หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ปิโตรเคม..ีปัญหาขาดแคลนน้ำอาจส่งผลกระทบต้องลดกำลังการผลิตลง

โพสต์แล้ว: อังคาร มิ.ย. 21, 2005 10:49 am
โดย tom
ลอกมาจาก กิมเอ็งครับ
อ่านแล้วโปรดใช้วิจารณญาณด้วยตรับ
เสียสติแต่อย่าให้เสียสตังค์..
ปัญหาขาดแคลนน้ำอาจส่งผลกระทบให้ต้องลดกำลังการผลิตลง

จากปัญหาการขาดแคลนน้ำในจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งวิกฤตที่สุดในรอบ 15 ปี จนทำให้ในเบื้องต้นต้องขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดระยองและชลบุรี ให้ลดการใช้น้ำลง 10 % เนื่องจากเวลานี้ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ไม่สามารถจัดส่งน้ำให้ได้ตามปริมาณตามที่ต้องการแล้ว เนื่องจากปริมาณแหล่งน้ำดิบ 3 แห่ง ได้แก่ หนองปลาไหล หนองค้อ และดอกกราย อยู่ในขั้นวิกฤต มีปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 41.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีน้ำจ่ายได้เพียง 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และหนองค้อจ่ายได้ 3-4 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้กับลูกค้าได้เพียง ไม่เกิน 45 วัน หรือจัดส่งให้ได้ในปริมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากไม่มีฝนตกลงมาในเดือนสิงหาคม จะทำให้ไม่มีน้ำที่จะส่งให้กับลูกค้าได้

เราได้สอบถามผลกระทบไปยังบริษัทในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรวมไปถึงประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วพบว่า กลุ่มปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งแม้ในตอนนี้จะยังไม่เห็นผลกระทบเนื่องจากว่ายังคงผลิตได้เต็มกำลังการผลิต แต่ถ้าภายใน 2-3 อาทิตย์ข้างหน้าฝนไม่ตกเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำกลับมาสู่ระดับปกติ มีความเป็นไปได้ที่บริษัทในนิคมมาบตาพุดไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปิโตรเคมี (ATC, NPC, TOC, TPC, VNT, SCC) , โรงกลั่น ( RRC, RPC และ SPRC ) และโรงไฟฟ้า (EGCOMP, GLOW) จะต้องลดกำลังการผลิตลงอย่างมากและในกรณีที่เลวร้ายสุดอาจจะต้องหยุดเดินเครื่องหากไม่มีน้ำเพียงพอ เราคาดว่าลำดับความสำคัญของการลดการใช้น้ำจะต้องลดที่โรงงานปิโตรเคมีก่อนแล้วมาโรงกลั่น สุดท้ายจึงมาที่โรงแยกก๊าซของ PTT และ โรงไฟฟ้า (ซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากหากต้องลดกำลังการผลิตลง) อนึ่งแม้ว่า TPI จะไม่อยู่ในนิคมฯ มาบตาพุดแต่โรงงานก็ตั้งอยู่ที่ระยอง ซึ่งแม้จะมีแหล่งน้ำของตัวเองแต่ก็คาดว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะทำให้แหล่งน้ำที่มีไม่เพียงพอใช้อยู่ดีหากฝน ไม่ตกมากพอในช่วงต่อจากนี้

หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำในกลุ่มปิโตรเคมีเรียงตามลำดับกระทบจากมากไปน้อยมีดังนี้ : VNT, NPC, TOC, TPC, ATC, TPI ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ชะลอการลงทุนหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีไว้ในระยะสั้นเพื่อดูสถานการณ์ระดับน้ำอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ผลกระทบต่อประมาณการผลกำไรและราคาที่เหมาะสมรวมถึงคำแนะนำรายตัวต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หลังทราบข้อมูลว่าจะต้องลดกำลังการผลิตหรือไม่ โดยหากฝนยังตกไม่เพียงพอหรือการทำฝนเทียมยังไม่เพียงพอก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการลดการใช้น้ำลง 40% ภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรายได้และผลกำไรของบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีเลยแม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์อาจจะเพิ่มขึ้นมาทดแทน กำลังการผลิตที่หายไปก็ตามและในกรณีที่แย่จริงๆ นั้นเราคาดว่าบางโรงงานปิโตรเคมีอาจจะต้องมีการหยุดผลิตเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอใช้ ดังนั้นปัญหาขาดแคลนน้ำซึ่งดูเหมือนไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่กำลังจะส่งผลกระทบอย่างมากมายหากฝนยังไม่ตกในปริมาณที่พอเพียงใน 1-2 สัปดาห์นี้

จากรายงานที่ทาง บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW ได้เปิดเผยว่าทางบริษัทได้ร่วมหารือกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอความร่วมมือให้ไปประสานโรงงานที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดระยองและชลบุรี ที่เป็นลูกค้าของ EASTW ให้ลดการใช้น้ำลง 10 % โดยให้ไปจัดตารางการใช้น้ำและการบำรุงรักษา เพื่อลดการสูญเสียน้ำ และใช้น้ำตามบ่อของโรงงานเองบางส่วน เพื่อชะลอการใช้น้ำในอ่างลง ทั้งนี้เนื่องจากเวลานี้บริษัทไม่สามารถจัดส่งน้ำให้ได้ตามปริมาณตามที่ต้องการแล้ว เนื่องจากปริมาณแหล่งน้ำดิบ 3 แห่ง ได้แก่ หนองปลาไหล หนองค้อ และดอกกราย อยู่ในขั้นวิกฤต มีปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 41.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีน้ำจ่ายได้เพียง 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และหนองค้อจ่ายได้ 3-4 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้กับลูกค้าได้เพียง ไม่เกิน 45 วัน หรือจัดส่งให้ได้ในปริมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากไม่มีฝนตกลงมาในเดือนสิงหาคม จะทำให้ไม่มีน้ำที่จะส่งให้กับลูกค้าได้

โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ทางบริษัทต้องเฝ้าติดตามภาวะการใช้น้ำและสภาพอากาศเป็นพิเศษสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ว่าจะมีฝนตกลงมาหรือไม่ ซึ่งหากสถานการณ์เลวร้ายลงอีก ทางบริษัทคงต้องหามาตรการลดการจำหน่ายให้กับลูกค้าลงจากที่เป็นอยู่อีก จนถึงขั้นไม่สามารถจ่ายน้ำได้อีกต่อไป เพื่อเป็นการรักษาอ่างเก็บน้ำไม่ให้น้ำหมดไป ซึ่งจะเป็นการยากภายหลังหากจะต้องฟื้นสภาพอ่างเก็บน้ำขึ้นมาจ่ายน้ำให้กับผู้ประกอบการ

ปริมาณการใช้น้ำปกติอยู่ที่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และได้เริ่มลดการจ่ายน้ำให้ลูกค้าลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้นเดือนมิถุนายนเหลือ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงขนะนี้เหลือเพียง เหลือเพียง 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เนื่องจากกรมชลประทานได้ขอให้บริษัทลดการจ่ายน้ำให้ลูกค้าลง พร้อมกับไม่ปล่อยน้ำให้กับการเกษตรกรแล้ว และต้องทยอยปล่อยน้ำเพื่อเลี้ยงลำน้ำซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมท้ายน้ำบางส่วนที่ต้องการใช้น้ำอยู่ เพราะกรมชลประทานต้องการยืดการใช้น้ำให้ผ่านเดือนกรกฎาคมไป เนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยในช่วงนี้ฝนตกเฉลี่ยรวมฝนเทียมเพียงวันละประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตร ในขณะที่นิคมมาบตาพุดใช้น้ำวันละประมาณ 7 แสนลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณแหล่งน้ำดิบ 3 แห่ง ได้แก่ หนองปลาไหล หนองค้อ และดอกกราย อยู่ในขั้นวิกฤต มีปริมาณน้ำให้งานได้เพียง 41.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือใช้ได้อีกเพียงประมาณ 45-60 วัน

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้หารือกับทางกรมชลประทานเพื่อขอน้ำจากคลองทับมา ซึ่งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาตาพุด และอยู่ใกล้แนวท่อ ดึงมาจ่ายให้ลูกค้าเป็นการเสริม เพื่อชะลอการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของบริษัทแล้ว และได้ติดต่อกับสำนักฝนหลวงเพื่อขอทำฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยหวังว่าจะทำให้มีฝนตกและมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งได้ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ต่างๆ มีฝนตกทั่วแล้ว หากระดมช่วยทำฝนเทียมที่เวลานี้ใช้เครื่องบินถึง 6-8 ลำ คิดว่าจะผ่านวิกฤตไปได้ อีกทั้ง และมีความหวังว่าเมื่อถึงเดือนสิงหาคม จะมีฝนตกมาเหมือนที่เป็นอยู่ทุกปี ซึ่งจะทำให้วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำจะกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนมีฝนตกมาเพียง 30-40 มิลลิเมตร แต่ที่ต้องการจะอยู่ที่ 100 มิลลิเมตร จะช่วยให้มีน้ำเพิ่มขึ้นได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากผลดังกล่าวทำให้เราปรับน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มปิโตรเคมีจาก เป็นกลาง สู่ เป็นลบ เนื่องจากความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทในกลุ่มต้องลดกำลังการผลิตลงได้ไม่มากก็น้อยหรือ ถ้าวิกฤตมากก็อาจต้องหยุดโรงงานจนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ขึ้นอยู่กับว่าจะมีปริมาณฝนตกลงมามากเพียงพอ หรือไม่ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ทำให้เราเชื่อว่าราคาหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงได้อีกจากปัญหาขาดแคลนน้ำดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะขยายวงกว้าง และส่งผลลบไปจนกว่าจะทราบว่าต้องลดกำลังการผลิตหรือหยุดโรงงานในปลายเดือนนี้หรือไม่

ATC : ได้รับผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากกระบวนการผลิตใช้น้ำไม่มากนักและบริษัทยังสามารถนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาหมุนเวียนใช้ได้อีก (Recycle) แต่อาจกระทบในแง่ที่ลูกค้าของบริษัทที่อาจใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมากอาจต้องลดกำลังการผลิตลง ทำให้บริษัทอาจจำหน่ายสินค้าได้ลดลงตาม ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และผลกำไรของบริษัทได้

NPC : ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากโดยปกติแล้วกระบวนการผลิตโอเลฟินส์จะมีหน่วยทำความเย็นที่เรียกว่า Quenching unit ซึ่งใช้น้ำค่อนข้างมากในการลดอุณหภูมิผลิตภัณฑ์ลง ดังนั้นหากน้ำไม่เพียงพออาจทำให้หน่วยดังกล่าวจะต้องลดกำลังการผลิตลง นอกจากนั้นบริษัทยังมีการจำหน่ายไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งประกอบด้วย น้ำใส (Treated Water) น้ำประปา (Potable Water) และน้ำปราศจากเกลือแร่ (Deminerlized Water) ให้แก่กลุ่มโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่อง ไอน้ำเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตโอเลฟินส์และกระบวนการผลิตไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อนร่วม รวมทั้งหน่วยไฟฟ้าอิสระที่ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยมีกำลังการผลิต 340 เมตริกตันต่อชั่วโมง ซึ่งต้องใช้น้ำพอสมควรในการผลิตไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม แม้ว่ารายได้จากการจำหน่ายไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับโอเลฟินส์ก็ตาม

TOC : ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากโดยปกติแล้วกระบวนการผลิตโอเลฟินส์จะมีหน่วยทำความเย็นที่เรียกว่า Quenching unit ซึ่งใช้น้ำค่อนข้างมากในการลดอุณหภูมิผลิตภัณฑ์ลง ดังนั้นหากน้ำไม่เพียงพออาจทำให้หน่วยดังกล่าวจะต้องลดกำลังการผลิตลง นอกจากนั้นแล้วลูกค้าของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมที่อาจใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมากอาจต้องลดกำลัง การผลิตลงด้วยทำให้บริษัทอาจจำหน่ายสินค้าได้ลดลงตาม

TPC : ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากบริษัทต้องใช้ไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิต PVC โดยซื้อไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมจาก NPC ซึ่งหาก NPC ผลิตไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้น้อยลงก็จะกระทบต่อเนื่องมาถึงกำลังการผลิตของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทมีทางเลือกที่จะทำการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานก่อนกำหนดได้เนื่องจากว่าโดยปกติบริษัทจะมี การหยุดซ่อมบำรุงโรงงานประจำปีในช่วงไตรมาส 3 - ไตรมาส 4 อยู่แล้วซึ่งอาจจะเลื่อนขึ้นมาก่อนเพื่อลดผลกระทบได้บางส่วน

TPI : ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากบริษัทมีทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมีแบบครบวงจร ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจใช้น้ำค่อนข้างมากในกระบวนการผลิต แม้ว่า TPI จะไม่อยู่ในนิคมฯ มาบตาพุดแต่โรงงานก็ตั้งอยู่ที่ระยอง ซึ่งแม้จะมีแหล่งน้ำของตัวเองแต่ก็คาดว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะทำให้แหล่งน้ำที่มีไม่เพียงพอใช้อยู่ดีหากฝนไม่ตกมากพอในช่วงต่อจากนี้

VNT : ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากบริษัทต้องใช้ไอน้ำและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิต PVC ซึ่งกระบวนการผลิต PVC ของบริษัทเป็นแบบโรงงานคลอร์อัลคาไล หรืออิเลคโตรไลซิส โดยโรงงานคลอร์อัลคาไลจะผลิตคลอรีนซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตวีซีเอ็ม และให้ผลิตภัณฑ์ร่วมคือ โซดาไฟ (ในอัตรา 0.67 ตัน/การผลิตพีวีซีทุกๆ 1 ตัน) และยังให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นคือ ก๊าซไฮโดรเจน และสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ซึ่งในกระบวนการอิเลคโตรไลซิสจะใช้น้ำค่อนข้างมากในการแยกคลอรีนออกมา ดังนั้นถือได้ว่า VNT ได้รับผลกระทบในการผลิต PVC มากกว่า TPC ซึ่งผลิต PVC เหมือนกัน

SCC : ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากบริษัทมีโรงงานปิโตรเคมีทั้งต้นน้ำ (ระยองโอเลฟินส์ : ROC) และปลายน้ำ (โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เช่น TPE, HMC) ซึ่งโรงงานดังกล่าวต่างใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก ซึ่งหากโรงงานต้องลดกำลังการผลิตลงจะส่งผลให้ธุรกิจปิโตรเคมีของ SCC ซึ่งในปัจจุบันทำสัดส่วนกำไรให้กับ SCC ประมาณ 50% ได้รับผลกระทบจนรายได้และผลกำไรอาจจะลดลงได้

ปิโตรเคม..ีปัญหาขาดแคลนน้ำอาจส่งผลกระทบต้องลดกำลังการผลิตลง

โพสต์แล้ว: อังคาร มิ.ย. 21, 2005 2:07 pm
โดย tk
เมื่อเช้าฟังพยากรณ์อากาศ เขาว่าภาคตะวันออก ฝนจะตกประมาณ80%ของพื้นที่ น่าจะบรรเทาได้ระดับนึงนะครับ :mrgreen: