรับดีลยักษ์ มูลค่า 1.785 หมื่นล้านบาท ที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยถึงแม้ดีลดังกล่าวที่ประกาศตอนนั้น ยังไม่ได้มีการซื้อขายจริง แต่จาก "มูลค่าหุ้น" ที่ตกลงกันไว้ ไม่ต่างจากการ "ประทับตรา" มูลค่าธุรกิจที่ 3 หมื่นล้าน สู่สถานะ "ยูนิคอร์น" ไปโดยปริยาย

ย้อนรอย "บิทคับ" ฝันสู่ "ยูนิคอร์น"

จากพฤศจิกายน 64 สู่วันนี้ เวลาก็ล่วงมาแล้ว 10 เดือนที่นักลงทุนเฝ้ารอการปิดดีล ทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการ และที่สุดก็ถึงคำตอบสุดท้าย คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะ "ไม่ไปต่อ" ดังที่เป็นข่าวใหญ่วันนี้

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนย้อนรอยกลับไปดูที่มาที่ไป เส้นทางของ bitkub เพื่อให้ทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ ดังนี้

* bitkub กางแผนขาย IPO
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เบื้องต้นอยู่ระหว่างพิจารณาการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหุ้นแนสแด็กในสหรัฐ เนื่องจากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ระดมทุนของตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่ง ปัจจุบันบริษัทได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

“เหตุผลที่อยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเราอยากเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย อยากทำให้ทุกคนภูมิใจว่าคนไทยก็เก่ง เราก็สร้างบริษัทเทคโนโลยีได้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คนใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่เราจะเป็นผู้สร้างและผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ของไทยเองก็ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้น เราจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายแรกที่เข้าระดมทุน” จิรายุส กล่าวไว้ในตอนนั้น

* ประกาศดีล 1.785 หมื่นล้าน
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เกิดข่าวใหญ่ กรณี SCB ประกาศเตรียมเข้าถือหุ้นใน bitkub โดยจะเป็นการเข้าลงทุนใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโทฯ เบอร์หนึ่งของเมืองไทย ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมี “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด” (SCBS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

* ขีดเส้นตาย "เงื่อนไข" ที่นำมาสู่การ "ไม่ไปต่อ"
ในแถลงการณ์ครั้งนั้นของกลุ่ม SCBx ได้ให้รายละเอียดกำกับไว้ในการแถลงข่าวครั้งนั้นว่า การเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์

โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565

* SCBx ประกาศชะลอซื้อ bitkub
ระหว่างที่นักลงทุนรอความชัดเจนของดีลยักษ์ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 "อาทิตย์ นันทวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า การเข้าทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นใน Bitkub ดังกล่าวอยู่ภายใต้การปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน

ทั้งนี้ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทางธุรกิจ และระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยมีการ "ขยายเวลา" การเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดการเดิม

กระทั่ง ล่าสุดวันนี้ (25 ส.ค.65) ก็ถึงเวลา ปิดฉากอย่างเป็นทางการ ของดีลยักษ์ 1.785 หมื่นล้านบาท

* "การสอบทานธุรกิจ" ไม่มีปัญหา แต่มีประเด็นคงค้างกับก.ล.ต.
ทั้งนี้ จากประกาศของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ชี้แจงถึงการตัดสินใจดังกล่าว โดยใจความส่วนหนึ่งได้ยืนยันถึงการสอบทานธุรกิจว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

โดยมีข้อความระบุว่า..

"ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทางบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และบล.ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ได้ดำเนินการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับบล.ไทยพาณิชย์ จำกัด และได้ทำการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพ และแสดงผลประกอบการอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ตลอดจนนำเสนอแผนกลยุทธ์การดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจในอนาคต

จากการสอบทานธุรกิจ ทางบริษัทผู้ซื้อ (SCBS) “ไม่พบข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขได้” อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ยังคงมีประเด็นคงค้างกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการธุรกรรมดังกล่าว

บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และบริษัทผู้ซื้อ (SCBS) จึงได้ตกลงร่วมกันที่จะระงับธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ เพื่อให้บริษัทดำเนินการหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ตามคำชี้แนะและสั่งการโดยก.ล.ต.ต่อไป

* ท๊อป-จิรายุส ยืนยัน เป็นทางออกที่ดีที่สุด

โดย ท๊อป-จิรายุส ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ยืนยันว่า การตัดสินใจยุติธุรกรรมซื้อขายหุ้นในครั้งนี้เป็นการตกลงร่วมกันของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ที่ได้พิจารณาอย่างที่ถ้วนอย่างรอบด้านและเห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้

"ผมและทีมงานตลอดจนผู้บริหารต้องขอขอบพระคุณทาง SCBS ที่ได้ให้ความสนใจในสตาร์ทอัพและแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลตลอดจนเล็งเห็นถึงศักยภาพของบิทคับ เอ็กเช้นจ์ และมีอุดมการณ์ที่จะสนับสนุนให้บริษัทของคนไทยได้เติบโตและขยายตัวไปยังประเทศอื่นๆได้ แต่ด้วยความล่าช้าของธุรกรรมจึงทำให้มีการยุติดีลในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับทั้งสองฝ่ายได้เดินหน้าต่อไป บิทคับเป็นองค์กรที่มีอนาคตมาก ในฐานะผู้บริหารและผู้นำองค์กร ผมและทีมงานทุกคนยังคงเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันในการเป็น National Champion ใหม่ให้กับประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่โลกอนาคต และเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค พวกเรายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสให้กับทุกคนตามแนวทางที่เราเชื่อมั่นต่อไปครับ

ขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนมาโดยตลอดครับ 🙏"

จากนี้ไปจึงต้องจับตาสถานะของ "bitkub" ว่า จะยังคนสานฝันสู่ "ยูนิคอร์น" ต่อไปได้อีกหรือไม่?

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 29, 2022 12:29 pm
โดย pakapong_u
สถานีต่อไป KUB Coin โดนแขวน?!!
เผยแพร่: 29 ส.ค. 2565 06:53 ปรับปรุง: 29 ส.ค. 2565 06:53 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถานีต่อไป KUB Coin โดนแขวน?!! หลังพบเหรียญไม่ตรงปก ถ้ายิ่งแก้เหรียญยิ่งแย่ ก.ล.ต.ห้ามใช้เหรียญซื้อขายสินค้าและบริการ มูลค่าลดฮวบ หลัง "SCBX" ล่มดีลซื้อหุ้น “บิทคับ” มูลค่า 1.78 หมื่นล้าน ย้อนแย้ง "ท๊อป จิรายุส" เสนอรัฐบาลส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวสู่ Digital Hub แต่กลับแหกกฎเอง วัดใจ ก.ล.ต.ต้องเพิกถอน "KUB Coin" เพื่อมาตรฐานที่ถูกต้องโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ลงทุนรายย่อย พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้บริหาร "PROEN" ทราบดีลเอสซีบีเอกซ์ล่มก่อนรีบชิ่งหรือไม่

หลังจากที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศยกเลิกการลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บิทคับ) ในสัดส่วน 51% มูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า เนื่องจากบิทคับยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยประเด็นสำคัญที่ บิทคับ ยังคงค้างอยู่ที่ ก.ล.ต. และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามคำสั่ง จนกลายเป็นที่มาของการล้มบิ๊กดีลครั้งนี้ คือ กรณีที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติของเหรียญ KUB ที่บริษัทให้คะแนนเหรียญตัวเองสูงเกินมาตรฐานอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ามาเทรดในกระดาน แต่บิทคับ กลับไม่แก้ไข พร้อมทั้งยืนยันเหรียญ KUB ดีและเหมาะสมมาตั้งแต่ต้น

มาดูจุดตั้งต้นของเหรียญ “KUB” ที่ท๊อปหวังใช้เทนเงินซื้อขายสินค้า

ทั้งนี้ Bitkub Coin หรือ KUB ออกโดย บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ในไวท์เปเปอร์ระบุ จำนวนเหรียญไว้ทั้งสิ้น 1,000 ล้านเหรียญ ก่อนจะเผาหรือทำลายทิ้ง 890 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 110 ล้านเหรียญ เพื่อใช้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียม (ค่า Gas) ในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย เช่น การโอนสินทรัพย์ การจัดเก็บข้อมูล และอื่นๆ รวมถึงเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้งาน Smart Contracts หรือ Decenterlized Application (dApps) รวมถึงสามารถซื้อขายบนกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับ

ขณะเดียวกัน ผู้ถือเหรียญ KUB สามารถ Lock & Drop โดยจะได้รับสิทธิพิเศษผ่านแอปพลิเคชัน Bitkub NEXT ที่เป็นกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จํากัด ที่ผู้ถือสามารถฝากเหรียญ KUB ไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรับสินทรัพย์ดิจิทัลและรางวัลอื่นจากพันธมิตร

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจากพันธมิตรของ “บิทคับ”และร้านค้าทั่วไปสามารถเลือกรับเหรียญ KUB เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าสินและบริการ แม้เหรียญ KUB ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชำระเงิน แต่พันธมิตรและร้านค้าทั่วไปสามารถเลือกที่จะรับเหรียญ KUB เพื่อใช้ได้ตามความเหมาะสม

หรือนี่จะเป็นนัยสำคัญที่ซ่อนเร้นอยู่ในไวท์เปเปอร์ ที่ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ที่คิดการใหญ่ วาดหวังไว้ตั้งแต่แรก เพื่อจะสร้างและผลักดันให้เหรียญ KUB เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เป็นเงินดิจิทัลสกุลหลักหรือไม่



KUB ไม่ตรงปกเหตุปั่นเหรียญจากดีล “SCBX”

ขณะเดียวกันการประกาศเข้ามาลงทุนของกลุ่มเอสซีบีเอกซ์ ได้กลายเป็นจุดสร้างความสนใจให้ “บิทคับ” อีกครั้ง หลัง เอสซีบีเอกซ์ จะเข้ามาซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในสัดส่วน 51% มูลค่ารวมกว่า 17,850 ล้านบาท ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาเก็งกำไรเหรียญ KUB เพราะคาดว่า หลังจากเอสซีบีเอกซ์ เข้ามาจะทำให้ธุรกิจของบิทคับ มีความมั่นคง และสร้างสามารถสร้างผลกำไรได้ในอนาคต

จากข่าวดังกล่าว ทำให้ราคาเหรียญ KUB ทะยานขึ้นทันที จากที่เคยลงไปต่ำสุดประมาณ 12 บาท พอมีดีลดังกล่าวเกิดขึ้น ราคาเหรียญขยับขึ้นจากเดิมที่ระดับ 30-33 บาท ขึ้นไปยืนเหนือ 500 บาท และโดนทุบลงมาเหลือเพียง 200 บาท ภายในเวลาไม่กี่วัน จนโดน ก.ล.ต. ต้องเข้ามาตรวจสอบถึงความผิดปกติว่ามีการปั่นเหรียญหรือไม่

จากความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ไม่ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ได้บริการ สนับสนุน หรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม ที่สำคัญอาจเกิดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงินได้

สิ่งที่ ธปท. และ ก.ล.ต. กังวลเรื่องความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ได้รับการพิสูจน์อย่างเห็นได้ชัด จากขณะนี้ราคาเหรียญดิจิทัล รวมถึง KUB อยู่ในภาวะผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องยอมรับการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐทำได้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือประชาชนทั่วไป

ท๊อปดิ้นรนหาพันธมิตรช่วยพยุงเหรียญ

หลังจากราคา KUB ผันผวนและลดลงอย่างหนัก “ท๊อป บิทคับ” ได้พยายามดิ้นรน ไม่ให้เหรียญตัวเองเหวี่ยงไปมากกว่านี้ หลังการทุบกำไรจาก 500 บาท เหลือกว่า 200 – 300 บาท จึงหาพันธมิตรเข้ามาช่วยพยุงราคาเหรียญ อาทิ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN) ลงทุนซื้อ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ KUB มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72,949,815 บาท หรือคิดเป็นราคาเฉลี่ยประมาณ 291.80 บาท บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ลงทุน 104.26 บาท/เหรียญ จำนวน 125,000 เหรียญ ใช้เงินทุนราว 13 ล้านบาท และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ลงทุน 225,000 KUB คิดเป็นเงินลงทุน 60.77 ล้านบาท โดยมีการรับประกันราคา (Price Guarantee) โดยมีการรับประกันการซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เอสซีบีเอกซ์ ประกาศล้มดีลไม่กี่วัน PROEN ได้ทำหนังสือถึงบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub) แจ้งใช้สิทธิยกเลิกสัญญาพันธมิตร และขอยกเลิการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

KUB เลื่อนลอยขาดความน่าสนใจ

ขณะที่ บิทคับ เอง เมื่อทางการสั่งห้าม ทำให้ความคาดหวังที่จะให้ เหรียญ KUB กลายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนใช้ซื้อสินค้าและบริการ เป็นอันต้องจบลง เพราะคุณสมบัติเหรียญไม่ตรง ทำให้แผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดูเลื่อนลอย ขาดความน่าสนใจ แตกต่างกับ DESTINY TOKEN (เหรียญบุพเพสันนิวาส ๒) ที่กำหนดไว้ชัดเจนการระดมทุนเพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์ เมื่อมีรายได้ก็จะนำมาเป็นผลตอบแทนคืนให้แก่ผู้ลงทุน

ทั้งนี้ภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส ๒” ได้ระดมทุนผ่านการซื้อ DESTINY TOKEN (เหรียญบุพเพสันนิวาส ๒) ที่เสนอขายรวม 16,087 โทเคน มูลค่ารวม 256.23 ล้านบาท ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิการรับคืนเงินต้นเมื่อจบโครงการพร้อมผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 2.99% ต่อปี และจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนพิเศษเพิ่มอีก 2.0% ต่อปี ของมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น รวมเป็น 5% ต่อปี เมื่อภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ มีรายได้ Box Office ทั่วประเทศตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

รวมทั้งผู้ที่ซื้อเหรียญจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย และรอชมภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ ในโรงภาพยนตร์ก่อนใคร



เหรียญไม่ตรงปก “บิทคับ” แข็งเมือง ก.ล.ต. ทำดีล “SCBX” ล่ม-เหรียญ KUB รูดกราว

ก่อนที่ เอสซีบีเอกซ์ จะประกาศล้มดีลซื้อ บิทคับ นั้น ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่ให้คะแนนสูงเวอร์ จนขาดคุณสมบัติที่จะเข้าเทรดในกระดาน แต่เมื่อครบกำหนด บิทคับ ได้ขอขยายเวลาในการแก้ไขคุณสมบัติ ซึ่งก.ล.ต. ก็ขยายให้ถึงวันที่ 4 ส.ค. แต่เมื่อครบกำหนด บิทคับ กลับไม่แก้ไข และยืนยันเหรียญมีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว

คำถามที่ตามมา คือ จากการที่ ก.ล.ต. สั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติเหรียญ KUB แต่ไม่สามารถดำเนินการ ทั้งๆ ที่มีเวลากว่า 1 เดือน ตามที่ ก.ล.ต.กำหนด และขยายเวลาให้ถึงวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพียงเพราะเหรียญไม่มีคุณสมบัติ หรือเป็นเพียง "เหรียญทิพย์" ที่เสกขึ้นมาไม่ "ตรงปก" ตั้งแต่ต้น

หรือในทางกลับกัน มองว่า เมื่อไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติของเหรียญได้ตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ทางบิทคับ ไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะรู้อยู่แก่ใจ เหรียญไม่ตรงปก "ยิ่งแก้ยิ่งแย่" กว่าเดิม

จากเหตุนี้ทำให้เอสซีบีเอกซ์ ที่ไม่อยากจะร่วมทุนอยู่แล้ว หลังจากตลาดคริปโตอยู่ในช่วงขาลง ความน่าสนใจหมดไป จึงอาศัยเหตุที่ค้างคากับ ก.ล.ต. กรณี “เหรียญไม่ตรงปก” ประกาศล่มดีลดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการล้มดีลของ SCB ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนและเก็งกำไรเหรียญ KUB ที่หวังราคาจะเพิ่มขึ้นหากดีลสำเร็จ แต่เมื่อมีการยกเลิกจึงได้เทขาย KUB ออกมาอย่างหนัก ทำให้ราคาร่วงทันทีกว่า 30% ราคาต่ำสุดที่ 48.59 บาท ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อย ณ เวลา 18.12 (25 ส.ค.) อยู่ที่ 62.03 บาท ลดลงกว่า 16.12% สวนทางกับราคาหุ้น SCB ปรับขึ้นทันที 5 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 110.50 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 6 บาท หรือ 5.74% ซึ่งนับเป็นราคาปิดสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน เมื่อรับทราบข่าวล้มดีลดังกล่าว เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า

ขณะที่วันที่ 26 ส.ค. ราคาเหรียญ KUB อยู่ที่ 56.71 บาทต่อเหรียญ จากระดับ 71.28 บาทต่อเหรียญ (ช่วงเช้าวันที่ 25ส.ค.) คิดเป็นการลดลงของราคาเหรียญประมาณ 20% อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่าการลดลงของราคาเหรียญ KUB จะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่องเพราะข่าวที่เป็นปัจจัยบวกและสร้างสีสันให้กับเหรียญ KUB มากที่สุดหนีไม่พ้นการประกาศเข้าซื้อซื้อหุ้น 51% ใน “บิทคับ ออนไลน์” ของกลุ่มไทยพาณิชย์ เมื่อ 2 พ.ย.2564และปัจจุบันข้อมูลดีๆทางธุรกิจของ “บิทคับ” ในระดับนี้ก็แทบหาไม่เจออีกแล้ว

KUB เสี่ยงสูงถูก ก.ล.ต.สั่งแขวน

คำถามต่อมาคือ เมื่อเหรียญไม่ตรงปก ได้สะท้อนจากราคาเหรียญ KUB ที่ตกต่ำช่วยย้ำชัดถึงคุณสมบัติของเหรียญที่กลุ่ม “บิทคับ” การันตีในคุณภาพและมาตรฐานนั้นไม่ได้เป็นดังราคาคุยที่กล่าวอ้าง เพราะหากเป็นจริงความเชื่อมั่นต่อราคาเหรียญของนักลงทุนย่อมมีมากกว่านี้ และโอกาสในการปรับตัวลดลงย่อมเป็นไปได้น้อย โดยเรื่องดังกล่าวช่วยยืนยันได้ว่าสิ่งที่ ก.ล.ต.ออกมาเตือน และสั่งให้แก้ไขนั้นเป็นเรื่องจริง ขณะที่คุณสมบัติที่ทางกลุ่มได้กล่าวอ้างมาเป็นเพียงแค่การอุปโลกน์ หรือ “คุณสมบัติทิพย์” จากทางผู้บริหารของ “บิทคับ” เท่านั้น

ดังนั้น หากเปรียบเทียบเหรียญ KUB เป็นดั่งอาหาร-เครื่องดื่ม ซึ่งเวลาจะผลิตออกมาจำหน่ายผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอเลข อย.มากำกับเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเมื่อ อย.มีคำสั่งให้แก้ไขสินค้า แต่เจ้าของเครื่องดื่มกลับไม่ยอมแก้ไข ก็ไม่มีหนทางไหนจะเกิดขึ้นนอกจาก ถูก อย.สั่งเก็บสินค้า ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นโอกาสที่เหรียญ KUB จะถูกสั่งเก็บเหมือนสินค้าไร้คุณภาพจาก อย.ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ นำไปสู่ความเสี่ยงที่มีแต่นับวันรอให้เหตุการณ์นั้นมาถึง

เฉกเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ อยู่ภายใต้การควบคุมของ The Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งมีความเข้มงวดและเด็ดขาด หากตรวจสอบพบการกระทำผิด เหรียญไม่ตรงปก ขาดคุณสมบัติจะมีการลงโทษเพิกถอนอย่างแน่นอน หาก ก.ล.ต.ไทย ตรวจพบความผิดครบองค์ประกอบ ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะโดน ก.ล.ต.แขวน หรือเพิกถอน เช่นเดียวกัน

หวังเป็น Digital Hub ต้องแขวน KUB

ขณะเดียวกัน ล่าสุด "ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้คิดการใหญ่เสนอแนะรัฐบาลส่งเสริมโครงสร้างพื้นและและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ความเป็น Digital Hub

หากต้องการรัฐบาลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจจริงจังอย่างที่ "ท๊อป จิรายุส" กล่าวอ้าง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานควบคุมผู้ประกอบการอย่างเข้มงวดด้วยหรือไม่ เพราะการดำเนินธุรกิจจะต้องอยู่นพื้นฐานและกฎกติกาที่ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม สำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ก่อนที่จะพัฒนาก้าวสู่ Digital Hub หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องถาม “ท๊อป จิรายุส” และ ก.ล.ต. ต้องเล่นตามกฎกติกา ไม่มีความผิดครบองค์ประกอบจะต้องใช้มาตรการเด็ดขาดแขวนเหรียญ หรือเพิกถอนเหรียญ KUB ก่อน รวมถึงต้องถอนใบอนุญาตของ “บิทคับ” ด้วยหรือไม่

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 29, 2022 12:33 pm
โดย pakapong_u
มัดตราสัง “บิทคับ” / สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่: 26 ส.ค. 2565 19:11 ปรับปรุง: 26 ส.ค. 2565 19:11 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในที่สุด บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้ประกาศอย่างชัดเจน ยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กับบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565

SCB แจงเหตุผลว่า “บิทคับ ออนไลน์” ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาหาข้อสรุป ผู้ซื้อผู้ขายจึงตกลงร่วมกันยกเลิกข้อตกลงซื้อขายหุ้น

คณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติการเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียน วงเงิน 17,850 ล้านบาท

แต่การตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน รวมทั้งหนี้สินของ “บิทคับ” ยืดเยื้อมายาวนานเกือบ 10 เดือน ท่ามกลางข่าวลือว่า SCB อาจล้มเลิกสัญญาการซื้อหุ้นบิทคับฯ เพราะมีข่าวฉาวโฉ่อย่างต่อเนื่อง และถูก ก.ล.ต.ปรับในฐานความผิดต่างๆ ขณะที่การซื้อขายเก็งกำไรสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีซบเซา ราคาเหรียญสกุลต่างๆ ทรุดฮวบ

SCB แจ้งการล้มสัญญารซื้อขายหุ้นบิทคับฯ ระหว่างพักการซื้อขายหุ้นในรอบเช้า และถือเป็นข่าวดีสำหรับหุ้น SCB แต่เป็นข่าวร้ายของ KUBCOIN ซึ่งออกโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด

ราคาหุ้น SCB พุ่งทะยานขึ้นทันทีหลังเปิดการซื้อขายในภาคบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 110.50 บาท เพิ่มขึ้น 6 บาท มูลค่าซื้อขาย 6,503.99 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดประจำวัน

ขณะที่ราคาเหรีญ KUB ทรุดฮวบลงทันที จากราคาประมาณ 73 บาท ทรุดลงไปแตะ 48 บาท ก่อนจะเด้งขึ้นมาล่าสุดที่ประมาณ 62 บาท โดยไม่อาจคาดการณ์ใดๆ เกี่ยวกับแนวโน้มราคาเหรียญ KUB ได้ เพราะไม่มีปัจจัยในเชิงบวกสนับสนุน นอกจากข่าวร้ายชิ้นใหญ่ ถูก SCB ถอนยวงร่วมลงทุน

ช่วงที่ SCB ประกาศจะซื้อหุ้นบิทคับฯ ถือเป็นเวลารุ่งเรืองสุดขีดของกลุ่มบิทคับ และนายท๊อป หรือจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ถือหุ้นใหญ่บิทคับ โดยราคาเหรียญ KUB ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 584 บาท ก่อนจะทรุดลงเรื่อยมา

การประกาศยกเลิกสัญญาซื้อหุ้นของ SCB เป็นการตอกฝาโลงกลุ่มบิทคับ และเป็นข่าวร้ายที่กระหน่ำซ้ำเติมจนเหรียญ KUB ดิ่งลงเหว หลังจากถูกบริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด MAI ขอยกเลิกการลงทุนในเหรียญ KUB จำนวน 250,000 เหรีญ วงเงินลงทุน 72 ล้าน เพราะกังวลในความผันผวนของราคาเหรียญ

KUB COIN หรือเหรียญ KUB ออกมาจำนวนทั้งสิ้น 110 ล้านเหรียญ มีนักเก็งกำไรคนรุ่นใหม่แห่เข้าไปเล่นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทุนป่นปี้ โดยบางคนยอมตัดขาดทุนและขายทิ้ง แต่บางคนทำใจแบกรับขาดทุนไม่ไหว และทนถือเหรียญไว้ ภายใต้ความหวังว่า สักวันหนึ่งราคาคงฟื้นคืนกลับขึ้นมาใหม่

แต่หมดข่าวดีที่รอคอยสำหรับเหรียญ KUB แล้ว การขอแยกทางของ SCB เป็นการปิดฉากของเงินดิจิทัลที่ “บิทคับ” ผลิตขึ้นมา และตอกย้ำขาลงเต็มตัวของกลุ่ม “บิทคับ” และ KUBCOIN

นักเก็งกำไรที่มีเหรียญ KUB ติดมือไว้ยังมีเวลาที่จะลดความสูญเสีย โดยขายทิ้งเหรียญเสีย ก่อนที่ KUB COIN จะด้อยค่าลงเรื่อยๆ สุดท้ายอาจไร้ค่าเหมือนเหรียญ LUNA

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 29, 2022 9:25 pm
โดย pakapong_u
ธปท. แจ้งรับทราบ SCB ล้มดีล “บิทคับ” ยันก่อนหน้าไม่ได้ยื่นขออนุญาต

ธปท. ได้รับแจ้งเรื่อง SCB ยกเลิกดีล BitKub แล้ว ยันก่อนหน้า “เอสซีบี เอกซ์” ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดคำขออนุญาตที่ครบถ้วนอย่างเป็นทางการ พร้อมย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมของภาคการเงิน ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพโดยรวมและความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจ ธพ.


นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณี บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ล้มเลิกทำสัญญาธุรกรรมซื้อหุ้นใน BitKub Online ในสัดส่วน 51% นั้น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดคำขออนุญาตที่ครบถ้วนอย่างเป็นทางการต่อ ธปท. แต่ ธปท.ได้รับแจ้งเรื่องการยกเลิกดีลดังกล่าวแล้ว

สำหรับในการกำกับดูแลเรื่องนี้ ธปท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมของภาคการเงิน ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพโดยรวมและความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจ ธพ. ทั้งด้านธรรมาภิบาล ความเพียงพอของเงินกองทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงการดูแลผู้ใช้บริการ

โดยเกณฑ์ปัจจุบัน ธปท.อนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset หรือ DA) ได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน เพื่อ

(1) เปิดโอกาสให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการลงทุนเพื่อนำนวัตกรรมมาให้บริการแก่ลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2) ให้ธุรกิจ DA ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจำกัดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อธนาคารพาณิชย์

(3) ให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการและการพัฒนานวัตกรรมของภาคการเงินไทยในที่สุด ทั้งนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการจะมีบริษัทลูกประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ DA ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. ก่อน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ออกมาเพื่อดูแลความเสี่ยงของดีลใดดีลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการดูแลความเสี่ยงในภาพรวมของระบบการเงินเป็นสำคัญ

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 30, 2022 5:11 pm
โดย pakapong_u
ก.ล.ต. ลงโทษ-ปรับผู้บริหาร "บิทคับ บล็อคเชนฯ" ใช้อินไซด์ซื้อเหรียญ KUB




ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 30, 2022 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดราย นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

ก.ล.ต.ได้ติดตามสภาพการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือเรียกว่า Bitkub Exchange ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้แจ้งสารสนเทศผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.53 น. ว่า บล.ไทยพาณิชย์ จะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BCGH) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของบริษัท BO ส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจและคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน

เหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาเหรียญ KUB ที่เสนอขายโดยบริษัท BBT ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทบิทคับและมีความเกี่ยวพันกัน อันเป็นข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัท BBT โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ราคาซื้อขายเหรียญ KUB ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ โดยราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จาก 49.53 บาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลซื้อขายเหรียญ KUB โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับเหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าว ผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า กลุ่มธนาคาร SCB และบริษัท BCGH ได้เริ่มเจรจาการซื้อขายหุ้นของบริษัท BO ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และในระหว่างวันที่ 4 กันยายน ? 2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว นายสำเร็จ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท BBT ได้มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 บาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายในดังกล่าว

การกระทำของนายสำเร็จเป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสำเร็จ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท รวมทั้งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานทั้ง 2 แห่งที่ได้มีการหารือแนวทางการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: อังคาร ส.ค. 30, 2022 7:13 pm
โดย pakapong_u
บิทคับ ยัน ‘สำเร็จ’ ยังนั่งบริหาร หลังก.ล.ต.สั่งห้าม ชี้ไม่ได้รับผลกระทบ
วันที่ 30 สิงหาคม 2565 - 18:20 น.

บิทคับ ประกาศ ‘สำเร็จ วจนะเสถียร’ ยังนั่งตำแหน่งปธ. จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนกฎหมาย หลังก.ล.ต.สั่งห้าม ยันไม่ได้รับผลกระทบ

สืบเนื่อวงจากรณี ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด นายสำเร็จ วจนะเสถียร (นายสำเร็จ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

ต่อมา เฟซบุ๊ก Bitkub Chain ได้เผยแพร่ข้อความ “ประกาศเรื่อง คุณ สำเร็จ วจนะเสถียร CTO ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามปกติ”

สืบเนื่องจากข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 135/2565 เรื่อง ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 1 ราย กรณีซื้อเหรียญ KUB โดยอาศัยข้อมูลภายใน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นั้น บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (“บริษัท”)

ขอแจ้งให้ทราบว่า คุณ สำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer : CTO) ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตามปกติ จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนการทางกฎหมาย โดยบริษัทจะติดตามและเรียนแจ้งให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทราบต่อไป

จากกรณีดังกล่าวบริษัทขอยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนการพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain และการดำเนินการของบริษัท ไม่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

บริษัทขอเรียนให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทราบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain ตามแผนงานที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับสาธารณะชนดังที่นำเสนอผ่านเอกสาร Whitepaper ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ Bitkub Chain เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแรงของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับเครือข่ายบล็อกเชนชั้นนำระดับโลก ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้และสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และโปร่งใสต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 05, 2022 10:57 pm
โดย pakapong_u
อินไซเดอร์ KUB COIN / สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่: 1 ก.ย. 2565 17:11 ปรับปรุง: 1 ก.ย. 2565 17:11 โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปีนี้กลุ่ม “บิทคับ” ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่อย่างต่อเนื่อง ก่อคดีความผิดต่างๆ นับไม่ถ้วน ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ปรับผู้บริหารบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขาย KUB COIN


นายสำเร็จ วัจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด บริษัทในกลุ่ม “BIT KUB” ถูก ก.ล.ต.สั่งปรับเป็นเงิน 8.53 ล้านบาท และห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของผู้เสนอชายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 12 เดือน

ก.ล.ต.ระบุว่า ระหว่างวันที่ 4 กันยายน ถึง 2 พฤศจิกายน 2564 มีการเจรจาซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จำนวน 51% ของทุนจดทะเบียน วงเงิน 17,850 ล้านบาท โดยบล.ไทยพาณิชย์จะเป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีผลต่อราคาเหรียญ KUB


แต่ก่อนจะมีการเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 นายสำเร็จ ได้ซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 ล้านบาท จึงมีความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ตามความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

ราคาเหรียญ KUB ก่อนเปิดเผยข้อมูลการเจรจาซื้อขายหุ้น บิทคับ ออนไลน์ อยู่ที่ 49.53 บาท แต่วันที่ 2 พฤศจิกายน เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้น 101%

การใช้อินไซเดอร์แสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายเงินดิจิทัลเพิ่งเกิดขึ้นเป็นคดีแรก กรณีของนายสำเร็จ ซึ่งตอกย้ำความไม่โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจสินรัพย์ดิจิทัลของกลุ่ม “บิทคับ” ซึ่งมีนายท็อป หรือ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” เป็นหัวเรือใหญ่

เพราะก่อนหน้าบริษัทในกลุ่ม “บิทคับ” ถูก ก.ล.ต.ปรับในความผิดมากมาย รวมทั้งการสร้างมูลค่าซื้อขายเหรียญเทียม หรือปั่นมูลค่าซื้อขายเหรียญ สร้างภาพลวงตาว่ามีผู้ซื้อขายเหรียญจำนวนมาก

การที่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ตัดสินใจล้มธุรกรรมการซื้อขายหุ้น “บิทคับ ออนไลน์” มูลค่า 17,850 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมของกลุ่ม “บิทคับ” จนถูก ก.ล.ต.เฝ้าจับตา

จุดสูงสุดของท็อป จิรายุส ผ่านพ้นไปแล้ว เช่นเดียวกับความรุ่งเรืองสุดขีดของกลุ่มบิทคับ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปิดฉากลง และกำลังเดินเข้าสู่ความตกต่ำ

ทั้งธุรกิจ ภาพลักษณ์ จนคนที่เคยโหนกระแส "นายท็อป จิรายุส" ทยอยกันโดดหนี ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย

ชะตากรรมของบิทคับจะเป็นอย่างไรไม่เกี่ยวกับสาธารณชนเท่าไหร่นัก เพราะผู้ถือหุ้นเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว และผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว

ถ้าบิทคับจะต้องล่มสลาย ล้มหายตายจาก คงไม่ส่งผลกระทบต่อศูนย์ซื้อขายหรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก

แต่ราคาเหรียญ KUB ที่ผลิตออกมาจำนวน 110 ล้านเหรียญของกลุ่มบิทคับ เกี่ยวข้องกับหายนะของนักเก็งกำไรนับหมื่นคน

ราคาเหรียญ KUB เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 584 บาท หลัง บล.ไทยพาณิชย์ประกาศซื้อหุ้นบิทคับฯ แต่หลังจากนั้นรูดลงมาตลอด และรูดลงเหลือประมาณ 40 บาทเศษ เมื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกาศล้มดีล ยกเลิกการซื้อหุ้น

KUB COIN หรือเหรียญ KUB มีแนวโน้มที่อาจล่มสลายไร้ค่าเหมือนเหรียญ LUNA


แต่ยังไม่สายจนเกินไปสำหรับคนที่หลวมตัวเข้าไปเล่น และยังถือเหรียญ KUB อยู่ในมือ

เพราะวันนี้ยังมีราคาให้ขาย KUB COIN อยู่ แม้จะขาดทุนย่อยยับก็ตาม แต่วันหน้าขายราคาเท่าไหร่อาจไม่มีใครซื้อ

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 05, 2022 10:58 pm
โดย pakapong_u
คริปโตฯ สู่จุดล่มสลาย / สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่: 5 ก.ย. 2565 15:48 ปรับปรุง: 5 ก.ย. 2565 15:48 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่งโรจน์มาหลายปี แต่ปีนี้หายนะได้ย่างกรายเข้ามา ถูกมรสุมรุมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ราคาเหรียญทุกสกุลของโลกดิ่งลงเหว จนนักเก็งกำไรขาดทุนย่อยยับ

เช่นเดียวกับคริปโตฯ ในประเทศ ซึ่งกำลังเกิดความระส่ำระสาย ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญหรือโบรกเกอร์ซื้อขายเหรียญ และราคาเหรียญสกุลไทย รวมทั้งธุรกรรมการซื้อขายที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

การสร้างกระแสคริปโตฯ โดยเฉพาะการตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ หรือเหรียญสกุลต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นับสิบแห่ง ซึ่งมีเป้าหมายในการปั่นราคาหุ้น โดยบางบริษัทอาจเข้าข่ายสร้างเหมืองทิพย์ แหกตานักลงทุนเท่านั้น


แม้แต่กลุ่มมิจฉาชีพยังอาศัยกระแสตื่นตัวของผู้คนที่หวังความร่ำรวยจากคริปโตฯ ตั้งแชร์ลูกโซ่ หลอกลวงคนนับพันคน สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท

และแม้แต่ผู้ประกอบการคริปโตฯ ก็ไม่ได้ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา แต่กลับใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ ซื้อขายคริปโตฯ เอาเปรียบประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น ยังมีการสร้างมูลค่าการซื้อขายเทียบหรือปั่นมูลค่าการซื้อขายเหรียญ เพื่อลวงตาให้ประชาชนรู้สึกว่ามีผู้เล่นคริปโตฯ จำนวนมาก ทั้งที่ปัจจุบันเหลือผู้เล่นน้อยมาก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานสถานการณ์ธุรกิจคริปโตฯ ล่าสุด ระบุว่า เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลคาการซื้อขายคริปโตฯ ในประเทศเหลือเพียง 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าซื้อขายต่ำสุดนับจากต้นปี

ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2564 มีมูลค่าซื้อขายคริปโตฯ รวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนราคาเหรียญนับจากต้นปี ปรากฏว่า เหรียญ KUB COIN ราคาลดลงมากที่สุด 88% รองลงมาคือเหรียญอีเทอเรียม ราคาลดลง 61% และบิตคอยน์ลดลง 56%

สำหรับจำนวนผู้เปิดบัญชีซื้อขายเหรียญ แม้จะเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน แต่จำนวนผู้ที่ซื้อขายต่อเนื่องมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนผู้เปิดบัญชี

ธุรกิจคริปโตฯ แทบทุกมิติกำลังตกต่ำ ผู้ประกอบการมีแต่ข่าวฉาวโฉ่ ภาพลักษณ์มีแต่ด้านลบ ราคาเหรียญทรุดถ้วนหน้า บิตคอยน์ที่เคยพุ่งสูงสุด 69,000 ดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดมีแนวโน้มจะต่ำกว่า 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีมูลค่าการซื้อขายเหรียญลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สะท้อนให้เห็นว่า นักเก็งกำไรที่ยังไม่ล้มหายตายจาก หรือหมดเนื้อหมดตัวจากคริปโตฯ เริ่มถอยห่างจากการเล่นเงินในอากาศ และแม้จะมีนักเก็งกำไรหน้าใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ซื้อขายเหรียญมากนัก

คริปโตฯ เดินเข้าสู่ขาลงเต็มตัว โดยเฉพาะราคาเหรียญทุกสกุลในโลก แม้แต่บิตคอยน์ เหรียญที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งไม่อาจทำนายได้ว่า ราคาจะดิ่งลงถึงไหน

สำหรับเหรียญสกุลไทย ไม่ว่าจะพยายามใช้ลูกเล่นอะไรเพื่อพยุงราคาไม่ให้ร่วงติดพื้น แต่คงไม่อาจต้านทานแนวโน้มราคาที่ใกล้ถึงจุดไร้ค่าได้ รวมทั้ง KUB COIN ที่หาทางลดปริมาณเหรียญในตลาดลง โดยให้ผู้ถือเหรียญนำเหรียญมาฝากเป็นเวลา 1 ปี แลกกับโบนัส 13%

จนเหรียญ KUB ที่รูดลงเหลือประมาณ 39 บาท ถูกลากขึ้นมาแถว 60 บาท

ความหวังที่จะร่ำรวยในชั่วข้ามคืน นำพาให้นักเก็งกำไรทั่วโลกวายวอด จนยุคตื่น “COIN” กำลังปิดฉากลง


ไม่น่าจะมีใครเพ้อฝัน อยากรวยจากการเล่นคริปโตฯ อีก ไม่น่าจะมีนักเก็งกำไรหน้าใหม่สักเท่าไหร่ที่จะเข้าไปเสี่ยงดวงกับเงินดิจิทัล

นายหน้าซื้อขาย COIN จากนี้ไปหากินยากแล้วล่ะ

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 05, 2022 10:59 pm
โดย pakapong_u
ก.ล.ต.เข้มโฆษณา "คริปโต" ทำได้ผ่านช่องทางการของบริษัทเท่านั้น
เผยแพร่: 1 ก.ย. 2565 15:43 ปรับปรุง: 1 ก.ย. 2565 15:43 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักงานก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์โฆษณาคริปโตเคอร์เรนซี ทำได้ผ่านช่องทางที่เป็นทางการของบริษัทเท่านั้น ย้ำต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือนหรือปิดบังสาระสำคัญ ระบุความเสี่ยง และต้องแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่อ ก.ล.ต. พร้อมยกเลิกให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (IBA) ของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการคริปโตเคอร์เรนซี มีผลบังคับ 1 ก.ย.นี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 และสำหรับโฆษณาที่มีมาก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับต้องแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ในวงกว้าง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้พบประเด็นปัญหาจากการโฆษณา เช่น ไม่มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของคริปโตเคอร์เรนซีซึ่งมีความผันผวนสูง หรือคำเตือนมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงเนื้อหาโฆษณาที่แสดงข้อมูลเพียงด้านบวก จึงอาจเป็นการชักชวนประชาชนใช้บริการหรือซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมก่อนตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้


ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตามหลักการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการโฆษณาให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขาย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การโฆษณาต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ ให้ระบุเฉพาะจำนวนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบัญชีและพร้อมใช้บริการแล้วเท่านั้น

2.กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการโฆษณา รวมถึงรายละเอียดการจ้างบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ (blogger หรือ influencer) ต่อ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่กำหนด

3.กำหนดให้มีคำเตือนความเสี่ยงในการลงทุนประกอบการโฆษณา โดยรูปแบบการนำเสนอต้องชัดเจน และสังเกตได้ง่าย ต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน โดยหากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view)

4.กำหนดให้การโฆษณาคริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การโฆษณาคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูงเข้าถึงประชาชนเป็นวงกว้าง และป้องกันไม่ให้เกิดการส่งเสริมหรือการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อขายแบบฉับพลัน (impulsive buying) ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ


5.กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้จัดทำโฆษณา หรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งรวมถึงบริษัทในกลุ่ม บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ และผู้ที่มีบทบาทหลักที่ปรากฏในโฆษณา ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

6.ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (introducing broker agent: IBA) ของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการคริปโตเคอร์เรนซี สำหรับการให้บริการโทเคนดิจิทัลยังจัดให้มี IBA ได้

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป โดยได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาล สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ให้ปรับปรุงหรือแก้ไขการโฆษณาดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 05, 2022 11:00 pm
โดย pakapong_u
"บิทคับ" ดิ้นดึงรายย่อยพยุง "KUB" ชวนลูกค้าล็อกเหรียญ 1 ปีแลกโบนัส 13% หลังดีล "เอสซีบีเอกซ์" ล่มราคาร่วงหนัก
เผยแพร่: 1 ก.ย. 2565 16:42 ปรับปรุง: 1 ก.ย. 2565 16:42 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"บิทคับ" อัดแคมเปญ "KUB TO THE MARS" ชักชวนลูกค้าล็อกเหรียญ KUB นาน 365 วัน แลกโบนัสสูงสุด 13% หวังช่วยพยุงราคาเหรียญ หลังเจอมรสุมถล่มฉุดราคาร่วงหนักต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 42.84 บาท ลดลงกว่า 14.10%

รายงานข่าวแจ้งว่า เพจ Bitkub Chain ได้ออกประกาศโฆษณา "KUB TO THE MARS" หรือ ยานลำแรกพร้อมเดินทางสู่ดาวอังคารแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถล็อก KUB รับ KUB นาน 365 วัน พร้อมรับอัตราโบนัสสูงสุด 13% และ Exclusive NFT Airdrop เฉพาะที่ Bitkub NEXT เท่านั้น

สำหรับรอบแรกสามารถเริ่มล็อกได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เวลา 12.00 น. - 7 กันยายน 2565 เวลา 23.59 น. โดยจะเปิดให้ล็อกสูงสุด 3,846,154 KUB



จากประเด็นดังกล่าวได้มีการตั้งข้อสังเกตุว่า แคมเปญการล็อก KUB เกิดขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนรายย่อยทั่วไปนำเหรียญมาฝากไว้ เพื่อเป็นการช่วยพยุงราคาเหรียญไม่ให้ลดลงไปกว่านี้หรือไม่

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัจจุบัน "บิทคับ" เจอปัจจัยลบเข้ามากระหน่ำอย่างหนัก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทำให้เหรียญ KUB ลดลงอย่างหนักและต่อเนื่อง อาทิ กรณีที่บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ ประกาศยกเลิกสัญญา และขอยกเลิการลงทุนเหรียญ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72,949,815 บาท

ต่อมา มรสุมลูกใหญ่สุดคือ กรณีที่กลุ่มเเอสซีบีเอกซ์ ได้ประกาศล้มดีลซื้อหุ้น "บิทคับ" ในสัดส่วน 51% มูลค่ากว่า 1.78 หมื่นล้าน ทำให้ราคา KUB ปรับตัวลดลงหนักทันทีกว่า 30% ในวันที่ประกาศล้มดีล จากก่อนหน้าที่เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 70-80 บาท เนื่องจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนซื้อเหรียญ KUB ต่างเข้ามาเก็งกำไรจากราคาเหรียญ จะพุ่งสูงขึ้นเมื่อดีลนี้สำเร็จ เมื่อมีประกาศล้มดีลจึงเทขายออกมาอย่างหนักกดราคาเหรียญ KUB ลดลงต่อเนื่อง


ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออกคำสั่งปรับนายสำเร็จ วจนะเสถียร (นายสำเร็จ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ใช้ข้อมูลภายในการร่วมดีลระหว่างเอสซีบีเอกซ์ และบิทคับ ซื้อเหรียญ KUB โดยปรับจำนวนกว่า 8.53 ล้านบาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารรายดังกล่าวยังไม่ยอมรับผิด ยืนยันจะนั่งเป็นผู้บริหารต่อไป พร้อมเตรียมต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ด้านความเคลื่อนไหวราคา KUB ในวันนี้ (1 ก.ย.) ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ราคาต่ำสุดที่ 41.65 บาท ขยับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 42.84 บาท (ณ เวลา 15.50 น.) ปรับตัวลดลงกว่า 14.10% จากราคาในรอบ 24 ชม.

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่า การจูงใจนักลงทุนรายย่อยในแคมเปญ "KUB TO THE MARS" เพื่อล็อกเหรียญเป็นเวลา 1 ปี ครั้งนี้ จะสามารถช่วยพยุงราคาเหรียญไม่ให้ตกไปมากกว่านี้ได้หรือไม่ หลังจากที่ "บิทคับ" หมดรอบข่าวดีที่จะเข้ามาสนับสนุน แถมยังมีปัจจัยลบออกมากระหน่ำอย่างไม่รู้จบ

Re: BITKUB

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.ย. 05, 2022 11:01 pm
โดย pakapong_u
จ่อส่งอัยการฟ้องศาล "สำเร็จ-บิทคับ" หากดื้อแพ่งไม่จ่ายค่าปรับภายใน 17 วัน
เผยแพร่: 4 ก.ย. 2565 22:19 ปรับปรุง: 4 ก.ย. 2565 22:19 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ก.ล.ต. ขีดเส้นตาย "สำเร็จ-บิทคับ" จ่ายค่าปรับภายใน 17 วัน กรณีใช้ข้อมูลอินไซด์ดีล "เอสซีบีเอกซ์" ซื้อเหรียญ KUB Coin หากดื้อแพ่งเตรียมส่งอัยการฟ้องศาลดำเนินการเอาผิดขั้นสูงสุด เผยตั้งแต่ปี 60 มีผู้ถูกกล่าวหาคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผู้กระทำผิดทั้งหมด ส่วนใหญ่แพ้ในชั้นศาลเกือบทุกคดี


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย ความคืบหน้ากรณี ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ BBT ใช้ข้อมูลภายในซื้อ โทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) เป็นจำนวนเงิน 8,530,383 บาท และห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในธุรกิจประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 12 เดือน ว่า เบื้องต้น ก.ล.ต.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนายสำเร็จ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 หลังจากนั้นภายใน 10 วันจะต้องมาพบ ก.ล.ต. เพื่อรับทราบรายละเอียด และมีเวลาให้อีก 7 วันในการชำระค่าปรับ

ทั้งนี้ หากครบเวลาที่กำหนดไว้ นายสำเร็จไม่ชำระค่าปรับ ถ้าไม่ยินยอม ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด


สำหรับกรณีที่นายสำเร็จ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันไม่รับทราบข้อมูลดีลระหว่าง เอสซีบีเอกซ์ และบิทคับนั้น การเข้าซื้อ KUB เป็นเพียงการซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว และใช้แลกค่าฟีการเทรดใน Exchange เท่านั้น น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า สำนักงานก.ล.ต. และ ค.ม.พ. ได้พิจารณารายละเอียดที่นายสำเร็จได้ชี้แจงมาก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ จึงนำเรื่องเสนอให้บอร์ดก.ล.ต. พิจารณา ซึ่งบอร์ดก.ล.ต. มีมติเห็นชอบตามที่เสนอไป ส่วนการต่อสู้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ค.ม.พ. ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิรวม 5 ท่าน ได้แก่ 1.อัยการสูงสุด 2.ปลัดกระทรวงการคลัง 3.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 4.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ 5.เลขาธิการ ก.ล.ต.

ด้านนายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการสายบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งของ ก.ล.ต.นับตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน ผู้ถูกกล่าวโทษส่วนมากจะยอมรับมาตรการลงโทษจากก.ล.ต. มีสัดส่วนเพียงประมาณ 20% ที่ไม่ยินยอม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วง 1-2 ปีแรก แต่หลังจากนั้นสัดส่วนจะลดลงเหลือประมาณ 10% เท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งเกือบทุกคดีศาลจะพิจารณาสอดคล้องกับเอกสารหลักฐานที่ ก.ล.ต. เสนอไป และจะพิพากษาให้รับโทษในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย


ส่วนความคืบหน้าการพิจารณากรณีที่บอร์ด ก.ล.ต.มีคำสั่งให้ "บิทคับ" ดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่ตนเองให้คะแนนสูงเกินมาตรฐานอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงทำให้ขาดคุณสมบัติเข้ามาเทรดในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล นั้น น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานที่ได้รับจากบิทคับ เมื่อคณะทำงานตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอให้บอร์ด ก.ล.ต.พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65 เนื่องจากขาดสภาพคล่องหลังนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า Zipup+ ไปฝากไว้ที่ “ซิปเม็กซ์ โกลบอล” ในประเทศสิงคโปร์ และได้นำไปลงทุนบริษัทบาเบลล์ ไฟแนนซ์ และเซลเซียส นั้น น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้เปรียบเทียบปรับ ซิปเม็กซ์ ใน 2 กรณี รวมเป็นเงิน 1.92 ล้านบาท

สำหรับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ผู้เสียหายกว่า 6 หมื่นคนนั้น ตอนนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเอาผิดซิปเม็กซ์ฐานประกอบธุรกิจอื่น และได้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อดำเนินการเอาผิดกับบริษัทในฐานความผิดอื่นนอกเหนือจากความผิดภายใต้พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมถึงการติดตามกระบวนการพักชำระหนี้ที่ ซิปเม็กซ์ จะจัด Townhall ในวันที่ 14 ก.ย.นี้