http://www.bangkokbiznews.com/2006/03/2 ... s_id=90269
คลังรับรายจ่ายพุ่ง "สภาพคล่อง" ฝืด
28 มีนาคม 2549 07:54 น.
ทนง' ระบุเป็นวิธีบริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพ 'ทักษิณ' ลั่นไม่มีปัญหา ปชป.เผยคนเดือดร้อนทั่ว
คลังยอมรับสภาพคล่องมีปัญหา แต่ปฏิเสธเรื่องถังแตก แจงเป็นเรื่องปกติที่รายรับเข้ามาไม่ทันรายจ่ายในช่วงต้นปี ระบุเบิกจ่ายได้ช้าแค่ชั่วคราว รมว.คลัง-นายกฯ อ้างเหตุผลคนละทาง ฝ่ายค้านระบุคนเดือดร้อนทุกวงการจากปัญหาเบิกจ่าย เตือนเผชิญวิกฤติรุนแรง ด้านนักวิชาการชี้เงินคงคลังอยู่ระดับต่ำมาตรฐาน เดิกจากปัญหาระยะยาว
ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีฐานะการคลังในช่วงต้นปี ที่มีการเบิกจ่ายมากกว่ารายรับว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่าย เพียงแต่ช่วงนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างบริหารสภาพคล่อง และบริหารจัดการ การใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่ต้องการกู้เงินด้วยวิธีการออกตั๋วเงินคลังเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านอัตราดอกเบี้ยจ่าย
ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐมีวิธีบริหารจัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ทางสำนักงบประมาณ สำนักนโยบายบริหารหนี้สาธารณะ และกรมบัญชีกลางไปหาแนวทางบริหารจัดการใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้นโยบายไปว่า หน่วยงานราชการใดที่มีเงินกองทุน หรือเงินงบประมาณใดที่ยังไม่ถูกนำไปใช้ ให้นำกลับมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากรัฐบาลต้องไปกู้เงินจากการออกตั๋วเงินคลัง ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ย แต่หน่วยงานราชการกลับนำเงินไปพักไว้ และได้อัตราดอกเบี้ยรับที่ไม่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยจ่าย
"เรื่องเงินสดขาดมือ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เรายังมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่าย แต่เราไม่ต้องการให้มีการกู้เงินด้วยการออกตั๋วเงินคลังมาก เพราะต้องการให้เขาเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการเงินงบประมาณใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็ให้ 3 หน่วยงานเขาประสานการทำงานกัน ให้มีการเกลี่ยเงินงบประมาณอย่างเหมาะสม นั่นคือปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาว่าเราไม่มีเงิน เราจะกู้เท่าไรก็ได้ เพราะขณะนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำกว่า 50% แต่เราไม่ทำ เพราะต้องการให้เขามีวินัย และใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ"
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า แม้เพดานการกู้เงินด้วยวิธีการออกตั๋วเงินคลังนั้นจะกำหนดไว้แค่ 8 หมื่นล้านบาท แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถขยายเพดานออกไปได้ ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ากู้เงินแต่อย่างใด และยังไม่เห็นว่า หน่วยงานราชการจะมีวิธีการบริหารจัดการเงินงบประมาณที่ดีพอ นอกจากนี้ ยังต้องการให้เพดานการกู้เงินอยู่ในระดับดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการให้มีภาระเรื่องของอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
คลังรับกระแสเงินสดจ่ายสูง
ด้าน ดร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงชี้แจง โดยยอมรับว่า ในช่วงต้นปีงบประมาณ กระแสเงินสดจ่ายสูงกว่ากระแสเงินสดรับ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจาก กระแสของรายได้ และรายจ่ายไม่เท่ากัน โดยในช่วงต้นปีจะมีรายได้เข้ามาน้อยกว่ารายจ่ายเฉลี่ย 800 ล้านบาท ต่อวันทำการ ในปีงบประมาณ 2549 ซึ่งใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ประมาณ 600 ล้านบาทต่อวันทำการ
"ขอทำความเข้าใจว่า ข้อมูลที่เป็นข่าว อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนบ้าง ซึ่งกระทรวงการคลัง ก็ชี้แจงมาตลอดว่า ช่วงปีงบประมาณ แม้งบประมาณจะสมดุล ก็ไม่ได้หมายความว่ากระแสเงินสดรับ และกระแสเงินสดจ่ายจะเท่ากัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากรายได้ที่เราจัดเก็บ ซึ่งจะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ภาษี และรายได้จากส่วนราชการอื่นๆ โดยในส่วนของภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลักถึง 90% นั้น แม้จะมีช่วงเวลาของการจัดเก็บ แต่รายได้ที่เข้ามาจริงอาจต้องเลื่อนออกไป เช่น คนพร้อมใจกันจ่ายภาษีเดือนมีนาคม ทั้งหมด ก็ทำให้เงินที่เข้าคลังเป็นเดือนเมษายน เป็นต้น และในช่วงเดือนของการเสียภาษี ก็จะมีรอยต่อตรงนี้ ทำให้รายได้ไม่เท่ากับรายได้ หรือจะเรียกว่า รัฐบาลขาดดุลก็ถูกต้อง"
ส่งผลเบิกจ่ายล่าช้า 3-7 วัน
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น กระทรวงการคลังยืนยันว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2549 ที่ส่วนราชการและภาคเอกชนจะเบิกจ่ายจากรัฐบาลนั้น จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ และให้มั่นใจว่า ส่วนราชการและภาคเอกชนจะได้เงินครบทั้งจำนวน เพราะฉะนั้น คงไม่มีปัญหาว่า เราไม่สามารถเบิกจ่ายได้ และจะคิดว่ารัฐบาลถังแตกไม่ได้ แต่การเบิกจ่ายอาจล่าช้าไปจากเดิมที่สามารถเบิกจ่ายเงินได้โดยตรงในระยะเวลา 1-3 วัน แต่ต่อไปจะสามารถเบิกได้ 3-7 วัน เนื่องจาก รัฐบาลต้องบริหารสภาพคล่องในช่วงเวลานี้ และไม่สามารถบอกได้ว่าการเบิกจ่ายจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อใด แต่เชื่อว่า จะสามารถบริการสภาพคล่องให้กลับมาเบิกจ่ายได้เร็วๆ นี้
โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงของเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ เงินสดที่จ่ายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2549 ซึ่งรวมถึงเงินเหลื่อมปีด้วยตกประมาณวันละ 6,600 ล้านบาท ในขณะที่ กระแสเงินสดรับในช่วงเดือนดังกล่าวจะอยู่ที่ 5,800 ล้านบาทต่อวัน ทำให้ขาดดุลกระแสเงินสดเฉลี่ยวันละ 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังเดือนเมษายน 2549 เป็นต้นไป กระแสเงินสดรับจะมีเข้ามากขึ้น และสูงกว่ากระแสเงินสดจ่าย ซึ่งจะทำให้ดุลกระแสเงินสดดีขึ้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 คาดว่า รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้า ขณะนี้ ยอดจัดเก็บเกินกว่าเป้าหมายแล้วถึง 7 พันล้านบาท ขณะที่ รายจ่ายคาดว่า จะเบิกจ่ายได้ประมาณ 93% ดังนั้น จึงคาดว่า ดุลกระแสเงินสดของรัฐบาลในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้น
สภาพคล่องเพียงพอแค่ 14 วัน
เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กระทรวงการคลังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้จ่ายในระยะ 14 วันจำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสภาพคล่องที่หักรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ถือเป็นระดับที่เพียงพอกับระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเรามีกำหนดวงเงินสภาพคล่องไว้ใช้เพียง 10 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ สภาพคล่องดังกล่าว แบ่งเป็นเงินสดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินฝากที่อยู่ในธนาคารกรุงไทย และบัตรภาษี แต่เงินฝากและบัตรภาษี ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที เป็นเพียงยอดเงินที่อยู่ในบัญชีรายรับเท่านั้น
สำหรับนโยบายของ รมว.คลัง ที่ต้องการให้นำเงินของกองทุนที่ยังไม่มีการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ หรือยุบรวมกองทุนที่มีลักษณะหรือวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ใกล้เคียงกัน ขณะนี้ ทางกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างดำเนินการ และรวบรวมตัวเลขเงินกองทุนดังกล่าว
'ทักษิณ' ลั่นไม่มีปัญหา ออกตั๋วคลังได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนเงินสดขาดมือ ทางกระทรวงการคลัง สามารถออกตั๋วเงินคลังมาทดแทนได้ และไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ
"ไม่มีปัญหามันเป็นลักษณะเหมือนเงินสดในมือ เราสามารถเปลี่ยนได้ เวลานี้มันเป็นลักษณะการใช้ตั๋วเงินคลังแทน วันนี้แก้ได้ง่ายนิดเดียว
เมื่อถามว่า จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ไม่มีเลย ง่ายมาก ไม่มีปัญหาเลย"
ปชป.เผยเบิกจ่ายส่งผลทุกวงการ
ด้าน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาเงินคงคลังมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มีการคงเงินคงคลังไว้ในอัตราต่ำมาก อีกทั้งเงินคงคลังในอดีตถูกใช้ไปในนโยบายประชานิยม ปราศจากวินัยการเงินการคลังจนน่าห่วงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งอย่างรุนแรง และยากต่อการแก้ไข
"ขณะนี้ปัญหาจากเงินคงคลังลดต่ำได้ส่งผลจนเป็นวิกฤติหลายเรื่อง อาทิ งบประมาณก่อสร้างที่ค้างจ่ายทั่วประเทศ โดยขณะนี้ในส่วนของการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหรือหนองงูเห่า มีการค้างจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาทั้งที่ถึงกำหนดจ่ายเงินแล้วหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งงบก่อสร้างที่เป็นงบลงทุนรายเล็กทั่วประเทศ ทั้งกรมทางหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้รับเหมาส่งงานไป 6 เดือนแต่ยังไม่ได้รับเงิน รวมทั้งเกิดปัญหาในวงการราชการ โดยข้าราชการที่ขอเกษียณก่อนกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจำนวนมาก และยังมีกลุ่มข้าราชการบำนาญในบางหน่วยงานที่ร้องทุกข์ว่า มีข้อขัดข้องในการรับเงิน"
ดังนั้น จำนวนเงินคงคลังที่เหลือน้อยจะสร้างผลกระทบต่อทุกวงการจะนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง และปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องเผชิญอีกคือ การจัดการเลือกตั้งที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 2,000 ล้านบาทและหากการเลือกตั้งต้องยืดเยื้องบที่ใช้อาจมากกว่า 3,000 ล้านบาท
แนะชะลอส่งเงินกองทุนประกันสังคม
นายพิเชษฐ กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลจะแก้ไขด้วยการขยายเงินตั๋วคงคลังจาก 80,000 ล้านบาท เป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอนั้นก็จะเกิดปัญหาคือ 1.คณะรัฐมนตรีรักษาการจะสามารถอนุมัติเงินกู้ก้อนนี้ได้หรือไม่ และ 2.แม้รัฐบาลจะหาทางอนุมัติได้ แต่ในขณะนี้อยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยสูง ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะเอาตั๋วเงินคงคลังที่ออกมาขายให้กับใคร
"ทางออกหนึ่งคือ รัฐบาลน่าจะชะลอเงินที่จะส่งให้กับกองทุนประกันสังคมไว้ได้ เพราะกองทุนประกันสังคมมีเงิน 300,000 กว่าล้านบาท แต่นำเงินไปเล่นหุ้น ซื้อหุ้นชิน คอร์ป และยังไปซื้อหุ้นเพื่อไปพยุงหุ้นในแต่ละตัวตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลต้องเลิกนโยบายประชานิยมทั้งหมดไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาวิกฤติในการจัดทำงบประมาณในปี 2550 เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างตัวเลขหลอกประชาชน" นายพิเชษฐ กล่าว
เมื่อถามต่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุให้ประเทศต้องกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อีกหรือไม่ นายพิเชษฐ กล่าวว่า ถ้าต้องกู้ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่หรือใครจะเข้ามา ก็ต้องกู้ เพราะสถานะถังแตกกำลังจะแตกดังโพละ จากผลงาน 5 ปีของรัฐบาล ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นจะจากวิกฤติ ปี 2540 โดยวิกฤติครั้งนี้ปัญหาหนี้ทั้งหมดจะเป็นเงินก้อนเล็กจากคนจำนวนมาก หลายสิบล้านคนซึ่งจะแก้ไขยากกว่า อีกทั้งรัฐบาลใช้หนี้ให้ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) และธนาคารโลก รวมกันหลายหมื่นล้านบาท ก่อนกำหนดเพื่อสร้างภาพ และยังยอมเสียค่าปรับที่จ่ายก่อนกำหนดโดยเป็นจำนวนที่ไม่ยอมเปิดเผย ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่คืนเงินเอดีบีเมื่อกลางปี 2546 อย่างน้อยประเทศไทยจะต้องเหลือเงินประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ที่จะแก้ปัญหาขณะนี้ได้
นักวิชาการชี้เงินคงคลังไทยต่ำมาตรฐาน
ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการบริหารเงินคงคลังของกระทรวงการคลัง ว่าเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปลายปี 2548 ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งหากพิจารณาเงินคงคลังของไทยช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ก็จะพบว่ามีจำนวนเงินประมาณ 29,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับเงินคงคลังที่ควรมีสำรองประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินที่สำรองไว้เท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้าประมาณ 60 วันทำการหรืออย่างน้อยที่สุด 30 วันทำการเพื่อไม่ให้การบริหารเงินสดหยุดชะงัก
"เงินคงคลังของไทยขณะนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำ ต้องระมัดระวังเยอะ เพราะเป็นสัญญาณว่าเริ่มมีปัญหาด้านการคลังของรัฐบาล ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวเพราะลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปี 2547 แล้ว ตรงนี้ก็ต้องถือว่าเป็นบทเรียนในการบริหารการคลังที่ต้องเพื่อการออมด้วย ไม่ใช่เพื่อรายได้เข้าเยอะก็ใช้เยอะไปด้วย" ดร.ตีรณ กล่าว
ระบุเป็นปัญหาระยะยาว
ดร.ตีรณ กล่าวอีกว่ายอดเงินคงคลังของไทยลดลงมาตั้งแต่สิ้นปี 2547 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 153,200 ล้านบาท ซึ่งการลดลงของเงินคงคลังมาอย่างต่อเนื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาฐานะทางการเงินระยะยาว ไม่ใช่แค่ปัญหาการจัดการสภาพคล่องปกติ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น เพราะหากแก้ไขโดยการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลนั้นก็ทำได้ยากในภาวการณ์ปัจจุบัน
"สาเหตุมาจากรัฐบาลขาดวินัย และขาดการวางแผนการใช้จ่าย ที่ผ่านมานโยบายต่างๆ เร่งการใช้จ่ายให้มากโดยที่ไม่ได้ประเมินว่ารายได้ของรัฐบาลจะดีด้วยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ที่รายได้ดีเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกดี แต่ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอลงแล้ว" ดร.ตีรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ตีรณ กล่าวว่า การขาดดุลการคลังของรัฐบาลขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นถังแตกอย่างที่มีการกล่าวกัน แต่ก็ต้องมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะมีสัญญาณที่ชี้ให้ต้องระวังมากขัน ซึ่งนอกจากการวางแผนการใช้เงินให้ดีแล้วก็อาจจะต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการใช้จ่ายต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น โดยอาจจะต้องพิจารณาการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ชะลอออกไปก่อน ทั้งนี้เพราะการกู้ยืมนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การขาดดุลเงินสด และการลดลงของเงินคงคลังของรัฐบาลนั้นจะต้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะการขาดดุลอาจจะมาจากการใช้จ่ายที่มีมากในขณะที่รายได้จากภาษีต่ำกว่าเป้าหมายที่เป็นปัญหาระยะยาว หรืออาจจะเป็นปัญหาการจัดการสภาพคล่องหรืออาจจะเป็นการขาดดุลจากปัจจัยฤดูกาลซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้นก็ได้ อย่างไรก็ตามการขาดดุลเงินสดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นบ่อยนักเพราะโดยหลักการแล้วควรจะต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ