ทรรศนะทางด้านบัญชีกับ Deal ชินคอร์ปโดย ดร.ภาพร
โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 20, 2006 12:51 am
ผมอ่านแล้วน่าสนใจดีครับ จากกรุงเทพธุรกิจ Bizweek
ฉบับปัจจุบัน ลองอ่านกันดูนะครับ
ฉบับปัจจุบัน ลองอ่านกันดูนะครับ
โค้ด: เลือกทั้งหมด
ขายหุ้นชิน ภาษีก็เรื่องหนึ่ง บัญชีก็อีกเรื่องหนึ่ง ดร.ภาพร เอกอรรถพร ก่อนที่ตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์จะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัทเทมาเส็กแห่งสิงค์โปร์ ได้มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น นั่นคือ อยู่ๆ ก็มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ให้ลูกชายลูกสาวนายกฯ จำนวน 329.6 ล้านหุ้น ด้วยราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท (เป็นจำนวนเงิน 329.6 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นหุ้นชินคอร์ปมีราคาซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณหุ้นละ 49 บาท (เป็นจำนวนเงินกว่า 15,000 ล้านบาท) เมื่อซื้อหุ้นชินคอร์ปมาแล้ว ลูกชายลูกสาวนายกฯ ก็นำหุ้นที่ซื้อมาบวกกับหุ้นที่ถืออยู่ไปขายให้กับบริษัทเทมาเส็กในไม่กี่วันต่อมา การณ์ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปรายนี้มีชื่อว่า บริษัทแอมเพิล ริช (รวยเหลือเฟือ) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิน (ที่พึ่งยามมีของนักฟอกหุ้นและฟอกเงิน) ซึ่งคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นผู้เปิดประเด็นให้สาธารณชนทราบ หลังจากนั้น คุณสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตรได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน (โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน) ข้อมูลที่ได้รับจากคุณสุวรรณ ประกอบกับภาพวาดของท่านอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ (ดู ทักษิณละเมิด ธรรมนูญแผ่นดิน!) ทำให้เราสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปได้ดังนี้ บริษัทแอมเพิล ริช จัดตั้งขึ้นโดยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 (ขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี) นายกฯ ทักษิณนำหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 32.9 ล้านหุ้นๆ ละ 10 บาท (ก่อนที่จะแตกเป็น 329.6 ล้านหุ้นๆ ละ 1 บาท) ไปขายให้บริษัทแอมเพิล ริช (ไม่ทราบว่าเป็นวันที่เท่าไร) นายกฯ ทักษิณ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่เหลืออยู่จำนวน 32.9 ล้านหุ้น (จำนวนเท่ากับที่บริษัทแอมเพิล ริช ถืออยู่) ในเดือนกันยายน 2543 นายกฯ ทักษิณและภริยาถูกกล่าวหาว่าซุกหุ้นไว้กับคนในบ้าน แต่ในที่สุดได้รับคำตัดสินว่า บกพร่องโดยสุจริต ในเดือนเดียวกัน นายกฯ ทักษิณและภริยาโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้กับนายพานทองแท้ นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ในลักษณะของการขายในตลาดบ้าง ขายตรงบ้าง ให้โดยเสน่หาและโดยธรรมจริยาบ้าง ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (หรือไม่คิดมูลค่า) โดยที่ผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้โอน และผู้รับโอนไม่ต้องจ่ายภาษีตามคำยืนยันของนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล (ปลัดกระทรวงการคลัง) นายศิโรจน์ สวัสดิพาณิชย์ (อธิบดีกรมสรรพากร) นายทนง พิทยะ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรอื่นๆ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2543 นายกฯ ทักษิณได้นำหุ้นบริษัทแอมเพิล ริช (US$ 1) ไปขายให้นายพานทองแท้บุตรชายที่บรรลุนิติภาวะ (ผู้ซึ่งไม่ต้องนำทรัพย์สินของตัวเองมาแสดงร่วมกับนายกฯ ทักษิณ) ในเดือนมกราคม 2544 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 นายกฯ ทักษิณ ภริยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทั้งสองคือ นางสาวแพทองธารและพิณทองทา ได้แสดงทรัพย์สินต่อ ปปช. โดยไม่ได้รวมหุ้นของบริษัทชินคอร์ปหรือบริษัทแอมเพิล ริช ไว้ในบัญชี ถือเป็นอันสิ้นสุดธุรกรรมการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปของนายกฯ ทักษิณก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันทรงเกียรติของประเทศไทย และถือว่าเป็นความโปร่งใส ไร้มลทิน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ! ประเด็นที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ นายกฯ ทักษิณและครอบครัวได้แสดงทรัพย์สินเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่? ถ้าอยากทราบก็ต้องลองเดินบัญชีตามธุรกรรมที่เกิดขึ้น รายการที่ 1 วันที่ 11 มิถุนายน 2542 นายกฯ จัดตั้งบริษัทแอมเพิล ริช ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 1 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 40 บาทในขณะนั้น) ธุรกรรมนี้ทำให้ เงินสด ในบัญชีนายกฯ ลดลงจำนวน 40 บาท และ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช เพิ่มขึ้นจำนวน 40 บาท นั่นหมายความว่า บัญชีทรัพย์สินของนายกฯ ย่อมที่จะต้องแสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช จำนวน 40 บาท รายการที่ 2 ในวันที่เท่าไรไม่ปรากฏ นายกฯ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่บริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคาพาร์เป็นเงินจำนวน 329.6 ล้านบาท แต่บริษัทแอมเพิล ริช มีเงินสดในมือจำนวน 40 บาท ปัญหาคือ บริษัทแอมเพิล ริช นำเงินจากไหนมาซื้อหุ้นจากนายกฯ สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้มี 4 กรณีคือ กรณีที่หนึ่ง บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากบุคคลที่สามมาซื้อหุ้น กรณีที่สอง บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากนายกฯ มาซื้อหุ้น กรณีที่สาม บริษัทแอมเพิล ริช ติดหนี้ค่าหุ้นกับนายกฯ กรณีที่สี่ นายกฯ โอนหุ้นให้บริษัทแอมเพิล ริชไปฟรีๆ (ข้อนี้ตัดออกเพราะคุณสุวรรณได้แถลงว่า นายกฯ ขายหุ้นให้บริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคาพาร์) สำหรับกรณีต่างๆ นี้ เราสามารถเดินบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ ได้ ดังนี้ กรณีที่หนึ่ง นายกฯ ต้องแสดง เงินสด เพิ่มขึ้นจำนวน 329.6 ล้านบาท (ต้องมีหลักฐานในการได้รับเงินสดจากบริษัทแอมเพิล ริช ณ วันที่ขาย) และต้องแสดงให้ได้ว่า บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากใครมาซื้อหุ้น ถ้ายืมจากนายพานทองแท้ นายพานทองแท้ต้องแสดงหลักฐานการโอนเงินสดให้บริษัทแอมเพิล ริช และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นายพานทองแท้นำเงินสดจากที่ใดมาให้บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืม (ภาระในการพิสูจน์ความจริงนี้ควรตกอยู่ที่นายกฯ และนายพานทองแท้) ถ้านายพานทองแท้ยืมเงินจากนายกฯ มาให้บริษัทแอมเพิล ริช ยืม นายกฯ ต้องแสดงทรัพย์สิน ลูกหนี้-นายพานทองแท้ ควบคู่ไปกับ เงินสด ที่ลดลงจำนวน 329.6 ล้านบาท พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นายกฯ ต้องแสดงบัญชี ลูกหนี้-นายพานทองแท้ แทนบัญชี เงินสด ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด นายกฯ จะไม่แสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ในบัญชี แต่จะแสดง เงินสด หรือ ลูกหนี้-นายพานทองแท้จำนวน 329.6 ล้านบาทแทน (ถ้าไม่แสดง ก็แสดงว่านายกฯ แจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ) กรณีที่สอง เมื่อนายกฯ ให้บริษัทแอมเพิล ริช ยืมเงิน นายกฯ ต้องแสดง เงินสด ลดลงจำนวน 329.6 ล้านบาท (ต้องมีหลักฐานในการโอนเงินสดไปให้บริษัทแอมเพิล ริช) ในขณะเดียวกัน นายกฯ จะบันทึกบริษัทแอมเพิล ริช เป็น ลูกหนี้-บริษัทแอมเปิลริช จำนวน 329.6 ล้านบาท และเมื่อนายกฯ ขายหุ้นชินคอร์ปให้บริษัทแอมเพิล ริช นายกฯ ต้องบันทึกตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ออก ในขณะเดียวกับที่บันทึก เงินสด จำนวน 329.6 ล้านบาทในบัญชี (ต้องมีหลักฐานการรับเงินจากบริษัทแอมเพิล ริช ณ วันที่ขายหุ้น) สรุปว่า บัญชีทรัพย์สินของนายกฯ จะไม่แสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป แต่จะแสดง ลูกหนี้-บริษัทแอมเพิล ริช แทน กรณีที่สาม นายกฯ ต้องแสดงบริษัทแอมเพิล ริช เป็น ลูกหนี้-บริษัทแอมเพิล ริช จำนวน 329.6 ล้านบาท เมื่อนายกฯ ตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ออกจากบัญชี (ผลลัพธ์จะคล้ายกับกรณีที่สอง) แต่ในทั้งสามกรณี นายกฯ ยังคงเป็นเจ้าของ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีมูลค่าเพียง 1 เหรียญสหรัฐ เพราะบริษัทแอมเพิล ริช มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นคือ เงินลงทุนเผื่อขาย-หุ้นบริษัทชินคอร์ป เงินลงทุนนี้ต้องแสดงในบัญชีด้วยราคาตลาด ส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคาทุนในหุ้นชินคอร์ปถือเป็น กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเงินลงทุนเผื่อขาย ซึ่งจะบันทึกในส่วนทุนของบริษัทแอมเพิล ริช (ควรเป็นจำนวนเดียวกับ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ในบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ) ดังนั้น ถ้านายกฯ แสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคา 1 เหรียญสหรัฐ บัญชีทรัพย์สินของนายกฯ ก็จะไม่สะท้อนจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงที่มีอยู่ในบริษัทแอมเพิล ริช (ทั้งนี้ต้องไปดูมาตรฐานการบัญชีที่เกาะฟอกเงินนั้น ถ้าบัญชีไม่มีมาตรฐาน รายการบัญชีนี้อาจไม่เกิดขึ้น) รายการที่ 3 วันที่ 1 ธันวาคม 2543 นายกฯ ขายหุ้นบริษัทแอมเพิล ริช ให้กับนายพานทองแท้ โดยไม่ได้ระบุว่าขายไปด้วยจำนวนเงินเท่าไร ธุรกรรมนี้จะทำให้นายกฯ ต้องบันทึกตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ออกจากบัญชี และบันทึก เงินสด ที่ได้รับจากนายพานทองแท้ขึ้นมาแทน (ในเมื่อไม่ทราบจำนวนเงินที่ซื้อขาย จึงไม่สามารถระบุจำนวนที่ต้องนำมาบันทึกบัญชี) หากการซื้อขายระหว่างนายกฯ และนายพานทองแท้ไม่มีการโอนเงินสดเกิดขึ้น การซื้อขายนี้น่าจะถือว่านายพานทองแท้ยังไม่ได้ชำระค่าหุ้นให้แก่นายกฯ และนายกฯ ก็ควรบันทึก ลูกหนี้-นายพานทองแท้ แทนการบันทึกเป็นเงินสด นั่นหมายความว่า การตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ออกจากบัญชีจะทำให้นายกฯ ต้องบันทึก เงินสด หรือบันทึกนายพานทองแท้เป็น ลูกหนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้านายกฯ ไม่บันทึก บัญชีทรัพย์สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. ก็จะเป็นเท็จ อย่าลืมว่า สสารย่อมไม่สูญสลายไปจากโลกนี้ โดยเฉพาะในสมการบัญชีที่สสารนั้น ถ้าไม่ปรากฏอยู่ในรูปหนึ่ง ก็ต้องปรากฏอยู่ในอีกรูปหนึ่ง ถ้านายกฯ ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ต่อ ป.ป.ช. หรือนำบัญชีทรัพย์สินของบริษัทแอมเพิล ริช และของนายพานทองแท้มาแสดงร่วมกับทรัพย์สินของตัวเอง (โดยลืมไปว่า บุคคลทั้งสามเป็นอิสระจากกัน) นั่นอาจชี้ให้เห็นว่า นายกฯ ได้จัดฉากให้เกิดการทำนิติกรรมอำพรางขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เป็นเท็จได้เช่นกัน ครั้งหนึ่ง เสธ. หนั่นเคยถูกตัดสินให้เว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจาก หนี้สิน ที่แจ้งในบัญชีไม่ปรากฏตัวตนที่แท้จริง ครั้งนี้ หากนายกฯ ไม่ระมัดระวังในการเดินบัญชีและเตรียมหลักฐานสนับสนุนการทำธุรกรรมทางบัญชี (เช่น สัญญาและหลักฐานการโอนเงินสด) การแสดงบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ จะฟ้องให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบด้วยจริยธรรม รวมถึงการกระทำอันผิดกฎหมายที่จะทำให้นายกฯ ขาดคุณสมบัติในฐานะผู้นำประเทศ ใครที่เป็นกุนซือทางด้านบัญชีของท่านนายกฯ น่าจะออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนบ้าง ไม่น่าจะปล่อยให้กุนซือทางด้านภาษีออกมาแถลงข่าวแต่เพียงผู้เดียว ************************* "ถ้านายกฯ ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ต่อ ป.ป.ช. หรือนำบัญชีทรัพย์สินของบริษัทแอมเพิล ริช และของนายพานทองแท้มาแสดงร่วมกับทรัพย์สินของตัวเอง (โดยลืมไปว่า บุคคลทั้งสามเป็นอิสระจากกัน) นั่นอาจชี้ให้เห็นว่า นายกฯ ได้จัดฉากให้เกิดการทำนิติกรรมอำพรางขึ้น"